นักสู้เพื่อผืนดินแห่งชีวิตของคนจน ถ้าสักวัน 'ที่ดินตรงนั้นจะเป็นของเราจริง ๆ’ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“อยากบอกทุกคนว่า การที่เรามาเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล พวกเราแค่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการขอใช้ที่ดินของรัฐในการทำมาหากิน”

ริมรั้วกำแพงฝั่ง ถ.ราชดำเนินนอก ของทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ถูกจับจองพื้นที่ด้วยมวลชนจากกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) พวกเขาเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย เพื่อมาเรียกร้องในปัญหาปากท้องที่พวกเขาเผชิญ มอญ สรารัตน์ เรืองศรี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่ดิน จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ คือหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอเดินทางจากบ้านของเธอที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาเรียกร้องในกรรมสิทธิ์ที่ดินของเธอและสมาชิกจาก 4 ชุมชน จำนวน 500 กว่าคน ใน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ประสบปัญหาการไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2543

เป็นการต่อสู้ของคนจนต่ออำนาจรัฐและทุนมากว่า 20 ปี และยังไม่มีทีท่าว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นในเร็ววัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สรารัตน์และคนอื่น ๆ ต้องเดินทางมาเรียกร้องต่อรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย เพื่อหวังว่าในวันใดวันหนึ่งพวกเขาจะมีผืนดินในการทำมาหากินและอยู่อาศัย ได้อย่างไม่ต้องหวาดกลัวว่าใครจะมาขับไล่และดำเนินคดี เพื่อเอาที่ดินผืนสุดท้ายของพวกเขาไป

‘เราแค่อยากมีที่ดิน’ เสียงตะโกนที่ไม่เคยไปถึงฝัน

สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้โดนภาคเอกชนผู้อ้างสิทธิ์การครอบครองพื้นที่ฟ้องหลายสิบคดี ทั้งความผิดฐานบุกรุก, ทำให้เสียทรัพย์, และความผิดฐานเป็นซ่องโจร”

โดยก่อนที่สรารัตน์จะกลายเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่ดินและถูกดำเนินคดี เธอทำงานเป็นแรงงานรับจ้างอยู่ในตัวเมืองสุราษฎร์ธานีในช่วงก่อนปี 2543 ชีวิตในเมืองต้องหารายได้เพื่อมาจ่ายค่าใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน จนทำให้คุณภาพชีวิตของเธอและครอบครัวตกต่ำลง

จนกระทั่งช่วงปี 2543 เริ่มมีการรณรงค์เรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงที่ดินของรัฐ ที่ปล่อยทิ้งร้าง หรือที่นายทุนเข้าทำประโยชน์แต่ไม่เสียภาษี นำมาให้กับชาวบ้านผู้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองรวมถึงสรารัตน์ ใช้โอกาสตรงนี้ในการเข้าไปจับจองพื้นที่ดังกล่าวเพื่อใช้อยู่อาศัยและทำการเกษตรกรรม รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ขึ้น

สรารัตน์กล่าวว่า การมีที่ดินทำให้คุณภาพชีวิตของเธอและครอบครัวดีขึ้น แต่ต้องแลกมากับการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการครอบครองที่ดินอย่างถูกกฎหมาย นับตั้งแต่ที่เข้าไปในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน

“สมัยที่เราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ๆ เราอาศัยอยู่ในเต็นท์ กลุ่มนายทุนที่เคยครอบครองพื้นที่เขาก็มารุก มาไล่ มายิง จนกระทั่งหลังปี 2550 เราสร้างบ้านไม้ไผ่ อยู่มาจนตอนนี้กลายเป็นบ้านปูนกันหมดแล้ว”

สรารัตน์กล่าวว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ ถูกคุกคามอยู่ตลอด มีคนถูกยิงเสียชีวิต 4 คน โดยไม่สามารถตามจับตัวคนกระทำความผิดได้

“ที่ดินสำคัญกับคนจน มันทำให้เขามีที่อยู่ที่กินไม่ต้องไปร่อนเร่รับจ้างในเมือง การที่พวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างน้อยเขาต้องมีที่อยู่ที่กิน”

สรารัตน์พยายามส่งสารดังกล่าวมาตลอดการเคลื่อนไหวของเธอ แต่ถึงอย่างไรชุมชนของเธอก็ไม่เคยได้รับการยอมรับจากรัฐ พวกเขาต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำประปา มีเพียงทะเบียนบ้านชั่วคราวที่เป็นสถานะเดียวที่บ่งบอกว่า พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นดินแห่งนั้น

“โครงสร้างสังคมไทยกฎหมายถูกเขียนออกมาเพื่อเอื้อคนรวย ทำให้คนจนที่ต้องการจะลุกขึ้นมาตั้งหลักกับชีวิตลุกขึ้นมาไม่ได้”

โดยในวันนี้ที่สรารัตน์ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพีมูฟ ที่มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 9 ข้อ หนึ่งในนั้นคือนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายหลักในเรื่องนโยบายที่ดินอยู่ 3 ข้อคือ 1.ธนาคารที่ดิน 2.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และ 3.โฉนดชุมชน ที่เป็นความหวังของสรารัตน์และกลุ่มเกษตรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตัวเองว่าโฉนดชุมชนจะเป็นทางออกสำหรับทุกฝ่าย เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ที่ดินไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนอีกต่อไป

โฉนดชุมชนที่รัฐไม่ปลดล็อค

“การสู้เรื่องสิทธิที่ดิน มันติดขัดเรื่องข้อกฎหมายของรัฐ จึงไม่สามารถทำเรื่องกรรมสิทธิ์ได้ จึงเกิดแนวคิดโฉนดชุมชน เสนอเรื่องระบบกรรมสิทธิ์แบบที่ 3 ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อที่จะปลดล็อกการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ซับซ้อนชุมชนอยู่ทุกประเภท”

พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai นักสิทธิที่ดิน ที่ทำงานภาคประชาสังคมเรื่องดังกล่าวมา 35 ปี พรพนาให้ความเห็นว่า โฉนดชุมชนคือทางออกที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายในเรื่องปัญหาทับซ้อนการใช้ที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

สาระสำคัญของโฉนดชุมชนคือการใช้กรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน กล่าวคือเป็นกฎหมายที่จะรับรองสิทธิ์และให้อำนาจในการจัดการที่ดินทำกินและอยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยที่ไม่ได้ไปยกเลิกกรรมสิทธิ์ของรัฐ

แม้แนวคิดโฉนดชุมชนจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังคงเป็นแนวคิดที่ไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ เจ้าหน้าที่รัฐไทยยังคงมีมุมมองต่อเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ 2 รูปแบบคือ ที่ดินของรัฐและที่ดินของปัจเจกชนที่เป็นโฉนดเท่านั้น

“เราเห็นด้วยกับนโยบายโฉนดชุมชน แต่มันไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกแรงต้านจากหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ประเภทนั้นของรัฐอยู่ รัฐยังยึดแนวคิดที่ว่า ที่ดินของรัฐจะต้องเป็นของรัฐ เขาจะไม่ยอมรับการมีอยู่ของประชาชน”

พรพนาเล่าเรื่องการขับเคลื่อนของโฉนดชุมชนต่อว่า จากแนวคิดของเครือข่ายประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องที่ดินในปี 2550 โฉนดชุมชนได้รับการประกาศเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2553 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองทั้งหมด 4 แปลง ได้แก่ ชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม 2 แปลง, ชุมชนบ้านแม่อาว จ.ลำพูน และชุมชนพระธาตุขิงแกง จ.พะเยา จากทั้งหมด 486 ชุมชนที่ยื่นคำขอโฉนดชุมชน

อย่างไรก็ดีหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ความพยายามผลักดันกฎหมายโฉนดชุมชน ก็ถูกล้มไปจากรัฐบาลทหาร รวมทั้งยังมีการออกนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ก่อให้เกิดคดีความกว่า 57,000 คดี ประชาชนกว่า 17,000 คน ตกเป็นผู้ต้องหาถูกยึดที่ดินทำกิน

“สุดท้ายก็รัฐนั่นแหละ ที่ไม่อยากเสียอำนาจในการจัดการพื้นที่เหล่านั้น ต้นตอของปัญหาอยู่ที่โครงสร้างกฎหมายและทัศนคติของหน่วยงานรัฐ”

พรพนากล่าวต่อว่า ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน พยายามสู้และพิสูจน์ตัวเอง จนถึงขั้นที่พวกเขาไม่ขอกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนบุคคล แต่ขอให้รัฐออกกรรมสิทธิ์ร่วมกันในรูปแบบโฉนดชุมชน เพราะพวกเขาได้ถอดบทเรียนมาจากอดีตแล้วว่า แนวคิดการมองที่ดินเป็นสินค้าสุดท้ายที่ดินจะตกไปอยู่ในมือของนายทุน หากที่ดินดังกล่าวสามารถเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้

“มันมีกระบวนการจัดการตามมาเรื่องโฉนดชุมชน ชุมชนจะต้องจัดทำแผนการจัดการที่ดิน ต้องพิสูจน์ว่าตัวพวกเขาจะไม่ขายที่ดิน เป็นกระบวนการที่ต้องพิสูจน์เยอะ แต่ถ้ารัฐไม่ยอมรับให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดินด้วยตนเอง มันก็เหมือนการปิดสวิตช์โฉนดชุมชนตั้งแต่ต้น”

ในฐานะที่พรพนาขับเคลื่อนเรื่องที่ดินในประเทศไทยมาหลายสิบปี พรพนากล่าวว่ามันเป็นปัญหาโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ไขเรียกร้องกันเป็นรายกรณีได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินจะถูกกระจายอำนาจจากรัฐสู่ประชาชนก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปทั้งระบบ เปลี่ยนแนวคิดเรื่องการจัดการที่ดินในประเทศไทย ซึ่งคำถามสำคัญของพรพนาคือ

“คิดว่าภาครัฐจะยอมเปลี่ยนหรือไม่? ทุกวันนี้จึงต้องแก้ไขปัญหาที่ดินกันไปแบบเฉพาะหน้า เป็นปัญหาที่บอกไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ บางคนออกมาสู้ตั้งแต่เป็นเยาวชน จนตอนนี้กลายเป็นพ่อเป็นแม่คนแล้ว ปัญหาก็ยังคงอยู่”

การต่อสู้ที่ถอยไม่ได้ เพื่อการมีที่ดินเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง

ในภาคเหนือที่ จ.ลำพูน ก็มีสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ต่างกันกับภาคใต้ ใน จ.ลำพูนมีชุมชนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินอยู่ 6 ชุมชน จำนวน 500 กว่าคน โดยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ จ.ลำพูน มีคดีความที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องให้ออกจากพื้นที่นับพันคดี

“ความสำคัญของที่ดินไม่ได้เกี่ยวกับความจน ความรวย มันสำคัญกับคนทุกคน แต่คนจนที่ดินเขาต้องการนำมาทำการผลิต ถ้าไม่ใช่เกษตรกรเขาก็ต้องการเป็นที่อยู่อาศัย”

รังสรรค์ แสนสองแคว ที่ปรึกษากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จาก จ.ลำพูน เขาเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ตั้งแต่ปี 2517-2518 ในวัยที่เขาเป็นนักศึกษา ก่อนที่จะต้องยุติบทบาทของตัวเองหนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จนกระทั่งช่วงปี 2540 เริ่มมีการรวมกลุ่มและจัดตั้งสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องที่ดิน แม้ชื่อกลุ่มและวันเวลาจะเปลี่ยนไป แต่เกษตรกรยังคงต้องต่อสู้เพื่อที่ดินของตนเองเหมือนเดิม

ที่ดินจะมีความยั่งยืนและมั่นคง เมื่ออยู่ในมือของเกษตรกร แต่ทุกวันนี้กรรมสิทธิ์ในที่ดินหลุดมือไปอยู่กับนายทุน”

รังสรรค์มองว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยการออกโฉนดส่วนบุคคล เป็นช่องว่างที่ทำให้ที่ดินดังกล่าวสุดท้ายตกไปอยู่ในมือของนายทุน ด้วยแนวคิดแบบโลกทุนนิยมที่มองที่ดินเป็นสินค้า ทำให้เกษตรกรไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ จากปัจจัยแวดล้อมทั้งราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ การกู้หนี้ยืมสิน รังสรรค์จึงมองว่าการบริหารกรรมสิทธิ์ร่วมในรูปแบบโฉนดชุมชน จะเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน

“ผมคิดว่าแนวคิดของเศรษฐา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็เป็นแนวคิดของกลุ่มทุน และก็มาผสมข้ามขั้วกับอำนาจเก่า ซึ่งอำนาจเก่าเราผลักดันมา 9 ปีมันไม่ไปไหนเลย”

รังสรรค์แสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์ที่ดินในจังหวัดของตัวเขาเอง จึงเป็นเหตุผลที่ตัวเขาและสมาชิกเลือกที่จะเข้ามาชุมนุมเรียกร้องอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะเขามองว่าประเทศไทยผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาอยู่ที่ส่วนกลาง การขับเคลื่อนเรียกร้องกับหน่วยงานในท้องถิ่น ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขาได้

“เราพยายามถ่ายทอดเรื่องนี้สู่คนรุ่นใหม่ พยายามที่จะให้เขาได้เห็นว่าที่ดินมีความสำคัญอย่างไรเรื่องปัญหาที่ดินมันจะไม่จบที่รุ่นผม แต่จะยาวนานต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน” รังสรรค์กล่าวทิ้งท้าย

ไม่ต่างกันกับสรารัตน์จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เธอกล่าวว่าการที่ต้องออกมาขับเคลื่อนที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นสัญลักษณ์ว่าเธอยังสู้อยู่ เพราะการไม่ทำอะไรเลยนั้น เสี่ยงต่อการถูกผลักดันออกจากพื้นที่อยู่ตลอดเวลา

สรารัตน์กล่าวว่าคืนที่ผ่านมานั้นฝนตกทั้งคืน ทำให้ต้องคอยออกมายืนเทน้ำออกจากผ้าใบอยู่ตลอด การมาใช้ชีวิตค้างแรมอยู่ข้างถนนในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์นัก ทั้งอาหารการกินและสาธารณูปโภคต่าง ๆ

สรารัตน์กล่าวในตอนท้ายว่า 20 กว่าปีที่ต่อสู้มานั้นหลายครั้งที่เธอท้อแต่ก็ถอยไม่ได้ เพราะที่ดินคือชีวิตของเธอ และเธอเชื่อว่าคนทุกคนเกิดมาควรมีสิทธิ์ที่จะมีที่อยู่ที่กินเป็นของตัวเอง ภายใต้การดูแลจากรัฐ มันคือความฝันของคนกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อการมีที่ดินเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง

“ถ้าสักวันหนึ่งที่ดินตรงนั้นเป็นของเราจริง ๆ เราคงดีใจและภูมิใจเพราะว่าเราสู้มานาน และทำให้เห็นว่าประชาชนทำได้ เราสามารถอยู่ในที่ดินของเราแบบพึ่งพาตัวเองได้” สรารัตน์กล่าว