ดีโคตร ๆ รุ่น 1
ปณิชา กอบชัยกุล
จากบรรพบุรุษสู่รุ่นหลาน จากบ้านที่เคยอาศัย…วันนี้กลายเป็นทะเล
เมื่อกาลเวลาเดินหน้าไปอย่างไม่มีวันหยุด กระแสน้ำทะเลที่กัดเซาะชายฝั่งของหมู่บ้านขุนสมุทรจีนก็ดูทีท่าจะไม่มีวันสิ้นสุดเช่นเดียวกัน และจะทวีความเสียหายขึ้นอย่างที่เกินกว่าที่ประชาชนอย่างเราจะจินตนาการ
การที่ชาวบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการก็ยังคงเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแผ่นดินเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรที่อาศัยติดกับชายฝั่งอ่าวไทย โดยที่ความรุนแรงของนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวิถีชีวิต
ด้านที่อยู่อาศัยจากการที่น้ำทะเลขยายอาณาเขตรุกล้ำแผ่นดินจนทำให้ต้องย้ายที่อยู่อาศัยภายในหมู่บ้านและมีครอบครัวจำนวนมากที่ตัดสินใจออกจากหมู่บ้านในทุก ๆ ปี การใช้ชีวิตของคนในหมู่บ้านมีความยากลำบากขึ้นจากความไม่แน่นอนของธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวน เมื่อเกิดพายุที่จะส่งผลต่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านมักไม่นิยมสร้างบ้านที่แข็งแรงมากนัก เพื่อให้เหมาะสมหากในอนาคตต้องมีการย้ายถิ่นใหม่
อีกทั้งเรื่องการทำอาชีพประมงชายฝั่งที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนในหมู่บ้านมายาวนาน แต่ในปัจจุบันจำนวนทรัพยากรสัตว์ทะเลที่น้อยลงจากการที่ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์น้อยลง การที่น้ำทะเลรุกล้ำพื้นดินก็จะทำให้จากเดิมที่แหล่งสัตว์ทะเลอาศัยอยู่ไกลขึ้น ชาวประมงต้องเสียต้นทุนในการออกทะเลมากขึ้น จึงกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจภายในครอบครัวของชาวบ้านที่อาชีพประมงอย่างเดียวไม่สามารถเลี้ยงดูปากท้องของครอบครัวได้ดั่งในอดีต
ดังนั้นสมาชิกของหลายครอบครัวต้องมีอาชีพที่สองหรือสาม คือ การรับจ้างนอกหมู่บ้าน การทำโรงงานอุตสาหกรรม และการปรับตัวให้หมู่บ้านขุนสมุทรจีนกลายเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชน เนื่องจากมีโรงเรียนบ้านขุนสมุทรจีนที่เป็นสถานศึกษาหนึ่งเดียวภายในหมู่บ้านที่ยังขาดแคลนทรัพยากรความรู้เมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่น ๆ แต่การจะเข้าถึงโรงเรียนภายนอกก็มักจะต้องแลกกับการมีครอบครัวมีทุนทรัพย์ที่เพียงพอสำหรับค่าเดินทางไปและกลับของลูกหลาน
“ตอนนี้มันหมดโอกาสแล้ว อยากได้อะไร เขาก็ไม่ทำให้ เขามาแล้วก็ไป” ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร อดีตผู้นำหญิงของหมู่บ้านขุนสมุทรจีน ในฐานะนักต่อสู้ตั้งแต่ปี 2537 เพื่อพื้นที่ทำกินของคนในหมู่บ้านมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนมีบทบาทเปรียบเสมือน “แม่ของชุมชน” โดยตั้งแต่ปี 2542 ที่ผู้ใหญ่สมรตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ 9 จนถึงปัจจุบันอยู่ในช่วงวัยเกษียณก็ไม่เคยหยุดที่จะส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนในหมู่บ้าน จากการเกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ส่งผลให้แผ่นดินกว่าหลายหมื่นไร่หายไปกับทะเล จากหมู่บ้านที่มีคนอาศัยกว่า 2000 ครัวเรือนในปี 2517 แต่ปัจจุบันเหลือครัวเพียง 70-80 ครัวเรือน หากไม่นับที่อยู่อาศัยที่ถูกทิ้งให้รกร้างจากการย้ายถิ่น แต่พูดถึงการเยียวยาผู้ใหญ่กล่าวว่าแม้แต่ข้าวสารกระสอบเดียวเพื่อชดเชยชาวประมง ก็ยังไม่ได้รับ และนานแล้วที่ไม่มีงบประมาณจัดสรรให้หมู่บ้านของเรา
สมร เข่งสมุทร อดีตผู้ใหญ่บ้านขุนสมุทรจีน
วัฏจักรชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนและหาทางอยู่ร่วมกับทะเล
“พังมาก็หนีต่อไป ต้องอยู่อย่างนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” ไม่ใช่การยอมแพ้ต่อปัญหาแต่เป็นความจำยอมเพราะสิ้นหวัง หากลองจินตนาการว่าในช่วงชีวิตของคนอายุหกสิบปีที่ต้องย้ายบ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 9 ครั้งตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ 5 หลัง และของตัวผู้ใหญ่เองอีก 4 หลัง ที่บ้านหลังแรกอยู่ไกลสุดลูกหูลูกตาจากหลังปัจจุบันหลายกิโลเมตร ซึ่งแต่ก่อนที่ภูมิปัญญาของชาวบ้านคือการสร้างบ้านแค่ชั้นเดียวก็อยู่อาศัยได้ จนต่อมาต้องสร้างใหม่ให้ยกสูงขึ้นจากพื้นดินเป็นเมตรเพื่อไม่ให้จมน้ำ แต่จาก 1 เมตรกลายเป็น 3 เมตร เป็นการปรับตัวที่ต้องจำยอมต่อสภาวะธรรมชาติที่แปรปรวนขั้นรุนแรง เพื่อเอาชีวิตรอดในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นการบีบบังคับให้คนในหมู่บ้านต้องมีการตั้งรับและต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ๆ ในทุกปี
ผู้ใหญ่สมรหรือแม่สมรในบทบาทการผู้นำหมู่บ้านและแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของชุมชน จากการรุกคืบของน้ำทะเลที่ในอนาคตข้างหน้าอาจกลืนหมู่บ้านนี้ไปอย่างถาวร จากเหตุผลหลายประการ อาทิ ธรรมชาติของชายฝั่งที่น้ำทะเลกัดเซาะ การที่ตะกอนดินที่ไหลมาปากอ่าวน้อยลง พายุที่รุนแรง และมนุษย์ที่เป็นตัวการในการเร่งเวลาของการเกิด Climate Change ให้มาถึงไวและสร้างความเสียหายหนักขึ้น โดยที่ปัจจุบันนี้ทางหมู่บ้านก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากการสร้างที่กั้นจากไม้ที่
แผนผังเปรียบเทียบที่ดินที่โดนน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของบ้านขุนสมุทรจีน
“คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็พยายามที่ออกไปเรียกร้อง ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่ถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายน้อยที่สุด” จากการเข้าไปมีส่วนร่วมของ Green Pace Thailand กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ตัวอย่างที่ประจักษ์ก็คือ ผู้ใหญ่สมร บ้านขุนสมุทรจีน ที่เป็นตัวแทนของชุมชน ในการเรียกร้องและปรึกษา หารือเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายกับภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ท้ายที่สุดกระบวนการกำหนดนโยบายก็ไม่ได้เอื้อให้คนได้รับผลกระทบเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
“นโยบายของประเทศไทยว่าด้วยเรื่องการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีคำว่าผู้หญิงไม่กี่คำ คำว่าสิทธิมนุษยชนมีอยู่คำเดียว” คำเหล่านี้มักเป็นคำสำคัญที่มีส่วนกำหนดทิศทางของนโยบายและกระบวนการร่างนโยบาย จึงแสดงถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศและกลุ่มคนเปราะบางที่แทบจะเป็นศูนย์
สัญญาณของความไม่เท่าเทียมทางสภาพภูมิอากาศ
ในโลกทุนนิยมใคร ๆ ก็พูดว่าความจนคือสิ่งน่ากลัว และถ้าหากคุณเป็นผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศเด็ก คนชรา คนพิการและคนกลุ่มน้อยของสังคม หรือที่นิยามได้ว่าคนกลุ่มเปราะบาง คุณคิดว่าการใช้ชีวิตของคุณจะยากลำบากขึ้นแค่ไหนในสังคมที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสภาพจริงของสังคมที่พร้อมสนับสนุนการมีอยู่ของช่องว่างอันมหึมาระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ ปัจจัยที่อยู่อาศัย การเข้าถึงนโยบายของภาครัฐ หรือแม้กระทั่งความรุนแรงที่เข้ามากระทบจากปัญหาต่าง ๆ ในสังคม
ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เข้ามากระทบมวลมนุษยชาติระดับใหญ่ ๆ มาอย่างยาวนานก็คงจะไม่พูดถึงปัญหา “Climate Change” หรือที่เรียกว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือถ้าจะพูดให้เห็นชัด ก็คือ ภาวะโลกรวน การที่โลกของเราเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน เดี๋ยวแล้งนั่นเอง ซึ่งการที่เราอยู่กับวิกฤตนี้และเผชิญหน้ากับมันมานับร้อยปี เรียกได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นของ Climate Change นั้นพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่ามันสร้างความเสียหายอย่างไม่เลือกเพศ ชนชั้น ฐานะ ระดับการศึกษา หมายถึงไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มไหนในสังคม คุณก็ไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงผลกระทบของมันได้
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Green Pace Thailand
ซึ่งในสังคมไทย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Green Pace Thailand กล่าวว่าประเด็นของ Climate Change และประเด็น Gender (เพศสภาพ) นั้นที่มักถูกพูดถึง คือ เรื่องความเป็นธรรมทางสภาพอากาศ หรือ Climate Justice ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ครอบคลุมประเด็นความเป็นธรรมทางเพศสภาพ และมักมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีเจรจาเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่มักถูกหลงลืมและละเลยไป ซึ่งสถานการณ์ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Gender) ในประเทศไทยที่ดูเหมือนจะไกลตัว แท้จริงมันอาจเกิดขึ้นกับใกล้ตัวเราแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย
ความเงียบของภัยธรรมชาติที่ค่อย ๆ ก่อตั้งแต่ยังไม่รู้ความ
“ตอนเด็ก ๆ ก็รู้สึกสนุกดี ตอนที่น้ำทะเลเข้ามาในบ้านเพราะได้เล่นน้ำ แต่ตอนนี้บ้านหลังแรกอยู่ไกลจากบ้านตอนนี้เป็นสิบกิโล”
ครูนันทวรรณ เข่งสมุทรหรือครูกถิน ครูธุรการประจำโรงเรียนบ้านขุนสมุทรจีน ในฐานะที่เป็นคนที่เติบโตในหมู่บ้านนี้ตั้งแต่เกิด ซึ่งย้ายบ้านมาทั้งหมด 3 ครั้ง โดยที่เล่าว่าตอนยังเด็กยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องย้ายบ้าน เห็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เปียกน้ำหมดเลย รู้สึกตื่นเต้นและความสุขเพราะได้เล่นน้ำทะเลเย็น ๆ ที่ท่วมเข้ามาในตัวบ้าน
ครูนันทวรรณ เข่งสมุทร
แต่พอเริ่มเป็นวัยรุ่นการใช้ชีวิตเริ่มลำบาก เพราะมัธยมต้องไปเรียนในตัวเมือง การเข้าถึงการศึกษาของเด็กในหมู่บ้านเป็นเรื่องที่ยากมาก การสัญจรสมัยนั้นยังไม่มีถนนตัดผ่านหมู่บ้านเหมือนปัจจุบัน ต้องเริ่มเดินเท้าจากบ้านไปขึ้นเรือโดยสารของคนในหมู่บ้าน รอบละประมาณ 100 บาท พอออกจากหมู่บ้านได้ต้องขึ้นรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อไปรอรถโรงเรียน เสียเงินอีกประมาณ 40-50 บาท และสุดท้ายต้องต่อรถของโรงเรียน ทำแบบนี้ประจำทุกวันรวมถึงขากลับ ซึ่งหมายถึงจะต้องเสียเงินค่าเดินทางไป-กลับ เกือบสามร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เป็นจำนวนเงินที่มากแทบจะไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของครอบครัว แต่ยังได้รับโอกาสจนเข้ามหาวิทยาลัย จึงย้ายเข้าไปอยู่หอพักในตัวเมือง แม้จะเป็นเพียงวิทยาลัยในจังหวัด ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก แต่ก็ภูมิใจในตนเองและครอบครัวที่อดทนส่งเสียให้ได้รับการศึกษา การเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนของหมู่บ้านขุนสมุทรจีนมันมีความยากลำบากขึ้นไปอีกหลายเท่า
“ในเมื่อมีนักเรียน แม้จะเพียงหนึ่งคน โรงเรียนก็จะคงอยู่” ครูกถิน กล่าว
โรงเรียนขุนสมุทรจีน มีห้องเรียนเรียงกันหลายห้อง ภายในห้องเรียนตกแต่งไปด้วยรูปการ์ตูนสีสันสวยงาม มีแผ่นความรู้มากมายติดตามผนัง แต่กลับมีนักเรียนเพียงแค่ 4 คนประกอบด้วยนักเรียนชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 ชั้นปีละ 1 คน น้อง ๆ เป็นลูกหลานชาวขุนสมุทรจีนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนที่มีความพร้อมนอกหมู่บ้านได้ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น เป็นครอบครัวยากจน สถาบันครอบครัวมีปัญหา และมีความลำบากในการเดินทาง แม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะมีประสิทธิภาพในการเรียนการสอนไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีบุคลากรชั้นปีละ 1 คนต่อเด็ก 1 คน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องสอนทุกกลุ่มวิชาเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ความรู้ตามมาตรฐานการเรียนการสอนมากที่สุด การดำรงคงอยู่ของโรงเรียนท่ามกลางภัยธรรมชาติที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนัก มีผลกระทบต่อทั้งครูและนักเรียนบ้านขุนสมุทรจีน
และเรื่องราวของน้องพี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนแห่งนี้ ที่เติบโตและอยู่อาศัยในหมู่บ้านตั้งแต่เกิด ซึ่งอาศัยอยู่กับลุงที่มีอาชีพทำวังหอยแครง วังกุ้งและวังปู น้องพีเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะและปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้สถานการณ์ในครอบครัวบีบบังคับให้เขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองก่อนจะถึงเวลาที่เหมาะสม เริ่มจากที่ต้องเดินทางจากบ้านมาโรงเรียนด้วยตนเองทุกวันหลายกิโลเมตร ทำให้เกิดความลำบากและเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาโรงเรียนได้ตามปกติ และสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวย่ำแย่ลงเนื่องจากอาชีพประมงสร้างรายได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ในอนาคตอาจขาดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยม เพราะต้องช่วยครอบครัวทำอาชีพประมงต่อไป
น้องพี นักเรียนชั้นประถมศึกษา 6 เพียงคนเดียวในโรงเรียนขุนสมุทรจีน ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 4 คน
อีกทั้งความมั่นคงทางอาหารที่มีน้อย “อาหารทะเลก็อร่อยดีครับ แต่เบื่อแล้ว อยากกินอย่างอื่นบ้าง” น้องพีกล่าว รวมถึงสุขภาวะของเด็ก คนชรา และเพศหญิงที่มีความเปราะบางมากขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าถึงสถานบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตามโรงเรียนแห่งนี้เปรียบเสมือนคลังความรู้และแหล่งจุดประกายความฝันของลูกหลานคนหมู่บ้านตลอดมา แม้ว่าส่วนมากของนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือต้องออกจากระบบการศึกษากะทันหัน เนื่องจากต้องรับบทบาทช่วยครอบครัวทำอาชีพประมงก็ตาม เพราะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ที่จะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ในอนาคต แต่ครูของโรงเรียนขุนสมุทรจีนก็ยังหวังว่าจะช่วยมอบความรู้และทักษะการใช้ชีวิตไม่มากก็น้อย หากวันหนึ่งโรงเรียนนี้หรือหมู่บ้านต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้ายจนอาจจะต้องปิดตัวลงไปคงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านขุนสมุทรจีนไม่มีวันอยากให้เกิดขึ้น
เมื่อธรรมชาติสร้างบทบาทความเป็นแม่ให้ผู้หญิง
“วันนี้ไปส่งลูกตั้งแต่ตี 5 เพื่อจะออกไปหาหมอโรงพยาบาลในกรุงเทพ เพิ่งกลับมาถึงตอนบ่ายสาม” ครูกถินพูดจบก็รีบจอดรถมอเตอร์ไซค์เพื่อที่จะคุยกับเรา เพราะเพิ่งกลับจากโรงพยาบาล จะเห็นได้สัมผัสได้ว่าในฐานะแม่คนหนึ่งที่ต้องแบกรับภาระการดูแลครอบครัว ท่ามกลางการเกิด Climate Change และในหมู่บ้านที่แทบจะกลายเป็นเกาะนี้ก็เป็นความยากลำบากแต่ก็ต้องอดทนเพื่ออนาคตของลูกชายวัยอนุบาล แม้ว่าจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เงินเดือนการเป็นครูที่ได้เพียง 9000 บาทก็แทบจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของลูก ยังดีที่มีอาชีพประมงวังหอยแครงเป็นรายได้หลักพอประทังชีวิต ความกังวลต่อความไม่แน่นอนในที่อยู่อาศัยปัจจุบันทำให้ครูกถินต้องอดทนและทำงานหนักเพื่อให้ลูกชายมีอนาคตที่ดีและได้รับการศึกษาอย่างที่เธอเคยได้รับ
“ทำโฮมสเตย์มันไม่แน่นอน เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี อยู่ไม่รอดหรอก บางเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่มีคนมาเลย”
ผู้ใหญ่สมรที่ปัจจุบันหันมาทำโฮมสเตย์หรือบ้านพักตากอากาศ การท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศเพื่อความอยู่รอด กล่าวด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยความเศร้าและกังวล เพราะในอดีตการประมงจับสัตว์น้ำกุ้ง หอย ปู ปลาเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ประจำและเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต แต่เมื่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลร่อยหรอ ประกอบกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลให้การจับสัตว์น้ำเป็นไปได้ยากกว่าแต่ก่อนและมีจำนวนน้อยลง การทำประมงเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกต่อไป ถือได้ว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาที่มีมาอย่างช้านาน โดยที่มีปัจจัยทางธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ถึงแม้ว่าวันนี้สายสัมพันธ์ของชาวบ้านขุนสมุทรจีนกับท้องทะเลจะไม่แน่นแฟ้นเท่าในอดีต เนื่องจากปัจจุบันคนในหมู่บ้านต้องหาอาชีพสำรอง เช่น รับจ้างต่าง ๆ นอกหมู่บ้าน การทำโรงงานหรือการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การทำโฮมสเตย์ เพื่อเป็นรายได้แหล่งใหม่นอกจากการทำประมง แต่ท้องทะเลก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่มีวันแยกจากกันไปได้ของชาวบ้านขุนสมุทรจีน เนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของที่แหล่งนี้เสมอ
“Climate Change เป็นตัวคูณให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำกว้างมากขึ้น” ธารา บัวคำศรี กล่าว เราอยู่กับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสภาพภูมิกาศมานานเท่าที่ Climate Change จะเกิดขึ้นมาและจะยังส่งผลต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสภาพภูมิอากาศจะหายไป เช่น การที่ในเมืองใหญ่ชนชั้นแรงงาน ต้องออกทำงานหาเช้ากินค่ำ เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวนสุดขั้ว คนที่จะเจอเป็นด่านแรกก็คือสมาชิกครอบครัวที่เป็นเพศสภาพหญิง เนื่องจากเพศสภาพหญิงจะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่า ยิ่งช่วงการตั้งครรภ์ที่ต้องได้รับการเข้าถึงบริการทางสุขภาพมากกว่าปกติ นั้นคือสิ่งที่เพศสภาพหญิงที่อยู่ชายขอบต้องรับมือกับผลกระทบของ Climate Change ที่มันไม่สามารถจะฟื้นฟูได้ทันที และปัญหาก็ยังเข้ามาถาโถมเข้ามาเรื่อย ๆ โดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนเพิ่มขึ้นและนโยบายของภาครัฐที่เอื้อสำหรับคนเพียงบางกลุ่ม ดังนั้นช่องว่างของความเท่าเทียมทางเพศสภาพมันก็เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย ทำไมการออกไปต่อสู้ออกไปเรียกร้องความเป็นธรรม กลุ่มที่เป็นผู้หญิง เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้หญิงที่ต้องเจอปัญหาหนักสุดถึงไม่ได้รับการยอมรับเสียเลย
ขุนสมุทรจีน – อดีต ปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้นการได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ชายในชุมชน ผู้นำในชุมชน หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคมที่ร่วมทำงานด้วย ก็คือ กุญแจที่จะช่วยทำให้ผู้หญิงที่เป็นแนวหน้าในการเรียกร้องความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกิดความมั่นใจว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ในฐานะคนที่ได้รับบทบาทและต้องก็ต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรง และเข้าใจธรรมชาติของคนที่ได้รับผลกระทบที่เป็นเพศหญิง เนื่องจากการเจอกับวิกฤต Climate Change จะไม่สามารถที่จะรับมือได้เพียงลำพัง ดังนั้นการมีคนเข้ามาช่วยและสนับสนุนอย่างเข้าใจ จะสามารถช่วยให้ลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
วัดขุนสมุทรจีน ที่ปัจจุบันมีการสร้างอาคารยกสูงใหม่เพื่อดำเนินศาสนกิจ
แต่โบสถ์หลังนี้จะถูกวางไว้ ณ ที่แห่งนี้เพื่อเป็นหลักฐานการกัดเซาะชายฝั่งจนกว่าน้ำทะเลจะคืบเข้ามาจนมิดโบสถ์
ไม่ว่าจะผู้ใหญ่สมร ครูกถิน หรือชาวบ้านขุนสมุทรจีนต่างไม่ได้นึกถึงวันที่หมู่บ้านแห่งนี้จะต้องจมหายไปจริง ๆ และไม่คิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะตั้งแต่เกิด เติบโตและอาศัยที่นี่ เรียกได้ว่าตลอดทั้งชีวิตของพวกเขา ซึ่งมีทั้งความสุขและความผูกพันของคนในหมู่บ้านกันเอง ประกอบกับความคุ้นชินสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน และการที่ไม่สามารถย้ายออกจากหมู่บ้านได้เนื่องจากปัจจัยทางการเงิน จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนชรา คนวัยทำงาน คนวัยหนุ่มสาวและเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความหวังว่าในอนาคตพวกเขาจะสามารถอยู่กับพื้นดินที่พวกเขารักต่อไปได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงทะลายช่องว่างระหว่างกลุ่มคนในสังคม และสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เพื่อที่เสียงของคนทุกกลุ่มจะได้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเสมอภาค
“ถ้ามันถึงวันนั้นจริง ๆ ก็คงต้องคิดกันต่อไป ถ้าเรา (เมืองหน้าด่าน) จม กรุงเทพก็ต้องจม” ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร นักต่อสู้เพื่อแผ่นดินขุนสมุทรจีน กล่าวทิ้งท้าย
ผลงานของนิสิต นักศึกษาฝึกงาน Decode “ดีโคตร ๆ รุ่น 1”