ทุกแรงฟาดที่พ่อลงมือ บ้านก็ไม่เหมือนเดิม...พื้นที่ปลอดภัยอยู่ตรงไหนของสังคมที่บิดเบี้ยว - Decode
Reading Time: 3 minutes

เยาวชนคือความหวัง พวกเขาคือพลังขับเคลื่อนประเทศ

สังคมไทยทำอะไรกับเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ทำร้าย ทุบตี ควบคุมเหมือนสัตว์เลี้ยงในโรงนาด้วยข้ออ้างของความหวังดีที่พ่อแม่มีต่อลูก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฎภาพเยาวชนชูป้ายขอความช่วยเหลือในที่ชุมนุม ว่าถูกไล่ออกจากบ้านเพราะมาม็อบ สองคนนั้นคือตัวแทนเยาวชนอีกหลายคนที่ประสบปัญหาเดียวกัน พวกเธอปรากฎออกสื่อ ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือต่อสาธารณะ หลังถูกขับออกจากพื้นที่ปลอดภัยที่เรียกว่าบ้าน จากคำบอกเล่าพวกเธอโดนตัดเงิน ไล่ออกจากบ้านและตัดขาดการติดต่อ นับเป็นความโชคดีที่ความรุนแรงไม่ปรากฎ หากแต่มีบางคนโชคร้ายที่ร่างกายถูกทุบตีจากบุพการีด้วยข้ออ้างของความเห็นต่างและความเป็นห่วง

Decode คุยกับเด็ก 3 คนที่บอบช้ำจากความรุนแรงในครอบครัวด้วยเหตุแห่งความต่างทางการเมือง เธอสองคนย้ายออกจากบ้านหลังผู้ปกครองพยายามแจ้งตำรวจจับ อีกคนทนอยู่เพื่อดูแลแม่เพราะหากเธอย้ายออกมา ฝ่ามือและรอยเท้านั้นอาจอยู่ที่แม่แทนเนื้อตัวเธอที่เคยรองรับ

เจน นามสมมติ อายุ 17 ปี  ออกจากบ้านมาสองสัปดาห์หลังโดนทำร้าย เพราะเธอเป็นแกนนำจัดชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว ถูกพ่อแม่ตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าจะไปทำทำไม อยู่ที่บ้านก็ดีอยู่แล้ว บางครั้งสนับสนุน บางครั้งห้าม อาจเพราะเป็นห่วงว่าจะได้รับอันตราย เมื่อห้ามไม่ได้พวกเขา จึงลงมือ

ทำแล้วได้อะไร

“หนูเคยอธิบายแล้วว่า เราทำตรงนี้มันก็ได้ทั้งตัวเองและพวกเขา สักวันนึงพ่อแม่ก็จะได้ตรงนี้เหมือนกัน ถ้าเราเรียกร้องสำเร็จ ทุกอย่างมันก็จะดีขึ้น ทุกคนก็จะได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น วันนั้นกลับบ้าน ตอนแรกก็คุยกันดีสักพักพ่อกับแม่เข้ามาแล้วล็อกห้อง หนูบอกว่า อย่าเพิ่งเริ่มตอนนี้ได้ไหม เพราะว่าก็เครียดเรื่องงานอยู่มาก ๆ ขึ้นเสียงใส่เขาไปนิดนึง แล้วเขาก็ใช้ความรุนแรงกับหนู แม่ก็ส่งเสริมให้พ่อทำ  เขาทำแบบนั้นอยู่เกือบ 2 ชั่วโมง มีเตะ ต่อย ด่าด้วยสลับกัน”

17 พ.ย. 63 วันเดียวกับการสลายการชุมนุมที่แยกเกียกกาย เจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำใส่เป็ดเหลือง เจนโดนพ่อทำร้าย โดยมีแม่ส่งเสียงสนับสนุน เอาเลย เอาให้ตาย เธอเปิดคลิปเสียงที่แอบบันทึกไว้ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เด็กหญิงวัย 17 เผชิญตัวคนเดียวจากผู้กระทำคือผู้ให้กำเนิดทวงถามความเป็นเจ้าชีวิต

ตลอดคลิปเสียงมีลมหายใจติดขัด เสียงฟึดฟัดจากความโกรธ เสียงฟาดแรงจากเนื้อที่ถูกกระทบ และเสียงแว่วไกลๆ จากแม่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ข้อมูลเรื่องการชุมนุมคือการทำงานเป็นองค์กรเอาเด็กชูหน้า กับการอุ้มท้องเก้าเดือนของแม่ถูกยกขึ้นมาเจรจาระหว่างสั่งสอนด้วยวาจา ฝ่าเท้าและฝ่ามือ

นี่พ่อทำร้ายร่างกายหนูนะ     
ถูก กูเป็นพ่อมึง พ่อตอบเธอ

ทำร้ายร่างกายอะไร นี่เขาเป็นพ่อมึง  แม่บอกเจนหลังโดนพ่อตี

เจนออกจากบ้านวันนั้นด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ กลุ่มนักเรียนเลว เหตุการณ์จบลงที่โรงพักหลังพ่อโทรเรียกตำรวจมาจับลูกและเพื่อนที่มาช่วยเหลือ แต่ตำรวจไม่สามารถตั้งข้อหาใดได้ พร้อมทั้งมีคลิปเสียงทำร้ายร่างกายของพ่อเป็นหลักฐาน หลังจากวันนั้นเจนออกจากบ้าน ตัดขาดการติดต่อกับครอบครัว

“หนูรู้สึกว่ามันคงกลับไปไม่ได้แล้ว เราเห็นจุดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนของเขา กลับก็ไปอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว เพราะทุกวันนี้เขาก็ยังยืนยันว่าการทำร้ายร่างกายลูกไม่ผิด เพราะเขาเป็นพ่อ เขาเลี้ยงลูกเหมือนเขาเลี้ยงสัตว์ เขาพยายามยัดเยียดความเป็นตัวเขาเข้ามาในตัวเรา”

“เวลามีข่าวในม็อบที่นักเรียนนักศึกษา หรือประชาชนโดนฉีดน้ำ โดนกระสุนยาง หรือมีตำรวจทำร้าย เขาก็จะแบบสมน้ำหน้า แล้วก็จะพูดอะไรที่มันไม่ดีออกมา แล้วหนูก็ฟังไม่ค่อยไหว เลยไม่ค่อยโอเคกับเขาเท่าไหร่” บีม นามสมมติ เยาวชนอายุ 17 ปี เล่าถึงความรู้สึกต่อการแสดงทัศนะทางการเมืองของคนที่บ้าน บีมเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวคนจีนที่ไม่ยอมรับเพศอื่นนอกเหนือชายหญิง บีมนิยามตัวเองเป็นคนรักเพศเดียวกัน เติบโตมาในบ้านที่ลงโทษด้วยการทุบตีมาตั้งแต่เด็ก เริ่มหนักขึ้นเมื่อบอกพ่อว่าชอบผู้หญิง และหนักขึ้นอีกเมื่อออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอกล่าวว่าการตีของพ่อไม่ใช่การสั่งสอนแต่เพื่อระบายอารมณ์ ตีเพื่อให้กลับใจมาชอบผู้ชายและจะไม่หยุดจนกว่าจะกลับใจ

