'ชินรินโยกุ' เหนือชั้นบรรยากาศนั้น 'เรา' เป็นเพียงส่วนหนึ่งของท้องฟ้าและผืนดิน - Decode
Reading Time: 3 minutes

มนุษย์เราในศตวรรษที่ 21 ขาดการเชื่อมต่อกับธรรมชาติแทบจะหมดสิ้น ตึกรามบ้านช่องที่สูงเสียดฟ้า การพัฒนาที่เต็มไปด้วยมลพิษ ในขณะที่มนุษยชาติกำลังก้าวไปข้างหน้า แต่ในความเป็นจริงเรากำลังถอยกลับหลังตกเหวไปอย่างไม่รู้ตัวเช่นกัน

การขาดการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมนี้ นำไปสู่การพิสูจน์หลักฐานทั้งในรูปแบบงานวิจัยและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคม ร่างกายที่เจ็บป่วย สภาพแวดล้อมที่หม่นหมอง และวิถีชีวิตที่เคยชินกับความแปลกใหม่ที่ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ “การอาบป่า” คืออีกหนึ่งทางเดินที่จะพาเรากลับไปตระหนักว่า เมื่อเราเชื่อมโยงกับธรรมชาติอันกว้างใหญ่อีกครั้ง เราไม่เคยอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอดมา

“คุณไม่ได้มาสู่โลกนี้ คุณปรากฏขึ้นจากโลกนี้ดังเช่นคลื่นในมหาสมุทร

คุณไม่ใช่คนแปลกหน้าของที่นี่”

-อลัน วัตต์- 

ชินริน(森) โยกุ(林)

หากคุณเคยรู้สึกผิดที่ผิดทางเมื่ออยู่กลางเมืองใหญ่ อากาศที่หายใจได้ไม่เต็มปอด การหลับนอนที่ไม่ค่อยสนิทยามวิกาล เอกตอร์ การ์ซิอา และ ฟรันเซส มิราเยส ผู้เขียนหนังสือ ‘อาบป่า ชินรินโยกุ วิถีแห่งการฟื้นฟูชีวิต’ ได้อธิบายวิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันว่า เราพยายามตัดขาดการเชื่อมโยงจากธรรมชาติไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ 

เมื่อเราตัดขาดจากมันทำให้วิถีปฏิบัติของเราแปลกไปจากเดิม และกลายมาเป็นปรากฏการณ์ที่คนหมู่มากในสังคมรู้สึกไม่ถูกยึดโยงกับสิ่งใดและทำให้ตัวตนหล่นหาย

คำว่าชินรินโยคุ (森林浴) แยกออกเป็นคำว่า ชินริน (森林) แปลว่า ป่า และ โยกุ(浴) แปลว่า อาบ จึงแปลรวมกันว่า การอาบป่า หรือการรับรู้บรรยากาศป่าผ่านประสาทสัมผัสของเรา

การอาบป่าในญี่ปุ่นมีประวัติการนำเสนอโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานป่าไม้ในจังหวัดนางาโนะตั้งแต่ทศวรรษ 1980 อันเป็นยุครุ่งเรืองสุดขีดของเศรษฐกิจญี่ปุ่น รัฐบาลในตอนนั้นเริ่มเห็นผลเสียของการที่ประชาชนอยู่ในเมืองท่ามกลางเทคโนโลยีที่กำลังรุดหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า อาการเสียสมาธิ รวมไปถึงอาการเจ็บปวดต่าง ๆในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไป อาการเหล่านี้ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งล้วนเกิดจากการที่ประชาชนอยู่ในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ผู้คนหนาแน่น ชีวิตในออฟฟิศที่ใช้เวลายาวนาน พื้นที่สีเขียวในเมืองถูกลดทอน จึงมีการส่งเสริมให้ผู้คนไป “อาบป่า” ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามชินรินโยกุในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานชาวญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งชนชาติที่ยึดโยงกับธรรมชาติอย่างแนบแน่น แต่การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อฟื้นตัวจากการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เอกเตอร์และฟรันเซสอธิบายการเติบโตเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่าความทันสมัยหลังสงครามที่มนุษย์ก่อขึ้น คือการถูกขับออกจากสรวงสวรรค์

