หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้จากผืนนาสู่จานข้าว - Decode
Reading Time: 3 minutes

แด่ ขบวนการชาวนาไทย

ขอมอบหนังสือเล่มนี้ ให้ขบวนการชาวนาไทย ไม่ว่าท่านจะเป็นสมาชิกลาเวียคัมเปซินา (ขบวนการชาวนาสากล) สมัชชาคนจน หรือสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือหรือไม่ก็ตาม ขอคารวะพลังในการต่อสู้เพื่อ ปกป้องชุมชนจากการแย่งยึดที่ดิน รวมทั้งยืนหยัดที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของท้องถิ่น และสร้างอาหารเพื่อสุขภาพด้วยเกษตรนิเวศ อธิปไตยทางอาหารและเมล็ดพันธุ์ของชาวนา 

คำโปรยในหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ คือมวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตอนที่อ่านจบถึงหน้าสุดท้าย

หนังสือ เกษตรนิเวศ: วิทยาศาสตร์และการเมือง (Agroecology: Science and Politics) เป็นผลงานร่วมของ ปีเตอร์ เอ็ม. รอสเซ็ต (Peter M. Rosset) และมิเกล เอ. อัลเตียร์รี (Miguel A. Altieri) โดยฉบับภาษาไทยได้รับการแปลโดยอารียา ติวะสุระเดช และภัควดี วีระภาสพงษ์ บรรณาธิการแปล ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล 

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตแทบในทุกตัวอักษร ลมหายใจ และอาหารบนจานข้าว การเริ่มต้นด้วยหลักการ หลักฐานเมล็ดพันธุ์ทางความคิด ขบวนการต่อสู้ และการเมืองเกษตรนิเวศ  

เกษตรนิเวศ (Agroecology) คือแนวทางการเกษตรที่ผสมผสานหลักวิทยาศาสตร์นิเวศวิทยาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยไม่มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มผลผลิต แต่มุ่งเน้นไปที่ ความหลากหลายทางชีวภาพ การมีส่วนร่วมของชุมชน การพึ่งพาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติ โดยระบบเหล่านี้ทำให้เกิดการลดปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวน อย่างการใช้สารเคมีเพื่อเร่งรัดการผลิต แต่เกษตรนิเวศเป็นการปล่อยให้เกิดความสัมพันธ์ของทุกสิ่งอย่างในพื้นที่ ดูแลกันและกัน จนกลายเป็นนิเวศที่สมดุล อย่างการปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ หรือการปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน ที่ทำให้พื้นดินและความหลากหลายทางเมล็ดพันธุ์เกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างเป็นวัฏจักร  

การเมืองในมื้ออาหาร 

หนึ่งในจุดเด่นของหนังสือคือการเชื่อมโยงเกษตรนิเวศกับการเมืองและการเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้เขียนยืนยันว่าเกษตรนิเวศไม่ใช่แค่เทคนิคการเกษตร แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ท้าทายอำนาจของทุนข้ามชาติและอุตสาหกรรมการเกษตรแบบผูกขาด โดยเน้นการเสริมสร้างอำนาจให้กับเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการเรียกร้องอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty)

ในปัจจุบัน มนุษย์ได้ใช้พื้นที่จากทั่วทั้งโลกในการปลูกพืชเพื่อบริโภคเพียงแค่ 150-300 สายพันธุ์ จากทั้งหมดจำนวนพืชที่มนุษย์สามารถกินได้กว่า 30,000 สายพันธุ์   อีกทั้งพืชในอุตสาหกรรมอาหารหลักที่มนุษย์ใช้พื้นที่กว่า 80 % ของโลกในการเพาะปลูกมีพืชเพียงแค่ 12 ชนิด จำพวกพืชที่ให้พลังงานอย่าง ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ 

ระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมมักเน้นพืชที่ให้ผลผลิตสูง มีต้นทุนการปลูกต่ำ และสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ

การเข้ามาของระบบทุนนิยมและการปลูกพืชอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ก่อให้เกิดการแย่งยึดที่ดินของกลุ่มชนพื้นเมือง เกษตรกรดั้งเดิม รวมไปถึงการบีบบังคับทางอ้อมให้เกษตกรต้องหันมาปลูกพืชชนิดที่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม เพื่อความอยู่รอด เนื่องจากเน้นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับการผลิตในปริมาณมาก มีการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ นั่นทำให้ความหลากหลายของพืชลดลง 

ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างง่ายคือ สมมติว่าเรามีพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่อร่อย แต่สายพันธุ์นี้ต้องใช้เวลานานกว่าชนิดอื่น ๆ และระบบอุตสาหกรรมมองว่าเป็นการต้องเสียเวลา และต้นทุนมากเกินไป จึงไม่เกิดการรับซื้อ และผลักดันเมล็ดที่ทางบริษัทตัดแต่งให้ใช้ต้นทุนน้อยที่สุดเข้ามาแทนที่ ทำให้ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่เคยอยู่ในผืนนาของชุมชนหายไป  

การพูดถึงเกษตรนิเวศควบคู่กับแนวคิดอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) เป็นการเน้นย้ำถึงสิทธิของประชาชนในการกำหนดและจัดการระบบอาหารของตนเอง โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารในท้องถิ่น การมีสิทธิเลือกในเมล็ดพันธุ์ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน แนวคิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่ระบบอาหารโลกถูกครอบงำโดยอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นสูญเสียอำนาจในการจัดการทรัพยากรและการผลิตอาหารของตน

ในบริบทของสังคม อธิปไตยทางอาหารมีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ไม่เพียงในระดับครัวเรือน แต่ยังครอบคลุมถึงระดับประเทศและนานาชาติ แนวคิดนี้เน้นการลดการพึ่งพาระบบเกษตรอุตสาหกรรมแบบรวมศูนย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ เช่น การลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพ การเสื่อมโทรมของที่ดิน และความเหลื่อมล้ำในระบบอาหาร

เกษตรนิเวศเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบอาหารที่มักถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยชี้ให้เห็นถึงคุณค่าในการเรียนรู้จากธรรมชาติและการปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติที่เกษตรกรใช้สืบทอดกันมาหลายศตวรรษ แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการพึ่งพาตนเองและปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น

ขบวนการชาวนาโลก เหล่าเกษตรกร ชาวนา ชนพื้นเมืองที่ถูกกดขี่พวกเขาจะต้องมีสิทธิเลือกเมล็ดพันธุ์ในผืนแปลงและผืนโลก  

แม้การพูดเรื่องเกษตรนิเวศจะมีอยู่อย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรนิเวศถูกยกมาใช้เป็นทางออก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นปัญหาการพยายามแยกเกษตรนิเวศออกจากความเป็นการเมือง 

“เกษตรนิเวศคือการเมือง มันเรียกร้องให้เราท้าทายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจในสังคม” 

ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรนิเวศเป็นมากกว่าวิธีการเพาะปลูก แต่เป็นขบวนการที่พยายามฟื้นฟูอำนาจของประชาชนในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ชุมชนชนบท และชนพื้นเมือง ที่มักถูกกีดกันออกจากกระบวนการกำหนดนโยบายและการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ที่ดิน น้ำ และเมล็ดพันธุ์

ขบวนการชาวนาโลก หรือ ลาเวียคัมเปซินา ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 โดยรวมตัวชาวนาและเกษตรกรรายย่อยจากทั่วโลก ขบวนการนี้มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนในระบบอาหารผ่านแนวคิดอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งเป็นสิทธิ์ของชุมชนในการกำหนดวิธีการผลิตและบริโภคอาหารของตนเอง โดยไม่ถูกควบคุมจากบรรษัทขนาดใหญ่

หนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จคือการจัดตั้งเครือข่าย ชาวนา-ถึง-ชาวนา ซึ่งช่วยแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคด้านเกษตรนิเวศในระดับรากหญ้า 

เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการทดลองในพื้นที่จริง ช่วยให้ชาวนาได้ปรับเทคนิคให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตน

ในรูปแบบการเกษตรที่ต้องคอยผลิตเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ปัญหาในแปลงเพาะปลูก มักถูกผูกขาดวิธีการแก้ปัญหาโดย นักวิจัยและนักวิชาการจากบริษัทกลุ่มทุน ในรูปแบบ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ที่กลายเป็นตำราพื้นฐานในการทำการเกษตร และสามารถพบเจอได้ในตัวแทนจำหน่าย คำโฆษณาในร้านอุปกรณ์การเกษตรที่กระจายอยู่ในทั่วทุกพื้นที่ 

โดยพื้นฐานแล้วขบวนการชาวนาโลก เชื่อในนิสัยพื้นฐานความเป็นเกษตรกรที่มีภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาจากแปลงเพาะปลูกของพวกเขาเองมาอย่างยาวนาน 

การที่เกษตรกรคนนึงได้เห็นแปลงเกษตรที่ประสบความสำเร็จนั้นมาปรับใช้ในแปลงของตนเอง และมองดูทางเลือกอื่นที่ทำได้จริงด้วยตาของตัวเอง มากกว่าจะเชื่อคำพูดของนักวิจัยหรือนักวิชาการที่มาบอกพวกเขาว่าควรจะต้องทำอย่างไร 

การส่งเสริมการเกษตรแบบเกษตรทั่วไป 

นักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี —-> นักวิจัยทดลองในแปลงตัวอย่างที่หน่วยงานตนเอง —-> นักวิจัยทดลองในแปลงเกษตรกร —->  นักส่งเสริมการเกษตรติดตั้งแปลงตัวอย่าง และจัดกิจกรรมดูงานและเยี่ยมชมเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยี —-> ครอบครัวชาวนายอมรับหรือปฏิเสธเทคโนโลยี 

การส่งเสริมการเกษตรแบบ ชาวนาถึงชาวนา

ชาวนามีแนวทางการแก้ไขอยู่แล้วหรือคิดนวัตกรรมใหม่แก้ไข้ปัญหาที่ชาวนาคนอื่น ๆ กำลังเผชิญ —-> ชาวนาคนนั้นเป็นนักส่งเสริมแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่หรือแนวทางเก่าที่ยังใช้ได้ —-> จัดวงแลกเปลี่ยนระหว่างชาวนา มีการเดินทางดูงานเยี่ยมแปลงอื่นและแบ่งปันวิธีให้กับชาวนาอื่น —-> ชาวนาคนอื่นสอนวิธีการแก้ไขปัญหานี้พร้อมวิธีการอื่น ๆ ให้กับชาวนาคนอื่น ๆ 

การเคลื่อนไหวนี้ยังเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและกระตุ้นให้ชาวนาเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง หลายประเทศนำโมเดลเครือข่าย ชาวนา-ถึง-ชาวนา ไปปรับใช้ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารในชุมชนของตนเอง

ตัวอย่างที่สำคัญคือการส่งเสริมเกษตรนิเวศในคิวบา ซึ่งกลายเป็นโมเดลระดับโลกที่เน้นการพึ่งพาตนเองและการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น

การเปลี่ยนผ่านนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 คิวบาสูญเสียทรัพยากรที่เคยพึ่งพา เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำเป็นต่อเกษตรอุตสาหกรรม 

การปรับตัวนี้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกษตรอุตสาหกรรมที่เคยเน้นการผลิตเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกอ้อยเพื่อการส่งออก ไปสู่ระบบเกษตรผสมผสานที่เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ เทคนิคที่นำมาใช้ ได้แก่ การเพาะปลูกพืชแบบหมุนเวียน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี และการจัดการดินอย่างยั่งยืน

หนึ่งในจุดเด่นของการส่งเสริมเกษตรนิเวศในคิวบาคือการเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) พื้นที่ในเมืองใหญ่ เช่น ฮาวานา ถูกเปลี่ยนให้เป็นแหล่งผลิตอาหารผ่านสวนผักและแปลงเกษตรขนาดเล็ก โครงการนี้ไม่เพียงเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในเมือง แต่ยังสร้างโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมความร่วมมือในชุมชนเมือง

ผลลัพธ์ของการส่งเสริมเกษตรนิเวศในคิวบาเห็นได้ชัดในหลายด้าน คิวบาสามารถเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ และฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตรกรรม ดินที่เสื่อมสภาพจากการใช้สารเคมีเริ่มฟื้นฟูตัวเอง ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และระบบเกษตรนิเวศยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีองค์กรสมัชชาคนจน และเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเป็นสมาชิกชาวนาโลกและใช้วิธีการชาวนาถึงชาวนา การรวมกลุ่มของเครือข่ายเกษตกรในประเทศไทยทำให้เกิดการต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดิน สิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชน และสิทธิในการเลือกเมล็ดพันธุ์ มีการฟื้นฟู พันธุ์ข้าวพื้นเมือง และเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและลดการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบริษัทข้ามชาติ และทุนผูกขาดภายในประเทศ 

ดอกหงอนไก่สีเหลืองแดง จะยังคงพริ้วไสวตามสายลม 

ดอกหงอนไก่ คือสัญลักษณ์ของไร่หมุนเวียน เป็นหนึ่งในเกษตรนิเวศ ชาวปกาเกอะญอปลูกต้นหงอนไก่ไว้เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์อยู่เคียงคู่ผืนดินและพืชพันธุ์ของพวกเขา 

ไร่หมุนเวียนเป็นรูปแบบการเกษตรที่มีมาอย่างยาวนานในวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่สูงของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย รูปแบบการทำเกษตรกรรมนี้มีลักษณะเฉพาะ คือการหมุนเวียนพื้นที่เพาะปลูกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ดินและทรัพยากรในพื้นที่ได้พักฟื้นและฟื้นฟูตัวเองก่อนนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ที่ถูกส่งต่ออย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญาในการใช้ไฟจัดการศัตรูพืชเพียงหนึ่งครั้ง เมื่อเศษหญ้าและศัตรูพืชถูกไฟทำให้ตายลงก็จะกลายเป็นปุ๋ย การผสมเมล็ดพันธุ์แล้วหว่านลงพื้นไร่ ทำให้ ข้าว งา ฟักทอง พริก แตง มะเขือ ถั่วพลู  สมุนไพร ฝ้าย ฯลฯ  

เมล็ดพันธุ์มากกว่า 120 สายพันธุ์คือตัวเลขการสะสมความหลากหลายทางชีวภาพจากการทำไร่หมุนเวียน จะเห็นได้ว่าในไร่หมุนเวียนหนึ่งแปลงนั้นมี อาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต 

แม้ว่าไร่หมุนเวียนจะถูกมองว่าเป็นเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม แต่ไร่หมุนเวียนยังคงตอบโจทย์ความยั่งยืนในปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง เพราะไร่หมุนเวียนไม่เพียงแค่สร้างอาหาร แต่ยังฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ พืชหลากหลายชนิดที่ปลูกในไร่หมุนเวียน เช่น ข้าวไร่ ผัก และสมุนไพร ไม่เพียงช่วยตอบสนองความต้องการของชุมชนในด้านอาหาร แต่ยังลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก เช่น ปุ๋ยเคมีหรือสารกำจัดศัตรูพืช ที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การเลือกพื้นที่ เมล็ดพันธุ์ และการจัดการทรัพยากรในระบบไร่หมุนเวียนยังสะท้อนถึงความรู้และภูมิปัญญาเชิงลึกของชนพื้นเมืองในการจัดการดิน น้ำ และป่าไม้

ความสำคัญของไร่หมุนเวียนไม่ได้หยุดอยู่เพียงในเชิงเกษตรกรรม แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองอย่างลึกซึ้ง ระบบไร่หมุนเวียนผูกพันกับประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมที่สืบทอดกันมา เช่น การเลือกพื้นที่เพาะปลูกที่สอดคล้องกับความเชื่อของชุมชน และการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ในชุมชน ความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนถึงสิทธิของชนพื้นเมืองในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในแบบที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพวกเขา การดำรงอยู่ของไร่หมุนเวียน จึงเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิในที่ดิน สิทธิในวัฒนธรรม และสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชนพื้นเมือง

อย่างไรก็ตาม ไร่หมุนเวียนในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือการถูกตีตราเป็นรูปแบบการทำลายป่า ชนพื้นเมืองที่ปฏิบัติวิถีไร่หมุนเวียนมักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลักลอบตัดไม้และละเมิดกฎหมายป่าไม้ แม้ความจริงแล้วไร่หมุนเวียนจะเป็นระบบที่รักษาความสมดุลทางนิเวศ การขยายตัวของเกษตรอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาพื้นที่ยังส่งผลให้ชุมชนสูญเสียที่ดินและไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การลดทอนพื้นที่ทำกินยังส่งผลต่อการสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้วัฒนธรรมที่ผูกพันกับระบบไร่หมุนเวียนเริ่มสูญหาย

ปัญหา PM2.5 และไฟป่า ส่งผลให้ทางจังหวัดทางภาคเหนือประเทศไทย ออกนโยบายห้ามเผาในที่โล่ง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับวิถีชีวิตชนพื้นเมืองและไร่หมุนเวียน ทำให้ในแต่ละปีนั้น มีหลายครอบครัวไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ เนื่องจากมีโทษอัตราโทษของนโยบายที่ออกมา แม้ชุมชนจะยืนยันว่า ภูมิปัญญาของพวกเขา ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาและมีระบบการจัดการที่ดีมาอย่างยาวนานก็ตาม 

กลายเป็นว่าพวกเขาต้อง ซื้อ ข้าว พืชพลังงานหลักเคยขึ้นในไร่ของพวกเขาแทน

เช่นเดียวกันกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนคนและป่าที่มีมาอย่างยาวนาน แนววิธีความคิดการอนุรักษ์ป่าไม้ ที่ไร้ผู้คนที่คนจำนวนมากเชื่อว่าจะทำให้ป่าและโลกอยู่ได้อย่างยั่งยืนขึ้น 

ทั้งสองปัญหานี้แม้จะถูกแก้ไขในหลายสมัยของรัฐบาลและผู้นำหลากหลายคนในไทย ไม่ว่าจะเข้มงวดขึ้นหรือพยายามหาตรงกลาง แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงในทางนโยบายและข้อกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า 

ความเข้าใจในวิถีชีวิต การยอมรับศักยภาพของชนพื้นเมืองและผู้คนในท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ยังไม่เกิดขึ้นจริง

การสนับสนุนและอนุรักษ์ระบบไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่แค่การปกป้องระบบเกษตรดั้งเดิม แต่ยังเป็นการรักษาสิทธิและศักดิ์ศรีของชนพื้นเมืองในการดำเนินชีวิตในแบบที่พวกเขาเลือก 

ดังนั้นการสนับสนุนเกษตรนิเวศ โดยปราศจากเรื่องของการเมือง อย่างที่ องค์การอาหารโลก FAO และภาคธุรกิจขนาดใหญ่กำลังใช้เป็นเครื่องมือในการพูดเรื่องความยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง  

ตราบใดที่ระบบเกษตรนิเวศ ถูกแยกออกจากผู้คน ภูมิปัญญา อำนาจของชนชั้นรากหญ้า ความสมดุลทางนิเวศที่ควรจะเกิดขึ้นนั้นจะหายไป อธิปไตยทางอาหาร จะไม่ถูกทำให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง 

เกษตรนิเวศ: วิทยาศาสตร์และการเมือง (Agroecology: Science and Politics) เป็นผลงานร่วมของ ปีเตอร์ เอ็ม. รอสเซ็ต (Peter M. Rosset) และมิเกล เอ. อัลเตียร์รี (Miguel A. Altieri) โดยฉบับภาษาไทยได้รับการแปลโดยอารียา ติวะสุระเดช และภัควดี วีระภาสพงษ์ บรรณาธิการแปล ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล 

หนังสือ: เกษตรนิเวศ: วิทยาศาสตร์และการเมือง
นักเขียน : ปีเตอร์ เอ็ม. รอสเซ็ต (Peter M. Rosset) และมิเกล เอ. อัลเตียร์รี (Miguel A. Altieri)
แปล : อารียา ติวะสุระเดช และภัควดี วีระภาสพงษ์ บรรณาธิการแปล ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล 

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี