อีกหนึ่งเวทีเสวนาซึ่งจัดโดย สภาองคก์ารลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด และโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 คือ เวทีเสวนา “เลิกจ้างที่(ไม่)เป็นธรรม-กลไกคุ้มครองแรงงานในช่วงวิกฤต” ฟังประสบการณ์การถูกเลิกจ้าง และการเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองจากแรงงาน
ขณะเดียวกันก็มีเสียงของนายจ้าง ผู้ประกอบการ และนักกฎหมายที่มาช่วยมอง ช่วยเสนอว่าแล้วระบบการคุ้มครองแรงงานแบบไหนที่เป็นธรรมทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง เพราะต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจย่ำแย่มาหลายปีอยู่แล้วก่อนช่วงโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง เพราะไปต่อไม่ไหว
จาก…เลื่อนจ่าย ถึง…ไม่จ่าย
ความไม่เป็นธรรมที่แรงงานเลือกไม่ได้
อนรรฆวรรณ ศรีจันทร์ เล่าประสบการณ์การถูกเลิกจ้างของตัวเองว่า ก่อนโดนเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 1 ส.ค.63 ก่อนหน้านั้นบริษัทประกาศปิดกิจการชั่วคราว 90 วัน โดยให้เหตุผลว่า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ระยะเวลา 90 วันนั้น พนักงานได้สิทธิประโยชน์ทดแทนจากประสังคม แต่พอครบกำหนดวันที่โรงงานต้องเปิด เช้าวันนั้น…บริษัทแปะป้ายประกาศ “เลิกจ้างพนักงาน” ในประกาศระบุว่าที่เลิกจ้าง เพราะพนักงานรวมตัวชุมนุมกันเมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 และเป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวเจ้าของบริษัท การเลิกจ้างแบบนี้ ทำให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างไม่ได้อะไรเลยในทางกฎหมาย 800 คนกลายเป็นคนตกงาน
ที่น่าสงสัยคือ ถ้าเป็นการเลิกจ้างจากปัญหาการรวมตัวชุมนุมจริง แต่ทำไมพนักงงานที่เขาหยุดงานตาม มาตรา 75 หรือคนที่ลางานในวันที่ 1 เม.ย. 63 (วันชุมนุม) ทำไมคนกลุ่มนี้จึงถูกเลิกจ้างด้วย
ตั้งแต่ปลายเดือน ธันวาคม 62 ช่วงนั้นพนักงานต้องได้รับโบนัส บริษัทจ่ายเงินให้ 30% และแจ้งว่าจะจ่ายส่วนที่ค้างให้พนักงานก่อนช่วงสงกรานต์ปี 63 ต่อมาบริษัททั้งเลื่อนทั้งพลัดมาเรื่อย ๆ จนมียอดค้างจ่าย 175% สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เดือนทั้งเดือนพนักงานได้เงินเดือน 1,000 บาท ลองนึกภาพว่า เราจะกิน-อยู่กันอย่างไร
จากวันที่บริษัทปิดตัวลง นายจ้างเคยสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างไว้ภายใน 29 พ.ค. 63แต่ทุกวันนี้ยังค้างจ่าย ชีวิตวันนี้คือ เป็นหนี้ ต้องดิ้นรนทำงานหนักขึ้น และต้องทวงสิทธิตัวเองด้วยการยื่นเรื่องใช้สิทธิผ่านทางศาล
บังคับให้ออกจากงานเพราะท้อง!!
ลาออก!? ตามมาตรา 43 ของ พรบ.แรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ระบุชัดเจนว่า นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างลูกจ้างเพียงเพราะเป็นหญิงมีครรภ์ได้ แต่…สิ่งที่เกิดกับ อินธุอร อินบุญ แรงงานหญิงตกงาน เป็นสิ่งที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับ ม.43
“เคยเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่งในสมุทรปราการ ประมาณ 2 ปี แต่หลังจากที่เราตั้งครรภ์ ตอนที่เราตั้งครรภ์ยังไม่เป็นปัญหา แต่หลังจากที่เราคลอดแล้ว จุดขัดแย้งอยู่ตรงนี้ ตรงที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าแรงลาคลอด 45 วัน”
ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำกับความซับซ้อนเรื่องสิทธิและกฎหมาย เป็นของหวานของนายจ้างที่ชอบเอามาแอบอ้างไม่ยอมจ่าย “หลังจากที่เราคลอด เราก็ไปถามว่าทำไมไม่จ่ายเงิน 45 วัน เขาอ้างว่าประกันสังคม อ้างว่าเป็นคนละส่วนกัน หรือถ้าอยากได้…ก็ให้ไปฟ้องเอา”
ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น กับการเลี่ยงความรับผิดชอบที่ไม่ต่างจากการลักไก่ “เมื่อไม่ยอมจ่าย เมื่อเกิดความขัดแย้ง เรารู้สึกถูกกดดัน ก็จำเป็นต้องลาออก”
ปัญหาแรงงานหญิงถูกกดดันเพียงเพราะบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินลาคลอด ดูเหมือนเป็นปัญหาไร้ทางออกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดที่สะท้อนถึงวิกฤตซ้อนวิกฤต เมื่อปัญหาปากท้องเป็นลำดับรองที่ตามมา
“พนักงานมีภาระ มีค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่าย ค่าเลี้ยงดู ที่ต้องจ่าย ซึ่งลักษณะของนายจ้าง นอกจากไม่จ่ายค่าลาคลอด ถึงเวลาจ่ายค่าจ้างก็ไม่จ่าย แต่เราเดือดร้อน”
นายจ้าง-ลูกจ้างหัวอกเดียวกัน
สิทธิรัตน์ โหตระไวศยะ ประธานสภาองค์การนายจ้างบริการไทย ยืนยันว่านายจ้างและลูกจ้างต่างก็เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน แต่ในภาวะฉุกเฉินต้องยอมรับความจริงว่ามีนายจ้างหลายคนที่เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ทัน ซึ่งสุดท้ายก็นำไปสู่การฟ้องร้องเรื่องค่าจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
โดยเสนอทางเลือกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาครัฐจะเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกันในเรื่องนี้ อย่างการมีกองทุนประกันความเสี่ยง สำหรับใช้ในภาวะวิกฤต ภายใต้รูปแบบการออมเงินไว้หนึ่งส่วนสำหรับประเด็นนี้โดยเฉพาะ สิทธิรัตน์ มองว่า การทำอย่างนี้จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง และเสริมย้ำว่าเพื่อให้เสียงดังขึ้น ไม่ใช่แค่นายจ้างที่ต้องออกมาเรียกร้องกับทางภาครัฐเพียงอย่างเดียว ลูกจ้างเองก็ต้องช่วยออกมาขับเคลื่อนในประเด็นนี้ไปพร้อมกัน
สิทธิรัตน์ได้ทิ้งท้ายอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างประเด็นเงินออมสำหรับแรงงานวัยเกษียณ เพราะตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทั้งนายจ้างและแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้มีการวางแผนในตรงนี้และอาจจะกลายเป็นปัญหาต่อไปได้
“รัฐบอกว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ช่วยจ้างงานผู้สูงอายุหน่อยได้ไหม กระทรวงแรงงานบอกให้จ้าง แต่กระทรวงอื่น ๆ ไม่ให้จ้าง แล้วจะให้เราทำอย่างไร”
ระบบราชการไม่ช่วย “คนตกงาน”?
สุเทพ อู่อ้น จากอดีตพนักงานจนปัจจุบันเป็นสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน ภาพรวมที่ผ่านมายังมองเห็นข้าราชการบางท่านไม่ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเข้มข้น กฎหมายที่กำหนดไว้ อย่างกฎหมายแรงงาน ซึ่งกฎหมายแรงงานเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่เป็นเรื่องพื้นฐาน กลับมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
ก่อนวิกฤตโควิด-19 เข้ามา นายจ้างเขามีกำไรอยู่บางส่วน เขาล้มจริง ๆ แต่ไม่ได้ล้มทั้งหมด อย่างกรณี การร้องเรียนของนายจ้างผิดนัดจ่ายค่าจ้าง ทำให้ลูกจ้างบุกสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในจังหวัดนครสวรรค์และสมุทรปราการ สร้างช่องโหว่ให้นายจ้างหลายพื้นที่ทำตามแบบอย่าง
กมธ.ได้ทำเรื่องให้ทางกระทรวงแรงงานได้พิจารณาเงื่อนไขของการจ่ายมาตรา 75 จากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเงื่อนไขของกฎกระทรวงที่มีการดำเนินการจ่ายด้วยเหตุสุดวิสัย ให้ไปรับเงินประกันสังคม 62% สร้างความย้อนแย้ง แรงงานกลุ่มหนึ่งรับ 75% จากมาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กลับมีอีกกลุ่มรับ 62% จากประกันสังคม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
“ถ้าระบบการทำงานของข้าราชการยังเป็นแบบนี้ต่อ ลูกจ้างลำบากเราต้องวิเคราะห์จุดประสงค์ของประกันสังคม ประกันสังคมต้องไม่เป็นภาระใคร” ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง อย่างเรื่องแรงงานนอกระบบ
“เขามีอะไรเป็นหลักประกันประกันสังคมยังไม่ได้ ม.40 ไม่ตอบโจทย์” ส.ส.สุเทพ กล่าวทิ้งท้าย
แรงงานเป็นเหยื่อของวิกฤตครั้งนี้ ?
เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เราต้องมีเครื่องมือที่รับสถานการณ์วิกฤต แต่วันนี้ในสถานการณ์ที่มีโจทย์ใหญ่ 2 เด้ง ทั้งพิษเศรษฐกิจและโควิด-19 เราไม่มีเครื่องมือรับวิกฤตนี้
กฎหมายคือตัวปัญหา เพราะเราเอากฎหมายเป็นตัวตั้งและตัวชี้วัด มันเลยเป็นปัญหาของทุกเรื่อง สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 สังคมต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ต้องมองให้เห็นปัญหาและผลกระทบที่เป็นจริงเพื่อจะได้สร้างแผนและนโยบายที่เหมาะสม
เวลานี้เราไม่มีกฎหมายรองรับวิกฤตเศรษฐกิจเลย มีแค่ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 ที่มีเนื้อหาแตะ ๆ ไว้เล็กน้อยเท่านั้นกฎหมายไม่ใช่ทางออก ตอนนี้เราไม่มีหลักกฎหมายที่รองรับวิกฤต มีแต่เรื่องหลักการพิจารณากรณีเลิกจ้างเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของศาลฎีกา ประกอบด้วย
1.) ไม่มีเหตุการเลิกจ้าง
2.) เกิดเหตุไม่จริงที่ต้องเลิกจ้าง
3.) กระทำการไม่สุจริต หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่ทำกัน
4.) การเลิกจ้างนั้นต้องมีเหตุ เหตุนั้นต้องเป็นเหตุผลอันสมควรที่ให้เลิกจ้างเพราะจะทำให้บริษัทอยู่ไม่ได้
“ผมคิดว่าหลักกฎหมายมันไม่มีทางเข้ากับวิกฤตได้เลย”
นอกจาการอภิปรายของผู้ร่วมเสวนาบนเวทีแล้ว ผู้ร่วมวงเสวนายังได้แลกเปลี่ยนและเสนอทางออกด้วย ตั้งแต่การขอให้รัฐดูแลลูกจ้างกลุ่มเปราะบาง เช่น คนตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ หรือกลุ่มช่วงวัย 45 ปีขึ้นไป ที่มักถูกเลิกจ้าง ความเป็นไปได้ในการบังคับใช้กฎหมาย หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยควรต้องคดีอาญาฐานฉ้อโกง หรือข้อเสนอที่ว่าหากเกิดเหตุวิกฤตห้ามให้นายจ้างเลิกจ้างเด็ดขาด เว้นแต่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐแล้ว