เมืองยั่งยืนที่เป็นธรรม - Decode
Reading Time: 2 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ผมคิดว่า ผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainable development ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกเสนอในที่ประชุมสหประชาชาติครั้งแรกตั้งแต่ปี 1987 หรือเกือบ 40 ปีที่แล้ว ในการประชุม ต่อมาในปี 2015 องค์การสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ก็รับรองการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) เพื่อเป็นหมุดหมายให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีแผนการที่ชัดเจนเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ 17 ประการ หรืออีก 6 ปี ข้างหน้า ซึ่งโดยภาพรวมโลกเรายังไม่ได้เข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้แต่อย่างใด

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกเฝือกับถ้อยคำสวยหรูทำนองนี้ เพราะเป็นเพียงคำพูดแต่ห่างไกลกับโลกความเป็นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่า ความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ต่างก็ยอมรับ แม้จะเขียนโครงการวิจัยก็ยังต้องอ้างอิงว่าสอดคล้องกับเป้าหมาย ของ SDGs ข้อใด อย่างไร   

ดังนั้นแทนที่จะไม่ไยดีกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  ผมจึงคิดใหม่ว่า แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือกล่าวเฉพาะไปที่เมืองยั่งยืน (sustainable cities) ไม่ได้แย่ทีเดียวนัก เพราะตัวแนวคิดให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางสังคมด้วย[i] หากแต่เป็นประเด็นที่ยังถูกพูดในแวดวงนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกระแสหลักไม่มากพอ 

สามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่จะคิดถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนแหล่งพลังงานจากฟอสซิล เพื่อลดมลพิษและภาวะโลกเดือด อย่างไรก็ดี แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทางวิชาการต่างประเทศ และ SDGs นั้นไม่ได้มีเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีอีกสองเสาหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ประกอบเป็นสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ สิ่งแวดล้อม – เศรษฐกิจ – สังคม   

การที่แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะตระหนักว่า ลำพังความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงพอที่จะสร้างสังคมให้ยั่งยืน หากปัญหาและความต้องการพื้นฐานยังไม่อาจบรรลุผล เช่น ข้ามพ้นความยากจน ระบบสุขภาพและที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ รวมถึงสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง ย่อมนำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคม

หรือกล่าวได้ว่า ความเป็นธรรมและความยุติธรรมทางสังคม (social justice) เป็นหัวใจหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น ดังเช่นการอธิบายว่า เหตุที่ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากร ก็เพราะตระหนักในความยุติธรรมระหว่างรุ่น (intergenerational justice) ที่คนรุ่นหลังไม่ควรถูกเอาเปรียบจากการผลาญทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อมโดยคนรุ่นปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตุว่า มิติความเป็นธรรมมักถูกมองข้าม เมื่อกล่าวถึง การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในบรรดาเป้าหมาย SDGs 17 ประเด็น พบว่า เป้าหมายที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ SDG 9 – โครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม เนื่องด้วยเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเอกชนที่จะขายนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ข้อวิจารณ์หลักข้อหนึ่งต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นอยู่คือ เป็นแนวทางที่เน้นเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงว่า คนทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้หรือไม่ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุนี้ประเด็นการขจัดความเหลื่อมล้ำ จึงมักถูกมองข้ามจากฝ่ายกำหนดนโยบาย  

ด้วยเหตุนี้ งานศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงวิพากษ์ จึงเน้นความสำคัญของความยุติธรรมทางสังคมและการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมว่า เป็นเนื้อหาที่ขาดไม่ได้ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมืองยั่งยืนและเป็นธรรม (sustainable and just cities)

การพัฒนาที่ยั่งยืนให้ความสำคัญกับเมือง เพราะดังที่ทราบกันว่า โลกเรามาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อปี 2007 (พ.ศ. 2550) ซึ่งเป็นปีที่ประชากรมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองมีจำนวนมากกว่าที่อาศัยในชนบท เพราะแต่อดีตที่ผ่านมานับแต่มนุษย์วิวัฒนาการขึ้นในโลก เมื่อราว 300,000 –350,000 ปีที่แล้ว มนุษย์อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทมากกว่าพื้นที่เมือง การที่โลกเรามาถึงจุดเปลี่ยนว่า มนุษย์ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความยั่งยืนของเมืองจึงมีผลต่อความยั่งยืนของโลกอย่างมาก

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงเมืองยั่งยืนในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ ส่วนใหญ่ยังเน้นมิติการใช้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เมืองที่มีคำขวัญสวยหรูว่า “เมืองสีเขียว” (green cities) เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-friendly cities) อย่างไรก็ดี คำขวัญเหล่านี้ เน้นแต่มิติด้านสิ่งแวดล้อมโดยละเลยด้านอื่น ๆ

ทั้ง ๆ ที่สาระของ SDG 11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานมีความยั่งยืน คือการทำให้เป็นเมืองสำหรับทุกคน ปลอดภัย ยืดหยุ่นและยั่งยืน โดยเป้าหมายสามข้อแรกตามลำดับได้แก่ ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยในราคาเข้าถึงได้ การคมนาคมที่เข้าถึงได้และยั่งยืน เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและยั่งยืน (inclusive and sustainable)[ii] จากเป้าหมายสามข้อแรกสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการจัดบริการพื้นฐานให้กับคนเมือง เช่น ที่อยู่อาศัย การคมนาคม และมีลักษณะครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่กีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

การที่มิติด้านความเป็นธรรมแทบไม่ถูกกล่าวถึงในวาทกรรม และนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเมืองยั่งยืนกระแสหลักในบ้านเรา ทำให้ภาคธุรกิจกลายเป็นผู้ครอบงำความคิดด้านเมืองยั่งยืนในแบบที่เน้นการขายเทคโนโลยี ผมเคยไปร่วมประชุมวิชาการเรื่องเมืองยั่งยืนที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดเมื่อกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ผมพบว่า บรรยากาศหลักในงานคือการ ขายเทคโนโลยี อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นสำคัญ เช่น ระบบส่องสว่างอัจฉริยะ การจัดสรรน้ำอัจฉริยะ คือเพิ่มการใช้เทคโนโลยีไปในการจัดการเมือง แถมราคาก็ไม่ถูก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านชาวช่องที่ไม่มีกำลังซื้อรู้สึกว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องไกลตัวและฟุ่มเฟือย เพราะความจำเป็นพื้นฐานของพวกเขายังไม่ถูกตอบสนอง เช่น มีอาชีพการงานที่ให้ผลตอบแทนที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมไม่ใช่อยู่แบบจำต้องอยู่เพราะไม่มีทางเลือก เมื่อความต้องการพื้นฐานยังไม่ได้รับการตอบสนอง แล้วจะให้คิดว่า ควรเปลี่ยนมาใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ เรียกหาพื้นที่สวนสาธารณะพื้นที่ริมน้ำสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ จึงเป็นไปได้ยาก เพราะชีวิตจริงพวกเขาทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาจะพัก

ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ชาวบ้านชาวช่อง ไม่สนใจความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ไม่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี พวกเขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน แต่ต้องเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีที่พวกเขาสามารถเข้าถึงจับต้องได้ ไม่ใช่ของแพงเกินกว่ารายได้ จนรู้สึกว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นของฟุ่มเฟือย

ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนผ่านรถยนต์สันดาปไปสู่การใช้รถไฟฟ้า สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้กลับไปเยือนฟิลิปปินส์ ประเทศที่ผมเคยใช้ชีวิตคลุกคลียาวนานข้ามปี ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ กำลังผลักดันให้เกิดคือ การเปลี่ยนการใช้รถจีปนีย์ (jeepney) รถขนส่งสาธารณะคล้ายรถสองแถวบ้านเราไปสู่การใช้รถขนส่งสาธารณะที่เป็นรถไฟฟ้า

ข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธก็คือ รถจีปนีย์สร้างมลพิษไม่น้อย เพราะเดิมเป็นรถที่รัฐบาลอเมริกันใช้ในสมัยสงครามโลกเมื่อครั้งปกครองฟิลิปปินส์ ครั้นเมื่อให้เอกราชแก่ประเทศฟิลิปปินส์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาก็ทิ้งรถเหล่านี้ให้กับประเทศฟิลิปปินส์ และถูกดัดแปลงมาเป็นรถขนส่งสาธารณะที่เจ้าของรถแต่ละรายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยแล้วขออนุญาตเดินรถตามเส้นทางต่าง ๆ ในเมโทรมะนิลา

ความคิดที่ว่า รถที่ใช้เครื่องยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษสูงควรถูกแทนที่ด้วยรถที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่า หลายฝ่ายย่อมเห็นด้วยในหลักการ แต่กลุ่มคนขับรถจีปนีย์ในเมโทรมะนิลา ตั้งคำถามว่า ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถไฟฟ้าจะเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม (just transformation) อย่างไร เพราะราคารถไฟฟ้าแบบใหม่สูงถึง 2,400,000 -3,000,000 เปโซ (1.6-2 ล้านบาท) ต่อคัน พวกเขาไม่มีทุนมากพอที่จะซื้อรถใหม่ และการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อรถก็ไม่ง่าย สุดท้ายจะกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนมากกว่า สามารถออกรถใหม่และมาวิ่งรถแทนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เบียดขับคนขับรถจีปนีย์ให้กลายเป็นคนตกงาน พร้อมกับการขึ้นค่าโดยสาร เพิ่มภาระต่อคนโดยสารซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเมืองเมโทรมะนิลา

ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านของรถจีปนีย์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า การมุ่งที่มิติด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม โดยละเลยด้านอื่น อาจส่งผลซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้มากกว่าเดิม

ดังนั้นในแวดวงเมืองศึกษา จึงมีการผนวกแนวคิดเมืองยั่งยืนเข้ากับเมืองที่เป็นธรรม (just cities) โดยนำสามมิติของเมืองยั่งยืนมาผนวกกับแนวคิดความเป็นธรรมว่า เมืองยั่งยืนและเป็นธรรมควรประกอบด้วย เมืองที่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เมืองที่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ และเมืองที่เป็นธรรมด้านสังคม[i]

หากละเลยมิติด้านความเป็นธรรมแล้ว แนวคิดเมืองยั่งยืนมีความเสี่ยงไม่น้อยที่จะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัจจุบันเราเห็นความเหลื่อมล้ำที่แสดงออกผ่านมิติทางชนชั้น เช่น คนรวยมีบ้านหรูพื้นที่กว้างขวาง สะดวกสบายต่างกับคนจนที่เช่าห้องเล็ก ๆ อยู่ในชุมชนแออัด

เมื่อความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของชนชั้นกลางระดับบนมีมากขึ้น แนวโน้มเราจะเห็นการแบ่งแยกชนชั้นบนฐานด้านสิ่งแวดล้อม (environmental segregation) คือคนมีฐานะอยู่ในพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมดี ปลอดจากมลพิษและความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ ส่วนคนมีรายได้น้อยก็อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อมลพิษ เสี่ยงน้ำท่วม เพราะไม่มีทางเลือก 

ดังนั้น เราจึงไม่อาจกล่าวถึงการพัฒนายั่งยืน หรือเมืองยั่งยืนตามลำพัง หากแต่ต้องผนวกความเป็นธรรมทางสังคมด้วย โดยการย้ำว่า นโยบายเพื่อเมืองที่ยั่งยืนต้องนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนเมืองทุกคน


[i] สำหรับผู้สนใจด้าน มิติความเป็นธรรมกับความยั่งยืนสามารถ อ่านเพิ่มเติมได้ใน Agyeman, J., Bullard, R. D., & Evans, B. (Eds.). (2003). Just sustainabilities: Development in an unequal world. MIT press.[ii] Goal 11: Sustainable cities and communities – The Global Goals