ในวันที่เจ็บหนักและไปไม่ถึงดาว 400 ดวง ‘ยาพารา’ยาใจของไรเดอร์ ‘แพลตฟอร์ม’กลายเป็นยาขม - Decode
Reading Time: 3 minutes

‘อาชีพอิสระ สิทธิ์ที่พึงได้ อายุการใช้งาน ยาพารา และใบจำนำของ’
4-5 อย่างนี้ คือข้าวของ และเหตุการณ์ที่เราอยากเล่าผ่านชีวิตไรเดอร์คนหนึ่ง

ไรเดอร์ที่เปิดหน้าและเป็นแถวหน้าต่อสู้เรียกร้องขอสิทธิจากบริษัทที่ทำงานด้วย
ไรเดอร์ผู้ที่พยายามช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพในฐานะเพื่อนร่วมโลก
ไรเดอร์ที่วันนี้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากบริษัท-เพราะยังไม่ได้ดาว

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้รับการแจ้งข่าวการประสบอุบัติเหตุของ “พี่บอย-พรเทพ ชัชวาลอมรกุล” ไรเดอร์แถวหน้าผู้ทำหน้าที่หนัก และที่มักปรากฎตัวต่อสื่อในวันที่เหล่าไรเดอร์รวมตัวเรียกร้องสิทธิจากบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม

พี่บอยยึดอาชีพไรเดอร์ รับส่งคนเป็นหลักมาได้หลายปีแล้ว พ่วงด้วยบริการรับส่งอาหาร และเอกสารนิดหน่อย แต่ทั้งหมดทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ใน 1 วันต้องหารายได้ให้ได้อย่างต่ำ 1,000 บาทด้วยชั่วโมงการทำงานอย่างน้อย 10 ชั่วโมง กินกลางถนน พักผ่อนข้างทาง

บ่ายแก่ ๆ Decode นั่งรอพี่บอยอยู่หน้าห้องพัก พอพยาบาลเข็นรถพาพี่บอยกลับมาจากทำเอ็มอาร์ไอ พี่บอยให้เวลาเราร่วมชั่วโมงเพื่อพูดคุย สิ่งที่อยู่ในใจถูกพรั่งพรูออกมา ตั้งแต่วันที่ถูกแบนจากแอปพลิเคชั่นดัง เรื่อยไปจนถึงวันที่ต้องเอาข้าวของไปจำนำ และการตัดสินใจกินยาพาราเพื่อหยุดทุกความทุกข์ไว้ชั่วคราว ก่อนถึงวันเริ่มนับหนึ่งใหม่ให้ถึงดวงดาว และจบลงที่การประสบอุบัติเหตุ ทั้งหมดคือต้นทุนจากการเป็นแถวหน้าเรียกร้องสิทธิของตัวเองและเพื่อนไรเดอร์

ความจริงคือสิ่งไม่ตาย
แต่ความจริงทำให้คนถึงตายได้

“พูดได้ ๆ พูดได้ครับ แค่ตอนนี้ยังเจ็บหลัง เจ็บหน้าอกอยู่” พี่บอยค่อย ๆ พูดให้ฟัง เสื้อสีฟ้าที่สวม ร่างกายที่กำลังเจ็บ สายน้ำเกลือที่ฝ่ามือ พี่บอยลดการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วลง แต่นั่นไม่อาจลดความชัดเจนในความรู้สึก และสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้ อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เกิดขึ้นกับพี่บอยระหว่างการทำงานเป็นไรเดอร์ และอีกครั้งที่พี่บอยรับรู้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ต้องดูแลตัวเอง แม้มันจะเกิดช่วงที่มีงานคามืออยู่ก็ตาม

“พี่ได้รับสิทธิค่ารักษาจาก พ.ร.บ.รถแท็กซี่ของตัวเอง 30,000 บาท และจากคู่กรณีอีก 50,000 บาท ซึ่งมันก็หมดไปตั้งแต่วันที่ 2 แล้ว ที่เหลือเราก็ต้องออกเอง พี่ติดต่อไปหาแพลตฟอร์มที่เราทำงานให้อยู่ ตอนแรกเขาบอกว่าจะช่วยแต่ตอนหลังเขามาบอกว่าช่วยไม่ได้แล้วเพราะยังเรายังไม่มีดาว”

ดาว หรือ สตาร์ ที่พี่บอยหมายถึงคือระดับความถี่การเรียกใช้บริการของลูกค้า จะได้ก็ต่อเมื่อได้รับออร์เดอร์ถึงเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด พูดให้เห็นภาพคือประมาณ 400-500 ตัวต่อเดือน (แล้วแต่แพลตฟอร์ม) วันที่เกิดเหตุพี่บอยเพิ่งมาเริ่มต้นใช้แอปพลิเคชันตัวย่อเจได้ไม่นาน จึงยังไม่มีตัวเลขระดับสตาร์มาการันตี และรับสิทธิการช่วยเหลือ

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พี่บอยเคยวิ่งรับงานผ่านแอพพลิเคชันชื่อดังแห่งหนึ่ง เพราะนอกจากมีคนใช้เยอะแล้วยังเข้าสิ่งที่บอยถนัดคือรับส่งผู้คน มากกว่าส่งอาหารและสิ่งของ ซึ่งระหว่างทางของการทำอาชีพรายได้วันต่อวันนี้ พี่บอยเองก็เป็นแกนนำทำเอกสารเรียกร้อง เป็นคนปราศรัย ให้ข้อมูล รวมถึงเป็นคนเจรจากับ “ผู้มีอำนาจ” ให้เข้าช่วยดูแลชีวิตของไรเดอร์ให้ดีขึ้นจากการทำงานหนัก ทั้งจากกระทรวงแรงงาน และบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มด้วย

การรวมตัวของไรเดอร์ที่มีพี่บอยเป็นแกนนำครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 อุณหภูมิและความตึงเครียดค่อยทะยานขึ้นเรื่อย ๆ การวมตัวครั้งแรกในวันที่ 3 ธ.ค.2563 ไรเดอร์มาน้อยกว่าทุกครั้ง แกนนำที่นัดรวมตัวนอกเหนือจากพี่บอยบอกว่าเพราะไรเดอร์เองก็ไม่กล้าเปิดตัว เพราะอาจต้องแลกกับการถูกปิดระบบ ซึ่งนั่นอาจเป็นช่องทางเดียวของการหารายได้ของพวกเขาก็ได้ หรือการมาก็ต้องแลกกับเวลาทำมาหากินก็เป็นได้ ต่อมาทีมอาสาฯ จึงนัดรวมพลใหม่อีกครั้งวันที่ 8 ธ.ค.2563 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บริษัทแพลตฟอร์มแห่งหนึ่งออกโปรโมชั่นและรางวัลสำหรับคนที่วิ่งรอบได้มากที่สุด กลยุทธนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการสกัดคนมาร่วมชุมนุม

หลังจากนั้นไม่นานพี่บอยก็ถูกแบนจากแพลตฟอร์มที่ออกไปเรียกร้อง
“มันเกิดอะไรขึ้นพี่”

พี่บอยตั้งข้อสงสัย 2 ประเด็นตั้ง คือ 1) พี่บอยโพสต์รูปปืนของเล่นลงสื่อออนไลน์ ด้วยความรู้สึกอึดอัดกับการต่อสู้ที่ไม่คืบหน้าเพราะคนให้ความร่วมมือน้อย ซึ่งภาพนั้นถูกนำไปร้องเรียนที่บริษัทและถูกแบน และ 2) ถูกแบนมาจากการออกมาเคลื่อนไหวหลายครั้ง

“ไม่รู้ว่าเหตุผลไหน แต่เราเชื่อว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะเขามีแถลงการณ์ออกมาจริงจัง อยากให้เขาพูดชี้แจงถึงกรณีอื่น ๆ บ้าง พวกไรเดอร์ก่อเหตุอาชญากรรม…ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน”

ข้อเรียกร้องของพี่บอยและเหล่าไรเดอร์หลัก ๆ คือ การขอให้บริษัท และรัฐตีความอาชีพอิสระใหม่ในบริบทที่วันนี้การจ้างงานผ่านแอปพลิเคชั่นเป็นกลุ่ม “งานใหม่” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่พวกเขากลับถูกจัดอยู่ในกลุ่มแรงงานอิสระที่ต้องดูแลสวัสดิภาพของตัวเอง ยังไม่นับรายละเอียดในการทำงานอื่น ๆ เช่น ค่ารอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ไม่เท่ากัน ไรเดอร์ไม่มีสถานะเป็นคนงานของบริษัท ไม่มีสวัสดิการ ไรเดอร์ถูกปิดระบบอย่างไม่เป็นธรรมหากมีลูกค้าคอมเพลน โดยไม่มีสิทธิชี้แจง การแบ่งเกรดของไรเดอร์เป็นระดับเช่น “ฮีโร่” ที่ทำให้ไรเดอร์กลุ่มนี้ได้ประกันอุบัติเหตุ และได้คืนภาษี และหากมีไรเดอร์ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ก็จะโดนปิดระบบ การถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบจากบริษัทลักษณะนี้

นักวิชาการด้านแรงงานอย่าง ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) เคยพูดในวันที่ไปสังเกตการณ์การรวมตัวของไรเดอร์ว่า รูปแบบการทำงานของไรเดอร์คือการสร้างรายได้ให้กับนายจ้าง และบริษัท พวกเขาควรมีประกันสังคม ม.33 ที่รัฐ เอกชน และตัวเองมีส่วนร่วม แต่เมื่อแรงงานถูกตีความว่าเป็น “อาชีพอิสระ” ทำให้สิทธิ์ที่รัฐ และนายจ้างต้องดูแลหายไปด้วย

อ่านเรื่อง: ไรเดอร์รวมตัว (อีกครั้ง) ขอกฎหมายดูแลชีวิตและสวัสดิภาพ “แรงงานแพลตฟอร์ม”

กระเป๋าแบน เพราะถูกแบนจากแอปฯ

เมื่อโดนปิดระบบจากแพลตฟอร์มที่ใช้หากินเป็นหลัก ชีวิตพี่บอยเข้าสู่ช่วงวิกฤตทันที จากรายได้ที่ทำได้วันละ 1,000 บาท (หักค่าน้ำมันแล้ว) ลดลงเหลือไม่เท่าไหร่ จริงอยู่ที่ไรเดอร์ไม่ได้พึ่งพาแอปเพียง 1 แอปเท่านั้น ทุกคนต่างมีแอพหลักแอปรองกันทั้งนั้น แต่มันต้องใช้เวลาในการทำงานสะสมไปเรื่อย วงการนี้ไม่ใช่เฟื่องฟูรุ่งเรืองเมื่อแรก ๆ แล้ว ด้วยจำนวนคนขับมีมากกว่าผู้ใช้บริการ ยิ่งไปใช้แบรนด์ที่ไม่ติดตลาดมากลูกค้าก็ลดหลั่นกันไป โอกาสสร้างรายได้ก็หดลงไปอีก

“ทุกวันนี้พี่ยังได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จากเจ้าเดิมอยู่เลย พี่ผ่อนมือถือไว้วันละ 30 บาท ถามว่าคุณปิดระบบเรา เราจะไปเอาเงินที่ไหน เราทำงานไม่ได้”

ทั้งโดนทวงหนี้ เงินก็หาได้ไม่พอ ต่อสู้ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ความกดดันและภาระกดบ่าไว้จนถึงวันที่ทางตันมาถึง “ผมฆ่าตัวตายก่อนหน้านี้…พี่ไม่รู้จะทำไง กินยาพาราฆ่าตัวตายไปเลย กรีดแขนตัวเอง จะได้หลับ ๆ ไป แต่พอดีสวรรค์ไม่รับ นรกไม่เอา นอนหลับสบาย 3 คืน สุดท้ายแฟนมาเจอ”

เราอึ้งกับสิ่งที่ได้ยิน ก่อนที่เสี้ยววินาทีต่อมาเราเห็นดวงตาของพี่บอยเปลี่ยนไป มันเริ่มแดงขึ้น แม้ไม่มีน้ำตาไหล แต่ก็รู้ว่าน้ำตารื้นจนคลอเบ้า ตาคู่นั้นมันบ่งบอกอารมณ์ที่อยู่ข้างในได้แบบที่เราเองไม่สามารถอธิบายได้ แต่รู้สึกว่าวันนั้นคงเป็นวันที่เจ็บปวดมากวันหนึ่งในชีวิตพี่บอย

“มันหลายอย่าง มันหนี้สินด้วย เราวิ่งแอปนี้ (ที่เก่า) เป็นหลัก วันหนึ่งคนอื่นก็ด่าเราว่ามึงสู้แล้วรายได้หลักพันต้องหายไปเลยนะ ตอนนี้เปลี่ยนมาแอปใหม่ก็ต้องมาแข่งกดแย่งลูกค้ากับคนอื่นได้หลักร้อยเนี่ยนะ บางทีได้ 100 บาท ยังไม่หักค่าน้ำมันเหลือกลับบ้าน 40 บาท อยู่ยังไง มันได้อะไร ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก สู้ก็โดนด่า ทำก็ไม่เหลืออะไร ตายเลยล่ะกัน”

บรรยากาศเงียบลงสักครู่ พี่บอยเอ่ยปากให้ช่วยหยิบกระเป๋าในลิ้นชักข้างเตียงให้หน่อย พอได้กระเป๋าก็เอามือล้วงใบเสร็จโรงรับจำนำให้ดู พี่บอยเอามือถือเครื่องหนึ่งไปจำไว้เพื่อเอาเงินมาหมุนช่วงนี้ การต้องดูแลสมาชิกในบ้านหลายชีวิต เมื่อได้กลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง พี่บอยฮึบ! ลองดูใหม่กับชีวิตไรเดอร์ ทำงานให้หนักกว่าเดิม วิ่งรอบในแต่ละวันให้มากกว่าเดิมเพื่อไปให้ถึงไรเดอร์ที่มีดาวประดับ แต่ไม่นานเท่าไหร่ก็ประสบอุบัติเหตุ อุบัติเหตุที่จำกัดพื้นที่ได้รับการช่วยเหลือจากดาวที่คุณมี

อายุการใช้งาน กับเวลาที่เหลือเพื่อคว้าดาว

ในวัย 45 ปี พี่บอยมองเห็นภาพของการ “เปลี่ยนอาชีพ” อยู่ในระดับที่ริบหรี่พอสมควร การทำงานผ่านแพลตฟอร์มแบบนี้เป็นทางรอดและทางออกที่ลงตัวสำหรับคนที่มี “อายุการใช้งาน” เหลือน้อยเต็มที พี่บอยเปรียบเทียบตัวเองแบบนั้นจริง ๆ ว่าวัยขนาดนี้การเปลี่ยนอาชีพหรือไปสมัครส่งอาหารประจำตามร้านอย่างพวกไก่ทอด พิซซ่า หรือตามบริษัทยากจริง ๆ

“ประสบการณ์มี แต่อายุการใช้งานน้อย เขาก็ไม่รับหรอก ร้านอาหารไปดูสิ หรือบริษัทคุณเขารับไหม เขาก็รับไม่เกิน 30 กันทั้งนั้น”

ประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ สำหรับการเรียกร้องสวัสดิการต่าง ๆ ของแรงงาน และประชาชน คือ ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา แน่นอนการต่อสู้มีราคาที่ต้องจ่าย ตั้งแต่เวลาทำมาหากิน สายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมอาชีพที่อาจจะเห็นแย้ง จนบางครั้งอาจต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรืออาจต้องแลกกับการงานเพราะกำลังท้าทายอำนาจของทุนในฐานะนายจ้าง ความเสี่ยงและต้นทุนนี้พี่บอยเหมือนกำลังผ่อนส่ง…อยู่เรื่อยๆ

“ถามว่ามันท้อไหม เรามีหวัง ต้องเสี่ยงไหมต้องมีต้นทุนไหมมันก็ใช่ เวลาเราเตรียมเอกสารที เราก็ไม่หลับไม่นอนขณะที่คนอื่นเขานอนสบาย แต่ก็มองว่าการต่อสู้ของเราก็มีเปลี่ยนแปลงมาบ้าง ไม่ใช่ไม่เปลี่ยนเลย เมื่อก่อนแอปบังคับซื้อเสื้อกระเป๋า ตอนนี้ก็ไม่บังคับแล้ว เพียงแต่เราออกตัวแรงเขาก็ไม่ได้ให้เงินเรา…ก็สู้ต่อเพื่อเปลี่ยนบางอย่าง”

วันนี้เจ็บหนักกว่าที่เคย พี่บอยยังเจ็บหน้าอก-ปวดหลัง แต่ต้องออกโรงพยาบาลแล้ว แต่นั่นไม่ได้ทำให้แรง (ในใจ) แผ่วลง พี่บอยยังอยากต่อสู้ต่อ ส่วนหนึ่งเพื่ออาชีพของเขาเอง อีกส่วนคือเพื่อเพื่อนร่วมอาชีพ แม้อาจน้อยใจบ้างว่าไม่มีใครมาช่วยเหลือเท่าไหร่ในวันที่เจ็บตัวไม่เหมือนครั้งที่พี่บอยพยายามช่วยเหลือ ระดมทุนดูแลคนที่ประสบอุบติเหตุเพราะทำอาชีพนี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือพี่บอยมองว่าไรเดอร์หรือคนที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มจะมีเพิ่มขึ้น คนหน้าใหม่เข้ามาตลอด การวางระบบที่ “เป็นธรรม” กับแรงงานกลุ่มใหม่กลุ่มเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ทุกคนไม่ต้องตะเกียกตะกายเพื่อให้ได้เกรดดีแลกกับสวสัดิภาพขั้นพื้นฐาน

“อย่างที่บอก พี่สมัครแอปนี้ไว้นาน แต่ไม่ค่อยได้ขับ เราก็ยังไม่ได้สตาร์ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แล้วคนที่เขาเข้ามาใหม่ล่ะ ถ้าเจออุบัติเหตุจะทำอย่างไร อย่างผมเกิดตอนที่มีงานติดตัวด้วยเขาก็ยังไม่รับผิดชอบ ผมถึงมาสู้ตรงนี้ไง ถ้าคุณ On งาน (เปิดแอปทำงาน) คุณต้องรับผิดชอบให้เขา เขาทำงานให้คุณหาเงินให้คุณ ผมอยู่โรงพยาบาล อยู่สะพานควายไม่มีงาน ผมก็ต้องวิ่งไปหาอนุสาวรียชัยฯ แบบนี้เขาไปหางานให้คุณไหม บางคนวิ่งแอปเดียวไม่มีระดับ เกิดไรขึ้นมาใครช่วยเขา บอกเราเป็นแค่พาร์ทเนอร์ เป็นลูกจ้างรายวัน แล้วคุณหักเปอร์เซ็นต์เขาทำไม 15% 20% หรือ 30% น้ำมันก็ไม่ต้องเสีย ค่าโทรศัพท์ก็ไม่ต้องเสีย”

ความเป็นธรรมนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้แต่เพียงการร้องขอบริษัทที่ทำงานอยู่ด้วย แต่หมายถึงรัฐ รัฐที่มีหน้าที่กำกับ ดูแลและคุ้มครองประชาชน “รัฐเองต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ มีกฎหมายคุ้มครองเรา ไม่ให้เราถูกขูดรีดขูดเนื้อ ใครเข้ามาทำงานต้องได้รับการคุ้มครองเบื้องต้นไม่ว่าจะแอปไหนก็ตาม”

*อัพเดทเพิ่ม* เมื่อวันที่ 16 ม.ค.63 พี่บอยส่งไลน์มาบอกว่า เพื่อนแฟนบอลหงส์ ทีมลิเวอร์พูลช่วยกันประมูลสินค้าระดมทุนช่วยเหลือพี่บอยในการผ่าตัดหลัง แต่พี่บอยไม่ผ่าเพราะต้องรักษาตัวนาน และค่าใช้จ่ายสูง หากต้องหยุดงานก็จะไม่มีรายได้ พี่บอยจึงออกจากโรงพยาบาลกลับไปทำงานต่อใน เสียงบรรยายในคลิปเสียง 33 วินาทีเต็มไปด้วยความเจ็บปวดของร่างกาย “พี่ลองไปวิ่งดู แต่ทีนี้พอเจอลูกระนาด เจอเนิน หลังพี่มันกร๊อบๆ จากนั้นขามันค่อยๆ ชา พี่เลยหยุดวิ่ง ต้องไปทำหมอก่อน” ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าพี่บอยอาการเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่ม:
‘ไรเดอร์’ สองล้อที่บิดเบี้ยวของอาชีพแห่งอนาคต – https://decode.plus/rider-platform-economy/
พอเถอะ! ทุนนิยมเลยเถิด การเกิดแพลตฟอร์ม+Co-op อาจเป็นทางเลือกใหม่ https://decode.plus/thailand-platform-economy/