การเมืองเรื่อง 'ไฟ' - Decode
Reading Time: 3 minutes

ตามวรรณกรรมภูมิศาสตร์อัคคี สาขาวิชาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไฟ (Pyrogeography) นิยามไฟที่เกิดขึ้นในป่าแต่ละระบบนิเวศไว้ 3 ประเภท หนึ่งคือ Wild หรือไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความชัดเจนในพื้นที่และเวลา เกิดขึ้นน้อยแต่รุนแรงมาก สองคือ Tamed หรือไฟป่าที่มีมนุษย์คอยควบคุม เกิดขึ้นเป็นประจำและรุนแรงปานกลาง และสาม Domesticated ไฟตามขนบธรรมเนียมที่กินระยะเวลานาน แต่มีความรุนแรงต่ำ

ทว่านิยามของไฟได้เปลี่ยนไป จากไฟป่าที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและการตัดไม้ทำลายป่า (Old Fire Regime) สู่ไฟป่าที่เป็นผลมาจากภัยแล้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​ รวมถึงกิจกรรมทางเกษตรกรรมของมนุษย์ (New Fire Regime)

พิกัด 18° 48’ 2.00” N 98° 39’ 59.00” E

พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติของตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง

จอเรดาร์ฉายภาพบุคคลสวมหมวกและเสื้อแขนยาว เส้นกากบาทจากอากาศยานไร้คนขับกำลังชี้ไปเขา ขณะกำลังลำเลียงกิ่งไม้ที่เผาจนไหม้เป็นสีดำมากองไว้รวมกัน บุคคลดังกล่าวกำลังถูกสอดส่อง ท่ามกลางพาดหัวข่าวที่กระจายไปทั่วสังคม “เจอจะ ๆ มือเผา…”

ขณะที่เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมกำลังถูกจับจ้องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไฟนั้นกำลังกลายเป็นไฟไม่ดี ขยายผลมาสู่การเปลี่ยนนิยามของป่า-ไฟ และการจำกัดความรู้การจัดการไฟของคนพื้นเมือง ในขณะที่ชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมกำลังสืบสานไฟในนิยามของบรรพบุรุษ ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจนการกล่าวโทษ ‘ไฟนอกกฎหมาย’ ดูจะเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า

“…ชุมชนเขาอยากจะเป็นเจ้าของถิ่นที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่รัฐมาแย่งเอาสิทธิ อำนาจการบริหารไป อำนาจของพวกเขามันซ่อนไว้ในแต่ละโอกาสที่เป็นวิกฤตธรรมชาติ…” ชาวปกาเกอะญอคนหนึ่งเอ่ยขึ้นระหว่างเคาะไฮ่ในไร่หมุนเวียน

เชียงใหม่ คือจังหวัดที่พื้นที่กว่า 9.79 ล้านไร่เป็นป่า (จากพื้นที่ทั้งหมด 13.84 ล้านไร่) ในผืนป่านั้นแบ่งระบบนิเวศออกมาได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ป่าผลัดใบ (ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ) 7.04 ล้านไร่ และป่าไม่ผลัดใบ (ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าสนเขา) 2.76 ล้านไร่

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นแอ่งที่ราบสลับกับภูเขาสูง ที่ขวางกั้นความชื้นจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี (ฤดูแล้ง) เริ่มต้นจากตอนใต้ขึ้นไปสู่ตอนเหนือ ‘ไฟ’ จึงเริ่มลุกโชนขึ้นไปพร้อม ๆ กับที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณเริ่มผลัดใบ เริ่มจากโซนใต้ที่จะมีไฟในช่วงปลายเดือนธันวาคม ถัดมาเป็นโซนกลางในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ สุดท้ายคือโซนเหนือในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 

การผลัดใบของป่าสองประเภทนี้ ทำให้ผืนป่าเต็มไปด้วยใบไม้ที่ร่วงหล่นและสะสมอยู่จำนวนมาก อีกทั้งความชื้นที่ต่ำทำให้มีอัตราการย่อยสลายต่ำตามไปด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยทำแนวกันไฟ และทำการ ‘ชิงเผา’

“…พอห้ามเผาสองปี ก็ไม่เกิดไฟสองปี แต่เชื้อเพลิงสะสมเยอะ ปีที่สามไฟไหม้รุนแรง ต้นไม้ใหญ่ตาย การจัดการที่ดี คือ ต้องเผาทีละน้อย…”

ในอีกนัยหนึ่งเมื่อใบไม้หล่นลงสู่พื้นดิน มันจะถูกนิยามว่าเป็น ‘เชื้อเพลิง’ ที่จะทำให้เกิดไฟป่า ยิ่งใบไม้มาก เชื้อเพลิงยิ่งมาก ดังนั้นเมื่อชิงจุดไฟลงบนใบไม้แห้งเหล่านั้น ก็ย่อมหมายถึงการลดการสะสมของเชื้อเพลิงที่สะสมกันผ่านการผลัดใบของใบไม้ และลดความเสี่ยงการเกิดไฟป่ารุนแรงในช่วงปลายเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน หาใช่การเผาป่าแต่อย่างใด

วิธีการของมันก็คือ การจุดไฟให้ไหม้จากที่สูงลงมาสู่ที่ต่ำ (จากสันดอยถึงลำห้วย) การจุดแบบนี้จะทำให้ไฟลามช้าและกินพื้นที่ไม่กว้างนัก ช่วงเวลาของการเผาจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเที่ยงถึงบ่าย และเสร็จสิ้นการเผาในวันเดียวกัน นอกจากความชื้นของอากาศและน้ำค้างที่ช่วยให้ไฟดับลงไปเอง แนวกันไฟที่มีความกว้างประมาณ 5-8 เมตรก็จะช่วยสกัดกั้นไม่ให้ไฟลุกลามออกไป

ขณะเดียวกัน ไฟยังมีประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่สูง ไม่ว่าจะการเผาเพื่อเปิดทางเดินป่าสำหรับล่าสัตว์และเก็บของป่า การเผาเพื่อให้หญ้าแตกใบอ่อนสำหรับสัตว์ กระทั่งเผาใบไม้เพื่อสร้างแร่ธาตุให้กับดิน ‘การใช้ไฟ’ จึงเป็นหนึ่งภูมิปัญญาของคนบนพื้นที่สูงที่หากินอยู่กับป่ามาหลายชั่วอายุคน

ทว่าหลังจากการก่อตั้งกรมป่าไม้ในปีพ.ศ. 2439 ธุรกิจค้าไม้ก็ถือกำเนิดขึ้นภายในป่าไปพร้อมกัน ดังนั้นป่าจึงกลายมาเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและทรัพย์สินของรัฐ ในขณะที่ไฟก็กลายมาเป็น ‘ภัย’ ที่อาจมาคุกคามและทำลายทรัพย์สินของรัฐ

“มันเป็นความรู้เรื่องไฟที่ขัดแย้งกัน ระหว่างความรู้ที่มีอำนาจและความรู้ที่ถูกกดทับ ระหว่างการใช้ไฟกับไม่ใช้ไฟ ความรู้ใหม่คืออำนาจรัฐส่วนกลาง ความรู้ดั้งเดิมคือชุมชน…”

“ชาวบ้านอยากใช้ไฟ แต่รัฐอยากดับไฟ” ข้อถกเถียงดังกล่าวยังคงคัดง้างกันมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ชาวบ้านและคนชาติพันธุ์พยายามปกป้องป่าด้วยการสืบทอดวิถีของการใช้ไฟ รัฐส่วนกลางก็พยายามปกป้องป่าด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดไฟในทุกวิถีทาง ผ่านการสถาปนาหน่วยงานต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟป่าขึ้นมาในประเทศไทย แต่ผลพวงที่ไม่อาจปฏิเสธได้จากวิธีการของรัฐ คือ ไฟกับคนต้องออกมาจากป่า อย่างที่ถูกระบุไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้หลายมาตรา

เมื่อป่ากลายเป็นป่าการเมือง (Political Forest) ป่าจึงกลายเป็นแหล่งทรัพยากรที่ควรถูกอนุรักษ์ ผ่านอุดมการณ์ที่ถูกควบคุมรัฐส่วนกลาง และการสร้างอาณาเขตของการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง ดังนั้นไฟจากเกษตรกรรมตัวเล็ก ๆ หรือกลุ่มชาติพันธุ์จึงกลายเป็น ‘ไฟไม่ดี’ ไร้ความรับผิดชอบ เป็นองค์ความรู้ที่ล้าหลัง หรือเลวร้ายที่สุดคือเป็นอาชญากรรมที่ทำให้ผู้คนต้องตกอยู่ในอันตราย

ไฟนั้นร้อนแต่จับต้องไม่ได้ การเกิดขึ้นของไฟนั้นสลับซับซ้อนกว่าที่เห็น มีทั้งไฟที่เกิดจากธรรมชาติ ไฟที่เกิดจากการทำมาหากิน ไฟที่เกิดจากความริษยาอาฆาต กระทั่งไฟที่เกิดจากการแสดงสัญลักษณ์ ความไม่แน่นอนของไฟเหล่านี้ทำให้รัฐไม่สามารถดับไฟได้ตามความปรารถนา

การแทรกแซงเพื่อปกครองป่า ไฟ คนในแนวระนาบ (Horizontal Governance) เช่น แผนที่ อาณาเขต และการลาดตะเวนจึงไม่เพียงพออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องอาศัยการปกครองแนวตั้ง (Vertical Governance) ผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างภาพถ่ายดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ เปลี่ยนการ ‘ดับไฟ’ เป็นการ ‘จัดการไฟ’ ผ่านการนับค่าและดูพฤติกรรมของ จุดความร้อน (Hotspot) ว่านั้นเป็นไฟดีตามนิยามของรัฐหรือไม่

“เราไม่ได้เผาตามครรลองความรู้ตามลม ทางการบอกให้ทำตารางกำหนดวันเผา ต้องคำนวณว่าใครจะเผาวันไหน เมื่อไร ทำแบบราชการมันทำไม่ได้ เราเลือกวันเผาแบบนี้ไม่ได้ เราเลือกตามเหตุปัจจัย เช่น ฟ้าแบบนี้ ฝนตกจะดูดความชื้น เลยต้องเผาก่อน”

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้เก็บข้อมูลจุดความร้อนสะสมในจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปี 2561-2566 ในช่วงวันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคมของทุกปี และสามารถแยกย่อยจุดความร้อนได้ถึงระดับอำเภอ พบว่าจุดความร้อนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี และพบมากที่สุดในอำเภอโซนเหนือ

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจำแนกตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดเชียงใหม่ กลับพบว่าจุดความร้อนกว่า 90% พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ที่มีอำนาจรัฐปกครองอยู่

แม้วาทกรรมและมาตรการของรัฐจะพัฒนามาหลายทศวรรษ แต่ไฟที่ติดมีมากกว่าไฟที่ดับ และผู้ที่ได้รับกระทบมากที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน คือเหล่าชาวบ้านและผู้ที่อาศัยบนพื้นที่สูงที่ถูกรัฐไทยพยายามดับไฟแห่งชีวิต ถูกจำกัดสิทธิ รายได้ และความมั่นคงทางอาหาร แม้พวกเขาจะเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ในการเมืองของไฟก็ตาม 

“แนวทางการห้ามเผาโดยเด็ดขาดพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถเป็นไปได้จริง เพราะยังมีการลักลอบจุดไฟทั้งแบบหลบและไม่หลบดาวเทียม เกิดการลุกลามแบบไร้การควบคุม ดังสถิติย้อนหลังที่มีการใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2550” – องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

จากห้ามเผาสู่ ‘ให้เผา’ เชียงใหม่เริ่มต้นบทที่ 2 ของแนวทางการจัดการปัญหาไฟป่า-หมอกควัน หลังจากบังคับใช้มาตรการห้ามเผาในที่โล่ง (Zero Burning) เชียงใหม่นำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ FireD (ไฟดี) ในปลายปี 2563

ไฟดี เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจให้เผา (Decision Support System) โดยให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือสูงกว่าตัดสินใจผ่านระบบฉันทามติจากคณะกรรมการ เพื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติกิจกรรมการเผาของผู้ขออนุมัติ ภายใต้เงื่อนไขคุณภาพอากาศที่ดี ไม่มีฝุ่นละออง PM2.5 สะสมเกินมาตรฐาน ดัชนีการระบายอากาศ ระดับความเข้มข้นค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก และจุดความร้อน

“ตอนนี้ไฟที่อนุญาต คือ ไฟในครัวเรือน ที่ไม่อนุญาต คือ ไม่ให้ผิงไฟ ไม่ให้เผาในที่โล่ง เผาไร่ไฟสวน แต่เขาไม่ได้มาตรวจตลอด ทางการแค่ต้องให้เรารู้สึกว่าออกระเบียบจริง แต่เป็นระเบียบแบบหลอก คือ ถ้าเจอแล้วว่าผิดจริง ก็แปลว่ากฎหมายมันเป็นจริง…” ชาวปกาเกอะญอในอำเภอสะเมิงสะท้อนถึงนโยบายที่ไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนในระดับพื้นที่  

“ระบบ FireD เป็นแค่แผนให้ลงชื่อ มีรายชื่อให้เราลงทะเบียนแค่ 20 คน แต่เราใช้ระบบจิตอาสา ไปกันทั้งหมู่บ้าน เด็ก ผู้ใหญ่ มีเป็นร้อยคน มันลงทะเบียนรายชื่อไม่พอ” ชาวปกาเกอะญอในอำเภอสะเมิงสะท้อนถึงนโยบายที่ผลักให้การจัดการไฟเป็นเรื่องของปัจเจก มากกว่าเป็นความรับผิดชอบระดับชุมชน

“ทางการบอกว่า ถ้าจะเผาสองรอบ ก็ต้องขอไฟดีสองรอบ ทางเราบอกว่ามันเป็นการเคาะไฮ่ (เผาซากไม้จากการเผาไหม้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ) นะ ไม่ใช่เผา แต่พอเจ้าหน้าที่บอกว่า แต่คุณใช้ไฟนะ ก็จบ ไม่มีการเถียง…” ชาวปกาเกอะญอในอำเภอสะเมิงสะท้อนถึงความซับซ้อนของการทำไร่หมุนเวียนที่ส่งผลต่อการจัดการไฟของรัฐ

“เวลาเลื่อน เขาก็ไม่มีกำหนดการว่าเลื่อนกี่วัน พอเลื่อนออกไป ฝนมาพอดี เชื้อเพลิงในไร่เกษตรก็เผาไม่ได้ ไหม้ไม่ดี หยอดข้าวไม่ได้ มันขึ้นเป็นหย่อม ๆ ก็ต้องใช้สารเคมีเพิ่ม ถ้าไหม้ดีก็มีแร่ มีเถ้าถ่านให้กับดิน” ชาวปกาเกอะญอในอำเภอจอมทองสะท้อนถึงนโยบายรัฐที่ไม่สอดรับกับวิถีของคนในพื้นที่

“ช่วงเดือนก่อนมีรายงาน hotspot ขึ้นเหนือโรงเรียน ห่างไปสัก 1-2 กิโลเมตร แต่หาไม่เจอเพราะฝนตก แล้วตรงนั้นมันเป็นแม่น้ำ ไม่น่าจะมีไฟจุดได้ เจ้าหน้าที่บอกกับพวกเราว่า ให้มันจบ ๆ ไป ให้รับเสีย” ตัวแทนชาวบ้านอำเภอสะเมิงสะท้อนถึงจุดความร้อนที่เป็นเพียงเช็กลิสต์คนทำผิด มากกว่าใช้มันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี การโต้กลับของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนดั้งเดิมเพื่อช่วงชิงความหมายของไฟก็เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น และการจุดไฟก็กลายเป็นหนึ่งในยุทธวิธีในการแสดงออกเช่นเดียวกัน อาทิ ไฟริษยา หรือไฟที่เกิดจากความไม่พอใจแนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือการถูกปฏิเสธจากการขออนุมัติตามระบบของรัฐนั่นเอง

คำร้องขอบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบ FireD

ปี2565
(1 ม.ค. – 30 เม.ย.)
2566
(1 ม.ค. – 30 เม.ย.)
2567
(1 ม.ค. – 30 เม.ย.)
คำร้องขออนุมัติ268,374 ไร่
(10,853 รายการ)
231,813 ไร่
(7,489 รายการ)
222,427 ไร่
(5,789 รายการ)
อนุมัติดำเนินการ217,406 ไร่
(81%)
118,514 ไร่
(51%)
33,717 ไร่
(15%)

นี่ไม่ใช่เพียงตัวเลขคงค้างในระบบ แต่เป็นคนหลายพันชีวิตที่ยังไม่สามารถใช้ไฟและป่าหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างที่เคยเป็น และอาจเป็นการตอกย้ำถึงโครงการการพัฒนาของรัฐที่ไม่เท่าเทียม ไม่เท่าเทียมทั้งในระดับพื้นที่ เช่น พื้นที่สูงกับพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ป่ากับพื้นที่เมือง ขณะเดียวกันก็ทำให้คนเหล่านี้ถอยคืนสู่อดีตที่ไม่อาจก้าวถึงความเป็นธรรมในที่ดินทำกิน

ดังนั้น ไฟที่กำลังร้อนแรงที่สุดอาจไม่ใช่ไฟในเชิงกายภาพ แต่เป็นไฟแห่งอุดมการณ์ของผู้ด้อยอำนาจที่ต้องยืนหยัดเพื่อสิทธิในที่ดินทำกินและการได้รับการคุ้มครอง ทว่าอุดมการณ์ของผู้ที่มีอำนาจก็ยังคงสวนทาง ดั่งที่เราเห็นได้จากการคว่ำมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ขับเคลื่อนกันมาตลอด 15 ปี

เมื่อหัวใจสำคัญที่เห็นร่วมกันจนเป็นฉันทามติถูกปัดทิ้ง การช่วงชิงนิยามของป่าและไฟ ก็คงยังต่อรองกันต่อไป

จากปากคำของชาวบ้านและคนชาติพันธุ์ที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านหนังสือ “ความไม่แน่นอนและการเมืองของปัญหาไฟป่า-หมอกควัน” ของ ชยา วรรธนะภูติ ได้ให้ทัศนะใหม่ว่า การนับจุดความร้อนผ่านเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของสังคมไทยอย่าง FireD อาจเป็นเปลี่ยนนิยามของไฟใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นจุดความร้อนสีแดงที่ต้องถูกกำจัดออกไปจากสังคมไทย

และใครก็ตามที่เป็นผู้สร้างจุดความร้อนนั้นก็จะต้องกลายเป็น ‘อาชญากร’ ที่ทำให้ประชากรไทยทั่วประเทศต้องดมฝุ่นพิษ โดยที่ภายใต้จุดความร้อนสีแดงนั้นอาจเป็นพ่อที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกมีกิน หรือเด็กหญิงวัยรุ่นที่กำลังยืนหยัดและต่อสู้เพื่อสิทธิทำกินของตนเองก็ตาม

“สิ่งที่ยังถูกปกปิดไว้ภายใต้ข้อมูลกราฟและแผนที่จุดความร้อน…คือปัญหาที่ยังสะสางไม่ได้อันยาวนานนับร้อยปีของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม ผ่านการจัดการทรัพยากรป่าไม้และคนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และจึงตอกย้ำการต่อรองและช่วงชิงวาทกรรมเรื่องสิทธิการใช้ ไฟ สิทธิอากาศสะอาด ระหว่างพื้นที่ชนบทกับเมือง ชาวบ้านกับรัฐ คนพื้นที่สูงกับคนพื้นที่ราบ” – ชยา วรรธนะภูติ 

Playread: ความไม่แน่นอนและการเมืองของปัญหาไฟป่า-หมอกควัน กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2565-2567
ผู้เขียน: ชยา วรรธนะภูติ
จัดพิมพ์: โครงการวิจัย “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส)”

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี