Breaking the Cycle กับดวงตาข้างที่เหลือของดารุมะ - Decode
Reading Time: < 1 minute

(Un) popular opinion

โตมร ศุขปรีชา

ประหลาด,

ที่ไม่มีใครพูดถึงตุ๊กตาดารุมะในหนังเรื่องนั้นสักเท่าไหร่

จะว่าไป – ผมยังไม่เห็นบทวิจารณ์ หรืองานรีวิวที่ไหนเอ่ยเอื้อนถึงดารุมะแม้สักนิด

ตุ๊กตาดารุมะปรากฏตัวในภาพยนตร์สารคดีการเมืองเรื่องสำคัญของไทยอย่าง Breaking the Cycle เพียงไม่กี่ครั้ง – แต่สำหรับผม นี่คือใจกลางของความหมายที่ยึดกุมความหมายทั้งปวงในหนังเรื่องนี้เอาไว้

ไม่ใช่เพียงในเนื้อหนัง แต่ยังหมายถึงเนื้อตัวและหัวใจของการเมืองไทยตลอดระยะเวลาหลายสิบที่ผ่านมาอีกด้วย

ตุ๊กตาดารุมะปรากฏขึ้นเมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองในภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบมันขึ้นมาแนะนำ เขาอธิบายสั้น ๆ เพียงว่า เพื่อนคนหนึ่งซื้อตุ๊กตาตัวนี้มาให้เขา

แล้วเขาก็ระบายสีให้ดวงตาข้างซ้ายของมัน…

หลายคนบอกว่า ตุ๊กตาดารุมะเป็นตุ๊กตาแห่งความหวัง เพราะเมื่อได้ตุ๊กตามา ดารุมะจะมีดวงตาอันว่างเปล่า คล้ายมองไม่เห็นสิ่งใด มิพักต้องถามด้วยซ้ำว่าดารุมะนั้น ‘ตาสว่าง’ หรือเปล่า เพราะเมื่อไม่มีแม้กระทั่งดวงตา จะมืดหรือสว่างก็เป็นเฉกเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งแรกที่เจ้าของตุ๊กตาต้องทำ ก็คือการ ‘ระบายสี’ ดวงตาของดารุมะ โดยจะใช้สีดำหรือแดงเข้มก็ได้ ข้างซ้ายหรือขวาก็ได้อีกเช่นกัน แต่โดยธรรมเนียมแล้ว จะไม่ระบายสีทั้งสองข้างในคราวเดียว โดยถือกันว่า การระบายสีตาข้างแรกเป็นการ ‘วาง’ ความหวังในการทำบางสิ่งเอาไว้ แล้วเมื่อใดทำนั้นสำเร็จแล้ว จึงจะย้อนกลับมาระบายสีดวงตาอีกข้างหนึ่งให้ครบถ้วนสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ ตุ๊กตาดารุมะจึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำอะไรบางอย่าง ถึงขั้นที่ ‘ให้คำมั่น’ หรือ ‘ให้สัจจะ’ เอาไว้กับตุ๊กตาดารุมะ ว่าจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จจงได้ ไม่ว่าจะต้องใช้ความอดทน และอุตสาหะพยายามมากเพียงใดก็ตาม

เมื่อสิ่งนั้นสำเร็จลงแล้ว เจ้าของตุ๊กตาจึงจะย้อนกลับมาระบายสีดวงตาอีกข้างหนึ่งให้สำเร็จ จึงคล้ายว่าตุ๊กตาดารุมะจะ ‘ลืมตา’ ทั้งสองข้างขึ้นมา เพื่อร่วมยินดีกับ ‘สัจจะ’ ของผู้เป็นเจ้าของนั่นเอง

ที่จริงแล้ว ตุ๊กตาดารุมะไม่ใช่ตุ๊กตาของเล่น แม้จะดูน่ารัก เพราะดารุมะคือตัวแทนของท่านโพธิธรรม ซึ่งเป็นพระที่มีลักษณะกึ่งตำนานกึ่งมีตัวตนจริง

ว่ากันว่า หากท่านโพธิธรรมมีตัวตนจริง ท่านน่าจะมีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่ 5 หรือ 6 โดยชื่อที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีผ่านนิยายกำลังภายในก็คือปรมาจารย์ตั๊กม้อนั่นเอง

ตำนานเล่าว่า ท่านโพธิธรรมนั้น แท้จริงแล้วเป็นโอรสของกษัตริย์จากแคว้นคันธาระในอินเดีย แต่ท่านสนใจในเรื่องการศึกษาธรรมมากกว่าเรื่องทางโลก จึงได้ไปศึกษาธรรมกับพระปรัชญาตาระเถระ ซึ่งเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 27 แห่งนิกายเซน แล้วหลังจากนั้นได้จาริกแรมรอนจากอินเดียไปสู่จีนผ่านเส้นทางสายไหมโดยใช้เวลายาวนานนับปี และได้ก่อตั้งอารามขึ้นที่เมืองลั่วหยาง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านโพธิธรรมที่น่าจะโด่งดังที่สุดคือ การที่ท่านโพธิธรรมได้ฝึกปฏิบัติสมาธิอย่างหนักด้วยการนั่งหันหน้าเข้าหาผนังถ้ำเป็นเวลายาวนานถึงเก้าปี

และเป็นตำนานเรื่องนี้นี่เอง – ที่เกี่ยวข้องกับตุ๊กตาดารุมะ

หากสังเกตให้ดี จะพบว่าตุ๊กตาดารุมะนั้น นอกจากจะไม่มีดวงตาที่มองเห็นได้มาแต่แรกแล้ว ดารุมะยังเป็นตุ๊กตาที่ไม่มีแขนขาอีกด้วย เรื่องนี้เกิดจากตำนานเล่าขานว่า เมื่อท่านโพธิธรรมปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิอยู่หน้าผนังถ้ำนั้น ท่านไม่ขยับเขยื้อนเนื้อตัวเองเป็นเวลานานถึงเก้าปี นั่นทำให้แขนขาที่ไม่เคลื่อนไหวเกิดอาการฝ่อและหลุดร่วงไป การที่ตุ๊กตาดารุมะไม่มีแขนขา จึงคือการบอกถึงรหัสธรรมว่าด้วยความมุ่งมั่นพยายาม แม้ต้องเสียแขนขาก็ไม่ย่อท้อ ยังคงตั้งมั่นทำในสิ่งที่ให้สัจจะกับตัวเองเอาไว้ตั้งแต่แรก

การไม่มีแขนขานั้น ยังทำให้ตุ๊กตาดารุมะมีลักษณะพิเศษ คืออ้วนป้อม แต่มีการถ่วงน้ำหนักเอาไว้ที่บริเวณฐาน ทำให้ฐานหนักกว่าส่วนบน ดังนั้น ดารุมะจึงสามารถตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่ล้มลงง่าย ๆ หรือต่อให้ ‘ถูกกระทำ’ จนล้มลง ก็จะลุกตั้งขึ้นมาได้เองเสมอ จนเกิดสำนวนเกี่ยวกับดารุมะว่า แม้ล้มลงเจ็ดครั้ง ก็จะลุกขึ้นเป็นครั้งที่แปด

น้ำหนักและการทรงตัวของดารุมะจึงแฝงรหัสธรรมเดียวกับการไร้แขนขา นั่นคือหากวางใจให้มีน้ำหนัก และหยั่งรากอยู่กับความมุ่งมั่นเดิมแล้ว แม้มีอุปสรรคมากเพียงใดก็จะไม่หวั่นไหว สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ เพื่อหวนกลับมายืนหยัดอย่างสง่างามอยู่เสมอ

ส่วนดวงตานั้น ว่ากันว่ามีที่มาจากสมัยเอโดะ เมื่อเกิดการระบาดของไข้ทรพิษ คร่าชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ไข้ทรพิษนั้นมีส่วนทำให้ชาวญี่ปุ่นยุคนั้นสูญเสียการมองเห็นไปเป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่นยุคนั้นจึงเชื่อมโยงไข้ทรพิษเข้ากับดวงตาของดารุมะ และใช้วิธีระบายสีตาให้ดารุมเพื่อขอพรไม่ให้ตัวเองต้องตาบอดจากไข้ทรพิษ มีตำนานเล่าว่า โชกุนองค์หนึ่งเคยป่วยด้วยไข้ทรพิษ บรรดาข้าราชสำนักจึงระบายสีดวงตาของดารุมะมากกว่าสองแสนตัว เพื่ออธิษฐานขอให้โชกุนหายป่วย

