เมื่อสังคมทุนนิยมบังคับให้สร้างสรรค์ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ที่ใดมีทุน

รศ.ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

ในโลกสมัยใหม่ที่หมกมุ่นกับความใหม่ (novelty) ไม่ว่าจะเป็นระบอบใหม่ ความคิดใหม่ คนแบบใหม่ ไปจนถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ การจะเป็น “คนสมัยใหม่” ก็ย่อมจะต้องผูกอยู่กับการเป็นคนที่ทำอะไรใหม่ ๆ อยู่ในสังคมใหม่ ๆ หรือแม้แต่ใช้แกดจิตใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าสังคมสมัยใหม่ที่ให้บทบาทแก่มนุษย์มาแทนที่พระผู้เป็นเจ้าก็ทำให้มนุษย์กลายมาเป็นองค์ประธานผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วย 

เมื่อพูดถึงคำว่า “การสร้างสรรค์” (creativity) เราอาจนึกถึงศิลปินที่วาดภาพชิ้นเอก นักเขียนที่สร้างตัวละครอันน่าประทับใจ หรือนักดนตรีที่สรรค์แต่งบทเพลงอันไพเราะ แต่ในโลกปัจจุบัน ความคิดสร้างสรรค์ได้แพร่กระจายออกไปไกลเกินกว่าวงการศิลปะ มันแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวัน ธุรกิจ การศึกษา และแทบทุกแง่มุมของสังคมสมัยใหม่ ในทุกแวดวงเราจะได้ยินคำว่า การสร้างสรรค์แปะลงไปบนทุก ๆ คำนาม ไม่ว่าจะเป็น “นักสร้างสรรค์” “เมืองสร้างสรรค์” “พื้นที่สร้างสรรค์” ไปจนถึง “เพศสร้างสรรค์” 

ในหนังสือ The Invention of Creativity ( 2017) Andreas Reckwitz นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้ชี้ให้เห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเพียงคุณสมบัติพิเศษของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมสมัยใหม่อย่างถอนรากถอนโคน กล่าวอีกอย่างก็คือ สังคมของเรากำลังหมกมุ่นกับการสร้างสรรค์และความคิดสร้างสรรค์ หากใครไม่สร้างสรรค์ก็ย่อมจะเป็นคนไร้ประโยชน์

การสร้างความโดดเด่น : จากการผลิตซ้ำสู่ความพิเศษเฉพาะตัว

Reckwitz เสนอว่า สังคมสมัยใหม่กำลังเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมแห่งการทำให้เป็นมาตรฐาน” (society of standardization) สู่ “สังคมแห่งความเป็นเอกลักษณ์” (society of singularities) 

ในสังคมอุตสาหกรรม คุณค่าอยู่ที่การผลิตสินค้าแบบมาตรฐานเป็นจำนวนมาก ผู้คนทำงานเป็นกิจวัตร และชีวิตดำเนินไปตามแบบแผนที่คาดการณ์ได้ ทว่าในปัจจุบัน สิ่งที่มีคุณค่ากลับกลายเป็น “ความแปลกใหม่” และ “ความแตกต่าง” ความคิดสร้างสรรค์จึงกลายเป็นทรัพยากรสำคัญในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล บริษัทแข่งขันกันเพื่อสร้างนวัตกรรมที่แตกต่าง ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร แม้กระทั่งตัวตนของเราเองก็ถูกคาดหวังให้เป็น “โพรเจกต์สร้างสรรค์” ที่ต้องพัฒนาและนำเสนออย่างต่อเนื่อง นี่คือสาเหตุที่เราต้องโพสต์อัปเดตชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของเราให้คนอื่นรู้หรือเห็นอยู่ตลอดเวลาตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ และไลฟ์สไตล์ที่ว่าก็ต้องสดใหม่ และแตกต่างไม่เหมือนใคร 

ความคิดสร้างสรรค์เป็นหน้าที่ : เมื่อการสร้างสรรค์กลายเป็นข้อบังคับ

Reckwitz ยังเสนอว่า ความคิดสร้างสรรค์ในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้เป็นเพียงโอกาส แต่กลายเป็น “หน้าที่” และแรงกดดันใหม่ เมื่อก่อน เราสร้างสรรค์เพราะต้องการแสดงออก แต่ปัจจุบัน เราถูกบังคับให้สร้างสรรค์เพื่อความอยู่รอดในตลาดแรงงานและสังคม

เขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “บังคับให้เป็นพิเศษ” (compulsory singularization) ซึ่งทุกคนต้องพยายามแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์สารพัดแพลตฟอร์ม หากใครหายไปจากการปรากฏตัวสักระยะก็จะหลุดจากวงโคจรทางสังคมหรือไม่ถูกรับรู้ บ่อยครั้งที่เพื่อนร่วมอาชีพของผู้เขียนหรือคนที่รู้จักจะถามอยู่เสมอว่า ทำไมช่วงนี้ไม่เล่น twitter เลย หายไปไหน ไม่ค่อยโพสต์เลยว่าทำงานอะไรอยู่ ฯลฯ นั่นก็หมายความว่า เราต้องปรากฏตัวอยู่เสมอ และต้องมีอะไรใหม่ ๆ ในทุก ๆ การปรากฏตัวของเราบนพื้นที่เหล่านี้ ในแง่นี้ ความคิดสร้างสรรค์จึงไม่ใช่การปลดปล่อยอย่างที่มักจะกล่าวอ้างกัน แต่เป็นรูปแบบใหม่ของการควบคุมทางสังคม

