“พี่น้องเอ๊ย…ออกมากันได้แล้ว วันนี้เราจะไปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นั่นคือบ้านของเรา เราจะไปทวงถามสิทธิของเรา พี่น้องเอ๊ยเราจะสู้ไม่สู้”
เสียงของนายชุมพร ผู้ประสานงานและปราศรัยบนเวทีม็อบชาวนา ของกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ปลุกให้เหล่าพี่น้องชาวนาวัยโรยราเกือบทั้งหมด ลุกขึ้นยืนเตรียมพร้อมการเดินทางไกลที่รอพวกเขาอยู่ข้างหน้า หลายคนแทนตัวเองว่า “ชาวนารุ่นสุดท้าย” เพราะหากวันข้างหน้าที่พวกเขาไม่หลงเหลือเรี่ยวแรงทำนา ลูกหลานรุ่นต่อไปก็คงส่ายหน้าไม่อยากทำอาชีพนี้แล้ว ด้วยเห็นว่าเป็นอาชีพที่ไม่สามารถทำให้บรรพบุรุษของพวกเขานั้นได้เคยลืมตาอ้าปาก
“สู้! สู้! สู้!”
เสียงสมาชิกชาวนาขานรับแกนนำ พวกเขาเริ่มตั้งแถวในโมงยามที่แสงแดดเช้าใกล้จะลาลับและแปรเปลี่ยนเป็นแสงแดดจ้าในยามเที่ยงวัน 8 กิโลเมตรคือระยะทางการเดินเท้าของพวกเขาในวันนี้ ชาวนาหลายร้อยคนออกเดินทางจากหน้ากระทรวงการคลัง ตัดเข้าถนนพระราม 6 ณ จุดเริ่มต้นการเดินทางไปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
พวกเขามีหวัง ความหวังในหนี้สินที่คาราคาซังมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว จะได้รับการสะสางและเยียวยา ไม่ให้เป็นการผ่อนดอกเบี้ยแต่เงินต้นไม่เคยลดลงเหมือน 20-30 ปีที่ผ่านมา
“เขาเอาที่ดินของผมไปแล้ว”
เสียงชายชราร่างเล็กคนหนึ่งตะโกนออกมา หลังแกนนำปราศรัยให้ทุกคนอย่าเพิ่งถอดใจในการเดินเท้า ทุกฝีเท้าที่ย้ำไปบนมหานครคอนกรีต ร้อนทะลุรองเท้าผ้าใบของผมจนฝ่าเท้ารู้สึกได้ แต่ชาวนาหลายคนมีเพียงแค่รองเท้าเตะบาง ๆ พวกเขาเดินฝ่าแดดและการจราจรที่ไม่เคยปราณีคนบนท้องถนน
ทุกคนที่มาเดินในวันนี้ไม่ได้มีปณิธานหรืออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ใด ๆ เพราะเขามาเพื่อตัวพวกเขาเอง มาเพื่อสะสางหนี้และทวงคืนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง
“ทุกคนที่มาวันนี้เขามีความหวังว่ามติ ครม. ที่จะถึงนี้จะผ่าน ถ้าไม่มีความหวังเราก็คงต้องมากดดันพวกเขาอยู่แบบนี้เรื่อยไป เราท้อไม่ได้”
ลำปูน กีตา เกษตรกรจาก จ.อุทัยธานี วัย 71 ปี เจ้าของเสียงตะโกนกล่าวกับผม พร้อมกับเล่าเบื้องหลังชีวิตของเขาให้ผมฟังถึงเหตุผลที่ต้องมา
“ผมกู้เงินธ.ก.ส. 2 แสนบาทมาลงทุน พอกู้ผ่านผมจะลงทุนเพิ่มเพื่อซื้อพันธุ์ปลาอีก 5 หมื่นบาท เป็นรายได้ระหว่างที่รอพืชที่ปลูกไปเก็บผลผลิตได้ แต่เขาไม่ให้ผมกู้จนผมกับเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ทะเลาะกันและลงเอยด้วยการไม่พูดคุย”
ลำปูนย้อนความหลังไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (พ.ศ. 2540 – 2543) เขาต้องการเงินลงทุน 250,000 บาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่เมื่อธนาคารให้เขาไม่ได้ จึงเกิดการทะเลาะและไม่พอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
“ผมบอกว่าถ้าไม่ให้ผมกู้อีก 5 หมื่นบาท 2 แสนที่กู้มาผมก็จะไม่ใช้คืนให้ จนท.เขาก็ไม่ได้พูดอะไรขึ้นชื่อว่าทะเลาะกันแล้ว ถึงผมเป็นหนี้เขาก็ไม่มาทวงถาม”
จนกระทั่ง จนท.ธกส คนดังกล่าว นำเอกสารฉบับหนึ่งมาให้ลำปูนเซ็น
“ลำปูน เซ็นหนังสือให้ผมหน่อย” จนท.ธกส.กล่าวกับลำปูน
“ผมไปหลงเซ็นเอกสาร ด้วยความโง่ของเรามารู้เอาตอนหลังว่าเอกสารใบนั้น คือสัญญาซื้อขายที่ดินให้ ธ.ก.ส. ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนังสือที่เซ็นไปคือการยินยอมขายที่ดิน”
ลำปูน กีตา เกษตรกรจาก จ.อุทัยธานี วัย 71 ปี
หลังจากที่หนังสือยินยอมซื้อขายที่ดินถูกเซ็นไปโดยลำปูน ที่ดินบรรพบุรุษของเขาก็ตกเป็นของคนอื่น
“ผมบอกเขาว่าผมไม่ขายหรอก” ลำปูนกล่าว ก่อนได้รับคำตอบกลับมาว่า
“ไม่ขายได้อย่างไร ลำปูนเซ็นให้ผมแล้ว”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลำปูน เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการเกิดขึ้นของ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ลำปูนเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่มีรายชื่อเข้ามาอยู่ในกองทุนดังกล่าวนี้หลังสูญเสียที่ดินไป แต่มันก็สายเกินไปแล้วเมื่อที่ดินของเขาหลุดลอยไปถึงมือคนอื่น
“ผมเคยไปขอซื้อที่ดินคืน กองทุนฯบอกว่าเขาจะช่วยผมให้ผมไปเจรจากับเจ้าของที่ เขาถามผมว่า ‘น้าจะซื้อไหวเหรอ ผมขายไร่ละหนึ่งแสน’ แต่ตอนที่ผมขายให้เขา เขาบอกไร่ละ 25,000 บาท จนสุดท้ายมันยุ่งยากวุ่นวายเหลือเกิน ผมก็เลยปล่อย ไม่มีไร่มีนาทำมันไม่ตายหรอก ก็ไปเช่าที่ดินเขาทำ”
ปัจจุบันลำปูนเหลือที่ดินของตัวเองที่ญาติพี่น้องแบ่งให้อยู่ประมาณ 1 ไร่ พร้อมด้วยหนี้สินจากการกู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้าน 100,000 บาท (ดอกเบี้ย 9%ต่อปี) และมีหนี้นอกระบบอีก 150,000 บาท (ดอกเบี้ย 12%ต่อปี) ลำปูนล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำไร่ทำนาเป็นของตัวเองแล้ว เพราะมีแต่หนี้กับหนี้ เขาและภรรยาเลือกอาชีพรับจ้างตัดอ้อย ขุดมัน ยอมรับรายได้วันละ 600 บาท กับสังขารที่ค่อย ๆ โรยรา โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะชดใช้หนี้สินหมดเมื่อใด
“ถามว่าเป็นหนี้แล้วรู้สึกอย่างไร โอ้โห! เกิดมาอีกชาติยังไม่รู้เลยว่าจะมีเงินพอที่จะใช้หนี้เขาไหม”
ระหว่างการเดินเท้าไปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถ.พระราม 6 ระหว่างการโดยสารรถเมล์ประจำทาง ขากลับจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
