ในวันที่เสรีภาพสื่อไทยมี but hardly free - Decode
Reading Time: 3 minutes

“มันไม่ใช่ว่าเสรีภาพสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ที่เราต้องสื่อสารให้ทั่วถึงกัน คือหากประชาชนไม่ได้มีเสรีภาพ ไม่ว่าใครก็ล้วนไร้ซึ่งเสรีภาพ และรวมถึงสื่อด้วยเหมือนกันทั้งหมดมัน คือก้อนเดียวกันที่เราต้องพูดถึงเสรีภาพในการพื้นที่พูดคุย-ปะทะสังสรรค์ของสังคม”

การจับกุมสื่อ 2 รายจากการรายงานข่าวการพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง(วัดพระแก้ว) กำลังลุกลามพื้นที่พูดคุยปะทะสังสรรค์และเข้าถึงข้อมูลจากประชาชน ถึงสื่อ และลามมาถึงแวดวงวิชาการ เมื่อกระบอกเสียงถูกปิดไมค์ นั่นย่อมหมายถึงการขีดเส้นใต้ผ่านโทรโข่งของสังคมอีกครั้ง ว่าสังคมห้ามพูดอะไรอีกบ้าง

ภูมิทัศน์สื่อภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งอาจยังให้เสรีภาพไม่เต็มใบ และถึงแม้สื่อไทยจะมีเสรีภาพแต่ก็ถือได้ว่า hardly free และมองการเดินทางไกลของเสรีภาพครั้งนี้ว่าหินก้อนต่อไปจะไปตกลงที่ใดกับ ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สื่อไทยมีเสรีภาพ but ‘hardly free’

ในขณะที่เราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปิดปากนั้นยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แล้วสื่อไทยในวันนี้มีเสรีภาพมากพอหรือยัง?

ผศ.ดร.พรรษาสิริ ตั้งคำถามกลับมา ในการที่เราจะวัดสิทธิเสรีภาพสื่อนั้นอาจจะมองได้จากตัวชี้วัดง่าย ๆ อย่างวันนี้เราอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง

“จริง ๆ แล้วสื่อไทยมีเสรีภาพ แต่ก็เป็นเสรีภาพที่ยังพูดได้ยากเพราะบางเรื่องเราพูดกันไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่อันดับของเสรีภาพสื่อไทยเราก็ถูกจัดอยู่ในหมวด hardly free คือมีเสรีภาพแต่มันพึงจะได้มากกว่านั้น”

องค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน(Reporters Without Borders) เปิดเผยการจัดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลกประจำปี 2566 ระบุว่าสื่อมวลชนของไทยมีเสรีภาพไม่สดใสนัก แม้อันดับดีขึ้นจากปีก่อนหน้า เสรีภาพสื่อมวลชนของไทยในปี 2566 อยู่ที่อันดับ 106 ได้คะแนน 55.24 คะแนน ซึ่งดีขึ้นจากปี 2565 ที่อันดับ 115 ที่ 50.15 คะแนน

อาจารย์ชวนมองมุมกลับ ในขณะที่สื่อ 2 รายที่โดนจับนั้นกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม ทว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ก็มีประชาชนที่โดนข้อหามาตรา 112 ไปอย่างน้อย 7 รายในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเรามีเสรีภาพกันในหลายเรื่อง แต่กับเรื่องศาสนาและสถาบัน มันทำให้มีคนไม่น้อยต้องถูกจำกัดเสรีภาพไป เสรีภาพในบ้านเรานั้นจึงไม่ต่างจากการมีเสรีภาพแต่เป็นเสรีภาพที่ถูกเลือกให้มีเท่านั้น

อาจารย์ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะผ่านการทำข่าว โดยเฉพาะในประเด็นที่ยิ่งแหลมคมเท่าไหร่ สังคมไทยต้องให้พื้นที่พูดคุยกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น

“มันชัดเจนว่ายิ่งเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะและความขัดแย้งทางการเมือง เรายิ่งต้องมีพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามารับรู้ เพื่อที่จะได้ศึกษาและลดความขัดแย้งให้ทุเลาลง เมื่อพื้นที่ไร้ซึ่งพื้นที่พูดคุยปะทะสังสรรค์ก็ยิ่งมีแต่จะขัดแย้งเพราะไม่เห็นเหตุผลของกันและกัน ในขณะเดียวกันสังคมไทยยังต้องคลี่ปมของปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะประเด็นสถาบัน เพื่อที่จะได้ไม่ถูกนำมาใช้เป็นปมความขัดแย้งอีก”

ในขณะเดียวกันเสรีภาพของสื่อเองนี่แหละที่มีส่วนกำหนดวาระของสังคมโดยให้ประโยชน์ตกอยู่ที่ประชาชนทุกคน อาจารย์ยกตัวอย่างของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่สื่อเองมีส่วนร่วมอย่างมากในการกำหนดวาระเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมา

“หากไปมองการเกิดขึ้นรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะเห็นได้ชัดเลย สื่อมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดันรัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้สำเร็จ มันไม่ใช่แค่ประชาชนมีความต้องการแล้วสื่อเป็นกระจกสะท้อนเพียงอย่างเดียว แต่สื่อต้องเป็นตะเกียงที่จะกำหนดวาระร่วมของสังคมเพื่อให้สังคมเจอทางออก และถ้าถามว่าตอนนี้เสรีภาพสื่อขาดอะไรไป มันคือการสร้างอำนาจรวมตัวต่อรองของสื่อและประชาชน ที่จะร่วมกำหนดวาระของสังคมให้เกิดพื้นที่พูดคุยกับผู้มีอำนาจ”

ฉะนั้นแล้วเสรีภาพของประชาชนและสื่อนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อวันนี้เราที่เป็นประชาชนและเราที่ไม่ว่าใครสามารถเป็นสื่อก็ได้ กำลังถูกปิดกั้นจากการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้สังคมเกิดพื้นที่ให้ใครไม่ต้องปิดปากเมื่อต้องการจะพูดในสังคม

การปิดปากประชาชน ไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวว่า นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐพยายามใช้อำนาจในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการจับกุมหรือปิดการสื่อสารจากประชาชนที่ต้องการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยมาก

“เรายืนพื้นในหลักการ ว่าการที่นักข่าวเขาไปทำหน้าที่ซึ่งคือการรายงานข่าวคือเรื่องที่ไม่ผิด หรือถ้าหากเขาผิดจริง มีวาระแอบแฝงก็ควรดำเนินการตามกฎหมายผ่านการออกหมายเรียกก่อน แต่ครั้งนี้กลับกลายเป็นจับกุมนักข่าวโดยทันที ทำให้การรายงานข่าวหรือการเปิดพื้นที่พูดคุยกลายเป็นความผิดฐานรุนแรซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชี้ให้เห็นถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในหมายจับจากกรณีนี้ แม้ในรัฐบาลเศรษฐาซึ่งมาจากการเลือกตั้งก็ตาม โดยเฉพาะในปลายปี ยังพบการใช้กฎหมายมาตรา 112 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 2566 ทำให้ในปัจจุบันยังมีประชากรที่ต้องติดคุกด้วยข้อหาดังกล่าวร่วม 40 คน 

การปิดปากสื่อในครั้งนี้จึงมีความหมายที่จะส่งสารไปถึงประชาชนผ่านการปิดลำโพงของหอกระจายข่าวสังคมว่า เรื่องใดที่พูดได้ และเรื่องได้สังคมห้ามพูดถึงบ้าง

“เราต้องมองภาพรวมในการจับกุมนี้ก่อน มันเป็นผลต่อเนื่องจากการเรียกร้องทางการเมืองของประชาชน เพราะฉะนั้นข้อความที่ผู้มีอำนาจต้องการจะส่งถึงไม่ใช่แค่สื่อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นประชาชนทั้งหมดต่างหาก”

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวเสริมว่า ลึกเข้าไปในการจับกุมสื่อครั้งนี้หากมองกันให้ดี เราจะเห็นว่าสื่อที่โดนเพ่งเล็งก็เป็นสื่อขนาดเล็กที่นำเสนอในประเด็นที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการเมือง รวมถึงสื่ออิสระที่รายงานข่าวในประเด็นนี้มาโดยตลอด ทำให้ข้อความที่ผู้มีอำนาจต้องการจะส่งก็ไปถึงกลุ่มที่ต้องการจะบอกชัดเจนและเป็นวงการยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

“การเลือกนักข่าวสองคนนี้ ซึ่งเป็นนักข่าวของประชาไทและสื่ออิสระมีเหตุผลที่ชัดเจน ในขณะที่สื่อทั้ง 2 ประเภททำงานวิพากษ์การทำงานและโครงสร้างรัฐมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าผู้มีอำนาจย่อมไม่ชอบใจในการที่สื่อมาวิพากษ์วิจารณ์พวกเขาอยู่ตลอดเวลา แล้วทั้งคู่ยังเป็นสื่อขนาดเล็กยิ่งทำให้เป้าของการจับกุมครั้งนี้ยิ่งเป็นวงกว้าง ในขณะเดียวกันข้อความที่จะสื่อสารออกไปก็ยิ่งชัดเจนขึ้นด้วยผ่านลักษณะของสื่อที่โดนจับกุมไป”

ทั้งนี้ไม่ใช่การนำเสนอข่าวของสื่อจะเป็นเรื่องถูกต้องเสมอไป หลายครั้งที่สื่อในประเทศไทยเองก็ผลิตเนื้อหาที่จะสร้างความเกลียดชังก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นในสังคม

ในกรณีดังกล่าว การนำเสนอข่าวดังกล่าวซึ่งผูกโยงทั้งนโยบายสาธารณะและความขัดแย้งของสังคม การที่รัฐไปขีดเส้นใต้ว่าห้ามให้ประชาชนรับรู้ในเรื่องนี้นั้น โดยมองข้ามจริยธรรมของนักข่าวและกองบรรณาธิการในการวิเคราะห์แล้วว่าเหมาะสมจะนำเสนอข่าวชิ้นนี้ ทำให้รัฐยิ่งปิดพื้นที่การพูดคุยและอาจก่อให้เกิดแวดล้อมของสังคมที่ทำให้อึดอัดและอาจปะทุขึ้นในวันข้างหน้า

อาจารย์มองถึงท่าทีดังกล่าวของรัฐว่าการกระทำทั้งหมดนี้ไม่เป็นผลดีอันใดต่อรัฐเลย ในขณะที่รัฐหรือผู้มีอำนาจมีอำนาจมากอยู่แล้วในประเด็นนี้ แต่การปิดกั้นช่องทางการรับรู้และสื่อสารประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งทำให้ปมใหญ่ของความขัดแย้งในสังคมยิ่งแน่นและคลายไม่ออก

หากกลับไปมองที่จุดเริ่มต้นของการปิดปากสื่อ ปิดหูปิดตาประชาชน รัฐต้องตอบให้ได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อต้องการหาทางปรองดอง รักษาความสงบให้สังคม หรือทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่มีอยู่ยิ่งตึงเครียดกว่าเดิม

เสรีภาพก้อนเดียวกันที่ชื่อ “เสรีภาพประชาชน

หลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแสดงหมายจับต่อ ‘ณัฐพล เมฆโสภณ’ ผู้สื่อข่าวของประชาไท และ ’ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์’ ช่างภาพอิสระ นอกจากการประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมครั้งนี้ สังคมและเพื่อนร่วมวิชาชีพยังถามหาท่าทีขององค์กรทางวิชาชีพ ในขณะเดียวกัน เพจสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ได้โพสต์ที่แสดงจุดยืนในช่วงระยะเวลาที่สื่อยังโดนคุมขังถึงความเป็นสื่อสารมวลชนมืออาชีพ

ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถ้าหากองค์กรทางวิชาชีพมองเช่นนั้น ใครบ้างที่นับว่าเป็นสื่อสารมวลชน แล้วใครบ้างที่ต้องดูแลสิทธิและความปลอดภัยของสื่อ

“แม้องค์กรทางวิชาชีพจะมีข้อจำกัดของเขา ซึ่งไม่สามารถแสดงท่าทีหรือประณามตามที่สังคมคาดหวัง แต่อีกประเด็นคือในครั้งนี้คือองค์กรทางวิชาชีพอาจจะเลือกดูแลสื่อที่เป็นสมาชิก แต่อาจยังไม่ได้รวมถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อในภาพรวม โดยเฉพาะสื่อขนาดเล็ก สื่ออิสระ หรือสื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพ นั่นทำให้ทางออกของความคาดหวังนี้คือการไม่คาดหวังกับองค์กรวิชาชีพในการแสดงท่าทีกับสิทธิเสรีภาพสื่อที่โดนริดรอน”

อาจารย์ยังชี้ให้เห็นถึงการแบ่งประเภทของสื่อในโพสต์ดังกล่าวของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ว่า ในบริบทของบ้านเราการแบ่งประเภทของสื่อนั้นจะทำให้ผู้ชมเข้าใจและคาดหวังกับงานที่ออกมา อีกทั้งยังรวมถึงความเชื่อมั่นที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันออกไป

แม้ในช่วง 10 ปีให้หลัง สำนักข่าวขนาดเล็กจำนวนมากได้เกิดขึ้นมาในสังคมไทยพร้อม ๆ กับช่วงเวลาที่การสื่อสารไม่ได้ถูกผูกขาดโดยใครคนใดคนหนึ่ง สิ่งที่ตามมากับการถือกำเนิดของสื่อจำนวนมากคือผู้ชมจะเชื่อถือสารจากสื่อใดได้บ้าง และสารนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงหรือไม่

“เพราะในบ้านเราคำว่าสื่อมวลชนถูกใช้ทับซ้อนกันในหลายหน้าที่ ในขณะที่นักข่าวที่เป็นสื่อมวลชนมักจะใช้กันในชื่อ Press หรือ Journalism แต่กับสื่อบันเทิงอาจจะต้องใช้คำว่า Paparazzi แต่บ้านเราใช้คำว่าสื่อมวลชนหมดเลย มันทำให้การแบ่งประเภทของสื่อทำให้ผู้ชมคาดหวังได้ว่าความน่าเชื่อถือหรือประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับ พวกเขาต้องไปหามาจากสื่อแบบไหน”

“แต่อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกสื่อยังลงลึกไปถึงสื่อขนาดเล็ก สื่อขนาดใหญ่ สื่อมืออาชีพและสื่อพลเมืองหรือสื่ออิสระ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีโดน disrupt ไปแล้วมันทำให้ข้อมูลข่าวสารมันไม่จำเป็นต้องรอจากสื่อวิชาชีพเพียงอย่างเดียว นั้นจึงมีความหมายว่า ถึงแม้สื่อตัวเล็กตัวน้อยอาจจะไม่ได้เป็นสื่อวิชาชีพหรือเสียงอาจจะไม่ได้ดังเท่าสื่อที่มีขนาดใหญ่ แต่อย่าบอกว่าพวกเขาไม่ใช่สื่อ ในยุคที่ความจริงไม่ได้ถูกกำหนดโดยบริษัทสื่อเพียงอย่างเดียว” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ในขณะเดียวกันอาจารย์ยังได้กล่าวถึงบรรทัดฐานทางวิชาชีพหรือ code of conduct ที่แต่ละสำนักข่าวหรือใต้สังกัดองค์กรวิชาชีพใด ๆ ก็จะมีความแตกต่างกัน รวมถึงสื่ออิสระที่ท้ายที่สุดก็มีข้อบังคับชุมชน แต่สิ่งสำคัญในการยืนยันสิทธิเสรีภาพของสื่อในวันนี้คือการบอกกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะได้ซึ่งพื้นที่และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม

“มันจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่องค์กรวิชาชีพหรือองค์กรสื่อแสดงท่าทีออกมาในลักษณะที่ไม่ยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อกันเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้รัฐใช้เป็นอำนาจในการขีดเส้นว่าสังคมพูดได้แค่ไหน ”

ทางออกของการคุ้มครองสิทธิสื่อ ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวว่า แม้จะมี best practice จากประเทศไหนก็ตามแต่ต้องอย่าลืมถึงบริบทและสภาพสังคมที่ประเทศไทยเป็น สิ่งสำคัญของการคุกคามสื่อครั้งนี้คือ การที่สังคมต้องช่วยกันยืนยันว่าเสรีภาพเหล่านี้คือเสรีภาพก้อนเดียวกันที่ชื่อ “เสรีภาพประชาชน

สมการมันไม่ใช่แค่เรื่องของสื่อกับประชาชน แต่มันคือเรื่องของชุมชน องค์กร ภาครัฐ ที่ต้องออกมายืนยันว่าเสรีภาพในการพูดคุยไม่ใช่แค่การส่งสารของผู้ส่งสารกับคนรับสาร เราต้องกลับไปมองจุดที่ประเทศไทยยืนอยู่ว่าสังคมไทยวันนี้ประชาชนมีเสรีภาพในการพูดมากแค่ไหน

เมื่อเรารู้ว่าเราไม่อาจคาดหวังกับองค์กรทางวิชาชีพได้ สิ่งที่เราต้องมองหาทางกันคือการรวมตัวต่อรองของพวกเราเอง ทั้งที่หมายถึงสื่ออิสระ สื่อขนาดเล็ก และประชาชนทุกคน สำหรับเราเรามองว่าการรวมตัวจะสามารถผลักดันจนทำให้เกิดข้อกฎหมายหรือการบังคับใช้ต่าง ๆ ได้มากกว่าการคาดหวังองค์กรที่ยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่”

“มันคือเรื่องเดียวกันกับการประท้วงเมื่อปี 63 นี่คือการรวมตัวต่อรองกับผู้มีอำนาจในสิทธิเสรีภาพของเราทุกคน”  ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

อย่าสร้างปีศาจขึ้นมาอีก เพราะประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้

“การปิดปากใครโดนการจับเข้าคุกไม่ต่างจากการสร้างปีศาจขึ้นมารุ่นแล้วรุ่นเล่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องมองเรื่องเสรีภาพกันใหม่เมื่ออำนาจเชิงเดี่ยวมันไม่ทำงานกับสังคมเท่าแต่ก่อนแล้ว เราต้องไม่เดินไปถึงจุดที่มีใครสักคนหรือสักกลุ่มกลายเป็นปีศาจ และเกิดความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงอีก”

แม้การจับกุมสื่อ 2 รายในครั้งนี้จะยังเต็มไปด้วยข้อกังขาถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายโดยหน่วยงานความยุติธรรม ทว่า สิ่งที่กลับมายืนยันต่อสังคมอีกครั้งคือการทลายโครงสร้างและเพิ่มอำนาจรวมตัวต่อรองของประชาชนคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพในสังคมไทยนั้นมีความยั่งยืนมากขึ้น

ผศ.ดร.พรรษาสิริ ได้เน้นย้ำว่าสุดท้ายแล้วสิทธิเสรีภาพไม่ได้เป็นแค่ของสื่อ แต่เป็นของประชาชนทุกคน เราจำเป็นที่จะต้องรวมตัวต่อรองเมื่อเกิดการคุกคามสิทธิเสรีภาพของสังคม และปลายทางของเสรีภาพที่เราหวังไว้อาจไม่ได้จบที่ประชาธิปไตย

“เป้าหมายสุดท้ายมันไม่ใช่แค่สังคมเป็นประชาธิปไตยแล้วจบ สังคมประชาธิปไตยก็ยังมีความขัดแย้งกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่คำถามคือเราขัดแย้งแล้วจะแก้กันอย่างไรจะแก้กันด้วยความรุนแรงหรือแก้กันด้วยการมอบพื้นที่พูดคุยปะทะสังสรรค์ต่อประเด็นนั้น ๆ ”

การจับกุมสื่อ 2 รายอาจเป็นเพียงหินก้อนแรกที่ผู้มีอำนาจโยนถามทางผ่านโทรโข่งสังคมว่าอย่าได้เดินข้ามเส้นที่เขาไม่อยากให้เดินข้ามมา และหินก้อนที่สองก็ได้ถูกโยนมาถึงแวดวงนักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์และนำเสนอทางออกให้กับสังคม

20 ก.พ. 2567 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้นัดหมายส่งฟ้องคดีของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีที่ถูกแจ้งความโยงโพสต์ทวิตเตอร์กับปมข่าวลือ ทิศทางของการใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นช่องทางการสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น จากความไม่ปกติที่จะดำเนินคดีต่อประชาชนที่เปิดพื้นที่พูดคุยในประเด็นที่เป็นนโยบายสาธารณะและความขัดแย้งของสังคม ในวันนี้ได้มาถึงสื่อและนักวิชาการซึ่งเปิดพื้นที่พูดคุยต่อความแหลมคมของการเมืองไทย อีกทั้งการดำเนินคดีของทั้ง 2 กรณีคือการรื้อฟื้นคดีเก่าอย่างมีนัยสำคัญ ที่จะขีดเส้นใต้ให้ชัดอีกครั้งว่าเสรีภาพในการพูดของสังคมมีขอบเขตแค่ไหนกัน

ในเส้นกั้นบาง ๆ เมื่อเสรีภาพของเราคือเสรีภาพเดียวกัน การจับกุม 2 นักข่าวมีความหมายในแง่การส่งสัญญานถึงเสรีภาพของประชาชนในรัฐบาลนี้ ความลักลั่นในการจับกุมและดำเนินคดีครั้งนี้คือเรื่องสำคัญที่ความรุนแรงจากรัฐจะถูกนำมาใช้กับ เรา เรา เรา เข้าสักวัน 

และการสร้างอำนาจของประชาชนผ่านการรวมตัวต่อรองคือสิ่งสำคัญ ที่จะเป็นประตูบานแรกที่พาเราไปถึงสิทธิ-เสรีภาพโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ของสังคมไทย