เมื่อประชาชนคือด่านหน้าของความ(ไม่)มั่นคงทางน้ำและอาหารในภูมิภาคเอเชีย - Decode
Reading Time: 4 minutes

“มีความเป็นไปได้ว่าความรุนแรงของน้ำท่วมจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ความรุนแรงของภัยแล้งก็จะมากขึ้น ความไม่แน่นอนก็เพิ่มขึ้น จึงยากที่เราจะพยากรณ์ว่าสภาพภูมิอากาศในอนาคตจะเป็นอย่างไร”

– ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า

บทเรียนจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ทำให้ประชาชนอย่างน้อย 45,329 ครัวเรือน ใน 6 อำเภอของ จ.เชียงราย กลายเป็นผู้ประสบภัยทันที อีกสิ่งหนึ่งที่ไหลมาพร้อมกับกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก คือโครงสร้างการจัดการน้ำที่ไม่สมประกอบ แยกส่วน จนไม่อาจรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ได้

เมื่อ 6 กันยายนที่ผ่านมา Thai PBS ร่วมกับ Humphrey Fellowship – A FulbrightExchange Program และโครงการความร่วมมือศิษย์เก่า(CAP) สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จัดวงเสวนา Climate Solutions Talk : ทางเลือกเพื่อความมั่นคงทางน้ำและอาหารในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสื่อสารสัญญานจากภาวะโลกเดือด บทสนทนาที่ว่าด้วย ‘ทางออก’ ที่ไม่ใช่แค่ทางออกของน้ำ แต่เป็นทางออกของมวลมนุษยชาติ สร้างความมั่นคงทางน้ำและอาหารอย่างให้เกิดขึ้นจริง

ด่านหน้าของความมั่นคงทางน้ำของไทย อินเดีย อินโดนีเซีย
สู่เทคโนโลยีที่เป็นมิตร และการจัดการลุ่มน้ำแบบบูรณาการ

มีความเป็นไปได้ว่าความรุนแรงของน้ำท่วมจะมากขึ้น เป็นข้อค้นพบของ ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผ่านปริมาณน้ำฝน

สิ่งที่ค้นพบจากตัวเลขในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่ปี 2011, 2017, 2022 คือเมื่อเวลาผ่านไป เราจะไม่สามารถทำนายความ ‘สุดโต่ง’ ของการเปลี่ยนแปลงได้เลย

ผศ. ดร. สิตางศุ์ยกตัวอย่างว่า บางปีมีปริมาณที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนน้ำสูงมาก แต่เมื่อผ่านไปเพียงปีเดียว ปริมาณน้ำกลับลดลงจำนวนมาก และลดลงถึงขั้นที่หน่วยงานของรัฐ ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรและชาวนาให้ลดการปลูกข้าว และปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากการปลูกข้าวนั่นเอง

เธอย้ำว่าแม้เราจะมีระบบในการจัดการน้ำในประเทศมากมาย แต่ระบบและองค์ความรู้เหล่านั้น กลับแยกส่วนและไม่กระจายสู่บุคลากรอื่น ๆ ที่ทำงานในประเด็นเรื่องน้ำ ซึ่งนั่นทำให้ระบบการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพไม่เคยเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมไทย และจะกระทบหนักขึ้นหากผู้ที่ถือครององค์ความรู้เหล่านั้นเกษียณจากการทำงานไป

ในฐานะของวิศวกร ผศ. ดร. สิตางศุ์อธิบายว่า การทำงานด้านวิศวกรรมไทยมองเพียงผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ ว่าน้ำจะท่วมไปที่ใด แต่กลับไม่ได้ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นทางเศรษฐศาสตร์ ภาพรวมของสิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้คน

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขในการจัดการน้ำของไทยก็ยังมหาศาลเช่นกันผศ. ดร. สิตางศุ์ เสนอว่า ‘เทคโนโลยี’ จะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ และนำมาใช้เป็นระบบในการช่วยตัดสินใจในการจัดการน้ำตามแต่บริบทพื้นที่

“ทุกครั้งที่มีน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง รัฐก็จะบอกว่าเรามีโครงสร้าง เรามีอ่างเก็บน้ำ เรามีประตูกั้นน้ำ แต่เราไม่คุยเรื่องเทคโนโลยีเลย ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาแล้วว่าเมืองไทยต้องพิจารณา และเราจำเป็นต้องมีระบบอัจฉริยะที่ช่วยตัดสินใจเรื่องนี้ด้วย”

“การจัดการน้ำไม่ได้เกี่ยวข้องกับมวลน้ำที่ท่วมหรือแล้งในเวลานั้น ๆ แต่ต้องคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งจะส่งผลตรงกับความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารของทุกชีวิตในบริเวณนั้น”

ความเห็นของ ดร.ราชกุมารี สุนิตา เทวี ผู้บริหารและหน่วยงานระดับรัฐเพื่อการจัดการลุ่มน้ำ แบบบูรณาการ – กรมวางแผน จากมณีปุระ ประเทศอินเดีย เธออธิบายว่าอินเดียเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างหนักในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแถบตะวันออก ของประเทศ ปัจจุบันที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 0.75 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นถึง 5%

ส่งผลให้ในวันนี้ เมืองเล็กในประเทศอินเดียอย่าง Manipur ที่เป็นเมืองที่มีทะเลสาบ พื้นที่ลุ่มน้ำ และอาชีพหลักของคนในพื้นที่คือการทำเกษตรกรรม ต้องเผชิญทั้งภาวะฝนแล้งและน้ำท่วม ในช่วงฝนแล้งก็ส่งผลกระทบหนักจนไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ ในขณะเดียวกันในหนึ่งเดือนต้องเจอกับน้ำท่วมอย่างต่ำ 3 ครั้งและเจอดินถล่ม

ดร.ราชกุมารีกล่าวว่า การจัดการน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากภาวะโลกรวน และต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการบูรณาการถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างรอบด้าน และหัวใจสำคัญคือการให้ประชากรในพื้นที่มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหา

เธอย้ำอีกว่าที่เมือง Manipur นั้น มีผู้หญิงเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เพราะพวกเธอเป็นคนที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทั้งงานในบ้าน งานเกษตรกรรม และเราจำเป็นจะต้องให้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้สะท้อนว่าปัญหามีหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อหาทางแก้ไข

“โครงการของเราเก็บน้ำจากน้ำท่วมมา 5,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อมาใช้ในช่วงน้ำแล้ง ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาทำงานร่วมด้วย แอ่งน้ำที่เก็บไว้ มีชาวบ้านจากชุมชน มาช่วยกันขุดเพื่อกักเก็บน้ำ”

ขณะเดียวกัน การจัดการแบบบูรณาการจำเป็นจะต้องคำนึงถึงหลักคิดของหลากหลายมิติ การทำงานร่วมกันก็ต้องทำงานจากหลายหน่วยงานเช่นกัน ดร.ราชกุมารีมองว่าในความก้าวหน้าของโครงการที่เมือง Manipur เกิดขึ้นได้เป็นเพราะสื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนในพื้นที่ การใช้ข้อมูลจากภาครัฐ และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เหมาะสมและใช้ได้จริงต่อพื้นที่

เธอเสริมว่า ปัจจุบันมีโครงการกว่า 13 โครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNDPTF การทำงานร่วมกับภาครัฐคือสิ่งที่เราเป็นตัวเชื่อมเพื่อสื่อสารความต้องการของพื้นที่ อย่างที่เมือง Manipur เอง มีกฎหมายเพื่อรับมือการสภาพภูมิกาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่าการรับฟังประชาชนจริงต้องเกิดเป็นกฎหมาย และมีนโยบายขึ้นมาตอบรับ

“การแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำจำเป็นที่จะต้องเห็นภาพให้ชัดและตรงกับความเป็นจริง มันทำให้โครงการของเราลงพื้นที่บ่อยมาก เราต้องการอะไรมากกว่ากระดาษ ใช้แอคชั่นแพลนมากกว่า 5,000 ฉบับ ซึ่งแผนปฏิบัติการจำนวนมากก็เกิดจากการทำงานร่วมกัน จากหลายองค์กรเพื่อให้ได้ทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงในพื้นที่”

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือในประเทศอินโดนีเซียที่ประสบกับการสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร โทมี ฮาร์ยาดี ผู้อำนวยการโครงการอาหาร ที่ดิน และน้ำ จากสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) อินโดนีเซีย อธิบายว่าการทำงานเรื่องทรัพยากรไม่สามารถทำงานแบบแยกส่วนได้ แต่จำเป็นต้องทำงานในเชิง ‘บูรณาการ’ กับแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะเชื่อมโยงปัญหา นโยบาย และงบประมาณให้ไปพร้อมกัน

“น้ำอยู่ในทุกมวลของสิ่งมีชีวิต และเป็นสิ่งหนึ่งของการมีชีวิต ถ้าเรารับรู้แบบนี้แล้ว เราก็จะรู้ว่าการตัดสินใจนโยบายน้ำต้องทำอย่างไร”

โทมีอธิบายว่า การจัดการความมั่นคงทางน้ำมีอยู่ 4 เสาหลักในการทำงาน หนึ่งคือปกป้องแหล่งผลิตน้ำ เพื่อให้มั่นคงใจว่าแหล่งน้ำนั้นจะไม่หมดไป สองคือปัจจัยผลิต ว่าแหล่งน้ำนั้นมีศักยภาพมากพอที่จะผลิตน้ำให้กับทุกคน สามคือฟื้นฟู เพราะนอกจากการผลิตเพื่อใช้ก็ต้องฟื้นฟูมันด้วย และสุดท้ายคือการลด ซึ่งคือการลดปริมาณการใช้น้ำนั่นเอง

ซึ่งการจะทำสี่เสาหลักนี้ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ข้อมูล’ เพราะในแต่ละพื้นที่มี ‘ความตึงเครียดทางน้ำ’ (Water Stress) ที่ไม่เหมือนกัน และความตึงเครียดนี้เอง ที่นำมาซึ่งความเสี่ยงทางน้ำที่แตกต่างกัน

“อย่างอินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงทางน้ำสูง บางส่วนของประเทศไทยก็มีความเสี่ยงมากเหมือนกัน”

โทมียกตัวอย่างว่า ประชากรในประเทศอินโดนีเซียมีความเสี่ยงทางน้ำสูงถึง 55% เพราะไม่ใช่แค่การใช้น้ำในแม่น้ำหรือน้ำทะเลที่มากเกินไป แต่เป็นการใช้ ‘น้ำบาดาล’ ที่มากเกินไปด้วย

เขายกตัวอย่างถึงเมืองจาการ์ตา เมื่อพื้นที่ดังกล่าวแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ แหล่งเดียวที่จะมีน้ำสะอาดคือแหล่งน้ำบาดาล ทำให้คนจาการ์ตานั้นเน้นการใช้น้ำบาดาล ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2050 คนอินโดนีเซียอาจต้องเสียเงินหลายพันล้านเพื่อเยียวยาความเสียหายเรื่องน้ำ

โทมีมองว่าการมีข้อมูลอยู่ในมือ จะทำให้ประชาชน เอกชน กระทั่งภาครัฐ มีเครื่องมือมากพอที่รับมือกับความเสี่ยงทางน้ำที่มากขึ้นในอนาคต อย่างเช่น Aqueduct เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถรวบรวมข้อมูล และจัดทำเป็นแผนที่ทางน้ำ เพื่อดูว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงเรื่องน้ำ หรือใช้น้ำเท่าใดถึงจะมีความเสี่ยง

ซึ่งเขามองว่าเครื่องมือเหล่านี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาครัฐและเอกชน ทำโครงการในเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระแทกซ้ำปัญหาที่มีอยู่เดิม

“เราต้องทำงานกับเอกชน เพราะว่าเราต้องมั่นใจว่าบริษัทนั้นทำโครงการต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เขาจะได้รู้ว่าการคำนวนความเสี่ยงเป็นยังไง และอาจนำไปสู่การผลักดันนโยบายในอนาคต”

อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญยิ่งในช่วงภาวะภัยพิบัติ คือ สื่อ เพื่อการสื่อสารผลกระทบ การป้องกัน หรือไปไกลถึงการตั้งคำถามต่อบทบาทหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภัยพิบัตินั้น ๆ 

“โจทย์ของสื่อในภาวะภัยพิบัติ คือการที่ต้องตั้งคำถามว่า สังคมไทยเจอกับภัยพิบัติแบบนี้มากี่ปีแล้วรัฐบาลแก้ไขปัญหาอะไรแล้วบ้าง บทบาทของสื่อในเหตุการณ์แบบนี้คือ การส่งเสียงของประชาชนที่ได้รับปัญหาออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ”

เสียงสะท้อนของ นิตยา กีรติเสริมสิน ผู้สื่อข่าวอาวุโส ThaiPBS เธอเล่าว่า หลังจากทำงานสื่อสารในเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการจัดการน้ำโดยตรงมาเป็นเวลานาน เหตุการณ์ใหญ่อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้เห็นว่าการเป็นสื่อสาธารณะ ไม่เพียงแต่จะรายงานเพียงแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้น

เมื่อปัญหาเรื่องน้ำ คือภัยที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ต้องทำต่อคือสื่อสารอย่างไรเพื่อหาทางออก และทางออกที่ว่าจะต้องไม่เป็นเพียงการตั้งรับ และประชาชนต้องส่งสัญญานถึงภาครัฐเพื่อการป้องกันเชิงรุกกับภัยอันดับหนึ่งของประเทศ

“การรายงานข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นไม่เพียงพอ แต่การสื่อสารที่มุ่งเน้นให้ประชาชนตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายไปด้วย ทางสื่อสาธารณะเองนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาพูดคุยและสื่อสารจนเกิดเป็น Forum เพื่อให้สังคมให้เข้าใจปัญหานี้อย่างหลากมิติ เพื่อให้ได้ solution ออกมาเป็นนโยบายให้ภาครัฐขยับตัวมากขึ้น”

นิตยาเสริมว่า ยิ่งทำข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติด้านน้ำ เราก็ยิ่งเห็นว่ายังมีช่องโหว่เดิม ๆ ที่ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหารูปแบบใหม่จากสภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน งบประมาณของภาครัฐเป็นงบประมาณด้านโครงสร้างถึงร้อยละ 90 ในทางกลับกัน งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากแทบไม่มีการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่

นิตยายังเล่าถึงการทำงานข่าวของสื่อสาธารณะอีกว่า นอกจากการลงพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อรายงาน รับฟังเสียง และขยายความต้องการของประชาชน การหาทางออกใหม่ ๆ จากภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ คือการชี้ให้เห็นว่าในช่องโหว่ที่ภาครัฐมองเห็น ภัยพิบัติยังส่งผล กระทบต่อความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกหลายภาคส่วน

การรับฟังเมื่อครั้งที่ภัยพิบัติยังไม่มาคือการตั้งรับเชิงรุกแบบหนึ่ง เพื่อพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่ทวีคูณหนักขึ้นในทุก ๆ ปี

“แม้ว่าประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติทางน้ำจะต้องการการแก้ไขปัญหาเหมือน ๆ กัน แต่ความต้องการของแต่ละกลุ่มนั้นมีลักษณะเฉพาะที่ต้องการมาตรการการช่วยเหลือ เยียวยา และนโยบายที่แตกต่างกันออกไป การสื่อสารความต้องการเหล่านั้นที่มีโจทย์ร่วมจากน้ำ ฟ้า อากาศที่เลวร้ายลงเพื่อที่จะกันก่อนแก้ คือสิ่งสำคัญที่สื่อยุคนี้ต้องตอบสนองต่อเสียงของประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนให้ได้” 

ไทย เมียนมา อินโดนีเซีย บังกลาเทศ กับความมั่นคงทางอาหาร
ทางรอด? เมื่อวันนี้เราใกล้มาถึงทางตัน

“เมียนมาเองเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพโลกที่แย่ลง ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินถล่ม เมียนมาเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โดนภัยพิบัติเหล่านั้นอย่างหนัก”

ดร.อ่อนมา คาย จากประเทศเมียนมา ได้ตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ในขณะที่เมียนมาเป็นคนส่งออกข้าว ธัญพืช และทรัพยากรธรรมชาติประเภทอื่น ๆ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ทำไมคนในประเทศยังเข้าไม่ถึงความมั่นคงทางอาหารซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตโดยตรงมากขนาดนี้

เธออธิบายว่าประเทศเมียนมานอกจากประสบปัญหากับภาวะสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่ปี 2017 มีประชากรในประเทศที่เข้าไม่ถึงความมั่นคงทางอาหารกว่า 15.2 ล้านคนทั่วประเทศหรือคิดเป็น 2 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด

“โดยเฉพาะประชาชนรากหญ้าคือ กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากภัยพิบัติมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ของพวกเขา ในขณะเดียวกันรัฐกลับไม่มีมาตรการใด ๆ ในการรับมือกับภูมิอากาศที่ย่ำแย่มากขึ้นทุกวัน”

เธอเล่าว่า แม้เมียนมาจะมีหมู่บ้านนำร่องที่ต้องการจะให้เกิดการกระจายอำนาจเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้ แต่ด้วยสภาวะเงินทุนและเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้มีหมู่บ้านเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถดูแลตัวเองได้ในขณะที่ภัยพิบัติอยู่ในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ

โดยปัญหาใหญ่ของประเทศเมียนมากับการรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว จนถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือการไม่รับการสื่อสาร (Uncommunicative) ดร.อ่อนมา กล่าวว่า การไม่สื่อสารนี้ส่งผลกระทบในทุก ๆ ระดับของการแก้ไข ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เมียนมาต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน

“มันเกิดจากการที่รัฐบาลไม่รับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งมันทำให้ประชาชนที่พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ไม่ขับเคลื่อนต่อและเกิดการสร้างความตระหนักรู้กันของประชาชน รวมถึงภาคประชาสังคมหรือภาควิชาการในมหาวิทยาลัยเอง ไม่ยอมสร้างการตระหนักรู้นี้แก่สังคม มันเกิดเป็นวงพูดคุยเล็ก ๆ ที่ข้อเสนอไม่ถูกนำมาใช้จริง มันจะดีกว่าไหมถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมีผลต่อพวกเราทุกคน”

ดร.อ่อนมายังเล่าถึงนโยบายที่ภาครัฐสร้างออกมาโดยไม่รับฟังเสียงประชาชน จากเดิมที่ชาวเมียนมาจำนวนมากเข้าไม่ถึงความมั่นคงทางอาหาร ภาครัฐกลับไม่แก้ไขปัญหานี้ แต่กลับมุ่งเน้นที่ตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ ที่เพิ่มการส่งออกไปยังประเทศใหญ่ ๆ อย่างแอฟริกา จีน หรืออินเดีย หรือกระทั่งการส่งออกประมงในภูมิภาค

การส่งออกนี้ยังสะท้อนเป็นคำถาม ว่าตัวเลขไหนที่รัฐบาลสนใจมากกว่ากัน ระหว่างตัวเลขการเติบโต ของการส่งออกหรือจะเป็นตัวเลขของความทุกข์ยากรายหัวที่ประชาชนเมียนมากำลังเผชิญอยู่

การพัฒนาที่ผิดจุดและไม่รับฟังเสียงประชาชน ดร.อ่อนมายังกล่าวด้วยว่า เป็นผลให้ประชากรในประเทศมีอัตราในการพลัดถิ่นสูง เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ซึ่งจุดนี้เองคือความเสี่ยงที่รัฐบาลเมียนมาต้องคำนึงถึง เพราะนอกจากประชาชนยังถูกละเลย ในอนาคตจะไม่เหลือทรัพยากรบุคคลในประเทศที่จะมาช่วยพัฒนาให้ประเทศเติบโตมากกว่านี้

“ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ เมียนมาเองทุกระดับ ทุกภาคส่วน จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เราจะมุ่งเน้นตัวเลขเชิงเศรษฐกิจในขณะที่มีตัวเลขของประชาชนที่ล้มตายจริง ๆ หรือ ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากการสร้างระบบ และสร้างการพูดคุยให้เกิดการสะท้อนปัญหาอย่างตรงจุด นั่นคือทางรอดของเมียนมา”

ติดกับชายแดนประเทศเมียนมา บังกลาเทศ ก็กำลังเผชิญความไม่มั่นคงดังกล่าวเช่นกัน

“จริง ๆ แล้วมีการทำเกษตรกรรมเพิ่ม 73% แต่อากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เราไม่สามารถใช้พื้นที่ป่าได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ตามฤดูกาล ภูเขาไม่สามารถใช้งานได้ พื้นดินแห้งแล้งขึ้น”

ข้อค้นพบของ ดร.เคอร์ชิด อาลัม เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์จาก Bangladesh Agriculture Research Institute เขาอธิบายว่า บังกลาเทศจัดเป็นประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 โดยจะเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนตั้งแต่ 2010 โดยภูมิศาสตร์ของประเทศบังกลาเทศเป็นพื้นที่ราบ ซึ่งหากระดับน้ำทะเลลดต่ำลงก็อาจเกิดภัยแล้ง หรือหากน้ำทะเลเพิ่มสูงก็ต้องประสบกับภัยน้ำท่วม

จากการศึกษาของดร.เคอร์ชิดค้นพบว่า ในช่วงเวลาหนึ่งพันปีหลังมานี้ สภาพภูมิอากาศของโลกมีการผันแปรที่สูงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูง กระทั่งระดับน้ำทะเลที่ลดลง เรื่องนี้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อสภาพเกษตรกรรมของประเทศบังคลาเทศ

ดร.เคอร์ชิด ได้ศึกษาในแต่พื้นที่ของประเทศบังกลาเทศ ผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนในพื้นที่กว่า 60 คน แบ่งเป็นชาย 59% และหญิง 41% ส่วนใหญ่จะมีอายุ 41-60 ปี ที่ผ่านการศึกษาในระดับประถมศึกษาซะส่วนใหญ่ และไม่ได้รับการศึกษาเลยก็มีด้วยเช่นกัน ซึ่งผลการวิจัยก็พบว่าชาวบ้านหลายคนไม่เข้าใจประเด็น Climate Change มากนัก ซึ่งนั่นก็ส่งผลต่อการจัดการความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

“แค่อุณหภูมิสูงขึ้น 1 จุด ก็สร้างผลกระทบมากแล้ว”

ดร.เคอร์ชิดย้ำว่า บางทีไม่ใช่เพียงคนบังกลาเทศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มคนชาติพันธุ์หรือกลุ่มอาชีพที่หลากหลายก็ได้รับผลกระทบมากไม่แพ้กัน เช่น บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรกรรม น้ำท่วมดินสไลด์จนพืชผลทางการเกษตรถูกทำลาย กระทั่งอาชีพในบริเวณชายฝั่งทะเล ก็พบกับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนออกทะเลไม่ได้ บางพื้นที่ที่พบกับการระบาดของโรคต่าง ๆ เช่น โรคมาลาเลียหรือไข้ป่า กระทั่งโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงหรือพืชผลทางการเกษตร

ดร.เคอร์ชิดจึงเสนอว่า สิ่งที่จำเป็นคือการเพิ่มความรู้ในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกร (Smart Agriculture Practice) เพื่อให้เขาสามารถทำเกษตรกรรมเชิงอนุรักษ์ ในการรักษาหน้าดิน ลดการเสื่อมสภาพของดินที่เกิดจากการปลูกพืชบางชนิด กระทั่งการใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“เราจึงต้องมีทั้งการปลูกเหนือดิน ปลูกในน้ำ เรามีทั้งวิธีการปลูกแบบเก่าและแบบใหม่ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ”

โทมี ฮาร์ยาดี ผู้อำนวยการโครงการอาหาร ที่ดิน และน้ำ จากสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) อินโดนีเซีย เสริมในประเด็นเดียวกันว่า เวลาพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร นั่นหมายถึงปริมาณการผลิตที่เพียงพอ เป็นประโยชน์ และมีเพียงพอสำหรับทุกคน นั่นคือความหมายของความมั่นคงทางอาหาร

“เราใช้กองทุนชุมชนมาใช้ในการจัดการความมั่นคงอาหาร ใช้ความหลากหลายของท้องถิ่นเป็นอาหาร นั่นคือวิธีการหนึ่งที่อินโดนีเซียใช้”

โทมีอธิบายว่า ในเงื่อนไขทั้งสามอย่างนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างสมดุลในทุกกระบวนการของเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การดูแลผลิตภัณฑ์ กระทั่งมองไปถึงกรรมวิธีในการบรรจุภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพของสินค้า และการขนส่งสินค้าเหล่านั้นไปถึงมือของผู้บริโภคบนโต๊ะอาหาร แต่คำถามสำคัญก็คือ เราจะใช้อะไรเป็นตัววัดว่าสินค้าเหล่านั้นยั่งยืน ?

โทมีอธิบายว่า ความมั่นคงทางอาหารจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจของประเทศนั้น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงทางการเงินของเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต ว่าคนเหล่านั้นมีแรงจูงใจในการผลิตอาหารที่มากพอหรือไม่ เพราะสำหรับ Tomi แล้ว ความมั่นคงทางอาหารคือมันสามารถให้ประโยชน์ต่อทุกคนในวงจรการผลิต ไม่ว่าจะเป็นคนชาติพันธุ์ คนชายขอบ กระทั่งกลุ่มคนเปราะบาง

“เพราะการทำอาหารไม่ได้อยู่กับคนกลุ่มเดียว ทุกคนต้องเข้าถึงมันได้ และต้องใช้ศักยภาพของทรัพยากรให้ดี”

ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตเหล่านั้นก็ต้องไม่กระทบต่อภาพรวมของสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหารที่ผลิตคาร์บอนที่มากเกินไป ระบบปศุสัตว์ที่เต็มไปด้วยแก๊ส หรือพืชผลทำให้แหล่งน้ำเสียหายหรือแหล่งดินทรุดโทรมหรือไม่ กระทั่งการศึกษาขีดจำกัดของการผลิตอาหารของพืชทางการเกษตรต่าง ๆ

โทมีเสริมว่า ค่านิยมการบริโภคอาหารของกลุ่มคนหมู่มากก็เป็นปัญหาเช่นกัน เขายกตัวอย่างถึงจังหวัดปาปัว ในประเทศอินโดนีเซีย เขาเล่าว่าในพื้นที่ปาปัวนั้นมีเต้าหู้ ถั่วเหลือง เมล็ดสาคูค่อนข้างมาก ทว่าค่านิยมของคนในพื้นที่เน้นการบริโภค ‘ข้าว’ ที่หาได้ยากในพื้นที่ เพราะการบริโภคข้าวนั้นทำให้พวกเขารู้สึกทันสมัยหรือมีการศึกษา ทำให้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศหรือจังหวัดอื่นเยอะ ซึ่งส่งผลให้ต้องเสียค่าขนส่งที่มากขึ้นกว่า 4 เท่า (จากจาการ์ตาไปปาปัว) และนำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น ปัญหาขยะ หรือการขาดแคลนอาหารประเภทอื่น ๆ ในพื้นที่

โทมีจึงมองว่า การปรับพฤติกรรมการบริโภคของคนในแต่ละพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แม้การปรับค่านิยมการบริโภคจะยังเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ดี เราจำเป็นต้องทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนที่สุด โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถมีบทบาทในนโยบายได้มากเท่าที่ควร

ฉะนั้น Village Transfer Fund หรือกองทุนหมู่บ้านจึงเป็นโมเดลที่น่าสนใจสำหรับโทมี และสร้างเสริมให้ชุมชนมีบทบาทและอำนาจในการจัดการความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ของตน ส่งเสริมความหลากหลายของพืชพันธุ์ท้องถิ่น และอาจนำไปสู่นโยบายที่สร้างความมั่นคง ทางอาหารในระยะยาวได้

“การแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถแก้ไขได้โดยทันที มันจำเป็นจะต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือเป็น 10 ปี และใช้เวลามากกว่านั้นเพื่อแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่พังไปแล้ว”

จักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Tilt Collective เล่าถึงทางออกของผลกระทบจาก Climate Change ที่ส่งผลต่อทุกคนในโลก ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังมองว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากอุตสาหกรรมหนัก อย่างโรงงานต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริง อุตสาหกรรมผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ตลอดซัพพลายเชนนี้คือตัวการที่ยังไม่ถูกพูดถึงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมาก

จักรชัยอธิบายว่า คาร์บอนจากซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมนี้ถูกคิดเป็น 2 ใน 3 ของคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาทั่วโลก เพราะต้องอย่าลืมว่าในอุตสาหกรรมนี้ประกอบไปด้วย เครือข่ายขนาดใหญ่ ทั้งการขนส่ง การปศุสัตว์ การผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกกว่า 80% เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการเลี้ยงสัตว์ และจากอุตสาหกรรมทุกประเภททั่วโลก อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก็มีจำนวนมากถึง 15%

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ ก็มีต้นตอปัญหาใหญ่จากอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงสัตว์ แล้วลองนึกภาพว่าพื้นที่ทั่วโลก อีกหลายจุด กำลังสร้างมลพิษแบบนี้เช่นเดียวกัน เพื่อมาตอบสนองกับความต้องการของทุนที่มี เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เรากำลังมาถึงทางตันที่ต้องหาทางใช้ทรัพยากรอื่นเพื่อไม่ให้โลกถูกทำร้ายมากไปกว่านี้”

จักรชัยเล่าถึงมาตรการนโยบายเพื่อการลดโลกร้อนผ่านการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ด้วยการขึ้นภาษีสำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ในขณะเดียวกันมีมาตรการการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรต่อโลก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโปรตีนจากพืช กล่าวได้ว่า รัฐเองก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการลดคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรม

เขาเสริมอีกว่า เรามีธัญพืชอีกหลายอย่างที่สามารถใช้เป็นโปรตีนเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ได้ ในขณะที่เราได้โปรตีนมากขึ้น แต่ใช้ต้นทุนน้อยลง ใช้พื้นที่น้อยลง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เขาย้ำว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นทางเลือกสำหรับโลก แต่อาจเป็นทางรอดเมื่อวันนี้เราใกล้มาถึงทางตัน หรืออาจจะมาถึงตั้งนานแล้ว?

“จะดีกว่าไหม ถ้าเราหันมาสร้างทางรอดให้กับตัวเราเอง ทั้งในแง่สุขภาพ สารอาหาร ไปจนถึงเรายังช่วยรักษาโลกด้วยการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง เราต้องเริ่มบรรเทาให้โลกใบนี้ ป่วยน้อยลงเพื่อที่จะฟื้นโลกของเราให้ไม่แปรปรวนไปมากกว่าเดิม”