เรื่องราวของลำปูนฉายภาพชีวิตชาวนาคนหนึ่งจากที่เคยมีที่ดิน 20 ไร่ เริ่มต้นการกู้เงินเพื่อมาลงทุนทำการเกษตร และด้วยความที่เขาไม่เท่าทันต่อระบบกลไกสัญญาต่าง ๆ จึงทำให้ที่ดินของเขาหลุดลอยไปจากมือโดยที่ยังไม่ทันได้ตั้งตัว
การมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้สิน เช่นที่ดินเป็นหลักประกันให้กับเจ้าหนี้เงินกู้การันตีไม่ให้เจ้าหนี้ขาดทุน แต่สำหรับเกษตรกรนั้นการกู้หนี้ยืมสิน ดูเหมือนว่าจะการันตีการขาดทุน ทั้งจากดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลที่บางครั้งกลับมากกว่าเงินต้น รวมทั้งโอกาสที่ดินทำกินสามารถหลุดลอยไปได้ทุกเมื่อ
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลำปูนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กำลังจะเกิดขึ้นกับชาวนาเกษตรกรอีกหลายคน ที่ออกมาชุมนุมกันในวันนี้ เมื่อวันนี้ชาวนาทุกคนที่มามีหนี้สิน และหนี้สินเกือบทั้งหมดของชาวนายังอยู่ในธนาคาร โดยมีที่ดินของพวกเขาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีกไม่ช้าชะตากรรมที่ดินพวกเขา ก็จะตกไปอยู่ในเงื้อมมือของคนอื่น ดังที่เกิดขึ้นกับลำปูน
ดังนั้นขอเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เพื่อขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด จึงมีความสำคัญต่อเกษตรกร
และอีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนคาดหวังกันคือ การเร่งดำเนินการโอนย้ายหนี้สิน จากเดิมที่อยู่กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินต่าง ๆ ให้เข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สิน ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เป็นของรัฐ ที่จะช่วยลดการจ่ายดอกเบี้ย และอย่างน้อย ๆ ก็เป็นหลักประกันได้ว่าที่ดินของเขาจะไม่ถูกขายทอดตลาดไป
แต่จนถึงบัดนี้ กองทุนดังกล่าวก็ยังไม่สามารถดำเนินการโอนย้ายหนี้สินให้ชาวนาส่วนใหญ่ได้ จึงเป็นเหตุผลและคำถามสำคัญ ของการเดินทางไปทวงถามสำหรับชาวนาในวันนี้
กองทุนฯไม่ทำงาน ชาวนาจึงต้องทำใจ
ผมเดินแยกกับลำปูน บริเวณฝั่งตรงข้ามเจเจมอลล์ ตลาดนัดสวนจตุจักร ยังเหลือระยะทางกว่าอีกครึ่งทาง กว่าจะถึงกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ตั้งอยู่บน ถ.วิภาวดีรังสิต ติดกับวัดเสมียนนารี อากาศร้อนจนทุกคนต้องนั่งพักหลบแดดบริเวณปั๊มน้ำมัน นายชุมพรผู้ปราศรัยบนรถขยายเสียง เป็นลมล้มลงด้วยอาการตะคริวขึ้นท้อง
ในระหว่างที่เราพักเหนื่อยกันอยู่นั้น ผมพบเจอเกรียงศักดิ์ อริยะฉัตรชัย อีกหนึ่งผู้ประสานงานของกลุ่ม คนท. การสนทนาเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการเดินเท้าริมทางเท้าที่อบอวลไปด้วยกลิ่นปัสสาวะฉุนขึ้นจมูกตามรายทาง
“ยิ่งทำนาหนี้สินเราก็ยิ่งเพิ่ม ถามว่าเกษตรกรทำไร่ทำนาแล้วมันรวยไหม ลองไปดูธนาคาร ธ.ก.ส. ว่า จะมีซักกี่รายที่ทำนาแล้วสามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ มันแทบจะไม่มี มันน่าแปลกไหมอาชีพนี้? ”
เกรียงศักดิ์ ตั้งคำถามชวนให้น่าคิดตาม และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญหรือไม่? ที่ทำให้ม็อบวันนี้มีแต่คนแก่ เพราะลูกหลานของพวกเขาไม่มีใครเลือกสืบทอดอาชีพเกษตรกรหรือทำนาแล้ว แม้แต่เกรียงศักดิ์เองก็ยกธงขาวยอมแพ้ เขาหันมาปลูกกล้วย ปลูกข่าแทน เพราะไม่อยากเป็นหนี้เหมือนตอนทำนา
“การทำนาถ้าไม่มีกลไกใดเข้ามาช่วยเป็นพิเศษมันไม่มีทางรวย นอกจากรัฐจะมีกลไกใดเข้ามาช่วย มันถึงพอมีรายได้ แต่ถ้าอาศัยแต่กลไกตลาดไปแบบนี้มันมีแต่จนกับจน”
โดยหนึ่งในกลไกช่วยเหลือที่เกรียงศักดิ์พูดถึงคือเรื่องหนี้สิน เป็นปัญหาที่เครือข่ายของเขาสู้มา 20 ปี ก็ยังวนต่อสู้อยู่ในเรื่องเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนประเด็นไปบ้างแต่ก็ไม่เคยหลุดพ้นจากคำดังกล่าว
“ตั้งแต่ปี 2546 สู้กันมา 20 ปีแล้วเรื่องหนี้สิน เป็นหนี้กันมา 20-30 ปี ชำระหนี้อยู่กับ ธ.ก.ส. จนมาระยะหลังที่เราไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาที่เราจ่ายดอกเบี้ยไป เราจ่ายไปมากกว่าเงินต้นที่กู้ยืมอีก”
นายชุมพรผู้ปราศรัยบนรถขยายเสียง เป็นลมล้มลงด้วยอาการตะคริวขึ้นท้อง เกรียงศักดิ์ อริยะฉัตรชัย ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.)
โดยเหตุผลที่ทำให้ในช่วงเวลานี้ชาวนาไม่สามารถชำระหนี้ได้ เกรียงศักดิ์กล่าวว่า เกิดจากปัญหาภาวะภัยแล้ง อุทกภัย ราคาผลผลิตตกต่ำ และเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ที่ดินที่จำนองกับธนาคารไว้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขายทอดตลาด
“เราก็หวังว่ากองทุนตัวนี้ จะมาช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องหนี้สิน”
หลักการทำงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คือการให้กองทุนรับซื้อหนี้สินของชาวนา จากธนาคารต่าง ๆ โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นหนี้สินเพื่อการเกษตรและเป็นหนี้เสียเท่านั้น ทางกองทุนถึงจะรับช่วยเหลือ
นอกจากนี้หลังจากที่กองทุนดังกล่าวรับซื้อหนี้ให้เกษตรกรแล้ว ทางเกษตรกรต้องนำหลักทรัพย์เช่นที่ดิน โอนสิทธิ์การถือครองมาไว้กับกองทุน และทำการเช่าซื้อกลับไปได้ก็ต่อเมื่อชำระหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ถ้าหนี้สินมาอยู่กองทุน หลักทรัพย์ที่ดินเราต้องโอนเป็นของกองทุน แต่อย่างน้อยเราก็มั่นใจว่า กองทุนเขาคงไม่เอาที่ดินของเราไปขาย”
นอกจากนี้ยังส่งผลดีเรื่องดอกเบี้ย ที่จะทำให้ทางชาวนาไม่ถูกขูดรีดจากการผ่อนแต่ดอก เงินต้นไม่ลดลงเหมือนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อเกษตรกรแต่เกรียงศักดิ์ตั้งคำถามว่า มีนโยบายนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 แต่ทำไมถึงมีเกษตรกรเพียง 3 หมื่นกว่าราย จากทั้งหมด 5 แสนรายที่มาลงทะเบียน ได้รับการจัดสรรหนี้
“มีการซื้อหนี้ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 เราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาไม่ทำต่อมา มันมีการเพิ่มจำนวนแค่นิดหน่อย เปอร์เซ็นต์มันน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่มาลงทะเบียนเข้ากองทุนกว่า 5 แสนราย ถ้าตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันซื้อหนี้ได้ 3 หมื่นกว่าราย และอีกสามสี่แสนรายล่ะ จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี คงต้องใช้เวลาอีกเป็นร้อยปีล่ะมั้ง ถึงจะซื้อหนี้ได้หมด”
เกรียงศักดิ์มองว่า ปัญหาตอนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องงบประมาณ หรืออำนาจในการตัดสินใจของกองทุน เพราะกองทุนดังกล่าวนี้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกองทุน มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธานกองทุน
“ผมมองว่ามันเป็นปัญหา เพราะในส่วนราชการเขาคิดแต่เพียงว่าเป็นหนี้ต้องใช้ ทำแบบนี้เดี๋ยววินัยการเงินการคลังจะเสียระบบ คนอื่นทำเป็นแบบอย่าง ปัญหาจึงอยู่ที่ตัวกองทุน และที่เรามาวันนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ แต่มันคือเรื่องการบริหารงาน มันเป็นอำนาจหน้าที่ของเขาอยู่แล้วแต่เขาไม่ทำ
บริเวณสถานีรถไฟฟ้าวัดเสมียนนารี หน้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
เกรียงศักดิ์ให้ความคิดเห็นเสริมต่อเรื่องงบประมาณว่า โดยหลักการแล้วกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขอเพียงแค่มีเงินตั้งต้นก้อนหนึ่งเพื่อซื้อหนี้จากธนาคารมาไว้ในกองทุน พอถึงเวลาคนเก่าก็จะส่งเงินใช้หนี้ให้กับกองทุน กองทุนก็นำเงินที่ได้นี้มาหมุนเวียน ช่วยเกษตรกรคนอื่นต่อได้เรื่อย ๆ
“แต่ที่ผ่านมากองทุนไม่ยอมทำ วันนี้เราจึงมาถามว่าทำไมที่ผ่านมาคุณถึงไม่ทำ”
เกรียงศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย ก่อนขอตัวเดินกลับไปดูแลความเรียบร้อยให้กับพี่น้องเครือข่ายของเขา ที่ยังตกต้างอยู่ข้างหลัง ผมเดินหน้าต่อไปพร้อมกับชาวนาคนอื่นที่วันนี้หลังสู้ฟ้า หน้าสู้คอนกรีต ระยะทางอีกไม่ไกลก็จะถึงปลายทางที่รออยู่ในวันนี้ กลุ่มชาวนานั่งพักกันอีกครั้ง ในเมืองที่มีร่มเงาน้อยเหลือเกิน มีชาวนาคนหนึ่งนั่งลงข้างผม เขาหยิบพัดขึ้นมาพัดให้ผม ก่อนที่จะกล่าวว่า
“เหนื่อยไหมลูก…ป้าก็เหนื่อยเหมือนกัน เคยเดินแบบนี้มาตั้งแต่สมัยสาว ๆ ผมดำ มาวันนี้แก่ผมหงอกแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าจะต้องมาเดินแบบนี้อีกสักกี่ครั้ง” อาชีพชาวนาเกษตรกรถึงจะกลายเป็นอาชีพที่พอลืมตาอ้าปากและหมดหนี้สินได้