พี่น้องเอ้ย! เราทั้งผองคือผู้ประกันตน ความหวังแรกในศึกเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม - Decode
Reading Time: 4 minutes

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์กับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมนับตั้งแต่มีการก่อตั้งกองทุนขึ้นมาในปี พ.ศ.2533

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเหมือนความหวัง กับการเข้ามามีส่วนร่วมบริหาร กองทุนขนาด 2.3 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน ความหวังที่จะนำมาซึ่งสิทธิสวัสดิการที่ดีขึ้น ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ทว่า กลไกที่ไม่เอื้อในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังคงเป็นคำถามที่สั่นคลอนความหวังดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันปิดรับลงทะเบียนแต่ตัวเลขของผู้ใช้สิทธิยังอยู่ที่ 2.5%

ปักหมุดดีเดย์เลือกตั้งประกันสังคมกับ ธนพร วิจันทร์ ผู้สมัครจากทีมประกันสังคมก้าวหน้า และสุนทรี(หัตถี) เซ่งกิ่ง ผู้สมัครจากทีมสมานฉันท์ ความหวังบนกลไกที่ไม่เอื้อในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรก เมื่อประชาธิปไตยในกองทุนนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากสวัสดิการที่ควรจะดีได้มากกว่านี้ของพี่น้องแรงงาน

นี่คือครั้งแรกที่ผู้ประกันตนได้ออกมาส่งเสียง

ในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมหรือคณะกรรมการประกันสังคมครั้งนี้ นอกจากตัวแทนจากรัฐครั้งนี้คือการที่ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ รวมไปถึง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน

และการเข้ามาของตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนนั้นเพื่อทวงถามสวัสดิการของผู้ประกันตน และถ่วงดุลกับนายจ้าง-รัฐที่มักเอื้อประโยชน์นายทุน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้เราได้เห็นผู้นำแรงงานหลายกลุ่มลงสมัครเพื่อเป็นปากเสียงให้กับแรงงาน เช่นเดียวกับธนพรและสุนทรี ทั้งคู่เป็นผู้นำด้านสิทธิแรงงานและผู้ประกันตนที่ส่งประกันสังคมมานานกว่า 20-30 ปี การลงสมัครในฐานะตัวแทนผู้ประกันตนของทั้งคู่มีหัวใจสำคัญใกล้เคียงกัน คือเสียงของพี่น้องแรงงานต่อสวัสดิการของประกันสังคมที่ดีขึ้นได้มากกว่านี้

“นี่คือครั้งแรกที่ผู้ประกันตนได้ออกมาส่งเสียงของพวกเขา มันคือเสียงของแรงงานจริง ๆ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่ความหวังในสวัสดิการที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นประชาธิปไตยในกองทุนที่จะทำให้มันโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์แก่แรงงานทุกคน” ธนพร กล่าว

หลังเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนโดยเซีย จำปาทองและธนพร วิจันทร์ ได้ออกมาผลักดันให้มีการเลือกตั้งหลายครั้งจนได้ประกาศเลือกตั้งในปัจจุบัน ทว่า การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ กลับถูกยืดเยื้อหลังการรัฐประหารในปี 2557

ตาม พรบ.ประกันสังคม พศ.2558 กำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมกันตั้งแต่ปี 2558 แต่บอร์ดประกันสังคมภายใต้การกำกับโดยกระทรวงแรงงานในยุครัฐบาลประยุทธ์ เตะถ่วงหน่วงเหนี่ยว ไม่จัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม กล่าวให้ถูกต้องคือสวัสดิการแรงงานถูกเหนี่ยวรั้งไว้นานถึง 9 ปี กว่าที่เสียงของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมจะถูกได้ยิน

ธนพร กล่าวเสริมว่าคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมชุดนี้เอง ก็มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งหากนับวิธีการเข้ามานั้นก็ยังถือว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการรื้อโครงสร้างเพื่อสร้างประชาธิปไตยในกองทุนที่คนครึ่งประเทศเกี่ยวข้องด้วย

