เอ่ยนาม ‘ความตาย’
“เป็นศาลาที่พอเหมาะกับมิตรสหายที่คาดว่าสนิทชิดเชื้อพอจะมาร่วมงานวันสำคัญของเรา มีดอกไม้สีขาวประดับประปราย โลงสีขาวที่สั่งจองไว้คงตั้งเด่น ๆ ตรงกลางงาน กับเรื่องสำคัญคือไม่อยากให้ลูกร้องไห้ ไม่สิ ร้องได้แต่อย่าร้องนาน อย่าร้องเพราะเสียใจ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราไม่มีเรื่องอะไรติดค้างให้เสียใจกันอีกแล้ว” บรรยากาศงานศพที่วาดไว้ของป้าไก่-อุษณีย์ อดีตพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
การพบกันของป้าไก่และผม ขึ้นต้นด้วยการทำงาน แต่ลงท้ายด้วยความสัมพันธ์แบบป้า-หลาน ที่คนหนึ่งใคร่รู้บางอย่างจากคนที่อยู่เคียงข้างสิ่งนั้นมาเป็นเวลานาน สิ่งนั้นที่ว่า คือการรับมือกับความตาย
ระหว่างอ่าน ห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอยู่ตรงนี้ ซึ่งเขียนโดย แคทริน แมนนิกซ์ ได้เพียงหนึ่งส่วนสามของเล่ม ผมต้องวางหนังสือลงหลายครั้ง ไม่ใช่เพราะหนังสือเล่มนี้กำลังพูดถึงความตายอย่างตรงไปตรงมา เรียบง่าย และขวานผ่าซากในบางครั้ง แต่เรื่องราวของพยาบาล 2 คนที่ห่างไป 2 ซีกโลก กลับคล้ายกันอย่างเหลือเชื่อ
จากแวบแรกที่ต้องหันไปดูชื่อคนเขียนอยู่ 2-3 รอบ ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า แม้จะต่างวัฒนธรรม ต่างฤดูกาล และต่างยุคสมัย
ทำไมความกลัวต่อความตายของมนุษย์ถึงมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน
อะไรที่ทำให้เรากลัวความตายเหมือน ๆ กันเมื่อไหร่ที่ใครหลายคนกล้าที่จะยอมรับและทักทายกับความตายราวกับเพื่อนที่รู้จักกันมานาน
ไม่น่าเชื่อ แต่จากปากคำของพยาบาลทั้ง 2 ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองพูดเหมือนกันว่า แนวคิดแบบแพทย์สมัยใหม่ เองคือส่วนใหญ่ที่มีผลกระทบต่อความกลัวตายของเราทุกคน
ในปี 1967 เดม ซิเซลี ซาวน์เดอร์ส เปิดสถานฮอสพิซแบบสมัยใหม่เป็นแห่งแรก เพื่อให้การดูแลแบบประคับประคองอันหมายถึงการดูแลที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตในระยะท้าย มากกว่าจะยื้อความตายต่อไปนาน ๆ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน สถานฮอสพิซเป็นปฏิกิริยาทางการเมืองเพื่อต่อต้านปรัชญาการรักษาโรคมะเร็งในทศวรรษ 1960 ที่ถือว่า “ต้องรักษาไปไม่ว่าจะเป็นภาระแค่ไหนก็ตาม” คำพูดดังกล่าวยังเป็นผลพวงจากการรักษาจำนวนประชากรจากโลกที่กำลังหันหัวลงด้วยยุคอุตสาหกรรมและยุคสงคราม นโยบายการบริหารงบประมาณที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรในยุค 60 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่ามนุษย์ได้ผลักดันแนวคิดของการต่อสู้กับโรคร้ายอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สถานฮอสพิซนั้นเป็นงานในระบบบริการสุขภาพในระดับท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากองค์กรการกุศลเป็นหลัก แต่มีจำนวนน้อยมาก ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากงานระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ
“การต่อสู้กับโรคร้ายในแนวคิดของการดูแลแบบประคับประคอง การทำร้ายร่างกายของผู้ป่วยได้เกิดขึ้นจากคำว่า ต่อสู้ และย่อมสูญเสียเลือดเนื้อไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในการแพทย์สมัยใหม่ (หลังยุค 50-60) คือการที่มนุษย์กำลังต่อสู้กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นโรคร้าย มลพิษสิ่งแวดล้อม หรือทหารฝั่งตรงข้าม” แคทริน กล่าว
ซาบีน เป็นหญิงชราที่มาพักอาศัยที่ฮอสพิซเช่นกัน เธอเป็นชาวฝรั่งเศสที่สามีของเธอเป็นอดีตทหารอังกฤษ ทั้งคู่พบกันเมื่อยามสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากสามีของเธอร่อนลงมาเพื่อช่วยเหลือกองปฏิวัติของฝรั่งเศส
“เธอมักจะแสดงท่าทางอย่างหญิงทนงองอาจแบบนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสแม้ว่าจะเข้าสู่วัยโรยรา เธอมักจะเล่าเรื่องราวความกล้าหาญของสามีให้กับพยาบาลที่สถานฮอสพิซฟังเป็นประจำ จริง ๆ แล้วแทบจะเป็นเรื่องเดียวต่างหากที่เธอสนทนากับผู้คนระหว่างมาอยู่ที่นี่ บนอกซ้ายของเธอจะมีเหรียญกล้าหาญที่เธอได้จากครั้งปฏิวัติ”
แต่แล้ววันหนึ่ง ความทนงองอาจของเธอแปรเปลี่ยนเป็นความเศร้า อาการเจ็บป่วยแสดงอาการหนักขึ้นทุกวัน เมื่อท้องเกิดบิดตัวขึ้นมาอย่างหนัก ริมฝีปากแดงมะฮอกกานีของเธอไม่ได้รับการแต่งแต้มเหมือนอย่างเคย แต่สิ่งที่เธอกลัวไม่ใช่ความตาย เธอกลัวว่าความอ่อนแอต่อโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจะพรากความกล้าหาญที่มีไปจากเธอ แล้วนั่นอาจทำให้สามีที่รอเธออยู่บนสวรรค์ต้องรอเก้อ เพราะเธอไม่กล้าหาญอีกต่อไป
ซาบีนเป็นหนึ่งในผลผลิตของยุคสงคราม เธอผ่านสงครามมาตั้งแต่วัยสาวจนถึงผมเป็นสีดอกเลา แม้จะบอกว่าการแพทย์สมัยใหม่บอกให้เรารักชีวิตเพราะเราสามารถสู้กับโรคร้ายที่อดีตเคยรักษาไม่ได้ แต่ร่างกายที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดูไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อชุดความคิดของการเสียสละเพื่ออุดมการณ์ผสานกับการต่อสู้อีกครั้งในวัยชรา นี่คืออีกสาเหตุที่สถานฮอสพิซเกิดขึ้น ก็เพื่อไม่ให้คนชราที่เจ็บป่วยต้องทุรนทุรายอีกครั้งในย่างก้าวสุดท้ายของชีวิต
การดูแลแบบประคับประคอง จึงมีหลักปฏิบัติเพื่อที่จะไม่ให้ความเจ็บปวดนี้ทำร้ายผู้ป่วยระยะสุดท้ายทำร้ายพวกเขาไปมากกว่านี้ ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างหลักแนวคิดว่า ชีวิตคนไม่จำเป็นต้องถูกทำร้ายจากการต่อสู้ของผู้คน ไม่ว่าจะจากเขาหรือจากเรา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งเสียงหัวใจหยุดเต้น
แคทรินค้นพบว่า แม้การบอกกล่าวอาการเจ็บไข้ต่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่ทุกคนจะรับมือกับมันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ป่วยพึงได้รู้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง และนั่นนำไปสู่การเตรียมตัวต่อความตาย เพื่อที่ไมล์สุดท้ายของชีวิต เราสามารถที่จะเลือกได้ว่าเราจะเข้าสู่เส้นชัยด้วยความเร็วเท่าใด ไม่ใช่เพื่อให้ชนะใคร แต่เพื่อให้ตัวเองได้ค้นพบซึ่งความหมายของการวิ่งครั้งนี้
ซาบีนได้จากไปในไม่กี่วันถัดมา เธอไม่ได้จากไปพร้อมความกล้าหาญว่าจะเผชิญกับความตายได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อเธอได้พูดคุยกับหมอผู้ดูแล สิ่งที่เธอกลัวกลับไม่ใช่ความตาย แต่เป็นความไม่รู้ว่าความตายมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเธอได้รู้จักมันมากขึ้น ความกลัวที่มีก็ลดน้อยลงและแทนที่ด้วยความเข้าใจในวาระสุดท้ายของชีวิต
หากความกล้าหาญไม่ใช่เครื่องรางที่จะพาซาบีนไปสู่สรวงสวรรค์ ความกลัวตายก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร
เพราะความตายไม่เคยเป็นเรื่องของคนตาย แต่หากกำลังนั่งโอบไหล่เราอย่างใกล้ชิด อยู่ที่ว่าเราเลือกที่จะวิ่งหนีจากสิ่งนี้ไปจากสุดทางหรือลองเอ่ยนามของเขาดูสักที
“ว่าไง ความตาย”
น้ำชากับเบียร์แห่งหยดน้ำตา รสชาติไม่เหมือนกัน
น่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญของแคทรินและป้าไก่ ที่เธอทั้งคู่เริ่มต้นจากผู้ที่ไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร เมื่อความตายมาถึงตรงหน้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน
แคทรินเล่าว่า ในช่วงเป็นพยาบาลฝึกหัดเธอค้นพบเครื่องดื่มประเภทหนึ่งซึ่งจะหาได้จากหน้าห้องฉุกเฉินแห่งนี้เท่านั้น เมื่อแก้วน้ำชาใบสวยที่เธอชงตามคำขอของซิสเตอร์กำลังเอ่อล้นด้วยน้ำตาของญาติผู้สูญเสีย แก้วแล้วแก้วเล่าที่เธอชง จิบ ล้าง ทำให้เธอพบว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้น้ำตาไหลลงถ้วยน้ำชาไม่ใช่เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่เตรียมใจกับความสูญเสีย แต่การเตรียมตัวต่อความตายไม่ใช่แค่เพียงว่าฉันจะเลือกการตายด้วยวิธีใด แต่ยังประกอบไปด้วยแวดล้อม ผู้คน ในห้วงสุดท้ายชีวิตของผู้ป่วยด้วย
ฮอลลี่ จากไปแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน แต่เธอเป็นอีกเคสที่แคทรินไม่มีวันลืม จนกระทั่งเมื่อคืนบท ‘นักเต้นตัวน้อย’ ก็ทำให้คืนวันนั้นย้อนกลับมาว่าความเศร้าที่แสนอบอุ่นมีหน้าตาเป็นเช่นไร
แคทรินอยู่เวรโทรศัพท์ที่โรงพยาบาล เธอได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งเต้นไม่หยุด แต่ก่อนหน้าเมื่อ 2 วันที่แล้วเธอพบภาวะไตวายล้มเหลว หลังจากเธอนอนซมอยู่ 2 วันเต็ม ๆ เธอกลับเปิดเพลงเสียงดังในแฟลตชั้นบน จนทำให้ครอบครัวต้องพาไปหาหมออีกครั้งจนนึกว่าป่วยเป็นจิตเวชด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่พบอาการแทรกซ้อนใด ๆ จากการตรวจ จนหมอเองก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะความดีใจที่ร่างกายกลับมีเรี่ยวแรงขึ้นมา
แต่มันผิดวิสัย ผู้หญิงร่างบางผิวสีเหลืองดังลูกมะนาวกำลังมีเรี่ยวแรงผิดปกติ ฮอลลี่ยังเต้นต่อไปไม่หยุดจนลูกสาวก็เอือมระอาที่แม่ทำตัวน่าอายต่อหน้าแขก จนกระทั่งแคทรินคิดอะไรได้ก็ได้สั่งให้ครอบครัวพาเธอไปเที่ยวห้างใกล้ ๆ และปล่อยให้ฮอลลี่ได้จับจ่ายใช้สอยและเต้นดังนักเต้นตัวน้อยเท่าที่เธอจะมีแรงไหว
วันนั้นเป็นวันที่พิเศษสำหรับครอบครัวมาก หลังจากที่ครอบครัวต่างใช้ชีวิตเพื่อประทังในแฟลตแห่งหนึ่งในเกาะอังกฤษ พวกเขากลับได้พบความหมายของชีวิตอีกครั้ง คือการได้ใช้เวลากับครอบครัวคือช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดที่เงินให้พวกเขาไม่ได้เหมือนที่รู้สึกในวันนี้
คืนวันนั้นแคทรินกลับมาพร้อมหมออีกคนหนึ่ง ครอบครัวกำลังเฮฮาสุขสันต์ เฉลิมฉลองด้วยการจิบเบียร์ขวดสีน้ำตาลกลางวงไพ่ พวกเขาไม่ได้รู้สึกแบบนี้มานานแล้ว แต่กับฮอลลี่นั้นนานกว่า เธอป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ทันทีที่เธอรู้สึกดีก็อยากจะจิบเบียร์อีกสักครั้งแม้ปริมาณจะเหลือเพียงใส่แก้วชาไว้ได้แค่ก้นถ้วยก็ตาม
ก่อนไปห้างไม่นาน แคทรินอธิบายกับครอบครัวของฮอลลี่ หลังจากเธอตรวจอาการผ่านไซริงไดรเวอร์ กำลังวังชาที่มีของฮอลลี่ไม่ใช่การกลับมาแข็งแรงของผู้ป่วยที่ไตวายล้มเหลว แต่เพราะเมื่อ 2 วันก่อนเธออาเจียนอย่างหนักจนหมอต้องฉีดยาแก้คลื่นไส้ปริมาณมากกับเธอ ทำให้นักเต้นตัวน้อยที่กำลังบรรเลงฝีเท้าลงบนพรมโทรม ๆ ในแฟลตชั้นบน คืออาการกระวนกระวาย จนทำให้ฮอลลี่ตรงลุกขึ้นมาเต้น เพราะเธอไม่สามารถอยู่นิ่งได้
แคทรินฉีดยาเพื่อคลายยาแก้คลื่นไส้โดสเก่า ฮอลลี่เริ่มง่วงนอนและได้พักพิงบนเก้าอี้ปิกนิกตัวเก่า เธอเริ่มกรนเบา ๆ ก่อนที่คนในบ้านจะเริ่มห้อมล้อมเธอและตามสมาชิกที่อยู่ไกลบ้านเพื่อกลับมาหาเป็นครั้งสุดท้าย
หมอเริ่มอธิบายกับสมาชิกครอบครัวว่าแท้จริง ฮอลลี่ต้องจากไปตั้งแต่ 2 วันก่อน แต่เพราะยาที่กดอาการคลื่นไส้และทำให้เธอกระวนกระวาย นี่ไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่ที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยไตวายล้มเหลวกระโดดโลดเต้นต่อไป เพราะจะมีแต่ทำร้ายร่างกายข้างในของเธออย่างมหาศาล
ทุกคนในบ้านเข้าใจ และพยักหน้าที่ซ่อนน้ำตาไว้ข้างใน
“เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง ฮอลลี่”
“ไม่รู้สิ… ไม่รู้ว่าได้สนุกขนาดนี้ด้วยกันมานานแค่ไหนแล้วนะ” ฮอลลี่จากไปพร้อมครอบครัวและเก้าอี้ปิกนิกตัวเก่าโอบกอดเธอเอาไว้อย่างที่เคยเป็นมาตลอดชีวิต
หลังฮอลลี่จากไป แม้ครอบครัวจะรู้อยู่แล้วว่าอาการของลูกสาว น้องสาว และแม่ของตัวเองยากที่จะรอดมานาน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการกระโดดโลดเต้นอย่างที่เป็นเมื่อวันสองวันที่ผ่านมา
แต่ในแก้วน้ำชาที่ใส่เบียร์ผสมน้ำตาเอาไว้ รสชาติไม่เหมือนกับน้ำชาแห่งหยดน้ำตาที่หน้าห้องฉุกเฉิน
รสชาติของน้ำตาที่ไหลรินออกมา ณ ห้วงเวลาสุดท้ายชีวิตของใครหลาย ๆ คน ก็ได้แปรเปลี่ยนไปตามความตายและการเตรียมตัวกับความตายที่เกิดขึ้นเช่นกัน
โปรดอ่านฉลากก่อน…
หลังจากคุยกับป้าไก่ได้ราวชั่วโมงครึ่ง ผมก็ได้รู้ว่าป้าไก่ในวัย 67 มีร่างกายที่แข็งแรงกว่าผมในวัย 25 ด้วยรางวัลที่ 1 ของรุ่นกับการแข่งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน
เราพบเจอกันในชุดวิ่งตามฉบับที่นักวิ่ง (จริงจัง) พึงจะใส่ และหนึ่งในนั้นคือนาฬิกา Garmin ที่เป็นเหมือนเครื่องตรวจวัดศักยภาพของเราในขณะที่เท้าก้าวไปด้วยความเร็วต่อเนื่อง
แต่นาฬิกาเป็นเหมือนเครื่องประดับสำหรับป้าไก่ ป้าไก่มองนาฬิกาเมื่อถึงเวลากินข้าว ตื่นเช้า เข้านอน แต่กับการวิ่ง นาฬิกาไม่ใช่อุปกรณ์สำคัญเท่ากางเกงวิ่งลายจี๊ดจ๊าดที่เธอใส่เพื่ออวดเพื่อนในก๊วน
“อายุปูนนี้จะดูเวลาทำไม ดูเวลาตายเหรอ (หัวเราะ) อันนี้ใส่ก็เพราะลูกสาวซื้อให้ แต่ไม่ได้ต้องจ้องมองมันเหมือนแต่ก่อนเพื่อจะคอยแข่งขันกับใคร ถ้านาฬิกาบอกยังไหวแต่ขาเรารู้สึกว่าก้าวไม่ได้แล้วเราจะไปต่อไหม นาฬิกาจะไปสำคัญอะไรถ้ามันบอกให้เราต้องวิ่งต่อแต่เราไม่สนุกกับก้าวต่อไปที่เรากำลังจะวิ่งต่อแล้ว”
บทแรกที่แคทรินคัดสรรมาให้เราอ่านมีชื่อว่า โปรดอ่านฉลาก เพื่อล้อกับอาชีพพยาบาลของเธอ ถึงแม้เธอจะพยายามบอกว่าเราควรให้ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่การติดฉลากเตือนไว้ว่าเราควรบริโภคหนังสือเล่มนี้แบบใด อาจทำให้เราค้นพบความหมายระหว่างบรรทัดพอ ๆ กับหลังจากที่เราอ่านเรื่องราวของเธอจบ เราจะพบความหมายของชีวิตระหว่างทางที่เราดำเนินอยู่
หลังอ่านจบ ผมคิดถึงแต่บทแรกของเรื่องที่ชื่อโปรดอ่านฉลากอยู่ตลอด ประการที่หนึ่งผมคิดว่ามันน่าสนใจที่หนังสือเล่มหนึ่งก็สามารถมีวิธีที่จะใช้มันได้อย่างถูกประเภท (แม้ว่าหนังสือจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปแต่ละคน) คงเป็นเพราะเจตจำนงอันแรงกล้าของแคทรินที่อยากให้หนังสือเล่มนี้ได้ให้อะไรกับคนอ่านจริง ๆ หรือไม่ก็เธออาจจะชินจากการเป็นพยาบาลที่การกำหนดโดสยาแต่ละชนิดอาจเป็นทั้งคุณและโทษต่อผู้กินได้เช่นกัน
ในบ่ายแก่วันฝนตกที่ผมเลือกทานยาแก้หวัดชนิดไม่ง่วง เพราะการหลับอาจทำให้ผมพลาดเดดไลน์งานที่จ่อใกล้เข้ามาทุกวินาที คำถามจากบทแรกของหนังสือแวะเวียนมาทักทายอีกครั้ง
ถ้าเรามีฉลากในการใช้ชีวิตล่ะ… เราจะยังเลือกกินตามโดสเพื่อให้เป็นคุณมากกว่าโทษหรือเราจะยังยอมรับโทษนั้นแต่โดยดี
ป้าไก่เป็นคนตอบคำถามนั้นก่อนที่ผมจะนึกคำถามออกเสียอีก ด้วยช่วงวัยที่ยังเต็มไปด้วยเรื่องติดค้างเต็มไปหมด ผมคงยอมรับไม่ได้ถ้าวันนี้ต้องจากไปเสียดื้อ ๆ ต้องอายุมากขึ้นเท่านั้นหรือถึงจะปล่อยวางได้ เราต้องใช้ชีวิตแบบใดถึงจะก้าวข้ามทุกความล้มเหลวที่เคยทับถมตัวเรา
แต่แสงเที่ยงวันที่ประชันตรงเหนือหัวในวันนั้นอาจไม่ต่างจากแสงสว่างวาบในวินาทีสุดท้ายของชีวิต
“เยอะแยะเต็มไปหมด ความผิดพลาดน่ะ แต่มันเคยเสียใจไง ทุกวันนี้ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นแล้ว”
“พอตายแล้วมันก็น่าจะวูบไปเลย แบบสว่างวาบ ไม่รับรู้ คงจะไปเกิดใหม่เป็นอะไรสักอย่างแต่ก็จำอะไรไม่ได้อยู่ดี”
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาเข้ามาช่วยให้เราเข้าใจมันได้มากขึ้น แต่มันไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจหรอก ไอ้ความคิดที่ว่าพอตายแล้วมันสว่างวาบมันไม่เหมือนกับตอนเช้าที่ตื่นมาแล้วเมาขี้ตานะ อันนี้มันต้องลุกขึ้นเข้าห้องน้ำ กินข้าว ไปทำนู่นทำนี่ แล้วเราก็มาคิดว่าแล้วพอแสงสว่างวาบนั้นมาถึงจริง ๆ เรายังจะเสียใจ เสียดาย กับอะไรพวกนี้อีกเหรอ มันคุ้มค่ากันจริง ๆ เหรอที่เราเสียเวลากับจุดดำ ๆ ที่จะมาถมแสงสีขาวอันนั้นในตอนสุดท้าย จนเราก็ลืมไปว่าอาจจะมีอีกหลายสีให้เราได้เติมแต่งก่อนแสงนั้นจะมาถึง”
“ถ้าเลือกได้ก็คงจะเจ็บปวดและยอมรับอย่างที่เป็นมา อย่างน้อย ๆ ก็คงไม่ได้มาถูกสัมภาษณ์บนเขาฉลากแบบนี้” ป้าไก่หัวเราะแล้วสบตากับผมด้วยความรู้สึกตามที่พูดจริง ๆ
การเตรียมตัวรับความตายไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งนั่นทำให้ความตายก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายมาแต่ต้นเช่นกัน แน่นอนว่ามันไม่ใช่เวลาในหลักวัน เดือน หรือปี แต่อาจเป็นสิบ ๆ ปี เพื่อที่จะให้เราได้สะสางอะไรบางอย่างแต่เปิดพื้นที่รับอะไรบางอย่าง อย่างความตายเข้ามาในชีวิตเช่นกัน
การดูแลแบบประคับประคองกำลังสอนการใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมาอีกรูปแบบ เมื่อในห้วงความตายของชีวิตมาอยู่ตรงหน้า สิ่งก่อนหน้าต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ความตายที่มาถึง
หากความเจ็บปวดเข้ามาก็หาทางให้ทุเลา หากความสุขเข้ามาก็โอบรับมันไว้ และเมื่อถึงเวลาทุกอย่างก็จะหายไป
เพราะเรื่องสำคัญที่สุดไม่ใช่ตอนที่วาระสุดท้ายมานั่งอยู่ข้าง ๆ กัน แต่เป็นตอนที่ทุกเรื่องเข้ามา ทั้งโอบไหล่อย่างอบอุ่น ชนแก้วอย่างเมามันหรือตีหน้าเราอย่างจัง ๆ
เราได้รู้สึกอย่างไรกับมันต่างหาก
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
PlayRead: ห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอยู่ตรงนี้
ผู้เขียน: Kathryn Mannix
แปล: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์: Being