‘ตุ๊กการช่าง’ สูงวัยนอกระบบยัง'รอซ่อม' ของช่างซ่อมพัดลมตลอดชีพ - Decode
Reading Time: 5 minutes

เดอะแบกที่ไม่อยากให้ใครแบกในช่วงบั้นปลายของชีวิต

คุณวางแผนจะเกษียณอายุตัวเองเมื่อไหร่?

สำหรับ ช่างตุ๊ก-ธวัชชัย โพธิ์ทิน กำลังเริ่มงานใหม่ในวัย 72 ย่าง 73 ปี กับทักษะเดิมตลอดชีวิตอย่าง ‘ช่างซ่อมพัดลม’  ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากไปรบกวนและเป็นภาระให้ลูกหลาน

”การทำงานในบั้นปลายมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ความเหนื่อยที่ว่ามันไม่ได้มาจากการทำงาน แต่เป็นความเหนื่อยใจที่ต้องกังวลว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะรบกวนลูกหลานหรือเปล่า เราที่ทำงานมาทั้งชีวิต แบกภาระหลายอย่างมานานก็ไม่อยากเป็น ‘ภาระ’ สำหรับครอบครัวเช่นกัน” ช่างตุ๊กเชื่อว่ามีผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศที่ประสบภาวะคล้าย ๆ กับเขา

ในห้องหับใต้หลังคาเมทัลชีท ด้านหน้ามีคนประจำการแยกขยะจากโครงการชรา recycle เยื้องซ้ายมือมีกลุ่มชายชรา 6-8 คน กำลังง่วนอยู่กับแผงวงจรทองแดงจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างพัดลมและเตาไมโครเวฟ พัดลมจำนวนมากที่แยกไม่ออกว่าเปิดเพื่อคลายร้อนหรือเปิดทดสอบระบบหลังซ่อมเสร็จบอกให้เรารู้ว่านี่คือห้องทำงานของ “ช้าการช่าง”

“อย่างฮาตารินี่ซ่อมง่ายเลย เหมือนพวกวงจรเขาเข้าใจง่ายเป็นระเบียบ แต่ผมอ่านไม่ออกหรอกนะ ทั้งคู่มือการซ่อม ทั้งยี่ห้อพัดลม”

“ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยออก ยิ่งภาษาอังกฤษยิ่งแล้วใหญ่ แต่เราซ่อมมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว เลยจำสัญลักษณ์ได้มันจะขีด ๆ ประมาณนี้” ช่างตุ๊กเล่าถึงความชำนาญที่ทำมาทั้งชีวิตอย่างการซ่อมพัดลม ที่ไม่ต้องพึ่งตำราแต่ต้องใช้เวลาและการจดจำ

พื้นเพช่างตุ๊กเป็นคนนครสวรรค์ ในวัยเด็กก็ช่วยพ่อแม่ดูไร่ไถนาพาควายไปเลี้ยงที่สวนและเรียบจบ ป.4 พอเข้าสู่วัยรุ่นก็ได้บวชเรียนที่วัดโพธิ์สวรรค์ ในระหว่างบวชเรียนก็ได้ศึกษาทักษะการช่างอย่างการซ่อมพัดลมที่ร้านแถวบริเวณวัด หลังจากสึกมาก็ได้เริ่มประกอบสัมมาอาชีพเป็นช่างซ่อมพัดลมเรื่อยมา

การซ่อมพัดลมของช่างตุ๊กไม่แตกต่างจากร้านซ่อมพัดลมเจ้าอื่น ๆ แต่งานซ่อมพัดลมนั้นในสมัยก่อนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วเป็นงานช่างที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสมัยก่อนหลายบ้านโดยเฉพาะต่างจังหวัดยังไม่ติดแอร์กันแพร่หลาย รวมถึงวัฒนธรรมของผู้บริโภคที่มักจะซ่อมก่อนเสมอ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ของใช้พังก็จะเลือกซื้อใหม่ ทำให้งานซ่อมพัดลมเป็นงานช่างที่มีรายได้เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ

“สมัยก่อนบางวันก็ทำเป็นหลายสิบตัวก็มีนะ ลูกค้าเยอะมาก ๆ ส่วนใหญ่เราจะทำอยู่ตามร้านไม่ได้มาเปิดเอง พอมันจะมียอดเข้ามาแน่นอน จนที่สุดท้ายพรรคพวกเขาชวนไปซ่อมพัดลมที่เชียงใหม่ ก็ทำอยู่ตรงนู้นหลายปี แต่รายได้ก็ลดลงตามยุคสมัย คนใช้พัดลมน้อยลงกับคนไม่ค่อยเอาของมาซ่อมแล้ว” ช่างตุ๊กกล่าว

หลังรายได้จากการซ่อมพัดลมค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนบางวันก็แทบจะไม่มีลูกค้า ทั่วโลกก็พบเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ช่างตุ๊กเปลี่ยนจากรายได้น้อยกลายเป็นไม่มีรายได้ในบางวัน ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากการสมัครงานอีกครั้งในวัยหลังเกษียณไปหลายปีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ช่างตุ๊กเล่าว่า นอกจากร่างกายทั้งสายตา มือไม้ ที่อ่อนแรงไปตามอายุที่มากขึ้น การจ้างงานผู้สูงอายุโดยเฉพาะในวัยหลังเกษียณแล้วไม่ใช่ทางเลือกแรกสำหรับผู้ประกอบการ แม้ว่าตนจะยังมีแรงและมีความชำนาญที่บ่มเพาะมานาน แต่สำหรับร้านซ่อมหลายแห่ง การจ้างงานเด็กหนุ่มที่ไฟแรง มีทักษะ และสามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดีกว่า เป็นเหตุที่ทำให้ช่างตุ๊กถูกปฏิเสธทุกครั้ง

จากเดิมที่มีรายได้หลักหมื่นต้น ๆ ต่อเดือนที่ไม่พอเหลือเก็บ ในช่วงก่อนหน้าไม่กี่ปี ช่างตุ๊กใช้จ่ายวันละไม่เกินหนึ่งร้อยบาทเพื่อประคับประคองเงินในกระเป๋า “มันเป็นความดิ้นรนของเราที่แม้จะเข้าใจแต่ก็ยังต้องการงาน ช่วงโควิดก็เคยออกมาตั้งร้านเอง เป็นเพิงอยู่ข้างทาง แต่รายได้ก็แย่ยิ่งกว่า ทุก ๆ อย่างก็เลยต้องลดลงมา จากวันหนึ่งใช้สองร้อยสามร้อยก็ลดให้เหลือร้อยเดียว แล้วพอแก่ตัวลงมันก็เริ่มอยากอะไรน้อยลง ยังดีที่ว่าไม่หิวง่ายเหมือนตอนหนุ่ม ๆ ”

จากข้อมูลศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ‘โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป… ’ พบว่าในตัวเลขผู้สูงอายุ 13 ล้านคนหรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย มีสูงวัยถึง 5.1 ล้านคนที่ยังทำงานอยู่ และ 3.7 คนในจำนวนข้างต้นเป็นสูงวัยรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทำให้เห็นว่าในปัจจุบันยังมีสูงวัยหลักล้านคนที่ยังต้องทำงานเพื่อหารายได้เพื่อประคับประคองตัวอยู่

ช่างตุ๊กเป็นหนึ่งในนั้น แม้ช่วงสร้างครอบครัวใหม่ ๆ อาชีพซ่อมพัดลมจะยังสามารถค้ำจุนครอบครัว ส่งลูกหลานจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านไป สภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยน ทักษะหรืออาชีพเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้มากเท่าเดิม ช่างตุ๊กเลือกที่จะออกมาทำงานไกลบ้านและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นประเด็นท้าทายต่อการแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชาชนของประเทศสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหานี้โดยตรง ขณะที่วัยแรงงานเองก็ต้องเก็บออมไว้ใช้ในวัยเกษียณ ทำให้วัยแรงงานในวันนี้มีภาระมากกว่ากลุ่มแรงงานก่อนหน้านี้มาก

“สูงวัยหลายคนน่าจะเจอปัญหาคล้ายกับผม เรามีทักษะเดิมที่ยังใช้งานได้ แต่วันนี้ไม่มีงานไม่มีเงิน เบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาทต่อเดือนยังไงก็ไม่พอ อันนี้ก็น่าจะเป็นปัญหาที่เราก็แก้ไม่ได้ ถึงรัฐจะมีสวัสดิการและการจ้างงานแบบอื่น ๆ แต่งานหลายอย่างก็อาจจะไม่เหมาะกับเรา เช่น งานธุรการหรืองานเย็บปัก น่าจะมีพื้นที่ให้เราได้ใช้ทักษะเดิมที่มีอยู่และชำนาญด้วย ได้หาเลี้ยงตัวเองต่อในบั้นปลาย” ช่างตุ๊กกล่าว

ความในใจของอดีตเดอะแบกที่ไม่อยากให้ครอบครัวต้องมาแบกในตอนบั้นปลาย สำหรับช่างตุ๊กและสูงวัยนอกระบบ คำว่าเกษียณอาจไม่มีอยู่จริงเพราะความเป็นจริงแล้ว งานไม่ได้เท่ากับเงินเพียงอย่างเดียว แต่งานยังหมายถึงความอยู่รอดต่อไปที่จำเป็นต้องหาเงินอีกเรื่อย ๆ เพื่อประคับประคองความเป็นคนนอกระบบของตัวเอง

ภาระทางใจในวันที่ไม่อยากเป็นภาระทางบ้าน

หลังจากช่างตุ๊กตะลอนตามหางานทั่วทุกสารทิศ วันหนึ่ง ช่างณรงค์ เพื่อนเก่าก็ได้โทรมาชักชวนให้มาทำงานด้วยกันอีกครั้ง เนื่องจากงานในที่ใหม่นี้มีออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก และตนทำงานด้วยตัวคนเดียวไม่ทัน

ช่างตุ๊กโยกย้ายจากเชียงใหม่กลับมาอยู่พำนักอยู่ย่านบางบัวกับเพื่อนเก่า โดยขออาศัยไปก่อนหลังได้งานและตามหาห้องเช่าที่พอเหมาะกับตัวเอง แต่โชคดีที่ไม่นาน เกือบ 3 เดือนช่างตุ๊กก็พอได้เก็บเงินมาเช่าห้องเป็นของตัวเองในราคา 1,500 บาท ต่อเดือนในบริเวณใกล้ ๆ กัน โดยช่างตุ๊กได้มาทำงานเป็นช่างซ่อมพัดลมที่โครงการช้าการช่าง มูลนิธิกระจกเงา ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2566

ช่างตุ๊กกลับมาถอด เชื่อม ประกอบ แผงวงจรพัดลมที่ช้าการช่างได้ราว ๆ ครึ่งปีหลังจากห่างหายไปนาน แม้ร่างกายจะเสื่อมถอยตามกาลเวลา แต่นายช่างสูงอายุวางแผนที่จะทำงานถึงอายุ 80 หรืออาจจะปลดประจำการก่อนหน้านั้นถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยใด ๆ

แม้จะเป็นนายช่างซ่อมพัดลมชำนาญการ แต่สิ่งเดียวที่ช่างซ่อมตลอดชีวิตคนนี้ดูจะซ่อมให้หายขาดไม่ได้ คือความคิดถึง

“สมัยก่อนได้มาเท่าไหร่ก็ส่งไปให้ที่บ้านเกือบหมด เราเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลเมียกับลูกอีก 2 คน รวมถึงหลาน จนวันนี้ผมมีเหลนแล้ว เป็นทวดคนแล้ว ใคร ๆ ก็ถามว่าทำไมไม่กลับไปเลี้ยงลูกหลานไม่คิดถึงเหรอ เราก็ตอบไปว่าคิดถึงสิ แต่ความคิดถึงมันสำคัญพอ ๆ กับปากท้องคนที่รออยู่นี่สิ” ช่างตุ๊กเล่าในวันที่งานที่ให้เงินเยอะ ๆ กระจุกตัวอยู่แต่หัวเมืองเท่านั้น

หลังจากลูกสาวแต่งงาน ครอบครัวของช่างตุ๊กย้ายไปอยู่ที่อุบลราชธานีตามสามีของลูกสาว โดยที่ภรรยาของช่างตุ๊กก็ขึ้นมาเยี่ยมที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งคราว หลายครั้งที่เธอมาขออยู่ด้วย แต่ช่างตุ๊กไม่อยากให้เธอลำบาก ช่างตุ๊กบอกว่า ‘ยอมทนลำบากดีกว่าเห็นคนที่รักต้องมาลำบากด้วยกัน’

“ลูกสาวเขาก็มาชวนให้กลับไปอยู่ที่บ้านสามี แต่เรารู้ดีว่าถ้าเราไปอยู่เฉย ๆ ก็ไปเพิ่มภาระให้เขาเปล่า ๆ เราที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิตรู้ดีว่าคนหาเงินเข้าบ้านเหนื่อยแค่ไหน แล้วเขามีลูกมีหลาน เราต่างหากที่ทำงานไหวก็ต้องส่งเงินไปช่วยเขา อย่างน้อยได้ให้ค่าขนมหลาน-เหลนไปโรงเรียน เขาอยากได้อะไรก็ไปบอกย่าให้ซื้อให้ เรายินดีที่จะแบกภาระของครอบครัว แต่เราไม่อยากเป็นภาระให้ใคร”

