นักเรียนติดโบว์ขาว ชูกระดาษเปล่าและสามนิ้วหน้าเสาธงเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในรั้วโรงเรียนไทย การตื่นตัวของเยาวชนในสถานภาพนักเรียนภายใต้ระบอบการศึกษาไทยที่ครูรับมือกับสิ่งใหม่นี้ไม่ทัน การลงโทษ ที่เด็กมองว่า คุกคามเป็นวิธีการเดิมที่ครูบางคนจัดการและรับมือ
โรงเรียนเป็นระบบหล่อหลอมผลิตมนุษย์ให้พร้อมสู่การเป็นประชากรรัฐ โรงเรียนเป็นพื้นที่ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ นักเรียนกับครู และความซ้อนทับของอำนาจนิยม ผลประโยชน์ทางการศึกษาแลกเปลี่ยนระหว่างสถานภาพภายในโรงเรียน พิธีกรรมหน้าเสาธงเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้ความเป็นชาติที่รัฐบรรจุมาให้เหล่าประชากรอายุน้อย
หาดใหญ่วิทยาลัย หนึ่งในทักษิณแดนทอง ท่อนหนึ่งของเพลงมาร์ช ญ.ว.
โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย หนึ่งในโรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมชูป้ายกระดาษขาวทางการเมืองหน้าโรงเรียน เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 ขณะทำกิจกรรมมีครูมาดึงเทปกาวปกปิดตัวตนของนักเรียนออกพร้อมถ่ายใบหน้านักเรียนเหล่านั้น หลังตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการคุกคามดังกล่าว Decode ลงพื้นที่พูดคุยกับแกนนักเรียนผู้ผุดไอเดียนี้ บทสัมภาษณ์นี้เกิดก่อนวันชูสามนิ้วหลังเคารพธงชาติ (17 ส.ค.63) ที่แกนนำส่งข่าวถึงเพื่อนร่วมสถาบันร่วมชูสามนิ้วแทนเสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ พร้อมกับนักเรียนหลายโรงเรียนทั่วประเทศ
ฉันนัดหมายกับ เจน (นามสมมติ) แกนนำนักเรียนชูกระดาษขาว เราเจอกันใต้อาคารเรียนท่ามกลางเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ เจนไม่ปกปิดตัวตนกับเพื่อน ประกาศตนในจุดยืนและสิทธิของการแสดงความเห็น แต่ไม่ได้เปิดเผยกับครู ผู้มีอำนาจเรียกตัวสอบถามการกระทำที่เกิดขึ้น
เจนเป็นเด็กเรียนเก่งของบรรทัดฐานนักเรียนดีด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 สองเทอมซ้อน เธอนิยามตัวเองเป็นเด็กเนิร์ดในตำรา แต่เปรี้ยวกับอาจารย์และอำนาจที่น่าตั้งคำถาม เริ่มสนใจการเมืองหลังเข้าสู่โลกทวิตเตอร์ เจอข้อมูลข่าวสารที่นอกเหนือสื่อกระแสหลักนำเสนอ ข้อเท็จจริงที่เพื่อนร่วมทวิตนับล้านเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนและถกเถียงกัน ทำให้เจนตั้งคำถามกับความเป็นอยู่ในสังคมมากขึ้น กอปรกับทัศนะของพ่อที่ชวนคิดถึงความสมเหตุสมผล ความเป็นอยู่ที่น่าอยู่ไหม จนกลายเป็นผู้เริ่มทำกิจกรรมชูกระดาษขาวจากคำแนะนำของพ่อและการตรึกตรองของตัวเธอเอง เจนบอกว่าเกรดไม่มีผลอีกแล้วกับการสอบเข้ามาวิทยาลัยที่เธอเลือก คงจะอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ และถ้าจะสนใจเรื่องอื่นบ้าง ช่วยเหลือเรื่องอื่นนอกจากเกรดของตัวเองน่าจะดี
ถ้าการเมืองดี การศึกษาจะไม่ใช่การลงทุน
ข้อความข้างต้นที่เจนเห็นด้วยจากทวิตเตอร์ เจนเล่าว่าเด็กเนิร์ดที่เธอนิยามให้ตัวเอง เลิกเรียนแล้วต่อด้วยเรียนพิเศษ มันเสียเวลาจากการมาโรงเรียนวันละ 10 ชม.แต่กลับได้ความรู้ไม่คุ้มเท่าเรียนพิเศษ ทั้งๆ ที่ควรจะเรียนเพียงพอแล้วในโรงเรียน
หนูรู้สึกเสียเวลาทุกครั้งที่มาโรงเรียน หนูเรียนโรงเรียนเอกชนมาก่อน พอเข้าเรียนโรงเรียนรัฐฯ หนูรู้สึกถึงความแตกต่างว่ามันต่างกันมาก ทั้งการดูแลเด็ก การใส่ใจ หรือว่าการเรียนการสอน หนูเข้าใจว่ามันก็ต้องมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน การศึกษามันควรจะเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้ สำหรับหนูนะคะ
ย้อนกลับไปเหตุการณ์วันชูกระดาษ เจนเริ่มด้วยตัวเองเพราะยากมากในการหาแนวร่วม เพื่อนส่วนใหญ่ที่ชักชวนไม่สนใจ บ้างกลัวและออกปากห้าม หลังตัดสินใจเดินหน้าทำเพราะเชื่อว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของการแสดงออก กระดาษขาว ไร้ข้อความ กับเด็กนักเรียนปกปิดป้ายชื่อ ไม่มีเหตุอะไรควรแก่การจับกุมหรือดำเนินคดีตามทัศนะของเจน หลังปล่อยประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมมีผู้สนใจและเป็นกระแสในโซเชียล เจนเริ่มอุ่นใจ
ในขณะที่วันจริงก่อนเริ่มกิจกรรมหนึ่งชั่วโมงพบว่ามีตำรวจในเครื่องแบบเต็มยศราว 60 นายยืนเรียงรายล้อมหน้ารั้วโรงเรียน มีรถตำรวจปฏิบัติการติดกล้องรอบคันวนเวียนโดยรอบ ตอนนั้นหนูก็กลัว เริ่มกลัวแล้ว
การชูป้ายโดยนักเรียนปกปิดตัวตนทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบที่เจนอนุมานว่าอาจเป็นประชาชนทั่วไปรวมแล้วประมาณ 20-30 คนมากกว่าที่เจนคาดไว้ แต่ยังน้อยกว่าตำรวจที่มาเฝ้า คนที่มุงดู และครูที่มาดูเหตุการณ์
ตอนนั้น จุดนั้น หนูไม่ค่อยได้มองตำรวจแล้ว ก็มองอยู่แค่แถวนั้น ดูแค่คนที่มาว่าเขาปลอดภัยรึเปล่า ไม่ได้โดนอะไรใช่ไหม
หลังจบกิจกรรมทุกคนแยกย้าย เจนและรุ่นน้องนักเรียนหญิงอีก 2 คนที่มีเทปปิดชื่อ เดินเข้าโรงเรียนพร้อมคนอื่นๆ ปะปนไปกับผู้ร่วมกิจกรรมและนักเรียนทั่วไป เพื่อไปเอากระเป๋าและหลบจากบรรยากาศตำรวจที่แวดล้อมที่เข้ามา บอกเธอว่าทำแบบนี้ไม่ผิดนะ แต่เสี่ยงต้องเจออะไรบ้าง ไม่ทันผ่านรั้วมีเสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนเสียง ดังลั่นไล่เธอทั้งสามออกไป ออกไป! ใช่นักเรียนโรงเรียนนี้หรือเปล่าครับ ออกไป! เจนที่ใส่เสื้อไปรเวทสีดำ ไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียนเหมือนคนอื่นอาจเป็นผู้ต้องสงสัย ครูหญิงคนหนึ่งพูดเสียงดังกับเธอว่า แน่จริงทำไมไม่ใส่ชุดนักเรียนล่ะ ครูคนนั้นคือคนเดียวกับครูผู้ดึงเทปปิดชื่อและถ่ายหน้านักเรียนขณะทำกิจกรรม
ออกไปครับ! ออกไป! เจ้าหน้าที่ชายเดินหน้ามาไล่นักเรียนหญิงทั้งสามออกไปจากรั้วโรงเรียน
เด็กผู้หญิง 3 คนเดินเข้ามาในโรงเรียน กำลังจะไปหยิบกระเป๋า แต่เขาตะโกนเหมือนเราไปฆ่าใครมาก็ไม่รู้ ไล่ให้เราออกไปจากโรงเรียน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วถ้าสมมติหนูโดนตำรวจตามตัว โรงเรียนคือที่ปลอดภัย แต่เขากลับไล่ให้เราออกไป ท่านบอกนักหนาว่า โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่ 2 แม่หนูไม่เคยไล่ออกจากบ้านนะคะ เจนกล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้นมีน้ำเสียงไม่พอใจแฝงในถ้อยคำนั้นอยู่
ระบบการศึกษาแห่งศรวรรษที่ 21 ปรับตัวแค่ไหนต่อพลวัตโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คำบอกเล่าถึงครูผู้คุกคามนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นเพียงครูบางส่วนไม่ใช่ครูทุกคนในโรงเรียนไทยที่กระทำต่อเด็ก
ครูรุ่นใหม่ที่เดินทางในสายพานการศึกษาเติบโตมากับขนบแนวปฏิบัติเดิมในโรงเรียน เมื่อเป็นเด็กอาจไม่เห็นด้วย แม้กลายมาเป็นครูที่ระลึกได้ต่อสิ่งผิดปกติของอำนาจนิยมที่เคยเผชิญ เห็นสมควรต่อการเคารพ ปรับตัวตามสังคมที่เปลี่ยนไป เข้าใจเหตุผลเด็ก แต่เมื่ออยู่ในบทบาทของครูภายใต้นโยบาย กฎและข้อบังคับขององค์กรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือสนับสนุนอะไรได้มากเกินขอบเขตนโยบายที่ขีดเส้นไว้ หากแต่ครูผู้คุ้นชินกับระบบอนุรักษ์นิยม ปฏิบัติเห็นชอบ และไม่เห็นด้วยกับท่าทีการแสดงออกตอบกลับของนักเรียน การลงโทษจึงเป็นตัวเลือกที่คุ้นชินและคิดว่าเหมาะสมใช้การได้ ถูกนำมาใช้เสมอแม้โลกและเด็กจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม
การคุกคามคนละนิยามของครูและนักเรียน
หลังคลิปดราม่าครูดึงเทป ถ่ายใบหน้านักเรียนที่เป็นกระแสในสื่อออนไลน์ทั้งไทยและต่างประเทศ มีครูในโรงเรียนสอนนักเรียนที่มีเจนร่วมชั้นเรียนว่าการคุกคามที่นักเรียนบอกอาจคิดไปเอง ในมุมของครูเขาอาจหวังดี ท้ายที่สุดหากมีเหตุร้ายเกิดขึ้นครูท่านนั้นที่ถูกกล่าวหาย่อมช่วยเหลือดูแลนักเรียนแทนการคุกคามที่เด็กเข้าใจ
เจนไม่เห็นด้วยและอธิบายกับครูท่านนั้น ให้ความหมายซ้ำกับฉันฟังถึงความเข้าใจ “การคุกคาม” ตามนิยามของเธอว่า ถ้าอีกฝ่ายนึงรู้สึกว่าถูกคุกคาม มันก็คือการคุกคามแล้ว ครูใช้อำนาจของตัวเองบอกนักเรียนว่า ถ้าครูเจอเธอที่ชุมนุม ครูเจอเธอมาทำอะไรแบบนี้อีก ก็อาจจะคุยกับผู้ปกครอง
ครูมาใช้อำนาจของตัวเองไม่ให้คนอื่นออกมา ใช้สิทธิของตัวเอง คิดว่าเหล่านี้คือสิ่งที่คุณครูควรจะทำหรือ
เจนบอกว่าพฤติการนี้ไม่ใช่ครูที่ดี และไม่ควรจะเรียกว่าครูด้วย
หลังจากพูดคุยถึงเหตุการณ์วันนั้นฉันต่อสายถึงครูผู้ตกเป็นข่าวดึงเทปปิดชื่อและถ่ายใบหน้านักเรียน ครูบอกกับฉันว่า ไม่มีอะไรแล้ว พอแล้ว ไม่มีอะไรจะพูดถึงเรื่องวันนั้น ในขณะที่วันถัดมาหลังการชูสามนิ้วหลังเคารพธงชาติของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยดังขึ้นอีกครั้ง
Decode ต่อสายถึง ดร.ถนอมทรัพย์ นูนน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย สอบถามถึงการคุกคามจากครูที่นักเรียนกล่าวอ้างตามหลักฐานการกระทำในภาพเคลื่อนไหว และแนวทางการรับมือของครูและผู้บริหารโรงเรียนต่อการแสดงออกของนักเรียนในรั้ว ญ.ว.
ผู้อำนวยการกล่าวถึงการคุกคามที่เด็กตีความเข้าใจนั้นว่า “ไม่มีการคุกคามเด็กอย่างแน่นอน เราอยู่กับนักเรียนเหมือนลูกเหมือนหลาน อาจจะเป็นความเข้าใจผิดจากท่าทีของครู ครูท่านนั้นที่ถ่ายภาพนักเรียนอาจจะเป็นการเก็บภาพประกอบรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะคุณครูดูแลหน่วยงานประชาธิปไตยของโรงเรียนเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการนักเรียนด้วย และยังไม่พบว่าหลังจากนั้นมีการนำภาพถ่ายมาดำเนินการหรือทำอะไรต่อ เพราะ กังวลว่าเหตุการณ์วันนั้นอาจจะมีผู้แอบแฝงที่ไม่ใช่นักเรียนเข้ามา”
ผอ.ย้ำกับครูและบุคลากรทุกคนให้เป็นกลางทางการเมือง ห่วงว่าเด็กอาจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดได้ ย้ำว่า การชูสามนิ้วเป็นสิทธิที่นักเรียนทำได้ หากไม่มีการหมิ่นสถาบัน จาบจ้วง หรือแสดงออกด้วยถ้อยคำเกลียดชัง (Hate Speech) ทั้งยังกล่าวถึงการชูสามนิ้วของเด็กญ.ว.ที่ให้เกียรติชูขึ้นอย่างสงบหลังร้องเพลงชาติเสร็จ
ย้อนกลับมาที่บทสนทนาของฉันและเจนที่ใต้ตึกอาคารเรียน ฉันถามว่าหลังทำกิจกรรมและการถูกไล่ออกจากโรงเรียนวันนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง
มันเหนื่อยเหมือนกันนะ เจนตอบ
พ่อก็บอกว่าให้พอแล้วค่ะ พ่อบอกว่านี่เราก็ได้ทำเต็มที่ของเราแล้ว หนูก็จะกลับไปเป็นเด็กเนิร์ด จะกลับไปนั่งอ่านหนังสือแล้ว
หนูมีเพื่อนในห้องเรียนที่สนใจการเมือง แต่คนที่กล้าออกมาทำอะไรแบบนี้มีน้อยมาก ๆ ไหน ๆ หนูมีความกล้าเรื่องนี้แล้ว หนูก็เลยออกมาช่วยเขาดีกว่า ถ้ามันไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงอะไร บางคนเขาออกมาไม่ได้ พ่อแม่เขาไม่ให้ออกมา และหนูไม่ได้อยากบังคับเขา ถ้าเขาจะมา เขาก็มาเอง
แตกต่างกับการออกมาของเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯและปริมลฑลที่ออกมาเคลื่อนไหวเยอะกว่าหาดใหญ่และภาคใต้ บริบทของครอบครัว การถูกห้ามเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาออกมาน้อยตามทัศนะของเจน เพื่อนของเจนคนหนึ่งเรียนกรุงเทพฯ และเป็นสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว ที่แวดล้อมไปด้วยเพื่อนสนใจและพร้อมออกมาช่วย ต่างกับเธอที่ตัวคนเดียวในแนวหน้าของโรงเรียน
ถ้าหนูอยู่ตรงนั้นกับเขา ก็คงมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไปช่วยทำอะไรในหลายๆ อย่างเหมือนกัน แต่อยู่ที่นี่กลับไม่มีเพื่อนที่จะคุยเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง ไม่มีใครร่วมอุดมการณ์กับหนู ไม่มีเลย
การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
เรื่องที่เราสามารถออกมาทำได้ ไม่ว่าเราจะอยากเป็นอะไร หนูอยากเป็นหมอ หรืออยากเป็นอะไร หนูก็ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ เราอยู่ในประเทศนี้ และเราต้องเจอกับปัญหานี้ในอนาคต ที่มาจากการบริหารประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีสิทธิที่จะมาเรียกร้อง คุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศนี้ของตัวเองในอนาคตได้
หลังการเคลื่อนไหวของนักเรียนเกิดขึ้นภายในโรงเรียนทั่วประเทศ กระดาษขาว ริบบิ้นขาว และชูสามนิ้ว กระแสข่าวการติดตามคุกคามนักเรียนที่แสดงออกในรั้วสถานศึกษาเกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ของการเบ่งบาน โรงเรียนกว่า 109 แห่งถูกร้องเรียนว่าปิดกั้นและคุกคามเด็ก จากการเปิดเผยข้อมูลของภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย (AST) ที่ยื่นเรื่องต่อกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา รูปแบบการกระทำนั้นหลากหลาย บ้างดุด่าตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง ตัดคะแนน เชิญเข้าห้องปกครอง ฟ้องพ่อแม่ ฟาดหัวนักเรียนที่ชูสามนิ้ว ขู่ไล่ออกจากรร. หรือไล่ออกจากประเทศ
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศก่อนการเปิดเผยตัวเลขนั้นถึงหนึ่งสัปดาห์ (17 ส.ค. 63) ส่งหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศระบุว่าเปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัยของนักเรียนโดยไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมชุมนุม
หากโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองตามที่ผู้ใหญ่บอก เป็นพื้นที่ปลอดภัยของการศึกษา การคุกคามนักเรียนผู้เห็นต่างจากครูผู้เห็นด้วยกับอำนาจนิยมแวดล้อมอาศัยอยู่ในระบบเก่าไม่ควรเกิดขึ้น สิ่งที่เจนและเพื่อนนักเรียนไทยกำลังเผชิญอยู่ไม่ควรเจอในบ้านที่เรียกว่าโรงเรียน