ภาพจำของการอาบป่าของผู้คน มักจะถูกจดจำในการหลบหนีเพื่อพักผ่อนจากความวุ่นวายในเมืองดังคำว่า ‘ถ้าเธอเหนื่อยล้าจงเดินเข้าป่า’ คำพูดดังกล่าวก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าสังคมสมัยใหม่นิยามป่าและเมืองให้อยู่คนละบริบท เปรียบเสมือนขั้วตรงข้าม ชุดความคิดนี้จึงเปรียบเสมือนความตั้งใจแรกของการสื่อสารวิถีชินรินโยกุของเอกตอร์และฟรันเซส ว่ามนุษย์และธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน และเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น

การเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในวิถีชินรินโยกุไม่ได้สร้างการรับรู้ผ่านมวลอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่การอาบป่ายังพิสูจน์ได้บนฐานวิทยาศาสตร์ การอาบป่าส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของคนเราในผัสสะทั้ง 5 และฝังลึกไปในผัสสะที่ 6 ระดับจิตใจเมื่อเราซึมซับธรรมชาติมากพอ

ต้นไม้ในป่าจะปล่อยสารเคมีออกมาชนิดหนึ่งเรียกว่า ไฟทอนไซด์ สารชนิดนี้แท้จริงเป็นการปล่อยออกมาเพื่อป้องกันการเน่าเปื่อย ผุพัง และการถูกกินจากแมลงและแบคทีเรียต่าง ๆ ไฟทอนไซด์ยังมีอยู่ในพืชพันธุ์อีกจำนวนมาก เช่นกระเทียมและพืชพันธุ์ต่าง ๆ

การได้รับสารไฟทอนไซด์ถูกนำมาปรับใช้กับการเสริมภูมิคุ้มกันอย่างการสร้างวัคซีน ในขณะที่วัคซีนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้าง แต่ไฟทอนไซด์จากธรรมชาติยิ่งเป็นสิ่งที่วัคซีนใด ๆ ไม่สามารถให้ได้โดยตรง เพราะไฟทอนไซด์จากในป่า ยังนำมาซึ่งการปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย ในระดับฮอร์มีติก หรือเป็นประโยชน์เมื่อรับเข้าไปปริมาณหนึ่ง

ซึ่งผลวิจัยจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของประเทศญี่ปุ่นในปี 1982 ติดตามวิจัยของคนที่ไปอาบป่า การรับสารไฟทอนไซด์ที่เป็นพิษเพื่อป้องกันแบคทีเรียและแมลงที่จะมาทำลายลำต้น การปรับตัวในระดับฮอร์มีติกนี้ทำให้มนุษย์แข็งแรงขึ้นผ่านสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างอัตราการเต้นหัวใจลดลง ความดันโลหิตต่ำลง และฮอร์โมนความเครียดลดลง

การรับสารไฟทอนไซด์จากธรรมชาติยังบอกมนุษย์ให้เรียนรู้เมื่อกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าตน การแข็งแกร่งขึ้นจำเป็นจะต้องผ่านความล้มเหลว ผ่านการกล้ำกลืนความเจ็บปวดบางส่วนเพื่อเติบโต สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับความก้าวหน้าในระบบทุนนิยม ที่ผลักให้คนเห็นภาพฝันของความสำเร็จโดยไม่คิดจะฉายความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่ทุกคนจะคว้ามันมาได้

ชินรินโยกุหรือการอาบป่าในศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงแต่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยตรงกับร่างกายของคนอย่างเท่าเทียมเมื่อคุณกลับไปหาธรรมชาติ แต่การเป็นส่วนหนึ่งของป่าไม้ ใบหญ้า และสรรพชีวิตอื่น ทำให้เราตระหนักได้อะไรต่างหากที่สำคัญกับตัวเราจริง ๆ

สาเหตุที่ข้าเข้าไปในดงไพรและป่าไม้

แลเมื่อถึงเวลาตาม ข้าไม่อยากพบว่าตัวเองยังไม่ได้ใช้ชีวิต

-เฮนรี เดวิด ทอโร-

ชิน(神) โต(道)

เอกตอร์และฟรันเซส ค้นพบจากการทำความเข้าใจวิถีชินรินโยกุของชาวญี่ปุ่น ว่าการยึดโยงกับธรรมชาติและความอ่อนน้อมต่อสรรพชีวิตอื่นนอกเหนือจากตัวเอง คือหลักการในศาสนาชินโตซึ่งเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในชาติ

คำว่าชินโตแปลว่าวิถีแห่งเทพเจ้าแบ่งได้เป็นชิน(神) ที่อ่านได้เช่นกันว่า คามิ และโต(道) ที่หมายถึงวิถีตามลัทธิเต๋า สิ่งหนึ่งที่สำคัญของศาสนาชินโตคือการที่ไม่ได้เชื่อว่ามีเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เทพเจ้าแต่ละองค์มีจำนวนมากและมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป และทุก ๆ สิ่งที่มนุษย์ใช้ เห็น หรือรู้จัก ต่างมีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่

การเชื่อว่ามีสิ่งอื่นที่อาศัยร่วมกับเรา ในขณะเดียวกันก็คอยช่วยเหลือมนุษย์ในเรื่องต่าง ๆ เป็นผลพวงจากลัทธิเต๋าของจีน ชุดความเชื่อนี้นำไปสู่การตอบแทนบุญคุณหรือการอ่อนน้อมโดยไม่เชื่อว่ามนุษย์ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งไหน กลับกันมนุษย์นั้นเปราะบาง ไม่แน่นอน เราถึงต้องมีสิ่งอื่นคอยช่วยเหลือเราเป็นเนือง ๆ

การนับถือคามิหรือเทพเจ้าของชินโต ลงรากฝังลึกกับมโนสำนึกของคนญี่ปุ่น ยิ่งผนวกรวมด้วยรัฐชาติของยุคสงคราม การตอบแทนคุณบิดามารดาของลัทธิเต๋าและการสำนึกในการเสียสละของบรรพบุรุษนับเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับการคุ้มครองจากคามิต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตรอดต่อไปตราบจนรุ่นลูกรุ่นหลาน

การฝังลึกนี้นำมาสู่การถ่ายทอดเรื่องราวจนถึงปัจจุบันอย่างแอนิเมชั่น The Princess Mononoke ที่เทพเจ้าในป่าเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม

ย้อนกลับไปที่เอกตอร์และฟรันเซสอธิบายว่าความทันสมัยของมนุษย์ยุคหลังสงครามคือการถูกขับไล่ออกจากสรวงสวรรค์ ในป่าลึกของเจ้าหญิงแห่งพงไพรก็ฉายภาพคำอธิบายนี้ให้เห็นเช่นกัน ในขณะที่เจ้าชายอาชิทากะซึ่งกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (ชนกลุ่มน้อย) ที่ต้องพึ่งพากับการมีอยู่ของธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติกลายเป็นการหยิบยืมเพียงชั่วคราวและพร้อมจะมอบคืนเมื่อถึงเวลา

แต่กลับกันในเกาะเหล็ก ที่มนุษย์พัฒนาไปจนที่เราสามารถสร้างเทคโนโลยีได้ก้าวล้ำ ความหยิ่งผยองตรงนี้เองทำให้มนุษย์หลงระเริงไปกับธรรมชาติที่เคยพึ่งพิง มนุษย์ยึดถือความเป็นเจ้าของของธรรมชาติผ่านการรุกรานป่าเทพของเทพหมูป่า นำไปสู่การต้องการหัวของเทพแห่งพงไพรเป็นเครื่องประดับของโชกุน

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ฉายภาพการโต้กลับของธรรมชาติได้อย่างน่าเกรงขาม การตามล่าหาหัวคืนของเทพแห่งพงไพรไม่ต่างจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบนโลกความเป็นจริง เมื่อภัยพิบัติมาถึงไม่ว่าสรรพชีวิตไหนก็ไม่อาจรอดพ้นจากเงื้อมมือของธรรมชาติไปได้ ในขณะเดียวกันเมื่อเรารักษาธรรมชาติได้ดี ธรรมชาติก็อาจมอบอะไรคืนให้กับเรา อย่างเช่นการรักษาโรคคำสาปของเจ้าชายอาชิทากะ การปรากฏตัวของโคดามะในป่าใหญ่

เมื่อเรารักษาธรรมชาติไว้ ธรรมชาติก็จะให้อะไรที่สมควรจะคืนกลับมาทั้งความสงบสุข การกินอยู่อาศัย รวมถึงชีวิตและความตาย

แต่เมื่อไหร่ที่เราเริ่มทำลายและแย่งชิงสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติจะแย่งชิงทุกอย่างกลับคืนมา และมอบให้แต่ความตาย นั่นคือสิ่งที่พอจะอธิบายความหมายของการยึดโยงและการตัดขาดของความเป็นชินโตของชาวญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งแบบหนึ่ง

ทุกขณะที่เรากลับเข้าหาธรรมชาติ

เราประทับความปิติและความรักให้กับโลก

-ติชนัทฮันท์-

ยู(幽) เก็น(玄)

ไม่ว่าชินรินโยกุหรือการอาบป่าจะพาเราไปยึดโยงและยึดถือกับธรรมชาติด้วยสิ่งที่ตาเรามองเห็นหรือสิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยพลังงานบางอย่าง แต่การเข้าสู่วิถีชินรินโยกุทำให้เรามองเห็นยูเก็น(幽玄) เพราะเมื่อไหร่ที่ตัวตนเราเล็กลงเท่าไหร่ เราจะพบเห็นสิ่งที่กว้างใหญ่กว่าที่เป็นอยู่มากขึ้นเท่านั้น

ยู(幽) หมายถึงความมืดมิดอันห่างไกล และเก็น(玄) หมายถึงความลึกลับซ่อนเร้น แนวคิดของปรัชญายูเก็นถูกแฝงไว้กับศิลปะของมนุษย์ ทั้งงานจิตรกรรม ไฮกุ รวมไปถึงบทสนทนาในวงเหล้าของปราชญ์เต๋าในสมัยโบราณเช่นกัน

แม้ความหมายของยูเก็นจะรวมแปลว่า ความลึกลับบนความมืดมิดที่ห่างไกล ทว่าในความซ่อนเร้นของปรัชญานี้ไม่ได้ชวนให้มนุษย์กลัวกับสิ่งที่ยังไม่รู้ แต่เพื่อให้เราตระหนักว่าความไม่รู้นี่แหละที่ทำให้มนุษย์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของท้องฟ้ายามค่ำคืน ของเม็ดฝนที่โหมกระหน่ำ หรือของสายน้ำที่ชุบเลี้ยงให้สรรพชีวิตยังดำรงอยู่ได้

ชินรินโยกุในมุมมองของยูเก็น คือการมองขึ้นฟ้าในคืนที่เต็มไปด้วยดวงดาว ทันทีที่เราตระหนักได้ว่าเรานั้นเล็กเสียยิ่งกว่าดวงดาวนับล้าน เมื่อนั้นตัวตนเราจะสูญสลายและตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่า เป็นความรู้สึกที่เราจะเข้าใจได้ว่าเราไม่ได้ถูกตัดขาดจากสังคมเมือง ในห้องเช่าที่มีผนังกั้นระหว่างเรา แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าองค์กร กลุ่ม หรือประเทศ

เอกตอร์และฟรันเซสใช้เวลานับหลายปีในการผลิตหนังสือเล่มนี้ การค้นคว้าผ่านการพาร่างกายของตัวเองเข้าสัมผัสกับผืนป่า สิ่งที่ทั้งคู่ค้นพบและยังเป็นคำถามของทั้งคู่ในหนังสือเล่มนี้ คือสังคมโลกกำลังพัฒนามาถูกทิศทางแล้วจริง ๆ หรือ

ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจ สงคราม รวมไปถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลกโดยตรงและกำลังทวีคูณหนักขึ้นอย่างอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล หรือหากมองกลับมาที่สังคมไทย การพัฒนาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่างเขื่อน กากอุตสาหกรรม เหมือง การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาลที่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพ วิถีชีวิต ทั้งในดิน น้ำ อากาศ ของชุมชนบริเวณใกล้เคียง ทั้งคู่กำลังตั้งคำถามถึงการพัฒนาเหล่านี้ว่าคุ้มค่าแล้วจริง ๆ หรือ กับเม็ดเงินที่เข้ากระเป๋าของกลุ่มคนจำนวนหยิบมือ แต่ผู้คนอีกจำนวนมากต้องรับสารพิษและถูกตัดการเชื่อมโยงอย่างตั้งใจ ภายใต้คำว่า การพัฒนา

ปรัชญายูเก็นของชาวญี่ปุ่น ไม่ได้สอนเพียงให้เรานอบน้อมต่อสิ่งมีชีวิตอื่น กลับกันเมื่อมนุษย์เริ่มมองตัวเองเป็นดังดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ และลืมความสำคัญของการเป็นกลุ่มดาวมากมายบนท้องฟ้า เมื่อนั้นเราก็ลืมสิ่งสำคัญไปเช่นกัน ว่าสรรพชีวิตกำลังสูญสิ้น ทำไมมนุษย์ถึงจะไม่เป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถสูญพันธุ์จากน้ำมือพวกเขาเอง

การอาบป่าไม่เพียงแต่พาให้เราสุขภาพดี พาให้เรากลับสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมที่มนุษย์พึงจะเป็น แต่ชินรินโยกุยังตั้งคำถามต่อสรรพชีวิตอื่น ทั้งสัตว์ป่า พันธุ์ไม้ ถ้าหากเรายังต้องการป่าไม้ให้ยึดโยง เพื่อเติมพลังงานที่ขาดหายและกลับใช้ชีวิตตามระบบทุนนิยม และสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีที่อื่นให้ไปนอกเสียจากธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะทำอย่างไร

ชินรินโยกุเองจึงไม่ได้แค่พาให้คนกลับมาหาธรรมชาติ แต่ท่ามกลางการพัฒนา คนที่อาบป่าและตระหนักถึงยูเก็นจึงตั้งคำถามต่อธรรมชาติที่หดหายไป ว่าเราจะกลับมายึดโยงกับธรรมชาติได้อย่างไรถ้าหากวันหนึ่ง ไม่เหลือธรรมชาติให้เรายึดโยงเสียแล้ว

กลับไปหาธรรมชาติให้ธรรมชาติโอบกอด

เมื่อเราถูกโอบกอด อย่าลืมตั้งคำถามที่จะโอบกอดสิ่งมีชีวิตอื่น ที่เราไม่เคยแยกขาดจากกัน

บนท้องฟ้ายามค่ำคืน บนผืนดินที่ไร้ซึ่งแสงนีออน เหนือชั้นบรรยากาศนั้น 

เราโอบอุ้มไว้ด้วยราตรีเหมือน ๆ กัน

-ซานโจ ราโซ-

หนังสือ: อาบป่า ชินรินโยกุ วิถีแห่งการฟื้นฟูชีวิต
ผู้เขียน: เอกตอร์ การ์ซิอาและฟรันเซส มิราเยส
ผู้แปล: สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
สำนักพิมพ์: สารคดี

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี