วงจรอุบาทว์ยากจนเริ่มต้นที่ระบบการศึกษา - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

หลังวิกฤตโควิด มีเยาวชน ’หลุด’ ออกจากระบบการศึกษาทันทีราว ๆ สองแสนคน


ส่วนหนึ่งต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเจือจานครอบครัว อีกส่วนคือครอบครัวไม่สามารถส่งเสียให้เรียน เนื่องหลายครอบครัวพ่อแม่ที่เคยเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวเสียชีวิตจากโควิด หลายครอบครัวสูญเสียตำแหน่งงานจากเศรษฐกิจตกต่ำหนักสืบเนื่องจากการปิดล็อกดาวน์ยาวนาน ซึ่งทำให้บริษัทห้างร้าน และโรงงานจำนวนมากต้องเลย์ออฟคนงาน ลดขนาดการผลิต รวมทั้งไม่น้อยเลยที่ต้องปิดตัวเลิกกิจการ


ในจำนวนนี้มีคนหนุ่มสาวน้อยมากที่สามารถระเกียกตะกายกลับเข้าระบบการศึกษาได้อีก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ


ความยากจนทำให้ประชากรของเราไม่สามารถรับมือกับ ’อุบัติเหตุ’ ของโลกได้มากไปกว่าแล่เนื้อเถือหนังตัวเองเอาชีวิตรอด หลายครอบครัวจำเป็นต้องเลือกส่งแค่ลูกคนใดคนหนึ่งเรียน เพราะไม่มีรายได้มากพอจะสามารถส่งเสียลูก ๆ ได้ทุกคน และจะเลือกส่งเฉพาะลูกคนที่ ’หัวดี’ หรือเรียนได้คะแนนดีพอ ซึ่งในแง่เศรษฐศาสตร์คือเป็นการลงทุนที่คุ้มความเสี่ยงกว่า


ส่วนลูกคนที่ ’หัวไม่ดี’ หรือเรียนไม่เก่งก็ให้ออกจากโรงเรียนมาหางานทำ ช่วยงานพ่อแม่ถ้ามีกิจการค้าเล็กค้าน้อย หรือแม้แต่ให้อยู่บ้านดูแลทำงานบ้านก็ยังประหยัดกว่า เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน


เรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือ คนที่เรียนไม่ดีในประเทศนี้ยังถูกบูลลี่ตีตราทั้งทางตรงและทางอ้อมจากครอบครัว โรงเรียน และสังคมด้วยว่าเป็นคนโง่เขลา การเอาผลการเรียนไปชี้วัดระดับสติปัญญาทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งเองก็ไม่อยากเรียนและไม่มีกำลังใจจะเรียนเป็นทุนอยู่แล้ว


แต่แก่นสารของการศึกษาไม่ได้มีแค่ทำให้คนมีความรู้ แต่ยังรวมถึงการเกื้อกูลความอยากรู้ สร้างแรงบันดาลใจ การถ่ายทอดความรู้ต้องดึงดูดน่าสนใจ รวมถึงปรับให้เหมาะสมกับเด็กที่แตกต่างกันไปแต่ละคน ที่สำคัญการสอนต้องสนับสนุนความสามารถในการคิดซึ่งเป็นที่มาของสติปัญญา ไม่ใช่ชี้วัดสติปัญญาแต่สร้างเสริมสติปัญญา
เรื่องที่บั่นทอนความอยากเรียนกว่าอะไรทั้งหมด คือทั้ง ๆ ที่เราเชื่อฝังหัวมาตลอดว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับชีวิตได้ แต่กลับกลายเป็นว่าการศึกษาทุกวันนี้ไม่สามารถเป็นหลักประกันของชีวิตที่ดี


หลังเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน คนจบปริญญาทั้งตรีและสูงกว่านั้นจำนวนมากหางานทำไม่ได้ ก็ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพโดยไม่ใช้ดีกรีที่ร่ำเรียนมา ทำงานแรงงานกับรับค่าแรงขั้นต่ำเท่า ๆ กับคนการศึกษาไม่สูง อย่างงานโรงงาน รปภ. ไรเดอร์ ค้าเล็กค้าน้อย ทั้ง ๆ ที่ใช้เวลาเรียนนานกว่า มีค่าใช้จ่ายมากกว่า สำหรับคนหาเช้ากินค่ำที่มีทรัพยากรจำกัดมาก ๆ การศึกษาจึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเปล่าด้วย


ด้วยเหตุนี้ เพื่อปกป้องประชากรจากความโง่เขลาหลายประเทศที่เจริญแล้วจึงใช้ภาษีลงทุนการศึกษา ให้ประชากรเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี รวมทั้งให้ทุนการศึกษาจำนวนมากสำหรับการศึกษาระดับสูงขึ้นไป เพราะเข้าใจดีว่าหากประชากรไม่มีความรู้ ประเทศก็ไม่สามารถพัฒนาไปต่อได้ในทุก ๆ ด้าน
ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ ประชากรคุณภาพ


ความยากจนเป็นวงจรอุบาทว์ ประชากรยากจนไม่สามารถจ่ายค่าการศึกษาก็ไม่สามารถยกระดับความคิดความอ่าน ไม่สามารถยกระดับความคิดความอ่านก็ไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ และไม่มีความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาประเทศ ต่อให้ประเทศมีทรัพยากรมากมายแต่ประชากรไม่มีความรู้ ประเทศก็จะไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกกัดกินด้วยปัญหาสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะยาเสพติด โสเภณีค้ามนุษย์ ของเถื่อน อบายมุข คอร์รัปชัน จนกลายเป็นประเทศอ่อนแอเต็มไปด้วยปัญหา


และที่แย่กว่าทุกอย่าง ประชากรไร้คุณภาพไม่ได้ตกเป็นเหยื่อแค่ปัญหาสังคม แต่ยังเป็นเหยื่อโอชะของทุนใหญ่ด้วย ซึ่งยิ่งช่วยถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้าง และทำให้ประเทศยากจนกลายเป็นประเทศยากจนเรื้อรังไม่สามารถพลิกฟื้นอย่างที่เรากำลังเป็นอยู่


ประเทศที่ฉลาดจึงเลือกทุ่มเทให้กับการศึกษาเป็นอันดับแรก เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องลงทุน และต้องยัดเยียดการศึกษาให้ประชากร ต้องดึงคนหลุดระบบการศึกษาให้กลับมา และรั้งคนให้อยู่ในระบบให้ได้มากที่สุด การศึกษาต้องไม่เป็นแค่ทางเลือก


นอกเหนือจากนั้นรัฐจำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษานอกเหนือจากมหาวิทยาลัย พัฒนาอาชีวะศึกษารวมทั้งปรับฐานเงินเดือนของงานใช้ทักษะความชำนาญให้เท่ากับงานใช้ความคิด เพื่อที่ประชากรจะสามารถเลือกการเรียนรู้ตามถนัด และที่สำคัญกว่านั้นคือช่วยให้คนเข้าถึงการศึกษานอกระบบ สร้างและพัฒนาคุณภาพศูนย์ฝึกอาชีพ เสริมทักษะทางศิลปะและดนตรีแขนงต่าง ๆ ให้กว้างขวางทั่วถึง รวมทั้งการสร้างห้องสมุดคุณภาพ เหล่านี้คือจะช่วยให้ประชากรไปมองเห็นศักยภาพและมีชีวิตเต็มผลเลิศของแต่ละคน

ที่สำคัญ รัฐจำเป็นต้องสร้างตำแหน่งงานรองรับทุกสาขาอาชีพไม่ให้ตกต่ำ


อีกเรื่องที่เราทำได้ไม่ดีนักคือการไร้วิสัยทัศน์ต่ออนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับความต้องการเรียนของประชาชนอย่างมาก การแนะแนวของเราจำเป็นต้องสร้างพลเมืองคุณภาพเพื่อรองรับงานใน ’อนาคต’ ไม่ใช่ตอนนี้ ที่ผ่าน ๆ มาหลายสิบปีเรามักมองแค่อาชีพและทักษะที่ขาดแคลนใน ’ปัจจุบัน’ และส่งเสริมอาชีพนั้น ๆ ซึ่งพอคนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกเรียนตามด้วยหวังจะมีงานทำ และเรียนจบออกมาพร้อมกันก็กลับกลายเป็นงานที่ว่ามีคนทำล้นตำแหน่งงาน หรือบางสาขาก็ไม่เป็นที่ต้องการแล้วก็มาก


รัฐจำเป็นต้องมองการณ์ไกลกว่านั้น และคาดการณ์ความต้องการของโลกในระยะยาวแม่นยำกว่าที่ผ่านมาในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การมองสั้นมองใกล้และไม่สอดคล้องกับอนาคตทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ได้ เห็นได้จากภาคส่งออกของเราที่ทรุดโทรมจากการพยายามป้อนสินค้าที่โลกไม่ต้องการอีกแล้ว หรือที่เรียกกันว่า ’สินค้าโลกเก่า’ ออกไป


ขณะเดียวกันเราก็ไม่มีความสร้างสรรค์และริเริ่ม ไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตสมัยใหม่อย่างสินค้าไฮเทค ซึ่งหลายแขนงไม่มีแม้แต่ภาควิชาหรือบุคลากรสอนในมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ทำให้เราตกขบวนและตลาดของเราหดแคบลงไปเรื่อย ๆ


อีกเรื่องที่ทำให้ภาคส่งออกของเราถดถอยคือราคาสินค้าที่แพง แต่แทนที่รัฐจะตรึงราคาพลังงานและหาหนทางที่จะประเทศได้ใช้พลังงานราคาต่ำ รัฐกลับไปตรึงค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทำให้ค่าแรงตำแหน่งที่สูงขึ้นถูกตรึงตาม วนลูปกลับไปที่การศึกษาไม่สามารถยกระดับชีวิตคนได้ และกลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มการเสี่ยงดังที่กล่าวมาขั้นต้น


เรากำลังวนลูปความยากจนเต็มระบบ และใกล้จะกลับไปเป็นประเทศยากจนโลกที่สามเต็มตัวแล้ว