แม้ว่าผู้สูงอายุในประเทศจะมีรายได้ส่วนที่ถูกจัดการโดยภาครัฐอยู่หลายระบบ ทั้งระบบประกันสังคม ระบบบัญชีเงินออมเพื่อเกษียณอายุ และระบบเงินช่วยเหลือ แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้น พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอในการเกษียณ ขาดเงินจับจ่ายใช้สอยในการยังชีพช่วงบั้นปลายชีวิต ทำให้ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากลูกหลาน

และที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือในบางกรณีเช่น ลูกอายุ 60 ปี ต้องเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ที่อายุ 80 ปี กลายเป็นสภาวะที่ผู้สูงอายุต้องมาดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง เกิดเป็นภาระที่หนักมากในการแบกรับ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย

ชีวิตของช่างตุ๊ก คือภาพแทนรูปแบบหนึ่งของสูงวัยที่ไม่ใช่แค่ต้องทำงานหลังเกษียณ แต่ความจำเป็นในชีวิตที่อยู่กับความจนมาทั้งชีวิต ทำให้การเกษียณไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของเขา การทำงานที่ว่า คือทำงานไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหวเพื่อประคับประคองความจนที่ตนมี

ซึ่งจากการสำรวจภาวะสังคมและเศรษฐกิจ คนไทย มีรายได้ค่าเฉลี่ยประมาณ 8,400 บาทต่อคน/ต่อเดือน นั่นหมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่นั้นมีเงินออมไม่เพียงพอในวัยเกษียณ ทำให้ผู้สูงอายุตลอดจนผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุจำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐในการดูแลรักษาและการดำรงชีวิตในวัยเกษียณ

นอกจากนี้ ตามข้อมูลของศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) จากการคำนวณอัตราส่วนการพึ่งพิง (age dependency ratio) ของไทย ยังพบอีกว่าวัยแรงงานจะมีภาระรัดตัวมากขึ้น ทำให้การเพิ่มจำนวนประชากรวัยเด็ก การยกระดับเศรษฐกิจ และการเพิ่มภาษีเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งหากย้อนหลังไป 10 ปี ประชากรวัยแรงงาน 100 คน จะต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุ อยู่ที่ประมาณ 47 คน แต่ในปัจจุบัน อัตราส่วนดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็น 56 คน

ในมุมห้อง 20 ตารางเมตร ช่างตุ๊กควานหาสมุดบัญชีสีชมพู ในนั้นมียอดถอนและยอดเงินฝากใกล้เคียงกัน เป็นสมุดบัญชีที่ช่างตุ๊กตั้งใจเก็บหอมรอมริบเพื่อรอวันจะได้กลับบ้านอีกครั้ง

“ที่ผมอยากทำงานถึง 80 ก็เพราะอยากหาเงินก้อนก่อนกลับไป ตั้งใจไว้ว่าหาให้ได้สัก 15,000 บาทกำลังดี อย่างน้อยก็แบ่งให้หลานสักครึ่งไว้ให้เขาใช้ กับอีกส่วนหนึ่งจะเอามาเปิดร้านซ่อมของตัวเอง”

ห้องขนาดกะทัดรัดที่รวมห้องครัวอยู่ที่อีกมุมของห้องนอน จากการที่กินน้อยลง ทำให้ในวันนี้ลุงตุ๊กมีค่าใช้จ่ายเพียงค่าห้อง 1,500 บาท/เดือน(รวมค่าน้ำค่าไฟราว ๆ 2,000 บาท) ค่าโทรศัพท์ 300 บาท และค่าข้าวมื้อละไม่เกิน 30 บาท

“ข้าวเราก็หุงเอง ตกถุงหนึ่ง(10 กิโล) ก็อยู่ได้เกือบเดือน ข้าวกลางวันทางโครงการก็มีไว้ให้ คนทางนู้นอิ่มเราก็อิ่มแล้ว”

ช่างตุ๊กไม่ได้มีภาพของครอบครัวเก็บไว้ดูยามคิดถึง ในมือถือที่ใช้อยู่ก็ไม่ได้เก็บภาพเอาไว้ แต่ช่างตุ๊กซ่อมความคิดถึงด้วยการโทรศัพท์หา ถึงแม้ว่าวันนี้โทรศัพท์จะเสียและไม่ได้โทรหาทางบ้านเป็นเวลาหลายวันแล้วก็ตาม

ความเหงาของช่างตุ๊ก ทำให้เห็นว่าความจนไม่เพียงแต่ทำให้คน ๆ หนึ่งเป็นคนที่มีสถานภาพทางการเงินที่ย่ำแย่ ซึ่งส่งผลต่อความลำบากทางกายในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ความจนยังส่งผลให้ช่างตุ๊กตกอยู่ในความโดดเดี่ยวอย่างที่สุดในบางขณะ 

ความคิดถึงที่ส่งไปไม่ถึงของช่างตุ๊กจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ผลพวงจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐต่อสูงวัยนอกระบบ เกี่ยวเนื่องกันอย่างเป็นระบบ และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความคิดถึงของอีกหลายคนถูกทำให้หล่นหายด้วยความเหลื่อมล้ำที่สั่งสมมาในสังคม

“อยู่ตัวคนเดียวมันก็ต้องมีเหงากันบ้าง แต่ก็มีวิธีคลายเหงาหลายอย่าง ทำงานก็ช่วยให้หายเหงาไปเยอะ ทุกวันก็จะนั่งฟังวิทยุเปิดเพลงลูกทุ่งฟัง หรือไปซื้อข้าวตามตลาดนัดดูผู้คนก็หายเหงาเหมือนกัน”

“บางทีความเหงาแค่นั่งคิดถึงเขาก็หายแล้ว แต่ความจริงนี่สิที่น่ากลัว” ช่างตุ๊กพูดติดตลกกับร่องรอยความจริงที่สูงวัยหลายคนกำลังเผชิญอยู่เหมือนกัน

สูงวัยไม่ไร้ทักษะ แต่ไร้งาน ไร้เงินเก็บ

แม้สูงวัยนอกระบบจะมีรูปแบบของปัญหาคล้ายคลึงกับความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากหล่นไปที่ชายขอบของความยากจน แต่ความเหลื่อมล้ำนี้จะยิ่งแก้ไขยากขึ้น และยิ่งทำให้ปมของปัญหาความจนยิ่งผูกกันแน่นขึ้นและกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินจะแก้ไข

เบญจมาศ พางาม ผู้จัดการโครงการช้าการช่าง เล่าว่าทางโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิกระจกเงา ปัจจุบันมีสูงวัยทั้งที่เป็นคนไร้บ้าน คนจนเมือง และคนเกษียณจากการทำงานมาร่วมทำงานในหลายโครงการของมูลนิธิ ซึ่งปัจจุบันมีคนจำนวน 207 คนได้มาร่วมทำงานกับมูลนิธิแล้ว

“ทางโครงการก็ทำงานกับคนไร้บ้านมานาน ซึ่ง 66% ของคนไร้บ้านส่วนใหญ่เป็นสูงวัยหมดเลย มันทำให้เห็นว่าคนที่จะไร้บ้านหรือเป็นคนจนเมืองที่ต้องออกมาอาศัยที่ริมข้างทางมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเกษียณ คือในช่วงวัยทำงานก็อาจจะพอมีแรงหรือหาทางที่จะทำงานเลี้ยงชีพได้ แต่พอแก่ตัวลงมันไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว หรือจะทำก็ไม่มีคนรับ ก็เลยต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน”

เบญจมาศกล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงาน แม้ภาครัฐจะมีสวัสดิการที่รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งบำนาญ เบี้ยผู้สูงอายุ หรือเงินออมประกันสังคมก็ตาม แต่แผนการเงินหลังเกษียณนี้ยังคงลืมบริบทแรงงานอีกจำนวนมากของสังคมไทย ซึ่งเป็นความเฉพาะของกลุ่มคนนอกระบบทั้งในแง่แรงงานและประชากร ที่ประกอบไปด้วยความเป็นปัจเจกทางพื้นเพ ทักษะ โรคประจำตัว เป็นต้น ทำให้การสร้างเบาะรองรับสังคมสูงวัยนี้ ยังมีรูโหว่และทำให้คนจำนวนมากตกหล่นไป

“ในมุมหนึ่งมันเป็นเพราะเราอาจจะละเลยพวกเขามาตั้งแต่เป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ในวันนี้สูงวัยนอกระบบ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการงานและสวัสดิการของรัฐได้ก็ถูกละเลยตาม อย่างบางคนไม่มีสมาร์ทโฟนเลย หรือบางคนจะไปทำบัตรสวัสดิการของรัฐก็เดินทางไปไม่ถูกหรือการจะไปทำก็มีค่าใช้จ่าย ทั้งหมดมันชี้ให้เห็นถึงความละเลยมาโดยตลอดของการออกแบบ safety net เหล่านี้” เบญจมาศ กล่าว

ทางมูลนิธิได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงมุ่งเน้นไปแก้ไขที่การออกแบบ เมื่อระบบการจ้างงานและสวัสดิการของภาครัฐมีรูปแบบในลักษณะที่เรียกว่าแพ้คัดออก คือใครที่ไม่สามารถเข้าถึงก็จะถูกปัดตกไปโดยขาดมาตรการเชิงรุกที่สามารถใช้งานได้จริง กระจกเงาจึงได้แตกโครงการออกเพื่อไม่ได้เป็นการมอบเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาคนไร้บ้านซึ่งมีสูงวัยอยู่ในนั้นจำนวนมาก ต้องเพิ่มการใช้ทักษะการงานเดิม เพื่อที่จะทำให้พวกเขาได้กลับเข้าสู่ระบบ ทั้งในแง่เศรษฐกิจที่ไม่ต้องกลับไปเป็นคนไร้บ้านและในแง่การกลับเข้าสู่สังคม

ปัจจุบันโครงการช้าการช่างมีนายช่างอยู่จำนวน 8 คน ในการซ่อมนั้นจะแบ่งเป็นซ่อมไมโครเวฟและซ่อมพัดลม ในแต่ละเดือนช่างทั้งหมดจะสามารถปิดยอดไปได้ราว ๆ 100 เครื่องบวกลบ 

โดยโครงการจะจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันในอัตรา 500 บาท เข้างาน 09.00 น. เลิกงาน 16.00 น. และมีน้ำ-ข้าวกลางวันให้

“ในช่วงก่อนหน้าเราก็ได้เปิดรับสมัครตามบริเวณต่าง ๆ หรือชักชวนให้คนไร้บ้านแบบปากต่อปาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สูงวัยเหล่านี้จะมาทำงานด้วยหลายปัจจัย ทั้งอาจจะตัดสินใจไม่มาแล้วหรือเดินทางมาไม่เป็น แต่ก็มีหลายคนที่มาทำแล้วทำผิดกฎที่วางร่วมกันไว้ในพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งเราก็มีทั้งการพักงานเป็นลำดับขั้นไป”

เบญจมาศ กล่าวว่า ทางโครงการเรียกแผนที่ชี้วัดความสำเร็จว่า ‘ไร้บ้านสู่ห้องเช่า’ ในลำดับแรกจำเป็นที่จะต้องให้คนไร้บ้านกลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งใช้เวลา 1-3 เดือน และมีเงินเก็บพอที่จะไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่โครงการติดตามผล นอกจากนี้ระบบการรับคนเข้าทำงานยังมีการสัมภาษณ์เพื่อจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด รวมถึงมีการทดลองงานโดยจำกัดวันทำงานต่อสัปดาห์ เพื่อดูประสิทธิภาพในการรับงาน รวมถึงสอบถามเรื่องแผนในอนาคต หลังจากนั้นก็จะพูดคุยและวางแผนร่วมที่จะให้คนไร้บ้านได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง

“จริง ๆ ในโครงการก็มีบางคนที่หายไปเลยก็มี แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ไม่หาย พวกเขาอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มันต้องมีแผนอย่างเป็นระบบที่จะช่วยให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายเป็นทางตรง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างคนนอกระบบแบบพวกเขาเลย”

เพราะในความเป็นจริงในปัจจุบันผู้สูงอายุมีโอกาสในการทำงานน้อยมาก โดยเฉพาะงานในระบบที่มีสวัสดิการรองรับ ขาดโอกาสในการทำงาน ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาหลายอย่างในบั้นปลายของชีวิต

แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในสังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงนี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีงานทำต่อไปตามกำลังความสามารถของบุคคล ในการที่ผู้สูงอายุยังทำงานต่อไปได้นั้นจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รู้สึกมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี เท่ากับจะเป็นการผ่อนภาระพึ่งพาครอบครัวและรัฐ

“อย่างกรณีของช่างตุ๊กเอง วันนี้แกเข้าเกณฑ์ได้เบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาท แต่ค่าห้องอย่างถูกไม่รวมค่าน้ำค่าไฟค่ากินค่าใช้ รวมก็ประมาณ 3,000 บาทแล้ว นี่ก็เป็นอีกเหตุผลเช่นกันที่ทำไมสูงวัยนอกระบบ คนจนเมืองหรือคนไร้บ้านอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างงานที่เหมาะสมกับพวกเขา แม้ว่าสวัสดิการรัฐตอนนี้ก็ถือว่าน้อยจริง ๆ แต่มันน่าจะมีอะไรควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขาด้วย” เบญจมาศ กล่าว

สูงวัยนอกระบบที่รอรัฐซ่อมทั้งระบบ

ข้อมูลจาก SDG MOVE การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ชีวิตเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน หรือหลังอายุ 60 ปีของคนไทย กลายเป็นโจทย์สำคัญ เนื่องจากสัดส่วนของผู้สูงอายุไทยนั้น พึ่งพาแหล่งรายได้หลักจากการทำงาน และสวัสดิการจากภาครัฐ โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพที่มีแนวโน้มพึ่งพาสูงขึ้น

นอกจากนี้ พบว่าสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังทำงานและมีรายได้จากการทำงานนั้นลดลง รวมถึงการทำงานของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคนอกระบบ ซึ่งอาจขาดการคุ้มครองแรงงานที่เหมาะสมและมีระดับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ต่ำ

การสร้างความมั่นคงให้สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ อาจนำมาซึ่งความท้าทายสำหรับรัฐบาลและสังคม ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทย จะมีนโยบายเพื่อการเตรียมพร้อมและสร้างความมั่นคงแก่ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 – 2569 แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570)

สถานการณ์ในปัจจุบัน การละเลยปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่ผลักให้คนจำนวนมากกลายเป็นคนนอกระบบ ทำให้วันนี้ปัญหาสังคมสูงวัยของประเทศไทยกลายเป็นปัญหาเดิมที่บริบทของกลุ่มคนนั้นเปลี่ยนไป ปัญหาจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นและยังไม่ได้แก้ไขอย่างครอบคลุม

ทิศทางการสร้างสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงแนวทางการดำเนินการหลักให้สามารถรองรับสังคมสูงวัย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มคนนี้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทจริงที่เป็นอยู่

“ภาครัฐเองทั้งใน กทม. หรือท้องถิ่นอื่น ๆ ไปจนถึงนโยบายในภาพใหญ่มีทรัพยากร มีกลไกที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งรูปแบบการทำงาน ความเป็นราชการ ทำให้วันนี้ตาข่ายรองรับของสังคมซึ่งปัญหาที่หลุดเข้ามามันซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็ยิ่งแก้ไขยากเข้าไปอีก” เบญจมาศ กล่าว

โครงการช้าการช่างอาจจะตอบโจทย์เพียงคนในกรุงเทพมหานคร ย่านหลักสี่เป็นหลัก แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัด คือปัญหาสูงวัยในวันนี้คงต้องเริ่มแก้ไขแนวคิดที่จะให้งานแบบไหนแก่พวกเขา แต่ต้องคำนึงถึงบริบทของคนแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะคำนึงว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร พวกเขาต้องการอะไร ทำไมสูงวัยบางกลุ่มจำเป็นจะต้องทำงานหลังวัยเกษียณ ความจำเป็นแบบไหนที่พวกเขาต้องการกันแน่ เพื่อตอบโจทย์ต่อสุขภาวะที่ดีทั้งสภาพเศรษฐกิจ การกินอยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยทางกาย และคุณค่าในการมีอยู่ทางใจ

“ปลายทางของสูงวัยที่เข้ามาทำงานกับเราไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไป คือเขาต้องการมีเงินเก็บ มีเงินส่งกลับบ้าน ได้กลับบ้าน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสถานภาพทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเครื่องยืนยันสำหรับหลายคนว่าเขายังมีประโยชน์ เป็นคุณค่าของพวกเขาในวัยเกษียณ” เบญจมาศ กล่าว

สำหรับช่างทั้ง 8 คนของช้าการช่าง แม้หลายคนจะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องทำงานในวัยเกษียณมากนัก แต่พบว่าทุกคนไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน แม้ว่าทางบ้านจะอยากให้วางมือเป็นเวลานานแล้ว แต่ในการอยู่บ้านทุกวันโดยไม่ได้ออกมาพบเจอใครสำหรับผู้สูงอายุ อาจสร้างผลกระทบทางใจที่หลายครอบครัวลืมคำนึงถึง นั่นทำให้การทำงานมีความหมายอื่น ๆ โดยที่มีเงินเป็นกังหัน แต่มีปัจจัยทางใจอื่น ๆ เป็นลมที่คอยหมุนให้ใบพัดของชีวิตยังขับเคลื่อนต่อไปได้

“อย่างช่างคนนั้นเขาก็เคยเป็นช่างของการไฟฟ้ามาก่อน บ้านเขาอยู่ตั้งพระราม 2 แต่อย่างพวกผมดีอย่างไม่เสียค่ารถ ใช้บัตรสวัสดิการนั่งรถเมล์มาทำงาน มันมีเรื่องของคุณค่าของการอยู่จริง ๆ นะ สำหรับคนรุ่นผม เข้าใจว่า ลูกหลานก็เป็นห่วงถ้าต้องเดินทางไปไหน แต่ชีวิตมันต้องพบเจอผู้คนบ้าง ยิ่งตอนแก่เรายิ่งเหงาง่ายกว่าคนอื่น งานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้มาเจอกัน” ช่างตุ๊กกล่าวถึงช่างพิสิษฐ์ ช่างการไฟฟ้าเก่าที่ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ เพื่อมาเข้างานจากพระราม 2 ถึงหลักสี่

เบญจมาศทิ้งท้าย ถึงความเหมือนเดิมอีกครั้งของสูงวัยจำนวนมากที่ต้องหลุดจากระบบไปในยามแก่เฒ่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคือความปกติที่การจัดการของรัฐที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังพึงจะมอบให้แก่มนุษย์ ด้วยเหตุนี้ นี่จึงเป็นเรื่องที่สังคมและภาครัฐต้องมองปัญหาของสูงวัยอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ตะวันยังไม่ตกดิน แต่ที่ทำงานช้าการช่างคนเริ่มซา นายช่างแยกย้ายเดินทางกลับบ้านและร่ำลาผ่านการสแกนนิ้วมือหน้าทางเข้า ช่างตุ๊กเดินไปขึ้นจักรยานคู่ใจที่ใช้เดินทางไปกลับที่พักราว ๆ 30 นาทีต่อวัน นอกจากจะประหยัดสำหรับชายวัย 70 กว่า นี่คือเครื่องออกกำลังกายที่ทำให้ยังมีแรงทำงานในวันต่อไป

“ตุ๊กการช่าง”

“ถึงจะดูคล้ายชื่อโครงการ แต่ว่าคำว่าการช่างนี่มันก็เป็นการงานที่เราภูมิใจ แล้วชื่อตุ๊กนี่ก็ภูมิใจยิ่งกว่า เพราะคนชื่อตุ๊กคนนี้ผ่านอะไรมาตั้งเยอะ ชื่อนี้การันตีทั้งฝีมือทั้งประสบการณ์แน่นอน” ช่างตุ๊กเล่าถึงชื่อร้านในอนาคตหากเงินในสมุดบัญชีสีชมพูเล่มนั้นมียอดถึง 15,000 บาทเข้าสักวัน และหวังจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวก่อนอายุ 80 ปี

ปัญหาของสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในสังคมไทย ไม่สามารถเล่าผ่านฉากชีวิตของช่างตุ๊กได้รอบด้าน แต่ภายใต้บริบทของสูงวัยนอกระบบ ชี้ให้เห็นถึงตาข่ายเบาะรองรับที่ยังไม่สามารถรับรองคนจำนวนมากตั้งแต่อดีต และวันนี้ก็มีคนหล่นหายอีกเรื่อย ๆ และมีหลากหลายมากยิ่งขึ้น วันนี้ภาครัฐจึงต้องเปลี่ยนคำถามตั้งต้นต่อปัญหาสูงวัย เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงปัญหาและแก้ไขได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ขั้นสุด(super aging society) ที่คาดการณ์ว่าจะมาภายใน 30 ปีนี้

สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์อาจสามารถวัดได้จากร้านซ่อมพัดลมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ตุ๊กการช่างสามารถทำอาชีพซ่อมพัดลมด้วยความสบายใจไม่ใช่เพื่อตั้งใจเก็บเงินในวัยเบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาท

แต่วันนี้ เงินในสมุดบัญชีของช่างตุ๊กยังห่างไกลจากยอดเงิน 15,000 บาทที่ตั้งไว้ พอ ๆ กับสังคมไทยยังห่างไกลจากการสร้างสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ที่โอบรับทุกคนไว้เท่ากัน