รัฐลัก 'รัก' สาวลำปาง บ่าวปากพนัง - Decode
Reading Time: 5 minutes

“คิดถึงสุรชัย” ไม่ได้เป็นเพียงคำที่สกรีนอยู่บนเสื้อสีเทาของหญิงชราร่างเล็ก ผมสีดอกเลา
แต่เป็นความรู้สึกที่ยังชัดเจนตลอด 5 ปีของปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือที่หลายคนเรียกเธอว่าป้าน้อย ภรรยาคนสุดท้ายของสุรชัย แซ่ด่าน ผู้ลี้ภัยที่หายตัวไปหลังประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2561

นักรบคอมมิวนิสต์ ฮีโร่ประชาธิปไตย ภัยคุกคามต่อรัฐ อาจเป็นคำต่าง ๆ นานาที่คนอื่นเรียกสามีของเธอ

แต่ สุรชัย แซ่ด่าน สำหรับปราณี

เขาคือชายผู้ชอบแกงใต้เผ็ดร้อน

เขาคือคอหนัง Sci-fi

เขาคือคนที่เธอตกหลุมรักเพราะเป็นคนคิดถึงส่วนรวม คล้ายกับพระเอกในหนังจอมยุทธ์ที่ช่วยเหลือคนอื่น

เขาคือคนที่เธอตัดสินใจว่าจะอยู่ด้วยกันไปเรื่อย ๆ จนวันสุดท้ายของชีวิต

แต่รัฐกลับลักรักของเธอไป ที่วันนี้แม้ร่าง เธอก็ยังไม่ได้เจอ

ฮักบ่จางในเรือนจำบางขวาง

“รู้จักครั้งแรกจากหนังสือพิมพ์ สมัยนั้นเขามีชื่อลงหน้าหนึ่งอยู่นะ แต่ลงเพราะเป็นข่าวว่าโดนจับ” ปราณี เล่าถึงที่มาของการรู้จักชายที่ชื่อว่า สุรชัย แซ่ด่าน

ปราณีเป็นเด็กในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะทางการเงินมากนัก เธอเกิดและเติบโตที่จังหวัดลำปาง ด้วยความขยันใฝ่เรียน เธอได้ทุนการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาตรี จนกระทั่งช่วงสอบเอนทรานซ์ เธอสอบติดที่ ม.อ. ปัตตานี(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)

ในรั้วมหาวิทยาลัย มีการประกาศตามสายและข่าวจากทางการถึงภัยความมั่นคงอย่างคอมมิวนิสต์อยู่บ่อยครั้ง ขณะนั้นมีประชาชนหลายคนออกมาจากป่าและได้กลับมาเล่าถึงความน่ากลัวและคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ต่อคอมมิวนิสต์

“ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ป้าออกค่ายอาสา ซึ่งพื้นที่ที่ป้าไปยังเป็นพื้นที่สีแดง(ชมพู)อยู่เลย ที่เขาเล่ากันคือคอมมิวนิสต์มันเหมือนโจร ไปอยู่อย่างแร้นแค้น แต่พอป้าไปออกค่ายอาสา ไปคุยกับชาวบ้าน ก็ไม่เห็นจริงอย่างที่เขาว่า ชาวบ้านมองว่าพวกเขามาช่วยเหลือด้วยซ้ำไป บางคนเป็นหมอหนีมาเข้าป่าก็รักษาคน บางคนมีความรู้ก็เป็นครู ใครมีทักษะด้านไหนก็ใช้ความสามารถนั้น” นั่นคือจุดเปลี่ยนต่อมุมมองของปราณีต่อคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นปีศาจของยุคสมัย

หลังเธอฝึกสอนที่ยะลาและได้กลับมาทุนที่โรงเรียนเด็กยากจนที่จังหวัดลำปาง ปราณีได้ยินข่าวว่าสุรชัยได้รับอภัยโทษพิเศษจากประหารชีวิตเป็นติดคุกตลอดชีวิต จากคดีเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีปล้นรถไฟ และฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปราณีจึงตัดสินใจเขียนจดหมายเพื่อแสดงความยินดีถึงเขา

“เราดีใจมากที่อาจารย์ตอบกลับมา ก็ส่งจดหมายหากันอยู่บ่อยครั้ง แกอยากรู้ว่าข้างนอกเป็นอย่างไรบ้าง สมัยนั้นเรามองว่าเป็นเพื่อนคู่คิดนะ เราแลกเปลี่ยนกันผ่านทางจดหมายอยู่นาน แล้ววันหนึ่งเขาก็เขียนมาบอกว่า ‘ครูปราณีช่วยส่งรูปให้ดูหน่อยได้มั้ย’ หลังจากนั้นก็เริ่มคุยกันบ่อยขึ้น”

ก่อนสุรชัยจะเข้าป่า เขาเป็นช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์ที่นครศรีธรรมราช บ้านเกิดของสุรชัยอยู่ที่ อ.ปากพนัง ก่อนย้ายเข้ามาในตัวเมือง หลังคุยกันผ่านจดหมายสักระยะ สุรชัยเปลี่ยนจากจดหมายเป็นเทปอัดเสียงให้กับปราณี เนื้อหาข้างในถามไถ่ถึงชีวิตและความเป็นไปในสังคม รวมถึงหลายครั้งสุรชัยจะเล่าถึงบทใหม่ในหนังสือที่เขากำลังจะเขียนให้ปราณีฟัง

“หลังจากที่เขาเขียนหนังสือเล่มแรกเหมือนว่ามือเขาจะไม่ดีเท่าเดิม เขาก็เลยเปลี่ยนมาส่งเทปอัดเสียงมาให้ เพราะเขาก็เป็นช่างซ่อมวิทยุอะไรพวกนี้มาก่อน ก่อนหน้านี้เขาก็บอกว่าอยากมีน้องสาว เพราะเขามีแต่น้องชาย เราก็ไม่ได้คิดว่าเขาจีบอะไร หรือเราไม่รู้ตัวก็ไม่รู้” ปราณีหัวเราะเล็กน้อย

สุรชัยชวนให้ปราณีมาเยี่ยมเขาที่เรือนจำบางขวาง ครั้งแรกที่เจอกันเป็นการตะโกนคุยกันผ่านซี่กรงเล็ก ๆ ญาตินักโทษมากันแน่นขนัด บทสนทนาในวันนั้นมีเพียงแค่ถามไถ่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ปราณีเล่าว่าเธอต้องตะโกนสุดเสียงทั้ง ๆ ที่เธอเจ็บคอง่าย จากอาการต่อมทอมซิลอักเสบ

และสถานที่กินอาหารมื้อแรกก็ไม่ใช่ที่ไหนไกล ปราณีได้กินข้าวกับสุรชัยครั้งแรกในเรือนจำบางขวางจากวันเข้าเยี่ยมนักโทษ

“สมัยก่อนทางราชทัณฑ์จะให้เข้าเยี่ยมแบบเจอตัวปีละ 2 ครั้ง จะเป็นลานกว้างมีแค่โต๊ะกับร่มให้ญาติและนักโทษ บางคนก็ซื้อข้าวจากข้างนอกมากิน บางคนก็ทำกับข้าวจากบ้านมา แต่วันนั้นอาจารย์ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาให้ และก็นั่งถามสารทุกข์สุขดิบถึงความเป็นไปในสังคม”

ปราณีเล่าว่าที่ชอบสุรชัย เพราะเขาเป็นคนที่มีใจคิดถึงส่วนรวม ใฝ่หาสังคมที่เป็นธรรม พอลองนั่งนึกย้อนดู ปราณีก็เล่าว่าเขาเหมือนกับพระเอกในหนังจีนที่เคยดูเมื่ออดีต

“สมัยเด็ก ป้ามีโอกาสดูหนังบ่อยเพราะไปกับครูใหญ่และเพื่อน ๆ ตอนนั้นนั่งรถเบียดกันไปดูหนัง สมัยนั้นจะเป็นหนังจีนกับหนังอินเดีย ซึ่งหนังจีนจะมีจีนสากลกับจีนจอมยุทธ์ ตอนนั้นพระเอกดังคือเดวิด เจียง(เจียงต้าเว่ย์) ป้าก็ชอบพวกจอมยุทธ์นะ เหมือนเขาไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากไร้ โดนทางการกดทับ จอมยุทธ์เป็นผู้ผดุงความยุติธรรมให้กับสังคม”

“ก็มีคิดแวบ ๆ นะ หรือเราชอบอาจารย์สุรชัยเพราะเราดูหนังจอมยุทธ์เยอะ แล้วก็เลยมองอาจารย์เหมือนพระเอกที่ช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนดี มีหลักการ คิดว่าน่าจะมีส่วนนะที่ทำให้ชอบเขา” ปราณียิ้มไปครู่หนึ่ง เมื่อนึกถึงครั้งที่ได้เจอจอมยุทธ์ในชีวิตจริงเมื่อ 30 ปีก่อน

คนเหล็ก 3 / อี.ที. เพื่อนรัก / 2012 วันสิ้นโลก

จากเพื่อนคู่คิด ทั้งคู่ได้พัฒนาความสัมพันธ์สู่การเป็นแฟน หลังสุรชัยออกจากคุกเมื่อปี 2539 และแต่งงานกับปราณีในปี 2540

“เราไม่เคยคิดว่าจะแต่งงาน เราบอกเขาเลยว่าอยู่กับแบบนี้ไปก็ได้ ก็อยู่ดูแลกันไปเรื่อย ๆ”

ปราณีเล่าว่า ด้วยสภาพฐานะทางเศรษฐกิจในวัยเด็กรวมถึงการได้มาเป็นครูในโรงเรียนเด็กยากจน เด็กหลายคนต้องโตมากับปัญหาครอบครัว ฉะนั้นแล้วการแต่งงานหรือมีครอบครัวก็ไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ตนเห็นว่าต้องไปถึงแล้วจะมีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์ การได้อยู่ด้วยกันก็เป็นความสุขที่เพียงพอแล้ว

“อาจารย์สุรชัยเคยบอกว่า ชีวิตนักปฏิวัติมีอยู่ 3 อย่าง ถ้าไม่หนีก็ติดคุก ถ้าไม่ติดคุกก็ตาย อย่างสมัยก่อน พคท.เขาก็จะมีบอกเลยนะว่าถ้ายังไม่มีแฟนก็อย่าเพิ่งมี ถ้ามีแฟนแล้วก็อย่าเพิ่งมีลูก คือมันจะมีห่วงแล้วจะปฏิวัติไม่สำเร็จ ซึ่งทั้งชีวิตของอาจารย์คือเป็นนักสู้ นักปฏิวัติ
แต่ถ้าในมุมเราคือเราก็คิดว่าเผื่อเขาได้เจอคนอื่นก่อนเพราะตอนอยู่ในคุกเขาเจอแต่เรา ด้วยความที่เราไม่ได้คิดจะแต่งงานตั้งนานแล้ว ถ้าไม่ได้แต่งกับแกก็คงไม่ได้แต่งอีกเลย” ปราณีกล่าว

หลังจากตกลงปลงใจ เธอลาออกจากการเป็นครู และย้ายมาอยู่กับสุรชัยที่นครศรีธรรมราช เธอตามสุรชัยไปปราศรัยหลายแห่ง หลายคนมักคุ้นหน้าเธอจากเวทีทางการเมืองที่มีสุรชัยขึ้นปราศรัย แต่กิจกรรมที่เธอและสุรชัยชอบทำในเวลาว่าง คือการดูหนัง

“สมัยก่อนป้าก็จะดูพวกหนังจีน แต่อาจารย์เขาได้ดูหนังฝรั่งเยอะ เพราะในคุกตอนนั้นมีฉาย ในเทปอัดเสียงเขาก็จะเล่าว่าเรื่องนี้ดูไปแล้ว เรื่องนี้สนุกอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าแนวที่เขาชอบจริง ๆ จะเป็นพวกหนังวิทยาศาสตร์ โลกอนาคต คือมันเปิดมุมมองและภาพมันสวย” เธอยกหนังโปรดของสุรชัยจะเป็นประเภท คนเหล็ก, อี.ที.เพื่อนรัก, 2012 วันสิ้นโลก

เธอเล่าต่อว่า เหตุผลที่สุรชัยชอบหนังแนว Sci-fi เป็นเพราะความสนใจในวิทยาศาสตร์และความเป็นไปในอนาคต ยิ่งเป็นหนังตะวันตกยิ่งทำให้เห็นว่ามีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้และให้ศึกษาต่อยอด เป็นอีกมิติหนึ่งของสุรชัย ซึ่งเป็นคนใฝ่เรียน สนใจความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ แม้ไม่ได้อยู่ในตำรา ก็สามารถหาได้จากในจอ

ในยุคที่การเข้าถึงภาพยนตร์ไม่ง่ายเพียงปลายนิ้ว ถ้าหากไม่ได้ไปดูในโรงหนัง ก็มีแผ่นผีตามตลาดนัดและร้านเช่าวิดิโอ เธอเล่าว่าหนังเรื่องไหนน่าสนใจ เธอมักจะนำไปคุยกับสุรชัย และมักจะได้คำตอบกลับมาว่า ‘เรื่องนี้น่ะหรอ ฉันดูแล้ว สนุกมากเลย’

ปราณีจำหนังที่ดูกันทุกเรื่องไม่ได้ เพราะถ้าไล่เรียงคงต้องเทียบกับหนังที่ฉายทั้งหมดในปีนั้น ๆ แต่เธอยังจำแผ่นซีดีหนัง Sci-fi ที่เข้าฉายในโรงปี 2009 ได้เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สุรชัยชอบเหมือนกัน

ในวันนั้นเธอหยิบแผ่นซีดีเรื่อง ‘2012 วันสิ้นโลก’ ขึ้นมาโชว์ หนังที่เป็นที่ถกเถียงกันจากคำทำนายของนอสตราดามุส เพราะหนังเข้าฉายก่อนเหตุการณ์ในเรื่องเพียงแค่ 3 ปี เธอใส่แผ่นดังกล่าวในเครื่องเล่นก่อนจะนั่งชมกับสามีที่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช

“อาจารย์ว่าโลกเราจะเป็นแบบในหนังไหม?”

“ก็มีความเป็นไปได้ อุตสาหกรรมมันค่อย ๆ ทำลายโลกนี้ ที่สำคัญคือชนชั้นนำพยายามที่จะแบ่งชนชั้น”

ปราณีเล่าว่าสิ่งที่สุรชัยชอบในหนังเรื่องนี้ ภาพในหนังมีความสมจริงอย่างมาก แต่สิ่งที่อาจารย์สนใจคือประเด็นความเหลื่อมล้ำเมื่อเกิดภัยพิบัติ ชนชั้นนำ กลุ่มทุนพยายามแบ่งชนชั้นและตั้งเงื่อนไขในการมีชีวิตของมนุษย์ เมื่อคนทุกคนมีคุณค่าไม่เท่ากัน คุณค่าของคนถูกวัดจากเงินในบัญชี ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่อาจารย์มองว่าไม่ต้องรอให้ถึงวันสิ้นโลก เพียงแค่น้ำท่วมก็เห็นได้ชัดแล้ว

“แต่ประเทศไทยขอให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน หากเป็นประชาธิปไตยเราอาจจะสร้างบ้านเมืองอย่างในหนังหลาย ๆ เรื่องก็เป็นได้” สุรชัยหัวเราะเมื่อเปรียบหนังกับชีวิตจริง

แม้สุรชัยจะเชื่อในแนวคิดสังคมนิยม จากการเข้าป่าไปกับร่วม พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) อย่างไรก็ตามเขามองว่าปลายทางที่ใฝ่หาคือสาธารณรัฐ โดยที่ระบอบเศรษฐกิจก็ยังเป็นทุนนิยมเสรี เลยเรียกว่า ‘ปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี’ 

การที่เขาชอบหนัง Sci-fi โลกอนาคต วิทยาศาสตร์ ก็สะท้อนแนวคิดของคนที่อยากเห็นคนเท่ากันในสังคม ในขณะที่วิทยาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นเพื่อสร้างสรรค์โลก

“แล้วน้อยคิดยังไง?” สุรชัยถามเธอกลับ

ในวันนั้นปราณีไม่ได้ตอบอะไร และหาหนังเรื่องถัดไปมาดูด้วยกันในบ้านหลังเก่าจนเกือบหมดวัน

“หนังแต่ละเรื่องจะต้องให้ความหมายหลังดูจบ อย่างพวกหนังไทยตลกโปกฮานี่เขาจะไม่ดูเลย ดูผ่านก็พูดขึ้นมาว่า ‘เล่นอะไรกันเนี่ย’ แต่พอเป็นหนังฝรั่งเขาจะชอบ เพราะเทคโนโลยีด้านภาพมันสวย ยิ่งเป็นพวกโลกอนาคตยิ่งเห็นว่าสังคมเราก็อาจจะเป็นแบบนั้นได้เหมือนกัน”

ไม่กี่ปีถัดมา สุรชัย แซ่ด่าน ลี้ภัย 2 วันก่อนรัฐประหารในปี 2557 ไปที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลังพ้นโทษออกมาจากคดีมาตรา 112 ในปี 2556 ปราณีเล่าว่าช่วงเวลาก่อนหน้าสุรชัยเขียนคำรับสารภาพถึง 5 ฉบับเพื่อขออภัยโทษจากคดี 112 ถึง 5 คดี แต่พอออกมาแล้วกลับมีคดี 112 เพิ่มมาอีก 1 คดี สุรชัยคิดว่าสิ่งนี้ไม่ยุติธรรมสำหรับเขา และการอยู่ที่เมืองไทยต่อไปอาจทำให้โดนคุกคาม ยิ่งสุรชัยผ่าตัดมาและป่วยอีกหลายโรค การเข้าคุกอีกครั้งในวัยชรา จึงเป็นความเสี่ยงและอันตรายเกินไปของนักโทษคดีทางการเมืองในรัฐบาลรัฐประหาร

หลังสุรชัยลี้ภัย ปราณีโดนเรียกไปปรับทัศนคติและโดนเรียกรายงานตัว เพราะเธอถูกกล่าวหาว่าจัดกิจกรรมหน้าศาลอาญาทุกวันอาทิตย์และเป็นคนไปเยี่ยมนักโทษมาตรา 112 ทุกคน ทุกวัน

“เราไม่ได้ทำอะไรเลย หน้าศาลอาญาเราก็ไปเข้าร่วมเฉย ๆ มีคนเสื้อแดงทำมาก่อนหน้าแล้ว ส่วนการเยี่ยมนักโทษมาตรา 112 บางคนญาติเขาไม่มาเยี่ยม เขาแค่อยากออกมาเห็นข้างนอกบ้าง มันผิดอะไรขนาดนั้นเชียวหรือ”

แดดอ่อนลง บอกเวลาว่าบทสนทนากินเวลามาสักระยะ แต่แสงแดดที่อ่อนลงในทุกวันไม่ได้ทำให้ความเจ็บปวดที่เธอมีลดลงตาม เพราะความยุติธรรมยังไม่เกิดกับเธอและสามีเสียที

ปราณีนั่งนึกสักครู่ก่อนจะเอ่ยถึงหนังไซไฟ blockbuster เรื่องล่าสุดที่เธอดู

“ไอ้ตัวฟ้า ๆ ที่ภาคแรกมันอยู่บนต้นไม้(นั่งนึกชื่อ) อวตารน่ะ ภาคสองที่เขาอยู่กันในน้ำป้าก็ดูนะ ภาพสวยมาก ๆ เลย”

“น่าเสียดายเนอะ ภาคแรกยังนั่งดูด้วยกันอยู่เลย ถ้าได้ดูภาคที่แสดงในน้ำเขาคงชอบน่าดู” ปราณีเล่าถึง AVATAR ภาค 2 ที่วันนี้สุรชัยไม่มีโอกาสได้ดูแล้ว

ไข่ดาวในมื้อเช้า กับข้าวมื้อถัดไป

“อาจารย์เขามีเชื้อสายจีนนะ คือพ่อเป็นจีนต่างด้าว แต่แม่เป็นคนปากพนัง เขาจะชอบแกงใต้มาก พวกแกงส้มปลาช่อน น้ำพริกแมงดา ฯลฯ แต่จะเป็นแกงใต้ที่เน้นพริกแกง คือต้องหอม ไม่ได้เผ็ดแค่อย่างเดียว”

สุรชัยพบกับปราณีตอนเธออายุ 30 ปี ทั้งคู่อายุต่างกัน 15 ปี ช่วงก่อนสุรชัยจะลี้ภัย เขาผ่าตัดต่อมลูกหมาก อีกทั้งมีโรคประจำตัวหลายโรค ปราณีจึงเป็นคนจัดแจงอาหารและดูแลสุรชัยเสมอมา

“จริง ๆ เรียกว่าเขาเป็นคนทำอาหารให้เรามากกว่า ตั้งแต่เขาอยู่ที่บางขวาง สมัยนั้นยังให้นักโทษสามารถปลูกผัก ทำกับข้าวเอง เขาก็จะเป็นพ่อครัวตลอด เราก็จะทำเป็นนิด ๆ หน่อย ๆ”

สุรชัยมักจะทำกับข้าวทีละเยอะ ๆ แล้วแบ่งไว้กินในมื้อถัดไป ปราณีเล่าว่าเขาเป็นคนช่างกิน หากกินอาหารซ้ำ ๆ เขาจะเบื่อ ก็เลยทำไว้เยอะ ๆ ทำไว้หลายอย่าง จะได้ผลัดเอามากินไม่ให้เบื่อไปเสียก่อน

ปราณีเองเป็นคนไม่กินเนื้อสัตว์ เธอกินเจหรือมังสวิรัติ แต่นั่นเองก็เป็นความทรงจำในจานอาหารของทั้งคู่ เธอเล่าถึงความเข้ากันแม้จะกินอาหารแตกต่างกันว่า

“เราก็จะยกพวกเนื้อสัตว์ให้เขา เขาก็จะตักผักในจานแบ่งมาให้เรา แต่ไม่ถึงกับกินอาหารแตกต่างกันขนาดนั้น แต่เขากลัวเราไม่อิ่ม แล้วเราตัวเล็กกินแค่จานเดียว จะไปสั่งเพิ่ม 2 จานก็ทานไม่หมด มันก็เป็นความทรงจำที่ว่า เออ เขาเคยทำสิ่งนี้ให้เรานะ”

เธอเล่าเสริมว่าอาหารที่กินด้วยกันบ่อยที่สุดมักจะเป็นขนมปังและไข่ดาว ซึ่งเป็นมื้อเช้าที่ทั้งคู่นั่งโต๊ะร่วมกันมาหลายสิบปี

หลังสุรชัยลี้ภัยอยู่แรมปี เธอกล่าวว่าช่วงเวลานั้นเธอกินไม่ได้นอนไม่หลับไประยะหนึ่ง

“ตอนเขาอยู่ในคุกก็ยังกินครบ 3 มื้อนะ คือมันยังรู้ว่าเขายังอยู่ไง แต่พอเขาหายไปแล้วไม่ได้ติดต่อกลับมาในช่วงแรก เราใจเสีย เราเป็นห่วงเขา เรากินข้าวไม่ค่อยลง ก็ซูบผอมไปช่วงหนึ่งเหมือนกัน”

ท้ายที่สุดปราณีก็ได้เจอสุรชัย หลังตามหาด้วยตัวเอง ทั้งสอบถามคนไทย เอารูปไปให้คนแถวนั้นดู หรือสอบถามตามแถว บขส.ลาว

แวบแรกที่ปราณีเห็นสุรชัย เขาอาศัยอยู่ในกระท่อมที่เพิ่งสร้างหลบลึกอยู่ที่สวนแห่งหนึ่งในประเทศลาว เขาซูบผอมกว่าที่เคย ทั้งอาการป่วยและความชราที่เพิ่มขึ้น แต่พอสุรชัยเห็นภรรยาคนนี้ สหายภูชนะ(ชัชชาญ บุปผาวัลย์) และสหายกาสะลอง(ไกรเดช ลือเลิศ) ที่ลี้ภัยกับเขาถึงกับต้องแซวว่า ‘หลังจากป้าน้อยมา อาจารย์ก็ดูมีแรงขึ้นมาเยอะเลย’

ปราณีใช้เวลาเต็มโควตาที่วีซ่าของเธอมี 30 วันที่ได้กลับมาใช้เวลาด้วยกัน เธอหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้กลับมาใช้ชีวิตด้วยกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี ที่เขาและเธอติดต่อกันผ่านช่องทางไลน์

จนกระทั่งวันที่ 9 ธันวาคม 2561 เป็นวันสุดท้ายที่ทั้งคู่ได้พูดคุยกัน เพราะหลังจากนั้นในช่วงที่รัฐบาล คสช.ไปเยือนประเทศลาว เธอไม่สามารถติดต่อสุรชัยได้ ภายหลังมีข่าวรายงานพบศพ 2 ศพ ถูกมัดใส่กระสอบลอยมาริมตลิ่งที่แม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม แต่ศพแรกได้มีการสูญหายไป

ปราณีเล่าว่าเธอได้ไปยังสถานที่ที่พบศพทั้ง 3 ศพ เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าและแจ้งความที่จังหวัดนครพนม บ้านท่าจำปา เธอระบุอีกว่ามีพยานเพียงคนเดียว คือผู้ใหญ่บ้านผู้ได้พบศพที่คาดว่าเป็นสุรชัย แต่ผู้ใหญ่บ้านคนนั้นกลับให้การว่ากระสอบที่มาติดนั้นตนคิดว่าเป็นเพียงกระสอบขยะ และให้ปากคำกับตำรวจไม่ตรงกัน

“ไปร้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ออกมาปฎิเสธว่าไม่ใช่ศพสุรชัย เขาบอกว่าสุรชัยยังเคลื่อนไหวอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ายังมีชีวิตอยู่ทำไมไม่มีข่าวมา 4 ปี แล้ว ซึ่งปกติอาจารย์สุรชัยจะมีบทความหรือออกคลิปรายการเพื่อส่งสัญญาณให้ทราบว่าเขายังอยู่“ ปราณี กล่าว

“มันถึงกับต้องอุ้มฆ่ากันเชียวเหรอ แค่เห็นต่างทางการเมือง เราไม่ได้เป็นอาชญากร กลุ่มคนที่ทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มองชีวิตคนเป็นชีวิต เขามองเป็นเพียงเสี้ยนหนามที่กลัวว่าหากปล่อยไว้จะตำเท้าเข้าสักวัน” ปราณีกล่าว

ความเหน็ดเหนื่อยในการร้องเรียนตามหาสามี น้ำหนักของเธอลดลงกว่า 10 กิโลกรัม จากข้าว 3 มื้อ ค่อย ๆ ลดลงจนเหลือมื้อเดียว

“เวลาเจออาหารที่เขาชอบก็จะคิดถึงเขา เจอร้านที่เคยกินด้วยกันก็คิดถึง มาวันนี้ก็มีแต่เราที่ได้กิน ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงไม่เข้าใจหัวอกของญาติบ้างเลย เขารู้ไหมว่าคนอย่างเราก็ไม่มีรายได้อยู่แล้ว ยิ่งมาเสียเสาหลักไป รายได้ในบ้านก็หดหาย สภาพจิตใจกับร่างกายเราก็เหนื่อย แต่เราก็ต้องทำ”

5 ปี 84 เดือน ของหญิงชรา ภรรยา แม่ และครอบครัว

ในสถิติผู้สูญหาย 76 รายในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งหลายคนมีศักดิ์เป็นพ่อหรือคนที่หาเลี้ยงและเป็นเสาหลักให้ครอบครัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหายไปของพวกเขาเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของญาติเพียงอย่างเดียว ท่ามกลางเศรษฐกิจที่แย่ลงและอายุที่มากขึ้นของคนที่เป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นครอบครัว พวกเขาได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะทางการเงิน

ปัจจุบัน ปราณีต้องจ่ายค่าปรับศาล จากคดีสุรชัยที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเข้าไปปราศรัยที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ซึ่งสุรชัยไม่มีส่วนร่วมกับคดีดังกล่าว อีกทั้งเธอไม่สามารถฟ้องกลับได้ ทำให้เธอถูกศาลสั่งปรับ 500,000 บาท เนื่องจากสุรชัยไม่มาขึ้นศาล และเมื่อขอความเมตตาแล้ว ศาลสั่งปรับขั้นต่ำที่สุดคือต้องจ่าย 3,000 บาท เป็นประจำทุกเดือน

“ต้องจ่ายงวดแรก 50,000 บาท แต่ยังเหลืออีก 450,000 บาท ซึ่งศาลท่านให้ผ่อนจ่ายขั้นต่ำสุดเดือนละ 3,000 บาท เดือนสิงหาคมนี้เป็นงวดที่ 66 จากทั้งหมด 150 งวด

ตอนนี้ปราณีกลับไปอยู่ที่ลำปางเพื่อดูแลพี่สาวที่ป่วย เธอมีรายได้จากการแบ่งห้องเช่า 5,000 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท จากอดีตที่เคยมีรายได้จากการขายของที่ระลึกสุรชัยและขายของทั่วไปแต่ในปัจจุบันขายได้น้อยจนถึงขายไม่ได้

เธอต้องใช้จ่ายเงินที่ได้มากว่าครึ่งจ่ายค่าปรับศาลคดีที่สามีเธอไม่เกี่ยวข้อง และเมื่อถามว่าเธอใช้จ่ายอย่างไรกับเงินที่เหลือเพียง 2,000 บาทต่อเดือน

เธอตอบกลับมาเพียงว่า “ก็ต้องพยายามใช้ให้พอ”

“ทำไมถึงปฏิบัติกับคนเห็นต่างทางการเมืองแบบนี้ คนเห็นต่างทางการเมืองเขาไม่มีคนรัก ไม่มีคนที่รอเขาอยู่เหรอ ถึงได้ไม่จัดการอะไรให้เลย”

เธอให้ข้อสังเกตว่าอย่างไรก็เป็นรัฐเผด็จการที่ทำให้ผู้ลี้ภัยหลายคนกลายเป็นร่างไร้วิญญานหรือผู้สูญหาย ในกรณีของสุรชัย การหายตัวจนนำไปสู่การเสียชีวิตดังกล่าวน่าเชื่อว่าเกิดขึ้นในวันที่ 13 ธ.ค.61 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางไปประชุมร่วม ไทย-ลาว ครั้งที่ 3 ที่ สปป.ลาว ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ใช้ดำเนินการกับผู้ที่มีความเห็นต่อต้านเผด็จการ นับจากปี 2559 มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 5 ศพ

ปราณีร้องเรียนกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานในส่วนกลางอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภ.ในท้องที่ แต่เนื่องจากเป็นกรณีสูญหาย อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้นให้การกับสื่อมวลชนพบเพียง 2 ศพเท่านั้นและยังกล่าวว่านายสุรชัยยังไม่สูญหายหรือเสียชีวิต แต่ยังกบดานอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน

ในเวทีเสวนา “เมื่อแตกสลาย จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ” อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย และในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ กล่าวว่าแม้กรณีสูญหายจะไม่มีวันหมดอายุความ แต่การสืบสวนและสอบสวนมักดำเนินการยากและล่าช้า โดยเฉพาะเมื่อคนที่สูญหายเป็นผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือภัยความมั่นคงของรัฐ ญาติมักถูกทิ้งให้อยู่กับความสูญเสียและไร้ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือของภาครัฐ

ในบางกรณีรัฐมีการพยายามให้การเยียวยาด้วยการชดเชยด้วยเงิน ทว่า การชดเชยด้วยเงินก็ไม่ใช่การเยียวยาในองค์รวม โดยเฉพาะความจริงที่ยังไม่ปรากฎทั้งรูปคดีหรือในหลายกรณีคือร่างผู้สูญหาย รัฐต้องมีมนุษยธรรมมากกว่านี้และรัฐบาลเผด็จการต้องหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงนี้

ปลายปี 2566 นี้จะครบรอบ 5 ปีที่สุรชัยหายตัวไป ปราณีร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลคดีของเธออย่าง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, แอมเนสตี้ หรือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้น จะทำเรื่องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวเรื่องการรับรองให้นายสุรชัยเป็นบุคคลสาบสูญ จึงจะได้เอกสาร เพื่อที่จะได้มายื่นต่อศาล(กรณีสุรชัยถูกกล่าวหาว่าบุกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน) เพื่อที่ศาลจะได้ออกเอกสารยุติค่าปรับ โดยแต่ละขั้นตอนใช้เวลา 1-6 เดือน
ซึ่งรวม 2 ขั้นตอนที่ว่า ปราณีจะต้องจ่ายค่าปรับศาลไปอย่างน้อยอีก 12 เดือน

เธอจำเป็นต้องยืนยันต่อรัฐว่าสามีของเธอได้สูญหายแม้ไม่ได้ติดกันมาแล้ว 5 ปี และไม่มีสัญญานใดว่าเขายังอยู่ เพื่อที่จะลดภาระหนี้สินในวัย 64 ปี

การยุติจ่ายค่าปรับศาลจะให้ความเป็นธรรมกับเธอถึง 2 เรื่องพร้อมกัน คือการที่สุรชัยถูกกล่าวหาว่าบุกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนร่วมกับแกนนำเสื้อแดงและสถานะของสุรชัยจะได้เปลี่ยนเป็นผู้สูญหาย หลังจากที่เธอเรียกร้องมานานนับหลายปี

แต่ถ้าไม่ เธอจะต้องเจียดเงินกว่าครึ่งของรายได้ในแต่ละเดือนต่อไปอีก 84 เดือน หรือจะจ่ายครบเมื่อเธออายุ 71 ปี

“ถ้าไม่ต้องจ่ายค่าปรับแล้วน่าจะสบายขึ้นเยอะ เราจะได้ความเป็นธรรมและจะได้เรียกร้องให้อาจารย์อย่างไม่ต้องกังวล”

ปราณีเดินไปร้านอาหารตามสั่งในย่านสวนผักใกล้ที่พัก เธอคุยไปพลางว่า แม้เธอจะเชื่อว่าศพแรกที่ปรากฎจะเป็นร่างของสุรชัย แต่ถ้าหากว่าสุรชัยยังมีชีวิตอยู่ ปีนี้เขาจะมีอายุ 81 ปี และเธอยังเป็นห่วงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพของเขา

เธอนั่งลงและสั่งสุกี้แห้งเจ บทสนทนาของการต่อสู้คดี การตามหาสามี และหนังชนโรง ยังดำเนินต่อไปเคล้ากับกลิ่นผัดกะเพราที่คลุ้งไปทั่วทั้งร้าน

“ป้าเป็นคนกินช้าแบบนี้แหละ ตอนอาจารย์สุรชัยยังอยู่ เพื่อน ๆ เขาเคยบอกว่าบางทีอาจารย์ต้องวางช้อนส้อมเลยเพื่อที่จะกินให้เสร็จพร้อม ๆ กัน เพราะแกเป็นคนกินเร็วตั้งแต่สมัยเข้าป่าแล้ว” เธอกล่าวถึงกิจวัตรประจำวันที่เคยมีร่วมกัน แต่วันนี้ถูก ‘อุ้มหาย’ ไปเสียแล้ว

ท่ามกลางรัฐเผด็จการ รัฐบาลรัฐประหารและนั่งร้าน 

“รัฐ” ยัง “ลัก” ความฝัน ความหวัง และ “รัก” หายไปจากหลายชีวิต

หลายชีวิตที่รัฐเรียกพวกเขาว่าปีศาจ และหลายชีวิตที่รัฐเผด็จการไม่เข้าใจว่าการรอมันเจ็บปวดเพียงใด

การต่อสู้ระยะยาวที่ยังไม่ถึงปลายทาง แต่เมื่อฤดูกาลมาถึง ต่อให้เด็ดดอกไม้จนกุด ก็หยุดฤดูผลิบานของประชาชนไม่ได้ แม้ว่าวันนี้เราอาจจะต้อง รอ รอ รอ

พอ ๆ กับสาวลำปางชื่อ ‘ปราณี’ ที่ยังรอความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับบ่าวปากพนังที่ชื่อ ‘สุรชัย’