แปดนาฬิกาในวันใหม่ ที่ถูกปลุกด้วยสัญญาณเรียกขอความช่วยเหลือ เร่งเร้าให้อาสาสมัครกว่า 50 ชีวิตมุ่งหน้าไปที่จุดหมายเดียวกัน
“ไหม้มาตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว พวกผมมีแค่ 3 คน กลัวว่าจะเอาไม่อยู่แล้วลามไปตรงอื่น” ข้อความจากปลายบทสนทนาบอกกล่าว
ณ พิกัด 17.77575° N, 99.04615° E

ใบไม้ปกคลุมผืนดินก่อนกลายเป็นเชื้อเพลิง ไอความร้อนจากเปลวไฟระอุ ผสานกับกลิ่นเผาไหม้ที่ปะทะกับจมูกทันควันเมื่อก้าวเท้าเข้าพื้นที่
เมื่อถึงที่หมาย สองมือคว้าเครื่องเป่าลมขนาดพกพา บ้างคว้าถังบรรจุน้ำ น้ำมันสำหรับเติมเครื่องเป่าทุ่นแรง จ้ำก้าวไปยังกลุ่มควันที่อยู่ปลายยอดเขาเหนือสายตา เพียงครึ่งชั่วโมงด้วยแรงเดินเท้ากับพื้นสูงชัน กลุ่มควันก็สงบลง แต่ภารกิจยังไม่สิ้นสุด เสียงสัญญาณที่แจ้งพิกัดใหม่มาจากวิทยุสื่อสาร ทำให้ผู้ได้รับหน้าที่ ‘ม้าเร็ว’ ขึ้นนั่งจักรยานไฟฟ้าเพื่อไปถึงกลุ่มควันแห่งใหม่ก่อนทุกคนในทีม
ชีวิตที่วนเวียนกับการ ‘ตีไฟ’ นานนับเดือนของอาสาดับไฟมูลนิธิกระจกเงา ที่ตัดสินใจโยกย้ายฐานการปฏิบัติหน้าที่จากจังหวัดเชียงรายมายังพื้นที่จังหวัดลำพูน ด้วยเหตุผลจากตัวเลขปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 ที่ติดอันดับเกินค่าสูงเป็นระยะเวลาสะสมกว่า 13 วันในช่วงเดือนมกราคม (ข้อมูลในวันที่ 23 มกราคม 2568 จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่) เมื่อเข้าช่วงเวลาไฟป่าของพื้นที่ภาคเหนือ ที่เหมือนถูกกำหนดไว้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี การต่อสู้ในยกแรกจึงเริ่มต้นขึ้น ลำพูนถือเป็นหนึ่งในชัยภูมิที่เหมาะสมในการสู้รบจากสายตาของทีมอาสา เพราะนอกจากควันไฟที่คุกรุ่นภายในพื้นที่ เส้นทางนี้ยังเชื่อมต่อไปยังจังหวัดโดยรอบอย่างลำปาง เชียงใหม่ได้ในระยะเวลาหลักชั่วโมง การสมทบกำลังเมื่อเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ใกล้เคียงจึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการรบกับไฟ
แม้คำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านผู้ว่าราชการฯ ลำพูน ลำปางและเชียงใหม่ จะมีมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดมาตั้งแต่เดือนมกราคม รวมไปถึงโมเดลบันทึกข้อมูลจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยการใช้ไฟของเชียงใหม่ ควบคุมการเผาในที่โล่งที่มีชื่อว่าแอปพลิเคชัน ไฟดี (FireD) หรือทางลำปางที่ร่วมทำงานดับไฟป่า ผ่านนโยบายกรอบแนวคิด Single command สั่งการและควบคุมการเผาทั้งในเขตอุทยาน และพื้นที่การเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน ทำให้สถานการณ์หมอกควันในช่วงแรกผ่านมาได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบเคียงกับปีก่อนหน้า แต่สถานการณ์ของลำพูนกลับต่างออกไปด้วยข้อจำกัดของการตรวจจับ ลาดตระเวน และดับไฟในพื้นที่ สัญญาณจากจุดความร้อนที่เริ่มเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงปริมาณฝุ่นละอองสะสมในพื้นที่ ที่เริ่มส่งเสียงเตือนว่าจะสยบไฟให้ลง ต้องใช้กำลังเสริมจากอาสาด้านหน้ามาช่วยตั้งแต่ยกแรกของแผนสู้ไฟ
เส้นทางที่ซับซ้อนของการทำงานควบคุมไฟป่าและหมอกควัน ไม่ได้จบลงจากการทำงานในระดับอาสาสมัคร แต่ยังเกี่ยวเนื่องไปกับการทำงานในระดับภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ประเด็นปัญหาไฟป่าถูกระบุเป็นวาระสำคัญของประเทศ ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่มติ ครม. อุดหนุนงบกลางจำนวน 620,691,360 บาท ตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้กับกรมป่าไม้ 187,022,330 บาท และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 433,669,030 บาท แต่จนถึงวันนี้ที่ผ่านเวลามานับเดือน หน่วยงานยังไม่ได้รับการอุดหนุนเงินดังกล่าว อีกทั้งงบที่ถูกจัดสรรโดยตรงผ่านกระทรวงทรัพยากรฯ แต่กลับมีอำเภอ องค์กรส่วนท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้เงินหมุนเวียนสะพัดไปทำหน้าที่ควบคุมไฟป่าและปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ รวมไปถึงงบประมาณของ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ที่วัดกลยุทธ์การบริหารของผู้นำจังหวัดผ่านสายตาการพัฒนา และเป็นสาเหตุให้งบประมาณการจัดการไฟป่าของแต่ละพื้นที่มีหลากหลายแหล่งที่มาต่างกัน
เปิดแฟ้มงบกลาง ใครเป็นใครในสมการตีไฟ
ด้วยลักษณะทางกายภาพของลำพูน ที่พื้นที่การเกษตรของประชาชนติดต่อกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอลี้ ที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าบ้านโฮ่ง อยู่ในการดูแลของกรมอุทยาน ในขณะที่ป่าสงวนมีพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าพนักงานกรมป่าไม้เพียง 15 นาย ของหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลี้ ที่ 3 ที่นอกจากพื้นที่การดูแลจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนเจ้าพนักงาน หากกล่าวตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่กรมป่าไม้ไม่ได้มีการก่อตั้งหน่วยบัญชาการดับไฟป่าอย่างเป็นรูปธรรม
หน้าที่การดับไฟป่าจึงเปรียบเสมือนงานที่มาตาม ‘วาระ’ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะฤดูกาล โดยไม่ได้ถูกบรรจุไว้ให้เตรียมแผนตั้งรับ การจัดเตรียมกำลังพลและองค์ความรู้ในการสงบเพลิง เมื่อถึงจุดที่เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญกับไฟ ทางเจ้าหน้าที่มีเพียงอุปกรณ์เครื่องเป่าที่ใช้ในการดับไฟผ่านการจัดสรรจากกระทรวง ปัญหาที่อยู่ภายในของเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ผ่านออกมาทางคำพูด ที่บอกกับผู้ไปเยือนเช่นฉันว่า
“เครื่องมือดับไฟยังพอมี แต่ที่ต้องการวันนี้คือกำลังคน”
ภาพอาสาสมัครที่มาสมทบกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้
ตรงกับวัตถุประสงค์ของงบประมาณรายจ่ายที่ถูกอุดหนุนมาของกระทรวงทรัพยากรฯ ว่างบประมาณกลางส่วนนี้จะใช้ในการจ้างเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า จัดหาอุปกรณ์ดับไฟป่า โดยจะเป็นการประสานงานระหว่างทางหน่วยงานและอำเภอ ที่รับหน้าที่เขียนข้อเสนอการจัดซื้อจัดจ้างอาสาสมัครทำงานควบคุมไฟป่าในระดับหมู่บ้าน งบประมาณที่ทางกรมอุทยานและกรมป่าไม้ได้รับการจัดสรรมา จึงจะถูกลงไปใช้ในระดับหมู่บ้าน โดยจะตั้งต้นผ่าน ‘พ่อหลวง’ หรือผู้ใหญ่บ้านของแต่ละหมู่บ้านในการรวบรวมอาสาสมัคร จากการสอบถามข้อมูลจากทางอำเภอถึงช่วงระยะเวลาดับไฟป่าในปีก่อนหน้า มีหลากหลายหมู่บ้านที่พ่อหลวงต้องสมทบเงินส่วนตัวสำหรับการใช้ในการดับไฟป่าในชุมชน
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะงบประมาณสำหรับการจ้างอาสาสมัครดับไฟป่าของชุมชนจะไม่ได้รับการจัดสรรในทุกหมู่บ้าน สังเกตได้จากตัวเลขการจัดซื้อจัดจ้างอาสาสมัครดับไฟป่าที่ยื่นเสนอไปในเดือนมีนาคมจำนวน 138 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 4 คน จากตัวเลขหมู่บ้านทั้งหมดในจังหวัดลำพูน 577 หมู่บ้าน (นั่นหมายความว่า มีเพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด ที่จะมีชาวบ้านในพื้นที่ลาดตระเวน เข้าควบคุมไฟป่าในกรณีที่เกิดกลุ่มควันในพื้นที่) นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแผนฝึกอบรมวิธีการดับไฟป่า เพื่อความปลอดภัยของอาสาสมัครในการเข้าไปในพื้นที่จุดความร้อน
ตัวเลขการว่าจ้างอาสาสมัคร 4 คน คนละ 300 บาทของแต่ละหมู่บ้าน ที่แม้งบประมาณจะลงไปในชุมชนเพียงส่วนหนึ่ง อาจจะยังเรียกว่า ‘ถูกตัดงบ’ ได้ไม่ชัดเจนนัก เมื่อเทียบกับตัวเลขการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับดับไฟป่า ที่หายไปจากงบประมาณกลางครั้งนี้ หรือหากมีการจัดซื้อจัดจ้าง ก็จะถูกล็อกสเปกมาตั้งแต่การกำหนดนโยบายว่าสามารถจัดซื้ออุปกรณ์ประเภทใดได้บ้าง ชุมชนที่นอกจากกำลังคนสู้ไฟจะมีไม่เพียงพอ แต่ยังต้องใช้อุปกรณ์ที่ ‘พอจะมี’ ในพื้นที่เช่น ไม้กวาด กิ่งไม้ในการดับไฟ การดับไฟได้ช้าเพราะคนและเครื่องมือไม่พอ (และไม่มี) เป็นเหตุผลให้การคุมเพลิงเกินกำลังรับไหวของชาวบ้าน ที่สู้มากกว่าสัปดาห์แล้วก็ยังสยบเพลิงไม่ได้
ความเป็นจริงเหล่านี้เป็นคำตอบให้กับสังคมว่า วันนี้งบประมาณกลางที่อุดหนุนไปเฉพาะการลาดตระเวนช่วยไฟป่าภาคเหนือ มาถูกทางหรือไม่ ?
เอกสารจากส่วนจัดการงบประมาณ, สำนักแผนฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ (สบอ.16) และส่วนการคลัง กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ประกอบกับส่วนหนึ่งจากการรายงานของสำนักข่าว Lanner ระบุถึงงบประมาณในการจัดการไฟป่าปี 2568 รวมทั้งสิ้น 9,944,820 บาท เป็นงบประมาณประจำปีของหน่วยงาน 8,658,200 บาท และ งบประมาณกลาง 1,286,620 บาทเป็นค่าจัดซื้อจัดจ้างอาสาสมัครดับไฟ 6,978,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 402,600 บาท แผนทำแนวกันไฟ 1,118,000 บาท และงบรายจ่ายอื่น 1,446,220 บาท
นอกจากนี้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ทางผู้ว่าราชการ ได้ระบุการทำงานดับไฟป่าและควบคุมปริมาณฝุ่นควันไว้ใน แผนพัฒนาจังหวัดลำพูน (พ.ศ. 2566 – 2570) ทำให้ทางจังหวัดสามารถยื่นเสนองบประมาณกลางจากกระทรวงมหาดไทย จากการสัมภาษณ์ รวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน (สนง.ทสจ.) ถึงงบประมาณที่ทางส่วนราชการจังหวัดลำพูนได้รับมาสำหรับการเฝ้าระวัง ลาดตระเวน เพื่อลดการเกิดหมอกควันและไฟป่า จำนวน 6,231,800 บาท และได้มีการจัดซื้อเครื่องเป่า 35 เครื่อง ให้กับเทศบาลจำนวน 8 ตำบลจากตัวเลข 51 ตำบล เป็นเงิน 171,500 บาท
เมื่อวิเคราะห์เส้นทางงบประมาณทั้งหมดของจังหวัดลำพูน จึงจะเห็นได้ว่าไม่ได้มีงบประมาณกลางจากกระทรวงทรัพยากร ที่ผ่านกรมอุทยานและกรมป่าไม้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยที่เข้ามาผ่านทางจังหวัด งบทั้งสองส่วนนี้จะกระจายไปยังท้องถิ่น โดยอำเภอจะมีสถานะเป็นคนจัดซื้อจัดจ้าง หากเป็นงบในฝั่งของกระทรวงมหาดไทย จะผ่านคนประสานงานอย่าง สนง.ทสจ. ที่ยื่นเรื่องเข้าไปยังจังหวัด ให้ทางผู้ว่าราชการฯ อนุมัติกลับไปยังสำนักงบประมาณจังหวัด ซึ่งเป็นคนถืองบประมาณ ก่อนจัดสรรงบกลับไปยังท้องถิ่นเพื่อดำเนินงานตามเป้าหมาย กระบวนการนี้ จึงจะแตกต่างจากงบกลางที่เข้ามาผ่านทางกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ทางกรมอุทยานและกรมป่าไม้จะเป็นคนดูแลงบผ่านส่วนการคลัง ก่อนจะส่งเรื่องจัดซื้อจัดจ้างไปที่ทางอำเภอ
“ทางอำเภอก็รอเงินก้อนนี้ (งบประมาณที่มาจากทั้งสองกระทรวง) อยู่เหมือนกัน ก่อนหน้านี้ที่บางหมู่บ้านไม่ได้เงินอุดหนุน เวลาเกิดไฟป่า แน่นอนว่าพ่อหลวงกับชาวบ้านก็ต้องออกทั้งแรง ออกทั้งเงินในการซื้ออุปกรณ์ดับไฟในหมู่บ้านเอง ”
เสียงของนายอำเภอจังหวัดลำพูนท่านหนึ่ง ที่เป็นผู้ทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง บอกถึงความสำคัญของงบกลางจากกระทรวง
“เงินไม่ได้ผ่านมาทางเราโดยตรง เราทำหน้าที่เป็นแค่คนประสาน บางทีที่สถานการณ์หนักมาก อาสาเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ เราก็ประสานขอเฮลิคอปเตอร์จากกระทรวง (ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ให้เข้ามาช่วยเหลือ ใช้น้ำดับไฟจากทางอากาศ ”
รวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน (สนง.ทสจ.)
เสียงของผู้อำนวยการ สนง.ทสจ. ที่อธิบายการทำงานในนามจังหวัด และเป็นคนประสานระหว่างอำเภอและจังหวัดในการจัดสรรงบประมาณจากมหาดไทย
ตัวเลขระยะเวลาการจ้างอาสาสมัครดับไฟป่าในระดับหมู่บ้าน ที่นอกจากจะไม่สามารถว่าจ้างได้ครบทุกพื้นที่ของจังหวัดแล้วนั้น ยังรวมไปถึงระยะเวลาการว่าจ้างที่ถูกระบุระยะเวลาถึงวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งยังไม่สิ้นสุดฤดูกาลทำงานรบกับไฟ ความหวังของฟากฝั่งจังหวัดต่องบประมาณกลางจากกระทรวงทรัพยากรฯ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนให้เงินกว่า 10 ล้านนี้ต่ออายุระยะการทำงานของอาสาสมัครระดับชุมชน ให้ครอบคลุมระยะเวลาไฟป่าถึงปลายเดือนเมษายน โดยที่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อถึงสถานการณ์ที่ต้องสู้กับไฟ เครื่องมือที่มีอยู่ในมือของอาสาในชุมชนนั้นจะเพียงพอหรือไม่
ด่านหน้า (ขอ) สู้ไฟไม่ให้สะดุด
เมื่อพูดถึงฝั่งกระทรวงมหาดไทย คงไม่สามารถละเว้นตัวแทนผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างนายกองค์การส่วนจังหวัด วีระเดช ภู่วิสิษฐ์ ที่ขึ้นมารับตำแหน่งในช่วงที่ลำพูนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่า ควันคุกรุ่นที่กำลังเผาไหม้ในพื้นที่ คงเทียบไม่ได้กับความร้อนแรงในการเปิดประชุมสภาครั้งแรกของทีมบริหาร อบจ.ที่ไร้วี่แววว่าทางสภาฯ จะมีการเสนองบประมาณในการดำเนินงานจัดการไฟป่าท่ามกลางความต้องการกำลังเสริมทั้งคนและอุปกรณ์ในพื้นที่
โอกาสที่ได้สัมภาษณ์ผู้นำคนใหม่นี้ ทำให้ได้รู้ว่า อบจ.ลำพูนมีเครื่องเป่าสำหรับไฟป่าเพียง 1 ตัวตามตัวเลขครุภัณฑ์ที่ระบุไว้ อีกทั้งเหตุผลสำคัญที่ทาง อบจ.ไม่สามารถเสนอจัดซื้องบประมาณสำหรับการทำงานด้านไฟป่า เพราะในแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ที่ร่างไว้ในปี 2564 รวมถึงแผนพัฒนาที่ฟากฝั่ง อบจ.ใช้มาก่อนหน้า ไม่เคยระบุไว้ถึงแผนการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันภายในจังหวัด การเลือนหายไปของปัญหาหมอกควันภายใต้แผนพัฒนาท้องถิ่นนี้ เปรียบเสมือน ‘กับดัก’ ที่กีดขวางเส้นทางการได้มาซึ่งงบประมาณ และปิดทางในการทำงานรบกับไฟป่า ซึ่งทาง อบจ.ให้คำนิยามหน้าที่ตนเองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนการทำงาน
ภาพสะท้อนคงไม่ไกลตัวนัก เมื่อทาง อบจ.เชียงใหม่ ได้รับการจัดสรรงบประมาณกลางจากทางกระทรวงมหาดไทยมาสมทบรวม 88,666,900 บาท ทำให้ปีนี้เชียงใหม่ได้รับงบรวมสำหรับจัดการไฟรวมแล้วถึง 210 ล้านบาท สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกจังหวัดในทางภาคเหนือ นอกไปจากลำดับการเก็บสะสมข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ที่มีผลต่อจำนวนเงินอุดหนุนว่าหากจังหวัดใดมีพื้นที่เผาไหม้มาก ก็จะได้รับงบประมาณสำหรับการเฝ้าระวังไฟป่าที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การปริมาณเงินอุดหนุนจากหน่วยงานอื่น เช่นจังหวัดลำปางที่ได้รับจัดสรรงบประมาณควบคุมไฟจากกรมทรัพยากรน้ำ การเขียนเสนอใช้งบประมาณผ่านแผนพัฒนาเพื่อระบุการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของจังหวัด จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางการทำงานของส่วนราชการ
“ตอนนี้เราทำหน้าที่สนับสนุน แต่ต่อไปการทำงานไฟป่าต้องถูกระบุไว้ในแผน เพราะมรดกของแผน จะตกไปถึงการทำงานในรุ่นต่อไป และเรา (อบจ.) จะได้เข้าไปเป็นด่านหน้าในการทำงาน ”
วีระเดช ภู่วิสิษฐ์ นายกองค์การส่วนจังหวัดลำพูน
การทลายกับดักเป็น ‘กุญแจ’ สำคัญในการเปลี่ยนจากฝ่ายสนับสนุน ให้เข้าไปทำงานเป็นด่านหน้าของภารกิจดับไฟป่าผ่านสายตาของนายก อบจ.คนใหม่ ที่ครั้งหนึ่งได้มีประสบการณ์ทำงานอาสาสมัครดับไฟป่า ยังคงเป็นหมุดหมายว่าต้องระบุการรับมือไฟป่าไว้ในแผนการพัฒนาด้วยการทำงานของทีม อบจ.ในสมัยของตนเอง เชื่อมต่อการทำงานกับศูนย์ป้องกันสาธารณภัยของ อบจ.ที่ยังไม่ได้มีภารกิจการทำงานร่วมกันในการเข้าไปพื้นที่จุดความร้อนอย่างชัดเจน วีระเดชเห็นช่องทางในการกลับไปร่วมฟื้นฟูทีมศูนย์ป้องกันฯ ที่จะเป็นจิ๊กซอว์เสริมส่วนที่ขาดหายไปทั้งด้านกำลังพล และอุปกรณ์ ที่ต้องยอมรับว่าทางศูนย์มีเครื่องมือการทำงานที่มีความพร้อมและประสิทธิภาพ แต่ก็ยังขาดแคลนบางส่วน ซึ่งทางฟากฝั่ง อบจ.ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์มาจากมูลนิธิกระจกเงาที่เข้ามาเสริมกำลังการทำงานในพื้นที่ เป็นหนึ่งในการปรับรื้อโครงสร้างเดิม วางรากฐานการทำงานครั้งใหม่ พร้อมปิดท้ายว่า แม้วันนี้จะยังไม่มีงบประมาณจากทางภาคส่วนใดเข้ามาสนับสนุน แต่การใช้งบประมาณที่มาจากแผนการพัฒนาของ อบจ.จะยังเป็นหนึ่งสิ่งที่เปิดพื้นที่การเข้าไปเป็นด่านหน้าสู้ไฟของ อบจ. ไม่สะดุดกับปัญหาเหมือนเช่นวันนี้ที่งบประมาณสวนทางกับเป้าหมายการทำงาน ของหน่วยงานที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
งานอาสากับข้อพิสูจน์ คนและเครื่องมือ ‘ตีไฟ‘
สำหรับเรื่องงบประมาณคงไม่ได้อยู่ในบทสนาของทีมดับไฟป่า และงานงบประมาณคงเปรียบเป็นหลังบ้านให้กับทีมเผชิญไฟทั้งแรงคนและอุปกรณ์เสริมกำลังทัพ
หากไม่ได้มาเห็นด้วยตาตนเองว่าการวางแผน ‘ตีไฟ’ ซึ่งเป็นคำที่อาสาใช้เรียกการทำงานดับไฟป่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร การจินตนาการความหมายที่สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่าการตีไฟเหมือนกับการวางแผนรบ คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สองภาพนี้มาซ้อนทับกันสนิท และทำให้เห็นภาพในอีกมุมหนึ่งว่าการดับไฟ ไม่ใช่เพียงการคว้าอุปกรณ์และจ้ำก้าวไปเผชิญเหตุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“การดับไฟป่า เหมือนการวางแผนการรบ ที่ต้องใช้ทั้งผู้บัญชาการคอยประเมินทั้งหมด เสริมกำลังคนที่มากพอในการเข้าไปสยบไฟ และเครื่องมือที่จะช่วยให้การทำงานมันง่ายขึ้น”
สมบัติ บุญงามอนงค์
ทีมอาสาจะถูกแบ่งเป็น 2 ทีมรวมแล้วกว่า 50 ชีวิต มีผู้นำในการทำงานทั้งหัวหน้าทีม เมื่อเคลื่อนทัพตามสัญญาณมาถึงที่หมาย หากประเมินแล้วว่าเส้นทางที่จะไปถึงแนวเพลิงไม่สูงชันมากนัก จะมีการส่ง ‘ม้าเร็ว’ พร้อมพาหนะคู่ใจอย่างจักรยานไฟฟ้า นำทางไปเป็นคนแรกเพื่อสำรวจพื้นที่ทางขึ้น และตัดท้ายไฟไม่ให้ลุกลามไปยังยอดเขาที่ยากต่อการดับ เสี่ยงกับการที่แนวไฟจะขยายพื้นที่ไปยังภูเขาลูกถัดไป เมื่อได้รับสัญญาณจากม้าเร็วผ่านวิทยุสื่อสารที่ทุกคนพกติดข้างกาย กองหน้าในตำแหน่งเครื่องเป่าจะนำเข้าไปในพื้นที่เพื่อใช้ลมในการดับไฟ ตามด้วยกองกลางอย่างเครื่องฉีดน้ำที่จะคอยทำหน้าที่ใช้น้ำดับเปลวไฟที่ยังไม่มอดสนิท มีฝ่ายสนับสนุนอย่างน้ำมันและถังน้ำที่สามารถเติมได้ทันทีกลางสันเขา ก่อนที่กองหลังจะใช้ไม้กวาดในการเคลียร์พื้นที่ ร่วมไปกับการใช้เครื่องเป่าของกองหน้าเพื่อเคลียร์เส้นทางยามที่เดินลงกลับมายังกองบัญชาการ
รถโฟวิลสีขาวใหญ่ที่พื้นที่ด้านในถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นกองบัญชาการ ทีมงานส่วนหนึ่งจะคอยใช้วิทยุสื่อสารกับกลุ่มเผชิญไฟ ไม่ว่าจะเป็นการคอยระบุตำแหน่งจากแผนที่ รวมไปถึงการสื่อสารสถานการณ์จากการสำรวจบินโดรน ที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานของอาสา นับตั้งแต่สำรวจพื้นที่พิกัดจุดความร้อนโดยรอบเพื่อประเมินแผนการทำงาน และคอยใช้สังเกตการณ์ในระหว่างการทำงานเพื่อความปลอดภัยของทีมอาสา เพราะโดรนที่ทางมูลนิธินำมาใช้งาน มีความสามารถในการระบุพื้นที่ความร้อน ทำให้จับพิกัดของไฟที่ปกคลุมด้านใต้ป่ารกทึบแม้จะยังไม่เกิดกลุ่มควัน ระบุเส้นทางแนวไฟที่ทำให้ทีมอาสาขึ้นไปสกัดท้ายไฟได้ก่อนลุกลาม รวมไปถึงความละเอียดในการจับภาพระหว่างการทำงานของทีมอาสา ทำให้ทีมบัญชาการประเมินสถานการณ์ได้รัดกุมกว่าการเผชิญเหตุด้วยอุปกรณ์ดับไฟเพียงอย่างเดียว การนำทีมดับไฟป่าโดย ณัฐพล สิงห์เถื่อน หัวหน้าทีมชุดอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ทำให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน มีผลต่อระยะเวลาการทำงานที่รวดเร็ว การตัดสินใจและประเมินสถานการณ์ที่รอบคอบในฐานะผู้นำ แม้จะเป็นการลงทุนที่ต้องอาศัยงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผลสรุปว่า การลงทุนกับอุปกรณ์ดับไฟป่าที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้สยบไฟลงได้จริงหรือไม่ ในสายตาของรัฐบาลอาจจะต้องรอการพิสูจน์จากการสรุปข้อมูลพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่คำตอบที่ได้มาในทิศทางเดียวกันทั้งจากด่านหน้าอาสาและภาครัฐที่ช่วยประสานการทำงาน ว่าการรู้จุดความร้อนได้ก่อนดาวเทียม เข้าไปถึงพื้นที่ได้เร็ว ใช้กำลังคนที่ทำให้สงบไฟได้โดยไม่ต้องรอให้ไฟโหมข้ามวัน จะช่วยลดความรุนแรงของเพลิงและปริมาณพื้นที่เผาไหม้ไม่ให้กระจายไปเป็นวงกว้าง การเจอไฟได้ไว ดับได้เร็ว จึงเป็นเป้าหมายการทำงานไม่ให้ปริมาณพื้นที่เผาไหม้สูงแปรผันไปกับการเกิดจุดความร้อน
ภาพการร่วมมือทำงานระหว่างมูลนิธิ ทีมเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ฯ กลุ่มพ่อหลวงและชาวบ้าน ทำให้เห็นข้อสังเกตอย่างชัดเจนว่าอุปกรณ์ดับไฟมีผลต่อการทำงานของด่านหน้าสู้ไฟ ที่หากลักษณะพื้นที่เป็นเนินสูงชัน เต็มไปด้วยหินลอยอย่างพื้นที่ป่าของลำพูน อุปกรณ์ที่จะถูกพูดถึงมาเป็นอันดับแรกสำหรับคนทำงานคือเครื่องเป่าลม ด้วยน้ำหนักจากตัวเครื่องที่ทีมงานต้องแบกรับไปตลอดการทำงาน ที่เพียงเอ่ยถามว่าน้ำหนักของเครื่องเป่าลมของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้มีน้ำหนักเท่าใด กว่า 8 กิโลกรัมที่ต้องร่วมเดินทางไปพร้อมกับการปะทะความร้อน เครื่องทุ่นแรงจึงเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความไม่เหมาะสม ทำให้ในทุกการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ต้องอาศัยการสับเปลี่ยนกันแบกเครื่องเป่าลมกับเพื่อนร่วมทีม และหากเป็นไปได้ (ซึ่งยังเป็นไปไม่ได้เพราะการจัดซื้ออุปกรณ์ของกรม ไม่ใช่อำนาจในระดับหน่วยงานฟื้นฟูฯ ที่จะระบุประเภทการสั่งซื้อครุภัณฑ์) เครื่องเป่าที่มีขนาดเล็กลงที่ทางเจ้าหน้าที่สังเกตเห็นจากอุปกรณ์การทำงานของมูลนิธิอาสาจะทำให้การทำงานคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้เป็นเหตุผลสำคัญให้ทางมูลนิธิอาสาเลือกใช้เครื่องที่มีขนาดเล็กเพื่อการทำงานที่ต่อเนื่อง ไม่เป็นข้อจำกัดเมื่อต้องทำงานในพื้นที่สูงชัน หรือต้องสลับการทำงานทั้งที่กำลังคนเองก็ไม่ได้มีมากเพียงพอ
‘นับหนึ่ง’ ให้ ‘ท้องถิ่น’ สู้ไฟ
ฤดูกาลไฟป่าที่ราวกับถูกกำหนดไว้ในปฏิทินให้เวียนมาบรรจบในทุกปี นโยบายการจัดปัญหาหมอกควันและไฟป่าก็ถูกปลุกให้ตื่นตัวขึ้นพร้อมกัน อาจเรียกว่าเป็นการตั้งต้นที่ดีของปีนี้ จากการที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือได้รับการจัดสรรงบประมาณกลางเพื่อจัดการไฟป่าที่เพิ่มมากขึ้น แต่ภาพไฟที่ยังคงโหมกระหน่ำชีวิตประชาชน และเสียงจากเพียงหนึ่งพื้นที่ของภาคเหนืออย่างลำพูนที่ยังคงต้องการกำลังเสริมทั้งคนและเครื่องมือดับไฟ ทำให้ชวนกลับมาตั้งคำถามว่า ภาครัฐเดินหน้า หรือถอยหลังมากน้อยเพียงใดในการตั้งรับไฟป่าครั้งนี้

เมื่อปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่างบประมาณผ่านเข้ามาจากช่องทางใด เป็นงบประมาณรายปี หรืองบฉุกเฉินที่อนุมัติเข้ามา แต่สิ่งสำคัญคือการกระจายงบประมาณให้สอดคล้อง เพียงพอกับความต้องการภายในพื้นที่ สิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากทั้งในการบริหารงานระดับจังหวัด อำเภอ และการทำงานของมูลนิธิ คือการเตรียมความพร้อมให้กับท้องถิ่นในการจัดการปัญหาไฟป่า ตั้งต้นตั้งแต่ในระดับชุมชนในการสร้างองค์ความรู้ขั้นพื้นฐานในการระงับความรุนแรง มอบอำนาจในการเป็นชุดหน่วยเฝ้าระวังไฟป่า ไม่ว่าจะการว่าจ้างอาสาสมัครชุมชน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากอำเภอ เพราะทั้งเงินและกำลังคนที่อุดหนุนเข้าไปในพื้นที่ ล้วนมีปลายทางอยู่ที่การเข้าไปสนับสนุนชุมชน การติดเครื่องมือและอำนาจในการเป็นผู้เฝ้าระวังภัย ควบคุมเหตุการณ์ในพื้นที่ให้กับท้องถิ่น ต้องร่วมไปกับการสร้างกำลังเสริมที่มีความเข้มแข็งทั้งจากกรมอุทยาน กรมป่าไม้ ภาครัฐในระดับอำเภอและจังหวัดในการระบุหน่วยงานรับผิดชอบดูแลไฟป่า เพื่อสร้างความพร้อมให้กับกำลังคนและเครื่องมือในการทำงาน
ณ วันนี้ที่การจัดการไฟป่ากระจัดกระจายทั้งงบประมาณและกำลังในการเข้าไปสยบไฟป่า ทางออกหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของจังหวัดลำพูน คือการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ที่ต้องไปได้ไกลว่าการมอบหมายผู้นำในระดับพื้นที่ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีสิทธิในการตัดสินใจเด็ดขาด การมีผู้นำศูนย์บัญชาการที่สามารถมองเห็นภาพกว้างทั้งหมดในการทำงาน วางแผนการตีไฟอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจอย่างเด็ดขาด รอบคอบ จัดระเบียบบทบาทหน้าที่แต่ละหน่วยงานได้คุ้มค่ากับงบประมาณและทรัพยากรที่เข้ามาหนุนเสริม ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นในพื้นที่สมรภูมิสู้ไฟป่าภาคเหนือที่มาจากแผนการรับมือของภาครัฐ แม้จะผ่านบทเรียนและภารกิจมาตลอดระยะเวลาหลายปี
คำถามปิดท้ายถึงความหวังของคนรับมือไฟ ว่าภาพฝันในการทำงานปิดสวิซต์จุดความร้อนภาคเหนือคืออะไร ?
“ไม่ได้เอางบมาทิ้งแน่นอน สถิติไฟป่า พื้นที่ป่าเสียหายจะสรุป พ.ค. นี้ จะชี้วัดว่างบ 620 ล้านคุ้มหรือไม่คุ้ม”
เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์หลัง ครม. มีมติเคาะงบกลาง ที่ให้พื้นที่ความเสียหายของป่าจากเปลวเพลิง การันตีความสำเร็จการอุดหนุนเงินลงไปทำงานควบคุมปัญหาไฟป่าหมอกควันในปีนี้

‘การป้องกัน’ คือสิ่งที่ทั้งภาครัฐในระดับพื้นที่และภาคประชาชนวางไว้ให้เป็นปลายทางของการทำงาน หาวิธีการที่จะทำให้ไม่เกิดไฟในลักษณะที่แพร่ขยายไปในวงกว้าง เจอให้ไว ดับให้เร็ว มีกำลังคนและเครื่องมือที่พร้อมต่อควบคุมไม่ให้ลุกลาม ภาพการร่วมมือทำงานที่แม้จะต่างบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัคร ชาวบ้านในชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเดียวกัน
และหวังในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่อยากมองเห็นแรงผลักดันจากรัฐให้นโยบายการจัดการปัญหาไฟป่าหมอกควัน ถูกวางไว้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างรากฐานการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมต่อการทำงานรับมือไฟป่า มีระบบการจัดการป้องกันที่ต้องไม่ใช่การรอคอยงบประมาณอุดหนุนในแต่ละไตรมาส หรือเพียงใช้ระยะเวลาของฤดูกาลไฟป่ากำหนดช่วงเวลาการทำงานจัดการปัญหาหมอกควัน ปัดให้เรื่องของไฟป่ากลายเป็นงานด่านหน้าที่ยังไม่มีระบบการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม
“เสร็จสิ้นภารกิจ ไฟสงบหมดแล้ว กลับไปพักก่อน แล้วค่อยเริ่มใหม่ตอนไฟมาอีกครั้ง”
เสียงจากวิทยุสื่อสารสุดท้ายของวัน ก่อนถูกปลุกอีกครั้งด้วยสัญญาณจุดความร้อนแห่งใหม่ ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อใด สาหัสเพียงไหน ยากหรือไม่ที่จะสยบลงให้เหลือเพียงกลุ่มควัน
เช่นเดียวกันกับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ว่างบประมาณที่อุดหนุนเข้าไปทำงานจัดการไฟป่าของปีนี้ จะช่วยให้สถานการณ์หมอกควันของภาคเหนือผ่านไปจนสิ้นสุดฤดูกาลไฟป่า และตั้งหลักโดยไม่ต้องกลับมา ‘นับหนึ่ง’ ใหม่อีกครั้งในทุกปีของการเผชิญไฟได้หรือไม่
