คราบน้ำตาข้างฝาบ้านของคนรับน้ำวารินชำราบ
ร่องรอยของคราบน้ำข้างฝาบ้านแต่ละหลังที่ชุมชนท่าบ้งมั่ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พื้นที่ติดริมฝั่งแม่น้ำมูลซึ่งถือเป็นปลายน้ำก่อนระบายลงสู่แม่น้ำโขง มีเพียงบางหลังเท่านั้นที่ยอมทาสีใหม่ในหลังน้ำท่วมหนักในปี 2562 และ 2565 แต่ร่วม 196 หลังคาเรือน เลือกที่จะปล่อยให้คราบแห้งยังติดอยู่ที่ข้างบ้าน และนำเงินถุงเงินถังที่ได้มาไม่มากจากอาชีพรับจ้างทั่วไป ไปบูรณะเพื่อยกบ้านสูงดูจะคุ้มค่ากว่า
“อ้อมมาเข้าหลังโรงเรียนนะ ทางเข้าวัดต้นไม้ล้มเพราะฝนตกหนักมา 2-3 วันแล้ว” แม่บุญทัน เพ็งธรรม ภายใต้หมวกของรองประธานอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี ผู้เป็นกระบอกเสียงและแจ้งเตือนให้กับชุมชนท่าบ้งมั่ง เธอคืออีกหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำสูงกว่า 11 เมตร พูดให้เห็นภาพชัด ความสูงของน้ำทำให้บ้าน 2 ชั้นที่ยกขึ้นสูงด้วยเสาปูนเหลือเพียงจั่วบ้านด้านบน
ชุมชนท่าบ้งมั่งเป็นชุมชนริมฝั่งมูล เป็นหนึ่งในชุมชนปลายทางของการระบายน้ำเมืองวารินชำราบ โดยติดกับบุ่งง้าวซึ่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง เสียงซู่ซ่าของฝนที่ตกติดกันเพียง 2 วัน บอกว่าหากระบายช้ากว่านี้อาจมีอีกหลายหลังคาเรือนที่ต้องสูญเสียพื้นบ้านชั้น 1 ไป
แม่บุญทันย้ายมาอยู่ที่บ้านท่าบ้งมั่งตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยชัยภูมิของชุมชนและอำเภอ น้ำเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนแถวนั้นมาเป็นเวลานาน นอกจากหน้าร้อน หน้าหนาว และหน้าฝน หน้าน้ำคืออีกฤดูกาลหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี
ในอีกมุมหนึ่งชาวบ้านรับรู้การกลับมาของน้ำท่วมในแต่ละปี แต่ไม่ได้หมายความจะยอมรับจากการบริหารน้ำที่ผิดพลาด ทั้งจากการสื่อสาร การประเมินปริมาณน้ำซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการคำนวณเวลาเปิดประตูน้ำเพื่อระบายลงสู่แม่น้ำโขง
“เราเป็นคนริมน้ำ ยังไงน้ำก็ต้องท่วม ชุมชนมันอยู่กับน้ำมานานจนรู้ว่าน้ำจะมาช่วงไหน มาประมาณเท่าไหร่ แต่ในปีที่น้ำท่วมหนักกลับระบายน้ำไม่ได้ น้ำก็ยังเข้ามาเพิ่มอีก ทั้งน้ำฝนและน้ำไหลลงมารวมกันของจังหวัด ชาวบ้านเขาโอเคที่จะเป็นคนรับน้ำถ้าเป็นเหมือนสมัยก่อนที่น้ำมาเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่ช่วงหลังมันหนักถึง 2-3 เดือน บ้านก็เป็นห่วง ชีวิตก็ต้องรักษา มันไม่มีใครทนไหวหรอก”
เส้นทางการไหลของน้ำในอำเภอวารินชำราบไหลมาจากทิศใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอ ก่อนจะไหลรวมมาที่ริมน้ำมูล แต่ในหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีให้หลัง แม่บุญทันเล่าว่า ณ จุดปล่อยน้ำต่าง ๆ ทั้งประตูน้ำในคลองเลี่ยงเมืองและประตูน้ำในแม่น้ำมูล โดยเฉพาะเขื่อนปากมูล มีแนวทางจัดการที่รอให้น้ำจุจนเกือบเต็มปริมาณที่รับได้ จึงค่อยระบายและทำให้น้ำทั้งในและนอกอำเภอท่วมสูงในหลายชุมชนริมมูล
“ราชการยังรอประกาศเขตภัยพิบัติ รอว่าน้ำจะต้องท่วมถึงเท่านี้ ๆ ถึงจะประกาศได้ รอหน่วยงานให้มาครบถึงจะเริ่มกลไกการรับมือได้ แต่ก่อนที่มันเกิดการรอเพราะเขายังคิดว่ามันควบคุมได้ แต่เขาลืมไปว่าประชาชนรอไม่ได้ น้ำมันมาถึงหน้าบ้านเราแล้วจะให้รออะไรอีก
เราก็เลยคิดว่าประชาชนจะรอภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องตื่นตัวเหมือนกัน เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพวกเรา”
เมื่อภัยพิบัติไม่ใช่การตั้งรับแต่เป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า ประชาชนในพื้นที่ริมฝั่งมูลเองก็ได้ตื่นตัวและตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังน้ำท่วมกันของแต่ละชุมชน โดยมีการประสานงานจากเทศบาลและจังหวัดเพิ่มเข้ามา
การตื่นตัวหลังน้ำท่วมปี 2562 เริ่มต้นจากกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันระหว่างชุมชน ทั้งการเฝ้าระวัง สอบถามปัญหา และมีการสร้างครัวกลางในการจัดส่งอาหารให้กับหลายหลังคาเรือนทั้งที่อพยพออกมาไม่ได้ รวมถึงเลือกที่จะไม่อพยพออกจากบ้าน
“น้ำท่วมเขาก็ช้ำใจหนักอยู่แล้ว พอน้ำท่วมอาหารมันก็มีเมนูจำกัดมากขึ้น ซึ่งพอกินไปนาน ๆ มันเป็นความเศร้าเหมือนกัน เราคิดว่าการเยียวยาอย่างแรกเพื่อให้คนกลับมาสู้กับภัยพิบัติคือต้องให้เขาได้กินข้าวก่อน เลยเกิดเป็นครัวกลางเพื่อจัดส่งอาหารให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ” แม่บุญทันกล่าวเสริมว่าอาหารดี ๆ ที่คุ้นเคยหนึ่งมื้อในภาวะภัยพิบัติอาจเปลี่ยนใจคนจากห่อเหี่ยวให้กลับมาอยากมีชีวิตได้เลย
จากการตื่นตัวของชาวบ้านในหลายชุมชนริมน้ำมูล ฝั่งเมืองวารินชำราบ และการประสานของหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ ชาวบ้านก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแผนที่เสี่ยงภัย เพราะข้อมูลส่วนหนึ่งก็มาจากองค์ความรู้เรื่องน้ำของชุมชนที่จะเข้าสู่กายภาพของพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่าการจะฟันฝ่าอุทกภัยได้นั้น ทุกฝ่ายต่างมีหน้าที่และความสามารถต่อกันและกัน
แผนที่เสี่ยงภัย(ฉบับปี 2562) ที่ชาวบ้านทุกคนสามารถอธิบายได้ไม่ต่างจากแม่บุญทัน เพราะความตื่นตัวและพร้อมตั้งรับน้ำในเชิงรุกของพื้นที่
ผู้คนในเมืองวารินชำราบเริ่มตั้งคำถามกับเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซ้อนที่ทวีคูณหนักขึ้นทุกปี แต่คำถามนี้ไม่ได้ถูกตั้งแค่กับประชาชน แต่กับหน่วยงานท้องถิ่นอย่างเทศบาลและจังหวัด ก็ตั้งคำถามและหาทางออกเพื่อที่จะรับมือกับมันด้วยเช่นกัน
การขยับตัวก่อนน้ำจะมาของชาวบ้านไม่ได้เป็นแค่คลื่นใต้น้ำให้ชาวบ้านหาทางออกเมื่อน้ำท่วมขัง แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนอื่น ๆ ให้ร่วมตั้งคำถามกับการบริหารจัดการน้ำหลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ผ่านมา การตื่นตัวเพื่อรับมือกับน้ำท่วมจึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เมื่อทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าน้ำท่วม แก้ไขโดยใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้
วารินชำราบ เริ่มแก้ไขน้ำท่วมด้วยการ ‘ฟัง’ เพื่อจะเข้าใจกันมากขึ้น
แก้น้ำท่วมต้องใช้หู ‘ฟัง’ การจัดการเชิงมานุษยวิทยาที่ไม่อาจมองข้าม
เดิมทีกลุ่มคนที่มาตั้งชุมชนริมแม่น้ำมูลนั้นในหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นกลุ่มแรงงานที่มาสร้างเมืองอุบลราชธานี การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทางเลือกไม่กี่ทางเพื่อหาแหล่งที่อยู่ในสมัยนั้น ทำให้การโยกย้ายถิ่นฐานหรือการย้ายออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำไม่ใช่ทางออกที่ทุกครัวเรือนจะสามารถเลือกได้ เพราะการย้ายออกจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งวิถีชีวิตก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไป
แม้อดีตชุมชนท่าบ้งมั่งจะทำอาชีพประมงเป็นหลัก แต่หลังความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ทั้งการเกิดขึ้นของเขื่อนปากมูล สภาวะโลกร้อน การเข้ามาของกลุ่มทุน เป็นต้น ทำให้ประมงค่อย ๆ เลือนหายไปจากชุมชน เรือที่เอาไว้ใช้หาปลาถูกยกขึ้นจากน้ำและตั้งไว้กลางบ้านเพื่อเตรียมรับน้ำที่มาแน่ในทุกปี อาชีพหลักของคนในชุมชนเปลี่ยนเป็นรับจ้างทั่วไป ซึ่งมีทั้งย้ายเข้าไปทำงานในตัวอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลฯ นอกจากนี้ยังมีอาชีพทำเนื้อแดดเดียวขายส่งในตลาด ทั้งเลี้ยงวัวด้วยตัวเองและรับซากมาเลาะตากแห้ง ซึ่งเป็นอีกอาชีพที่นิยมในชุมชน
ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพขายเนื้อแดดเดียวมีทั้งรับเนื้อมาขายและเลี้ยงวัว โดยจะนำมาตากที่ลานหน้าบ้าน
แต่เมื่อน้ำมาชีวิตที่หยุดชะงักย่อมหมายถึงรายได้ด้วยเช่นกัน งานในเมืองก็ลดน้อยลง เนื้อก็ไม่มีที่ตากแห้ง ปลาก็ลดน้อยลงจากเมื่อก่อน ทางออกของชาวบ้านคือรอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐ ไม่ก็กู้หนี้นอกระบบ
“เพราะบรรพบุรุษเราเลือกที่จะอาศัยแถวนี้ ซึ่งแต่ก่อนน้ำก็ท่วมแต่มันไม่ได้ท่วมแบบนี้ มันท่วมเดี๋ยวเดียวและก็ไป ไม่เกินอาทิตย์หรือสองอาทิตย์น้ำก็ไหลลงแม่น้ำโขง หน้าน้ำยังเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีรายได้เสริมเสียด้วยซ้ำ เพราะชาวบ้านสามารถจับปลาเพิ่มได้จากน้ำที่ไหลเข้ามามาก พวกปลากดหรือบางทีก็มีไซส์ตัวละเป็นโลก็มี แต่ทุกวันนี้สิ่งที่น้ำพามาด้วยกลับเป็นหนี้”
“ในช่วงหลังที่ท่วมมันไม่ได้ท่วมเยอะอย่างเดียว แต่มันท่วมนาน ถามว่าอาทิตย์สองอาทิตย์เราทนได้ แต่มันเป็น 2-3 เดือนน่ะสิ สิ่งของรวมถึงตัวบ้านก็พังหมด พอเทศบาลเขามาประเมินความเสียหายมันก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนใหญ่ได้หลัก 2-3 พันบาท มีเพียงบางหลังที่ติดกับบุ่งง้าวซึ่งอยู่ในจุดท่วมหนักที่ได้เป็นหลักหมื่น แต่ซ่อมบ้านจากน้ำท่วมจริง ๆ ราคามันอยู่เกือบหลักแสน หลายคนต้องไปกู้นอกระบบร้อยละ 20
พอจะหาเงินมาใช้หนี้ น้ำก็มาอีกรอบแล้ว น้ำมันท่วมซ้ำซากคนก็จนซ้ำซ้อนเป็นวงจรไม่รู้จบ” แม่บุญทัน กล่าว
นอกจากการจัดการเชิงเทคนิคแล้ว ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ มองว่าก่อนหน้านี้สิ่งที่ข้าราชการท้องถิ่นมองข้ามไปคือการจัดการเชิงมานุษยวิทยา ซึ่งมีปัญหาจากการที่เราไม่ได้ฟังเสียงของกันและกันมากพอในพื้นที่
ในวิจัย “เรื่องเล่าจากน้ำท่วม” เป็นชุดข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านจากหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ชี้ให้เห็นว่ากายภาพของพื้นที่ซึ่งนับรวมคนอยู่ด้วยมีความหลากหลาย ปริมาณน้ำที่ไหลพัดเข้ามาเพิ่มการจัดการที่ยากมากขึ้น เมื่อน้ำท่วมซ้ำซาก ความจน ความเจ็บป่วย สภาพทางเศรษฐกิจและส่งผลตรงต่อสภาพทางจิตใจก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ภาครัฐไม่ควรละเลย
ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
“ในแง่การเยียวยา แม้ภาครัฐจะส่งคนลงมาดูเพื่อประเมินว่าความเสียหายตีเป็นราคากี่บาท แต่ท้ายที่สุดมันไม่ครอบคลุม งานวิจัยชิ้นนั้นทำให้พบว่าน้ำท่วมหนึ่งครั้ง ชาวบ้านต้องซ่อมบ้านอย่างน้อย 80,000 บาท แต่ค่าเยียวยาที่ได้มามันได้มากสุดเพียง 20% มันก็ต้องกลับไปถามว่าถ้ารัฐไม่มีเงินเยียวยามากพอแล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดค่าใช้จ่ายตรงนี้น้อยลงได้บ้าง”
“หรือผู้ใหญ่อาจจะทนได้กับน้ำท่วม เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าน้ำต้องท่วมแน่ ๆ แต่กับเด็กไม่ใช่ มีเด็กคนหนึ่งต้องป่วยเป็นจิตเวชเพราะน้ำท่วม เนื่องจากเขาเครียดมากกับปรากฏการณ์น้ำที่พึ่งเคยเจอครั้งแรกในชีวิต ในขณะที่บ้านเขาก็ไม่มีเงินอยู่แล้ว น้ำท่วมได้สร้างค่าใช้จ่ายตามมา แล้วเขาอยู่กับยายซึ่งป่วยติดเตียงอีกคน คำถามคือจะไม่ให้เขาป่วยได้อย่างไร และเราจะไม่มีทางรู้ได้เลย นอกจากไปเคาะหน้าบ้าน แล้วถามปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา”
งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้หน่วยงานท้องถิ่นเริ่มทำความเข้าใจกายภาพในหลายมิติของพื้นที่มากยิ่งขึ้น น้ำท่วมไม่อาจใช้ตาดูได้อย่างเดียว แต่จำเป็นต้องใช้หูฟัง
กายภาพเชิงพื้นที่ยังหมายถึงประวัติศาสตร์ของชุมชน ในช่วงปีน้ำท่วมหนักมีหลายเสียงก่นด่ามาถึงชาวบ้าน ถามถึงสาเหตุที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่และทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเมืองวารินชำราบ ไม่ได้เป็นเพียงน้ำท่วมชุมชน แต่ยังเป็นการจัดการคนจนเมืองของพื้นที่ ที่นอกจากจะจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานจากภัยพิบัติ จึงเป็นอีกประเด็นที่สังคมต้องมองให้ลึกถึงปัจจัยที่ทำให้พวกเขาไม่ใช่จะย้ายไปที่ไหนก็ได้ แต่นี่คือบ้านของพวกเขาในฐานะคนจนเมือง
“แน่นอนว่าน้ำท่วมซ้ำซ้อนจึงทำให้เกิดความจนซ้ำซาก แต่พวกเขาเหล่านี้ก็พยายามจะถีบตัวเองขึ้นไปไม่ใช่ยอมรับอยู่กับความจน ในเหตุการณ์อุทกภัยจึงมีคำพูดมากมายว่าชาวบ้านรอแต่จะรับของ ไม่ยอมย้ายไปที่ปลอดภัย
เพราะเราต้องอย่าลืมว่านั่นคือบ้านของพวกเขา นอกจากมิติทางเศรษฐกิจที่เมื่อพวกเขาย้ายแล้วพวกเขาจะหาเงินไปหาที่อยู่ใหม่ได้อย่างไร แต่พื้นที่นั้นมีวิถีชีวิตของพวกเขาอยู่ มีชุมชนนิเวศที่พวกเขาก่อสร้างมาและส่งต่อกันหลายรุ่น” ดร.สุรสม กล่าว
หลังน้ำท่วมหนักในปี 2562 เทศบาลและจังหวัดอุบลราชธานี เล็งเห็นว่าการทำงานรับมือกับภัยพิบัติต้องไม่ใช่แค่เรื่องของหน้างาน แนวคิดนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เริ่มช่วยเหลือ ส่งของ อพยพกันเองในบางจุดที่เทศบาลตกหล่น การทำงานบนความเข้าใจในพื้นที่จึงเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงตอบรับการช่วยเหลือของประชาชน แต่ความเข้าใจนี้จะทำให้การวางแผนเป็นไปอย่างตรงจุดและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลเชิงประชากรได้สัมพันธ์กับข้อมูลเชิงปริมาณน้ำที่จะมาถึง เมื่อความเสียหายของน้ำจะแปรผันตามผลกระทบที่ไปถึงชาวบ้าน เทศบาลเมืองวารินชำราบได้ประสานให้เกิดการเฝ้าระวังจากภาคประชาชน เช่น อาสาสมัคร, อาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ, อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เป็นต้น โดยแบ่งเป็นระดับชุมชน ไปจนถึงชาวบ้านได้มีต่อยอดในการสร้างกลุ่มไลน์ของชุมชนใกล้เคียงด้วย เพื่อแจ้งเตือนปริมาณน้ำที่สูงขึ้นจากพื้นที่ที่จะโดนรับน้ำก่อน
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจหลังจากเกิดการเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ นอกจากทิศทางของน้ำก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำมูล คือจุดเริ่มท่วมของแต่ละชุมชน ซึ่งข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลที่ชาวบ้านเก็บสถิติเชิงปากเปล่าและเป็นที่รู้กันในชุมชนอยู่แล้ว เพียงแต่ในระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานท้องถิ่นอาจจะยังไม่ได้เข้าถึงชาวบ้านมากเพียงพอ หลังจากข้อมูลชุดนี้ปรากฏขึ้นต่อหน่วยงานท้องถิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการตั้งจุดเฝ้าระวังได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถคาดการณ์น้ำได้และช่วยเหลือประชาชนได้ทัน
รุ่งนภามองว่า “พอเป็นเขตของผู้มีรายได้น้อยของเมือง มุมมองของการโยกย้ายเพื่อหนีน้ำนั้นเป็นเรื่องยาก นอกจากความเป็นห่วงต่อทรัพย์สิน หลายหลังคาเรือนที่ดินก็ยังไม่มีโฉนด ซึ่งบ้านเหล่านั้นเองก็เป็นจุดแรก ๆ ที่น้ำจะเริ่มท่วม มันเลยต้องมองคนละส่วนกันว่าไม่ใช่เราจะจัดการพวกเขาอย่างไร แต่เราจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาอย่างไรได้บ้าง”
ป้ายแจ้งเตือนธงเตือนระดับน้ำในชุมชน
ภัยพิบัติควบคุมไม่ได้ แต่ใช้ Data บริหารจัดการได้
“ราชการมีจุดอ่อนในการจัดการกับภัยพิบัติ ไม่ใช่ว่าราชการไม่ตื่นตัวกับผลกระทบของประชาชน มีหลายอย่างที่โฟกัสกับการรับมือที่หน้างานมากเกินไป หรือมีหลายอย่างที่ยังเข้าใจไม่มากพอเมื่อน้ำเข้ามามากจากหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ พอจับจุดนั้นได้เราก็เข้าใจ ว่าการจัดการภัยพิบัติคือการเตรียมตัวตั้งหลังบ้านและไปใช้จริงในหน้างานต่างหาก” รุ่งนภา ทับหนองฮี หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลเมืองวารินชำราบ กล่าว
รุ่งนภา ทับหนองฮี หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลเมืองวารินชำราบ(ขวา)
การสื่อสารในรูปแบบราชการเป็นอย่างปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักในภาวะวิกฤตอย่างเหตุการณ์ภัยพิบัติ อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ทำงานของรุ่งนภา หัวใจสำคัญที่หน่วยงานราชการพลาดไปในการรับมือภัยพิบัติ คือการทำงานกับข้อมูล ซึ่งจะเป็นรากฐานให้คาดการณ์กับภัยพิบัติที่จะเกิดและลดความเสียหายลง
หลังจากความเสียหายหนักในปี 2562 และ 2565 เทศบาลเมืองวารินชำราบและจังหวัดอุบลราชธานี ตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายที่ประชาชนได้รับมากยิ่งขึ้น แม้ว่าอุบลราชธานีจะเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งจำเป็นจะต้องน้ำท่วมในทุกปี แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพของพื้นที่ที่ล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ภายใต้การพัฒนา น้ำจะท่วมหนักขึ้นทุกปีหากท้องถิ่นยังไม่บริหารน้ำได้ดีกว่านี้
ชุมชนริมน้ำมูลฝั่งวารินชำราบที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมีด้วยกัน 12-14 ชุมชน ตามแต่ปริมาณน้ำของแต่ละปี อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าชุมชนที่ติดริมน้ำมูลจะเป็นชุมชนที่เสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุด แต่ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เป็นที่ลุ่มต่ำและแต่ละชุมชนมีความลุ่มไม่เท่ากัน กระทั่งในชุมชนเดียวกันก็มีบ้านหลังที่อยู่ต่ำมากหรือต่ำน้อย ทำให้การคาดการณ์น้ำท่วมในวารินชำราบ จำเป็นจะต้องเข้าใจความลุ่มดอนของแต่ละชุมชน แต่ละหลัง จึงจะสร้างแผนรับมือกับน้ำได้ทัน
น้ำที่ท่วมในอำเภอวารินชำราบส่วนใหญ่จะเป็นน้ำฝนและน้ำท่าที่ไหลมาจากแม่น้ำชี เข้าสู่แม่น้ำมูล ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง โดยจะเริ่มจากน้ำฝนที่ไหลมารวมกันที่กุด(ลำน้ำโค้งที่ปลายด้วน) ซึ่งจะมีกุดปลาขาวและกุดบ้านเป่ง ซึ่งปัจจุบันถูกสร้างเป็นประตูน้ำ และไหลรวมเข้าคลองเลี่ยงเมืองและกระจายไปตามบุ่ง(บึง)ของแต่ละชุมชนริมมูล
พื้นทีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมของเทศบาลเมืองวารินชำราบ แบ่งตามความลุ่มต่ำและระดับน้ำ
เทศบาลเมืองวารินชำราบมองเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้เองคือกุญแจสำคัญที่จะลดความเสียหาย โดยจากปีแรก ๆ ใช้วิธีการแจ้งข้อมูลผ่านกลุ่มไลน์หรือเพจของเทศบาล แต่ยังคงมีความคลาดเคลื่อนและเข้าใจยากในการสื่อสารต่อประชาชน แต่ในปัจจุบันมีการจัดทำเว็บไซต์ที่อัพเดทแบบเรียลไทม์ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปเช็คได้ที่เว็บไซต์ welfare.warin.city โดยในเว็บไซต์นี้เองมีทั้งข้อมูลของปริมาณน้ำย้อนหลัง จำนวนประชากร แผนที่เสี่ยงภัย เส้นทางไหลของน้ำในแต่ละปี แม้ว่ายังมีช่องโหว่ของการเข้าถึงจากผู้สูงอายุหรือคนจนของพื้นที่ แต่ก็นับว่าการปรับตัวของท้องถิ่นที่เห็นว่าน้ำท่วมเหล่านี้เป็นเรื่องของการบริหารไม่ใช่ฟ้าฝนดลบันดาลเพียงอย่างเดียว
เว็บไซต์ welfare.warin.city โดยในเว็บไซต์นี้เองมีทั้งข้อมูลของปริมาณน้ำย้อนหลัง จำนวนประชากร แผนที่เสี่ยงภัย เส้นทางไหลของน้ำในแต่ละปีแบบเรียลไทม์
กล้องวงจรปิดริมน้ำมูลเพื่อสังเกตการณ์ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูล
“ทุกปีจะเป็นการมอนิเตอร์สดจากพนักงานในเทศบาล ซึ่งบางทีจะมีความล่าช้าและสื่อสารไม่เข้าใจ การทำงานเชิงข้อมูลและร่วมมือจากหลายหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางอย่างกรมชลประทาน ทำให้เราเห็นว่าถ้าน้ำมาในปริมาณนี้ เราต้องบอกชาวบ้านจุดไหนให้เฝ้าระวัง เราจะไม่ได้บอกชาวบ้านแค่น้ำมาปริมาณกี่ร้อยล้านลูกบาศก์เมตร แต่เราสามารถบอกเขาได้ว่าปริมาณน้ำเท่านี้บ้านหลังไหนจะกระทบก่อน พอชาวบ้านเขารับรู้ อสม.ก็จะกระจายข่าวต่อว่าถ้าฝนยังตกต่อเนื่อง หลังไหนที่จะต้องเตรียมตัว ชุมชนไหนที่จะต้องประสานกับศูนย์พักพิง” รุ่งนภา กล่าว
จ่าเอกประกาศ ตระการไทย หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงการจัดการภัยพิบัติประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนได้แก่ การลดความเสี่ยง-การจัดการในภาวะฉุกเฉิน-การฟื้นฟู
จ่าเอกประกาศ ตระการไทย หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เส้นทางน้ำที่มีผลต่อการเกิดน้ำท่วมของเมืองวารินชำราบประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือทางทิศใต้ ซึ่งน้ำเกือบทั้งอุบลจากผ่านมาร่วมของเส้นคลองเลี่ยงเมืองอย่างกุดเป่ง ม.6 และ กุดเป่ง ม.16 และทางทิศเหนือจากแม่น้ำมูล ซึ่งจะต้องผ่านประตูน้ำ M118-เขื่อนปากมูลจึงมาเข้าประตูน้ำ M7 ของเมืองวารินฯ
การลดความเสี่ยงเริ่มต้นจากการตั้งเป้าระบายน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จากอดีตที่เขื่อนปากมูลรวมถึงเทศบาล มีแผนการจัดการน้ำที่จะรอให้น้ำถึงระดับ จึงจะปล่อยน้ำให้ระบายก่อนจะเข้าแม่น้ำโขง กล่าวคือ หากเป็นน้ำท่าที่มากและรอไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามปกติ จะสร้างผลกระทบต่อเหตุการณ์น้ำท่วมไม่มากนัก
แผนผังชุมชนที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบกจากอุทกภัย เมืองวารินชำราบ
ที่มา : เทศบาลเมืองวารินชำราบ
แต่เมื่อปี 2562 และ 2565 อีกสิ่งหนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ในการบริหารน้ำเหล่านี้ คือความชะล่าใจต่อปริมาณน้ำที่มากกว่าฤดูน้ำหลากปกติ น้ำท่าที่ไหลมามากขึ้นและฝนที่ยังตกต่อเนื่อง พายุซูลิกได้เพิ่มปริมาณน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อประตูน้ำเปิด น้ำที่ไหลมารวมและออกที่เขื่อนปากมูลก็มากเกินกว่าที่น้ำจากตัวเมืองวารินฯ จะระบายลงไปได้ อีกทั้งน้ำจากแม่น้ำโขงก็หนุนสูงเป็นเหตุน้ำที่รอการระบายจากทางทิศเหนือและทิศใต้ค่อย ๆ เอ่อท่วมพื้นที่เสี่ยงภัยของเมืองวารินฯ และขังนานเป็นเวลากว่า 2-3 เดือน
“ในปีก่อน ๆ เราเห็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก เราได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำจากเดิมเป็น 9 เครื่อง ในเครื่องสูบน้ำนี้ไม่ใช่ของเทศบาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือสนับสนุนที่ได้มาจากกรมชลประทานและกรมป้องกันภัยฯ ด้วย การลดความเสี่ยงไม่เพียงแต่การคาดการณ์ของหน่วยงานท้องถิ่น แต่ความร่วมมือจากหน่วยงานส่วนกลาง ทั้งในเชิงข้อมูลและอุปกรณ์ จะทำให้เราทำงานได้รวดเร็วและวางแผนได้รอบคอบยิ่งขึ้น”
ตารางแสดงชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ตามระดับน้ำ
ที่มา : เทศบาลเมืองวารินชำราบ
รุ่งนภายังกล่าวเสริมด้วยว่า การสูบน้ำไม่ใช่ว่าจะเร่งสูบแต่เพียงอย่างเดียว แต่การสูบอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องคำนึงว่าน้ำที่มามีเท่าใด ต้องใช้กี่เครื่องในการสูบน้ำ และสูบน้ำแล้วจากจุดไหนไปสู่จุดไหน เพราะการเร่งสูงเท่ากับว่าหน่วยงานกำลังแก้ไขปัญหาที่หน้างานแต่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ
โดยในแผนป้องกันภัยเมืองวารินชำราบ 2567 ได้ประกาศให้ปริมาณน้ำ 111 ม.รทก เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง 112 ม.รทก จัดตั้งศูนย์อพยพ และ 113 ม.รทก เป็นเหตุการณ์น้ำท่วม
จากสถิติ 74 ปีของการเกิดอุทกภัยในเมืองวารินชำราบ พบว่า 48 ปีเกิดเหตุน้ำท่วมหรือคิดเป็นมีน้ำปริมาณสูงกว่า 7 เมตร โดยตลิ่งจะมีความสูง 7 เมตรเช่นกัน โดยมาตรการการจัดการในภาวะฉุกเฉิน จะมีการจัดตั้งกองบัญชาการและจัดตั้งศูนย์พักพิง
ประกาศเล่าว่า การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเชื่อมโยงกับข้อมูลสถิติที่เก็บมา ศูนย์บัญชาการจะเป็นจุดหลักที่จะประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์พักพิงจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือรับรองชุมชนที่ได้รับผลกระทบน้ำต่ำกว่า 9 เมตรและสูงกว่า 9 เมตร(น้อยกว่าหรือมากกว่า 114 ม.รทก-เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง)
โรงเรียนท่าบ้งมั่ง จุดพักพิงชั่วคราวสำหรับชุมชนท่าบ้งมั่ง
รายชื่อของครอบครัวที่บ้านอยู่ทางทิศใต้และติดกับบุ่งง้าว ย้ายมาอาศัยชั่วคราวจุดพักพิงชั่วคราวสำหรับชุมชนท่าบ้งมั่ง
“ข้อมูลที่เราได้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องอพยพผู้คนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน เราสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อนและหลังได้ โดยศูนย์พักพิงเมื่อระดับน้ำไม่เกิน 9 เมตรจะแบ่งเป็น 7 แห่ง และศูนย์พักพิงเมื่อระดับน้ำเกิน 9 เมตร อีก 9 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะระบุไว้เลยว่าศูนย์ไหนจะรับรองชุมชนเสี่ยงภัยแห่งไหนบ้าง การเตรียมแผนรับมือที่ดีไม่ได้หมายความว่าน้ำจะไม่ท่วม แต่เมื่อน้ำท่วมเราทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยได้มากแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เรารับมือจริง ๆ ” ประกาศ กล่าว
Better Practice วารินชำราบโมเดล ในวันที่น้ำทำให้ตื่นตัว ไม่ใช่ตื่นกลัว
“สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่พร้อมกับการรับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบ” ดร.สุรสม กล่าว
ในฐานะสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ การช่วยเหลือทางด้านวิชาการหรือองค์ความรู้เป็นเหตุผลหลักที่มหาวิทยาลัยท้องถิ่นจำเป็นจะต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
“เราต้องอย่ายอมให้ภัยพิบัติเกิดขึ้นด้วยความประมาท ในขณะเดียวกันเรามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบภัยพิบัติด้วยกันทุกคน เราจะทำอย่างไรให้สังคมไทยเป็นสังคมไทยที่ตื่นตัวไม่ใช่ตื่นกลัวต่อภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เราทุกส่วนต้องช่วยเหลือกัน”
จากปี 2545 อาจารย์ได้เข้าร่วมการช่วยเหลือในการสร้าง EM Ball เพื่อบำบัดน้ำขังที่เสียในชุมชน แต่แล้วการแก้ไขหน้างานเป็นเรื่องที่ทำให้เรายังไม่ได้เข้าใจปัญหาของพื้นที่มากเพียงพอ การคุยกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะทำให้ปัญหาผุดขึ้นมาเหนือน้ำ และรู้ว่า เราจะต้องสูบปัญหาอะไรออกไป
น้ำที่ท่วมหนักขึ้นในแต่ละปี เป็นผลให้นอกจากหน่วยงานราชการเพิ่มการกำกับดูแลที่ใส่ใจมากขึ้น ยังส่งผลให้ภาคประชาชนตื่นตัวและสร้างการสื่อสารต่อพื้นที่ ได้มีการสร้างแพลตฟอร์ม อุบลพร้อม ที่มีการปักหมุด แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมเข้ามา เพื่อสร้างการสื่อสารให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการมีสื่อท้องถิ่นเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง อย่าง UbonConnext, วารินชำราบบ้านเฮา หรือวิทยุและทีวีท้องถิ่นอีกหลายช่อง ซึ่งได้ทำลายการผูกขาดของข้อมูลจากทางราชการ และมีการทำให้ย่อยง่ายขึ้นต่อชาวบ้าน
แม้ว่าชาวบ้านและอาจารย์เองจะมองว่าจากการลงพื้นที่ของอดีตนายกเศรษฐา ทวีสิน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการกำชับถึงการกำกับดูแลน้ำในจังหวัดอุบลราชธานีต่อข้าราชการให้มีความเข้มงวดมากขึ้นจนอาจเป็นผลให้ในปีนี้ มีมาตรการรับมือที่ดีขึ้นมากและอาจไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์พักพิงเลย อย่างไรก็ตาม อาจารย์ยังเชื่อในการตื่นตัวของภาคประชาชนที่ไม่รอเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียวอย่างอดีต
“ประชาชนอยู่กับน้ำมาตลอด วันนี้เรามีองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น มันทำให้เรารู้ว่าควรจะรับมือกับน้ำในขอบเขตของเราได้มากขึ้นยังไงได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม คำสั่งจากนายกมีผลเพียงชั่วคราว การมีท้องถิ่นที่ดีต่างที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายในการกำกับดูแลถูกใช้ปฏิบัติและสร้างความเสียหายต่อประชาชนและพื้นที่ได้ดีที่สุด” ดร.สุรสม กล่าว
ชาวบ้านจากชุมชนหาดสวนยา ขับมาดูสถานการณ์น้ำที่เครื่องสูบน้ำ วัดเสนาวงศ์
หลังจากน้ำท่วมหนักหลายปีซ้ำซ้อน คนวารินชำราบในวันนี้ไม่ยอมจะเจ็บปวดซ้ำซาก อาจารย์มองว่าการจัดการน้ำท่วมของอุบลราชธานี เป็น Better Practice ที่มีแนวโน้มดีขึ้นในทุกปี การจัดการภัยพิบัติไม่ใช่เป็นเรื่องของการสั่งการลงมาแบบ Top Down หรือการส่งสารของประชาชนแบบ Bottom Up แบบใดแบบหนึ่ง ในเมื่อเราล้วนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเดียวกัน แต่ละฝ่ายต่างมีข้อจำกัดและความสามารถที่ต่างกัน การนำความสามารถของตัวเองมาอุดรอยรั่วกันและกันต่างหากคือประเด็นสำคัญที่จะทำให้น้ำท่วมอุบล-วาริน ไม่สร้างผลกระทบหนักนานนับหลายเดือน
“ไม่มี best practice ของที่ไหนมาใช้ได้กับทุกที่ แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างและหลากหลายเราต้องมองหาจุดอ่อนและจุดแข็งจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ว่าจะสามารถพัฒนาเมืองของเราไปในทิศทางไหนได้บ้าง”
“ในวันนี้อุบลฯยังเป็น better practice ที่มีแนวโน้มจะดีขึ้นแต่ต้องรอดูการจัดการเมื่อน้ำมา คำว่า best practice จริง ๆ อาจจะไม่ใช่เรามีเทคนิคในการรับมือกับน้ำในเชิงเทคโนโลยีอย่างไร แต่อาจเป็นการที่เราสามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตัวเองทุกคน เราขยับตัวกันก่อนที่ปัญหาจะมา ผมว่านั่นคือสัญญานว่าสังคมไทยรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้นแล้ว”
ระดับน้ำที่บ้านท่าบ้งมั่ง จะเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 111 ม.รทก.-112
“มันเจ็บปวดนะ ตอนปี 62 ยังมีชาวบ้านต้องไปนอนบนสะพานเกรียงอยู่เลย นอนข้างทางเพราะหนีน้ำ จะไปศูนย์พักพิงก็กลัวจะไม่เห็นบ้าน” แม่บุญทันชี้ไปทางสะพานฝั่งต้นน้ำแม่น้ำมูล สะพานที่เชื่อมเมืองอุบลและเมืองวาริน ครั้งหนึ่ง เคยเป็นที่พักพิงในวันที่รัฐไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้
ในปี 2566 แม้จะไม่มีพายุฤดูร้อนเข้ามาสร้างความผันผวนของปริมาณน้ำมากอย่างเคย แต่การขยับตัวก่อนปัญหาจะมาของทุกฝ่าย ทำให้ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจาก 8,686 ราย จาก 14 ชุมชน เหลือ 3,193 รายจาก 12 ชุมชน
ผู้ได้รับผลกระทบยังสูงเป็นจำนวนหลักพัน แต่จากปากคำของชาวบ้าน พวกเขาไหวตัวได้ทันเพราะการสื่อสารและการเฝ้าระวังที่มาก่อนปัญหาจะเกิด ตัวเลขที่น่าสนใจอีกอย่าง คือในปี 2562 ไม่ได้มีการบันทึกตัวเลขของผู้ไม่อพยพไว้ แต่ในปี 2565 มีผู้ไม่อพยพ 404 ราย และในปี 2566 มีผู้ไม่อพยพเพิ่มขึ้น 751 ราย
ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้บอกว่ามีชาวบ้านหลายคนที่ไม่ยอมย้ายหนีน้ำ แต่จากปากคำของแม่บุญทัน หลายหลังคาเรือนปรับตัวกับปริมาณน้ำที่มาได้ การสื่อสารหลายช่องทางทำให้ชาวบ้านรู้ว่าคนรับน้ำต้องอยู่กับน้ำอย่างไร
ในชุมชนท่าบ้งมั่ง บ้านแทบทุกหลังยกขึ้นสูงจากพื้นถนนกว่า 4 เมตร แม้สมัยก่อนบ้านแถบนี้จะปลูกสร้างเป็นสองชั้น แต่หลังคาเรือนพบการทำผนังปูนไว้ชั้นล่างเพื่อเสริมความแข็งแรงเมื่ออยู่กับน้ำ หลายหลังปลูกเรือนเล็ก ๆ ที่มีเพียงห้องน้ำอยู่ชั้นบนแต่ยกสูงกว่า 5 เมตร มีเพิงริมน้ำมูลแห่งหนึ่งแปะป้ายประกาศรับเศษอิฐเศษดินเพื่อนำมาถมที่ แต่ส่วนใหญ่ในชุมชนท่าบ้งมั่งเลือกที่จะต่อไม้ท่อนและเสาปูนละราว ๆ 15 ซม. เพื่อยกความสูงของบ้านชั้นบนเพื่อหนีจากน้ำ
ตัวเลขผู้ไม่ยอมอพยพ ยังสอดคล้องกับระเบียงบ้านที่ยื่นออกในแต่ละหลัง เมื่อน้ำท่วมสูงเกินกว่า 9 เมตร ชาวบ้านเล็งเห็นแล้วว่าจะพอดีกับชั้นบนของบ้านพอดี จึงทำระเบียงบ้านไว้สำหรับเข้าออกบ้านในยามน้ำท่วมโดยเฉพาะ
ทางทิศใต้ของชุมชน เวียงทอง หญิงหัวหน้าครอบครัวที่บ้านได้รับผลกระทบจากน้ำในบุ่งง้าวแม้ฝนตกเพียง 3 วัน ระดับน้ำที่ถึงหน้าแข้งแต่ก็ไม่ได้สร้างความตกใจให้เธอและครอบครัวแต่อย่างใด เพราะชั้นล่างได้กลายเป็นพื้นที่ชั่วคราวและปรับให้ชั้นบนของบ้านต้องสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้สำหรับ 2 ครอบครัว
ถัดไปหลังข้าง ๆ บ้านของน้องสาวเธอได้รับน้ำจากบุ่งง้าวเข้าไปเรียบร้อย แต่น้องสาวของเธอได้ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนบ้านบ้งมั่ง ในชั้นล่างของโรงเรียนมีแผ่นกราวด์ชีทและป้ายประกาศเขตพักพิงชั่วคราว พร้อมย้ายตู้เย็นสำหรับเก็บเนื้อมาทำเนื้อแดดเดียว มีเพียงคำสั้น ๆ ที่ตอบคำถามถึงความเป็นอยู่ว่า ‘เป็นเรื่องปกติ’
“บ้านแต่ละหลังมีวิธีการอยู่ร่วมกับน้ำแตกต่างกันออกไปตามแต่เงินที่มี บางหลังที่มีเงินก็ถมที่ขึ้นไป แต่การต่อไม้ทีละท่อนของชาวบ้านก็เป็นอีกวิธีที่จะยกบ้านหนีน้ำ มันบอกว่าชาวบ้านไม่ใช่นอนรอรับความช่วยเหลือ เราก็ช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มที่ในแบบที่ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างคนรับน้ำเลือกที่จะอยู่กับมัน”
หลานพี่แสงทองที่บ้านอยู่ทางทิศใต้ของชุมชนและได้รับผลกระทบจากน้ำในบุ่งง้าว ย้ายมาพักชั่วคราวที่โรงเรียนท่าบ้งมั่ง
เรือไฟเบอร์กลางของชุมชน
บ้านของพี่เวียงทองที่จัดผังบ้านใหม่เพื่อพร้อมรับมือกับน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา
ฐานเสริมตู้เย็นที่ถูกทำขึ้นเพื่อรองรับน้ำท่วม
บ้านทุกหลังจะเตรียมเรือไว้สำหรับฤดูน้ำหลากของทุกปี
ตัวอย่างการยกบ้านสูงในชุมชนท่าบ้งมั่ง หลังนี้เป็นหนึ่งในหลังที่หนีพ้นน้ำในเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2565
ความเป็นคนรับน้ำของคนวารินชำราบ ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติอื่น ๆ การปรับตัวของคนวารินชำราบเกิดขึ้นจากความเข้าใจในกายภาพของพื้นที่สำหรับชาวบ้านริมฝั่งมูล นั่นทำให้การตื่นตัวของชาวบ้านที่ลุกขึ้นเพื่อบอกว่า ‘อยู่กับน้ำไม่ใช่ทนกับน้ำ’ ส่งเสียงไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นและเกิดการประสานงานเพื่อเตรียมรับมือกับน้ำที่จะมาในทุก ๆ ปี
“ปีนี้คิดว่าน่าจะไม่ท่วม รองผู้ว่าฯ เขาก็ตื่นตัว มันสำคัญมากที่ได้เห็นคนใหญ่คนโตของจังหวัดตื่นตัวกับปัญหาของพื้นที่เพราะมันทำให้ชาวบ้านก็อยากให้ความร่วมมือกับท้องถิ่น ในการแจ้งเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นในบ้านเรา” แม่บุญทันกล่าวในฐานะ อสม., อปพร., รวมถึงในฐานะประชาชนคนวารินชำราบด้วยเหมือนกัน
“บ่เอาแล้ว พ้อหน้ากันสิมาถามอยู่จังซั๋นว่ามาจากอุบลหรอ น้ำท่วมบ่มื้อนี่ มันอยากให้ถามเรื่องอื่นนอกจากน้ำท่วมเหมือนกัน”
“เวลาไปที่อื่นเราก็อยากให้เขาถามนะว่ามาจากวารินฯ ปีนี้เป็นยังไง ตกปลาได้เยอะไหม ค้าขายดีหรือเปล่า แข็งแรงดีอยู่นะ คำถามที่ว่าน้ำท่วมมั้ยทุกครั้งที่เจอหน้ากันมันทำให้เรารู้สึกลึก ๆ ว่าบ้านเราไม่เหมือนคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้ต่างจากใครเขานะ” แม่บุญทัน กล่าว
การจัดการน้ำท่วมในโมเดลคนรับน้ำวารินชำราบชี้ให้เห็น ว่าการบริหารจัดการภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ทำได้ การขยับตัวก่อนปัญหาจะมาได้กลายเป็นรูปธรรมของการร่วมมือระหว่าง ราชการ ประชาชน ภาควิชาการ
การรับมือภัยพิบัติของวารินชำราบจะมีประชาชนเป็นด่านหน้าก็จริง แต่รัฐเป็นหน่วยสนับสนุนที่รับฟัง และลงมาทำข้อมูลร่วมกับประชาชน ความร่วมมือนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเรายังฟังเสียงกันและกันในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติกันมากพอ และมันอาจไม่ใช่ใครต้องเป็นคนนำหรือคนตาม หัวใจสำคัญของการก้าวข้ามภัยพิบัติคือแต่ละฝ่ายรู้หน้าที่ของตัวเองว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อภัยมา
เดือนตุลาคมนี้ สถานการณ์น้ำที่เมืองวารินฯ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่การถีบตัวเพื่อตื่นจากมายาคติของการจัดการภัยพิบัติในสังคมไทยต้ังแต่น้ำท่วมปี 2562 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำให้ในปีนี้น้ำท่วมที่วารินฯ ไม่เหมือนเคยอย่างทุก ๆ ปี
ภัยพิบัติยังคงเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้และสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่วันนี้คนรับน้ำวารินชำราบทุกภาคส่วนก็ได้ร่วมยืนยันแล้วว่า น้ำที่เข้ามาในบ้านของคนรับน้ำเป็นเรื่องที่บริหารจัดการ เพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้