สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ถูกยกย่องว่าเป็น “ผู้สร้างโอกาสทางอาชีพ” ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ดูแลและคุ้มครองแรงงานที่ทำงานให้ในช่วงการระบาดรอบใหม่ปี 2564 โดยขอให้บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านั้น จ่ายค่าเสี่ยงภัย ฉีดวัคซีนผ้องกันโรคให้กับคนทำงาน รวมถึงไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาบริการ แล้วผลักภาระให้กับคนทำงานแทน หรือผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ผู้บริโภคเลือกใช้แพลตฟอร์ม และบริการที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของคนงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ใจความสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้ ไม่ได้พูดถึงเพียงแค่แรงงานแพลตฟอร์มที่เราทุกคนคุ้นเคย และเห็นบ่อยครั้งอย่างไรเดอร์ และคนที่ส่งของพัสดุมาถึงบ้านของเรา แต่หมายถึงทุกๆ คนที่ทำงานผ่านการใช้แพลตฟอร์มเป็นตัวเชื่อมลูกค้า และคนทำงานเข้าด้วยกัน เช่น แม่บ้าน บริการซักรีด คนทำงานด้านการซ่อมบำรุงต่างๆ รวมไปถึงบริการนวด ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าด้านหนึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพ และธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งของธุรกิจประเภทนี้คือ “ความไม่เสมอภาค และเป็นธรรม” ของรูปแบบการจ้างงาน เพราะงานลักษณะนี้ถือว่า “ไม่มั่นคง” แรงงานที่ทำงานต้องแบกรับต้นทุนตั้งแต่ค่าเดินทาง เวลา อุปกรณ์การทำงาน และความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากการทำงาน รวมถึงการล่วงละเมิด
ในวิกฤตครั้งนี้ความรุนแรงอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และแนวโน้มความต้องการการบริโภคและใบริการเหล่านี้อาจเพิ่มมากขึ้นอีก จึงต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบนี้ต่อบริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ตั้งแต่จ่ายค่าเสี่ยงภัยให้เหมาะสม มีค่าชดเชย และอุปกรณ์ป้องกันตัวพวกเจลล้างมือ และหน้ากากอนามัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ต้องจัดทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันโรคให้ด้วย และควรมีวิธีจัดการให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าถึงการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ซึ่งมีหลายแห่งที่เริ่มจัดทำให้แล้ว
สถาบันแรงงานฯ ยังระบุด้วยว่า ในวิกฤตครั้งนี้บริษัทแพลตฟอร์มต้องไม่ฉวยโอกาสขึ้นค่าบริการกับผู้บริโภค หรือบังคับให้คนงานรับงานจำนวนมากหากคนงานไม่ต้องการ หรือปรับลดค่าตอบแทนต่อชิ้น และ/หรือเพิ่มต้นทุนการทำงานของคนงานด้วยวิธีใดๆ เช่น การขึ้นค่าสมัครงาน การบังคับซื้ออุปกรณ์ทำงาน และอบรม รวมไปถึงต้องรับฟัง และเคารพเสรีภาพของคนงานและบุคคลภายนอกในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำงานของบริษัทก็ตาม โดยมีต้องมีมาตรการรับรองกับคนงานว่าการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อการทำงาน
ขณะที่ในมุมของบริโภคเองก็สามารถมีส่วนร่วมในเกิดความเป็นธรรมนี้ได้ด้วยการเลือกใช้บริการแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของคนงาน อาจติดตามข่าวสารและดูแลคุ้มครองแรงงานของแต่ละที่พื้นที่เพื่อเข้าใจว่าสภาพปัญหาการใช้บริการที่มีอยู่ และแรงงานกำลังเจอกับอะไร เช่น การออกแบบนโยบายเพื่อแสวงหากำไรเข้าสู่บริษัทแพลตฟอร์ม อาทิ ระบบการทำงานแบบพ่วงหลายชิ้น (งานแบทช์) เพื่อกำไรสูงสุดของบริษัท และกำหนดให้คนงานรับออเดอร์พ่วงโดยอัตโนมัติ แบบปฏิเสธชิ้นงานไม่ได้ เป็นเหตุผลให้ผู้บริโภคได้รับออเดอร์ช้า คนส่งก็พลอยได้รับความตำหนิไปด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาลักษณะการทำงานบนแพลตฟอร์มเรียกร้องให้คนงานอุทิศเวลาและกำลังแรงงานของตัวเองเพื่อทำงานหนักไม่ต่างจากงานประจำ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้บริษัทต้องดูแลคนงานรายชิ้น (gig worker) เสมือนเป็นคนงาน ตามมาตรฐานการดูแลขั้นต่ำที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยไม่ผลักภาระให้คนงานรับผิดชอบฝ่ายเดียว เช่น มีสวัสดิการค่าเดินทาง มีวันลาหยุด มีเงินชดเชยเมื่อลาป่วย มีค่าตอบแทนล่วงเวลา (OT) เมื่อคนงานทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน สวัสดิการลาคลอดและสงเคราะห์บุตร รวมถึงมีมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านอื่นๆ ของคนงานขณะเดินทางและขณะทำงาน โดยเฉพาะเมื่อคนงานหญิงที่ทำงานในสถานที่ปิด เช่น ห้องพักของลูกค้า ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเพียงพอ ไม่มีช่องทางขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ใช้งานได้จริง
ในประเทศไทยมีบริษัทที่ทำงานลักษณะนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดมาก หรือได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในหลายธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจดิลิเวอรี่และรับส่งผู้โดยสาร เช่น Grab, Gojek, Food Panda, Line Man, 7-Delivery หรือธุรกิจขนส่งพัสดุ เช่น Kerry Express, Lazada Express, Flash Express ขณะที่แพลตฟอร์มให้บริการอื่นๆ ถึงบ้านก็มีหลากหลาย เช่น Beneat (ซักรีดและทำความสะอาด), Seekster (ซักรีด ทำความสะอาด และซ่อมบำรุง), Knock Door (ทำความสะอาด), Fixzy (ซ่อมบำรุง), Or’Ease (นวด), Wongnai Massage at Home (นวด) และ MyTHERAS (นวด)