สืบสำนวนอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ถอดหน้า ‘กาก’ อำพรางพิษใต้พรมอุตสาหกรรม - Decode
Reading Time: 5 minutes

“ปัญหาการกระทำผิดของโรงงานรับบำบัดและกำจัดของเสียตอนนี้ถือว่าหนักจริง ๆ น่าจะติดอันดับโลกได้” นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว

24 ปีของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จที่ห้วยน้ำพุ 13 ปีของบริษัท วิน โพรเสสฯ ที่บ้านหนองพะวา หรือครึ่งปีกับการขนย้ายแคดเมียมในพื้นที่ของบริษัท ผาแดง อินดัสทรีที่บ้านหนองบัวใต้ ทั้ง 3 กรณีที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้นเป็นผลพวงจากรอยรั่วของการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่ไม่ว่าจะ 10 ปี หรือ 20 ปี มาจนถึงวันนี้ไม่ต่างจากระเบิดที่ซุกไว้ใต้พรม และมีแต่ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้รับมลพิษที่ตนเองไม่ได้ก่อไว้ต้องทนรับ

เพราะอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เพราะถึงมีกฎหมายแต่กลไกการจัดการยังซับซ้อน เพราะอะไรผ่านมานานหลายสิบปี ทำไมปัญหามลพิษจากกากอุตสาหกรรมถึงไม่เคยหมดไปและมีแนวโน้มจะมากขึ้น?

ถึงเวลาถอดหน้า ‘กาก’ กับคำตอบของหน่วยงานภาครัฐที่ยังมีคำถามกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวงเสวนา “อาชญากรรม สิ่งแวดล้อม โจทย์ท้าทายที่สังคมไทยต้องรับมือให้ได้” โจทย์ใหญ่ที่ยังคาราคาซังในสังคมไทยและต้องหาทางกันมากกว่ารอแก้ และโจทย์ใหม่ที่จะทำให้ประชาชนไม่ได้เป็นเพียงผู้ชนะคดีศาลแต่ยังไม่ได้รับการเยียวยา

ภาระพิสูจน์ที่ประชาชนต้องแบกรับชั่วชีวิต

ชำนัญ ศิริรักษ์ เครือข่ายนักกฎหมายจิตอาสาเพื่อสังคม ในฐานะที่เป็นทนายที่ดูแลทุกพื้นที่ที่มีการฟ้องร้องเรื่องกากอุตสาหกรรม กล่าวว่าในการดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อมจะสามารถฟ้องร้องได้ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

โดยประชาชนสามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้ และทางอาญาจะต้องให้หน่วยงานภาครัฐยื่นฟ้องต่ออัยการ และสามารถดำเนินการต่อไปได้ถึงชั้นศาลปกครอง

แต่กระบวนการยุติธรรมในปัญหากากอุตสาหกรรมนี้ จากประสบการณ์ทำงานของเขาทำให้ประชาชนถูกผลักภาระหลายอย่างมากเกินไป หลายคนต้องแลกด้วยบ้าน บางคนแลกด้วยทรัพย์สินที่มี บางคนต้องแลกด้วยชีวิตที่เหลืออยู่ อย่างเช่นคดีของบริษัทเอกอุทัยที่ อ.ศรีเทพ บ้านม่วงชุม 

แม้ในคดีนี้ ทางศาลปกครองชั้นต้น จังหวัดนครสวรรค์ จะกลายเป็นคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคำพิพากษารวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นการเยียวยาก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่คดีถูกอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดของจังหวัดและยังคงนิ่งจนถึงทุกวันนี้ และกว่าจะมาถึงการชนะในคดีศาลชาวบ้านต้องทนกับมลพิษในพื้นที่ยาวนานกว่า 5 ปี

ไม่ว่าประชาชนจะพยายามส่งหนังสือร้องเรียนกี่ครั้ง ชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหากี่หน เข้าร่วมการประชุมไตรภาคีครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย หลังยื่นฟ้อง ยื่นเรื่องและเรียกร้องนานหลายปี ในปี 2564 กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้เข้ามาตรวจพิสูจน์สารพิษในพื้นที่ แม้ว่าจะพบหลักฐานประจักษ์ตั้งแต่เหยียบเข้าไปในพื้นที่โรงงาน ทว่า ในปี 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรมกลับอนุญาตให้บริษัทฯ เปิดหลุมฝังกลบที่ 2

“แม้จะมีหลักฐานชัดเจน แต่กว่าศาลจะพิพากษาก็ใช้เวลานาน กว่าศาลจะพิสูจน์ได้นั้นกลายเป็นว่าประชาชนต้องเป็นคนพิสูจน์เพื่อให้ศาลสั่งอีกที ซึ่งจริง ๆ มันไม่ควรเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ องค์การส่วนท้องถิ่นต่างหากที่ควรเข้ามาพิสูจน์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาแก้ไขความผิดพลาดในส่วนงานของตนจนเกิดเป็นเหตุเช่นนี้

เศษซากจากการระเบิดของโกดัง 5 บริษัท วิน โพรเสสฯ

แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ กว่าจะฟ้องร้องกันได้ กว่าจะพิสูจน์หลักฐาน ประชาชนต้องใช้เงินของตัวเองในการพิสูจน์ว่าพวกเขาได้รับปัญหาจริง ๆ คดีทางสิ่งแวดล้อมเป็นการต่อสู้ระยะยาวแต่ในระยะยาวหมายถึงภาระทั้งหมดกว่าจะมีการตัดสิน ซึ่งหลายที่ยังไม่มีการตัดสิน 

ทุกสารพิษที่ยังอยู่บนดินและใต้ดิน การบำบัดแหล่งน้ำที่ไม่เกิดขึ้นจริง วิถีชีวิตเดิมที่ไม่สามารถคงอยู่ ไปจนถึงกระบวนการฟ้องร้องทั้งการเดินทาง การดำเนินการ มันต้องแลกมาด้วยสุขภาพกายและสุขภาพจิต นี่คือเป็นหน้าที่ของรัฐในการพิสูจน์ซึ่งต้องเร่งด่วนไม่ใช่ล่าช้าจนกลายเป็นภาระที่เยอะขึ้นของประชาชน”

ในหลาย ๆ พื้นที่ก็ประสบปัญหาเช่นกัน อุปสรรคของการดำเนินคดีคือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยากของประชาชน ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม คดีปกครองบางคดีต้องใช้เวลานานกว่าจะมีคำพิพากษา

“ส่วนเรื่องการติดคุกอย่างกรณีวิน โพรเสสถ้าเขาติดจริง เขาก็จะติดเพียงระยะเวลาหนึ่ง แต่ประชาชนจะต้องติดอยู่กับสิ่งแวดล้อมนั้นชั่วชีวิต ไม่มีทางออก ผมว่าเขาทรมานยิ่งกว่าผู้ประกอบการอีก” ทนายชำนัญ กล่าว

“การดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ในกรณีที่ไม่รุนแรงมากจะอยู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ค่อนข้างเยอะอย่างเหตุรำคาญ แต่ไม่พบว่าอปท.มีการดำเนินการแก้ปัญหาแต่อย่างใด เพราะหน่วยงานรัฐไม่กล้าใช้อำนาจ ไม่กล้าหาญพอ สุดท้ายก็ต้องมาสู่กลไกผู้ตรวจการแผ่นดิน ปัญหาเรื่องนี้ก็คิดว่าเป็นเพราะกลไกที่มีอยู่ใช้ไม่ได้จริง” ทนายชำนัญ กล่าว

การแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมในรูโหว่ต่าง ๆ นี้ มีความพยายามที่จะอุดรูรั่วเหล่านี้มาโดยตลอด แต่จากมาตรการของภาครัฐยิ่งชี้ชัดว่าแม้จะเห็นรูรั่วแต่หากยังไม่สังคายนาทั้งระบบ เราก็ไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้จริง และเราต้องตั้งเป้าชัดเจนไปที่จะทำอย่างไรให้ผู้กระทำความผิดต้องเกรงกลัวต่อความผิดที่จะกระทำลงไป