เธอถูกเลี้ยงดูในครอบครัวที่เกลียดกลัวเพศหลากหลาย ทุบตีทำร้ายเพื่อการสั่งสอน และเป็นความชอบธรรมที่ทำได้ในฐานะผู้ให้กำเนิด เสียงของเด็กและความต้องการของลูกไม่สำคัญเท่าความต้องการและความคาดหวังของพ่อผู้เป็นใหญ่ในบ้าน ตลอดการเติบโตบีมถูกเปรียบเทียบกับพี่ที่เก่งกว่า ฉลาดกว่า ผู้เป็นลูกที่สมหวังของพ่อ เธอเล่าด้วยน้ำเสียงน้อยใจว่าเธอไม่ใช่ลูกอันเป็นที่รัก ป๊าไม่ต้องการมีหนูตั้งแต่แรก หนูไม่เก่งแบบเจ่เจ้ หนูก็โดนแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ช่วงหนึ่งของชีวิตการเป็นนักเรียนบีมย้ายออกจากโรงเรียนเดิมด้วยปัญหาทางสังคมในโรงเรียน เธอเรียนได้ดีในสาขาวิชาแต่ไปต่อไม่ได้เพราะเจอความรุนแรงจากโรงเรียนไม่ต่างกับบ้านที่เธอเจอมาเสมอ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงผลักให้ลุกขึ้นมาร่วมกับนักเรียนเลวเพราะทนไม่ได้แล้ว ทนไม่ได้ให้ใครต้องมาเจออะไรแบบเเราแล้ว เธอบอกกับฉัน

ตอนแรกหนูเสียใจมากเลยที่เขาใช้ความรุนแรงกับหนู แต่กลายเป็นว่ามันชินไปแล้ว มันชาไปเลย แต่ก็ยังรู้สึกเจ็บอยู่เรื่อย ๆ มันทำให้หนูเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว หนูรู้ตัวว่า หนูเป็นซึมเศร้ามาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าแม่เคยพาหนูไปหาหมอ พอขึ้นมัธยมหนูก็เริ่มรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ หนูคิดอยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ ทำร้ายร่างกายตัวเองบ่อยๆ เขาบอกว่าหนูโง่ ไปให้คนอื่นหลอกใช้ เด็กไม่ต้องมายุ่งการเมืองไปทำหน้าที่ตัวเองให้ดีก่อน ไร้สาระ

วันแรกของความพยายามอธิบายเหตุผลของการออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว หลังถูกปรามาสว่าโดนล้างสมอง ถูกหลอกใช้ บีมให้เหตุผลกับพ่อแม่ว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น ถ้าวันนึงเรียกร้องได้สำเร็จจริงๆ

ครั้งแรกที่คุยกัน หนูโดนพ่อกระทืบ เตะ ต่อย ตอนนั้นหนูก็ทำไรไม่ได้นอกจากอดทน ก็เดินขึ้นห้องมาแล้วก็นั่งร้องไห้คนเดียว แล้วความสัมพันธ์ที่บ้านมันก็แย่ลงเรื่อยๆ แม่ตัดสินใจเลือกตัดเงินไม่ให้เงินไปโรงเรียน ไม่ให้เงินออกไปข้างนอก จริงๆ เขาจะไม่จ่ายค่าเทอม ไม่จ่ายค่าเรียนพิเศษ ไม่จ่ายอะไรให้เลย แต่หนูพยายามไปคุยกับเขาว่าถ้าจะไม่ให้เงินหนูจริงๆ จ่ายค่าเรียนให้หนูได้ไหม จ่ายค่าเทอมได้ไหม เขาเห็นว่าหนูยังอยากเรียนหนังสืออยู่ เขาก็โอเคจ่ายค่าเรียนหนังสือให้อย่างเดียว

บีมอนุญาตให้เราถามถึงรายละเอียดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก่อนเริ่มเล่าด้วยแววตาที่เศร้าลง วันนั้นไม่ได้มีแค่พ่อคนเดียวที่กระทืบเธออยู่ตามคำบอกเล่า แต่มีแม่ที่ยืนดูคอยบอกว่าให้ตีซ้ำ ตีให้ตาย ตีให้หลาบจำ เห็นด้วยทุกแรงฟาดที่พ่อลงมือ 

“แม่ยืนดู แล้วแม่ก็พูดเรื่อย ๆ ว่าตีให้มันตายไปเลยมันจะได้จำ พ่อยิ่งได้ใจก็ยิ่งทุบ ยิ่งต่อยใช้ไม้แขวนเสื้อฟาดไปเรื่อย ๆ ตอนที่โดนหนูรู้สึกว่ามันชาไปหมด หนูรู้สึกว่าหนูตายจริง ๆ เพราะหนูไม่ไหวแล้ว ถ้าจะทำแบบนี้ก็ฆ่าหนูเถอะ เพราะหนูท้อแล้ว แม่ก็ไม่ได้รักหนูเลยไม่มีใครรักหนูสักคน

หนูได้แต่นอนยกมือไหว้บอกว่า พ่อ หนูขอร้อง หนูขอโทษ
หนูยกมือไหว้บอกหยุดเถอะ หนูไม่เอาแล้ว หนูพูดวนอยู่อย่างนั้นจนเขาหยุด 

บีมร้องไห้พนมมือปิดหน้า ก้มตัวลงต่ำ ทำท่าขอร้องให้พ่อหยุดเหมือนที่เกิดขึ้นในวันนั้น ในขณะที่เธอเล่า เพื่อนทั้งสองที่นั่งข้างๆ คอยกุมมือและโอบกอดความแหลกสลายตรงหน้า ความแหลกสลายที่เจ็บปวดและรับรู้ร่วมกันในฐานะผู้ถูกกระทำจากบุพการี

หลังจากเกิดเรื่องบีมติดต่อไปยังพี่ในกลุ่มนักเรียนเลวบอกว่าหนูโดนพ่อแม่ตีอีกแล้ว ทางองค์กรเสนอให้ออกมาจากบ้าน อีกทั้งพี่สาวที่เรียนอยู่ต่างจังหวัดมีความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนกันก็ได้ชวนไปอยู่ด้วย แต่บีมปฏิเสธและเลือกอยู่บ้านต่อไปเพราะเป็นห่วงแม่ที่ต้องอยู่กับพ่อเพียงลำพัง เพราะถ้าพ่อทำอะไรแม่ตามที่บีมกังวลจะไม่มีใครช่วย และแม่คงเลือกไม่บอกใคร การอยู่บ้านต่อแม้อาจจะต้องถูกทำร้ายซ้ำสองก็ดีกว่าการปล่อยให้แม่เผชิญความรุนแรงคนเดียวโดยไม่มีเธอในฐานะลูกคอยแบ่งเบา

“การที่พวกหนูออกมาเรียกร้อง เขาบอกว่าพวกหนูล้มเจ้า พวกหนูเป็นคนไม่ดีที่ไปเชื่อฟังคนอื่น”  บีมกล่าว

คนสุดท้ายที่ออกจากบ้านเพราะแรงกดดันและความอึดอัดใจจากครอบครัว คือ ก้อย นามสมมติ อายุ 16 ปี หนึ่งในเยาวชนที่โดนหมายเรียก ม.116 ขัดขืนพรก.ฉุกเฉินร้ายแรง จากการนัดหมายชุมนุมบ๊ายบายไดโนเสาร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา

ก้อยอยู่บ้านเช่ากับยาย น้า และน้องต่างพ่ออีก 3 คน พ่อแม่แยกทาง และปัจจุบันแยกกันอยู่กับที่บ้าน เพราะบ้านไม่น่าอยู่อีกต่อไป สาเหตุหลักของการออกมาคือความกดดันจากทุกคนในครอบครัว ความขัดสนจากปากท้อง สภาพความเป็นอยู่ ความกังวลต่อค่าใช้จ่ายประจำวันของครอบครัวและตัวเธอเองที่ถูกกดดันส่งต่อจากแม่ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบ้าน ค่าเล่าเรียนลูกทั้ง 4 คน ค่ากินอยู่ ส่งเสียเลี้ยงดูยายวัย 63 ปี ด้วยเงินเดือนหมื่นต้นๆ  เสียงบ่นของยายเรื่องแม่ส่งสารโดยตรงถึงก้อยทุกวันนับสิบปี กล่าวโทษที่ไม่สามารถหาเลี้ยงทุกคนได้ดีกว่านี้ ความพยายามที่ไม่เพียงพอให้ชีวิตดีขึ้นได้คือความผิดแม่ทั้งสิ้นไม่เกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมที่ก้อยเข้าใจ ไม่กล่าวโทษแม่ และพยายามอธิบายต่อยายแต่ไม่เป็นผล ความคาดหวังต่อชีวิตที่ดีกว่าส่งต่อให้ก้อย บ้านหลังนี้มีก้อยโดดเดี่ยวในห้องนอนตามคำบอกเล่า

“เรากดดันหมดเลย หนูอยู่ในบ้านก็มองเห็นแต่ปัญหาเยอะมากมายเต็มไปหมดเลย เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะกินอะไร พรุ่งนี้จะมีใครจ่ายค่าไฟไหม ไม่รู้ว่าถ้าฝนตกแล้วสุดท้ายเราต้องมานั่งเช็ดน้ำ ต้องซักผ้า ต้องอะไรแบบนั้นไหม มันคือ ทุกอย่างมันเป็นปัญหาไปหมดเลย จนเรามองไม่เห็นความสุขเวลาที่อยู่ตรงนั้นแล้ว

ในครอบครัว คือไม่คุยกันเลย เหมือนเราถูกผลักออกมาจากวงโคจรของครอบครัวแล้ว ถ้าเราออกไปก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นหรือว่าไม่ได้มีอะไรแย่ลง มีก็เหมือนไม่มีแบบนี้มากกว่า”

แม่พยายามแล้วมันก็ยังไม่ดีพอสำหรับยายอยู่ดี

ยายว่า ทำไมแม่ไม่ซื้อบ้านหลังใหญ่ ๆ ทำไมไม่ซื้อนั่นซื้อนี่ให้ลูก ทั้งๆ ที่มันเป็นเพราะว่าโครงสร้างทางสังคม แต่ว่ายายกลับโทษแม่ว่ายังพยายามไม่มากพอ ทำไมไม่ทำงาน ทำงานแล้วเงินหายไปไหนหมด ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันคือโครงสร้างทางสังคมรึเปล่าที่กดทับแม่อยู่ ทำไมแม่ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ว่ายายก็ยังโทษว่าเป็นเพราะตัวแม่เองมากกว่าเป็นเพราะโครงสร้างทางสังคม เขายังพูดอยู่เลยว่าเดี๋ยวรอก้อยโตแล้วกัน  ก้อยจะได้ซื้อบ้านซื้อรถให้ สุดท้ายแล้วความหวัง ความฝัน ภาระอะไรต่าง ๆ ของผู้ใหญ่ก็ตกมาอยู่ที่เด็กรุ่นเรา เพราะรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่สามารถทำให้เขาได้ จากโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยว

ก้อยเสริมว่า เพราะปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจทำให้สังคมไทยติดกับดักชนชั้นกลาง การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ทำให้แย่ลงกว่าเดิมและแย่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนจนยิ่งจนขึ้น ชนชั้นกลางก็กำลังจะกลายเป็นคนจนแล้ว แต่คนรวยกลับรวยขึ้น สิ่งที่ไม่ได้เอื้อให้กับประชาชนชนชั้นรากหญ้าทั่วไป แต่ว่าไปเอื้อเจ้าสัวนายทุนมากกว่า และทำให้เราไม่สามาราถลืมตาอ้าปากได้ เมื่อพูดถึงการแบกรับภาระของแม่ ก้อยกล่าวว่า มันคือเรื่องปากท้องมันทำให้เราเครียด สุดท้ายแล้วเดือนนึงแม่เหลือเงินเท่าไหร่หนูก็ยังไม่รู้เลย

ก้อยพบว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่ได้ไปหาหมอตอนที่ยังอาศัยอยู่ที่บ้านเพราะไม่มีเงิน การเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐต้องรอคิวซึ่งใช้เวลานานมาก เมื่อบอกกับทางบ้านก็ได้คำแนะนำว่าโรคนี้เป็นเองก็ต้องหายเอง ไม่มีใครเขาทำให้ก้อยเป็นเลย ทำตัวเองทั้งนั้น หลังตัดสินใจย้ายออกจากบ้านมาอยู่ในความดูแลของพี่ในองค์กรนักเรียนเลว ได้ร่วมห้องกับเจน และได้มีโอกาสเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ สภาพจิตใจของเธอก็ดีขึ้น

ฉันถามถึงความรู้สึกหลังตัดสินใจย้ายออกมา คำด่าว่า โง่ ถูกล้างสมอง ยังถูกส่งมาเป็นระยะผ่านโทรศัพท์และการกลับบ้านแต่ละอาทิตย์

“เราพยายามมาขนาดนี้ แล้วมาเจอคำพูดว่าโง่ เราก็รู้สึกแย่ เรามองเห็นคนอื่น ๆ เรามองเห็นความเป็นความตาย เรามองเห็นว่ามีเด็กนักเรียนที่ฆ่าตัวตายเพราะว่าระบบการศึกษาที่ห่วย เรามองเห็นคนที่ฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจ เรามองเห็นคนที่ออกมาทำอะไรแบบนี้แล้วเขาต้องโดนเยอะมาก ๆ เลย ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาต้องเสียสละมากขนาดไหน ในขณะที่ยายเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วยังด่ากราด ทั้งที่เขาไม่ได้มาเจอแบบเรา เขาไม่ได้มาใช้ชีวิตแบบเรา เขาไม่ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วประเทศนี้มันโหดร้าย ทารุณกับประชาชนขนาดไหน” ก้อยกล่าวทิ้งท้ายบทสนทนาการปิดประตูบ้านที่อึดอัดและกดทับตัวตนของเธอ

การเยียวยารักษาและดูแลตัวเองของทั้ง 3 คน ไม่ได้เข้าหาหรือได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรรัฐ และพวกเขาไม่พูดถึงช่องทางการขอความช่วยเหลือจากรัฐด้วย อันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกเชื่อมโยงต่อรัฐที่พึ่งพาไม่ได้ เด็กส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหานี้จึงหลุดขอบความช่วยเหลือ ถูกแปะป้ายด้วยทัศนคติทางการเมือง และถูกลอยแพเพราะเห็นสมควรจากการสั่งสอนของพ่อแม่ ปัจจุบันทั่งสามดำรงอยู่ได้ด้วยเงินเก็บและเงินบริจาคในกลุ่มนักเรียนเลวที่ต้องประหยัดกันมากขึ้นกว่าเดิมที่เคยเป็นอยู่ สองในสามคนนี้พบจิตแพทย์ทันทีหลังผ่านพ้นเหตุการณ์ด้วยความช่วยเหลือจากพี่ และเพื่อนในกลุ่มนักเรียนเลว พื้นที่ปลอดภัยต่อเด็กที่ประสบปัญหานี้อยู่ตรงไหนของสังคมไทย

ถ้าย้อนกลับไปวันนั้นที่มันเกิดเหตุการณ์ขึ้น คาดหวังให้พ่อแม่ที่ทำร้ายเราเข้าใจเรายังไง

บีม หนูคาดหวังว่าเขาจะฟังหนูบ้าง จริง ๆ ไม่ต้องฟังก็ได้ ปล่อยหนูก็ได้ หนูไม่หวังอะไรเลย ขอแค่ไม่ทำร้ายหนู

เจน หนูคาดหวังให้เขาตั้งคำถามบ้าง กลับมายืนข้างประชาธิปไตย เพราะว่าเขามีชุดความคิดกดทับคนอื่น หนูไม่อยากให้ในครอบครัวเป็นคนไม่เห็นใจคนอื่นแบบนั้น

อยากพูดอะไรกับพ่อแม่ไหม ในวันที่บ้านเราไม่เหมือนเดิม

ก้อย ขอบคุณที่ทำให้เกิดมาบนโลกใบนี้ก่อนเลย ขอบคุณสำหรับคำพูดแย่ ๆ ที่ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าต้องสู้เพื่อประชาชนมากกว่าเดิม

ขอโทษที่ไม่สามารถเป็นเด็กอย่างที่หวังได้ ขอโทษที่ไม่สามารถหยุดตัวเองไม่ให้ไปม็อบ ไม่สามารถหยุดอุดมการณ์ของตัวเองเพื่ออยากจะเปลี่ยนแปลงอนาคตได้

อยากจะขอโทษที่เราทำให้เขาเจ็บปวดกับการที่เราออกมาทำตรงนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วเราก็อยากจะขอบคุณที่ทำให้เรามีวันนี้ ทั้งด้านที่ดีและไม่ดี

บีม ขอโทษที่เป็นเด็กอย่างที่เขาหวังไม่ได้ ขอโทษที่ทำให้เขาต้องทุกข์ใจในบางครั้ง และขอบคุณที่เขาเป็นแบบนี้ เลยทำให้เรากล้าที่ออกมาทำหลาย ๆ อย่างเพื่อนักเรียนทั้งประเทศและเพื่อประชาชน

ขอบคุณที่เขาทำให้เรารู้สึกว่า โอเค กูไม่ไหวแล้ว ต้องออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เจน ขอบคุณอย่างเดียวที่หนูอยากขอบคุณเขา ก็ต้องขอบคุณที่เขารับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาทำ ก็คือเขาทำให้เราเกิดมาและส่งเสียเลี้ยงดูด้วยเงินอย่างดี แต่ว่าก็ขอบคุณแค่นั้น

ส่วนอะไรที่อยากจะบอกเขาก็คือ ด้วยโครงสร้างสังคมหรือด้วยอะไรก็ตามที่เขาคิดต่อการมีลูก เขาคงคิดว่ามีลูกเพื่อเลี้ยงเขาตอนแก่ ไม่ต้องกลัว หนูเลี้ยงแน่นอน ก็ยังไงก็จะส่งเงินกลับไป อยากได้อะไรก็จะซื้อให้ แต่ว่าอย่าหวังความรักแล้วก็ความอบอุ่นเลยค่ะ หนูไม่มีทางให้เขาแน่นอน

ถึงเพื่อนที่ไม่รู้จัก ผู้เจ็บปวดเหมือนกันในบ้านที่ไม่ปลอดภัย

“เราอยากจะให้กำลังใจ อยากให้รักตัวเองให้มาก ๆ โลกใบนี้ใจร้ายกับเรามากแล้ว อย่าใจร้ายกับตัวเองอีกเลย ถึงแม้ว่าชีวิตมันจะแย่แค่ไหน ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีใครอยู่เคียงข้างเลย อย่างน้อยก็จะมีเราคอยเป็นกำลังใจให้เสมอ เราจะอยู่เคียงข้างคุณเสมอ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยเจอกัน ไม่เคยคุยกันแต่ว่าอย่างน้อยเราก็ยังอยากจะกอดทุกๆ คนเอาไว้

เราวาดฝันว่าจะได้เห็นทุก ๆ คนในการเมืองที่ดี ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ซึ่งเราก็คาดหวังว่าเราจะอยู่ถึงวันนั้น แล้วคุณก็จะอยู่ถึงวันนั้นไปกับพวกเรา” ก้อย