เผด็จการดิจิทัล ราคาของความรุงรัง - Decode
Reading Time: 3 minutes

เพื่อนเราพูดติดตลกว่า “วันไหนไม่เห็นเป้โพสต์อะไรเฟซบุ๊กนะ เราจะโทรมาหา เพราะต้องเป็นอะไรสักอย่างแน่ ๆ” หรือ “หน้าฟีด (News Feed) เรามีแต่ของเป้ แชร์เยอะมาก จนบางทีงงว่าเป็นคนมีจุดยืนยังไง” เราก็ขำ ๆ ในช่วงแรก แต่แล้วก็มาคิดบวกกับสังเกตพฤติกรรมตัวเองแบบจริงจัง เราว่าเราติดโซเชียลเหมือนกัน

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกชัดที่สุด คือ เรามักทำอะไรเป็นท่อน ๆ สมาธิอยู่กับตัวไม่นาน ยิ่งเวลาขึ้นเครื่องบิน ต้องเปิด Flight Mode เรางุ่นง่านมากทีเดียว เที่ยวบินสั้น ๆ ภายในประเทศทำให้เราว้าวุ่นไม่น้อย

อาชีพที่ต้องอาศัยการอัพเดทของข่าวตลอดเวลา ต้องแชท ต้องอ่าน ต้องดูความเคลื่อนไหว เพราะมันมีผลต่อการทำงาน บวกกับนิสัยอยากรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ มันฟูมฟักนิสัย “ไม่อยากจะพลาดอะไรเลย” มากขึ้นเรื่อย ๆ เราอยากจะตามมันให้หมด อยากเข้าใจคำฮิตในโลกออนไลน์ อยากอ่านเรื่องที่เขาล้อเลียนกันรู้เรื่อง ไม่อยากตกขบวนใด ๆ

เพื่อหาตอบคำถามตัวเองว่าเราจะเลิก-ลด มันยังไง หรือมันมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า หลายคนแนะนำทำ Social Media Detox แต่เราอดไม่ได้จริง ๆ ดังนั้นจึงลองกูเกิลหาหนังสือที่เกี่ยวกับ Social Media จำได้วันนั้น ในวันที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขมาสักพักแล้ว

เราเลือก Digital Minimalism ซึ่งเขียนโดย Cal Newport มี บุญยนุช ชมแป้น เป็นผู้แปลจากสำนักพิมพ์ broccoli มาอ่าน ด้วยก่อนหน้านี้เคยดูสารคดีเรื่อง Minimalism: A Documentary About the Important Things แล้วชอบตรงที่สารคดีพาเราไป “ค้นหาสิ่งสำคัญของชีวิต” เป็นปรัชญาชีวิตที่ทำให้เราไตร่ตรองคุณค่าของชีวิตมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกันที่ทะลุทะลวง พาคนอ่านเข้าใจกลไก และกลยุทธ์ของเศรษฐกิจการดึงดูดความสนใจ (Attention Economy) ว่าแต่ละแพลตฟอร์มทำงานอย่างไร คู่ขนานกับ HOW TO ลด-ละ-เลิก อย่างไรตามเวย์ของเหล่าดิจิทัลมินิมัลลิสม์ แต่เพราะหนังสือเขียนโดยวิศกรคอมพิวเตอร์ เนื้อหาบางส่วนจึงเล่าถึงการทดลอง และผลการทดลองการเลิกใช้ Social Media และความบันเทิงออนไลน์ ทำให้บางทีมันเนือยไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นการทำให้เราประจักษ์ว่า โซเชียลที่มีส่วนทำให้เหงาหงอย หรือวุ่นวาย สามารถแก้ไขได้

รู้เขารู้เรา รบสิบครั้งชนะสิบครั้ง
ให้รู้ว่าชีวิตกำลังเผชิญอะไร

ก่อนหนังสือเข้าเรื่อง HOW TO นิวพอร์ตพาเจาะลึกเบื้องหลังของเหล่าแพลตฟอร์มก่อนว่ามันคือ สงครามข้างเดียว เป็นสมรภูมิที่คนใช้ไม่ได้เลือก แม้แต่เฟซบุ๊กเองก็ไม่ได้ตั้งใจเลือกเส้นทางนี้ตั้งแต่แรกว่ามันจะเปลี่ยนจังหวะชีวิตของคนและสังคมไปมากขนาดนี้ เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของไอโฟน ที่ตั้งต้นจากไอพอดที่โทรเข้าโทรออกได้ แต่แล้วใน 1 ทศวรรษมันกลับปฏิวัติวิถีชีวิตคนอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นสมาร์ทโฟน เป็นแท็บเล็ตที่คนไม่อาจละสายตาและละเลยไปได้ มีสถิติที่คนเช็กมือถือมากถึง 87 ครั้งต่อวัน

การต้องตื่นเช้ามาแล้วถูกยึดเวลายามเช้าไปกับการตามดูว่าเพื่อน ๆ โพสต์อะไรเมื่อคืนนี้ ข่าวอะไรบ้างที่น่าสนใจ บางคนมองว่ามันคือทางเลือกของเรานี่นาว่าเราจะไถฟีดหรือไม่ แต่เรารู้หรือไม่ว่า ทุกอย่างมันถูกออกแบบมาให้เราไม่สามารถละสายตาจากมันได้ แพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำงานหากำไรจากการที่ “ตาจ้องจอ” เมื่อใดที่ยังจ้องอยู่เมื่อนั้นเม็ดเงินกำลังเติบโต

“อย่าไปโทษตัวเองให้มากนักเลย”

เราตอบตัวเองแบบนี้ นิวพอร์ตอธิบายหลายตัวอย่าง แม้กระทั่งการคุยกับอดีตวิศวกร หรือนักออกแบบเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อยืนยันว่า “มันคือความจริง” พวกเขาได้รับมอบหมายให้ใช้มันเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม พยายามให้เราติดกับไร้การควบคุม และไหลลื่นไปกับมัน

นักเขียนพยายามเล่าทีละเปลาะ ๆ ว่าซิลิคอนแวลลีย์กำลังคิดและทดลองอะไรอยู่เพื่อให้เราอยู่ตรงนั้น หนึ่งในสิ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุดอันหนึ่งคือการได้คุยกับ ทริสตัน แฮร์ริส (Tristan Harris) ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่จีเมล เขาต้องทำงานออกแบบที่กระทบกับคนหลายร้อยล้านคน วันนี้เขาตาสว่างและทำแคมเปญในบริษัทนั่นคือ “ขอให้บริษัทลดการรบกวนเคารพสิทธิผู้ใช้งาน” แคมเปญนี้ถึงหูผู้บริหาร แต่มันก็ไร้ความคืบหน้าใด ๆ สุดท้ายเขารู้ว่า ข้อเรียกร้องนั่นแหละที่จะลดกำไรของบริษัทไป ตอนนี้เขาออกมาตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร ชื่อ Time Well Spent เรียกร้องให้เทคโนโลยีบริการเรา ไม่ใช่ขายโฆษณา

นิวพอร์ตบอกว่า “เราไม่ได้เลือกชีวิตแบบนี้ แต่ชีวิตของเราส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นในห้องประชุมบอร์ดผู้บริหาร เพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุนด้านนี้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น”

การถูกวางและดีไซน์จากแพลตฟอร์มไม่ให้เราหลุดไปไหน ด้านหนึ่งทำให้เราเกิดภาวะที่เหนื่อยล้า แต่ก็ไม่สามารถหยุดได้ เราเหมือนเสพติด แต่ไม่ใช่การเสพติดที่รุนแรง นิวพอร์ตบอกว่า นักวิชาการพยายามให้ความหมายการเสพติดที่นอกเหนือจากการเสพยาที่เป็นสารเคมี แต่สำหรับ Social Media แล้ว ถูกจัดอยู่ในการเสพติดที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง

คุณเฝ้ารอการกดไลก์
คนรอคนคอมเมนต์คุณรอคนรีทวิต
คนมีความสุขที่เห็นการแจ้งเตือน
คนหลงในเพจ หรือเว็บนาน 30 นาที
คุณอ่านข่าวแล้วงุ่นง่านอ่านต่อไม่เลิก หรือตามแฮชแท็กในทวิตเตอร์จนเหนื่อย

พวกนี้เป็นเหมือนโดพามีนที่คอยอัดให้คุณทีละนิด ทีละนิด แต่ขาดมันไม่ได้ แพลตฟอร์มใช้วิธีแบบเดียวกันที่ว่าเขาจะดึงเวลาและความสนใจจากคุณอย่างไร…ให้ได้มากที่สุด

“จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราไม่สบายใจ คือการที่เรากำลังสูญเสียการควบคุม ประเด็นไม่ได้อยู่กับประโยชน์ของเทคโนโลยี แต่กลับกัน คือการมีอิสรภาพเหนืออำนาจของเทคโนโลยีต่างหาก”

ตัดความรุงรัง และเปิดหน้าสู้เผด็จการดิจิทัล

“เทคโนโนลยี” ที่กรอบและล้อมชีวิตเรา เส้นทางวิถีดิจิทัลมินิมัลลิสม์ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น บทบาทในที่นี้ไม่ใช่ “ผู้ทำลาย” แต่เราขอเปรียบว่าเป็น “ผู้ชี้ทางสว่าง” มากกว่า นิวพอร์ตบอกว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่จะสู้กับเผด็จการดิจิทัล ทำอย่างไรให้เราเองจะมี “อำนาจเหนือ” และควบคุมให้เทคโนโลยีบริการเรา

