หมอนทองมีค่ามากกว่าทอง เหมืองนี้...ไม่มีใคร (อยาก) ครอง - Decode
Reading Time: 4 minutes

ถ้าเหมืองมันเกิด มีหลุมขนาดใหญ่ มีเสียงระเบิดวันละ 2 ครั้ง ฝุ่นฟุ้งกระจาย น้ำใช้ไม่ได้ พืชพรรณอาบไปด้วยฝุ่นจากเหมือง หายใจก็เปื้อนฝุ่นละออง มีพวกโลหะหนักในอากาศ

“มันอยู่ไม่ได้”

ความจริงที่ถูกนำมาจินตนาการ ถ้าบ้านเราต้องเจอแบบนี้ เราจะอยู่อย่างไร

ไม่นานมานี้ถ้าคุณชอบติดตามข่าว คงได้เห็นข่าวการต่อต้านเหมืองของคนจันทบุรีที่ออกกันมาทั้งจังหวัด แต่สำหรับคนที่ยังไม่เห็น คนจันท์อยากให้มันเสียงดังกว่าที่เป็น เพราะการออกมาของประชาชนแบบนี้ไม่ได้เกิดบ่อยนัก พวกเขามีเสียงเดียวกันว่าต้องการคงทรัพยากรดั้งเดิมเพื่อใช้มันหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ใช่เอามันไปแลกกับเหมืองที่อ้างว่าจะนำความเจริญมาให้

รายชื่อ 160,000 รายชื่อถูกรวบรวมในเวลาอันสั้น หลังประชาชนเห็นประกาศว่าพวกเขามีเวลา 30 วันที่จะคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำ จำนวนและการเคลื่อนไหวเป็นที่ชัดเจนในเจตจำนงว่า “ไม่เอาเหมืองทอง” แต่นั่นก็ไม่อาจยืนยันและการันตีได้ว่าเหมืองจะไม่เกิด การต่อสู้ของประชาชนต้องเดินทางต่อ พวกเขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องรัฐ “หยุด” ดันเหมืองให้นายทุน แต่จนถึงวันนี้ ข่าวคราวยังเงียบอยู่

De/code เดินทางเยี่ยมบ้านหนึ่งในแกนนำที่ลุกขึ้นมาค้านเหมืองทำทองคำ ราว ๆ 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร เราใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 3 พาเราไปเจอกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่ยังคุณค่า และมูลค่ามากกว่าทองคำชั้นใต้ดิน

01: สุขุมวิทหมายเลข 3

ทันทีที่รถตู้เคลื่อนเลี้ยวซ้ายที่แยกวังจันทร์ จ.ระยอง สองข้างทางค่อย ๆ เปลี่ยนฉากจากตึกรามบ้านช่องเป็นต้นไม้สีเขียวชุ่ม อากาศเย็นลงนิดหน่อย ความสดชื่นที่พื้นที่นี้มอบให้ เราสัมผัสมันได้จริง ๆ นั่งรถเพลิน ๆ ไม่ถึง 30 นาทีเราถึงบ้านของพี่ญา-กัญญา ดุชิตา คนแก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีแก๊งค์หมา ๆ และแมวคอยต้อนรับหน้าบ้านก่อนเจ้าตัว

บ้านสองชั้นสไตล์ธรรมดา ๆ ของครอบครัวพี่ญาอยู่ในซอกซอยที่โอบล้อมไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด พี่ญา และพ่อของเธอบอกว่านี่คือ “วิถีวนเกษตรกร” ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักที่กินได้ ถูกปลูกและเลี้ยงดูมานานหลักสิบปีอย่างพึ่งพากันและกัน

พื้นที่ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรีที่พี่ญาอยู่เป็นเหมือนหม้อข้าวเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ความหมายไม่ได้ซับซ้อนในรูปแบบธุรกิจอะไร แต่มันคือความหมายตรง ๆ ที่ว่ารอบ ๆ บ้านของพี่ญา ถ้าอยากเด็ดผักไหนมาผัดกิน มาต้มกินก็เดินไปเอามาได้เลย มีบางส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ “หม้อข้าวหม้อนี้” อาจต้องหายไปเพราะ “เหมือง” กำลังมา…อีกแล้ว

พี่ญาเป็นหนึ่งในแกนนำแถวหน้าคัดค้านการเข้ามาของสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ อ.แก่งหางแมวของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง (บริษัทลูกของ บ.อัครา รีซอร์สเซส) ครั้งล่าสุด เธอไม่ใช่แค่แกนนำ แต่เป็นหนึ่งในผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเหมืองเริ่มดำเนินการ

“โอเค…ไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน แต่มีสิทธิ์ทำกินในพื้นที่ ก็พออยู่ได้ ไม่ถูกไล่ก็ไม่เป็นไร มีช้างมารบกวน โอเค มันไม่ใช่ทุกวัน มันอยู่ได้ ก็หมุนเวียนกันไป พืชบางชนิดฟื้นตัวได้ บางชนิดราคาไม่แพง…พอทน ถามว่าอยากทนไหมก็ไม่ได้อยากสูญเสียอะไร เราว่ามันยังหลีกเลี่ยงได้ แต่เหมืองเนี่ย มันอยู่กับน้ำ อยู่กับดิน อยู่กับผักหญ้าอาหาร อยู่กับลมหายใจ…มันหนีไม่ได้”

ก่อนหน้านี้ 27 สิงหาคม 2563 อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีได้ปิดประกาศการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ตามคำขอที่ 8/2549 กับ 9/2549 เนื้อที่ 14,650-0-0 ไร่ รวม 2 แปลง ใน ต.พวา-สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี จากนั้น วันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ชาวจังหวัดจันทบุรีลุกขึ้นมาต่อต้าน คัดค้านทั้งจากชุมชนเรื่อยไปจนไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน รวบรวมรายชื่อคัดค้านได้กว่า 160,000 ราย ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2563 คนจันท์ราว 500 คนเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นเรื่องขอให้ยุติการให้อาชญาบัตรพิเศษแก่บริษัทฯ

02: ถนนของเหมืองทองคำ…คนจันท์ได้แต่ใดมา

การเข้ามาขอสำรวจแร่ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เหมืองเข้ามา เมื่อปี 2558 พี่ญาเล่าให้ฟังว่าตอนนั้น มีกลุ่มชาวบ้านรู้เรื่องไม่มาก ไม่รู้ว่าแม้กระทั่ง “เหมืองคืออะไร”

“คำว่าเหมืองมันต้องใช้พื้นที่ มันต้องใหญ่ ตอนไปเห็นเหมืองครั้งแรกคือหลุมใหญ่มาก กากหินกองเป็นภูเขา ทุกอย่างมันมโหฬาร ไปคุยกับชาวบ้านว่าอยู่อย่างไร สุขภาพเขาก็แย่มีปัญหา มีพวกกล้ามเนื้ออ่อนแรง ระดับสารเคมีในเลือดเกินมาตรฐานทุกคน พืชผักกินไม่ได้ ต่อให้อยากปลูกผักกินเองก็กินไม่ได้ เพราะมันมีระเบิดหินเหมืองทุกวัน เช้า-เย็น แล้วฝุ่นก็ฟุ้งกระจาย ฝุ่นเกาะตามใบไม้ แหล่งน้ำก็ปนเปื้อนอีก เราเจอวิถีชีวิตที่มันแบบ (เงียบไป) มันอยู่ยาก ไม่สิ มันอยู่ไม่ได้”

“ทิวา แตงอ่อน” แกนนำนักปกป้องสิ่งแวดล้อม เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก อีกหนึ่งแกนนำเล่าให้ฟังว่า เมืองจันทบุรีเป็นเป้าหมายของการขุดทองมาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว ตอนนั้นบริษัททำเหมืองเข้ามาขออาชญาบัตรพิเศษครั้งแรก มีอายุการสำรวจนาน 5 ปี (2549-2553) ซึ่งสำรวจเสร็จไปแล้ว และรู้ว่า “ทองอยู่ตรงไหนบ้าง”

“เขามาขออาชญาบัตรพิเศษ ซึ่งต่างจากธรรมดา ธรรรมดามีอายุ 1-2 ปี ถ้าเจอแร่ ต้องไปติดต่อ ไปประมูล แต่พิเศษคือเขาจะต้องเสนอผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้รัฐ เป็นการผูกขาด สำรวจแล้วเจอก็ได้ประทานบัตรเลย โครงการนี้รัฐเคยให้อาชญาบัตรพิเศษเมื่อปี 2558 เนื้อที่ 12 จังหวัด 1.6 ล้านไร่ในภาคตะวันออก คือ จันทบุรี 100,000 ไร่ ระยอง 130,000 ไร่ สระแก้ว 30,000 ไร่ ตอนนั้นคนรวมตัวกัน 12 จังหวัดต่อสู้ ต่อมานายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 (คำสั่งที่ 72/2559) ปิดเหมืองทอง ผ่านมาแล้ว 3 ปีเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ อาชญาบัตรก็หยุดไปด้วย แต่วันนี้เป็นภาค 2 กลับมาอีก”

“ทำไมมันกลับมาอีก”
“คิดว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังไม่ชัด อาจมีการต่อรองกันต่อได้ว่าถ้ารัฐไม่อยากจ่ายค่าเสียหาย 2-3 หมื่นล้าน จากการปิดเหมือง มันเป็นการบีบรัฐบาล แต่ครั้งนี้ชาวบ้านไม่ยอม ผลกระทบที่จ.เลย จ.พิจิตร มันชัดเจนมากเพราะมีคนบาดเจ็บล้มตาย”

พี่ทิวาไล่เรียงอีกว่า #หากเหมืองเกิด พื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.พวา และต.สองพี่น้อง รวมทั้งหมด 22 หมู่บ้าน จะได้รับผลกระทบ พี่ญาก็อยู่ในนี้ด้วย แต่สิ่งที่กระทบกระเทือนมากกว่านั้นมันไม่ได้กินพื้นที่แค่ 22 หมู่บ้านเท่านั้น แต่มันกินวงกว้างขวางมากกว่านั้น เพราะอะไร พี่ทิวาเล่าให้ฟังแบบนี้


เพราะที่นี่…เป็นปอด มีป่าผืนใหญ่ที่สุดในตะวันออก 1.2 ล้านไร่
เป็นแหล่งน้ำ เป็นต้นน้ำส่งต่อให้คนจันท์ทั่วพื้นที่ มีน้ำมากถึงปีละ 1-1,200 ล้านลบ.ม.
เป็นตลาดผลิตผลไม้แห่งใหญ่ของจังหวัด และประเทศ
เป็นที่อยู่ของช้างหลายร้อยเชือก
เป็นแหล่งน้ำเพื่อส่งต่อไปยัง EEC


พื้นที่ป่า 14,650 ไร่ในเฟสแรก จะสูญเสียไปสำหรับการเหมือง ความกังวลไม่ใช่เพียงแค่เรื่องพื้นที่ป่าที่ต้องหายไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งที่ “หลงเหลือ” และ ”ตกค้าง” จากกระบวนการทำเหมืองด้วย ตั้งแต่การเปิดหน้าดิน การระเบิดภูเขา และการชะล้างสารเคมีในขั้นตอนการทำ พี่ทิวาเปรียบเทียบมันเหมือน “ตายผ่อนส่ง

“กระบวนการทำเหมืองต้องใช้สารเคมีหลายสิบชนิดเพื่อแต่งแร่ ถ้ามีฝนตกลงมาก็จะมีน้ำชะสารต่าง ๆ ลงแม่น้ำลำคลอง ลุ่มน้ำที่เราทำอยู่ตรงนี้ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน รวมถึง EEC ด้วย ที่สำคัญ คือ ‘น้ำใต้ดิน’ ในใต้ดินจะต้องมีการทำบ่อกักเก็บหางแร่ บ่อนี้จะต้องตั้งอยู่ตรงนี้ตลอดไปใช้พื้นที่ 500 ไร่บ้าง พันไร่บ้าง ระยะสัมปทาน 25-30 ปีหมดไป แต่บ่อนี้ต้องอยู่ต่อ มันเหมือนมีระเบิดเวลาอยู่ที่หัวเรา ระบบน้ำใต้ดินบ่อกักเก็บนี้จะซึมลงสู่ระบบน้ำบาดาลไปได้แค่ไหน อันนี้คือสิ่งที่เรากังวล”

03: คนจันท์เอาหมอนทอง ไม่เอาเหมืองทองคำ

“ชาวบ้านไม่เอาทั้งจังหวัด” พี่ทิวาเปรียบเทียบความร่ำรวยในทรัพยากรที่หากินได้ไม่หมดของคนจันท์แบบนี้

“ทองคำใต้ดิน” จากบทเรียนพิจิตร เราได้ค่าภาคหลวงปีละ 500-1,000 ล้านบาท ส่วนที่จันทบุรี “ทองคำบนดิน” ปีละหลายหมื่นล้าน ประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท

“ชาวบ้านได้ประโยชน์ทุกคน มันเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ทุเรียนขายได้โลละ 100 กว่าบาท ตันละล้านกว่าบาท บางคนขายได้ 2 ล้าน บางครอบครัวได้กำไร 2.2 ล้านบาท น้ำเป็นปัจจัยในการปลูก ถ้าน้ำปนเปื้อนถูกทำลายมันก็ทำไม่ได้ ทำสวนแบบนี้เราได้ทุกครัวเรือน ไม่ต้องเสียที่ดิน ไม่ต้องทำลายภูเขา และสร้างรายได้นี้ตลอดไป”

“เหมืองมาฟ้าคลุกฝุ่น” คำพูดจากใจของ อนุ รัตนเกตุ ชาวจันทบุรี เขาบอกว่าฝุ่นเหล่านี้ไม่ได้ลอยไปดวงจันทร์ไปดาวอังคาร แต่ลอยมาตกในพื้นที่เขา และประชาชน ตกลงแหล่งน้ำ ดิน และหญ้า ตอนนี้แก่งหางแมวเพิ่งสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่และ EEC ด้วย ก็ยิ่งต้องกังวลเพราะสวนใต้จุดที่จะทำเหมืองทั้งหมด หากมีสารเคมีรั่วจะเสียหายหนัก โดยเฉพาะชื่อเสียงและอาชีพของประชาชนในฐานะที่เป็นจังหวัดเมืองผลไม้ระดับประเทศ

ทุเรียน เงาะ ลองกอง ผลไม้ใครจะซื้อเรา”

อนุและเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่เริ่มหันมาทำสวนผลไม้มากขึ้นหลังจากมีอ่างเก็บน้ำ ก่อนหน้านี้เน้นทำพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งก็เป็นโครงการของรัฐ รัฐเขาบอกให้รวมตัวกันเมื่อยางพาราราคาตก ตอนนั้นรัฐบาลเองก็มีโครงการผ่าน ธกส.มาให้กู้บ้านละ 1 แสนบาท เพื่อทำสวน

“แล้วอยู่ดี ๆ รัฐบาลจะเอาเหมืองมา”

“คนแก่งหางแมวเราทำของเราอยู่แล้ว มีสวนทุกเรียน แต่ละบ้านได้เงินปีละหลายล้านบาท มียางขายบ้างแม้ราคาจะถูกก็ตาม แต่เราไม่ถึงกับจน และเราก็ไม่ได้อยากรวย ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้าง แม้แต่เราเองก็ส่งลูกเรียนจบปริญญากันหมด แล้วเขาก็กลับมาพัฒนาพื้นที่ตัวเอง ที่นี่มีทองบนดินอยู่แล้ว เราอุดมสมบูรณ์มาก ดินที่อื่นปลูกทุเรียน 7 ปี ส่วนเรา 3 ปี”

“มันแย่มากกับการคิดของผู้นำ เราคงสู้กันจนสุด เราจะไม่ยอม เพราะทองของเราอยู่บนดิน ไม่ใช่ที่เหมือง ผลไม้ใครจะซื้อเรา ทุเรียน เงาะ ลองกอง ใครจะซื้อ”

-อนุ รัตนเกตุ-

“ถ้าสร้างงาน สร้างความเจริญก็ดี แต่มันสร้างให้คนกลุ่มไหนล่ะ ไม่ได้สร้างให้เกษตรกร มาหลอกยังไงก็ไม่ยอม
ต้องต่อต้าน”

 -ประทีป กล้าหาญ- 

“ข้ออ้างความเจริญ คิดว่าเราไม่ได้เจริญเท่าเขา พื้นที่เราไม่ได้ประโยชน์จากเหมือง สวนต้องการน้ำ ถ้าน้ำมีพิษจะทำอย่างไร”

-นาถยา ประเสริฐพรหม-


04: คุณค่าและมูลค่าแบบไหนที่คนจันท์อยากคู่ควร?

เราคุยกับพี่ญาเกือบเที่ยงวัน พี่ญาชวนเดินไปดูป่าหลังบ้าน ชี้สมุนไพรให้ดู ชี้ต้นที่ถูกช้างล้มไป แปลงผักหญ้าที่ดูไม่เป็นแปลงจริงจัง ออกจะสะเปะสะปะ แต่นั่นคือ “องค์ความรู้” การทำวนเกษตรที่ธรรมชาติจัดสรร และดูแลกันเองเป็นส่วนใหญ่ระหว่างเดินดูต้นนั้นต้นนี้ มือของญาก็เด็ดผักมาเรื่อย ๆ กลับมาที่บ้าน ตั้งเตา ตั้งกะทะทำกับข้าวให้เรากิน

ระหว่างตักกับข้าว เรารู้เพิ่มว่า พี่ญาเป็นหนึ่งในคนที่เคยไปใช้ชีวิตในเมือง แต่นั่นไม่ใช่คำตอบของความฝันที่อยากทำเกษตร เราไม่ได้กำลังทำให้การกลับบ้านเพื่อทำเกษตรของพี่ญาโรแมนติก แต่เรากำลังบอกว่า พี่ญาเลือกมีชีวิตแบบนี้เพราะความรักและหลงใหลในวิถีแบบนี้จริง ๆ เมื่อเลือกเส้นทางนี้ พี่ญาก็เลือกที่จะรักษาพื้นที่นี้ด้วย

จริงอยู่ที่ว่าชีวิตกับผักหญ้าหลังบ้านไม่ได้มีมูลค่าเป็นตัวเงิน แต่มันคือคุณค่า และมูลค่าในทางอื่น ที่สำคัญคือความหลากหลายทางพืชพันธุ์ และพันธุกรรมพืช ข้ออ้าง หรือเหตุผลด้านความเจริญไม่สามารถจูงใจให้พี่ญา และเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ มาคล้อยตามเห็นด้วยกับการทำเหมืองได้

“โอเคบอกว่ามองมันแพง มูลค่าสูง แล้วประเทศชาติเราล่ะ ได้เท่าไหร่ แล้วมันคุ้มค่าไหมกับชุมชน สิ่งแวดล้อมที่มันเสียไป ไม่รู้พูดเข้าข้างตัวเองไปไหม แต่สำหรับเราวิถีชีวิตมันมีคุณค่า และมันสำคัญกว่า ถ้ารัฐเลือกให้สัมปทาน ความคุ้มค่าวัดอย่างไร ไม่มีความไว้วางใจเลยว่าถ้าทำเหมืองไปแล้ว รายได้จากเหมืองจะเป็นอย่างไรต่อ ให้ประชาชนเท่าไหร่ จะฟื้นฟูให้ดีเหมือนเดิมอย่างไร ทุกเหมืองมันใช้ค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเอามาดูแลคน มาดูแลสิ่งแวดล้อม เอามาเยียวยา อันนี้มันไม่ใช่ต้นทุนเหรอ”

พี่ญาเคยใจชื้นมาช่วงที่รัฐบาลใช้ ม.44 ระงับการทำเหมือง แต่สุดท้ายก็รู้ว่า “ระงับ ไม่ได้แปลว่าหยุด” การลุกขึ้นมาอย่างจริงจังอีกครั้งในวันนี้ จึงเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น เพราะรู้สึกว่า “บ้านกำลังถูกรุกล้ำ” และการสู้ก็เพื่อยืนยันว่า ถ้าที่นี่หยุดได้ ที่อื่นก็หยุดได้

“ถ้าเราโดน เขา (พื้นที่ที่จะทำเหมืองจังหวัดอื่น) ก็โดนด้วย ถ้าที่นี่เกิดได้ ที่อื่นก็เกิดได้ ในวันที่รวมกัน ระยองก็ช่วย ชลบุรีก็ต้องช่วย ถ้าจันท์หยุดได้ มันก็อ้างอิงได้ว่าเพราะพลังของประชาชน ถ้าที่นี่ได้ ไม่มีใครหยุดยั้ง ที่นั่นก็อาจเป็นรายต่อไป ก็ลุกขึ้นมาเป็นก้าวแรก”

ก้าวแรกของพี่ญา พี่ทิวา และคนจันท์ ด้วยเสียงยืนยัน 160,000 รายชื่อ บวกกับความตื่นตัวของคนท้องถิ่นที่จริงจังว่าไม่เอาด้วย ข้อมูลการทำสร้างเหมือง ผลกระทบ ข่าวคราวถูกอัพเดทส่งต่อ ๆ กันในกลุ่มแชท แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้ทั้งพี่ญา และพี่ทิวาเองก็ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็น “เครื่องมือ” ที่ดีพอจะหยุดการเดินหน้าเหมืองได้หรือไม่ เพราะอย่างที่ทราบว่าพื้นที่ที่ถูกปักทำเหมืองเป็นป่าสงวน สิทธิ์การเรียกร้อง และเจ้าของในที่ดินผืนนี้ ประชาชนไม่ใช่มือสุดท้ายที่จะตัดสินใจ

“เราคาดหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น (หัวเราะ) ด้วยความเป็นพื้นที่ป่าสงวนแล้วเราจะไปเรียกร้องอะไร คุณจะไปขัดขวางเขาทำไม คนในพื้นที่จะได้ค่าเวนคืน คนในชุมชนจะได้รายได้ในเหมือง คนจะได้มีรายได้มีงานนะ มีภาษีเข้าสู่พื้นที่นะ มันคุ้มกันเหรอ”

ส่วนพี่ทิวาบอกว่า “การต่อสู้จริง ๆ ด้วยการยื่นเอกสารคัดค้านนั้น ‘ไม่เคยพอ และไม่เคยฟัง’ พลังของประชาชนเท่านั้นที่จะยุติเรื่องนี้ได้ ซึ่งครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่น่าดีใจของจังหวัด คนทั้งจังหวัดคัดค้านกันหมด”

แต่หลายครั้ง แม้พลังถูกรวบกันได้ แต่ใครที่ออกมาต่อต้าน เปิดหน้าสู้ทุน หรือขัดแย้งก็มักจะเจอการคุกคาม หรือเฝ้าติดตามในทางใดทางหนึ่งซึ่งกระทบต่อขบวนการคัดค้าน

“อยู่ในทีมปี 2558 เคยถูกคุกคามบ้าง เช่น มีตำรวจมาเฝ้า สอบถามข้อมูล มาถ่ายภาพ ก็ไม่ได้กลัวอะไรมาก มันมีผลต่อความเชื่อมั่นว่าจะมากับเราไหม ร่วมขบวนกับเราไหม เพราะทีมแกนนำตำรวจตามแล้วนะ จะโดนอะไรเหรือเปล่า คนที่จะทำอะไรร่วมกับเราก็กลัว เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรล้ำเส้น เพราะทำตามสิทธิ์กฎหมาย แต่กับทุนก็จะมีเรื่องของทุนในการฟ้องปิดปาก” พี่ญาเล่าให้ฟัง

“การต่อสู้ที่ผ่านมาของประชาชน ประชาชนเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่แล้วในทุกกรณี”

พี่ญาบอกว่า สายป่านของชาวบ้านเพื่อเรียกร้องไม่ได้ยาว การต่อสู้จึงไม่ควรนาน หรือรุนแรงเพราะจะตัดกำลังประชาชน

“เขาจะต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อไปต่อสู้ การงาน รายได้ ครอบครัว คือต้องวาง ขณะที่รัฐก็ทำตามกระบวนการ รับเรื่องมา ก็ทำตามหน้าที่กระบวนการ ถ้าทุนต้องทำอะไร รัฐอยากได้อะไรก็เรียกร้องให้เขาทำให้ รายได้ สวัสดิการได้อย่างต่อเนื่อง แต่ชาวบ้านต้องไปทั้งตัว และชีวิต

เราเลยต้องเห็นประชาชนแพ้หลายครั้ง คนไปต่อไม่ไหวก็ออกจากขบวนไป คนที่ไปต่อก็จะเผชิญกับความเสี่ยง แต่ที่นี้การต่อสู้มันต้องเชื่อว่าอะไรมีคุณค่า เราก็ต้องปกป้องมันก็แค่นั้น มันเป็นบ้านของเรา”

หลังจากที่ตัวแทนคนจันท์เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือให้ส่วนกลาง และขีดเส้นใต้รัฐให้คำตอบประชาชนว่าจะหยุดการขออาชญาบัตรพิเศษได้หรือไม่ เรายังไม่เห็นข่าวความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้เท่าไหร่นัก

ไม่ใช่แค่ขอให้รัฐเลิกให้อาชญาบัตรพิเศษแก่บริษัทเอกชน แต่พวกเขาต้องการเดินหน้าต่อเพื่อขอให้ให้รัฐบาล “ถอดถอน” เมืองจันทบุรีออกจากบัญชีแหล่งแร่ เพื่อในอนาคตพื้นที่จะไม่เป็นเป้าหมายของการทำเหมืองอีกต่อไป

“ถึงไม่ถอนก็ไม่ยอม เพราะผลประโยชน์บนดินคือผลประโยชน์ที่คนทั้งจังหวัดจะได้รับ”