ภูฐานที่คุณยังไม่รู้จัก … จากมุมมองของผู้หญิงภูฏาน - Decode
Reading Time: 2 minutes

“เพราะแกะที่มีมากมายหลายสีจมน้ำตายไปหมดแล้ว”

ท่ามกลางทิวเขาแห่งประเทศภูฏาน ประเทศซึ่งหลบซ่อนอยู่ในเทือกเขาที่ไร้ผู้พิชิตอย่างหิมาลัย ด้วยทัศนะและวัฒนธรรมพาประเทศแห่งนี้ห่างไกลจากการพัฒนา ทว่าการพัฒนาดังกล่าวครอบ คลุมเพียงแค่ไฟฟ้าและเทคโนโลยี หาใช่ ‘ความรู้สึกนึกคิด’ ของหญิงสาวแห่งหมู่บ้านในหุบเขาทัง

‘หมู่บ้านในหุบเขาทัง’ ตั้งอยู่ในแคว้นบุมทัง ในตอนกลางของประเทศ ถือเป็นแคว้นที่เก่าแก่ที่สุด ต่างจาก ทิมพู เมืองหลวงแห่งประเทศภูฏาน ที่แม้จะอยู่ตอนกลางของประเทศเหมือนกับบุมทัง แต่หมู่บ้านดังกล่าวถือว่าเป็นชุมชนที่ตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งกายภาพและจินตภาพเลยทีเดียว

“ผีจะทำร้ายสิ่งที่ยายรู้ได้ยังไง” เคนโชสงสัย

“แกไม่รู้อะไร มันทำได้ทุกอย่างแหละ มันทำให้แกย้อมผ้าไม่ดี สีไม่สวย ทำให้แกลืมสูตรการย้อมก็ได้ แล้วเป็นแบบนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้น” เชริงโมถามกลับ

ตะวันเริ่มพ้นขอบฟ้า แสงแดดเริ่มเลียหลังคาแป้นเกล็ด บางส่วนเล็ดลอดเข้าไปในตัวบ้าน เชริงโม แม่เฒ่าจากหมู่บ้านในหุบเขาทัง เธอเป็น ‘สุดยอดนักย้อมเส้นด้าย’ แห่งหุบเขา
ด้วยองค์ความรู้ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยายและแม่ เพื่อช่วยป้องกันผีร้ายพยาบาท

วันนี้เชริงโมลุกขึ้นย้อมผ้าในวันที่เช้ากว่าปกติ เพราะวันนี้เป็นวันที่ เคนโช หลานสาวจะมาเรียนรู้วิธีการย้อมผ้าจากปรมาจารย์แห่งภูฏาน หลังจากที่เธอกับหลานนัดหมายกันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว 

“ผีมันอยู่ทั่วไปทุกที่ มันไม่ทำร้ายร่างกาย แต่มันทำให้เราเจ็บปวด ความอิจฉา ความโลภ ความอยากได้ใคร่มี มันเป็นตัวแทนของผีร้ายทั้งในคนเป็นและตาย แล้วผีร้ายนี่แหละ ที่จะทำให้การย้อมผ้าของเราเสียหาย มันทำให้สีเพี้ยน ไม่ได้อย่างที่ต้องการ”

เชริงโมยกหม้อต้มสีออกมาที่ลานหน้าบ้าน น้ำสีแดงสีคล้ายเลือดแน่นิ่งอยู่ในหม้อ นิ้วเรียวซูบของเชริงโมกำลังขยำก้อนเส้นด้ายในหม้อต้มอย่างคุ้นเคย โดยมีสายตาของเคนโช และโดลมา เด็กสาวผู้ต้องการคำแนะนำจากเชริงโม เนื่องจากเธอทำสีด้ายไม่ได้ดั่งใจ

“พวกแกรู้มั้ยว่าทำไมเราถึงต้องย้อมขนสัตว์” เชริงโมเอ่ยถามเด็กสาวทั้งสอง

เด็กสาวทั้งสองไม่ทราบคำตอบ หรืออาจเพราะลึก ๆ แล้วรู้ว่านี่เป็นเพียงการถามเองตอบเองก็ตาม

