“ไรเดอร์ = อาชีพอิสระ?” ที่ไม่ได้แปลว่าต้องอิสระจากการดูแลสวัสดิการจากรัฐ และบริษัท
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2563 กลุ่ม “ไรเดอร์” นำโดย พรเทพ ชัชวาลอมรกุล เข้าพบคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือ และเรียกร้องสิทธิ์การคุ้มครองสวัสดิการการทำงานผ่านระบบแพลตฟอร์มที่ตอนนี้ยังไม่มีการดูและและคุ้มครองที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในทางกฎหมาย
พรเทพบอกว่า ที่ผ่านมาไรเดอร์จำนวนมากต้องประสบปัญหาการถูกเอาเปรียบจากการทำงานผ่านรูปแบบการทำงานที่บริษัทให้พวกเขาเป็นพาร์ทเนอร์ (Partner) เช่น ค่ารอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ไม่เท่ากัน ไรเดอร์ไม่มีสถานะเป็นคนงานของบริษัท ไม่มีสวัสดิการ ไรเดอร์ถูกปิดระบบอย่างไม่เป็นธรรมหากมีลูกค้าคอมเพลน โดยไม่มีสิทธิ์ชี้แจง การแบ่งเกรดของไรเดอร์เป็นระดับเช่น “ฮีโร่” ที่ทำให้ไรเดอร์กลุ่มนี้ได้ประกันอุบัติเหตุ และได้คืนภาษี นอกจากนี้ หากมีไรเดอร์ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ก็จะโดนปิดระบบเช่นกัน
ณัฐวัฒน์ จีรทัศน์ธำรงค์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน พูดระหว่างการเข้าพบว่า ตอนนี้กระทรวงฯ รับทราบปัญหาของแรงงานกลุ่มใหม่อยู่บ้าง และมองว่าปัญหานี้เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ตอนนี้ประเภทของแรงงานไรเดอร์ที่เป็น “แรงงานอิสระ” และ “นอกระบบ” ซึ่งการทำงานกับบริษัทแพลตฟอร์มขณะนี้ “ไม่มีสัญญาจ้างงาน” ระหว่างบริษัท และไรเดอเป็นลายลักษณ์อักษร จึงเป็นข้อจำกัดที่รัฐจะเข้าไปดูแลเช่นกัน และด้วยบางบริษัทเป็นของต่างชาติจึงต้องใช้เวลาดูว่าจะสามารถใช้กฎหมายใดเข้าไปดูแลได้บ้าง
ตอนนี้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงานนัดหมายบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น แกร๊ป ประเทศไทย เข้าพบในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 นี้ โดยยืนยันว่าจะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการจ้างงานแบบนี้ พร้อมบอกด้วยว่ากำลังผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาแรงงานนอกระบบ ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยคุ้มครองและดูแลแรงงานกลุ่มนี้ได้
ในระหว่างการพูดคุยมีการพูดถึงปัญหาที่เหล่าไรเดอร์คนอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการตีความ “อาชีพอิสระ” ที่รัฐและบริษัทมอง ความอิสระนี้เป็นความอิสระที่ไม่ต้องมีการรองรับและคุ้มครองสิทธิ์เลยหรือไม่ และทางออกในการออกกฎหมายใหม่เพื่อดูแลควรเป็นออย่างไร
(อ่านเรื่อง: ‘ไรเดอร์’ สองล้อที่บิดเบี้ยวของอาชีพแห่งอนาคต)
ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ซึ่งเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ระบุว่า การแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมาจากนโยบาย และการปฏิรูปกฎหมาย เพราะงานนี้เป็น “งานใหม่” ซึ่งการนิยามแรงงานแพลตฟอร์มเป็นแรงงานนอกระบบไม่ใช่ทางออก เพราะเป็นแบ่งแยกทั้ง ๆ ที่แรงงานทุกคนควรได้รับสิทธิ์การคุ้มครองจากรัฐเท่ากัน ขณะที่รูปแบบการทำงานของไรเดอร์คือการสร้างรายได้ให้กับนายจ้าง และบริษัท พวกเขาควรมีประกันสังคม ม.33 ที่รัฐ เอกชน และตัวเองมีส่วนร่วม แต่เมื่อแรงงานถูกตีความว่าเป็น “อาชีพอิสระ” ทำให้สิทธิ์ที่รัฐ และนายจ้างต้องดูแลหายไปด้วย
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ และกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ไรเดอร์เป็นเพียง 1 ในกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มที่สามารถรวมกลุ่มและออกมาเรียกร้องได้ แต่ยังมีแรงงานแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น แม่บ้าน หรือหมอนวด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก็ประสบปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน แต่ยังมีเสียงที่ดังไม่มากพอ ซึ่งการคาดหวังว่าแรงงานรวมตัวเพื่อต่อรองอำนาจกับนายจ้างนั้นอาจยังเป็นข้อจำกัด เพราะแพลตฟอร์มมีสิทธิ์ปิดระบบได้หากมีการเรียกร้อง
(อ่านเรื่อง: เครือข่ายคืออำนาจ เข้าใจอิทธิพลของแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างรอบด้าน)
เมื่อเสร็จสิ้นการเข้าพบตัวแทนจากกระทรวง ไรเดอร์เดินทางไปสมทบกับกลุ่มไรเดอร์ที่หน้าตึกยูบีซี 2 สุขุมวิท 33 เพื่อพบผู้บริหาร แกร๊บ ไทยแลนด์ แกนนำระบุว่าวันนี้จำนวนไรเดอร์น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าไรเดอร์อาจกังวล เพราะเพราะก่อนหน้านี้มีการแจ้งว่าหากใครมาร่วมชุมนุมจะถูกปิดระบบ
กลุ่มไรเดอร์สลับกันพูดถึงประเด็นที่ถูกเอาเปรียบหน้าตึกประมาณ 2 ชั่วโมง จึงตัดสินใจกลับ และนัดหมายกันใหม่อีกครั้งในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ตึกธนภูมิ ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่กระทรวงแรงงานเชิญบริษัทแพลตฟอร์มไปพบ