โอดตั้งกองทุน ‘เยียวยา’ ไม่พอ! วางเงินประกัน ‘หลักร้อยล้าน’ ดัดหลังผู้ประกอบการ

“ที่อยากจะขอแก้อีกข้อก็คือจะให้มีการตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ระหว่างการดำเนินคดีหรือการหาตัวผู้กระทำความผิดโดยเงินในกองทุนจะมาจากเงินที่กรมโรงงานฯ มีอยู่แล้วราว 400 ล้าน ต่อไปจะเป็นการสร้างหลักประกันความเสียหายโดยจะเก็บเงินจากโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อนำมาใช้เพื่อเป็นการเยียวยาเบื้องต้นหากเกิดปัญหาขึ้น” นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว

อย่างไรก็ตาม เงินเยียวยาจากกองทุนหรือกองทุนแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมนี้ยังถูกตั้งคำถามถึงความครอบคลุมในการเยียวยา และการชดใช้ที่ควรจะมาจากผู้ก่อมลพิษในพื้นที่ มากกว่าที่จะต้องใช้เงินภาษีในการจัดตั้งกองทุนของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังมีแผลใหญ่ที่ยังไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้และกลับกลายเป็นประชาชนเองที่ต้องเยียวยาจากเงินของตนเอง

ในหลายกรณีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีบริษัทวิน โพรเสสฯ แม้จะมีการอายัดและตัดสินให้ชดเชยแล้ว แต่ความเป็นจริงเงินชดเชยเหล่านี้ยังไม่ถึงชาวบ้านสักบาทเดียว เพราะเมื่อศาลสั่งฟ้องให้ขายสินทรัพย์ของบริษัทก็พบว่าในโกดังมีเพียงเศษเหล็กบางส่วนและที่ดินบางผืน อีกทั้งไม่มีเครื่องจักรในการบำบัดของเสียมาตั้งแต่ต้น ทำให้หลายบริษัทไม่มีประกันภัยโรงงานและเมื่อเกิดการฟ้องร้องความเสียหาย สินทรัพย์ที่ต้องแปรเป็นเงินตามที่ศาลตัดสินก็ไม่พอจ่ายให้กับชาวบ้าน

นี่เป็นรูปแบบร่วมที่คล้ายกันของผู้ก่อมลพิษในคราบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม มักจะใช้ปัดความรับผิดชอบในการชดใช้ความเสียหายต่อพื้นที่

นอกจากนี้ในวงเสวนายังมีการพูดคุยถึงกองทุนดังกล่าว มีความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ นอกจากการเยียวยาและแก้ไขจากภาครัฐ สิ่งที่ภาครัฐควรจะทำจริง ๆ คือการวางหลักประกันของผู้ประกอบการโรงงานเหล่านี้แต่แรกเริ่ม โดยนายจุลพงษ์ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ทางตนเองคิดถึงข้อเสนอนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่าการวางเงินหลักประกันในจำนวนที่สูงจะเป็นมาตรการที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการที่จะกระทำความผิดต้องฉุกคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

“โดยส่วนตัวอยากให้เกิดการวางเงินหลักประกันในหลักร้อยล้านหรือมากกว่านั้น ซึ่งถ้าหากเขาปิดกิจการไปโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราก็จะคืนเงินให้เต็มจำนวน มาตรฐานธรรมาภิบาลของบริษัทก็ต้องเริ่มจากมาตรการที่เข้มงวดถึงจะสามารถใช้ได้จริงและป้องกันการก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมเมื่อคนกระทำผิดต้องคิดแล้วว่าเขาได้ไม่คุ้มกับที่เสีย” นายจุลพงษ์ กล่าว

สภาพน้ำของบ่อดำ บริษัท วิน โพรเสสฯ

ด้านทนายชำนัญกล่าวเสริมว่าสำหรับกองทุนอุตสาหกรรมนั้นตนเห็นด้วย แต่สิ่งที่อยากได้คือประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างเงื่อนไขว่าโรงงานจะต้องซื้อประกันภัยในวงเงินเท่าไหร่ เพื่อวันหนึ่งหากเกิดเหตุขึ้นโรงงานจะได้มีพาร์ทเนอร์ในการช่วยจัดการความเสียหาย และเป็นหลักประกันว่าชาวบ้านจะได้รับการเยียวยาโดยไม่ต้องไปฟ้องคดี

“ปัญหาทุกวันนี้คือเราไม่เคยมีเรื่องนี้เราต้องนำเงินภาษีมาอุ้มเพราะกองทุนฯ ที่มีก็เอามาใช้ไม่ได้ สุดท้ายถ้าจะทำให้สิ่งแวดล้อมกลับมาใช้ได้ก็ต้องใช้เงินภาษี แล้วมันเป็นธรรมกับประชาชนทุกคนหรือไม่ 

บ้านเราหลายคนอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้โรงงาน แต่เงินภาษีของคุณแทนที่จะนำไปพัฒนาแต่กลับมาใช้แก้ปัญหาที่เอกชนบางรายเห็นแก่ตัวสร้างขึ้น” ทนายชำนัญ กล่าว

หลากความคิดเห็นถึงกองทุนที่จะใช้ในการเยียวยา กลับกันเราได้เห็นการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมมีความพยายามที่จะอุดรูรั่วเหล่านี้มาโดยตลอดซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง

จากปลายทางสู่การหาทางออกที่ต้นทาง ได้ชี้ชัดว่าแม้จะเห็นรูรั่วแต่หากยังไม่สังคายนาทั้งระบบ เราก็ไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้จริง และเราต้องตั้งเป้าชัดเจนไปที่จะทำอย่างไรให้ผู้กระทำความผิดต้องเกรงกลัวต้องความผิดที่จะกระทำลงไป

แก้กฎหมาย ‘เพิ่มโทษ’ ไม่เดินย่ำซ้ำรอย ‘คลองกิ่ว’

“จริง ๆ แล้วกฎหมายสิ่งแวดล้อมของบ้านเราค่อนข้างเข้มงวด เรามีกฎหมายที่ใช้จัดการอยู่ 4 ฉบับหลัก ๆ แต่ด้วยบทลงโทษที่ไม่เอื้อให้ผู้ก่อมลพิษฉุกคิดก่อนจะทำพิษ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่เกิดปัญหามลพิษจากกากอุตสาหกรรม ไม่เคยมีผู้ก่อมลพิษได้รับโทษต้องจำคุกเลย” นายจุลพงษ์ กล่าว

กฎหมาย 4 ฉบับในข้างต้นประกอบไปด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย, พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ในทุกครั้งที่เกิดการฟ้องร้องในเรื่องของการลักลอบทิ้งและนำมาเก็บไว้ที่โกดังของบริษัทเหล่านี้ จึงมักเป็นไปตามโทษลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมคือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท มีอายุความ 1 ปี บางครั้งทำซ้ำซากส่งฟ้องศาล ศาลก็ลงโทษเบามาก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ก่อมลพิษเหล่านี้ไม่เคยจำคุกเลย

ในปัจจุบันมีโรงงานที่จดทะเบียนเป็นโรงงานรับบำบัดกากอุตสาหกรรมกว่า 2,000 โรงงาน แม้โรงงานที่เป็นผู้ก่อมลพิษโดยการลักลอบทิ้งกากไว้ในโกดังจะเป็นส่วนน้อย ทว่า ผลกระทบของส่วนน้อยนี้เองก็สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมหาศาล

จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2564 พบว่ามีโรงงานที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรการกฏหมายอยู่ 40 คดี และในปี 2565 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 412 คดีและในตัวเลขนี้เป็นการดำเนินคดีจากการรายงานข้อมูลอุตสาหกรรมถึง 87%

แต่ในปี 2566 มีการร้องเรียนเข้ามาที่กรมโรงงานฯ เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,341 คดี และในตัวเลขของปีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นเจ้าของกากและผู้รับบำบัดถึง 97%

โทษที่เบาและการบังคับใช้ที่ยังไม่เข้มงวดเพียงพอ อธิบดีกรมโรงงานฯ จึงได้เสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรมว่า พระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องถูกแก้ไขโดยมีแนวคิดปรับแก้กฎหมายและเพิ่มโทษให้ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น โดยจะดำเนินการเพิ่มเงินค่าปรับ เพิ่มโทษจำคุกเพื่อให้อายุความยาวขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการมีความเกรงกลัว

ปัจจุบันหากกรมโรงงานฯ มีคำสั่งปิดโรงงาน กรมโรงงานฯ จะหมดอำนาจจัดการต่อโรงงานนั้นทันทีและต้องหากฎหมายอื่นเพื่อมาจัดการต่อ ซึ่งถ้าไม่มีกฎหมายใดจัดการต่อได้กรมโรงงานฯ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำต่อไปคือการแก้กฎหมายตรงนี้เพื่อให้หลังจากสั่งปิดไปแล้ว กรมโรงงานฯ จะยังมีอำนาจสั่งการต่อไปจนกว่าการแก้ปัญหาจะเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในตัวเลขทั้งหมดยังพบการกระทำผิดทั้งที่มีใบอนุญาต ปลอมแปลงใบอนุญาต หรือกระทั่งไม่มีใบประกอบโรงงานด้วยซ้ำ อย่างเช่นโกดังภายใต้ผู้ประกอบการคนจีนที่คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จังหวัดชลบุรี กลุ่มอาคารที่มีลักษณะเป็นโรงเรือนประมาณ 30 หลัง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 88 ไร่ ที่ดินนี้เป็นของสามบริษัทกลับมีกรรมการผู้จัดการคนเดียวกันทั้งหมด คือ นายหม่า ยา เผิง

เหตุการณ์คลองกิ่วนี้ยังถูกถามถึงการสามารถตั้งอยู่จนสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างแม้ไม่มีใบอนุญาตตลอดการทำการ ภายในเขตโรงงานยังพบการใช้ชีวิตของแรงงานซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่มีทั้งร้านค้าและบ้านพักคนงานในช่วงก่อนการทลายโรงงานเถื่อนแห่งนี้

ด้านทนายชำนัญกล่าวว่า โรงงานที่คลองกิ่วนี้เองคือหลักฐานอีกชิ้นของกฎหมายที่มีแต่กลไกการทำงานไปจนถึงระบบตรวจสอบยังบกพร่อง โรงงานที่คลองกิ่วคือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เห็นว่ากลไกของเรายังเต็มไปด้วยช่องโหว่มากถึงขนาดปล่อยให้โรงงานขนาดเกือบ 100 ไร่สามารถดำเนินการไปได้โดยไร้ซึ่งการตรวจสอบจากภาครัฐ

“ความหละหลวมนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้กระทำความผิดใช้ข้อบกพร่องตรงนี้ในการกระทำความผิดได้ แต่ปัญหากากอุตสาหกรรมไทยลามไปถึงอาชญากรรมข้ามชาติที่ทิ้งผลกระทบไว้กับชุมชนในพื้นที่” ทนายชำนัญ กล่าว

ขยะกากอุตสาหกรรมหลายประเภทที่พบในโรงงานที่คลองกิ่ว
ขยะกากอุตสาหกรรมหลายประเภทที่พบในโรงงานที่คลองกิ่ว

เมื่อปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบในหลายมิติของประชาชนในพื้นที่และวันข้างหน้าอาจลุกลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ นอกจากการแก้ไขข้อบังคับ บทลงโทษ คือการที่หน่วยงานรัฐต่างแต่ละภาคส่วนต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อขยายวงกว้างในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้

เปิดสำนวน วิน โพรเสสฯ การจับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมเข้าคุกครั้งแรก

ย้อนกลับไป เป็นเวลา 2 ปี ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการร่วมมือผ่านลงนาม MOU ในการดำเนินคดีต่อผู้ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เมื่อข้อหาเดิมที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเคยใช้อาจไม่เพียงพอต่อการเอาผิดผู้ก่อมลพิษเหล่านี้อีกแล้ว

และจากความร่วมมือนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่สามารถนำผู้ก่อมลพิษจำคุก แม้เป็นเพียงการชั่วคราว

หลังเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังบริษัทวิน โพรเสสฯ ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้ MOU ดังกล่าว ได้รุดเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เมื่อก่อนหน้าไม่นานได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ในลักษณะเดียวกันที่โกดังบริษัท เอกอุทัยที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำดังกล่าว กล่าวว่าจากการสืบค้นมาก่อนหน้า ทำให้พบความเชื่อมโยงของบริษัทเอกอุทัยและบริษัทวิน โพรเสสฯ ภายใต้คณะกรรมการบริษัทชุดเดียวกัน ทำให้เห็นว่าอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นมีความเชื่อมโยงและผู้กระทำความผิดอาจเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน

“ในขอบเขตหน้าที่ของทาง สตช. เราเข้าไปสืบค้นเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ก่อน แต่หลังจากนั้นพบว่าเหตุเพลิงไหม้นี้มีความเชื่อมโยงกันด้วยระยะเวลาเอง หรือรายชื่อผู้ก่อมลพิษเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องดำเนินการในการเอาผิดอย่างเด็ดขาดต่อการกระทำที่เกิดขึ้น”

พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำตอนนี้เกี่ยวกับกรณีของบริษัท วิน โพรเสสฯ และบริษัท เอกอุทัย คือการนำเจ้าของมาลงโทษจำคุกให้ได้ แต่ว่าโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายถือว่าเบามากและมีแค่โทษปรับ ในเมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อจึงได้เริ่มไปมองที่กฎหมายอาญาซึ่งครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้ (จัดการผู้ก่อมลพิษจากกากอุตสาหกรรม)

“ส่วนในเรื่องนอมินีเราก็พบว่ามีจริงหลังจากเห็นว่ากรรมการมีการเปลี่ยนตัว เราตั้งคำถามว่าใครเป็นเจ้าของ เราก็พบว่าคนที่ชื่อโอภาสเป็นคนครอบงำกิจการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่โคราช เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และระยอง สิ่งพวกนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เราสืบได้”

โดยในตอนนี้ได้มีการสั่งจำคุกกรรมการบริหารบริษัทวิน โพรเสสฯ และบริษัทเอกอุทัยจำนวน 10 คนแม้กรรมการคนอื่นจะได้รับการประกันตัว แต่สำหรับนายโอภาส บุญจันทร์ ซึ่งจากการเชื่อมโยงของคณะทำคดีนี้พบว่าอาจเป็นตัวการของเครือข่ายกากอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้คัดค้านการประกันตัวและได้มีการแจ้งดำเนินคดีในพื้นที่ต่าง ๆ ไว้อีกมาก เพื่อไม่ให้หลุดหนีระหว่างการทำสำนวนสืบสวน

อะลูมีเนียมดรอสที่ยังถูกทิ้งไว้และระเหยกลายเป็นไอเมื่อเจอฝนกับแกลลอนบรรจุกากอุตสาหกรรมนับร้อยถังที่ยังไม่อาจระบุได้ว่ามีสารเคมีร้ายแรงชนิดใดอีกบ้าง

และมีการแจ้งข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ พยายามฆ่า จากการทิ้งสารพิษลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งในตอนนี้กำลังหารือกับอัยการเพื่อดูเจตนาฆ่าและหาหลักฐานมาสนับสนุนในการที่จะเล็งผลเพื่อฟ้องร้อง

“ผมถามกรมโรงงานฯ ว่าไฟไหม้ไปนานแล้วทำไมน้ำยังดำ ยังอันตรายขนาดไหน กรมโรงงานฯ ตอบว่ามีค่าความเป็นกรดมากค่าใกล้กับ 0 ผมถามว่าถ้าโดดไปในอ่างจะตายไหม เขาก็บอกว่าตาย ผมลองคิดว่าถ้าผมเป็นเจ้าของโรงงาน รู้ว่ากรดอันตรายแค่ไหน ถ้าปล่อยในน้ำ เล็งเห็นผลไหมว่าจะก่อให้เกิดอันตรายอะไรบ้าง” พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าว

นอกจากนี้ยังพบเอกสารที่ถูกปลอมแปลงอย่างน้อย 2,000 ฉบับ ทั้งปลอมแปลงตรายางหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้ในการขนส่งและอื่น ๆ อีกทั้งยังพบคือเอกสารการเงินของบริษัทวิน โพรเสสฯ และบริษัทเอกอุทัย ที่ยังระบุถึงคู่ค้าหรือบริษัทผู้กำเนิดมลพิษ ซึ่งอาจตามได้ถึงในอนาคตเพื่อให้บริษัทเหล่านี้รับผิดชอบร่วมกัน

สำหรับความคืบหน้าถึงกรณีล่าสุดของอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมนี้ที่ทนายชำนัญคาดว่ามูลค่าการฟื้นฟูทั้งหมดอาจจะสูงถึงหลักหมื่นล้าน พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่าจะเร่งให้คดีสามารถส่งฟ้องศาลได้ภายในเดือน ส.ค. นี้ ส่วนหลังจากนี้ถ้ามีการตรวจพบหลักฐานใหม่ก็จะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมไม่อย่างนั้นจะไม่มีจุดสิ้นสุดเพราะเรื่องนี้ยิ่งตรวจยิ่งเจอ

“เราคงต้องกลับมาทบทวนว่าการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเอาผิดผู้ก่อมลพิษเหล่านี้อาจไม่เพียงพอแล้ว เราจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายอาญาเพื่อที่จะเอาผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีได้ นี่จะเป็นตัวอย่างที่ทำให้ผู้กระทำความผิดคนอื่น ๆ หรือในอนาคตต้องเกรงกลัวกฎหมายและคำนึงถึงสิ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในการตั้งโรงงานแบบนี้” พล.ต.ท.ธัชชัย คาดว่าในชั้นศาลถ้าพิพากษา นายโอภาสน่าจะโดนจำคุกอย่างต่ำ 100 ปี หรืออาจจะถึง 1,000 ปี”

การนำกฎหมายอาญามาใช้ในการดำเนินคดีอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นชัดว่า เมื่อกลไกในการจัดการผู้กระทำความผิดทางกากอุตสาหกรรมยังมีช่องโหว่ที่ทำให้ขอบเขตในการจัดการของแต่ละหน่วยงานภาครัฐนั้นยังครอบคลุมไม่มากพอ การทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างอำนาจการจัดการคือการรักษาแผลเหวอะจากช่องโหว่การจัดการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้สร้างมาตรฐานใหม่ ต่อประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และผู้ก่อมลพิษด้วยเช่นกัน

โจทย์ใหญ่สังคมไทย เมื่อ ’กาก’ ต้อง ’กัน’ ไม่ใช่รอ ’แก้’ 

นายธนาธร ตรงสิทธิวิทู ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมนั้นมาจากการกำกับดูแลที่ยังไม่ดีพอ บริษัทผู้ก่อกำเนิดกากเน้นไปที่การลดต้นทุน กำลังพลของภาครัฐที่อาจจะตรวจสอบไม่เจอ รวมถึงช่องโหว่ของกฎหมายไม่มีเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ดีพอ

“แน่นอนว่าภาครัฐไม่สามาถรไปตรวจสอบดูแลได้ตลอดเวลา เราจึงต้องมีระบบที่ดีมากขึ้นในการจัดการ อย่างที่เห็นว่าแม้จะมีระบบ E-Manifest ซึ่งเป็นระบบรับแจ้งออนไลน์มี Digital footprint แต่ก็ยังเกิดการลักลอบอยู่ดี การกำกับดูแลอาจจะต้องมุ่งเน้นไปที่นโยบายเพื่อกำกับบริษัทเหล่านี้ในการดำเนินการของโรงงานด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะไม่คำนึงถึงกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงโทษที่เกิดจากความพยายามในการลดต้นทุน”

ธนาธรกล่าวต่อว่า ด้วยข้อต่อของการลดต้นทุนของบริษัทผู้กำเนิดกากจึงได้เกิดบริษัทรับบำบัดที่อยู่ในมุมมืด ที่ทำธุรกิจอย่างไม่มีธรรมาภิบาลอย่างการรับกรดมากำจัด โดยปกติจะอยู่ที่ตันละ 4,000 บาท แต่บริษัทรับบำบัดเหล่านี้กลับรับอยู่ในราคา 1,200 บาทโดยประมาณ จึงเกิดเป็นช่องว่างที่ทำให้บริษัทเจ้าของของเสียจึงเลือกที่จะไปช่องทางนี้เพราะในปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการดำเนินความผิดต่อบริษัทต้นทาง

“การสนับสนุนจากภาครัฐในทางภาษีที่สนับสนุนให้กับการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีสามารถนําไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้จะทําให้สามารถขยายฐานการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีโดยที่ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้นในภาพรวม” ธนาธร กล่าว

ด้าน นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในวงจรของการจัดการกากอุตสาหกรรม ให้ช่วยคัดกรองและตรวจสอบได้

“จากการลงพื้นที่หลายครั้งซึ่งประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง หลายพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือได้เลย หรือกระทั่งการฟ้องร้องซึ่งสร้างภาระต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษมาอยู่แล้วต้องโดนกระทำซ้ำ ระหว่างรอแก้กฎมาย ก็อยากให้อัยการฟ้องแพ่งแทนประชาชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากทั้งกองทุนและบริษัทผู้กระทำผิด”

นายทรงศักยังเสนอถึงแผน 2 ระยะด้วยกัน ในระยะสั้นให้ดำเนินการของบกลางเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ส่วนในระยะยาวนั้นเห็นตรงกับกรมโรงงานว่าควรจะต้องแก้กฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.โรงงานฯ ตั้งกองทุนอุตสาหกรรม รวมทั้งควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขกระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายที่ล่าช้าหรืออาจไม่ได้รับด้วย

“แม้ว่ากลุ่มผู้กระทำผิดเหล่านี้จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่เราได้เห็นกันมาตลอดหลายสิบปีแล้วว่าส่วนน้อยนี้แหละที่ทำให้สิ่งแวดล้อมของไทยพังพินาศอย่างไม่มีทางย้อนกลับ เราคงต้องมาคิดใหม่กันทั้งระบบว่าแสงสว่างแบบใดที่จะทำให้คนกระทำผิดในมุมมืดหายไปจากสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง การร่างกฎหมายใหม่ บทลงโทษที่หนักกว่าเดิม การจัดการที่ทันสมัยและตรวจสอบง่าย ทั้งหมดคือเรื่องของการรื้อระบบเพื่อหาต้นตอของปัญหานี้” นายธนาธร กล่าวทิ้งท้าย

การสังคายนาระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นทางที่ระบบการขออนุญาตไปจนถึงการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด สิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นคือปัญหาที่เกิดจากกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยถึงยกระดับและเล็งเห็นถึงความร้ายแรงมากขึ้น

ในวันที่หน่วยงานภาครัฐเห็นแล้วว่ากลไกดังกล่าวสามารถอุดช่องโหว่ด้วยการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ขอบเขตอำนาจของแต่ละหน่วยงานนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้ นั่นคือการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรม

แต่ในขณะเดียวกัน การดำเนินการอุดรอยรั่วเหล่านี้ที่ยกมาตรฐานขึ้นไม่มากก็น้อย ได้แลกมาด้วยทรัพยากร นาข้าว ที่ดิน และชีวิตของประชาชนหลายครัวเรือนจากการต่อสู้ เพื่อกำจัดมลพิษเหล่านี้ออกไปจากบ้านพวกเขา

ปี 2567 นี้คือหลักฐานพิสูจน์แล้วว่ากากมลพิษร้ายแรงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ไกลถึงจังหวัดระยอง จังหวัดตาก หรือที่ไหน ๆ เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ไกลแค่ไหนกากอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถจะเล็ดลอดไปถึงน้ำดื่ม อากาศ อย่างที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาได้ปนเปื้อนสู่นาข้าวและแหล่งน้ำของหลายชุมชน

หากเรายังไม่สังคายนาเรื่องกาก ๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง เมื่อมลพิษกากอุตสาหกรรมกลายเป็นปัญหาทุกหย่อมหญ้า อาจไม่มีวันที่ประชาชนเป็นผู้ชนะในชั้นศาล เราอาจเหลือสถานะเพียงผู้แพ้ที่พื้นดิน แม่น้ำ และอากาศต่างปนเปื้อนชีวิตของเราไปหมดแล้ว