ลึกสุดใจ 'ยุกติ มุกดาวิจิตร' จากอาจารย์ประกันตัวศิษย์ กลายเป็นผู้ต้องหาคดี 112 พูดคุย 'ทางออก' ที่ยังพอมี ในการรับรู้ที่ 'ไม่ปกติ' - Decode
Reading Time: 3 minutes

คุณผู้อ่านบทความนี้คงเห็นความจริงที่ว่า ปลายทางของการพูดถึงสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยตามคำอธิบายของศาลในคำตัดสินคดีแก่ผู้ต้องหามาตรา 112 คือความเสี่ยงเรื่องคดีความที่หลายรายไม่มีโอกาสประกันตัวออกมาสู้คดี และหลายรายนั้นคือเยาวชน ในบทความนี้ผู้เขียนไม่ขอถกเถียงว่า ม.112 ควรยกเลิกหรือดำรงไว้ คู่ขนานไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ม.112 และการรับรู้ของสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สถิติผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2563-2565 จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คือ 229 คดี คดีล่าสุดที่บันทึกไว้เกิดขึ้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ในจำนวนผู้ต้องหาเหล่านั้นมีเยาวชนอายุ 14 ปีรวมอยู่ด้วยหลายราย ซึ่งเยาวชนหลายคนถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ต้องหาและไม่ได้รับการประกันตัว

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี

หากตีความตามบทกฎหมายดังกล่าว คงไม่มีปัญหาอะไร เป็นกฎหมายคุ้มครองบุคคลตามข้อความข้างต้น แต่ปัจจุบันม.112 ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายความมั่นคงของรัฐ ใครเข้าข่ายความผิดก็เท่ากับทำลายความมั่นคงของรัฐไทยไปด้วย คนทั่วไปสามารถฟ้องได้ สามารถตีความอย่างกว้างและคลุมเครือ บางกรณีกลายเป็นการกลั่นแกล้งเพราะความขัดแย้งส่วนตัว ขณะที่ผู้ต้องหาไม่ได้สิทธิประกันตัวออกมาสู้คดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ว่ากฎหมายนี้ดำรงอยู่เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จริงหรือ หรือถูกใช้เป็นเครื่องปิดปากคนเห็นต่างทางการเมือง ?

De/code พูดคุยกับ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นักวิชาการผลักดันแก้ไข ม.112 อาจารย์ที่เคยใช้ตำแหน่งวิชาการประกันตัวลูกศิษย์ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตัวแทนแกนนำกลุ่มราษฎรและนักศึกษา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเดียวกัน จากการทวิต “ข่าวลือถ้าไม่จริง ก็แปลงเป็นคำสาปแช่งแล้วกันครับ” เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564

การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบันต่างกับอดีตอย่างไรบ้าง

ความรุนแรงในการใช้กฎหมายมาตรา 112 เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร 2549 เพราะมีปฏิกิริยาต่อต้านการรัฐประหารในลักษณะที่ถูกนำไปใช้เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันมีมากขึ้น เราจึงเห็นการเลือกใช้กฎหมายมาตรานี้

ในแง่หนึ่งการใช้กฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากอดีต หลังรัฐประหารมีคดีที่สะเทือนขวัญ คือ “คดีอากง” ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าดูถึงรูปการณ์ต่าง ๆ แล้ว ก็ดูเป็นคดีที่มีผลลัพธ์ไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ คำพิพากษาค่อนข้างจะงัดง้างกับสามัญสำนึกหรือหลักเหตุผลปกติของคนทั่วไป และยังมีคดีอื่น ๆ ที่อยู่ในช่วงเดียวกัน ทำให้เราเห็นแนวโน้มในการใช้กฎหมายมาตรา 112 ที่ชัดเจนมากขึ้น คือมีความกำกวมของความผิดมากขึ้นเรื่อย ๆ และช่วงหลังมีการใช้ลักษณะนี้มากขึ้น รวมไปถึงการที่ผู้ต้องหาไม่สามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ภาระการพิสูจน์ความผิดกลายเป็นภาระของผู้ต้องหาเอง แทนที่จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ดังนั้นผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่เริ่มก่อตัวขึ้นมาก็คือความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ และตัวคำพิพากษาเองก็แสดงให้เห็นถึงการตีความกฎหมายที่มีลักษณะเกินกว่าเนื้อหาหรือนัยของตัวกฎหมายมาตรา 112 และจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีในช่วงก่อนหน้านี้ก็ไม่มากเท่ากับสองปีที่ผ่านมา

การแจ้งข้อหามาตรา 112 ที่มากขึ้นหรือแม้แต่กฎหมายอื่น เช่น พรบ.คอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ตามที่จำกัดการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลคสช.นั้น ผู้ปกครองต้องการให้ประชาชนรู้สึกอย่างไร

การใช้เยอะในลักษณะรุนแรงมาก ผมเห็นด้วยว่าเป็นการพยายามใช้กฎหมายเพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว และถึงที่สุดคือปิดปากประชาชน ปิดกั้นการแสดงความเห็น หรือแม้แต่ความรู้สึกก็แสดงออกไม่ได้ ไม่มีหนทางอื่นที่จะพูดถึงสถาบันนอกจากการนิยมชมชอบเท่านั้น การพูดด้วยข้อเท็จจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ การแสดงความรู้สึกว่าไม่พอใจ หรือแม้แต่ความรู้สึกหวาดกลัวก็อาจจะแสดงออกไม่ได้

ความกำกวมของสถานะสถาบันกษัตริย์ในวิถีชีวิตแบบสังคมประชาธิปไตยควรจะเป็นกลางและอยู่ในสถานะหลุดพ้นหรืออยู่นอกเหนือวังวนของความสัมพันธ์อื่น ๆ แต่สถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้ในลักษณะของการเป็นสัญลักษณ์สูงสุด ค้ำจุนอำนาจต่าง ๆ ซึ่งอาจจะถูกใช้ในลักษณะที่บิดเบี้ยว เช่น กลุ่มคนทำรัฐประหารเอาตัวเองไปอิงกับสถาบัน หรืออ้างว่าทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถที่จะหลุดออกไปจากวังวนของอำนาจได้อย่างแท้จริง

การปิดกั้นไม่ให้พูดถึง จึงเป็นการไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการที่สถาบันกษัตริย์เองเป็นผู้แสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แข่งขันทางธุรกิจกับประชาชน ยิ่งทำให้สถานะของสถาบันมีลักษณะที่กำกวมไม่ได้อยู่ในสถานะที่หลุดพ้นไป หรืออยู่เหนือประชาชน ความสัมพันธ์ตรงนี้ก็ควรที่จะต้องจัดการหรือไม่

ผมจึงคิดว่าการปิดปากด้วยกฎหมายมาตรา 112 ยิ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่สถาบันเองมีลักษณะที่คลุกคลีหรือลดตัวเองลงมายุ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจและชีวิตทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น

การบังคับใช้กฎหมายวางอยู่บนความเชื่อหรือหลักเหตุผลมากกว่ากัน ?

อ.ยุกติ กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคดี 112 ว่ามีความบิดเบี้ยวตั้งแต่ขั้นแรกของการฟ้องร้อง เมื่อการทำให้กฎหมายหมิ่นประมาทมาอยู่ในหมวดความมั่นคงมีโทษสูง ใครก็สามารถฟ้องได้ จนถึงการรับแจ้งความโดยตำรวจที่บางครั้งไม่ตรงตามมาตราแต่ต้องรับไว้ไล่ไปจนถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่โอกาสต่อสู้คดีของผู้ต้องหามีน้อยหรือแทบจะไม่มี ไม่ยอมให้ประกันตัว ตัดพยานหลักฐานจนกระทั่งตัดสินว่าผิด โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมฟังในการพิจารณาคดี

“ความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ ไปจนถึงขั้นตอนการเขียนคำพิพากษา สำหรับผมในฐานะที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาพอสมควรหรือลองถามผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์จะเห็นว่าคำพิพากษาในชั้นศาลที่เขียนในลักษณะว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักของประเทศชาติและประชาชนผูกพันกับพระมหากษัตริย์เสมอมา นั้นไม่เป็นความจริง ถ้าพูดถึงพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ของคนทั้งประเทศมายาวนาน อย่างมากก็รัชกาลที่ 5 เท่านั้น การกล่าวว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรักเสมอมา จึงเป็นความเท็จตั้งแต่ต้น

ผู้พิพากษานำประวัติศาสตร์ฉบับนิยายมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องอันตรายมาก กฎหมายมาตรา 112 แสดงให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของไทยวางอยู่บนความเชื่อมากกว่าหลักเหตุผล” อ.ยุกติกล่าว

ช่วงปี 2563-2564 ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแหลมคมมากขึ้น ส่งผลให้รัฐจับกุมแกนนำ ประชาชน และไม่อนุญาตให้ประกันตัว หนึ่งในผู้ต้องหาเหล่านั้นเป็นลูกศิษย์ของ อ.ยุกติ กระบวนการประกันตัวผู้ต้องหา ม.112 โดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการใช้ได้ในช่วงแรก ต่อมาพบว่าศาลเพิ่มเงื่อนไขพิสูจน์ตัวตนของอาจารย์ผู้ยื่นประกัน ขอสลิปเงินเดือน จนถึงตอนนี้ในปี 2565 อ.ยุกติ กล่าวว่าตำแหน่งนักวิชาการไม่สามารถประกันตัวนักศึกษาได้อีกต่อไป ศาลรับเฉพาะเงินสดเท่านั้น

“ช่วงหลัง ๆ อาจารย์เลยไม่ได้ไปประกันตัวแล้วเพราะศาลไม่รับ กลายเป็นว่าศาลไม่เชื่อในสถานะทางสังคมของครูบาอาจารย์อีกต่อไป แต่เชื่อถือในเงินมากกว่าเกียรติและศักดิ์ศรีของครูบาอาจารย์หรือระบบราชการด้วยกันเองถือเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ” อ.ยุกติ กล่าว

หนึ่งในความเสี่ยงของอาจารย์ที่ยื่นประกันตัวลูกศิษย์คดีทางการเมืองต้องเผชิญคือ การถูกนำไปเชื่อมโยงว่าอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษา จนกระทั่งอยู่ในกระบวนการล้มสถาบัน ในปี 2564 กระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้สอบสวนอาจารย์ที่ประกันตัวนักศึกษา อาจารย์เหล่านั้นถูกกดดัน วิพากษ์วิจารณ์และถูกประณาม โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีวัฒนธรรมอำนาจนิยมสูง

ท้ายที่สุดความหวาดกลัวก็ไม่ใช่แค่ปิดปากคนที่ถูกดำเนินคดี แต่กระจายไปสู่คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้จะเป็นแค่การมาประกันตัว

อาจารย์ที่สอนอยู่ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พอนักศึกษาของเราลงถนนแล้วถูกดำเนินคดี คนบางส่วนอาจคิดว่าอาจารย์ปลุกปั่น ทำให้เด็กถูกจับ ในมุมของอาจารย์มีมุมมองต่อสิ่งที่พวกเขาทำอย่างไร

เราไม่ได้คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเหมือนกัน ถ้าย้อนกลับไปช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ก่อนเลือกตั้ง มีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นคนรุ่น “14 ตุลา” มาคุยกับผมว่า มันเป็นเพราะอะไรกัน ทำไมนักศึกษาสมัยนี้เขาเงียบกันจัง ถ้าเป็นรุ่นอาจารย์คงทนไม่ได้ ผมก็บอกว่าไม่ทราบเหมือนกัน ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของเขา ชีวิตเขา เราก็ไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์ปัจจุบันแต่จะให้เราไปปลุกระดมก็ไม่ใช่ หรือต่อให้ทำ ก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาหรอก แต่ที่นักศึกษาเริ่มแสดงออกกันเอง “ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐเอง ระหว่างที่ผมสอนผมเห็นตลอดว่านักศึกษาเขาไม่พอใจกับระบบที่เป็นอยู่ตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา การล้อเลียนล้อเล่นในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารก็จะเป็นเรื่องธรรมดามาก นักศึกษาตลกไปด้วยเพราะเขาเข้าใจ แต่ตอนเราสอนเราก็สอนตามหลักทฤษฎีตามหนังสือ ผมเชื่อว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ก็เช่นกัน เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ดี ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงหรืออะไรอย่างนั้น ผมอาจจะมีพูดแบบนั้นบ้าง แต่ก็ไม่สามารถที่จะไปชี้นำได้ว่าต้องลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ ผมแค่หวังว่าในอนาคตพอเขาเข้าไปอยู่ในระบบ” เขาก็จะไม่ทำในสิ่งที่ผิดพลาดในแบบของคนรุ่นเก่าหรือรุ่นปัจจุบันอีกต่อไป


ผมกำลังจะบอกว่ามันมีความรู้สึกไม่พอใจคุกรุ่นอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ เขาก็มีความไม่พอใจอยู่ก่อนแล้ว เขาเติบโตมาในโลกอีกแบบหนึ่ง รับข่าวสารข้อมูลอย่างกว้างขวาง เราอาจจะคิดว่าเขาอ่านการ์ตูน เล่นเกม แต่ถ้าคุณไปดูเนื้อหาในการ์ตูน ในแอนิเมชั่นเหล่านั้นมีเนื้อหาของความดีแบบใหม่ กับความเลวร้ายแบบเก่า ๆ หรือเป็นเนื้อหาของการแสดงออกในเรื่องของความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยประเด็นเหล่านี้ ถือว่าเป็นประเด็นร่วมสมัย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจนิยมในแบบต่าง ๆ ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหมดก็ท้าทายอำนาจที่เป็นอำนาจนิยมทั้งนั้น ฮีโร่ในปัจจุบัน ไม่เหมือนในสมัยก่อนเช่นเนื้อหาจำพวกสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของประชาธิปไตยกับเผด็จการมากขึ้น เขาดูเนื้อหาเหล่านั้น ภาษาอังกฤษเขาดีขึ้น โลกของเขาก็ขยายขอบเขตที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ

ความคุกรุ่นเหล่านี้ผมคิดว่าผู้มีอำนาจไม่มีทางล่วงรู้ พวกผมรู้เพราะได้สัมผัสกับพวกเขาโดยตรง ใกล้ชิดจากการสอน อาจารย์บางคนสอนปีหนึ่งเจอกับนักศึกษาเป็นพันคน และทุกปีก็เจอกับนักศึกษาใหม่อีก ผ่านรัฐประหารมา 8 ปี เราพบเจอนักศึกษาไป 8,000 คน เพราะฉะนั้นเรารับรู้ได้ถึงสิ่งเหล่านี้ที่กว้างใหญ่มาก แต่ผู้มีอำนาจไม่รับรู้ และทำการเปลี่ยนกติกาหรือบิดเบือนอำนาจที่สำคัญ เราเห็นได้เลยว่าหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ จากที่คุกรุ่นอยู่ก็เกิดปะทุขึ้นมา ถ้าไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอย่างนี้ ก็ไม่นำไปสู่การเคลื่อนไหวการแสดงออกต่าง ๆ

ผมกลับคิดว่ามันเกิดจากความผิดพลาดของผู้มีอำนาจเองที่เป็นคนปลุกเร้าความรู้สึกคุกรุ่นอยู่แล้วให้กลายมาเป็นพลังการเคลื่อนไหว หรือดึงเอาเด็ก ๆ ที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ออกไปเดินถนน พวกคุณเองต่างหากที่ทำให้เกิดขึ้น และยังมีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตริย์ หรือมีการสร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้พวกเด็ก ๆ ขมวดปมขึ้นมา กลายเป็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น ต่อให้เราไปสอนหรือปลุกระดมให้ตายอย่างไร ก็ไม่มีใครออกมา แต่เขารู้สึกถึงวิกฤตที่ใกล้ตัวเขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาไม่สามารถที่จะนั่งอยู่เฉยได้อีกต่อไป

จากอาจารย์ประกันตัวศิษย์ วันนี้คุณเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีเดียวกัน

ตอนนี้ผมก็กลายเป็นผู้ต้องหาด้วย ก็อาจจะทำให้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ถูกคดีลักษณะนี้ไปด้วย อาจจะมีความวิตกกังวลในภาวะที่การดำเนินคดีเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 มีความรุนแรงและดูไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเองมีวิตกกังวลบ้าง แต่ไม่ถึงกับมีผลกับชีวิตประจำวันของผมมากนัก แต่ก็มีผลกับคนในครอบครัวที่เกิดความวิตกกังวลไปด้วย ผมคิดว่าถ้าคดีนี้ตรงไปตรงมา วางอยู่บนหลักเหตุผลอยู่บนหลักนิติรัฐปกติ ก็คงไม่ทำให้คนวิตกกังวลมากเท่านี้

แต่ทำไมสังคมต้องมาพูดถึงกันมากในตอนนี้ เพราะว่าเรารู้สึกกันได้ว่าไม่ปกติ มันไม่ได้อยู่บนหลักเหตุผลปกติ

สังคมไทยจะไปต่ออย่างไร ถ้าจำเป็นต้องมีกฎหมายมาตรา 112

อย่างน้อยที่สุดคือ ให้กลับไปสู่รูปแบบสมัยรัชกาลที่ 9 ที่การดำเนินคดีไม่ได้มีจำนวนมาก หรือไม่ได้มีการใช้กฎหมายแบบ “เขย่ง” ขนาดนี้ ไม่ได้มีความรุนแรงเท่านี้ รัฐธรรมนูญใหม่มีส่วนในการสร้างสถานการณ์ความหวาดระแวงต่อกันมากขึ้นด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนแบบใหม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอำนาจพระมหากษัตริย์ขยายมากขึ้น ผมคิดว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกแก้ไข บางทีกฎหมายมาตรา 112 อาจจะไม่ต้องไปแตะต้องเลยด้วยซ้ำ ถ้าการดำเนินคดีเป็นไปตามหลักนิติรัฐตามหลักเหตุผลของการดำเนินคดี กฎหมายมาตรา 112 ปล่อยไว้เฉย ๆ ก็ได้

เรื่องความรู้เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย เป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ ยาก เพราะคนมีอำนาจเลือกไม่ปรับตัว กลายเป็นว่าเงื่อนไขของชีวิตทางการเมืองที่ดีในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่จะต้องปรับตัวเข้ากับประชาชนมากกว่า แต่เขาไม่ปรับ เขาจะมาดัดให้ประชาชนต้องเป็นไปตามที่เขาต้องการ

ง่ายที่สุดมันก็ยาก ง่ายที่สุดก็คือการแก้รัฐธรรมนูญใช่ไหม

ใช่ แต่เขาคงไม่ยอมให้เกิดขึ้นง่าย ๆ