นอกจากนี้ การบังคับให้สร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์เท่านั้น แต่มันยังเข้าไปเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานทุกประเภทอย่างถึงราก แม้แต่งานที่ดูเป็นงานประจำแบบที่คนทำงานทำงานซ้ำซากเหมือนเดิมทุกวันก็ยังต้องใส่อะไรบางอย่างที่สร้างสรรค์ลงไป คนงานโรงงานกลายเป็น ‘ผู้แก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์’ นักบัญชีต้องคิด ‘นอกกรอบ’ และพนักงานขายต้องสร้าง ‘ประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์’ ให้ลูกค้า ประหนึ่งว่า วันทุกวันเป็นวันใหม่ ๆ และในทุกวันเราก็ต้องเป็นคนใหม่ ๆ 

เศรษฐกิจแห่งความสนใจ : การแข่งขันเพื่อชนะใจผู้คน

การสร้างสรรค์ในสังคมที่หมกมุ่นกับความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เพียงแต่มุ่งปรับเปลี่ยนพัฒนาตัวตนและทักษะของคนในสังคมจากภายใน แต่มันยังหมกมุ่นกับการเรียกร้องความสนใจอย่างบ้าคลั่งจากคนอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา Reckwitz ชี้ว่า สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่ “เศรษฐกิจแห่งความสนใจ” (attention economy) ทุกคน ทุกแบรนด์ ทุกองค์กร ต้องแข่งขันเพื่อให้ได้รับความสนใจในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารล้นเกิน ดังที่เขากล่าวว่า “ในสังคมดิจิทัล ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดไม่ใช่เงินหรือเวลา แต่เป็นความสนใจของผู้คน” และ “วิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดความสนใจคือการสร้างสิ่งที่แปลกใหม่ น่าสนใจ และมีความหมายในเชิงอารมณ์”

เวลาที่ดึงดูดความสนใจ (attention time) จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจในสังคมปัจจุบัน เพจต่าง ๆ ก็แข่งขันกันดึงและดูดเอาเวลาแห่งความสนใจของผู้เข้าชมมาเป็นตัววัดมูลค่าของเพจและโพสต์ต่าง ๆ 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และความนิยมในการเล่าเรื่อง (storytelling) ในทุกแง่มุมของชีวิต ตั้งแต่การตลาดไปจนถึงการเมือง ทุกสิ่งล้วนถูกออกแบบให้กระตุ้นอารมณ์และดึงดูดความสนใจ 

มืดและสว่าง : สองด้านของวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์

แม้ว่าเขาจะวิพากษ์สังคมที่หมกมุ่นกับการสร้างสรรค์ แต่ Reckwitz ก็ไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์โดยสิ้นเชิง เขายอมรับว่ามันนำมาซึ่งนวัตกรรมและโอกาสใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เตือนว่าวัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์นั้นมีความย้อนแย้งในตัวเองหลายประการ 

ประการแรก สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำในรูปแบบใหม่ ระหว่าง “ชนชั้นสร้างสรรค์” ที่มีทักษะ การศึกษา และทุนทางวัฒนธรรมเพียงพอ กับคนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง 

ประการที่สอง การเน้นความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่ “ความเครียดจากความเป็นเอกลักษณ์” เมื่อผู้คนรู้สึกว่าต้องแข่งขันเพื่อความโดดเด่นตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ความเหนื่อยล้า และความรู้สึกไม่เพียงพอ

ประการที่สาม วัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์สร้างความไม่มั่นคงเชิงโครงสร้าง เพราะสิ่งที่ “ใหม่” และ “แปลกตา” วันนี้ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในวันพรุ่งนี้ ทำให้เกิดวงจรของการเสื่อมคุณค่าอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี การสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถอธิบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ได้โดยไม่สนใจคำว่า economy ที่อยู่หลังคำว่า creative กล่าวอีกอย่างก็คือ การหมกมุ่นกับการสร้างสรรค์ภายใต้กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในทุกวันนี้เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และตัวมันเองก็เป็นขั้นตอนใหม่ของการพัฒนาและการสะสมทุนแบบทุนนิยม 

ในหนังสือ The Soul at Work (2009) Franco Bifo Berardi วิเคราะห์ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเพียงวาทกรรมทางวัฒนธรรม แต่เป็นรูปแบบใหม่ของการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานทางปัญญา (cognitive labor) ในยุคทุนนิยมดิจิทัล ภายใต้ทุนนิยมสัญญะ (semiocapitalism) ซึ่งเป็นระบบที่การผลิตเครื่องหมายและความหมายกลายเป็นแหล่งที่มาหลักของมูลค่า จิตวิญญาณและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เมื่อความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นพลังการผลิตหลัก มันจึงต้องถูกระดม ควบคุม และยึดแย่งถือครองโดยพลังของทุน

“การบังคับให้สร้างสรรค์” จึงไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม แต่เป็นยุทธศาสตร์ของทุนนิยมในการควบคุมและสกัดมูลค่าจากกระบวนการทางความคิดและอารมณ์ของแรงงาน ความคิดสร้างสรรค์จึงไม่ได้นำไปสู่การปลดปล่อยมนุษย์ออกจากการควบคุม แต่กลับเป็นพันธนาการรูปแบบใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง เราอาจจะต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถกลับไปสู่โลกก่อนดิจิทัลได้อีกต่อไป แต่เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจินตนาการถึงรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ที่ไม่ได้ถูกกำหนดโดยตรรกะของตลาดและการสร้างมูลค่า ซึ่งหมายถึง การถอดถอนความคิดสร้างสรรค์ออกจากฐานะ “คุณสมบัติส่วนบุคคล” หรือ “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” และมองมันในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับอำนาจ เศรษฐกิจ และการเมือง

ในยุคที่ทุกคนถูกกดดันให้เป็นผู้สร้างสรรค์ บางทีการตั้งคำถามกับความคิดสร้างสรรค์เสียเอง อาจเป็นการกระทำที่สร้างสรรค์ที่สุดก็เป็นได้