หากเราบอกคุณว่าแรงงานสร้างสรรค์ถือเป็นหนึ่งในแรงงานหาเช้ากินค่ำ คุณจะเชื่อไหม
แรงงานสร้างสรรค์ในประเทศไทยไม่เคยถูกมองเห็นจากภาครัฐไม่ว่าจะในยุคไหน พวกเขามีความมั่นคงในชีวิตต่ำ ไม่เคยมีวันหยุดพัก ไม่มีแม้แต่สวัสดิการรองรับ หากวันใดหยุดงานก็เสี่ยงต่อการไม่มีเงินเพียงพอในการใช้ชีวิต ดังนั้นการบอกว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในแรงงานหาเช้ากินค่ำจะยังเกินจริงอยู่หรือไม่
เป็นที่รู้กันดีว่าแรงงานสร้างสรรค์ไทย มีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลก หลายคนได้แสดงความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ หลายคนประสบความสำเร็จในแบบของตัวเอง และมีความสุขกับเส้นทางที่เลือกเดิน
ทว่าอีกหนึ่งความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คืออาชีพคนผลิตงานสร้างสรรค์ยังโดนกดทางสังคมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมที่มองไม่เห็นคุณค่าของศิลปะและงานสร้างสรรค์ การกีดกันการเรียนต่อจากคนในครอบครัวในสายงานดังกล่าวเพราะกลัวว่าจะมีจุดจบดังวลี ‘ศิลปินไส้แห้ง’ หรือแม้แต่ในสภาพแวดล้อมการทำงานในบริษัท ที่มีการกดค่าแรงจนกลายเป็นมาตรฐานหลักที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ประสบการณ์ร่วมของการถูกเบียดขับเหล่านี้ทำให้ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) ถือกำเนิดขึ้น
De/Code พาทุกคนมารู้จักกับพวกเขาผ่านสองสมาชิกที่ไม่เพียงเป็นผู้ขับเคลื่อนในแนวหน้า แต่ยังเป็นหนึ่งในสายผลิตที่พบเจอกับปัญหาที่ว่ามาไม่ต่างจากใครหลายคนอีกด้วย
“ความจริงที่น่าเศร้า คือ แรงงานสร้างสรรค์ชาวไทยต้องหนีตายไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งนอกจากทุนนิยมมันเหี้ย เราก็คิดไม่ออกแล้วว่าจะโทษใคร” เสียงจากตัวแทนจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์
พลอย เบญจมาภรณ์ นิวาส และ ไนล์ เกศนคร พจนวรพงษ์ สองตัวแทนจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ CUT กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นที่หากินของแรงงานสร้างสรรค์ในไทยมีอยู่จำกัดมาโดยตลอด เพราะรัฐไม่เคยสนับสนุนหรือมองเห็นแรงงานชายขอบ และหันไปโอบอุ้มนายทุนที่ไม่ได้ให้ค่าแรงงานสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เห็นผู้ผลิตงานสร้างสรรค์หลายคนหาลู่ทางไปทำมาหากินในต่างประเทศแทน
“หลายคนอยากเป็นแรงงานสร้างสรรค์ แต่สังคมรอบตัวกลับบีบบังคับให้ไปเป็นแรงงานในระบบอย่างข้าราชการ พยาบาล หรือหมอ สุดท้ายก็ไม่สามารถทำตามฝันของตัวเองได้”
พลอย นิยามว่าตนเป็นนักเขียน-นักวาดนูกูในทวิตเตอร์ และยังเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในวงการ แต่สิ่งที่พลอยกำลังทำและทำมาเนิ่นนานคือ การต่อต้านรัฐ ออกมาขับเคลื่อนทางการเมือง และเป็นนักกิจกรรมเยาวชน ผู้อยากเติบโตไปเป็นนักวาดและนักเขียนในอนาคต
“ชีวิตของเด็กไม่ได้มีแค่อยากจะโตไปเป็นหมอ พยาบาล ตำรวจ หรือทหาร ยังมีเด็กหลายคนที่อยากโตไปเป็นนักวาด นักเขียน คนทำหนัง ทำดนตรี หรือทำงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่เติมเต็มความเป็นมนุษย์ของเขาในเส้นทางที่เขาเลือกเดินเอง แต่ความเป็นจริง รัฐไม่เคยสนับสนุนหรือรับรองเลย” พลอยกล่าว
“เราโตมากับคำว่าศิลปินไส้แห้ง ซึ่งมันเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยอย่างที่ตั้งใจไว้ และเชื่อว่ามีเด็กอีกหลายคนมากที่ไม่สามารถเข้าได้
“เราวาดรูปมาตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ อยู่วงการนักวาดมาสิบกว่าปี แต่ทวิตเราเพิ่งถึงพันฟอลเมื่อวานเอง (หัวเราะ) ผู้ติดตาม ยอดฟอล ที่มันขึ้นช้าหรือคนไม่เห็น มันไม่ใช่ความผิดของสายผลิตเลย เราไม่ควรจะเป็นผู้โชคดีให้แสงส่องลงมา มันเป็นเรื่องของกลไกในโลกทุนนิยมที่สร้างอัลกอริทึมให้พวกเราต้องดิ้นรนไปวัน ๆ ”
ไนล์เล่าให้ฟังว่า ตนเคยผ่านจุดที่พยายามติดแฮชแทก โหนกระแส และผลิตงานเพื่อให้คนถูกใจจนสูญเสียความเป็นตัวเองไป ไนล์ลองผิดลองถูกมาตลอดจนถึงจุดหนึ่งจึงพบว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ความผิดของตัวเองเลยสักนิด และเหล่าสายผลิตหลายคน คงมีความรู้สึกร่วมตรงนี้เหมือนกัน
ไนล์ยังเล่าต่ออีกว่า ตนเคยเข้าไปคุยกับคนที่มีฐานผู้ติดตามมาก และพบว่ารายได้ของพวกเขาไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจอย่างที่เราคิดว่าเขาควรจะได้
“เขายังถูกนายจ้างกดขี่ ถูกสำนักพิมพ์กดขี่ ยอดฟอลคุณเยอะแค่ไหนพอ paypal เปลี่ยนนโยบายคุณก็ตายอยู่ดี” ไนล์กล่าวเสริม
หลังสำรวจปัญหาของสมาชิกสหภาพแรงงานสร้างสรรค์พบว่า แรงงานสร้างสรรค์ทุกแขนงมีประสบการณ์ร่วมกันมากกว่าที่คิด เช่น ปัญหาการขาดรายได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสมาชิกกว่าครึ่งหนึ่งรายได้ลดลง และกำลังตกอยู่ในภาวะฝืดเคืองไม่ต่างจากแรงงานประเภทอื่น แต่กลับไม่ได้รับการอุ้มชูหรือมองเห็นจากภาครัฐแม้แต่น้อย
และอีกหนึ่งปัญหาที่มีให้เห็นมากในวงการสายผลิตไทย หนีไม่พ้นเรื่องการเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น กรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบของ NFT ที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
โดยการเข้าร่วมตลาด NFT ยังคงเป็นประเด็นที่มักถูกหยิบยกมาถกเถียงในวงการศิลปะอยู่บ่อยครั้ง เพราะบ้างมองว่าเป็นทางเลือกใหม่ให้เหล่าสายผลิตได้ลืมตาอ้าปากในรัฐที่ไม่สนับสนุน บ้างมองว่าเป็นการหนีเสือปะจระเข้ในวังวนของโลกทุนนิยม สองตัวแทนจากสหภาพฯ เองเล็งเห็นปัญหาในเรื่องดังกล่าว และได้แสดงทัศนะให้เราฟังว่า
“เรารู้สึกว่ามันน่าเกลียดมากเมื่อเห็นการก๊อบปี้งานศิลปะไปขายใน NFT โดยเจ้าของภาพทำได้แค่แจ้ง report และช่วยเหลือกันเอง เพราะตัวแพลตฟอร์มไม่คุ้มครอง กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยก็มีความคลุมเครือเข้าถึงยาก การดำเนินการต่าง ๆ ทางกฎหมายยังต้องใช้ทั้งเงินและเวลา เราเองกำลังทำงานตรงนี้ โดยพยายามมองหาโมเดลที่ดีจากต่างประเทศ เพื่อนำไปเสนอแก้กฎหมายในไทยต่อไป“ ไนล์กล่าว
“ส่วนตัวเราคิดว่าพื้นที่ของ NFT ไม่ใช่พื้นที่สำหรับแรงงานที่จะหารายได้ แต่มันเป็นพื้นที่ทุนนิยมโดยสมบูรณ์ พอแรงงานเจอปัญหากลายเป็นว่าทางแพลตฟอร์มไม่ช่วยเหลือ เพราะเขาสนใจแต่นายทุนที่ไปลงทุน ซึ่งคนที่ขายได้ก็มี แต่คนที่ขายไม่ได้และล้มละลายก็เยอะ“ พลอยกล่าว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีการระบุสวัสดิการ ไม่มีเงื่อนไขการจ้างงานที่เป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งอย่าง มาตรฐาน ‘กองถ่ายไทย’
“ปัจจุบันไม่มีการคุ้มครองแรงงานเด็กในกองถ่าย เพราะกฎหมายประเทศไทยไม่มองเด็กเป็นแรงงาน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในหนังและซีรีส์จำเป็นต้องมีเด็กมาเล่น แต่พวกเขากลับไม่ถูกคุ้มครอง
“เราพยายามรวบรวมข้อเสนอจากคนในกองถ่ายว่าเขาต้องการผลักดันประเด็นไปในทิศทางไหน และพบว่ามีปัญหาอยู่มากมายที่เหล่าคนทำงานต้องการจะเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานเกินในกองถ่าย อย่างที่เห็นตามหน้าข่าว เช่น เวลาทำงาน 16 ชั่วโมง ที่หลายคนเชิดชูว่าดี หรือเหตุคนเสียชีวิตในกองถ่าย มาตรฐานการทำงานในกองถ่ายเองก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราต้องไปดูแลเช่นกัน“ ไนล์กล่าว
แต่ด้วยความสงสัยเราจึงถามทั้ง 2 คนต่อไปว่า แล้วทำไมสหภาพแรงงานสร้างสรรค์จึงเพิ่งปรากฏตัว โดยไนล์กล่าวว่า
“ประเทศไทยมีความติดขัดเรื่องการรวมกลุ่มเนื่องด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่กล่าวว่า ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน ซึ่งขัดกับความเป็นจริงที่แรงงานสร้างสรรค์เป็น นั่นก็คืออาชีพอิสระ ตรงส่วนนี้ไม่ได้กระทบแค่แรงงานสร้างสรรค์ แต่เป็นกับแรงงานทุกประเภทในไทย
“การผลักดันที่สำคัญที่สุดของเราคือการสร้างสมาชิกของสหภาพ ยิ่งสมาชิกมากขึ้น มีความเหนียวแน่น มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะทำให้การผลักดันเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น
“เรามีเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือทั้งศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการของมธ. ที่ดูแลเรื่องข้อเสนอทางกฎหมาย เช่น ข้อเสนอเรื่องสัญญาจ้างที่เป็นธรรม เรามีกรรมาธิการที่สนับสนุนด้านการรวมกลุ่มของแรงงานได้ อย่างเช่นที่เราเคยทำในประเด็น paypal เรามีการร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ และยังจำเป็นต้องหาแนวร่วมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อไป“
โดยพลอยได้กล่าวเสริมต่อจากไนล์ว่า
“ในอนาคตเราอยากมีนโยบายผลักดันรัฐสวัสดิการ ที่สามารถโอบอุ้มแรงงาน คนชายขอบ และคนตัวเล็กตัวน้อยทั้งหมดได้ จะดีแค่ไหนหากประเทศไทยมีพื้นที่จัดแสดงศิลปะ สนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ ผลักดันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ตอนนี้สหภาพของเราเปิดรับแบบไม่จำกัดอายุ เราจะดีใจมากถ้ามีเด็กอายุ 16-17 เหมือนกับเราเข้ามาต่อสู้เพื่ออนาคตของเขา อย่างที่ผู้ใหญ่พูดเด็กคืออนาคตของชาติ เราต้องแบกรับความจริงตรงนี้ไว้ และไปผลักดันต่อในอนาคต เพราะเมื่อสหภาพแรงงานแข็งแกร่งขึ้น ศิลปะก็จะเติบโตและเบ่งบานมากขึ้น”
หลายคนอาจมองว่าการรวมตัวของแรงงานสร้างสรรค์เป็นเรื่องไกลตัวในฐานะที่ตนไม่ได้เป็นสายผลิต ทว่าในความเป็นจริง ไนล์และพลอยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ว่าใครก็สามารถมีส่วนร่วมในการเรียกร้องครั้งนี้ได้ เพราะผลกระทบที่มีต่อแรงงานสร้างสรรค์ล้วนกระทบต่อชีวิตของทุกคน
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เราจะพบว่ามีกรณีตัวอย่างมากมายให้เห็นตลอดการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการที่ทุกคนถูกจำกัดสื่อที่ได้รับ ผ่านการตีความคุณค่าศิลปะให้ผูกติดกับชาติและศาสนา
ตั้งแต่การแข่งขันศิลปะในระดับโรงเรียน หรือการมองว่าการจ้างงานสายผลิตในราคาของ “คนรู้จัก” ต่างเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ร่วมของคนไทยทุกคน
แม้ว่าค่านิยม กรอบทัศนคติและระบบเศรษฐกิจที่กดทับ จะไม่สามารถมลายหายไปในชั่วพริบตา แต่สองตัวแทนจากสหภาพฯ ไม่ได้มองว่าประเทศไทยมาถึงทางตัน โดยพลอยกล่าวในตอนท้ายว่า
“จากใจคนเป็นนักเขียนตัวเล็กตัวน้อย เอาจริง ๆ เราก็หมดไฟเหมือนกันนะ แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันคือสิ่งที่เรารัก เราคิดไม่ออกว่าถ้าเราไม่เขียนนิยาย ไม่วาดรูป แล้วชีวิตเราจะไปทำอะไร เราอยากจะให้กำลังใจทุกคน เราอยากจะยืนข้างสายผลิตทุกคน และเรามองเห็นว่าทุกคนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อผลงาน เพื่อความฝันของตัวเองภายใต้รัฐบาลที่ไม่โอบอุ้มนี้อย่างเต็มความสามารถ
“ถึงจะหมดไฟ ถึงจะอยากล้มเลิก แต่พอกลับมามองผลงานของตัวเอง เรารู้สึกรักงานที่เราเขียนและอยากจะไปต่อจริง ๆ ถ้าวันหนึ่งมีการรวมตัวของนักเขียนตัวเล็กตัวน้อย เราเชื่อว่าเสียงของเราจะดังมากขึ้น งานของเราจะมีการมองเห็นมากยิ่งขึ้น และเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมแน่นอน”
หากศิลปะหรืองานสร้างสรรค์คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และมีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการสร้างความสุนทรีย์ การสร้างรัฐ หรือการให้ความหมายทางการเมือง มันอาจไม่เกินจริงหากจะพูดว่า ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ของศิลปะได้
หากวันนี้คลื่นการเรียกร้องลูกใหม่กำลังซัดเข้ามา ในนามสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ที่เป็นแรงงานไม่ต่างจากใคร จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าชัยชนะของแรงงานสร้างสรรค์ จะสามารถเป็นชัยชนะของทุกคน โดยไม่ถูกผลักให้เป็นเรื่องสองรองใคร ในวันที่ขบวนประชาธิปไตยกำลังเติบโต
เหมือนที่ชัยชนะของแรงงานทุกประเภท จะสามารถเป็นชัยชนะของทุกคน