คำถามท้ายบทเรียนเป็นอำนาจที่รัฐอนุญาตให้ถาม กับการลาออกของ 'ครูพล' ชวนเด็กล้ำเส้นนอกบทเรียน - Decode
Reading Time: 3 minutes

พอฉันสอนด้วยวิธีการใหม่ ๆ เขาชมฉันว่าสอนดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามฉันสอนให้เด็กตั้งคำถามกับกับผู้มีอำนาจเขาบอกฉันว่าฉันเป็นครูที่ไม่ดี

ครูผู้ตั้งคำถามต่อวิธีการสอนที่ดีตามแบบฉบับที่รัฐคาดหวัง กล่าวกับฉันในวันที่เราถามถึงอำนาจที่รัฐมอบให้เรารับรู้ประวัติศาสตร์ชาติ คำถามที่เราถามได้อย่างเปิดกว้างวนเวียนในเวิ้งคำตอบที่รัฐมอบให้ในวิชาเรียน แบบฝึกหัดท้ายบทเรียนของวิชาประวัติศาสตร์แต่ละบทคือใจความสำคัญของสาระการเรียนรู้แต่ละตอนที่รัฐออกแบบและอนุญาตให้นักเรียนในฐานะพลเมืองของรัฐ รับรู้ จดจำ และมีมุมมองต่อประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้น

สิ่งที่รู้ คือ สิ่งที่ได้รับอนุญาตให้รู้

สิ่งที่อยากรู้ ไถ่ถามได้แต่ไม่ใช่ในห้องเรียนที่ขีดกรอบไว้

Decode นัดหมายสัมภาษณ์กับ ครูพล อรรถพล ประภาสโนบล อดีตครูสอนวิชาสังคม พลเมือง และประวัติศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี หลังเป็นครูบรรจุสอน 3 ปี  ครูพลลาออกมาทำงานด้านการศึกษาชื่อ Thai Civic Education และเป็นเจ้าของหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” บอกเล่าความกล้าและกังขาของครูที่ชวนเด็กล้ำเส้นนอกบทเรียน

คำถามท้ายบทของวิชาประวัติศาสตร์แต่ละเรื่องคืออำนาจรูปแบบหนึ่งที่ทำงานกับเด็ก มันเป็นคำถามที่อนุญาตยินยอมให้ถามได้ แต่คำถามที่มันไม่ถูกยินยอมในประวัติศาสตร์มันไม่เคยปรากฏในแบบเรียน

ถ้าวันใดวันหนึ่งมีคำถามว่า ครูคะ 6 ตุลาเกี่ยวข้องกับ ____ไหม

ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปจริงไหม

ทำไมวันที่ 6 ตุลาคม หรือวันที่ 14 ตุลาคมไม่ได้เป็นวันหยุด

คำถามแบบนี้ผมคิดว่าแบบเรียนไม่อนุญาต

ถ้าการถามคือการส่งเสริมให้เด็กคิด ห้องเรียนต้องสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน การปกปิดสะท้อนให้เห็นอำนาจที่มันถูกซ่อน  สิ่งที่มันถูกปกปิดถูกห้ามไม่ให้ก้าวข้าม ไม่ให้ล้ำเส้นไปมันปรากฏชัดขึ้น ถ้าพูดแบบตลก คือ รัฐอนุญาตให้เราแสดงออกได้ คิดได้ แต่คิดในบรรทัดฐานที่ถูกวางไว้ ส่วนคำถามที่ไม่อนุญาตถูกถามเรื่อย ถามทุกวันในโลกออนไลน์ที่เขาเข้าถึงได้ และพาไปเจอมุมมองใหม่ที่ไม่เคยเจอในแบบเรียน

การเรียนการสอนวิชาสังคมฯ เริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการกำหนดตัวชี้วัด และเป้าประสงค์ทางการเรียนของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น ตัวชี้วัดเหล่านี้ถูกบรรจุในคู่มือการสอนของครูและถ่ายทอดต่อไปยังนักเรียนในห้อง จากการสำรวจคู่มือครูประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ม.4-ม.6 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์  หนึ่งในคู่มือการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ใช้ในสอนในโรงเรียน พบว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้กำหนดเนื้อหาการเรียนรวบไว้ในคู่มือการสอน 1 เล่ม โดยครูแต่ละท่านสามารถออกแบบลำดับเนื้อหาที่แตกต่างได้ แต่ต้องครบถ้วนตามกำหนดเพื่อการสอบวัดระดับ O-NET ในปีสุดท้ายของการเรียน

คู่มือเล่มนี้ปรากฏเนื้อหาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กล่าวถึงที่มา และตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว คำถามท้ายบทที่มอบให้คือความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่มาเกิดจากผลกระทบจากอุทกภัยในไทยครั้งใหญ่ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก อิทธิพลแนวคิดตะวันตกของกลุ่มนักเรียนนอก จนนำไปสู่การยึดอำนาจของคณะราษฎร สิ้นสุดแค่นั้นไม่มีเรื่องราวของเดือนตุลา วันมหาวิปโยค หรือเหตุการณ์ฆ่าสังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์ 

เมื่อย้อนดูการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET วิชาสังคมศึกษาฯ ของม.6 ย้อนหลัง 2 ปี (ปี62 และปี 63) พบว่าไม่มีคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลา หรือประวัติศาสตร์ภาคประชาชน นอกจากพระอัฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ข้อสอบปี 62 ถามถึงเหตุการณ์กบฎบวรเดช และปี 63 ถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549

ตัวอย่างข้อที่ 83 นับแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาดังกล่าว 4 ฉบับ ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับประกาศใช้ มักมีปัญหาการยอมรับในรัฐธรรมนูญ และปัญหาการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันของกลุ่มการเมืองต่างๆ

ข้อใดต่อไปนี้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการเมืองดังกล่าวในวิถีประชาธิปไตย

  1. ดื้อแพ่งและไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
  2. สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวิถีทางรัฐสภา
  3. ให้การศึกษาและสร้างค่านิยมประชาธิปไตยแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
  4. เพิ่มอำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการติดตามตรวจสอบกลุ่มคนที่วิจารณ์รัฐธรรมนูญ
  5. เนรเทศผู้ที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นี่คือตัวอย่างคำถามที่รัฐมอบอำนาจให้นักเรียนคิด คำตอบของข้อนี้เฉลยไว้ 2 ข้อ คือ คำตอบข้อ 2 และ 3 สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวิถีทางรัฐสภา และให้การศึกษาและสร้างค่านิยมประชาธิปไตยแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง  

คำถามท้ายบทเรียนที่ครูพลตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์เดือนตุลา

คำกล่าว ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป คำพูดลักษณะนี้คือ Hate Speech หรือไม่ ส่งผลอย่างไรต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผู้พูดสนับสนุนฝั่งไหน มีอิทธิพลต่อการฆ่านักศึกษา ฆ่าคนที่เห็นต่างกับรัฐอย่างไร จงอภิปราย

คำถามนี้ถ้ารัฐอนุญาตจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้จักกับอิทธิพลของการสร้างถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) ศึกษาเบื้องหลังของที่มาการฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง อาจจะมองในมุมสื่อที่เผยแพร่ถ้อยคำลักษณะนั้น เชื่อมโยงต่อสังคมความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเขาพบเจอการสื่อสารลักษณะนี้หรือไม่ มีวิธีการรับมือ และวิธีป้องกันใดที่เขาสามารถยุติถ้อยคำลักษณะนี้ที่จะนำไปสู่งการฆ่าคนอย่างชอบธรรมได้บ้าง 

หรือคำถามเชื่อมโยงกับการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนในปัจจุบันให้ประวัติศาสตร์ไม่ห่างไกล ใกล้ตัวเขามากขึ้นว่าการชุมนุมในตอนนี้คล้ายคลึงหรือต่างกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไหม ทำไมรัฐตั้งชื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นวันมหาวิปโยค เขาอยากจดจำเหตุการณ์นั้นว่าอะไร ชัยชนะของประชาชน หรือมหาวิปโยคที่รัฐนิยาม 

ผมอาจชวนเขาตั้งคำถามต่อจากคำถามท้ายบทเรียนของเหตุการณ์เดือนตุลาที่มีเพียง 2 ฝั่งที่อธิบายว่าเป็นความขัดแย้งหว่างรัฐบาลกับนักศึกษา หรือประชาชนที่ต่อต้านรัฐ ว่าเขาเห็นด้วยไหมกับชุดคุณค่าที่แบบเรียนกำหนดให้แต่ละฝั่ง มีตัวละครหรือผู้เล่นไหนที่น่าจะเกี่ยวข้องการความขัดแย้งนี้ไหม สืบเนื่องเชื่อมโยงต่อปัจจุบันบ้างไหม ลองอภิปรายกัน

ผมอาจจะชวนเขาคุยต่อว่าทำไม 6 ตุลา และ 14 ตุลาของทุกปีทำไมไม่เป็นวันหยุด เหตุการณ์สำคัญของการต่อสู้โดยประชาชนไม่ถูกประกาศเป็นวันหยุดราชการ นอกจากวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์  สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร คำถามเหล่านี้เป็นคำถามท้ายบทเรียนที่น่าสนใจที่จะเชื่อมโยงผู้เรียนตั้งคำถาม อภิปรายคำตอบนอกกรอบที่รัฐอนุญาตและขีดเส้นมุมมองการรับรู้ไว้

“ผมว่าใจความสำคัญของการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของประวัติศาสตร์ภาคประชาชน หรือเรื่องราวเดือนตุลาในแบบเรียน ไม่สำคัญเท่ามุมมองและแนวคิดการเรียนการสอนต่อเรื่องนั้นๆ เพราะถึงมีอยู่แต่ถูกสอนด้วยการเล่าให้จำ ก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าการให้มุมมองเพื่อวิเคราะห์และ นิยามคำตอบเองของผู้เรียน”

เดือนตุลาในแบบเรียน

ครูพล ตั้งข้อสังเกว่า ในแบบเรียนมีข้อมูลบางส่วนเผยให้เห็นถึงความโน้มเอียงที่เป็นคำที่มาจากคนชนชั้นนำ อธิบายโดยตัดตอนสรุปว่าสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีที่มาจากการประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้าประเทศ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะนักศึกษาและคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย บางสำนักพิมพ์ขยายความว่านักเรียนนักศึกษา และประชาชนในช่วงเวลานั้นประท้วงเยอะเกินจนทำให้คนไทยเริ่มเบื่อระอา นำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งลักษณะคำอธิบายของแต่ละสำนักพิมพ์ก็ไม่เหมือนกัน แต่จุดร่วมที่พบเหมือนกันคือ คำอธิบายถึงกลุ่มผู้เรียกร้องค่อนไปทางลบ

“เวลาเรียนประวัติศาสตร์เรื่องการเมือง จะไม่ปรากฎเรื่อง 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา แบบเรียนส่วนใหญ่มีตั้งแต่สุโขทัยจนไปถึงจบที่การปฏิวัติสยาม 2475 เป็นเนื้อหาหลักในโรงเรียนไทยที่พยายามสอน แต่หลังพ.ศ 2475 จนไปถึงปัจจุบัน คิดว่าไม่ได้เหมือนกันทุกสำนักพิมพ์ บางสำนักพิมพ์อาจจะเล่าบ้างมากน้อย หรือไม่เล่าเลยก็มี  โดยแต่ละโรงเรียนมีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อหนังสือเรียนที่ตอบโจทย์กับตัวชี้วัดของกระทรวงศึกษาธิการ และเหมาะกับโรงเรียน เรื่องเดือนตุลาจึงมีโอกาสปรากฏในแบบเรียนไทยไม่เหมือนกัน”

ต้นเหตุของความเกลียดชังผู้เห็นต่าง เลนส์แว่นที่มองเพื่อนร่วมชาติไม่เป็นมนุษย์ถูกตัดตอนออกจากแบบเรียน

“เหตุการณ์เดือนตุลาเกี่ยวข้องกับความเห็นต่างทางการเมือง ความแตกต่างของอุดมการณ์อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของสังคม ในเวลานั้นก็คือการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ การแขวนคอ การเผานั่งยางเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง มันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ทำไมสังคมในเวลานั้นถึงยอมให้เรื่องแบบนี้ขึ้นได้ มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกตินี่คือใจความสำคัญของเหตุการณ์ แต่สิ่งที่ปรากฏในแบบเรียนกลับเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ ให้ภาพคนที่ออกมาประท้วงในภาพลบ ไม่มีที่มาที่ไป และไม่มีคำถามที่นำไปสู่กระบวนการการถกเถียง ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกประดับไว้ในแบบเรียนเท่านั้น”

เลนส์แว่นที่ส่งมอบผ่านตัวหนังสือให้นักเรียนท่องเพื่อตอบสอบทำให้ผู้เรียน อันหมายถึงเด็ก ผู้อ่าน หรือแม้แต่ผู้เขียนในขณะนั้นมองเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเรื่องปกติ หรือไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรที่เราจะต้องใส่ใจ เพราะหนังสือที่น่าเชื่อถือของรัฐ สอนโดยครูผู้สั่งให้ท่องจำ ให้ความหมายและความใส่ใจไว้น้อยเกินกว่าที่จะตระหนักเห็นความไม่ปกติของการฆ่าสังหารเพื่อนร่วมชาติและกระทำซ้ำต่อศพจนสูญสิ้นความเป็นมนุษย์

“เพราะแบบเรียนไม่ได้พูดถึงใจความสำคัญของเหตุการณ์ ทำให้เรามองเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องปกติ หรือไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรที่เราจะต้องใส่ใจ”  ครูพลกล่าว 

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาคประชาชนสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องรู้

“เราเรียนเรื่องของคนกลุ่มนึงเราก็จะมองไม่เห็นคนหลายๆคนที่อยู่ในสังคม เราจะไม่มองเห็นคนกลุ่มอื่นหรือเพื่อนรอบข้าง การขับเคลื่อนสังคมมันไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แน่นอนว่าไม่ใช่แค่คนข้างบน หรือคนชนชั้นนำเท่านั้น ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะผลักดันมันไปการศึกษาควรทำให้เรามีความทรงจำร่วมในฐานะเพื่อนร่วมชาติหรือมองเห็นเพื่อนร่วมชาติในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่ากัน”

ด้านหนึ่งคือความน่าเชื่อถือหลักฐาน หรือแง่มุมต่างๆ ของประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าโดยสามัญชนมักถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือเท่าประวัติศาสตร์ที่บอกกล่าวจากรัฐส่งผ่านเป็นแบบเรียนและปลูกฝังให้ท่องจำ ครูพลกล่าวว่าชุดความรู้ที่ถูกส่งต่อมาจากรัฐถูกรับรองแล้วน่าเชื่อถือ เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องเล่าของคนทั่วไปไม่ถูกยอมรับ แสดงว่าประเทศนี้ไม่เปิดพื้นที่ให้กับเรื่องเล่าหรือแง่มุมอื่นของประวัติศาสตร์ของคนทั่วไปเลยใช่ไหม

หนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของไทย สอนยังไงและบอกอะไรเราบ้างผ่านมุมมองที่รัฐต้องการบอกเด็ก

แบบเรียนได้ทำหน้าที่ของมันที่พยายามให้มุมมองหนึ่งต่อเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น วิชาสังคมและประวัติศาสตร์ถูกทำให้เป็นวิชาที่ผูกติดกับคุณค่าจริยธรรมบางอย่างที่ต้องปลูกฝังให้เด็กอยู่ในสังคมของกรอบค่านิยมสิบสองประการ สอนให้เป็นเด็กดีตามเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

หน้าที่ของแบบเรียนจึงถูกทำให้เป็นเครื่องมือส่งต่อสิ่งที่รัฐ ชาติ และศาสนาพยายามบอกส่งต่อไปถึงเด็กตามที่ครูพลอธิบาย ครูกล่าวว่าข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์จะถูกเขียนโดยผู้ชนะที่ผ่านมาเลยเต็มไปด้วยเรื่องราวของอำนาจของชนชั้นบนในสังคมให้มุมมองในฐานะของผู้ปกครอง การเปลี่ยนแปลงของสังคมกลายเป็นเรื่องของคนข้างบนที่มีบุญคุณต่อเรา หน้าที่ของผู้เรียนคือรับรู้ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำเท่านั้นก็พอ

หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ในนิยามของครูพลไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน ไม่ใช่เพียงตัวหนังสือ หรือคาบเรียน 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งแวดล้อม พิธีกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมภายในโรงเรียนจนถึงบ้านที่ทำงานกับเด็กทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตลอดเวลา ตั้งแต่อนุบาลยันจบมัธยมฯ โลกของการรับรู้ในแง่มุมอื่นจึงไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้ยากโรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ชวนให้เด็กสะกิดจากเรื่องเหล่านี้

การนำเสนอมุมมองอื่นที่แตกต่างหลากหลายทำให้เด็กเห็นอคติที่แฝงอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเรียน อคติที่มีอยู่ในตัวเขา ครูมีหน้าที่นำมุมมองนั้นมาวางไว้บนโต๊ะ เขาอาจไม่ต้องเชื่อในทันที แต่ชวนเด็กคิดหาเหตุผลและมองให้รอบก่อนตัดสินใจเชื่อข้อมูลอะไรบางอย่าง

ครูจำนวนไม่น้อยมองเห็นว่าหลักสูตรมีอคติ มีสิ่งที่ไม่ถูกเล่า แต่ต้องสอนตามแบบเรียนเพื่อให้เด็กไปสอบ สุดท้ายกลายเป็นกรงกักขังเด็กด้วยชุดความกลัว กลัวเด็กทำข้อสอบไม่ได้  ถ้าครูเชื่อว่าการศึกษาทำให้คนเกิดการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ พยายามนำเสนอแง่มุมอื่น เด็กจะตัดสินใจอย่างไร เขาจะสรุปเป็นนิยามคำตอบของเขาเอง แม้สุดท้ายเด็กต้องสอบ ตอบคำถามตามที่รัฐที่มีมุมมองแบบหนึ่งถามมา เขารู้ว่าเขาจะต้องตอบยังไง ตอบเพื่อเอาตัวรอดจากเรื่องนี้

แม้คำถามที่ต้องตอบเพื่อเอาตัวรอดในระบบการศึกษาที่มีส่วนกำหนดอนาคตผู้เรียน ผู้ซึ่งเติบโตเป็นพลเมืองของชาติ การกล้าตั้งคำถามต่ออำนาจที่รัฐขีดกรอบ มอบเส้นไว้ในแบบฝึกหัดท้ายบทเรียนอาจเป็นหนทางการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันของประวัติศาสตร์ชาติที่เขาร่วมสร้างในฐานะประชาชน