3 ชั่วโมงเปลี่ยน “จะนะ” ตลอดกาล หยุดเวทีรับฟังแล้วนับหนึ่งใหม่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“หมอสุภัทรจบแพทย์ หรือจบประมง ทำไมชอบมายุ่งกับชาวประมง ออกทะเลไปเลยไป”
“อยากให้หมอมารักษาหนู ไม่ใช่ไปรักษาทะเล”

ข้อความบนป้ายประท้วงนี้ส่งสารถึง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ขอให้เขาลาออกจากตำแหน่ง เพราะ นพ.สุภัทร หรือ หมอจุ๊ก ที่คนจะนะรู้จักมีอีกหนึ่งฐานะคือ ผู้คัดค้านโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

หากบอกว่าเป็น “ตัวละครใหม่” ของเรื่องนี้ก็ไม่แปลกเท่าไหร่ เมื่อในหน้าสื่อในช่วงนี้เราเห็นการเคลื่อนไหวของน้องย๊ะ ไครียะห์ ระหมันยะ วัย 17 ปี ลูกสาวแห่งทะเลจะนะที่เดินหน้าขอให้รัฐทบทวนการสร้างเมืองอุตสาหกรรมในแถบลุ่มทะเล อ.จะนะ จ.สงขลา ถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล

การประท้วงหมอจุ๊กเกิดขึ้นวันเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า 4 ข้อเรียกร้องของน้องย๊ะ และฝ่ายคัดค้านต้อง “รอไปก่อน” และยิ่งใกล้ถึงวันของเวทีรับฟังความคิดเห็นการเปลี่ยนผังเมืองจะนะจากสีเขียวเป็นสีม่วง ในวันที่ 11 ก.ค.2563 การประท้วงนี้ส่งสัญญาณว่าคลื่นความขัดแย้งนี้สูงกว่าที่คิด แต่ไม่สูงจนไม่สามารถหาออกร่วมกันได้

Decode คุยกับหมอจุ๊กมองหาทางออกท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด (ที่เข้มข้น) อะไรควรต้องรอไปก่อน และอะไรควรต้องทำไปด้วยกันเพื่อให้เป้าหมายที่มองไว้คล้ายคลึงกัน “จะนะพัฒนา ก้าวหน้า คนมีความสุข มีการงาน และยั่งยืน” เกิดขึ้นได้จริง

“ทางออกระยะสั้นที่สุด คือ ต้องหยุดเวทีวันที่ 11 ก.ค.นี้ก่อน สถานการณ์ตอนนี้มีความขัดแย้งทางความคิดสูงมาก 3 ชั่วโมงจะเปลี่ยนจะนะไปตลอดกาล เวทีมีการปิดกั้นสูง มีความชอบธรรมน้อยมากด้วย และอาจทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งไม่เป็นผลดี แม้แต่ฝ่ายนิคมฯ เอง หยุดแล้วมาคุยกันใหม่”

การหยุดครั้งนี้หมายถึงการยกเลิกมติ ครม.ทั้ง 2 ครั้ง คือ มติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 62  และเมื่อ ม.ค.63 จากนั้น ทุกฝ่ายมาคุย และออกแบบการพัฒนาจะนะใหม่ร่วมกัน ภาคใต้โจทย์ร่วม ทั้งชุดคิดของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เอกชนที่พร้อมลงทุน ชุดคิดของชาวบ้านเกษตรกร โรงเรียนสอนศาสนา และพลเมืองที่ตื่นรู้เรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

“วันที่ 11 ก.ค.63 ความรุนแรงมีไหมไม่รู้นะ แต่ความเสี่ยงมีแน่นอน ภาครัฐก็รับรู้ ฝ่ายความมั่นคงก็รับรู้ ระดมตำรวจจากทั้งภาคใต้ สตูล ปัตตานี สงขลา เป็นพันนาย แสดงว่ามีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรง ซึ่งเราไม่อยากให้เกิด เพราะเกิดแล้วมันเยียวยาลำบาก และแตกแยกสูง”

หมอจุ๊กยังเห็นว่าลักษณะการจัดเวทีรับฟังไม่เอื้อต่อฟังความเห็นอย่างจริงจัง และสั้น แถมยังแบ่ง 2 เวที ทั้งที่ควรจัดเวทีเดียว แล้วเปิดกว้าง ใช้เวลากับการรับฟัง พูดทีละประเด็น เช่น วันนี้ คุยกันเรื่องผลกระทบต่อประมงชายฝั่ง คุยกันให้ลงตัว วันรุ่งขึ้น ต่อด้วยผลกระทบต่อวิถีชีวิตในมุมศาสนา ชุมชน ต้องย้ายวัด หรือมัสยิดไหม สุดท้ายเป็นเวทีพิธีกรรม แล้วหากชาวบ้านก็จะไม่ยอมรับ และนำไปสู่ความขัดแย้งที่เรื้อรังระยะยาว

นับหนึ่งเริ่มสร้างบ้านแปลงเมือง ไม่ใช่แบบตอนนี้ที่มีพิมพ์เขียว แล้วสร้าง 2 ทางเลือก เอา-ไม่เอา การพัฒนาเหมือนมาบตาพุด หรือแหลมฉบัง แต่ถ้าออกแบบร่วมกันอันนี้จะเป็นมิติใหม่มากในประเทศ ไม่ใช่ถอยแล้วยุติทุกอย่าง แค่คุยกันใหม่ อยากให้จะนะมีการพัฒนา อยากให้ของเรา และศอ.บต. ซึ่งมีความหวังดีร่วมกันทำให้เกิดระบวนการการมีส่วนร่วมที่ดี อันนี้จะเป็นทางออก และเป็นตัวอย่างของประเทศได้

จุดยืน “นับหนึ่งใหม่” หาคำตอบใหม่ แต่ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม

หนึ่งในเป้าหมายของโครงการฯ นี้ที่ ศอ.บต.พยายามสื่อสาร คือ การจ้างงาน 1 แสนตำแหน่ง “ผมว่ามันเป็น Goal ที่มีเสน่ห์ของทั้ง 2 ฝ่าย แต่มันมีคำถามที่ใหญกว่านั้น”

คำถามนั้น คือ โครงการฯ เคลมตัวเองว่าเป็นโครงการที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า ใช้ AI ไฮเทค ไม่โบราณ แต่สวนทางกับความจริงกับยุคที่เมื่อเทคโนโลยีทำงานได้ คนเป็น ๆ ตกงาน หมอจุ๊กตั้งคำถามนี่คือ ความจริง หรือเพียงวาทกรรมและที่สำคัญ คือ ต้องไม่ลืมว่า การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมครั้งนี้กำลังจะทำให้คนจำนวนมาก “ตกงาน” ซึ่งไม่แน่ใจได้ถูกคำนวณบวกลบคูณหารหรือยัง ซึ่งยังไม่นับรวมค่าเสื่อมโทรมของพื้นที่ด้วย

หมอจุ๊กบอกว่าทั้ง 2 ฝ่ายค่อนข้างมองผลลัพธ์ของการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน คือต้องการให้พื้นที่ได้รับการพัฒนา พี่น้องประชาชนมีความสุข และมีความยั่งยืน แต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการ “ออกแบบ” ร่วมกัน ประชาชน กลุ่มประมง กองทัพ ศอ.บต. NGO เมื่อทำแล้วอาจไม่ต้องมาทำประชาพิจารณ์เพราะรับฟังกันมาแล้ว

“เชื่อมั่นว่าถ้าทำแบบนั้น คำตอบไม่ใช่อาจนิคมอุตสาหกรรมหมื่นไร่ ที่ดินที่ซื้อไปก่อนหน้าที่ก็อาจจะเป็นที่ปลูกต้นไร่ยางนาก็ได้นะ อาจจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กระจายไปหลายที่ อาจเป็นด้านเกษตร สอดคล้องวิถีชุมชน คำตอบไม่เหมือนเดิม แต่ผลลัพธ์เหมือนเดิม ต้องยอมเสียเวลา และลงแรงกับการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ไม่ได้สู้แค่ “จะนะ” จะชนะหรือเปล่า

“ผมเป็นโทรโข่ง เป็นผู้สื่อสาร” หมอจุ๊กนิยาม และกำหนดบทบาทในโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ทั้งในบทบาทวิชาชีพ ผู้ดูแลสุขภาพชุมชน ประชาชน และในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ก็สามารถพูดได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และต้องลุกขึ้นมาปกป้อง

เสียงที่สื่อสารคือ เสียงและความคิดของชาวบ้าน เขาอาจมีศักยภาพบวกกับเวลาที่สื่อสารออกไป เสียงอาจได้ยินไม่ไกลพอ หมอจุ๊กก็สื่อสารแทน เพราะการมีสุขภาพที่ดีต้องอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อหันไปมองจริง ๆ จะนะเป็นพื้นที่มีฐานทรัพยากรสมบูรณ์มากทั้งน้ำ อาหาร อากาศ สิ่งเหล่านั้นกำลังจะถูกทำลาย ทำให้แย่ลง แม้สุดท้ายประชาชนคือคนเลือก แต่ควรได้เลือกภายใต้การได้รับรู้ข้อมูลอย่างชัดเจน

“คนก็เตือนมาเยอะนะ”

การเป็นโทรโข่งของหมอจุ๊ก ด้านหนึ่งคือการ “เปิดหน้าสู้” แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาหมอจุ๊กเคยต่อสู้มากับการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลย์ หมอจุ๊กเข้าใจประมาณหนึ่งว่า การถูกประท้วง และรับแรงปะทะจากฝ่ายตรงข้ามจะเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อขัดแย้งกันสูง

“ไม่เฉพาะมือที่ 3 อย่างเพจไอโอก็เริ่มลงมือกันอย่างจริงจังกับเรื่องนี้ ภาพผม ชื่อผม แกนนำหลายคนก็ด้วย มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น บางคนมีฝ่ายความมั่นคงไปเยี่ยมไปชวนคุย ซึ่งเขาก็ไปโดยสุภาพ แต่ก็ส่วนหนึ่งมองได้ว่าเป็นการคุกคามเช่นกัน”

การต่อสู้เพื่อคัดค้าน หรือเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินหน้าโครงการ หรือยุติโครงการขนาดใหญ่ล้วนเป็นการวิ่งมาราธอน ต้องใช้เวลาเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นได้จากการต่อสู้หลาย ๆ  ครั้ง หมอจุ๊กบอกว่าถ้าเราเห็นภาพใหญ่ของการเดินไปข้างหน้า

“ไม่ใช่แค่สู้เรื่องจะนะแล้วจะชนะหรือเปล่า หลายที่ม่วงงาม เหมืองหิน เวทีรับฟังชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย เรากำลังสู้กับระบบในประเทศ ให้เราส่งเสียงอย่างแท้จริง สู้เพื่อให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้น คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ชุมชนชาวบ้าน และรัฐบาลที่ต้องคุยกัน”

REMARK: โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นส่วนหนึ่งโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน” ใต้การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะนะถูกวางให้เป็น เมืองต้นแบบลำดับที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

แผนงานพัฒนาจะนะขีดเส้นเขตผังเมือง 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม โครงการมีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท ประเมินตัวเลขการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท คือ เกษตรและอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก ไฟฟ้า กิจกรรมหลังท่าเรือ ศูนย์รวมและกระจายสินค้า และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย

อ่านอีกเสียง ไปต่อชะลอไม่ได้ ศอ.บต.คิกออฟ “นิคมฯ จะนะ”