“มันไม่แปลกเหรอ กองทุนที่ใหญ่ขนาดนี้และมีคนอยู่ในกองทุนมากขนาดนี้ แต่เราแทบจะไม่รู้จักบอร์ดของกองทุนนี้เสียด้วยซ้ำ มันชี้ให้เห็นว่าแรงงานยังขาดการมีส่วนร่วมอีกมาก” ธนพร กล่าว

ด้านสุนทรีกล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมเองมีปัญหามาโดยตลอด แต่เรื่องหนึ่งที่ยังคงเงียบคือความโปร่งใสขององค์กร การนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้กำไรกลับมา แม้กองทุนนี้จะมีกำไรต่อปีราว 70,000 ล้านบาท แต่คำถามสำคัญคือแรงงานแทบไม่รู้ว่ากองทุนนำเงินไปลงทุนที่ไหน อย่างไร และกำไรที่ได้มานั้นนำมาต่อยอดสวัสดิการให้กับแรงงานอย่างไรบ้าง

“ในฐานะผู้ประกันตน กองทุนนี้มันมีปัญหาตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมันเริ่มจากความโปร่งใสขององค์กร คนทั่วไปแทบจะไม่รู้เรื่องที่กองทุนนำเงินไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเงินที่เอาไปลงทุนก็คือเงินของผู้ประกันตน และหลายครั้งที่เหมือนเอาเงินไปสูญเปล่า
แต่สิ่งสำคัญคือกำไรต่อปีของกองทุนที่มากขนาดนี้ ได้นำไปต่อยอดสวัสดิการด้านใดให้แรงงานบ้าง หรือเป็นการคอรัปชั่นในการลงทุนของกองทุนกับบริษัทที่ใกล้ชิด”

ที่สำคัญคือการผลักดันให้กองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ด้านสุนทรีกล่าวว่า แม้เราจะมีกองทุน 2 ล้านล้านนี้ แต่การเข้าถึงกองทุนกลับน้อยมากด้วยระเบียบแบบราชการที่เป็นอยู่ในทุกวัน กองทุนที่ควรจะเป็นหลักประกันให้แรงงานในสังคม แต่เมื่อแรงงานร้องเรียกหากลับถูกผลักออกไปด้วยระเบียบต่าง ๆ ของความเป็นราชการที่มีความยุ่งยาก เข้าถึงไม่ได้ และเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้กองทุนนี้หากเป็นคนมีทรัพยากรประมาณหนึ่งก็เลือกจะควักเงินในกระเป๋าแทน

“เมื่อเราได้ตัวแทนของแรงงานจริง ๆ อย่างไรเสียเขาก็ย่อมเข้าใจชีวิตพี่น้องแรงงานมากกว่าคนที่มองจากหอคอยงาช้าง” สุนทรี กล่าว

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การหาตัวแทนผู้ประกันตนเข้าไปสร้างสวัสดิการที่ตอบโจทย์กับแรงงาน แต่อาจเป็นทางเลือกใหม่ที่นำไปสู่การรื้อโครงสร้างของกองทุน ที่มอบผลประโยชน์แก่ผู้ประกันตนทุกคนอย่างเป็นธรรม

200 ล. ทุ่มเลือกตั้ง แต่ยังไม่เอื้อให้คนไปใช้สิทธิ์

ยอดผู้ลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมต้องการให้ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิคือ 1 ล้านคน แต่จนถึงวันนี้ ยังมีผู้ประกันตนลงทะเบียนราว ๆ  500,000 คน แม้ว่าสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมอาจยังไม่เอื้อให้คนเห็นประโยชน์ของการใช้สิทธิขนาดนั้น ทว่า อีกปัจจัยที่สำคัญคือกลไกในการลงทะเบียนที่ไม่เอื้อให้ผู้ประกันตน 14 ล้านคนในระบบพร้อมใจไปใช้สิทธิเท่าที่ควร

“อย่างแรกที่เราเห็นคือกองทุนประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนได้แย่มาก ทั้ง ๆ ที่คุณมีงบการจัดการเลือกตั้งถึง 200 ล้านบาท และงบประชาสัมพันธ์ราว ๆ 10 ล้านบาท แต่คำถามคือ 10 ล้านบาทสามารถประชาสัมพันธ์ได้เท่านี้เองหรือ ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ” ธนพร กล่าวถึงการประชาสัมพันธ์ที่ไปไม่ถึงผู้ประกันตนอีกจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ข้อมูลในการลงทะเบียน แต่ยังมีผู้ประกันตนจำนวนมากแทบไม่รู้เรื่องการมีอยู่ของการเลือกตั้งครั้งนี้เลยด้วยซ้ำ

ในขณะเดียวกัน หน่วยในการเลือกตั้งเองก็ไม่เอื้อให้คนเลือกที่จะเดินทางไปใช้สิทธินัก แม้ว่าจะสามารถเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งแห่งใดก็ได้ แต่ในกรุงเทพมหานครที่ผู้ประกันตนจำนวนมากทั้งที่อาศัยและมาทำงานกลับมีหน่วยเลือกตั้งเพียง 14 หน่วย จาก 50 เขต หากเป็นต่างจังหวัดกลับมีเพียง 3-5 แห่ง และจังหวัดส่วนใหญ่ในประเทศกลับมีหน่วยเลือกตั้งเพียงแห่งเดียว

รวมถึงวันสำหรับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ตั้งแต่ระยะเวลาที่น้อยเกินไป ไปจนถึงช่วงวันดังกล่าว หลายโรงงานพักช่วงเทศกาลไปแล้ว การต้องเดินทางมาเลือกตั้งที่ห่างจากตัวบ้านหลายสิบกิโลเมตรอาจเป็นเหตุผลให้คนไม่มาใช้สิทธิก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่ไม่เอื้อต่อการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมยังส่งผลกระทบต่อผู้สมัคร โดยเฉพาะเกณฑ์การรับสมัครที่ต้องมีการส่งประกันสังคมครบ 36 เดือนก่อนลงรับสมัครเลือกตั้ง ธนพรกล่าวว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หากย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ.2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้ประกันตนหลายคนตกงานจำนวนมากและหลายคนในนั้นลงรับสมัครเลือกตั้ง ทำให้หลายคนขาดส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมและอาจเป็นเหตุให้ไม่ผ่านเกณฑ์ลงรับสมัครก็เป็นได้

ตอนนี้มีผู้สมัครเป็นตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนจำนวน 193 ราย อย่างไรก็ตามตัวแทนเหล่านี้อาจยังต้องลดลงไปเมื่อมีการประกาศยืนยันผู้สมัครในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 แม้จะสามารถยื่นอุทธรณ์ถึงคุณสมบัติเพื่อพิจารณาใหม่ได้ อย่างไรก็ตามอุปสรรคเหล่านี้ก็อาจทำให้ผู้นำแรงงานที่อยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงกองทุนมูลค่า 2 ล้านล้านต้องตกหล่นไปด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานอย่างเลี่ยงไม่ได้

รวมไปถึงบัตรเลือกตั้งที่มีเพียงช่องว่าง 7 ช่องให้ผู้ประกันตนได้เลือกตัวแทน 7 คน โดยต้องจำหมายเลขมากสุดหลักร้อยเพื่อเข้าไปเลือกผู้แทน อีกทั้งตัวเลขผู้สมัครของแต่ละทีมก็อาจจะไม่เรียงกันอีกด้วย

“มันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า อุปสรรคเหล่านี้เป็นเพียงความไม่พร้อมเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก หรือเป็นเพราะใครอยากให้เกิดการไปใช้สิทธิน้อยจนกลายกลายเป็นเหตุให้ไม่มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งต่อไปหรือเปล่า” สุนทรี กล่าว

ในความไม่พร้อมและข้อสังเกตหลายประการในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือวันนี้กองทุนขนาดใหญ่ของประเทศกำลังถูกตรวจสอบและกำลังถูกทวงถามถึงสวัสดิการที่ถูกแบ่งไปจากเงินเดือนของพวกเราว่าที่ผ่านมาสวัสดิการไม่ดีพอ หรือการบริหารจัดการยังดีไม่มากพอต่างหาก

ยิ่งเมื่อสะท้อนผ่านนโยบายที่จะส่งเสริมสวัสดิการและรื้อโครงสร้าง ทำให้เราเห็นความหวังว่ากองทุน 2 ล้านล้านนี้หากใช้เต็มประสิทธิภาพสามารถมอบยกระดับสวัสดิการได้ในทิศทางใด และยังสามารถผสานกับสวัสดิการจากรัฐที่มีอยู่แล้วได้อย่างไรบ้าง

คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น เพราะสวัสดิการเป็นธรรม

นอกจากการผลักดันสวัสดิการของผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างให้ได้รับการสวัสดิการมากขึ้นแล้ว ในการลงเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะทีมประกันสังคมก้าวหน้าและทีมสมานฉันท์ ชี้ให้เราเห็นถึงช่องว่างสวัสดิการระหว่างผู้ประกันตน ความเสี่ยงจากการว่างงานในยุคเศรษฐกิจหลังโควิด ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมของแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังของแรงงานอิสระไทยหลายยุคหลายสมัย

นั่นทำให้ความหวังในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จะเป็นหมุดหมายแรกที่ทำให้แรงงานทุกคนได้รับสวัสดิการอย่างเป็นธรรม โดยทีมประกันสังคมก้าวหน้าและทีมสมานฉันท์ มีทิศทางนโยบายที่น่าสนใจ ทั้งแตกต่างและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตนอยู่ 4 ประเด็น ที่จะพาสวัสดิการของแรงงานหลายกลุ่มที่ถูกผลักไปชายขอบกลับเข้ามา

แรงงานข้ามชาติก็ผู้ประกันตน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตน ทั้งที่พวกเขาเหล่านี้ก็ส่งเงินเข้ากองทุนไม่ต่างจากแรงงานชาวไทย ทว่า พวกเขากลับไม่มีสิทธิเลือกตั้งและไม่มีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้ง ธนพรกล่าวว่า การจำกัดสิทธิตรงนี้เองก็เป็นการเลือกปฏิบัติกับแรงงานและทำให้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติยังไม่ถูกแก้ไข

“ซึ่งในการประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมา เครือข่ายของแรงงานข้ามชาติต้องทำกันเอง หลายกลุ่มต่างรณรงค์เพื่อเขยิบถึงสิทธิแรงงานที่พวกเขาพึงจะได้รับ ในขณะเดียวกันประชาสัมพันธ์ของประกันสังคมกลับไม่มีโพสต์ที่เป็นภาษาอื่นเลย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นผู้ประกันตนเหมือนกัน จ่ายเงินเข้ากองทุนเหมือนกัน”

ธนพรยังกล่าวถึงการรับบำนาญชราภาพ ที่ระเบียบปัจจุบันจะต้องให้แรงงานจ่ายเงินไปถึงอายุ 55 ถึงจะเข้าเกณฑ์ได้รับบำนาญซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนในไทยทุกสัญชาติ อย่างไรก็ตามมีแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่อาจจะทำงานมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงอายุ 55 ธนพรตั้งคำถามกับเงินที่ส่งเข้ากองทุนนี้ตลอดหลายปีของแรงงานข้ามชาติว่าท้ายที่สุดแล้วเป็นการจ่ายเงินเปล่าหรือไม่ แล้วกองทุนนี้จะโอบอุ้มผู้ประกันตนทุกคนได้อย่างไร

ดังนั้นแล้วในส่วนของทีมประกันสังคมก้าวหน้า ธนพรกล่าวว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้านั้นพยายามที่จะยกระดับให้พี่น้องแรงงานทุกคนได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น การช่วยเหลือพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ที่โดนขูดรีด กีดกัน คือการรับพวกเขาเข้ามาสู่ระบบจริง ๆ รับเข้ามาไม่ใช่แค่ชื่อในระบบ แต่การเข้าถึงสิทธิของพวกเขาต้องเข้าถึงได้จริง

“ท้ายที่สุดทุกนโยบายที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าทำคือให้สิทธิสวัสดิการที่ดีขึ้นกับผู้ประกันตน หากเราสามารถเข้าไปแก้ไขกฎเกณฑ์ที่กีดกันพวกเขาแล้ว พวกเขาก็จะเป็นผู้ประกันตนผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนเหมือนกันหมด ไม่ใช่แรงงานที่ไหนไกล” ธนพร กล่าว

ความเป็นมารดา

ในนโยบายของผู้สมัครบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ แทบทุกทีมเสนอยกระดับของนโยบายเกี่ยวกับแม่และเด็ก นั่นอาจเป็นสัญญานที่ดีที่หลายฝ่ายมองเห็นตรงกันถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยมากขึ้นอาจต้องเริ่มจากแม่และเด็ก

ทั้งสุนทรีและธนพรเล่าถึงประสบการณ์ทั้งตอนยังเป็นผู้ประกันตนและการทำงานที่ผ่านมา แม้จะเป็นคนละเหตุการณ์ สถานที่ และเวลา แต่แม่ผู้เป็นแรงงานหลายคน ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนัก การดิ้นรนโดยไม่มีเบาะรองรับทำให้ทั้งตัวแม่และเด็กจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิต

แม้หลายนโยบายจะเป็นการเพิ่มเงินสนับสนุน ทั้งเงินทำคลอด 20,000 บาท เงินค่าสงเคราะห์เด็ก ในนโยบายเหล่านี้เองก็เป็นการยกระดับสวัสดิการจากรัฐ โดยเฉพาะการร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอย่าง พ.ร.บ.ลาคลอด 180 วัน

ในขณะที่ประชาชนเสียภาษีเข้ารัฐเพื่อรับสวัสดิการต่าง ๆ กองทุนประกันสังคมก็ทำหน้าที่เป็นเบาะรับรองอีกขั้นหนึ่งจากการส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน การออกแบบนโยบายของทั้ง 2 ทีมในรอบนี้จึงทำให้เห็นความเป็นไปได้ในการส่งเสริมสวัสดิการของแรงงานที่ไม่ทับซ้อนกันของรัฐและกองทุน แต่เป็นการเสริมเบาะรับรองเพื่อให้แรงงานรู้สึกปลอดภัยกับชีวิตมากขึ้นต่างหาก

“เราอยากยกระดับความเป็นมารดาในแรงงาน มีแรงงานกี่ชีวิตที่ต้องอุ้มท้องไปทำงาน หรือคลอดออกมาแล้ววันหยุดก็ต้องให้ลูกมานั่งรอระหว่างทำงาน มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่แม่คนหนึ่งจะต้องโอบรับความเหน็ดเหนื่อยเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งสวัสดิการจากรัฐบาลหรือสวัสดิการที่ประกันสังคมมีอยู่แล้ว แต่จากเงินที่ประกันสังคมมี เราว่ามันสามารถให้สิทธิผู้ประกันตนได้มากกว่านี้ หลายครั้งที่สวัสดิการเหล่านี้สามารถโอบอุ้มหลายครอบครัวให้ผ่านพ้นความยากลำบากไปได้” สุนทรี กล่าว

ทั้งการเพิ่มเงินค่าคลอดบุตร การชดเชยเพื่อลาดูแลคนในครอบครัว ไปจนถึงศูนย์เด็กเล็กที่ให้แรงงานสามารถฝากบุตรหลานได้เต็มเวลาทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้คือการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เกิดจนถึงเจ็บป่วย ซึ่งครอบคลุมทั้งครอบครัว

เบาะรับรองเสริม เพิ่มประกันว่างงาน

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลต่อการว่างงานทั้งประเทศ ทั้งธนพรและสุนทรีตั้งคำถามต่อการโอบอุ้มผู้ว่างงานเหล่านี้ ว่าหากรัฐไม่สามารถโอบอุ้มพวกเขาได้จากภาษีที่จ่ายไป อย่างน้อยกองทุนประกันสังคมก็พึงจะเป็นเบาะรับรองอีกชิ้นให้พวกเขาได้เข้าถึงการช่วยเหลือในระยะเวลาหนึ่ง

โดยทีมสมานฉันท์มีนโยบายที่ผู้ประกันตนที่ว่างงานทุกกรณี ได้รับเงินจากฐานเงินเดือน 50% เป็นเวลา 6 เดือน และทีมประกันสังคมก้าวหน้าเพิ่มระยะเวลาประกันว่างงาน 9 เดือน

ทั้งธนพรและสุนทรีมองในประเด็นเดียวกันว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่กระทบจากความคาดไม่ถึงต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ความมั่นคงของแรงงานหลายส่วนถูกทำให้เปราะบางลงอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น กองทุนประกันสังคมต้องสามารถช่วยเหลือผู้ประกันตนเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ประกันว่างงานมันไม่ใช่แค่การที่คน ๆ หนึ่งจะสามารถไม่ทุกข์ยากหลังตกงานในช่วงสั้น ๆ แต่มันอาจหมายถึงเด็กสักคนต้องออกจากโรงเรียน แม่ของใครสักคนอาจไม่ได้ไปหาหมอ หรือครอบครัว 7-8 คน ต้องแบ่งแกงกินกัน ประกันว่างงานคือการประคับประคองชีวิตที่กำลังเคว้งคว้างให้พยุงหาทางไปต่อได้” ธนพร กล่าว

สวัสดิการเท่ากันทุกมาตรา

แม้การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะสร้างผลกระทบหนักต่อแรงงานทุกภาคส่วน แต่ในอีกมุมหนึ่งมันชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของปัญหาแรงงานที่รัฐปิดไว้ โดยเฉพาะแรงงานอิสระหรือผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งได้รับปัญหาอย่างหนักในช่วงโควิดที่ผ่านมา แม้จะจ่ายเงินเข้ากองทุนก็ได้สวัสดิการน้อยนิดและจะไปเรียกร้องกับนายจ้างก็ไม่มี ทำให้อีกจุดยืนที่สำคัญของทีมสมานฉันท์และทีมประกันสังคมก้าวหน้าคือก้าวผลักดันให้ผู้ประกันตนทุกมาตราได้สวัสดิการที่เท่าเทียมกัน

“เรายืนยันที่จะยกระดับของสวัสดิการของผู้ประกันตนทุกมาตราให้เท่าเทียมกัน หากมาตรา 33 ได้สวัสดิการที่ครบถ้วน เราก็ต้องทำให้สวัสดิการของมาตรา 39 หรือ 40 เท่ากันด้วย”

สุนทรีได้เสริมว่า หากมองว่ามาตรา 33 ผู้ประกันตนมีนายจ้างออกให้ครึ่งหนึ่งจึงได้สวัสดิการมากกว่าผู้ประกันตนมาตราอื่นที่ไม่มีนายจ้างออกเงินอีกส่วนให้ อีก 2 มาตราเราสามารถให้รัฐเข้ามาสนับสนุนเงินอีกส่วนหนึ่งในการจ่ายได้ เช่นนั้นแล้วจะทำให้แรงงานนอกระบบอีกหลายคนที่อาจไม่มีนายจ้างเข้ามาสนใจในกองทุน ทำให้กองทุนมีจำนวนเงินมากยิ่งขึ้นและมอบสวัสดิการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ทางทีมสมานฉันท์ยังได้เสนอนโยบายธนาคารแรงงานเพื่อที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมเป็นอีกแหล่งเงินหนึ่งที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้ และยังเป็นการสร้างรายได้เข้ากองทุนอย่างตรวจสอบได้ด้วย และการหารายได้จากกองทุนที่โปร่งใสจะนำไปสู่นโยบายโรงพยาบาลประกันสังคม ที่สามารถให้ผู้ประกันตนทุกมาตราเข้ารับบริการโดยไม่แบ่งแยกและเข้าถึงง่าย ได้ยามีคุณภาพ

“เราต้องอย่าลืมว่าแรงงานอิสระสายป่านเขาสั้น แม้จะเป็นผู้ประกันตนก็ยังได้สวัสดิการน้อยกว่าเขาอีก หรือกระทั่งอีกหลายส่วนงานโดยเฉพาะแรงงานในบ้าน ทำไมพวกเขาถึงเป็นแรงงานอิสระ ทั้ง ๆ ที่มันชัดเจนอยู่แล้วว่านายจ้างเขาเป็นใคร เพราะฉะนั้นแล้วการเรียกร้องสวัสดิการมันไม่พอ ทีมสมานฉันท์ถึงอยากเข้าไปแก้ไขกฎเกณฑ์เดิมที่ไม่เป็นธรรมด้วย” สุนทรี กล่าว

เงินจำนวน 2 ล้านล้านในกองทุนประกันสังคม ได้ถูกผ่านการออกแบบและออกมาเป็นนโยบายที่สามารถทำให้ชีวิตของหลายครอบครัวปลอดภัยและมั่นคงมากยิ่งขึ้น มากไปกว่าสวัสดิการที่เราอาจได้รับคือการตั้งคำถามของเม็ดเงินที่เราจ่ายเข้าประกันสังคมทุกเดือน เม็ดเงินจำนวน 2 ล้านล้านสามารถมอบสวัสดิการอะไรให้เราได้บ้างและที่ผ่านมาเราได้รับอะไรไปแล้วบ้าง

สวัสดิการของผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตน เพื่อประชาธิปไตยของผู้ประกันตน

“ประกันสังคมของบ้านเราไม่ได้ขี้เหร่ เพียงแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมามันขาดความโปร่งใส การเข้าถึงที่ยาก หากเราใช้เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกันตนจริง ๆ ยังไงเงินก้อนนี้ก็สามารถมอบสวัสดิการมากกว่าที่มีอยู่ได้” สุนทรี กล่าว

การตัดสินใจลงมาสมัครเป็นตัวแทนผู้ประกันตนของสุนทรีในนามทีมพรรคสมานฉันท์ คือการเห็นช่องโหว่จากการทำงานด้านสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานอิสระและแรงงานนอกระบบ คือวันนี้กองทุนไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เธอยังเต็มไปด้วยความหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แม้เธอจะไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทน แต่เสียงของแรงงานที่ส่งไปผ่านบัตรเลือกตั้ง จะทำให้แรงงานได้ผู้แทนที่ใส่ใจปัญหาของแรงงานอย่างแท้จริง

แม้ที่ผ่านมาจะมีการกล่าวถึงปัญหาของการเสี่ยงล้มของกองทุนประกันสังคม อย่างไรก็ตามสุนทรีให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า อาจเป็นเพราะหลายคนกังวลเรื่องบำนาญชราภาพที่แรงงานไทยเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น แต่นั่นเป็นสาเหตุที่ยังไกลออกไป การแก้ไขความกังวลเรื่องความเสี่ยงนี้คือการทำให้กองทุนโปร่งใส การลงทุนที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตต้องชัดเจนว่าไม่ได้ลงทุนในบริษัทที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบอร์ดประกันสังคม หรือการลงทุนในบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลด้านแรงงาน เม็ดเงินที่นำไปลงทุนจะต้องเติบโตและมอบสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับผู้ประกันตนได้

ในขณะที่ธนพร มองว่าการที่กองทุนเสี่ยงจะล้มละลายนั้นเป็นเพียงวาทะกรรม สิ่งที่ควรตั้งคำถามมากกว่าคือเงินจำนวนหลักร้อยที่เราจ่ายไป และกำไรกว่า 70,000 ล้านของกองทุน 2 ล้านล้าน ทำไมถึงยังไม่สามารถมอบสวัสดิการแก่ผู้ประกันตนได้เท่าที่ควร

“ประเด็นของสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มเงิน หากเพิ่มเงินแล้วผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ดีขึ้นได้ ได้รับเงินช่วยเหลือในสถานการณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นได้ ใคร ๆ ก็อยากเข้า แต่เพราะปัจจุบันกองทุนประกันสังคมไม่ได้ทำให้หลายคนเล็งเห็นถึงความสำคัญ นั่นคือสิ่งที่เราควรมองมากกว่านั่งจ้องว่ากองทุนจะล้มเมื่อไหร่” ธนพร กล่าว

แม้แนวคิดของรัฐสวัสดิการจะเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่สังคมสวัสดิการที่ไม่ได้ชี้ไปทางรัฐให้สร้างสวัสดิการให้กับประชาชนเพียงฝ่ายเดียว การรวมกลุ่มกันของชุมชน การลงทุนจากภาคเอกชน ก็อาจเป็นทางเลือกใหม่ที่มากกว่าประกันสังคมก็เป็นได้ และกองทุนประกันสังคมเองเมื่อก้าวข้ามผ่านความเป็นราชการ มีการลงทุนที่ตรวจสอบได้และสร้างกำไรได้จริง ก็อาจเป็นทางเลือกต้นแบบที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนทุกคนมีทางเลือกมากกว่านี้

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรก ผู้นำแรงงาน แรงงานทุกมาตรา ผู้ประกันตนที่เข้าไปสมัครรับเลือกตั้ง เป็นทั้งความหลากหลายและความต้องการที่จะรื้อระบบโครงสร้างในการบริหารและการจัดการกองทุนขนาดใหญ่นี้ ซึ่งมีคนเกือบครึ่งประเทศเกี่ยวข้อง

อนาคตที่ยังมีความหวังแม้เราจะยังไม่รู้ว่าในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้คนลงทะเบียนเลือกตั้งทั้งหมดกี่คน และการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่สำคัญในประวัติศาสตร์แรงงานไทยหรืออาจเป็นเงื่อนไขให้ใครบางคนใช้เป็นเหตุผลกับการหายไปของการเลือกตั้งประกันสังคมครั้งต่อไปหรือเปล่า

ในความคลุมเครือและปัญหาหลายประการของประกันสังคมตั้งแต่ในอดีตกำลังถูกตั้งคำถามผ่านนโยบายของหลายทีมที่เข้ามาเป็นตัวแทน ที่จะทำให้ผู้ประกันตนทุกคนตระหนักถึงเม็ดเงินที่เราเสียไปตั้งแต่เป็น First jobber จนถึงวัยเกษียณ เพราะสวัสดิการที่จะได้เพิ่มมา อาจสำคัญไม่ต่างการสร้างประชาธิปไตยในกองทุนนี้ และรื้อโครงสร้างเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

10 พฤศจิกายน และ 24 ธันวาคมอย่าลืมไปใช้สิทธิของเรา เพื่อสวัสดิการที่ดีขึ้นของเราทั้งผอง พี่น้องผู้ประกันตน!

อ้างอิง

ศึกชิงธงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม l ประกายไฟ

กาที่ไหน มีกี่จุด! อย่าลืมตรวจสอบคูหาเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม l iLaw