ดิจิทัลมินิมัลลิสม์
ปรัชญาว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้คุณใช้เวลาในโลกออนไลน์
กับกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่างที่ผ่านการคัดมาอย่างดี
มีประสิทธิภาพสูงและส่งเสริมสิ่งที่มีความหมายต่อคุณ
ทั้งยังทำให้คุณละทิ้งกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากนี้ได้อย่างมีความสุข


อ่านทั้งหมดแล้วสรุปได้ว่าปรัชญานี้ ไม่ใช่การหักดิบหรือเลิกใช้เทคโนโลยีแต่อย่างใด แต่เราต้องพยายามเลือกและเฟ้นหาความหมายที่แท้จริงของการใช้มัน เลือกความจำเป็นในการใช้ > ความสะดวกสบาย เราใช้มันด้วยเหตุผลอะไร และยินยอมให้มันเข้ามาในชีวิตแบบไหน

คุณอาจบอกว่า เพื่อการงาน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ เพื่อความบันเทิง อันนี้ไม่ว่ากัน แต่นักปรัชญาดิจิทัลมินิมัลลิสม์ บอกว่า การหาสาเหตุแบบนี้คือการทำให้เห็นว่า “คุณให้คุณค่ากับอะไรในชีวิต” ดังนั้นการใช้ Social Media จึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ที่มาของการกำหนดคุณค่าชีวิต คุณสามารถมีอีกหลายร้อยวิธีที่จะคงคุณค่าสิ่งเหล่านั้นไว้ได้ เช่น การคุยกันตัวต่อตัวดีกว่าคุยทางแชทแน่ ๆ

มาถึงตอนนี้ การใช้แอพในมือถือไม่ว่าจะกี่แอพ จำนวนครั้งที่เราเข้า จำนวนโพสต์ที่เราแชร์ หรือเราเลื่อนดู เลื่อนอ่าน มันถูกนับเป็นความรุงรังก่อนเป็นดับแรก โดยเฉพาะเราเองที่มีความรู้สึกว่าไม่อยากพลาดอะไรไปเลย “นี่ก็รุงรังเช่นกัน”

ความรุงรังมีราคา และราคาที่เราจ่ายมัน
มันเป็นเวลาน้อยนิดแต่มหาศาลที่เสียไปแบบไม่อาจย้อนกลับ
แต่ละนาทีถือเป็นทรัพย์สินที่เราจับต้องได้และมันมีมูลค่า

ในหนังสือมีวิธีมากมายของแต่ละคนที่มาร่วมทดสอบเป็นชาวดิจิทัลมินิมัลลิสม์ บางคนเลือกตามเว็บไซต์ข่าวแห่งเดียว แต่น่าเชื่อถือ บางคนเซฟบทความที่อยากอ่านไว้ แล้วอ่านทีเดียวในวันหยุด บางคนลบแอพในมือถือ แต่เช็กได้เฉพาะในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเท่านั้น บางคนตั้งปุ่มแจ้งเตือนเฉพาะคนสำคัญ บางคนดูเน็ตฟลิกซ์เฉพาะเวลาอยู่กับเพื่อนเท่านั้น

แต่หากอยากทำให้ได้จริง ๆ อย่างถาวร เหมือนการไดเอท หนังสือมีคำแนะนำเพื่อจัดการความรุงรังนี้ และสามารถหายจากเผด็จการดิจิทัลได้ คือ

1

จัดสรร 30 วัน

พักงานเทคโนโลยีทางเลือกต่าง ๆ
ที่จะที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต ย้ำที่ไม่จำเป็นกับชีวิต ไม่ใช่การหักดิบ เพราะบางทีคุณยังต้องใช้มันเพื่อสื่อสาร และทำงาน

2

หากิจกรรมที่พอใจ

หยุดไป 30 วันนี้ ต้องหากิจกรรมที่คุณเคยชอบทำ อยากทำ และต้องเป็นสิ่งที่รู้สึกพอใจ มีความหมายด้วย

3

เลือกแอพให้คุณค่า

จบ 30 วันแล้ว ให้แอพที่เราชอบ และมีคุณค่า มีความหมายกับเรา เพื่อนับหนึ่งใหม่ และใช้มันอย่างมีความหมาย ไม่รุงรังอีกต่อไป


I am having a NEW RELATIONSHIP with Social Media.
จัดระเบียบใหม่กับความสัมพันธ์ออนไลน์