เชริงโมหยิบก้อนด้ายที่จุ่มสีแดงเลือดขึ้นมาดู พบว่าสีไม่ซึมเข้าไปในเนื้อด้ายเท่าที่ควร เธอจึงจุ่มก้อนด้ายส่วนที่ไม่ติดสีลงไปอีกครั้ง ริ้วคลื่นไม่เป็นระเบียบเกิดขึ้นในอ่างน้อย ๆ 

“เพราะแกะที่มีมากมายหลายสีจมน้ำตายไปหมดแล้ว” เชริงโมตอบ

เรื่องราวมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระราชาชาวทิเบตต้องการสู่ขอ ‘เจ้าหญิงอาชิ เกียซา’ แห่งแผ่นดินจีน
พระราชาชาวทิเบตมีอำนาจมาก มากพอที่จะทำให้ความปรารถนาทุกอย่างของตนเองเป็นจริงได้
ทว่าราชสำนักจีนไม่ต้องการยกเจ้าหญิงให้กับพระราชา จึงออกอุบายและแผนการที่ปกป้องเจ้าหญิง

ราชสำนักจีนคัดสรรสาวงามที่ใบหน้าละม้ายคล้ายกับเจ้าหญิงอาชิกว่าหลายพันคนทั่วราชอาณาจักร
หญิงสาวหลายพันเรียงแถวหน้าราชสำนัก เพื่อให้ราชทูตของพระราชาเลือก ‘เจ้าหญิงตัวจริง’ กลับ
ทว่านั่นแทบเป็นไปไม่ได้จนราชทูตกลุ้มใจ เขาจึงเสาะหาหนทางเพื่อที่จะรู้ให้ได้ว่าใครคือองค์หญิง

ราชทูตจึงออกเดินทางและไปค้างแรมอยู่บ้านแม่เฒ่าท่านหนึ่งกลางป่าเขา หวังให้เธอบอกวิธีการ
แม่เฒ่าปฏิเสธเพราะทางการบอกมาว่าใครปากโป้งต้องถูกประหาร จะตื้ออย่างไรแม่เฒ่าก็ไม่ยอม
ราชทูตจึงออกอุบายเพื่อให้แม่เฒ่าเผลอหลุดปาก ราชทูตทำสำเร็จ และเขารู้แล้วว่าใครคือเจ้าหญิง

ราชทูตเลือกถูก และสามารถพาเจ้าหญิงอาชิกลับไปหาพระราชาของตนได้สำเร็จ และไม่ใช่แค่นั้น
ราชทูตไม่ได้รับเอาแค่เจ้าหญิงไปเท่านั้น แต่เขายังขโมยฝูงแกะหลายสีของพระเจ้าแผ่นดินจีนไปด้วย
กว่าราชสำนักจีนและพระเจ้าแผ่นดินจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว เรือของคณะผู้เยี่ยมเยือนห่างไปไกล

พระราชินีแห่งแผ่นดินจีนโกรธมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอถ่มน้ำลายด้วยความชิงชังและสาปแช่ง
“ขอให้เรือพวกมันฉิบหาย!” คำแช่งเห็นผลทันควัน เรือคณะนั้นอับปางตามที่ราชินีตะโกนสุดเสียง
“แกะขาวหมื่นตัว แกะดำพันตัว” เจ้าหญิงตะโกน ฝูงแกะหลากสีจมลงทะเล เหลือเพียงขาวและดำ

“เราจึงต้องย้อมขนแกะเพื่อให้ได้สีต่าง ๆ ข้านึกไม่ออกว่าผ้าที่ไม่มีสีจะเป็นยังไง คงทุเรศสิ้นดี ผ้าที่มีแต่ขาวกับดำ” เชริงโมบอกพลางหัวเราะร่วนไปกับเด็กสาวทั้งสอง

เด็กสาวทั้งสองยิ้มร่าไปกับเรื่องราวที่เชริงโมเล่าให้ฟัง 

เชริงโมจึงครองโสดเรื่อยมา เพื่ออุทิศชีวิตให้กับการย้อมผ้า ขณะเดียวกันก็เพื่อให้มั่นใจว่า ศิลปะและองค์ความรู้เรื่องการย้อมผ้าจะไม่ล้มหายตายจากไปพร้อมเธอ แม้เคนโชและโดลมา จะทำให้เธอหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อสอนไปแล้วไม่จำ แต่เธอก็อุ่นใจเมื่อได้เฝ้ามองเด็กสาวทั้งสองคน

“ยายอย่าตาย อย่าไปนะจ๊ะ” เด็กสาวทั้งสองพูดแหย่
“ยมทูตอยากได้ช่างย้อม บอกให้ข้ารีบไป ท่านต้องการชุดใหม่ว่ะ” เชริงโมแซวกลับ

เรื่องราวของเชริงโม เคนโช และโดลมา ถูกเรียบเรียงและถ่ายทอดภายในหนังสือ เรื่องราวในสี และเรื่องอื่น ๆ : ภูฏานที่คุณยังไม่รู้จัก … จากมุมมองของผู้หญิงภูฏาน ที่เขียนโดย กุนซัง โชเดน นักเขียนชาวภูฏานผู้ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของประสบการณ์บางส่วนในหนังสือ รวมถึงการจดบันทึกเรื่องราวของภูฏานในช่วงเวลาที่ยุคสมัยใหม่กำลังก้าวล่วงเข้าไปในดินแดนเก่าแก่

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงเรื่องของผู้หญิงภูฏานไว้ 13 เรื่อง ไล่เรียงตั้งแต่ความเชื่อโบราณอย่างการ ‘เข้าทรง’ ของหญิงภูฏาน งานบ้านของหญิงภูฏานที่เป็นทั้งความภาคภูมิใจและความเหนื่อยหน่าย เรื่องราวของหญิงสาวภูฏานที่เปลี่ยนสาวชนบทเปื้อนโคลนไปเป็นสาวไฮโซในเมืองใหญ่ กระทั่งเรื่องราวของเชริงโม เคนโช และโดลมาในตอน “เรื่องราวในสี” สามสาวนักบันทึกสีตอนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้

สำหรับผู้เขียน การย้อมสีผ้าของเชริงโมก็เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงแบบหนึ่ง

หนังสือเล่าชัดว่า การย้อมสีผ้าไม่ใช่เรื่องของผู้ชายภูฏาน และองค์ความรู้เรื่องนี้ก็ฝังตัวอยู่ในหญิงสาว ทว่าการได้มาซึ่งทรัพยากรสำหรับทำสีย้อมผ้าก็ยากขึ้นทุกวันในสายตาของเชริงโมและหญิงสาวชาวภูฏาน

เพราะต้นไม้ใบหญ้าที่ใช้สำหรับทำสีก็ไม่ได้มีเยอะเหมือนในอดีต ขั้นตอนการกรองสีและทดสอบสี ก็เต็มไปด้วยต้นทุนที่มากเกินกว่าหญิงสาวที่ไม่มีรายได้จะคงตัวอยู่ได้

“ครามนี่ย้อมยากที่สุด เพราะมันให้สีหลายระดับ
บางทีย้อมตั้งหลายวัน แล้วสีก็เพี้ยนไปเสียอย่างนั้น” เชริงโมเล่า

ขณะเดียวกัน หากหญิงสาวไม่ต้องการที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีผ้าแบบเชริงโม และไม่อยากจะเป็นเกษตรกรสาวเปื้อนดินเปื้อนโคลน พวกเธอก็ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกเสียจากจะออกไปทำงานและเผชิญโลกภายนอกในเมืองหลวงทิมพู

ทว่าการโผบินเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการศึกษาที่เหมาะสมและครบตามระดับการศึกษาพื้นฐาน ซึ่งผู้หญิงภูฏานแทบทุกคนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้รับการศึกษาตามที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้ พวกเธอต้องเผชิญกับค่านิยมที่เลือกให้ลูกชายเรียนก่อนลูกสาว หญิงสาวบางคนต้องออกจากการ ศึกษาเพื่อดูแลคนเฒ่าชรา หรือกระทั่งถูกผลักออกจากวงสังคมเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นวิกลจริต

อย่างเรื่องราวของ เปมา ลาโม ที่พยายามส่งลูกชายคนเดียวของเธอเข้าเรียนในระบบการศึกษาสมัยใหม่
เธอลงทุนย้ายรกรากไปอยู่ที่ทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน สร้างกระท่อมเล็ก ๆ ไม่ไกลนักจากโรงเรียนของลูกชาย
โดยเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การศึกษาสมัยใหม่จะเป็นหนทางของความสำเร็จ มากกว่าหลังคดหลังแข็งอยู่ในสวน

ความเชื่อดังกล่าวถูกท้าทายโดยชายอาวุโสในหมู่บ้าน ว่าการศึกษาใหม่นี้จะทำลายลูกหลานของเธอมากกว่า
ดูท่าชายหนุ่มอาวุโสจะผิดครึ่งหนึ่ง การศึกษาไม่ได้ทำลายลูกของลาโม กลับสร้างให้เขาเป็นต้นแบบที่ใครก็อยากเป็น
ทว่าอีกครึ่งหนึ่งที่ถูก คือลูกชายของเธอเข้าใกล้แสงสีเสียงมากขึ้น แน่นอนว่าลูกชายของเธอพาเกรดเฉลี่ยที่ดีกลับบ้าน

ทว่าก็แลกมากับ ‘ชีวิตกลางคืน’ ที่คงหาไม่ได้ในเทือกเขาภูฏาน เรื่องราวของลาโมจบลงที่เธอยืนดูรูปถ่ายที่ลูกชายส่งมาให้ทุกเดือน ทว่าภาพถ่ายในครั้งนี้ เธอเห็นลูกชายอยู่ในสภาพเมามายและมือถือขวดเหล้า

จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งโผบินได้แล้ว ก็ไม่วายต้องเผชิญกับความคาดหวังทางสังคมอื่น ๆ จนกลายเป็นความตึงเครียดระหว่างการได้มาซึ่งชุดความรู้จากโลกภายนอกและการมีอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิม ลาโมไม่ได้เล่าต่อว่าหลังจากนั้นเป็นอย่างไร แต่ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ได้มีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่สับสนระหว่างทาง
ชายอาวุโสคนนั้น หญิงภูฏานที่มีลูกชาย หรือใครก็ตาม คงขยาดการศึกษาแบบใหม่กันพอสมควร

และไม่มากก็น้อย กุนซังได้พาผู้อ่านไปรู้จัก ‘ผู้หญิง’ และ ‘ความช้ำ’ ที่ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาภูฏานแล้ว

“… ข้านึกไม่ออกว่าผ้าที่ไม่มีสีจะเป็นยังไง คงทุเรศสิ้นดี ผ้าที่มีแต่ขาวกับดำ”

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2560 ทว่าเรื่องราวก่อนถูกแปลเป็นภาษาไทย คงถูกเขียนขึ้นมาก่อนแล้วหลายปี ทว่าทัศนะของเชริงโมยังคงทันสมัย

เพราะโลกที่มีแค่ฟ้ากับชมพู หรือโลกที่มีแค่ชายหรือหญิง ไร้ซึ่งสีสัน ก็คงทุเรศไม่ต่างกัน

PlayRead: เรื่องราวในสี และเรื่องอื่น ๆ : ภูฏานที่คุณยังไม่รู้จัก … จากมุมมองของผู้หญิงภูฏาน
ผู้เขียน: กุนซัง โชเดน
แปล: สดใส ขันติวรพงศ์ 
สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา, 2560