คำถาม 7 ประการของ'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' ผู้อุทิศตนให้กับแสงสว่างทางปัญญา - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บุคคลที่ผู้คนจำนวนมากนับถือว่าเป็นครูที่แท้จริง เสียชีวิตในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 การจากไปของอาจารย์ชัยวัฒน์ คือ การสูญเสียครั้งสำคัญของวงวิชาการไทย ของวงการรัฐศาสตร์ไทย และของสังคมไทยโดยรวม

สังคมไทยและสื่อสารมวลชนรู้จักชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และมักจะเรียกเขาว่า “นักสันติวิธี” แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหลายโอกาสว่า เขาไม่เคยเรียกตนเองเช่นนั้น คำว่านักสันติวิธีเป็นคำที่สื่อและคนทั่วไปเรียกขานเขา แต่ถ้าให้นิยามตนเอง เขานิยามว่าตนเองเป็นนักรัฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ ที่สนใจศึกษาวิจัยทางปรัชญาการเมือง ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ

ข้าพเจ้าคิดว่า อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นนักสังคมศาสตร์/รัฐศาสตร์ที่สร้างคุณูปการให้สังคมไทยมากมายในหลายมิติ ทั้งในด้านการบุกเบิกองค์ความรู้ด้านความขัดแย้งและความรุนแรงให้กลายเป็นประเด็นที่สังคมสนใจในวงกว้าง การผลักดันให้สันติวิธี (หรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม) มีที่ยืนในสังคมไทยบนฐานขององค์ความรู้ที่หนักแน่นโดยเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวด้านสันติภาพในระดับนานาชาติ การทำให้วิชาปรัชญาการเมืองกลายเป็นวิชาที่สนุกและเข้าถึงได้ การทำให้การศึกษารัฐศาสตร์แนวทวนกระแสที่ให้ความสำคัญกับมิติของความเป็นมนุษย์ และยึดถือมนุษย์ (ที่สลับซับซ้อน) เป็นใจกลางของการศึกษาทางรัฐศาสตร์ และการสนับสนุนรวมถึงเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการรุ่นใหม่ ๆ ได้เติบโต และผลิบานในเส้นทางของการผลิตความรู้ จนอาจจะกล่าวได้ว่าชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คือ ครูที่สร้างลูกศิษย์ในวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์มากที่สุดคนหนึ่งให้กับสังคมไทย

แต่ในบรรดาคุณูปการหลายอย่างชัยวัฒน์ริเริ่มและสร้างไว้ ข้าพเจ้าคิดว่าคุณูปการที่สำคัญที่สุดของชัยวัฒน์คือ การฝึกฝนให้คนตั้งคำถาม ในฐานะคนสอนหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัย ชัยวัฒน์มักจะบอกกับลูกศิษย์ในห้องเรียนที่เขาสอนเสมอว่า คำถามสำคัญกว่าคำตอบเป็นอันมาก ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเปรียบการศึกษาเป็นห้องแห่งความรู้ บ่อยครั้งคำตอบคือการปิดหน้าต่างกักขังความรู้และดวงวิญญาณแห่งการใฝ่รู้ ในขณะที่คำถามคือ การเปิดประตูหน้าต่างให้ดวงวิญญาณแห่งการใฝ่รู้โบยบินออกไปค้นหาคำตอบที่ปะปนอยู่ในสายลมนอกห้อง” (ชัยวัฒน์ 2564)

ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เราจึงมักจะเห็นนักวิชาการผู้นี้ชอบถามคำถามให้ผู้คนครุ่นคิด ไม่ว่าจะเป็นการถามเพื่อกระตุ้นให้คิดถึงเรื่องนั้นในมุมมองใหม่ ถามแบบยั่วให้แย้ง หรือถามย้อนให้ผู้ฟังทบทวนความเชื่อของตนเอง

เมื่อ 3 ปีก่อน เมื่อถูกร้องขอจากข้าพเจ้าให้เขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในตำราพื้นฐานทางรัฐศาสตร์เพื่อมุ่งให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการเมือง แทนที่ชัยวัฒน์จะเขียนบทความอธิบายแนวคิดหรือทฤษฎีพื้นฐานดังที่นักวิชาการโดยทั่วไปทำ เขาเลือกที่จะเขียนบทความผ่านคำถามแทน

ในบทความดังกล่าวชัยวัฒน์เสนอว่าในทัศนะของเขา มีคำถามสำคัญ 7 คำถามในการศึกษาโลกแห่งการเมือง

ข้าพเจ้าอยากจะหยิบยกทั้ง 7 คำถามนั้นมาเล่าซ้ำอีกครั้งในที่นี้เพื่อเป็นรำลึกถึงคุณูปการของครูทางรัฐศาสตร์ผู้หลงใหลในปริศนาต่าง ๆ ในชีวิตทางสังคมการเมืองท่านนี้

คำถามแรก คือ ใครเป็นคนปกครอง (Who Governs?) เขาชี้ว่าคำถามที่ดูเหมือนเรียบง่ายนี้ช่วยเปิดประตูไปสู่คำถามอีกมากมาย และเป็นคำถามที่ชวนให้ครุ่นคิดอย่างจริงจัง คำถามนี้กระทุ้งให้เราเพ่งมองไปที่โครงสร้างอำนาจในสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม ว่าใครคือผู้ครอบครองอำนาจสูงสุดหรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือ ใครคือผู้ปกครองที่แท้จริง? เพราะคนที่มีตำแหน่งสูงแบบเป็นทางการอาจจะไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัวจริง หรือผู้ที่มีอำนาจตัวจริงอาจจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลหรือในรัฐสภา แม้แต่ในสังคมประชาธิปไตยที่มักจะกล่าวกันว่าเป็นระบอบที่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ชัยวัฒน์ก็อ้างถึงงานศึกษาหลายชิ้นทางด้านรัฐศาสตร์ที่เสนอว่า ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งในทางเศรษฐกิจและการศึกษา อำนาจของประชาชนอาจจะมีเพียงน้อยนิดในการกำหนดชะตากรรมของตนเองหรือทิศทางของบ้านเมือง ในสังคมเช่นนั้นอำนาจอาจถูกผูกขาดอยู่ในมือชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ ชัยวัฒน์ชวนให้คิดว่า หากประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่อ้างว่าผู้คนมีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย แต่สังคมมีความไม่เสมอภาคสูงในด้านอื่น ๆ จนทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในอำนาจ “ถ้าเช่นนั้นในระบอบประชาธิปไตยใครเป็นผู้ปกครองกันแน่ ?”

          สมมติลองถามคำถามนี้ในสังคมไทย ท่านผู้อ่านคิดว่า ใครเป็นคนปกครองสังคมไทย?

คำถามที่ 2 ใคร ได้อะไร เมื่อไร อย่างไร ? เขานำคำถามนี้มาจากงานของนักรัฐศาสตร์เลื่องชื่อ คือ ฮาโรลด์ ดี. ลาสส์เวลล์ ในหนังสือคลาสสิกที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ 8 ทศวรรษที่แล้ว ชื่อ Politics: Who Gets What, When, How คำถามนี้เรียบง่ายกระทั่งอาจฟังดูไม่ลึกซึ้งอะไรนัก แต่ชัยวัฒน์เห็นว่าความเรียบง่ายของคำถามนี้เองทำให้ช่วยมองการเมืองได้ชัดและนำไปถามได้ในทุกสถานการณ์และในทุกประเทศ ซึ่งเลนส์ในการมองเช่นนี้มันช่วยชี้ช่องว่า หากอยากเข้าใจการเมืองที่เป็นจริงในสังคมใด ไม่ใช่ไปเพ่งมองแค่กติกาและสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการเมือง หรือดูดำริและคำแถลงที่สวยหรูของผู้มีอำนาจ แต่ให้ดูว่าการใช้อำนาจผลักดันโครงการ นโยบาย และกฎหมายต่าง ๆ นั้น ผลประโยชน์ตกอยู่แก่คนกลุ่มใด ในลักษณะใด ใครได้ประโยชน์ ใครได้ประโยชน์ทีหลัง และใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พูดง่าย ๆ ได้ว่าอำนาจการเมืองที่แท้จริงก็คือ อำนาจในการจัดลำดับความสำคัญ (priority)

ลองฝึกถามคำถามนี้ในกรณีของสังคมไทยผ่านการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล อาจจะช่วยให้เรามองเห็นการเมืองไทยได้ชัดยิ่งขึ้น

คำถามที่ 3 ทำไมคนเป็นขบถ ? (Why Men Rebel?) คำถามนี้พาเราเดินทางเข้าสู่ปรากฏการณ์ที่ผู้คนในหลายสังคมลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลของตนด้วยสาเหตุความไม่พอใจต่าง ๆ นานา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และทำให้เราเห็นการเมืองแบบรอบด้าน การเมืองมักถูกศึกษาในแง่มุมของผู้มีอำนาจว่าพวกเขา/เธอรักษาอำนาจอย่างไร ระเบียบอำนาจที่มั่นคงจะถูกสงวนรักษาไว้ได้อย่างไร

คำถามนี้เป็นการพลิกให้เราสนใจอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ก็คือทำไมในแต่ละสังคม ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จึงมีคนลุกขึ้นมาท้าทายกระทั่งต่อต้านอำนาจของผู้ปกครอง เราต้องอย่าลืมว่าการขบถต่ออำนาจนั้นมิใช่เรื่องที่จะกระทำกันได้ง่าย ๆ มันมีต้นทุนสูงเสมอ ยิ่งในสังคมที่ผู้ปกครองใช้อำนาจอย่างเผด็จการและปกครองด้วยการสร้างความกลัวในหมู่ผู้อยู่ใต้ปกครอง การลุกขึ้นมาขบถนั้นมีต้นทุนมหาศาล ต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ สติปัญญา ทักษะการรวมกลุ่มสร้างขบวนการ ฯลฯ

นอกจากนั้นปรากฏการณ์ที่ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงรัฐอาจจะสะท้อนความอึดอัดคับข้องใจเหลือแสนถึงขั้นที่ไม่สามารถยอมจำนนต่อสภาพความไม่เป็นธรรมได้อีกต่อไป การตอบคำถามนี้จึงช่วยให้เราเข้าใจทั้งฝ่ายรัฐที่ถูกต่อต้านและเข้าใจจิตใจของประชาชนที่ลุกขึ้นคัดค้านต่อกรกับอำนาจไปพร้อม ๆ กัน

มีหลายคนเคยกล่าวว่าคนไทยยังโกรธไม่พอ สังคมไทยจึงไม่เกิดความเปลี่ยนไป อยากจะชวนคิดว่าคำกล่าวนี้จริงหรือไม่?

คำถามที่ 4 ทำไมคนจึงสยบยอมต่ออำนาจที่ครอบตนอยู่ (Why Men Obey?) สำหรับชัยวัฒน์ คำถามนี้เปรียบเสมือนคำถามด้านกลับของคำถามที่ 3 และน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน คือ ในขณะที่มีคนทนไม่ไหว และตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นธรรม แต่เหตุใด คนอีกจำนวนมากจึงยอมเชื่อฟังอำนาจแต่โดยดี การตอบคำถามนี้จะช่วยให้เราเข้าใจสังคมที่เราอาศัยอยู่ได้ดียิ่งขึ้น งานศึกษามากมายในสาขาวิชาต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ทางรัฐศาสตร์เพียรพยายามเสนอคำอธิบายเพื่อตอบคำถามนี้ บ้างว่าคนในบางสังคมเชื่อฟังอำนาจ เพราะความเคยชิน ทำมานานจนเป็นนิสัย และกลายเป็นประเพณี บ้างก็บอกว่าความกลัวต่างหากที่ทำให้คนไม่ลุกขึ้นมาคัดค้านการกระทำของผู้มีอำนาจ ทำให้เลือกที่จะ “อยู่เป็น” เพื่อไม่อยากเดือดร้อน

บางทฤษฎีอธิบายการเชื่อฟังผู้ปครองเป็นผลมาจากความเชื่อที่ถูกกล่อมเกลา มองว่าการที่ทุกคนเชื่อฟังผู้ปกครองจะทำให้สังคมสงบสุข ไม่วุ่นวาย ทุกคนย่อมได้ประโยชน์กว่า หรือถึงขั้นเชื่อว่าผู้ปกครองมีอำนาจสูงส่งกว่าประชาชนก็ถูกต้องแล้วเพราะมีวาสนา บารมี หรือสะสมกรรมดีมามากกว่า คนธรรมดาอย่างเราจึงมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังและภักดีต่ออำนาจที่สูงส่งนั้น ในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มอธิบายว่าคนสยบยอมเพราะเพิกเฉยนั่นเอง (indifference) ไม่ใส่ใจรับรู้ข่าวสารและไม่ใยดีกับความเป็นไปของบ้านเมือง ซึ่งถ้าสังคมไหนมีประชาชนลักษณะเช่นนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ก็คงยากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง

สำหรับผู้อ่าน คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่สยบยอมต่ออำนาจหรือไม่? ถ้าใช่ ท่านคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด?

คำถามที่ 5 เมื่อเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม ทำไมคนยังทนอยู่ได้ คำถามนี้ต่อเนื่องจากคำถามที่ 4 เพียงแต่เปลี่ยนจุดเน้นมาทำความเข้าใจการยอมทนกับภาวะที่แสนจะอยุติธรรม เขาอ้างอิงงานของนักวิชาการอย่างแบริงตัน มัวร์ ที่ชื่อ Injustice ซึ่งตั้งคำถามว่ามนุษย์ทนอยู่กับความอยุติธรรมได้อย่างไร? ผ่านการศึกษาคนหลายกลุ่ม เช่น คนวรรณะจัณฑาล โยคีในอินเดีย ฯลฯ ชัยวัฒน์เห็นว่าคำถามนี้น่าสนใจเพราะทำให้เราต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับการทำงานของอำนาจ ระบบความคิดความเชื่อ ระบบการศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา ซึ่งทำให้ความอยุติธรรมถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมกระทั่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่มันต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป จนผู้คนไม่ตั้งคำถาม แต่กลับยอมรับความอยุติธรรมเหล่านั้นให้กลายเป็นความปรกติสามัญของชีวิตไป ซึ่งทำให้การใช้อำนาจที่ไม่สมเหตุสมผล และระบอบการปกครองที่ไม่ชอบธรรมดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน

สำหรับชัยวัฒน์ จะเข้าใจการเมืองจึงจำเป็นต้องศึกษาระบบความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมในสังคมนั้นให้ถ่องแท้ 

2 คำถามสุดท้ายของชัยวัฒน์เกี่ยวข้องกับชีวิตทางปัญญาของเขาในฐานะคนสอนหนังสือทางรัฐศาสตร์มาทั้งชีวิต

คำถามที่ 6 เขาถามว่าแท้จริงแล้วปรัชญาการเมืองคืออะไร? เขาตอบว่ามันคือ ความพยายามทางปัญญาที่จะทดแทน “ความเห็น” เกี่ยวกับธรรมชาติของการเมืองด้วย “ความรู้” ที่แท้จริงว่าด้วยธรรมชาติของการเมือง รวมถึงค้นหาระเบียบการเมืองที่ถูกต้องดีงามไปพร้อมกัน

ปรัชญาการเมืองสนใจทั้งความเปลี่ยนแปลงและการรักษาระเบียบทางการเมือง และเป็นวิชาที่เต็มไปด้วยคำถามและการที่ต้องตัดสินเชิงคุณค่าเกี่ยวกับความถูก-ผิด ความดี-ชั่ว ความจริง-ลวง และความยุติธรรม-อยุติธรรม แน่นอนว่าทุกกลุ่มที่ต่อสู้ขัดแย้งกันต่างแสวงหาการเมืองที่ถูกต้อง ดีงาม จริงแท้ และยุติธรรม แต่อาจจะนิยามสิ่งเหล่านี้ไม่ตรงกัน ฝ่ายที่เห็นว่าระเบียบการเมืองแบบที่เป็นอยู่กำลังเสื่อมโทรมผุพังเต็มไปด้วยความเลวร้าย และอยุติธรรมย่อมต่อสู้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ฝ่ายที่ยังเชื่อมั่นในความดีงามของระเบียบการเมืองที่เป็นอยู่ย่อมพยายามทำทุกอย่างเพื่อพิทักษ์รักษามันเอาไว้

ใช่หรือไม่ว่า นี่คือหัวใจของความขัดแย้งในการเมืองไทย

คำถามสุดท้ายของชัยวัฒน์คือ การครุ่นคิดว่าทำไมการเมืองจึงเป็นเรื่องยาก (ทั้งในทางปฏิบัติและในการทำความเข้าใจ)? เขามักจะหงุดหงิดเสมอ (ทั้งที่ปรกติเป็นคนอารมณ์ดีและหงุดหงิดยาก) เมื่อมีคนกล่าวว่ารัฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายดาย เป็นวิชาที่ใช้แต่ความเห็น ไม่มีหลักคิดทฤษฎีอะไร และเขามักจะอึดอัดเป็นพิเศษเมื่อได้ฟัง “กูรู” ที่ตอบปัญหาการเมืองทุกอย่างด้วยคำตอบสำเร็จรูป

สำหรับชัยวัฒน์ การเมืองเป็นเรื่องยากเพราะการเมืองประกอบด้วย “ผู้คน โครงสร้าง และวัฒนธรรมความเชื่อที่แวดล้อมรองรับพวกเขา เฉพาะผู้คนก็มากมายคิดฝันปรารถนาก็หลากหลายต่างกัน โครงสร้างก็สัมพันธ์กันอย่างพิสดารไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจกับโครงสร้างทางกฎหมาย ขณะที่ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ของผู้คนแต่ละคนแต่ละกลุ่มพวกก็ซับซ้อนแตกต่างกัน เมื่อทั้งหมดนี้มาถักร้อยรวมกันเป็นสิ่งที่เรียกว่า การเมือง จึงไม่แปลกนักที่การเมืองจะเป็นเรื่องแสนยากไม่ง่ายดายอย่างที่หลายคนคิด”

สิ่งที่ชัยวัฒน์ทำมาตลอดทั้งชีวิตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนคือ การชี้ชวนให้ผู้คนเห็นความสำคัญของคำถาม และวิธีการหาคำตอบ ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกกับลูกศิษย์ในห้องเรียนว่าหัวใจสำคัญของชีวิตมนุษย์ คือ การเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ทุกการตัดสินใจเมื่อนำมาประกอบกันเข้าก็คือ เส้นทางการเดินทางในชีวิตของเรา สังคมการเมืองก็ไม่ต่างกัน

สิ่งที่นักปรัชญา/สังคมศาสตร์ผู้นี้เพียรพยายามทำ คือชวนคิดให้สังคมตั้งคำถามกับทางเลือกต่าง ๆ ที่มีอยู่ และเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ที่อาจจะยังไม่ถูกมองเห็น และใช้สติปัญญาแลกเปลี่ยนถกเถียง (โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงเป็นคำตอบ) เพื่อหาคำตอบร่วมกันถึงการสร้างสังคมที่ดี ป็นธรรม และเอื้อต่อการเติบโตของชีวิตของผู้คน

พร้อมกับการจากไปของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สังคมไทยได้สูญเสียนักคิดที่หมั่นตั้งคำถามสำคัญให้สังคมได้ขบคิด – ผู้อุทิศตนให้กับการจุดคบไฟให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้ แสงสว่าง และสติปัญญา

อ้างอิง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “เส้นทางวิชารัฐศาสตร์กับ 7 คำถามทางการเมือง,” ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ (บก.),
การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์ (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2564)
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, การเมืองมนุษย์: รัฐศาสตร์ทวนกระแส (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2528)
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (กรุงเทพฯ: ของเรา, 2557)
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาวุธมีชีวิต?: แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546)
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, Nonviolence: สันติวิธีเส้นทางสู่สันติภาพ (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ วิจัย, 2559)