ชาวดิจิทัลมินิมัลลิสม์มองเทคโนโลยีว่าเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่าอย่างลึกซึ้งไม่ใช่เป็นที่มาของคุณค่าเหล่านั้น พวกเขาไม่ยอมรับประโยชน์เล็กน้อยบางอย่างของเทคโนโลยีเพียงเพื่อต่อการอนุญาตให้บริการเข้าสวาปามความสนใจในชีวิตเรา

ในฐานะที่เป็นคนทำสื่อ เราเองก็อดตั้งคำถามในเชิงจริยธรรมกับตัวเองไม่ได้ว่า ในงานเขียนแต่ละชิ้น วิดีโอสารคดีที่เราทำออกไป เราเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการตลาดหรือเปล่าที่ก็ดึงความสนใจ และเวลาของคนอื่นมาเพื่อกำไร เพื่อสร้างชื่อ และคงอาชีพของตัวเองไว้ เพราะหนึ่งในโพสต์ และทวิตที่ฟลัด (Flood) อยู่หน้าฟีดทุกคน-ตลอดเวลาก็คือ “ข่าว” คำตอบสวย ๆ ที่คิดได้ตอนนี้คือ ชิ้นงานก็คงต้องมีความหมายมากพอที่จะทำให้เวลาที่ผู้ใช้เสียไปคุ้มค่า

แต่พอมองย้อนดี ๆ แล้ว ตัวเราเองที่เป็นนักข่าวก็กระโดดลงขบวนนี้ไปด้วยเช่นกัน ประสบการณ์ทำงานข่าวทีวี เราเปลี่ยนประเด็น 6 วัน 6 เรื่อง เราต้องติดตาม Social Media ต้องอยู่ในกรุ๊ปไลน์การแจ้งข่าวไม่ต่ำกว่า 20 กลุ่ม จากบทบาทสื่อในการเป็น Gate Keeper และเป็นผู้กำหนดวาระทางสังคม ตอนนี้การกำหนดวาระกลับอยู่ที่เรื่องใน Social Media มากกว่า สปีดมันเร็วชนิดที่ว่า ทุกการกด F5 เพื่อ Refresh หน้าจอเราจะเจอข้อมูลใหม่ ความเห็นแบบใหม่เสมอ

ด้านหนึ่งคือความท้าทายของวิชาชีพ อีกด้านหนึ่งการวิ่งไล่ตามทุกอย่างทุกประเด็นเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ และได้ติดแท็ก มี Engagement เยอะ ๆ ทั้งหมดทำให้เราเองตื่นตัวมากเกินไป หลายครั้งชิ้นงานไม่ลงลึก ทำแล้วไม่สะเด็ดน้ำ และมีภาวะเครียดสะสม ที่แน่นอนที่สุดเราเล่นอยู่ในเกมของเทคโนโลยีนี้โดยที่เลือกไม่ได้

วิธีแก้เกมและเยียวยาตัวเองได้มากที่สุดคือพาตัวเองไปสู่งานใหม่เพื่อให้สปีดนั้นลดลง แม้ต้องคิดคอนเทนต์ลงเพจเพื่อให้เรายังมีความเคลื่อนไหวอยู่ แต่ก็ได้หายใจลึก ๆ  – แม้จะยังพอใจ และดีใจกับจำนวนกดไลก์ แชร์ คอมเมนต์อยู่ดี เพราะทำงานแบบนี้ ไม่มีคนดูคนอ่านก็เหมือนไม่บรรลุเป้าหมายของอาชีพ

ส่วนมุมความเป็นส่วนตัว คือ เราเป็นเหยื่อจากการไม่เท่าทันของตัวเองเต็ม ๆ พอรู้แบบนี้แล้ว แต่ละวันจึงต้องพยายามหาอะไรที่ทำให้นานขึ้นสัก 30 นาทีต่อเนื่องแบบไม่ต้องใช้มือถือ เช่น ดูหนัง เขียนไดอารี่ หรือคุยกับพ่อแม่

สุดท้ายเราค่อย ๆ เข้าใจว่าชีวิตจำเป็นต้อง “จัดระเบียบความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี และ Social Media” ใหม่ ทำให้ A Purposeful Digital Lifestyle เป็นคำที่มีความหมายจริง ๆ เพราะเราหนีมันไม่ได้ เราจำเป็นต้องอยู่กับมัน ในมุมของเราคือ รู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับสิ่งใดอยู่ จะอยู่อย่างไรโดยจัดสรรสมดุลที่ทำให้ “เราพอใจกับชีวิต” ไม่ต้องรอการอัดโดพามีนผ่านยอดไลก์ แชร์ และคอมเมนท์ที่ส่งสารถึงเราให้ชุ่มใจเพียงหลักวินาที

แต่ทั้งหมดเพื่อทวงคืน “เวลาว่างของชีวิต” และตอบคำถามว่า “เรามีชีวิตนี้เพื่ออะไร” และ “อะไรที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา”

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี