“ไปต่อแถว ไปต่อแถว“
วลีเด็ดในการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่กล่าวซึ่งหน้าต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ประโยคสั้น ๆ นี้เอง คนวงนอก คนดู LIVE บอกว่าเป็นวิธีการชาญฉลาด ทั้งการใช้คำ การควบคุมสถานการณ์ที่ค่อนข้างวุ่นวายเมื่อรัฐมนตรีปรากฎตัว และที่สำคัญที่สุดคือ “การสื่อสาร” ถึงตัวเจ้ากระทรวงอย่างตรงไปตรงมา
#เลิกเรียนไปกระทรวง อีเว้นท์ล่าสุดของกลุ่ม “นักเรียนเลว” เป็นการนัดหมายกันทางออนไลน์เพื่อรวมตัวกันหน้ากระทรวงศึกษาธิการ การนัดหมายนี้เกิดขึ้นหลังมีนักเรียนมัธยมหลายแห่งทั่วประเทศนัดกัน “ชู 3 นิ้ว” หรือ “ผูกริบบิ้นขาว” แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ปรากฎว่าการแสดงจุดยืนในรั้วโรงเรียน สถานที่ที่ควรเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” นักเรียนหลายคนต้องเผชิญการถูกคุกคาม การทำร้ายจากครู ทั้งทางวาจา หรือร่างกาย บางแห่งมีเจ้าหน้าที่รัฐข้ามรั้วโรงเรียนมาร่วมจับตาด้วย
ในวันที่คนมากมายพูดว่าเด็กรุ่นใหม่-เยาวชนกำลังเบ่งบาน กำลังจะพาสังคมเข้าสู่วัฒนธรรมประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งความเบ่งบานกล้าพูด กล้าวิจารณ์ กล้าตั้งคำถาม ก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากผู้ใหญ่ว่า ถูกล้างสมองหรือไม่ ? หรือเป็นเด็กนักเรียนมีหน้าที่เรียน เหตุใดจึงไม่เรียน ?
Decode ชวนนักเรียน และนักวิชาการด้านการศึกษาพูดคุยถึง “สิทธิและหน้าที่” ของนักเรียนที่มีฐานะเป็น “พลเมือง” คู่ขนานกับบทบาทของครู-สถาบันการศึกษา แม้เห็นต่าง แม้ไม่ชอบใจ แต่ไม่ใช่เเงื่อนไขที่จะทำให้เสียงนี้เงียบลง
01 อย่าหาทำ
“ครูเขาบอกแต่แรกเลยว่า อย่าทำนะ ถ้าจะทำให้ไปทำที่อื่น”
ปลา นักเรียนชั้น ม.ปลาย จาก #โรงเรียนหน้าเขาไม่เอาเผด็จการ โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ คุยกับเราทางโทรศัพท์หลังเลิกเรียน ปลาเป็น 1 ในเด็กนักเรียนที่ชูสามนิ้วระหว่างการเข้าแถวเคารพธงชาติ ปลาบอกว่า ไม่รู้ว่าจะมีคนชูเหมือนกันไหม แต่พอชูขึ้นมา คนอื่น ๆ ก็เริ่มทำตาม ชูได้เพียงไม่นาน ปลา และเพื่อน ๆ ในแถวต่างโดนครูตะโกนด่า ปลาใช้คำว่า “ด่ากราด” ตั้งแต่ต้นแถวไปจนถึงปลายแถว บางคนถูกครูพับแขนลง
“การชู 3 นิ้ว เป็นการแสดงจุดยืนส่วนบุคคล มันหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาค และที่ชู 3 นิ้วตอนเพลงชาติขึ้นส่วนหนึ่งมันเป็นสัญญลักษณ์ว่าชาติยังต้องการเสรีภาพ เสมอภาค และต้องการอยู่ร่วมกันแบบภราดรภาค กับอีกอันหนึ่งที่ทำในโรงเรียนเพราะก็มีแค่ที่บ้าน และโรงเรียน”
จบกิจกรรมหน้าสาธงใช่ว่าการต่อว่า หรือข่มขู่จากโรงเรียนจะจบไป ปลาบอกว่าเพื่อน ๆ ร่วมชั้น ต่างโดนต่อว่าต่อในห้องเรียนด้วยถ้อยคำเสีย ๆ หาย ๆ เช่น “ไม่มีสมอง” ส่วนปลาเองไม่ได้เจออะไรต่อจากนั้น อาจเพราะที่ผ่านมาเคยโดนมาแล้ว จากการเริ่มออกมาแสดงจุดยืนช่วงที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ครูเคยเรียกไปต่อว่า
“โดนว่าพวกโง่ โดนหลอกใช้ เราก็อธิบายไปว่า ที่เราต้องออกมาเพราะตอนนี้การเมืองมันย่ำแย่แค่ไหน เพราะการบริหารที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่ควรอย่างไร อาจารย์ก็เงียบไปนะ ไม่ได้ต่อว่าต่อ เหมือนจะเห็นด้วยด้วยนะ”
แต่เรื่องราวก็ไม่จบ หลักจากนั้นปลาโดนครูคนเดิมพยายามไปบอกเพื่อน ๆ ของปลาให้เลิกคบ “อาจารย์บอกว่า คนนี้โดนพรรคการเมืองส่งมายุงยงปลุกปั่นนักเรียน ฟังครั้งแรก ตลกนะ อาจารย์ตอบคำถามของเราได้ในวันที่เราคุยด้วยเหตุผลกันดี ๆ แต่อีกวันหนึ่งเจอกัน เราก็พูดกับอาจารย์ยิ้มแย้ม ถามสารทุกข์สุขดิบกัน พอจะไปอาจารย์กักเพื่อนไว้คนพอเพื่อนมาถึงห้องแล้ว ก็วิ่งตามขึ้นมาบอกว่าอาจารย์สั่งให้เลิกคบเราเป็นเพื่อน เพราะเป็นพวกหัวรุนแรง โดนล้างสมอง”
“ถ้าโดนล้างสมองจริง ๆ คงไม่สามารถตอบคำถามเชิงเหตุผลได้ คนโดนล้างสมองจะวนเวียนกับคำตอบเดิม ๆ คำพูดเดิม ๆ ไม่เปิดรับเหตุผล ผมมีเพื่อนอีกหลายคน ลุกมาพูดกับอารย์อย่างสันติวิธีเป็นเหตุผล นี่ไม่ใช่การถูกล้างสมอง”
ความเชื่อมั่นในสิทธิของตัวเองว่าสามารถแสดงออกได้ตามกฎหมายรับรอง มากไปกว่านั้นปลามองตัวเองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นประชาชนคนหนึ่ง ทำให้ปลาไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่นักหากถูกต่อว่า พร้อมบอกว่า พยายามตั้งใจเรียน และอยู่ในระเบียบของโรงเรียนเพื่อตัดโอกาสที่ครูจะเอาเรื่องการแสดงทางการเมืองมาใช้เป็นเป้าโจมตี เพราะมีบางโรงเรียนที่ประกาศว่าหากทำจะถูกตัดคะแนน
“เขามีสิทธิ์อะไรมาตัดคะแนน เราชู 3 นิ้ว ตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับรองสิทธิ์นี้จากรัฐธรรมนูญ โรงเรียนไม่มีสิทธิ์อะไรมาตัดคะแนน แต่เราก็เข้าใจครูในมุมหนึ่งว่าระบบข้าราชการเองก็ไม่ได้เปิดให้ครูแสดงความคิดเห็น แต่อย่างว่ามันก็เป็นสิทธิ์ที่คนควรมี”
เราถามว่า ห้องเรียนในฝันของปลาเป็นแบบไหน ปลาบอกว่า เป็นโรงเรียนที่เนื้อหาการเรียนครอบคลุมทันสมัย ครูอาจารย์เสมอกับเด็ก เสมอในที่นี้ไม่ใช่ว่าอาจารย์ต้องลดมาต่ำกับเด็ก เสมอกันคือให้เกียรติกัน ปลาก็ยังต้องไหว้อาจารย์ อาจารย์ก็ดูแลนักเรียน แต่ครู-นักเรียนเสมอภาคทางความคิด โต้แย้งเต็มที่เพราะบางครั้งเด็กเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าครู อยากให้คุยกันอย่างเสรี
02 นักเรียน = ประชาชน
“Our First Dictatorship is School” เผด็จการที่แรกคือโรงเรียน ไม่ซับซ้อนและตรงไปตรงมา นักเรียนคนที่ 001 ผู้ถือป้ายนี้มาร่วมการชุมนุม #เลิกเรียนไปกระทรวง เธออธิบายว่า โรงเรียนเป็นเผด็จการในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การใส่เสื้อซับของนักเรียนหญิง การไม่เข้าใจการมีอยู่ของ LGBTQI โรงเรียนลิดรอนกฎกระทรวง ผู้อำนวยการ คุณครูก็ด้วย ครั้งหนึ่งมีข่าวนักเรียนโดนลวนลามทางเพศแทนที่สังคม หรือครูจะเพ่งเล็งไปที่ครูไม่ดี แต่กลับมีครูออกมาเห็นด้วย ให้กำลังใจเสมอ หรือบางคนบอกว่าเด็กอ่อย มองความผิดอยู่ที่นักเรียน หรือจะเป็นเรื่องการแต่งตัว ห้ามใส่ชุดชั้นในสีสัน หรือบางทีชุดของโรงเรียนนั้นบาง ถ้าอยากได้หนาก็ต้องจ่ายราคาแพง
นอกจากนี้ ในมุมของการศึกษาก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่ เช่น เด็ก ม.6 อยากเข้าสายสถาปัตย์ แต่โรงเรียนไม่มีสอนเลยเขาก็ต้องไปเรียนเพิ่มเอง ทุกวันนี้สอนพวกรำกระบี่ซึ่งมันไร้ค่า
เราสังเกตเห็นที่กระเป๋าเสื้อ และโบว์ผูกผมของนักเรียนคนนี้ติด QR CODE ไว้ เธอบอกว่าเป็น QR CODE ที่อธิบายความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงในพื้นสาธารณะมากนัก “สังคมปิดเรื่องนี้ เรียกชื่อนี้ (14 ตุลา-6ตุลา) แทนคำว่า การสังหารหมู่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นการสังหารหมู่ มันเป็นความสลดใจของประเทศ มันป่าเถื่อน ทุกคนควรได้รับรู้เรื่องนี้ ข่าวเรื่องนี้ ผู้ใหญ่บางคนยังไม่รู้เลย ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ความจริง”
เราได้คุยกับนักเรียนอีกหลายคนที่ไปร่วมชุมนุม บางคนไม่ได้โดนโรงเรียนกดดัน หรือห้ามการแสดงออก บางคนพบครูขู่ตรง ๆ ว่าหากทำจะมีความผิดตำรวจสามารถจับได้
นักเรียนคนที่ 002 : ผมมาที่นี่เพื่อบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องทุกคน เบื้องหลัง 3 นิ้ว มันคือ เสรีภาพ ภราดรภาพ มันไม่ใช่การล้างสมอง และเพื่อไม่เอาอำนาจเผด็จการ ส่วนในโรงเรียนมีหลายอย่างที่ผมเจอครูริดลอนสิทธิ เช่น การพูดบูลลี่ หรือเพื่อนบูลลี่กันแต่ไม่มีการจัดการ ระบบยังไม่ดี ครูยังข่มเด็กด้วยอำนาจ
นักเรียนคนที่ 003 : ถึงเป็นเด็ก แต่ก็มีความคิดมีทัศนคติเหมือนผู้ใหญ่ได้เช่นกัน หนูชูสามนิ้ว ก็เจอครูพูดใส่เหมือนกัน แม้เรามองว่ามันป็นเสรีภาพทางความคิด ครูบอกว่า ถ้ามีตำรวจอยู่ตรงนั้นหนูอาจจะโดนจับไปแล้วก็ได้ หนูอยากให้ครูหยุดบลูลี่ และกดขี่เด็กทางความคิด เราคนละรุ่นกันก็จริงแต่เราก็สามารถมองเห็นปัญหาได้เหมือน
นักเรียนคนที่ 004 : อยากมารวมพลังเพราะที่โรงเรียนไม่อนุญาตให้เราแสดงสัญญาลักษณ์ ไม่ให้เราแสดงจุดยืน ครูบางคนไม่สนับสนุน และว่าด้วย บางคนชูสามนิ้วครูเอาเชือกมาผูกคอเด็ก
หากบอกเพียงว่า “ผูกโบขาว-ชูสามนิ้ว” เป็นเพียงเทรนด์ เป็นกระแสของเด็ก ๆ ก็อาจจะดูเบาบางไปสักหน่อย หากจะบอกว่าพวกเขาเห็นพี่ ๆ คนในสังคมออกมาประท้วงต่อต้านเผด็จการ ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ และมีส่วนร่วม จึงอยากทำตาม ก็ดูมีน้ำหนักสมเหตุผล เพราะนักเรียน = ประชาชน หากแต่ในวันที่เราไปสังเกตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว 2 ครั้ง เมื่อ 31 ก.ค. 2563 และ 19 สิงหาคม 2563 การออกมาของพวกเขามีเบื้องหลังคือการเรียกร้องสิทธิ์ที่สมควรได้ในรั้วโรงเรียน เป็นประเด็นของเขาเอง โดยเฉพาะการต่อต้าน “อำนาจนิยม” ในโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับพี่ ๆ ข้างนอก
หากได้ติดตามทั้งการถกเถียงพูดคุยกันในโลกออนไลน์ และสนามจริงที่นักเรียนไปชุมนุมกัน คำว่า “เด็กถูกล้างสมอง” นอกจากไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอแล้ว มันยังไม่สมเหตุสมผลด้วย เพราะเนื้อหาการปราศรัย หรือประเด็นที่ถกเถียงล้วนเป็น ประเด็นที่ถูกซ่อนเพราะถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจในโรงเรียน ทั้งเรื่อง LGBTQ การแต่งกาย-ทรงผม หลักสูตรการสอน งบประมาณ ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศ การบูลลี่
03 เด็กถาม ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้ (หรือเปล่า)
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพข่าว และความเคลื่อนไหวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามีให้เห็นตลอดทั่วประเทศ นัดชูกระดาษขาว ผูกโบว์ขาว นัดชุมนุมหลังเลิกเรียน บางโรงเรียนออกประกาศเคารพสิทธิ์การแสดงออกของนักเรียน โรงเรียนบางแห่งประกาศชัดว่าไม่ต้องการให้แสดงออก และพร้อมให้ผู้ปกครองมาลาออกหากนักเรียนในความปกครองกระทำสิ่งนี้
เพราะอะไรที่ผู้ใหญ่จึงมองเพียงว่า “เห็นต่าง = โดนล้างสมอง” หรือเด็กมีหน้าที่เรียนก็เรียนไป สิทธิกับหน้าที่อยู่ตรงไหนในปรากฎการณ์นี้ เราคุยกับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล หรือ อาจารย์ฮูก จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น “มันมีที่มาที่ไป เด็กไม่ได้ถูกปั่น ไม่ได้เรียกร้องเพื่อใคร มันข้ามตัวบุคคลไปแล้ว”
“ผมมองว่ามันเป็นสัญญาณเชิงบวกของคนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง เขาใส่ใจ อยากมีส่วนร่วม ผู้ใหญ่ควรมองอย่างทำความเข้าใจ อย่าเพิ่งตัดสิน จริง ๆ เรื่องนี้ถูกเขย่ามาหลายรอบ และเราจะเห็นว่ามันมีพลังของกลุ่มนักเรียน เยาวชน ติดมาด้วย พอกลับมาใหม่ ชุดความคิดการตั้งคำถามกับอำนาจรัฐ การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และการตรวจสอบไม่ได้ เป็นคำถามที่ก้องสะท้อนอยู่ในคนรุ่นใหม่เยอะมาก ๆ”
การมีที่มาที่ไปอาจารย์ฮูกพาย้อนตั้งคำถามว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์บ้านเมืองของเราเป็นอย่างไรบ้าง บรรยากาศที่เกิดขึ้นเอื้ออวยให้เด็กมัธยมศึกษา เด็กมหาวิทยาลัยเติบโตทางความคิดอย่างไร ความเงียบ การไม่พูดคุยกันมานานเกินไป สังคมถูกทำให้เงียบ สิ่งที่เด็กถูกให้เข้าใจว่าเป็นความจริงกลับสวนทางกับโลกข้างนอกที่เจอ มันจึงไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะตั้งคำถาม ซึ่งคำถามเหล่านั้นอาจอยู่ในตัวเรา แต่ไม่ได้พูดออกมา
“เรารดน้ำพรวนดินอะไรให้ประชาธิปไตยบ้าง วันนี้ดอกผลมันก็ออกมาเบ่งบานให้เห็น มันมีขยะของเสียเยอะมาก ความรุนแรง ความเกลียดชัง ความไม่ชอบมาพากล ที่มันถมทับลงมาบนต้นไม้นี้ มันถูกกลายเป็นสารอาหารจนต้นไม้โต คนถึงไม่ยอมแล้ว ต้องตั้งคำถามแล้ว เด็ก ๆ เหมือนดอกไม้บานเลย เขาฟังข่าวเหมือนพ่อแม่ฟัง แต่อาจฟังมากกว่า หลากหลายช่องทาง เขาเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันเรื่องการเมือง เห็นคนข้างบ้านทะเลาะกันเพราะการเมือง เขาเติบโตมีความคิดของตัวเอง แม้รัฐพยายามใส่นโยบายใหม่ ๆ เข้ามา ตอนนั้นอาจจะไม่รู้สึก แต่วันนี้เขารู้สึกว่าสิ่งที่บังคับให้พูดกับสิ่งที่อยู่ข้างนอกมันไม่ตรงกัน เขาก็ตั้งคำถาม มันเป็นธรรมชาติ”
การตั้งคำถามที่นำไปสู่การแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การผูกโบว์ ชูสามนิ้ว หรือถือป้ายตั้งคำถาม อาจารย์ฮูกมองว่า เด็กรุ่นนี้มีความสามารถในการตั้งคำถาม มีความตรงไปตรงมา มีความสงสัยใดก็ถาม ดังนั้น ปัญหาที่เกิดไม่ใช่ปัญหาของเด็ก แต่เป็นปัญหาของผู้ใหญ่
“ผู้ใหญ่ต้องตั้งหลัก คุณปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ สำคัญคือคุณฟังเขาก่อน คุณตอบคำถามเขาได้จริงหรือเปล่า หรือคุณตอบไม่ได้ คุณก็เลยไม่ให้เขาถาม ทำไมเราหาคำตอบไม่ได้ ทำไมเราไม่มีคำอธิบายที่ดีพอให้เขา โรงเรียนเลือกสกัดกั้นไม่ให้เขาแสดงออก ยิ่งกดยิ่งมีคำถาม เขากำลังต่อสู้กับกลไกที่ไม่ชอบธรรม แล้วทำไมครูออกรับแทนกลไกเหล่านั้นเอง”
นอกจากการกดไม่ให้เด็กพูดหรือแสดงออกแล้ว หลายแห่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาคุมสถานการณ์ ใช้กลไกรัฐมาจัดการ บางแห่งใช้การตัดคะแนน ผลการเรียนมาข่มขู่เด็ก หรือทำร้ายเด็ก อาจารย์ฮูกบอกว่า “ทำไม่ได้เด็ดขาด”
04 ครู โรงเรียน นักเรียน สมดุลและการสร้างพื้นที่เรียนรู้ประชาธิปไตย
ความสัมพันธ์ระหว่าง ครู-ผู้บริหาร กับนักเรียน ครู-บริหาร กับโรงเรียนและต้นสังกัด เหตุการณ์นี้ครูและผู้บริหารถือเป็น “ตัวกลาง” ที่ต้องสร้างสมดุล และต้องยึดหลักการของการเป็นมืออาชีพ และความเป็นอิสระทางวิชาการ
“ครูกับผู้บริหารต้องเข้าใจก่อนว่า เราไม่ใช่คู่ตรงข้ามกับเด็ก เข้าใจทั้งครู และเด็ก ๆ เป็นบทบาทที่ยากมาก เราจะอธิบายอย่างไร เพราะก็ถูกค้ำคอจากนโยบายรัฐ ครูหลายคนไม่ต้องการเป็นแนวหน้าทำเรื่องนี้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กเป็นกลุ่มที่ 2 รองจากพ่อแม่ ถ้าเด็กอยู่ที่บ้านพ่อแม่ก็ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการคุยอยู่แล้ว โรงเรียนก็ไม่ได้อีก แล้วจะไปอยู่ไหน จะให้เขาเอาอัตลักษณ์ชุดนักเรียนออก แล้วไปอยู่กับพี่ ๆ ที่โตกว่า ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงได้มากกว่า
ถ้าโรงเรียนไม่มองตัวเองเป็นที่ปลอดภัยของเด็ก โรงเรียนน่ะมีปัญหา โรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้จัดการศึกษา แต่ปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของเด็กในการมีส่วนร่วมของเขา แต่สิ่งที่น่าตกใจ คือ หัวใจสำคัญในการปกป้องเด็ก ครูแหละละเมิดเด็กเสียเอง ใช้ความรุนแรงทางสังคม ใช้คำพูด คุณทำผิดกฎหมายต่อหน้าเด็ก จะให้เด็กเคารพได้อย่างไร”
ด้านหนึ่งอาจารย์ฮูกมองว่า ปรากฎการณ์ครั้งนี้เป็น ภาวะช็อกทางวัฒนธรรมของครู ที่เคยคิดว่าตัวเองมีอำนาจควบคุมมันได้ เป็น Hard Power แต่วันนี้สั่งไม่ได้แล้ว ยิ่งทำซ้ำ ๆ แล้วก็ยังไม่ตั้งหลักก็จะยิ่งทำให้สถานการหนักข้อเรื่อย ๆ จะทำเด็กมองว่าครูเป็นคู่ขัดแย้ง หรือเพิ่มความรุนแรง เพราะครูทำตัวเป็นกำแพงตอบโต้กลับไปกลับมา
“จริง ๆ ไม่ผิดที่ครูมีมุมมองและจุดยืนคนละมุมกับเด็ก ๆ และเป็นเรื่องที่ทำได้ สำหรับผมไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลาง ทุกคนสามารถมีจุดยืนมุมมองของตัวเอง แต่จะมีพื้นที่ปลอดภัยในการคุยกัน ตั้งแต่ห้องเรียน โรงเรียน ตอนนี้เชื่อว่าครูจำนวนไม่น้อย ครูอายุมาก ๆ ที่หัวก้าวหน้า ที่เด็กสามารถคุยได้ ครูมองเรื่องนี้อย่างไร”
อาจารย์ฮูก บอกอีกในเชิงหลักการบทบาทของโรงเรียนมี 2 หน้าที่หลัก คือ “School Autonomy และ Teacher Autonomy ความเป็นมืออาชีพ เป็นอิสระทางวิชาการ ต้องสร้างสมดุลให้ได้ เราต้องเป็นกลไกลของรัฐในการดูแลเยาวชนของชาติ ขณะเดียวกันเราก็มีอิสระในการสร้างห้องเรียน ซึ่งตอนนี้โรงเรียนไม่ค่อยมีบทบาทหลัง ขานรับอย่างเดียว บางทีมันก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาเด็กด้วยซ้ำ
ครูต้องไม่ละเลย ไม่เป็นข้าราชการในความหมายเดิมที่ทำตามนโยบาย ที่ลืมไปว่าเราเป็นนักการศึกษา เราอยู่กับการสร้างโลกใหม่ ผ่านการสร้างห้องเรียนวันนี้เพื่ออนาคต อะไรที่เด็กเรียนวันนี้จะติดตัวเด็กไปมองสังคมในอนาคต ถ้าผลิตซ้ำในความคิดเดิม คนก็เป็นคนหนึ่งที่ฉุดเวลาไม่ให้ไปข้างหน้า”
การไม่อยากพูดถึง ไม่อยากมาคุยกันบนโต๊ะ ในที่สาธารณะ หรือการใช้วิธีหลบเลี่ยงเพื่อไม่ให้เด็กออกมาแสดงออก หรือทำกิจกรรม ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้นาน หรือว่ายั่งยืน อาจารย์ฮูกตั้งข้อสังเกตว่า การที่เด็กมัธยมจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นมาตั้งคำถามกับอนาคต อยากมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสัญญาณที่บอกว่า เด็กพร้อมที่จะคุยกับผู้ใหญ่ เด็กพร้อมคุยเรื่องการเมือง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่หรือที่กระทรวงศึกษาธิการ ที่รัฐบาลต้องการให้เด็กในศตวรรษที่ 21 เป็น แต่วันนี้เมื่อพวกเขาออกมาจริง ๆ กลับถูกต้อนให้กลับไปเรียน ไปทำหน้าที่ โดยที่โรงเรียนก็หลงลืมคำว่า “สิทธิ์” ที่ก็มาพร้อมกับหน้าที่ด้วย
“เด็กในศตวรรษที่ 21 การศึกษา คนทำงานการศึกษา ย้อนแย้งกับตัวเองนะ อยากให้เด็กคิดเป็น แต่คุณนิยามว่าคิดเป็นต้องคิดแบบคุณหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นจบเลย แสดงว่าคุณต้องการให้เด็กยอมรับความคิดคุณเท่านั้น อยากให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ วันนี้เขาก็แสดงหน้าที่ตามบทบาทสิทธิ์ที่ให้แล้ว ตกลงปัญหาคืออะไร อยากให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกินเลยจากสิ่งที่การศึกษาไทยกำลังปลูกฝังมาตลอด แม้ว่า Propaganda ระดับโครงการอยากให้เด็กแอนตี้คอร์รัปชันอย่างนี้ ตอนนี้เขากำลังตั้งคำถามกับกลไกที่ไม่เป็นธรรมในการตรวจสอบ”
“เด็กๆ มีหน้าที่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งในการทำสังคมนี้ดีขึ้น และเขากำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ไม่อยากให้แยกคำว่าหน้าที่และสิทธิ์ออกจากกันเลย ผู้ใหญ่ชอบแยก มันเป็นสิ่งที่มาด้วยกัน เราจะรู้หน้าที่ได้เราต้องรู้ขอบเขตแห่งสิทธิ์ อย่าใช้วิธีการหั่นครึ่งสิ่งที่คู่กันด้วยมุมมองของตัวเองอย่างเดียว เช่น พูดแต่เรื่องหน้าที่และคาดหวังให้ทำหน้าที่ แต่ไม่ได้พูดถึงสิทธิ์ที่จะรับรองให้ทำหน้าที่นั้น”
05 We Need To Talk
“เรามาถึงจุดที่ไม่คุยกันไม่ได้แล้ว”
ในภาวะการเปลี่ยนผ่านนี้เวลานี้น่าจะเหมาะสมที่สุดกับการคุยกันเรื่องการเมือง คุยกันเรื่องความแตกต่าง คุยกันทุก ๆ คน ทุกช่วงวัย และการเรียนรู้ที่เคารพความแตกต่างที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่สิ่งนี้กำลังถูกกดไม่ให้ทำ
“เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคิดเหมือนกัน ยิ่งการเมืองยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนกันเอง และคนกับรัฐ มีความเข้มอ่อนไม่เท่ากัน ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ มันไล่เฉด บางคนเข้มข้นหน่อย เบาหน่อย แต่สิ่งที่เราต้องมองคือทำไมเขาถึงมองแบบนั้น มันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่ใช้โอกาสนี้ในการสอนให้คนเคารพกัน เราจะอยู่ในสังคมแบบไหน
“ตอนนี้เด็ก ๆ พร้อมจะคุยแล้ว เปิดเกมนี้ขึ้นมาเพื่อบอกว่าต้องการคุยกับสังคม และผู้ใหญ่ ตอนนี้ต่างหากที่ผู้ใหญ่ไม่พร้อมคุยกับเขา”
อาจารย์ฮูกพูดถึงการเคลื่อนไหวของเยาวชน หรือ Youth Engagement สิ่งนี้จึงมันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยก็ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองแล้ว
เราถามว่า ทั้งหมดดูเหมือนผู้ใหญ่ช็อกกับการตั้งคำถาม การเปิดหน้าคุยในประเด็นต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ถ้าอย่างนั้นในอนาคตครู และโรงเรียนก็ต้องเตรียมพร้อมรับการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นที่เรามองว่ามันอ่อนไหว หรือความเชื่อเก่า ๆ หรือชุดความคิดคนละชุดกันอีกใช่ไหม เช่น ประเด็น Sex Worker ทำแท้งถูกกฎหมาย แม่วัยใสที่ต้องมาเรียนได้จริงๆ
อาจารย์ฮูก บอกว่า ภาวะช็อกทางวัฒนธรรมของครูอาจจะมีเพิ่มขึ้นอีก เมื่อเด็ก ๆ พูดถึงหรือถกเถียงใน แต่นั่นก็จะเป็นถกเถียงที่ทำให้เข้าใจว่าเพราะอะไรคนแต่ละรุ่นคิดเห็นไม่เหมือนกัน สิ่งนี้จะสร้างสังคมแห่งการถกเถียงได้จริง ๆ
“ชุดคุณค่ามันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ช่วงนี้มันปะทะกัน ตอนนี้เป็นโอกาสที่เราต้องตั้งคำถามว่าชุดคุณค่าเดิมยังฟังก์ชั่นไหม เด็กเขาก็จะเรียนรู้จากเรา แม้เด็กถูกหลอมมามาอีกแบบจึงคิดแบบนี้ เชื่อแบบนี้ แต่วันนึงถ้าจะไปถึงการเป็นกติกาของสังคม มันคงต้องฟังจากทุก ๆ ฝ่าย ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมประชาธิปไตยที่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นที่มาของการถกเถียง และการถกเถียงทำให้คนหาทางออกร่วมกันได้”
ผู้ใหญ่อาจมองว่าการเงียบ คือความสงบแต่นั่นหมายถึงสังคมที่มีความสุขหรือไม่ สังคมที่สงบจำนวนมากเต็มไปด้วยความรุนแรง แต่สังคมที่คนถกเถียงเสียงดังไม่ลงรอยกันอาจเป็นสังคมที่มีความสุข เพราะเสียงที่พูดมีคนฟังมีคนได้ยิน พูดแล้วตัวเองรับรู้ว่าเสียงตัวเองได้พูดออกมาแล้ว ไม่ต้องเก็บมันไว้ตลอดไป
“เราต้องมองเรื่องประชาธิปไตยใหม่ ไม่ได้มองมันเป็นเพียงแค่การเลือกตั้ง แต่มันคือวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน เรามาเริ่มจาการเคารพคุณค่าของกัน เด็กมีสิทธิพลเมืองเหมือนผู้ใหญ่ทุกคน เป็นเพื่อนร่วมสังคมเหมือนเรา”
มีคนพูดขำ ๆ ในทวิตเตอร์ว่า ตอนนี้ต้องให้เครดิตกูเกิลในการทำให้เด็ก ๆ ตาสว่าง อ่านแล้วสะท้อนใจไปถึงโรงเรียนว่าเด็กไม่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากโรงเรียนหรือ แล้วอาจารย์เจ็บปวดไหม อาจารย์ฮูกบอกว่า ไม่เจ็บปวดและไม่เชื่อว่า 100% ทุกอย่างมาจากการเด็กเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เชื่อว่ามีครูจำนวนมากในประเทศทำหน้าที่อย่างดี
“เชื่อว่าเด็ก ๆ ต้องเคยเจอทั้งครูที่เคารพเขา ไม่เคารพเขา เจอครูที่โปรยคำสำคัญทิ้งไว้อยากให้รู้เพื่อไปค้นหาต่อมัน หรือเจอครูที่ดีมากๆ เป็นเพื่อนเขาคุยกับเขา เราเหมารวมไม่ได้ว่าเขาเรียนรู้ทุกอย่างทวิตเตอร์ จากกูเกิล แต่สิ่งนี้บอกครูว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอ คุณครูต้องทำให้ห้องเรียน บทเรียนของตัวเองเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็ก”
“ตอนนี้ในโรงเรียนก็มีครูหลากหลายมาก ๆ การที่ครูไม่กี่คนใช้ความรุนแรงในสื่อไม่ได้แปลว่าครูทุกคนต้องสมาทานความรุนแรงเหล่านั้นนี่ เท่าที่ผมรู้มามีครูหัวก้าวหน้าไม่น้อยที่อยู่คียงข้างเด็ก แต่ไม่ได้อยู่ในสื่อ ขอเป็นกำลังใจให้ครู ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่มีสติรับมือกับกับเรื่องนี้เคียงข้างเด็ก ๆ”
อาจารย์ฮูก ทิ้งท้ายว่า ปรากฎการณ์นี้น่าจะอยู่ไปกับโรงเรียนไทยอีกอย่างน้อย ๆ 1 ปี และความหวังในการเปลี่ยนแปลงอยู่กับเด็กสมัยนี้จริง ๆ
“เด็กสมัยนี้…คำนี้ผู้ใหญ่ชอบเอามาใช้เป็นคำเสียดเย้ย แต่ผมว่าคำนี้แหละ เด็กสมัยนี้เนี่ยแหละที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่า”