นอกจากนี้ ยังมีตำนานเล่าขานด้วยว่า ท่านโพธิธรรมเบื่อตัวเองที่ขณะปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ แล้วเกิดความง่วงอยากหลับ ท่านจึงใช้วิธี ‘กรีด’ เอาเปลือกตาของตัวเองทิ้งไปทั้งสองข้าง เพื่อที่ดวงตาจะได้ไม่หรุบหลับลงไป ว่ากันว่า เปลือกตาที่ถูกทิ้งไปนั้น ได้งอกขึ้นมาเป็นต้นชา นั่นจึงทำให้ชาและพุทธศาสนานิกายเซนมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เพราะการดื่มชาช่วยให้กระปรี้กระเปร่า จึงครองสติ และมีสมาธิอยู่ได้โดยไม่ง่วง

แม้ดารุมะจะดูสลักสำคัญจนน่าจะเก็บรักษาเอาไว้ชั่วกาลนาน แต่ชาวญี่ปุ่นกลับมีประเพณีหนึ่งที่หลายคนอาจมองว่าแปลก เพราะมันคือประเพณีการ ‘เผาดารุมะ’ ที่เรียกว่า Daruma Kuyō โดยงานนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ด้วยการรวบรวมเอาดารุมะเก่าแก่ที่มีดวงตาครบทั้งสองข้างแล้ว มาทำพิธี ‘เผา’ อย่างเป็นทางการ

ไม่, การเผาดารุมะจนกลายเป็นเถ้าถ่านสลายหายไปในอากาศ – ไม่ได้แปลว่าดารุมะไร้ความหมาย

กลับกัน – การเผาดารุมะคือการแสดงความขอบคุณต่อตุ๊กตาดารุมะที่เคย ‘ช่วย’ ให้เจ้าของดารุมะได้มุ่งมั่นฟันฝ่าทำสิ่งที่ต้องการจนประสบความสำเร็จต่างหากเล่า

การเผา คือการส่งดารุมะกลับสู่ดินแดนที่ดารุมะจากมา นัยหนึ่งคือสวรรค์ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือดินแดนไกลโพ้นที่สักวันหนึ่งมนุษย์ทุกคนก็ต้องเดินทางไปเยือนเช่นเดียวกัน การเผาดารุมะตัวเก่าจึงหมายถึง การจบสิ้นของภารกิจเดิม เพื่อเริ่มต้นภารกิจใหม่อีกครั้ง อาจกับตุ๊กตาดารุมะตัวใหม่อีกตัวหนึ่ง

หรือไม่, ก็กับตัวเองที่แข็งแกร่งมากขึ้น จนไม่ต้องพึ่งพิงดารุมะอีกแล้วก็ได้…

ด้วยเรื่องราวเล่าขานและประเพณีแห่งดารุมะเหล่านี้ การปรากฏตัวของตุ๊กตาที่ดูน่ารักนี้ในภาพยนตร์สารคดีที่เต็มไปด้วยการฝ่าฟันต่อสู้ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญมากต่อเหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่อง

ในตอนท้ายเรื่อง ดารุมะยังคงตั้งอยู่ตรงนั้นเงียบงัน

ดวงตาของดารุมะกลมโต ข้างหนึ่งตื่นรู้แล้วด้วยสีสันที่แรระบายจากมือของหัวหน้าพรรคการเมืองหนุ่มคนนั้น

แต่ใช่ – อีกข้างหนึ่งยังว่างเปล่าขาวโพลน คล้ายรอคอยให้ใครมาแต้มเติมสีลงไป

แสงเงาในตอนจบของภาพยนตร์ดูเศร้าหม่น แต่แสงก็ยังเป็นแสง มันยังคงสว่างส่องทางให้ดารุมะสามารถมองเห็นโลกได้ แม้ด้วยดวงตาเพียงข้างเดียว

ดารุมะตัวนี้ตื่นรู้แล้ว – เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ

คล้ายมันตั้งอยู่ตรงนั้น เพื่อรอให้เราทุกคนช่วยกันแรระบายสีลงไปบนดวงตาอีกข้าง เพื่อที่จะสว่างไสว และตื่นรู้ถึงความเป็นไปอันแท้จริงของโลก ในสักวันหนึ่ง

นี่ไม่ใช่ภารกิจที่จะสำเร็จได้ด้วยมือของคนเพียงคนเดียว

คล้ายว่าดารุมะเดียวดายในตอนท้ายของภาพยนตร์จะกระซิบบอกเราทุกคนอย่างนั้น…

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง From Bodhidharma to Daruma: The Hidden Life of a Zen Patriarch

(https://www.researchgate.net/publication/241669148_From_Bodhidharma_to_Daruma_The_Hidden_Life_of_a_Zen_Patriarch)