สยามโมเดิร์นเกิร์ล ความศิวิไลซ์ที่ต้องคลานเข่า - Decode
Reading Time: 4 minutes

ชาวตะวันตกผิวขาวมีภาระหน้าที่ในการ ‘สร้างอารยธรรม’ ให้แก่พื้นที่ด้อยพัฒนาทั่วโลก
เพื่อให้สังคมที่ ‘ไร้อารยธรรม’ เหล่านั้นก้าวเท้าเข้าสู่สังคมที่ทันสมัยและดำรงอยู่ด้วยตนเอง

ภายใต้โครงการแห่งความเป็นอารยธรรม ‘การแพทย์และการพยาบาล’ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ปฏิเสธข้อครหาต่อความชอบธรรมในการล่าอาณานิคมของคนผิวขาว ซึ่งแสดงถึงเมตตาและไร้ซึ่งพิษภัยอันตรายใด และนำมาซึ่งความรู้ด้านสุขอนามัยและเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่

โดยพุทธศตวรรษ 25 สยามในช่วงการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานภาพและองค์ความรู้ของหญิงสาวชาวสยาม ได้ถูกทำให้เป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติใหม่ที่อารยะก้าวหน้า และตรงตามแนวทางชาติที่ทันสมัยของตะวันตก

“ ข้อติดขัดที่หมอผู้ทำคลอดนั้นเป็นผู้ชาย โดยเฉพาะหมอต่างชาติ จึงควรมีหมอผดุงครรภ์เป็นคนสยาม และโดยเฉพาะต้องทำหน้าที่แทนแพทย์ที่เป็นผู้ชาย จึงได้มีการตั้งโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้ ”

นายหญิงฝ่ายในเอ่ยขึ้น

ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือนและเพื่อนคู่คิดที่ดีของสามีแล้ว ‘หญิงสาว’ ในสายตาของทางการสยาม จำต้องเป็นคน ‘ทันสมัย’ ซึ่งความทันสมัยดังกล่าว หมายถึงการเป็นผู้มีความรู้เรื่องการผดุงครรภ์และการพยาบาลสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องคัดง้างกับประเพณีการแพทย์สมัยใหม่ของตะวันตก ที่พยาบาลชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และการทำคลอดด้วยหมอผู้ชายนั้นยังเป็นสิ่งแปลกปลอมในคุณค่าที่เรียกว่า ‘ความเป็นสยาม’ ของเหล่าเจ้าขุนมูลนาย

ฉะนั้น การสร้างนางผดุงครรภ์และนางพยาบาลจึงหาใช่การพัฒนาการแพทย์และพยาบาลเท่านั้น หากแต่คือการผลิตฐานะกำลังคนส่วนพระองค์ที่จะตอบสนองต่อพระเดชพระคุณของเจ้าเหนือหัว สร้างความมั่นคงของรัฐชาติสมัยใหม่ และความทันสมัยในสายตาของชาติตะวันตก

“ ในคราวที่จะแจกเงินเดือน ๆ แรก กล่าวคำอธิบายประกาศพระมหากรุณาให้นักเรียนทราบเสีย เพื่อที่ตัวนักเรียนจะได้รู้จักว่าใครเป็นเจ้านายของตนเอง และระลึกถึงพระเดชพระคุณอยู่ในใจตน ”

นายหญิงฝ่ายในย้ำอีกครั้งหนึ่ง

สิ้นทศวรรษที่ 2460 มีผู้สำเร็จการศึกษาด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ถึง 357 คน และกว่า 1,459 คนในกลางทศวรรษที่ 2480 ผ่านหลักสูตรของโรงเรียนพยาบาลฯ ศิริราช โรงเรียนพยาบาลสภากาชาดสยาม และโรงเรียนแมคคอร์มิค สามสถาบันการพยาบาลและการผดุงครรภ์สมัยใหม่ ที่ขึ้นชื่ออย่างยิ่งในการสร้าง ‘สยามโมเดิร์นเกิร์ล’ 

ทว่าด้วยเหตุที่หญิงสาวผู้นั้นจะต้องตอบสนองต่อพระเดชพระคุณของเจ้าเหนือหัวให้ได้ หลักเกณฑ์การพิจารณาจึงอยู่ในหลักที่ว่า เป็นคนมีชาติตระกูลหรือไม่? มีภูมิหลังอย่างไร? เพื่อที่หญิงสาวเหล่านั้นจะไม่กลายเป็น ‘หอกข้างแคร่’ ในภายหลัง

“ เจ้าหญิงจันทรนิภา เคยเป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนราชินีล่าง เป็นเจ้านายที่ทรงพระปรีชา สามารถในการปกครอง ทรงเคร่งครัดในระเบียบประเพณี … ชำนาญในการอบรมกุลสตรี … นับว่าเป็นเหตุ สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ชวนให้บิดามารดาผู้ปกครองที่มีครอบครัวดี ๆ เกิดความ ไว้วางใจที่จะส่งบุตรหลานเข้าเป็นนักเรียนผดุงครรภ์พยาบาล ”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงให้ความเห็น

หม่อมเจ้าหญิงจันทรนิภา เทวกุล เป็นธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ กับหม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา พร้อมทั้งสนิทใกล้ชิดกับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ และไว้วางพระราชหฤทัยกันตลอดมา

นับว่า”เจ้าหญิงจันทรนิภา”เหมาะสมทั้ง ‘ชาติตระกูล’ และ ‘คุณวุฒิ’ อันเป็นที่ประจักษ์ จากการที่เคยสอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงและได้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ การเป็นครูสอนประจำในโรงเรียนราชินี และดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเบญจมราชาลัย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ จึงให้หม่อมเจ้าหญิงจันทรนิภาก้าวเข้ามาเป็นผู้ปกครองนักเรียน และดำรงตำแหน่งงานสูงสุดฝ่ายหญิงด้านนางพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการพยาบาลก็ตาม

ในปีที่ 3 เงินไม่พอ ต้องยืมเงินกระทรวงจ่ายทดรองเป็นเงิน 3,585 บาท

อย่างไรก็ดี ช่วงปีพ.ศ. 2439 ที่เป็นปีแรกของการเปิดการศึกษาการผดุงครรภ์และการพยาบาล หาใช่เป็นเรื่องง่ายนัก เนื่องจากองค์ความรู้ของนักเรียนหญิงมีน้อยกระทั่งเขียนอ่านภาษาไทยไม่ได้ ทำให้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาตามช่วงเวลาของหลักสูตร กอปรกับไม่ได้รับเงินสนับสนุนและการอุปถัมภ์เท่าเดิม โรงเรียนจึงปิดตัวลงไปในปีพ.ศ. 2447 

คลานเข่าเข้าสู่ความเป็นโมเดิร์นเกิร์ล

แต่ความตื่นตัวด้านการผดุงครรภ์และการพยาบาลสมัยใหม่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งแรงกดดันภายนอกและความตื่นตัวทางด้านความเป็นธรรมทางการศึกษาของผู้หญิง ผลักให้สยามต้องประสบความสำเร็จเรื่องการให้การศึกษาเรื่องด้านการผดุงครรภ์และการพยาบาลสมัยใหม่ให้ได้ 

โรงพยาบาลฯ ศิริราชจึงจัดการเรียนการสอนวิชาแพทย์ผดุงครรภ์และพยาบาลขึ้นใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ. 2451 ตามมาด้วยการก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แห่งสภากาชาดสยามในปีพ.ศ. 2457 และโรงเรียนฝึกหัดนางพยาบาลแห่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2466

และขจัดแนวทางที่ไม่เป็นตะวันตกออกไปจากสารบบของวิชาแพทย์ผดุงครรภ์และพยาบาล

“ การพยาบาลด้วยผู้หญิง ทำให้รู้สึกสบายขึ้นมาก คือสบายทางใจประกอบด้วย นี่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะคนโดยมากย่อมนึกถึงแม่ หรือพี่เลี้ยงในยามไม่สบาย นางพยาบาลแทนแม่ได้นั่นเอง ”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรกล่าวขึ้น

แต่เดิมการพยาบาลจะเป็นไปตามเพศกำเนิดของผู้ให้การรักษา คือ ชายรักษาชาย หญิงรักษาหญิง เพราะเกรงว่าหากนางพยาบาลหญิงทำการพยาบาลชายหนุ่มวัยคะนอง ก็อาจเกิดเรื่องบัดสีบัดเถลิงขึ้นได้

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่ง มีการซ้อมรบเสือป่าและบุรุษพยาบาลทุกคนต้องออกไปทำการพยาบาลในสนามรบ ทำให้เหลือเพียงนางพยาบาลภายในโรงพยาบาล แต่เมื่อเหล่าเสือป่าได้รับบาดเจ็บจนไม่อาจรักษาภายในสนามรบได้ ก็ต้องส่งมาที่โรงพยาบาลฯ ศิริราช หน้าที่ในการให้การพยาบาลก็ต้องตกเป็นของเหล่านางพยาบาลอยู่ดี

ขณะเดียวก็จัดให้มีการเรียนการสอนร่วมกันของนางพยาบาลและบุรุษพยาบาล ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกในยุคสมัยนั้นอยู่เช่นกัน

“ ข้าพเจ้าเห็นในประเทศอื่น เขาใช้ผู้อื่นพยาบาลผู้ชายได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรย้ำชัด

การปรับเปลี่ยนนางผดุงครรภ์และนางพยาบาลยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ การต้องปรากฎตัวต่อประชาคมโลกเร่งให้ไทยต้องสร้างโมเดิร์นเกิร์ลให้ทันท่วงที เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลสยามได้เข้าร่วมกับกลุ่มสัมพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศส ต่อมาทางราชการมีคำสั่งให้นำคนเยอรมันทั้งหญิงชายที่ถูกคุมขังไปส่งให้แก่อังกฤษ ที่เมืองมัทราส ประเทศอินเดีย

โดยนางพยาบาล 12 คนจากโรงพยาบาลฯ ศิริราช ได้ร่วมในราชการพิเศษนี้ด้วย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ก็ได้จัดเครื่องแบบนางพยาบาลให้กับผู้เข้าร่วมทั้ง 12 คน ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องแบบพยาบาลชุดแรกของสยาม

“ เพราะต้องไปส่งเชลย ณ ต่างประเทศ ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสแต่งเครื่องแบบพยาบาลศิริราช … แรกแต่งรู้สึกว่ารุ่มร่ามไม่กระทัดรัดเหมือนสมัยนี้ เพราะการระวังตัวจึงได้นุ่งโจงกระเบน ไว้ภายในเครื่องแบบ ”

คำบอกเล่าของทองคำ หุตะโกวิท นางพยาบาลที่ร่วมเดินทางในครั้งนั้น

แต่ถึงกระนั้น การปรับเปลี่ยนแต่ภายนอกไม่ได้ทำให้หญิงสยามเข้าใกล้มาตรฐานที่แท้จริงของตะวันตก เพราะแม้จะมีหลักสูตร แต่ผู้สอนกลับเป็นบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรเดิม ฉะนั้นเพื่อสร้างนางผดุงครรภ์และนางพยาบาลตามแบบตะวันตก จำต้องมีครูผู้สอนที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรตะวันตกต้นแบบ

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางการสยามได้เห็นฉากทัศน์ใหม่ของการศึกษาวิชาแพทย์และการพยาบาลที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม จึงมีการคัดเลือกนักเรียนให้ไปศึกษาที่ต่างประเทศ

ทว่าการคัดเลือกหญิงสยามเพื่อไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศและนำมากลับมาพัฒนาการแพทย์ไทย ก็เป็นกระบวนการที่ใช้ทั้งเวลาและต้นทุน ทางการสยามจึงจัดจ้าง มณี สหัสสานนท์, ลออ ฮิกส์ และเอม มะบุช ครูพยาบาลชาวสยามที่ได้สำเร็จการศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์เข้ามาให้การสอน

“ เมื่อเสร็จจากโรงเรียนแล้ว อยากจะเรียนต่ออีกเหมือนกัน แต่ในเวลานั้นยังไม่มีสถาบัน การศึกษาชั้นสูงในประเทศไทยสำหรับสตรี ”

ลออ ฮิกส์เอ่ย

ลออ ฮิกส์ หญิงชาวสยามแต่กำเนิด เธออาศัยอยู่ตำบลตลาดน้อยและศึกษาเล่าเรียนอยู่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง หลังจากเรียนจบ เธอเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนดังกล่าวได้ราว 4 ปี แต่ทว่าการศึกษาแขนงอื่นสำหรับผู้หญิงยังไม่ปรากฎมากนัก เธอจึงไปศึกษาต่อโรงเรียนการพยาบาลทั่วไปที่จ.มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

เช่นเดียวกับ มณี สหัสสานนท์ หญิงสาวจากตำบลสำเหร่ จังหวัดธนบุรี ทว่าเธอเป็นผู้สำเร็จวิชาพยาบาลโดยตรง และสอบเข้าโรงเรียนพยาบาลเดียวกับลออ ขณะที่ เอม มะบุช แม้จะไม่ปรากฎบ้านเกิดแน่ชัด แต่เดิมเธอเรียนวิชาครูที่ฟิลิปปินส์ แต่สามารถสอบไล่เรียนวิชาพยาบาลจนได้เป็นพยาบาลที่ Philippine Central Hospital ที่จ.มะนิลา เกาะฟิลิปปินส์

“ ห้องเรียนอัตคัต ห้องเรียนเป็นตึกเล็ก ๆ จุนักเรียนได้ประมาณ 25 คน … นักเรียนชายเรียน พร้อมกันไปจนครบ 2 ปี ก็ออกทำงาน ส่วนนักเรียนหญิงก็เริ่มวิชาผดุงครรภ์ปี 3 ”

“ ที่ทำการ Demonstration ไม่มี ใช้สอนใน Ward คนไข้ เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เข็มฉีดยา เครื่องให้น้ำเกลือต้องยิมจาก Ward คนไข้ เพราะทางโรงพยาบาลไมให้งบเบิกจ่าย แย่งกันใช้แย่งกันสองอยู่ 2 ปี ”

“ ในส่วนสถานที่คลอดบุตร ในสมัยนั้นยังคับแคบและไม่น่าดู รับมารดามาคลอดบุตรได้จำนวนน้อย ได้ค่อย ๆ ขยายให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ”

“ ไม่ใช่ของง่ายและสนุกในการจัดการเวลาทำงานเป็น 3 ชุด คือ เช้า บ่าย ดึก เพราะนักเรียนเคยสบายมามากแล้ว ประกอบกับความไม่ปลอดภัย เพราะมีผู้ร้ายเข้าแย่งชิงเข้าของอยู่เนือง ๆ ”

“ การแบ่งนักเรียนลงทำงานประจำเวรบ่าย เวรดึก ก็พบอุปสรรคต่าง ๆ เช่น มีจำนวนมากจะลาออกประท้วงและขัดขวาง … เมื่อทางการแข็งขันจริงจัง ก็ปรากฎว่าไม่ได้รับใบลาสักใบเดียว แต่มีการกระด้างไปในทางเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ ”

มณีสาธยายถึงความลำบากในการจัดการเรียนการสอนวิชาผดุงครรภ์และการพยาบาล

รั้วโรงเรียนการผดุงครรภ์และการพยาบาลของศิริราช สามารถแบ่งแยกผู้หญิงได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มหญิงเจ้านาย กลุ่มหญิงข้าหลวงที่ใกล้ชิด กลุ่มหญิงจากครอบครัวข้าราชการ และสามัญชน

นอกจากกลุ่มหญิงเจ้านายและข้าหลวงที่ใกล้ชิด การขยับขยายขอบข่ายวิชาผดุงครรภ์และการพยาบาล ทำให้โครงสร้างทางสังคมถ่างตัวออก และเหล่าชนชั้นกลาง เช่น กลุ่มพ่อค้า นายทุน ที่ต่างเชื่อกันว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับฐานะขึ้นได้ จึงส่งบุตรหลานเข้าเรียนตามสถาบันต่าง ๆ เป็นเหตุให้หญิงสาวเหล่านั้นมีโอกาสในชีวิตที่สูงมากกว่าเดิม

“ แพทย์ผดุงครรภ์ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง คนจำพวกนี้ไม่ได้รับศึกษาวิชาใหม่ ๆ รู้เท่าไม่ถึงการ … จึงได้คิดหาวิธีแก้โดยพยายามเลือกหาเด็กหญิงสงขลาที่มีอายุและความรู้ … เพื่อส่งมาเข้า เรียนมาช้านาน แต่ไม่สมหวัง ด้วยประเพณีชาวสงขลายังนิยมกักเด็กหญิงรุ่นสาวไว้ในบ้าน ”

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาอธิบาย

พร้อมกันนี้ ทางการสยามก็มีความพยายามที่จะจำหญิงสาวจะมณฑลห่างไกลต่าง ๆ เข้ามาเป็น ส่วนหนึ่งในวิชาผดุงครรภ์และการพยาบาล ทั้งยังอำนวยความสะดวก อาทิ ลดหย่อนวิชาขั้นต้น สำหรับนักเรียนหัวเมือง มณฑลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเดินทางและค่าใช้สอยอื่น ๆ หรือสามารถส่งนักเรียนมาเป็นนักเรียนในบำรุง (นักเรียนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสยาม) ได้ตามระเบียบ

แต่ก็มีกรณีเช่น นางสาวทองอยู่ ไชยบุญรัตน์ อายุ 17 ปี และนางสาวสุนทร ไชยวัณณ์ อายุ 15 ปี เด็กสาวจากมณฑลพายัพ นักเรียนจากโรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่แม้จะสอบไล่ จนถึงมีคุณวุฒิพอที่จะเข้าเรียนวิชาผดุงครรภ์ แต่ก็ไม่ได้เข้าเรียนเนื่องจากนักเรียนบำรุงในแผนก ดังกล่าวเต็มจำนวน หรือกระทั่งนางสาวจันทร์ ศิริชมภู อายุ 16 ปี จากอำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ ที่ตกหล่นจากการศึกษา เพราะว่าจำนวนนักเรียนเต็มจำนวน

ดังคำวิพากษ์วิจารณ์ของมณี แม้การเข้ามาของครูพยาบาลทั้งสามคนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาผดุงครรภ์และการพยาบาลที่เข้าใกล้มาตรฐานตะวันตกมากขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในระดับโครงสร้าง และยังไม่เข้าใกล้มาตรฐานตะวันตกตามที่หวังไว้ ทางการสยามจึงแสวงหาความร่วมมือจากอารยประเทศ และต้นแบบที่แท้จริงของการเป็นตะวันตก

ดร. วิกเตอร์ จี. ไฮเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุขระหว่างประเทศภาคตะวันตกของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ได้เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเรื่องการปรับปรุงด้านการแพทย์ของสยาม โดยพาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เข้าดูงานการแพทย์และสาธารณสุขที่เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

“ แต่จะเทียบกับของเรา ไม่ได้ ที่โน่นเป็นเรื่องของชาวอเมริกัน เขามีโครงการ แผนผัง เครื่องใช้ต่าง ๆ … เป็นปึกแผ่นตั้งแต่ต้นทีเดียว ” 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรโอด

ระหว่างพ.ศ. 2468-2478 เป็นช่วงเวลาที่การแพทย์และสาธารณสุขสยามเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง และมีการสรุป ‘แผนงานสำหรับปรับปรุงโรงเรียนพยาบาลของโรงพยาบาล ศิริราช’ อาทิ 

1.ปรับปรุงหลักสูตร : หลักสูตร A วิชาพยาบาลทั่วไป และหลักสูตร B ควบกับวิชาผดุงครรภ์

2.ปรับโครงสร้างโรงเรียนฝึกหัด : จัดให้มีผู้อำนวยการ หัวหน้าแผนกโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาล ครูผู้สอน โดยสองตำแหน่งหลังจะอาศัยให้เป็นนางพยาบาลต่างชาติ

3.นโยบาย Training School และมีผู้ดูแล (มณี สหัสสานนท์)

4.จัดให้มีหอพักพยาบาล

5.กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกของนักเรียนที่จะเข้ารับการศึกษา ให้จบ ‘ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6’

และได้ มิสอลิซ ฟิตซ์เจอราลด์ บุคคลผู้มีชื่อเสียงในวงการศึกษาวิชาการพยาบาลแห่งสหรัฐ มาเป็นหัวหน้าแผนกโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลในช่วงปีพ.ศ. 2469-2471 และการเข้ามาของหญิงพยาบาลต่างชาติก็ทำให้หญิงสยามเข้าใกล้มาตรฐานตะวันตก(อีกครั้ง)

ความพยายามในการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งกับกลุ่มชนชั้นนำสยามจนช่วงปลายพ.ศ. 2470 มิสอลิซ ฟิตซ์เจอราลด์ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง และให้ มิส เอ็ม. บี. พอร์เตอร์ เข้ามาเป็นหัวหน้าแผนกโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแทน

“ ทำไมพวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่กับภาระงานที่ไม่ใช่งานของพยาบาล เช่น ขัดทองเหลืองและพับผ้า แม้จะมีขั้นตอนของการพยาบาลแปลเป็นภาษา ไทยพิมพ์ติดไว้ที่กำแพง? ”

มิสพอร์เตอร์ถามขึ้น

“ คงเพราะถูกพร่ำสอนว่านางพยาบาลก็เหมือนแม่ล่ะมั้ง ”

ใครสักคนเอ่ยตอบ

ตามรายงานของมิสพอร์เตอร์ ปัญหาอย่างแรกของการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ฯ คือ การขาดความรู้และเทคนิคพยาบาลของหัวหน้าพยาบาล ซึ่งส่งผลต่อการเรียนการสอนและความรับผิดชอบของนักเรียน รุนแรงกระทั่งทำให้ขาดสำนึกในหน้าที่ของนางพยาบาล

ซึ่งเป็นการยากยิ่งที่จะนำความเป็นมืออาชีพและมาตรฐานมาสู่การพยาบาลบนหอผู้ป่วยของสยาม หากนางพยาบาลใช้เวลาตอนเช้าไปกับการทำความสะอาดห้องแล็บของหมอ หรือทั้งหัวหน้าพยาบาลเองที่ให้ความสำคัญกับการ ‘กวาดพื้น’ มากกว่าการกำกับดูแลความเป็นพยาบาล

“ เมื่อข้าพเจ้าออกจากโรงพยาบาลแล้วมาอยู่บ้าน คุณตาท่านไม่ยอมให้ไปทำงานที่ไหน นอกจากจะแอบๆ ไปทำการคลอดบุตรอยู่บ้าง ”

มลิเอ่ยขึ้น

มลิ ปรีชาดุลยกิจ อดีตนางผดุงครรภ์และนางพยาบาล ที่ออกจากงานด้านการแพทย์และพยาบาล เนื่องจากแต่งงานกับหลวงปรีชาดุลยกิจ  ก็ต้องเดินทางตามสามีที่ต้องไปทำงานตามจังหวัดต่าง ๆ ทั้งยังมีบุตรอีก 6 คน ทำให้เธอต้องประครองบทบาทของความเป็นเมีย เป็นแม่ และบทบาทใน พื้นที่นอกบ้านไว้ ไม่ให้กระทบกับความเป็นไปของครอบครัว

“ เวลานั้นการทำคลอดบุตรยังไม่แพร่หลาย … เห็นเป็นเด็ก หมอตำแยต้องแก่ ๆ จึงจะเป็นที่ไว้ วางใจ ต่อมาอีกหลายปีจึงเชื่อกันมากขึ้น เพราะเห็นผลที่ทำไปแล้วมีแต่ทำให้คนไข้ พอใจทั้ง นั้น … ญาติ ๆ ก็ไว้วางใจมาตามไปทำคลอดเรื่อย ๆ เวลาว่างก็แต่งตำรากับข้าว ”

มลิเล่า

แม้การแพทย์สมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาทอย่างสูง ในการนำพาหญิงสาวชาวสยามออกจากพื้นที่ในบ้านและปรากฎสู่พื้นที่สาธารณะ แต่ก็นับว่าเป็นความสำเร็จของรัฐไทย ที่สามารถผูกบทบาทของความเป็นแม่ เมีย และแม่บ้านแม่เรือน ไว้แน่นจนแทบจะคลายไม่ออก

อย่างไรก็ตาม หนังสือ “สยามโมเดิร์นเกิร์ล” ของภาวิณี บุนนาค ได้ฉายให้เห็นถึงการก้าวเท้าเข้าสู่อาชีพนางผดุงครรภ์และนางพยาบาล เป็นการนำพาหญิงสาวเหล่านั้นไปสู่ปริมณฑลอื่น ที่นอกเหนือไปจากพื้นที่ในบ้าน(ที่ถูกเชื่อ)ว่าเป็นพื้นที่ของหญิงสาวชาวสยาม 

รวมถึงการต่อสู้คัดง้างของหญิงสาวชนชั้นยอดฟ้ากระทั่งรากหญ้า ในระหว่างทางของข้อขัดแย้งระหว่างจารีตไทยโบราณกับแนวทางตะวันตกสมัยใหม่ ที่มี ‘หญิงสาว’ เป็นเครื่องมือที่สำคัญ แต่กลับหล่นหายหรือไม่ถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ไทย

กระทั่ง ‘คุณค่าของความเป็นแม่’ และ ‘หน้าที่ของหญิงสาว’ ที่ถูกประกอบสร้างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เรียบเนียนไร้รอยต่อจนเราต้องใช้เวลากว่าหลายทศวรรษ ในการเปิดเผยความร้ายกาจของรัฐไทยที่แฝงไว้บนเนื้อตัวและใต้สำนึกของทั้งหญิงสาวและชายหนุ่ม

“ การขึ้นเงินเดือนพยาบาลเป็นการกระทำที่สมควร … พยาบาลบางคนขึ้นทีละ 2-3 บาท ทั้งนี้มิใช่ว่าขึ้นทุกปี นาน ๆ ทีจะมีสักครั้ง ทั้งที่พวกมิได้ทำผิดอะไร ”

อบทิพย์ แดงสว่างเรียกร้อง

กินอยู่ในนี้แล้วจะต้องการเงินไปทำไมกัน … ขอสามีใช้บ้างเป็นอะไรไป ธรรมดาสามีต้อง เลี้ยงภรรยา เราเป็นช้างเท้าหลังจะไปทุกข์ร้อนอะไร

ผู้ใหญ่ผู้อำนาจท่านหนึ่งตอบกลับ

หนังสือ: สยามโมเดิร์นเกิร์ล
นักเขียน: ภาวิณี บุนนาค
สำนักพิมพ์: มติชน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี