การเมืองซึมลึกในทุกมิติของสังคม แม้แต่ในสังคมกิน-ดื่ม ในวันที่ท้องถิ่นลุกขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐรื้อระบบทุนผูกขาด แก้ไขกฎหมาย และผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ของอุตสาหกรรมสุราไทย
De/code ชวนอ่านบทสนทนามากดีกรี ในงานแถลงข่าว BEER PEOPLE 2023 ของ ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งเพจประชาชนเบียร์และ เบียร์-ภาคภูมิ เพลงพลึ้ง เจ้าของโรงกลั่นบูรพา เบฟเวอเรจ (Burapha Beverage) มากกว่าการ จัดงานเบียร์ในไทยคือการเดินทางของการปลดล็อกเบียร์-สุราพื้นบ้านเสรี และรื้อโครงสร้างทุนใหญ่
เป็นไปได้แค่ไหนที่ตลอดซัพพลายเชนนี้จะกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และทั่วถึงคนทุกระดับ โดยเฉพาะคนต้นน้ำอย่างเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้ในวันที่ข้าว-อ้อย-ผลไม้ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าจากหลักร้อยไปเป็นหลักล้านได้เช่นกัน
สุราชุมชน(เกือบไม่ถูกค้นพบ) หลายพันราย
แม้กระแสของเบียร์คราฟท์จะมาแรงในช่วง 10 ปีหลัง เกิดนักต้มและสูตรเบียร์รายใหม่มากมายในอุตสาหกรรมนี้ ทว่า กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงอีกกลุ่มของการขับเคลื่อนและเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยคือกลุ่มสุราชุมชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
“ถึงเราจะพูดถึงเบียร์คราฟท์กันเป็นส่วนใหญ่ แต่สุราชุมชนหรือเหล้าจากพี่น้องแทบทุกจังหวัดของประเทศก็เข้ามาขายที่งานของเราตั้งแต่งานที่แล้วจำนวนมาก เราพบว่าตัวเลขของสุราชุมชนแค่ที่เราเข้าถึงคือไม่ต่ำกว่า 1,000 กว่าราย บางรายเราก็พึ่งเคยได้ยินชื่อแต่สามารถผลิตเหล้าขาวที่รสชาติดีมาก ๆ จากพื้นที่ของตัวเอง มันทำให้คิดต่อว่าที่ผ่านมาพวกเขาถูกทำให้อยู่ที่ไหนกัน” ธนากรกล่าว
ปัจจุบัน มีผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตสุราชุมชน แบ่งเป็นสุราแช่ชุมชน 1,970 ราย และสุรากลั่นชุมชน 6,116 ราย
ในขณะที่สินค้าทางการเกษตรราคาผันผวน บางปีที่ราคาข้าว อ้อย ผลไม้ต่าง ๆ ราคาตก นี่เป็นอีกช่องทางที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรของพวกเขาได้ง่ายที่สุด แต่รัฐกลับทำให้มันยาก
เนื่องจากเงื่อนไขและมาตรการต่าง ๆ จากประกาศกระทรวงการคลัง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2544 ในส่วนของการใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน กำลังการผลิตที่น้อยยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สุราชุมชนไม่สามารถขยับขยายและไปไม่ได้ไกลกว่าที่ควรเป็น
ธนากรกล่าวว่า เพราะความเป็นจริงวิสาหกิจสุราชุมชนเป็นชาวเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ นอกเหนือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาล ก็มีการทำเหล้าชุมชนที่เป็นทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชนและเครื่องดื่มท้องที่
หลากหลายพื้นที่มีสูตรสาโท เหล้ากลั่น ยาดอง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมาช้านาน ฝีมือและสูตรลูกแป้งที่ส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น คือคำถามสำคัญว่ากฎหมายในการผลิตเหล้านี้ถึงยังปิดกั้นช่องทางรายได้และการส่งต่อวัฒนธรรมของชุมชนนับหลายสิบปี
ในปี 2566 แม้ตัวเลขหลักพันจะเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยสำหรับสุราชุมชนที่สนใจมาเข้าร่วมในงานเทศกาลเบียร์ที่ธนากรจัด ทว่า หากนับเป็นสัดส่วนก็ยังมีของดีที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกหลายพันเจ้าเช่นกัน
เมื่อการปิดกั้นสุราชุมชนไม่ให้เติบโต ไม่เพียงเป็นการปิดกั้นรายได้จากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร แต่อาจกำลังทำให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิปัญญาซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมของหลายชุมชนต้องหายไป
เหล้าขาวลูกน้ำเค็ม จะกระจายรายได้ต้องเริ่มจากต้นทาง
ทุกปี เกษตรกรชาวไทยต้องพบเจอปัญหาราคาผลผลิตทางเกษตรราคาตก ทั้งในแง่ของกลไกทางการตลาดและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป การแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเหล่านี้คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรไม่ขาดรายได้และยกระดับวัตถุดิบของไทยไปอีกขั้น
ภาคภูมิ เจ้าของโรงกลั่นบูรพา เบฟเวอเรจ เล่าถึงที่มาที่ไปของการทำเหล้าขาวหรือสุรากลั่นในพื้นที่ โดยใช้อ้อย เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งมาจากไร่ของคนในพื้นที่ติดกับข้างโรงงาน
เบียร์-ภาคภูมิ เพลงพลึ้ง เจ้าของโรงกลั่นบูรพา เบฟเวอเรจ
“เรามีร้านเหล้าเป็นบาร์ค็อกเทล แล้ววันหนึ่งเราอยากทำเหล้าให้มันได้รสชาติของเราเอง ทั้งใช้ที่ร้านและส่งขายด้วย ส่วนใหญ่ที่บางแสนจะทำเบียร์คราฟท์เป็นส่วนใหญ่ แต่เรามองว่าวัตถุดิบอย่างอ้อยที่บางแสนก็เยอะ ทำไมเราถึงไม่ทำเหล้าจากวัตถุดิบบ้านเราเอง” ภาคภูมิกล่าว
ภาคภูมิเลือกที่จะใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิต เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่มีน้ำตาลสูง เหมาะกับการทำเหล้า และบางแสนเอง มีสวนไร่อ้อยจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องสูญเสียผลผลิตเหล่านี้เพราะขายไม่หมด การรับซื้อจากชาวไร่โดยตรงก็เป็นอีกทางที่จะแปรรูปสินค้าเหล่านี้ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น รวมถึงนี่คือการกระจายรายได้ที่จะทำให้ท้องถิ่นสามารถพยุงเศรษฐกิจในพื้นที่กันเองได้
“อ้อยที่บางแสนก็จะมีกลิ่นหนึ่งที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ด้วยความเป็นดินที่ใกล้กับทะเล เรื่องของลม เรื่องของน้ำ มันจะเป็นรสหวานนำเค็มปลาย ซึ่งมีน้อยที่ที่จะมีรสชาตินี้”
ภาคภูมิเสริมว่าเหล้าขาวเป็นตัวที่เจาะกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ดีที่สุด เนื่องจากคนในพื้นที่นิยมบริโภคกันเยอะ ลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งบุคคลทั่วไป แต่จะมีกลุ่มที่มาซื้อเป็นพิเศษคือกลุ่มพนักงานโรงงาน
ถึงแม้เหล้าขาวจะเป็นตัวชูโรง แต่ภาคภูมิมองว่า ทำไมผลผลิตทางการเกษตรอย่างอ้อยของบางแสนถึงจะต้องจำกัดอยู่แค่เหล้าขาว ทำไมเราไม่สามารถทำเป็นเหล้าประเภทอื่น ๆ ที่แตกต่างกันทางกรรมวิธีการผลิตและรสชาติ
การจำกัดการผลิตหรือการกลั่นสุราในประเทศไทยจึงเป็นการปิดกั้นรสชาติที่มีความเป็นไปได้หลากหลายของวัตถุดิบในท้องที่ เป็นอีกส่วนหนึ่งหากการแก้ไข พ.ร.บ. สุราเสรีสำเร็จ ความเป็นไปได้อีกนับไม่ถ้วนจะเกิดขึ้นตามมา
จากภาพจำของสุราชุมชนคือสุราเถื่อน ในวันนี้มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่พยายามปรับตัวเข้ากับกระแสโลก เพื่อนำของดีท้องถิ่นมาสู่ภายนอก เพื่อกระจายรายได้และสร้างความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมเหล้าไทยและอุตสากรรมการเกษตรไทย ให้ไม่ติดอยู่กับที่เดิม
ปลาเล็กเบียร์คราฟท์ ในอวนจับของเบียร์แมส
เมื่อเบียร์คราฟท์กับเบียร์แมส เปรียบเสมือนแนวคิดคนละขั้วที่ดูไม่มีวันบรรจบกันได้ ทว่าในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ธนากรกล่าวว่า “ผมเองก็ยังอยากเห็นการร่วมมือระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อยเหมือนกัน ลองคิดดูสิว่าอุตสาหกรรมเหล้าไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน”
“สิ่งที่พวกเขากลัวคือการที่เบียร์คราฟท์มาครองตลาดแล้วจะแย่งสัดส่วนลูกค้าในตลาดของพวกเขาไป ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ถามว่าถ้าวันนี้เบียร์คราฟท์ถูกกฎหมายแล้วคนจะเลิกกินเบียร์แมสหมดเลยไหม มันไม่ใช่แบบนั้น คุณดูอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลี ทำไมเขามีสาเก มีโซจูของทุกพื้นที่ ในขณะที่เบียร์เจ้าใหญ่ก็ยังเป็นที่นิยม นี่เป็นหลักฐานสำคัญว่าความหลากหลายและการกระจายรายได้มันสำคัญยังไง”
ธนากรยังเน้นย้ำว่า สิ่งที่เขาอยากเห็นและผู้ประกอบการรายย่อยอยากได้ คือรสชาติที่หลากหลาย ไม่ใช่การแย่งลูกค้าของใคร
ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งเพจประชาชนเบียร์
ปัจจุบัน การจัดเทศกาลเบียร์ตลอดทั้งวัน หรือจัดในช่วงกลางวันยังคงผิดกฎหมายในประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ พ.ศ.2558 รวมถึงข้อห้ามอื่น ๆ ซึ่งธนากรคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีคนเข้าร่วมงานไม่น้อยกว่าหลักหมื่นคน
“มันก็ยังคงย้ำว่า บางเจ้าที่เขาไม่มีทุนไปจดทะเบียนเพื่อผลิตในปริมาณที่ลูกค้าเขาต้องการจริง ๆ มันมีอยู่อีกมาก นั่นเท่ากับว่าผู้ประกอบการรายย่อยก็ต้องคอยหลบเลี่ยง ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าก็เป็นหลักฐานยืนยันแล้วว่าพวกเขามีความสามารถในการผลิตเหล้า/เบียร์แค่ไหน”
ไทยทำ ทั้งไทยและเทศดื่ม
“ความฝันของผมอย่างหนึ่ง คืออยากเห็นต่างชาติมาเที่ยวที่บ้านเรา เพื่อมาเทศกาลเบียร์คราฟท์ที่จัดขึ้นในประเทศไทย” ธนากร กล่าว
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นงานแรกเมื่อปี 2020 ธนากรอยากรวมตัวคนในอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ เพื่อร่วมกันสื่อสารข้อความสำคัญไปยังภาครัฐให้เห็นความสำคัญของประชาชนที่มีความสามารถ และนำเอาของดีท้องถิ่นมาเป็นส่วนประกอบในการทำเบียร์ ให้คนทั่วไปได้เห็นว่าเหล้าเบียร์ก็สามารถช่วยในด้านเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การท่องเที่ยวได้จริง
ถึงแม้ปัจจุบันคราฟท์เบียร์ยังคงเป็นตลาดเล็ก ๆ เนื่องจากราคาคราฟท์เบียร์ยังคงสูง เข้าถึงคนไม่กี่กลุ่ม แต่หากการผลักดันนี้สำเร็จ จะทำให้ต้นทุนของการผลิตต่อครั้งของผู้ประกอบการหลายรายลดลงและทำให้ราคาสามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น
การจัดกิจกรรมทุกครั้ง จึงเป็นงานเพื่อดันเพดาน ผลักดันกฎหมาย ผ่านการจัดงานเบียร์ และตลอดเวลาที่ทำงานผ่านมาหลายปี เราพบว่าการจะแก้กฎหมายได้ประชาชนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่เบียร์ แต่ยังรวมไปถึงสุราชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการรวมตัวที่เข้มแข็งมากขึ้น
ธนากรยอมรับว่า ปัจจุบันขบวนการกำลังพยายามที่จะพา คนดื่ม-คนต้ม-คนขาย เดินหน้าไปด้วยกัน แต่ละคนอาจจะไม่ได้มากกว่ากันแต่การเดินไปด้วยกัน ขับเคลื่อนไปพร้อมกันจะทำให้อุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ไทยแข็งแรงขึ้น แต่การนำพาเกษตรกรหรือคนต้นน้ำเข้ามาร่วมในขบวนการยังคงเป็นเรื่องที่ไปไม่ถึง
“เรายอมรับเลยว่าเรายังเข้าไม่ถึงเกษตรกรในรูปแบบของ Supplier ที่ส่งผลผลิตให้กับผู้ประกอบการ ในวันนี้เราพยายามพาสุราชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่เองเข้ามาอยู่ในขบวนการเรียกร้อง แต่ในอนาคตเราอยากพาเกษตรกรเข้ามาร่วมในขบวนการด้วยมาก ๆ ในวันที่การเรียกร้องจะเพิ่มขึ้นจากแค่การต้มเบียร์ขาย มันจะเป็นเรื่องการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ตอนนี้เรากำลังขึ้นไปสู่จุดนั้น เพียงแต่วันนี้เรายังไม่ไปไม่ถึง”
ด้านภาคภูมิเอง ก็หวังจะให้รัฐมองเห็นคุณค่าของการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเช่นกัน เขาเล่าว่าที่บางแสน ชาวสวนไร่อ้อยก็มักจะแปรรูปเป็นแค่น้ำอ้อยขายตามข้างทาง แต่เพราะสินค้าเหล่านี้มีระยะเวลาจำกัด นอกจากทิ้งลำต้นตั้งแต่ตอนแรกเมื่อขายไม่ออก เมื่อนำมาคั้นเป็นน้ำก็ยังขายไม่ได้อีก ทั้งหมดนี้นับเป็นการเสียของโดยเปล่าประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่อ้อยบางแสนก็มีเสน่ห์และรสชาติที่ไม่เหมือนใคร
“ทำไมการนำอ้อยมาอยู่ในขวดเหล้าถึงยาก ทั้ง ๆ ที่แปรรูปแล้วได้ราคาดีกว่า เก็บรักษาได้นานกว่า เราอยากเห็นผลผลิตในพื้นที่ไปได้ไกลมากกว่านี้”
เมื่อการต่อสู้ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่แล้ว ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการบ่มความสำเร็จระยะยาว วันนี้ทั้งธนากร ภาคภูมิ และผู้ประกอบการอีกหลายรายยังต้องต่อสู้เพื่อรสชาติที่หลากหลายมากกว่านี้
ในอนาคต การผลักดัน พ.ร.บ.สุราเสรี จึงไม่หยุดอยู่ที่การจดทะเบียนต้มเหล้า/เบียร์ ที่ทุนจดทะเบียนไม่สูงลิ่วและทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพียงอย่างเดียว แต่มันยังส่งผลถึงแนวคิดที่รัฐที่จะต้องผลักดันอย่าง การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ที่ขบวนการจะต้องนำพาเกษตรกรเข้ามาร่วมเรียกร้องในการสร้างรายได้ที่มากขึ้น จากความเชื่อมโยงนี้ จะพบว่าการผลักดันจึงจำเป็นที่จะต้องไปด้วยกันทุกภาคส่วน เพราะผลประโยชน์จะไม่ตกอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การเรียกร้องจึงต้องใช้หลายฝ่ายเพื่อให้ภาครัฐตระหนักถึงผลประโยชน์ของทุกคน
จะดีกว่าไหมถ้าผลผลิตทางการเกษตรสามารถเก็บรักษาไว้ได้ในขวดเหล้า มากกว่าเม็ดเงินหลักแสนล้านต่อปีเข้ากระเป๋าของนายทุนไม่กี่เจ้าในประเทศ