กำแพงหรือประตูปิดตาย ก่อนไทยจะไปถึงเป้าหมาย ‘เจ้าสมุทร’ ความเสี่ยงใบเหลืองค้ามนุษย์ ในเกลียวคลื่น(ร่าง)แก้ไขกฎหมายประมง - Decode
Reading Time: 4 minutes

ทำงานหนัก-อาหารจำกัด-ไม่มีการพัก-ได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย-ถูกทรมาณกลางทะเลและบังคับสูญหายจากการตกน้ำ คือปัญหาสภาพการทำงานแรงงานกิจการประมงไทยที่ยังแก้ไม่ขาดหาย

แม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีความพยายามของประเทศไทยในการปรับปรุงกฎหมายประมงให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลเพื่อยกระดับสภาพการทำงานของแรงงาน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังปรากฏความท้าทายในการนำหลักการทางกฎหมายไปบังคับใช้ จากความฉุกละหุก เร่งรีบในการออกกฎหมาย อีกทั้งขาดเสียงรอบด้านในกิจการประมงโดยเฉพาะเสียงของแรงงานในการร่วมออกแบบชีวิตการทำงานของพวกเขา และในวันนี้ 8 ร่างแก้ไขกฎหมายประมงที่กำลังมีข้อกังวลถึงความเสี่ยงด้านการปลดล็อกอุปกรณ์จับปลาทำลายล้างและการค้าทาสสมัยใหม่

ความเสี่ยงที่ไทยอาจกำลังไฟเขียวให้การค้าทาสสมัยใหม่ และเสี่ยงโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรปอีกครั้ง
หากประเทศไทยได้รับใบเหลืองอีกครั้ง ความเสี่ยงในครั้งนี้อาจไม่เป็นเพียงกำแพงปิดกั้นการประมงไทย แต่ยังหมายถึงการปิดตายประมงไทยสู่เวทีโลก

เมื่อตลาดใหญ่อย่างยุโรปคือเป้าหมายที่ไทยจะต้องไปให้ถึงเจ้าสมุทร แต่การแก้ไขกฎหมายประมงคราวนี้ยังสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายประมงสากลโดยเฉพาะประเด็นแรงงาน การแก้ไขกฎหมายประมงครั้งนี้จะต้องทำอย่างไรให้ประมงต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และหน่วยงานภาครัฐ ยกระดับมาตรฐานตัวเลขของการส่งออกอาหารทะเลสูงขึ้นในขณะที่รายงานปัญหาแรงงานและการค้าทาสสมัยใหม่ลดลง ผ่าน เวทีสาธารณะ “การคุ้มครองแรงงานประมงในห่วงโซ่อุปาทานและการปรับปรุงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558”

จากน่านน้ำไทยถึงรัฐสภา เสียงแรงงานในการแก้ไขกฎหมายประมงยังคงหล่นหาย

คุณโรยทราย วงศ์สุบรรณ Freedom The Freedom Fund กล่าวเสริมถึงแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นกับทิศทางลบของคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชนในแรงงานประมง ในขณะที่ภาพลักษณ์ของไทยต่อประมงพาณิชย์ที่เป็นประมงในการส่งออกผลผลิตไปทั่วโลกนั้นยังอยู่ในเกณฑ์แย่และต้องเร่งแก้ไข หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนยังคงได้รับการร้องเรียนถึงการค้าทาสสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง และใน 8 ร่างแก้ไขของพรรคการเมืองครั้งนี้ยังคงไม่มีเสียงของแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมออกแบบ จึงเกิดเป็นคำถามว่าตัวเลขใดที่รัฐบาลใส่ใจมากกว่ากัน

“แรงงานจำนวนหลักหมื่นเกือบแสนที่ทำงานในกิจการประมง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในเวลานี้ แทบไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมายที่จะคุ้มครองพวกเขาเลย รวมถึงหนึ่งในกรรมาธิการที่พิจารณาร่างแก้ไขนี้ ยังมีผู้ต้องคดีเกี่ยวข้องกับกรณี 32 แรงงานที่ถูกหลอกไปค้าทาสของประมงโซมาเลียด้วย อย่างนี้เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแรงงานจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากร่างแก้ไขซึ่งเราเห็นอยู่แล้วว่ามีช่องให้ขูดรีดแรงงานอย่างชัดเจน” 

โรยทรายยังกล่าวถึงปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเทียร์ 2 ตาม รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากพบว่าที่ผ่านมา มีแรงงานประมงทั้งคนไทยและต่างชาติจำนวนมากถูกบังคับให้ทำงานมากว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยอาหารจำกัด ไม่มีการพัก ได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเรือกลางทะเลนานเป็นครึ่งเดือน และอาจถูกทรมานโยนลงทะเล หากไม่เชื่อฟังนายจ้าง

ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอธิบายกรอบกฎหมายเกี่ยวกับกิจการประมงของประเทศไทย ว่าการออกกฎหมายบังคับใช้ภายในประเทศสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามกฎหมายสากลตามภาคีที่เราเข้าร่วม โดยในปี 2566 นั้น ไทยเป็นลำดับที่ 8 ของการส่งออกอาหารทะเลระดับโลกในเชิงปริมาณ ทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมประมงในฐานะผู้ส่งออก จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายสากลและรับมาปฏิบัติใช้ในรูปแบบกฎหมายภายในอีกที

ทั้งนี้ การออกกฎหมายประมงของประเทศไทย มักจะเกิดขึ้นอย่างเร่งรัดและฉุกละหุกหลายต่อหลายครั้ง อาจารย์ธนภัทร ยกตัวอย่าง พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 ที่ยังบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน ในการร่างและบังคับใช้กฎหมายในครั้งนั้นถือว่าเร่งรัดพอสมควร เนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU Regulation

“หลายครั้งกฎหมายประมงที่ออกบังคับใช้ในบ้านเรามีความเร่งรัด ฉุกละหุก เพื่อที่จะตอบโจทย์กรอบของกฎหมายสากลด้านประมง มันทำให้ในตัวกฎหมายเองมีปัญหาอยู่เสมอเพราะในหลายมาตราไม่มีเสียงของผู้มีส่วนได้เสียในกิจการประมงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเสียงของแรงงาน” ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าว

แม้ว่าในปี 2562 ประเทศไทยจะถูกปลดใบเหลืองโดยสหภาพยุโรปและกิจการประมงไทยเติบโตขึ้นอีกครั้ง ทว่า ด้วยความเร่งรัดนี้เอง แม้จะตอบโจทย์ต่อสภาพการทำงานที่ดีขึ้น มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ก็ยังทำให้เกิดปัญหาของผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมประมง ทั้งในเรื่องของความยุ่งยาก การทำกำไร และในการแก้ไขกฎหมายประมงครั้งนี้เอง ที่ความเร่งรัดและยังมีเสียงที่หล่นหายจากหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรม อาจทำให้ไทยติดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปอีกครั้ง

โดยในปัจจุบัน กิจการประมงมีกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมอยู่ 3 ฉบับด้วยกัน ซึ่งเป็นผลบังคับใช้จากการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ 

1. พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 จากการปลดใบเหลือง IUU

และอีก 2 ฉบับหลังจากการเข้าการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 หรือ C188 ได้แก่

2. พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562

3. กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565

“ทั้ง 3 ฉบับเองถูกบังคับใช้เพื่อยกระดับสภาพการทำงานของแรงงานในกิจการประมง เพื่อที่ไทยจะสามารถยกระดับการส่งออกไปทั่วโลกได้ แต่ข้อกังวลในความเร่งรัดคือเราจะแก้ไขตัวเลขอะไร จริงอยู่ที่เราแก้ไขเพื่อเพิ่มตัวเลขของผลผลิตในการส่งออก และในหลายมาตราอาจทำให้ตัวเลขด้านสวัสดิการแรงงานและสิทธิมนุษยชนนั้นลดลง” ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าว

เมื่อเสียงของแรงงานประมงบนท้องทะเลและชายฝั่งเกือบแสนรายไม่ได้ถูกนับเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการแก้ไขร่างกฎหมายประมง อีกทั้งหน่วยงานธุรกิจเอกชนเจ้าไหนบ้างที่จะเข้ามามีส่วนออกแบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินที่ค้ำจุนเศรษฐกิจหลักของประเทศ

ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามต่อความเร่งรัด ผู้มีส่วนร่วมออกแบบ ว่าในทัั้ง 8 ร่างฉบับแก้ไขกฎหมายประมงบนเป้าหมายเจ้าสมุทรของรัฐบาลเศรษฐา ว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเม็ดเงินจากการส่งออกอาหารทะเลหรือรายงานการค้าทาสสมัยใหม่ และทำไมตั้งแต่เกิด 8 ร่างแก้ไขกฎหมายประมงครั้งนี้ขึ้นมา หน่วยงานต่าง ๆ ที่ติดตามการประมงไทยถึงได้กล่าวใกล้เคียงกันว่า อาจทำให้เราถูกใบเหลืองอีกครั้ง

ไฟเขียวค้าทาสสมัยใหม่? คลื่นความเสี่ยงใต้อวน 8 ร่างแก้ไขกฎหมายประมง

แม้ว่า พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 จะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลคสช. ซึ่งอาจมีข้อครหาถึงความไม่ชอบธรรมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยตัวรัฐบาลผู้ร่าง แต่ด้าน รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านประมง IUU กล่าวว่า กฎหมายประมงฉบับนี้เองที่แทบจะเป็นกฎหมายไม่กี่ฉบับที่มีความเป็นสมัยใหม่ มีการบูรณาการและตรวจสอบได้ครอบคลุมถึงช่องโหว่ในอุตสาหกรรมประมงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านแรงงาน

“เราต้องเข้าใจก่อนว่ากิจการประมงจะถูกหรือไม่ถูกมันประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือเรือ คนบนเรือ และอุปกรณ์บนเรือ ซึ่งในกฎหมายประมง ปี 2558 ได้บัญญัติไว้อย่างครอบคลุม แต่การแก้ไขคราวนี้ทั้ง 8 ร่าง พยายามที่จะลดต้นทุนของประมงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมให้มีกำไรมากขึ้น แล้วไปเปิดช่องโหว่ตั้งแต่เรือไม่จดทะเบียน คำถามคือถ้าเรือมันผิดตั้งแต่แรก คนบนเรือและอุปกรณ์จะถูกกฎหมายได้อย่างไร นี่หรือคือการลดต้นทุนแต่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ไทยถูกใบเหลืองอีกครั้ง” ผศ.ดร.ธนพร กล่าว

รศ.ดร.ธนพร มองว่าหาก 1 ใน 8 ร่างนี้ถูกพิจารณาและบังคับใช้จริง อาจทำให้ IUU ค้ามนุษย์กลับมาอีกครั้ง ซึ่งมีข้อกังวลใน 6 ด้านต่อร่างแก้ไขเหล่านี้

  1. ตัดพฤติกรรมโทษร้ายแรง

การจัดทำสมุดบันทึกการประมง, การแจ้งเข้าออกเทียบท่าเรือทุกครั้ง, ดัดแปลงเครื่องมือประมง, ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์รัฐชายฝั่งองค์กรระหว่างประเทศ, ปลอมแปลง ปิดบัง เปลี่ยนเครื่องหมายประจำเรือประมงหรือทะเบียนเรือประมง และขนถ่ายสัตว์น้ำฝ่าฝืนหลักเกณฑ์

  1. ตัดแรงงานในภาคประมงออกทั้งหมด

คุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานภาคประมง, กระทรวงแรงงานออกจากคณะกรรมการประมงแห่งชาติ, โรงงานภาคประมง, เข้า-ออกการทำประมง ไม่ต้องแสดงบัญชีลูกเรือและหนังสือคนประจำเรือ, เปลี่ยนลูกเรือประมงระหว่างการทำประมงได้ เพียงแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ

“การขนย้ายคนและสัตว์น้ำในขณะที่ออกเรือมันเป็นความสุ่มเสี่ยงมาก อาจจะไม่ใช่สุ่มเสี่ยงแต่ทำกันแน่นอน คือเรือไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าฝั่งเลย แน่นอนมันลดต้นทุนอย่างมากต่อประมงพาณิชย์ แต่คำถามคือแรงงานจะได้เวลาที่ไหนไปพัก จากปกติที่เขาต้องเข้ามาขนย้ายสัตว์น้ำในฝั่งและแรงงานจะได้พักในช่วงเวลาหนึ่ง ในส่วนนี้ไม่ต่างจากเปิดช่องให้ค้าทาสกันอย่างเปิดเผยเลย” รศ.ดร. ธนพร กล่าว

  1. ทำลายวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน

รื้อเขตทะเลชายฝั่ง เหลือเพียง 1.5 ไมล์ทะเล, บังคับชาวประมงพื้นบ้านให้ทำบันทึกประมง, รวบอำนาจจัดการทรัพยากร

  1. ส่งเสริมการทำลายล้างทรัพยากร

เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาตในการทำประมง จากคุณสมบัติคนเป็นคุณสมบัติเรือ, สามารถดัดแปลงเครื่องมือประมงได้ตลอดเวลาเพียงจดแจ้ง, ห้ามจับหรือนำสัตว์น้ำตัวอ่อนขึ้นเรือ ไม่ใช่สัตว์น้ำขนาดเล็ก, สัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมติดอวนไม่เป็นความผิด, ขนถ่ายสัตว์น้ำได้โดยเสรีเพียงจดแจ้งกับศูนย์ PIPO, ล้อมอวนจับปลากะตักได้ตามสะดวก

“เราจะกินปลากันแค่รุ่นเราใช่ไหม? หากร่างนี้ผ่านจริง รุ่นลูกรุ่นหลานเราจะไม่ได้ไม่เหลือแค่ปลา แต่ความหลากหลายของพันธุ์ปลาก็จะหายไปด้วย ทั้งการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กหรือกระทั่งถ้าเรือคุณไปจับพะยูนติดอวนมาก็ไม่ผิด เรากำลังจะแลกทรัพยากรของคนรุ่นหลังไปกับคำว่าเจ้าสมุทรใช่ไหม? ” รศ.ดร.ธนพร กล่าว

  1. อำนวยความสะดวกในการทำประมง IUU

เปลี่ยนระบบติดตามเป็นอุปกรณ์ติดตามเรือประมง, ไม่ต้องแจ้งเข้าออกทุกครั้ง, นำเข้าปลา IUU, เรือประมง IUU สามารถเข้ามาเปลี่ยนสัญชาติเรือในไทยได้, เรือประมง IUU เข้าเทียบท่าประเทศไทยได้สะดวก

  1. การกำหนดโทษ

ไม่มีการกำหนดโทษเป็นขั้น-ตามขนาดเรือ, ลดค่าปรับลงมาจำนวนมาก, ตัดเจ้าของเรือหรือผู้รับใบอนุญาตเรือเป็นคนกระทำความผิด

รศ.ดร.ธนพร ให้ความเห็นว่า แม้ในกฎหมายที่บังคับใช้อยู่จะมีการร้องเรียนถึงบทลงโทษที่สูง แต่หากปรับเป็นร่างแก้ไขใหม่นี้ จะมีแต่คนจนที่บังเอิญทำพลาดแล้วต้องติดคุก ในขณะที่เรือใหญ่จำนวนมากอาจเตรียมค่าปรับไว้ก่อนจะออกเรือเสียด้วยซ้ำ เพราะโทษกำหนดให้เรือใหญ่จ่ายน้อยลง

ความกังวลทุกด้านที่กล่าวมา นำไปสู่การตั้งคำถามของสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะแรงงานกลางทะเล แม้ประเทศไทยจะมีระบบตรวจประมง แต่การตรวจเหล่านี้เป็นการสุ่มตรวจ การแก้ไขกฎหมายประมงคราวนี้ยิ่งเป็นเหมือนซ้ำแผลเดิมด้านคุณภาพชีวิตแรงงานประมงไทย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นแรงงานหลักในอุตสาหกรรมประมงไทย จากเดิมที่เข้าถึงการช่วยเหลือและความเข้าใจด้านสิทธิแรงงานได้ยาก ร่างแก้ไขนี้ยังเสี่ยงที่จะเปิดแผลให้แรงงานถูกขูดรีดและเข้าข่ายค้ามนุษย์ยิ่งขึ้น

ข้อมูลของกรมประมง ระบุว่า ในปี 2566 มีเรือประมงพาณิชย์ 9,898 ลำ มีแรงงานประมง 90,170 คน แบ่งเป็นแรงงานไทย 37,444 คน และแรงงานข้ามชาติ 52,726 คน

นอกจากนี้ FRN ระบุว่า แรงงานประมงข้ามชาติในพื้นที่ 11 จังหวัด ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 พบ สภาพการละเมิดมาตรฐานแรงงานอย่างรุนแรง แรงงานถึง 99% ไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย แรงงานถึง 87% ติดอยู่ในวงจรหนี้สินนายจ้าง แรงงานถึง 84% ถูกยึดหนังสือเดินทาง และ แรงงาน 98% ถูกเจ้าของเรือยึดสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม

รายงานยังระบุว่า แรงงานมักเป็นหนี้นายจ้าง จากค่าดำเนินเอกสาร หรือการเบิกเงินล่วงหน้า โดย 68.6% ติดหนี้ระหว่าง 10,000-30,000 บาท ซึ่งสูงเกินกว่ารายได้ขั้นต่ำ 9,000-10,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีปัญหาเรื่องการใช้หนี้คืน

เช่นเดียวกันกับตัวเลขของลูกเรือประมงตกน้ำปี 2563-2565 อยู่ที่ 306 คน ในตัวเลขนี้ถูกค้นพบและยังมีชีวิต 83 ราย ในขณะที่ถูกค้นพบแต่เสียชีวิต 56 ราย และค้นหาไม่พบถึง 175 ราย รวมถึงการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ในเครื่องหมายคำถามถึงทิศทางเจ้าสมุทรของรัฐบาลชุดนี้ เราคงไปไม่ถึงผู้นำของการส่งออกอาหารทะเลระดับโลกถ้าเรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและการขูดรีดแรงงานในกิจการประมงอย่างเป็นระบบ

แล้วในการแก้ไขกฎหมายประมง เราจะต้องทำอย่างไรให้เป้าหมายของการเป็นผู้นำการส่งออกควบคู่ไปกับการยกระดับสิทธิมนุษยชนในกิจการประมงและต่อต้านการค้าทาสสมัยใหม่ภายใต้เรือทั้งในและนอกน่านน้ำไทยเกิดขึ้นจริง

ทบทวนเป้าหมาย ‘เจ้าสมุทร’ ในร่างแก้ไขกฎหมายประมง ‘ผ่าน’ ใครได้ใครเสีย

ข้อมูลจากกรมประมงฉายภาพของอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทย ผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงในช่วง พ.ศ. 2566-2569 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 1.54 และ 1.86 ต่อปี ตามลำดับ โดยจะมีผลผลิตเฉลี่ย 2,513,331 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 183,708 ล้านบาทต่อปี

ตัวเลขหลักแสนล้านต่อปีที่เข้ามาในประเทศ คือเหตุผลที่ คุณอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาด้านแรงงานอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า หากประเทศไทยโดนใบเหลืองอีกครั้งจะไม่ได้เป็นวิกฤติต่ออุตสาหกรรมประมงไทยเพียงอย่างเดียว แต่จะกระทบไปถึงระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ในทุกครั้งจะมีความกังวลใจจากภาคประมงเมื่อเกิดกฎหมายภายในจากการร่วมลงนามสนธิสัญญาต่าง ๆ อรรถพันธ์ เล่าว่า “อุตสาหกรรมทูน่าเราก็เจอปัญหาเหมือนกัน ตอนที่ไทยรับ C188 มาเราต้องประชุมกันเลยว่ามันคืออะไร แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนเรามากน้อยแค่ไหน แต่ C188 นั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ขั้นพื้นฐานของมาตรฐานสากลเสียด้วยซ้ำ ตอนที่เราพยายามไปคุยกับเทรดเดอร์ของอุตสาหกรรมเราที่มาจากทั่วโลก เขาบอกว่าเขาทำตั้งนานแล้ว มาตรฐานเหล่านี้ยังมีอีกหลายแบบที่เข้มข้น ตรวจสอบหนักกว่านี้ เช่น IOTC หรือ RFMOs”

อรรถพันธ์กล่าวถึงการคุยกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม แม้ในวันนี้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกทูน่าอันดับ 1 ของโลก แต่มีปลาทูน่าจากไทยเพียง 20,000 ตัน ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าปลาทูน่าพันธุ์อื่นจากนอกน่านน้ำไทยถึง 3-4 เท่า

แม้ทูน่าในน่านน้ำไทยยังคงเป็นความต้องการในตลาดโลก แต่ในจำนวน 20,000 ตันนี้ ทางอุตสาหกรรมทูน่าไทยพยายามที่จะพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายเจ้าถึงมาตรฐานที่ต้องยกระดับขึ้นเพื่อการส่งออก แต่ยังเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและปรับใช้ตามได้ยาก จึงเกิดความเสี่ยงว่า 20,000 ตันนี้อาจทำให้ไทยผิดมาตรฐานประมงสากลและประเทศปลายทางไม่รับซื้อ

จากคำบอกเล่าของอรรถพันธ์ ชี้ให้เห็นว่าการจะเป็นเจ้าสมุทรของไทยได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะต้องยกระดับคุณภาพทุกภาคส่วน เราจึงต้องจัดทำให้ประมงต้นน้ำอย่างภาคเรือประมงกลางทะเลเป็นไปตามสนธิสัญญาที่เรารับไว้ และทำให้ทุกข้อต่อในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมประมงปฏิบัติตามเช่นกัน

“ต้องอย่าลืมว่าท้ายที่สุดผู้บริโภคเป็นคนเลือก ถ้าสินค้าของเราไม่ได้มาตรฐาน ใครเขาอยากจะซื้อ ยิ่งในปัจจุบันที่สังคมโลกตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารของพวกเขาต้องไม่มาจากการขูดรีดแรงงาน นี่คือสิ่งที่เราต้องปรับตัวและเราไม่อยากเห็นรัฐบาลชุดนี้เดินสวนทางกับมาตรฐานดังกล่าว”

ข้อเท็จจริงด้านบนยังถูกสนับสนุนด้วยการลดภาษีทั่วไปที่ไทยโดยยกเลิกจากการส่งออกปลาไปที่สหภาพยุโรปแต่ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2558 เช่น ปัจจุบันภาษีนำเข้าทูน่าไทยไปยุโรปอยู่ที่ 24% ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีอัตราต่ำกว่าครึ่ง หรือหมึกที่ปัจจุบันภาษีนำเข้าอยู่ที่ 6-8% ในขณะที่ก่อนหน้าอยู่ที่ 2%

ตัวเลขการลดภาษีนำเข้าหรือ GSP ดังกล่าวยังคงเป็นต้นทุนจำนวนมากที่หากไทยยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ลงนามไว้หรือการลงนามในอนาคต ภาษีนำเข้าเหล่านี้จะเป็นกำแพงที่ปิดกั้นการส่งออกของไทยหรืออาจเป็นประตูปิดตายก็ได้เช่นกัน

นอกจากสนธิสัญญาที่ภาครัฐร่วมลงนาม ทางด้านอุตสาหกรรมทูน่าไทย ยังยกระดับมาตรฐานแรงงานแบบภาคสมัครใจหรือ GLP(Good Labour Practice) ที่เป็นแบรนด์ดิ้งให้ต่างชาติที่มีความต้องการสูง ทั้งในแง่อาหารคนและอาหารสัตว์ ตัดสินใจซื้อสินค้าจากประเทศไทย

“เราไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่าแรงงานเขาประสบปัญหาอะไรบ้าง สิ่งที่เราคิดคือต้องให้พวกเขาได้พูดออกมา เราเลยจัดทำคณะกรรมการซึ่งมาจากแรงงานเอง ให้พวกเขาหาเสียง คิดนโยบาย ซึ่งมันได้มาจากความต้องการของพวกเขาจริง ๆ สุดท้ายมันจะวนกลับมาที่แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประสิทธิภาพการทำงานก็ดีขึ้น และผลผลิตก็ดีตาม”

ซึ่งทางด้านหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับควบคุมอย่าง คุณอานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแผน NAP หรือ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า NAP (National Action Plan on Business and Human Rights)

อานนท์กล่าวว่า ในภาคปฏิบัติใช้จริงแม้ภาครัฐจะมีการบังคับใช้ แต่หลายภาคส่วน ทั้งเอกชน ธุรกิจ และภาครัฐเองยังคงละเลยเพราะเนื่องจากขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติตาม แรงจูงใจดังกล่าวอาจต้องให้ผลในลักษณะที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ซึ่งตรงนี้ยังเป็นส่วนที่รัฐบาลจะต้องสร้างแรงจูงใจมากขึ้นเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ปฏิบัติใช้จริง

ผศ.ดร.ธนภัทร มองว่าในแง่การออกกฎหมายและตอบโจทย์กับทุกฝ่ายอาจเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับการนำมาปฏิบัติใช้ในทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้นแล้วในการออกกฎหมายฉบับนี้เองซึ่งยังขาดเสียงของผู้มีส่วนได้เสียหน้างาน ทั้งแรงงาน นายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ การรับฟังเสียงจะทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ซึ่งส่งผลต่อการตรวจสอบความโปร่งใส ที่จะเป็นกรอบกำหนดอย่างเป็นระบบด้านสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจอย่างแท้จริง

“การไม่ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่เราไปรับมาไว้อาจจะส่งผลถึงพื้นที่อื่น ๆ ในเวทีโลก อย่างคณะกรรมสิทธิมนุษยชนที่ไทยจะร่วมส่งตัวแทนไป รวมทั้งการเซ็นสัญญา ILO 89 และ 98 หรืออาจจะลามไปถึงการส่งออกสินค้าจากอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ก็อาจโดนปัดตกด้วยเช่นกันเพราะความคาบเกี่ยวด้านสิทธิมนุษยชนไปจากกฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เป็นได้ ทำให้ในวันนี้ต้องกลับมาทบทวนทั้งผลได้เสียของผู้มีส่วนได้เสียกันให้รอบคอบกว่านี้”

ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในอดีต ไม่ได้เป็นเพียงแค่เกณฑ์วัดคุณภาพอุตสาหกรรม เพราะในความเป็นจริงยังมีแรงงานจำนวนมากติดอยู่ในวังวนการค้าทาสสมัยใหม่ และรัฐบาลชุดนี้จำเป็นจะแก้ไขคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้ที่เป็นอยู่

ผู้ร่วมบรรยายทุกท่าน มองว่าการเขยิบขึ้นสู่เป้าหมายเจ้าสมุทรด้านการส่งออกอาหารทะเล อาจต้องคำนึงถึงสัญญา อนุสัญญา พันธสัญญาที่รับมาให้รอบด้านกว่านี้ คำถามจึงไม่หยุดอยู่แค่วันนี้เราจะขายอาหารทะเลจากกิจการประมงไทยให้ใคร แต่หากเกิดกฎหมายที่สวนทางกับหลักการสากล จะมีผลต่อไทยในเวทีโลกในทุกด้าน ทำให้เห็นว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไทยวันนี้ต้องถูกยกระดับและรอช้าไม่ได้แล้ว

เสียงของผู้มีส่วนได้เสียและทบทวนถึงผลได้เสียอย่างรอบด้าน จะเป็นคำตอบว่าใน 8 ร่างแก้ไขประมงที่กำลังจะพิจารณาผ่านในเร็ววันนี้ อนาคตประมงไทยจะทะยานสู่เป้าหมายเจ้าสมุทรได้สำเร็จ หรือจะลอยเคว้งอยู่กลางทะเลบนใบเรือขาดสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก