'เดอะแบก' ตลอดชีพ แม้เกษียณยังไม่เกษม - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ค่าใช้จ่ายมันสองหมื่นต่อเดือนด้วยซ้ำ หนักเอาการอยู่”

ดังที่ แฮม หนุ่มวัย 24 ปี ลูกชายคนโตจากตระกูลเต็มเปี่ยมสะท้อนไว้ในบรรทัดแรกถึงภาระที่เขา ต้องแบกไว้ สองหมื่นบาทนั้นหาใช่เงินที่ใช้เพื่อซื้อสิ่งของจรรโลงใจ แต่เป็นเงินสำหรับอุดรอยรั่ว ในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทว่ามันไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงจุดเดียว แต่ลุกลามต่อเนื่องเป็นโซ่ตรวนที่คอยเหนี่ยวรั้งช่วงชีวิตแห่งวัยรุ่น

ครอบครัวของแฮมประกอบไปด้วยยาย พ่อ แม่ ลูกคนรอง ลูกคนเล็ก (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5) และลูกคนสุดท้อง (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2) ยังนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สามารถนับสมาชิกในครอบครัวได้ด้วยนิ้วมือทั้งสิบ แต่ทว่าค่าใช้จ่ายที่แฮมต้องแบกรับนับนิ้วคนทั้งครอบครัวก็อาจไม่พอ

“บางเดือนแค่ค่าซองก็ห้าพันแล้ว งานศพอาจใส่ 300 ได้
แต่เดือนนั้น 4 ศพ มีงานบวชงานแต่งพร้อมกันอีก ”

พ่อแม่ของแฮมทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ส่วนยายเป็นจิตอาสาอยู่ที่เครือข่ายสลัมสี่ภาค ซึ่งทั้งสามต่างไม่ได้มีรายรับประจำ แฮมจึงเข้ามารับหน้าที่แบ่งเบาภาระต่าง ๆ ภายในบ้าน ยังดีที่เขาไม่ถึงขั้นจ่ายค่าเทอมให้น้อง ๆ แต่การส่งเงินให้ที่บ้านราว 3-5 พันบาทในแต่ละเดือน รวมถึงการจับจ่ายข้าวของจิปาถะเข้าบ้านก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

กระเป๋าเงินช่องที่สองแบ่งให้กับค่ารถโดยสารมาทำงาน จากคลองเตยเดินทางมาถึงเขตบางกะปิ วินมอไซค์ สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน คือเจ้าหนี้หน้าประจำที่เรียกเก็บเงินจากแฮมวันละ 80 บาท “ไม่ค่อยชอบไปอยู่ที่อื่น มันไม่เหมือนที่บ้าน แต่ไปอยู่ที่อื่นค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น แบ่งเบาภาระ ครอบครัวไม่ได้” เขาเสริม

ช่องสุดท้ายของกระเป๋าเงินแบ่งให้เป็น “ค่าสังคม” แฮมทำงานในฐานะผู้ประสานงานชุมชน ของโครงการพัฒนาชุมชนในระบบราง โครงการพิเศษที่ช่วยเหลือคนที่อยู่บนพื้นที่ของการรถไฟ เพื่อช่วยเหลือและขยายบ้านให้เป็นบ้านมั่นคง นั่นทำให้เขาต้องลงพื้นที่หลายครั้งหลายเขต ในกรุงเทพฯ จนหลายครั้งเขาก็ไม่กล้าเบิกค่าใช้จ่ายกับองค์กรต้นทาง

“เราสนิทกับชุมชนเยอะ อย่างเยาวชนที่เราดูแลอยู่ 
ถ้าเขาอยากกินอะไร เราก็จะเลี้ยงเขา”

:เหนื่อยเปล่า ได้ทำอะไรที่อยากทำบ้างไหม

:เราไม่ค่อยคิดเรื่องเหนื่อย ถ้าคิดปุ๊บก็จะเหนื่อยทันที ไม่ทันได้ทำอะไรเลยเดือนหน้าก็ต้องเริ่มปรับแผนการเงินแล้ว คิดอยู่เลยว่าถ้าป่วยจะมีเงินสำรองรึเปล่าถ้าไม่ต้องส่งเงินกลับบ้าน อย่างน้อยก็เป็นเงินเก็บให้กับลูกในอนาคต หรือถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องดึงเงินตรงนี้ออกมา ผมพยายามมากเลย 

ภาระบนบ่าแสดงตัวชัด หน้าที่การงานกลายมาเป็นหลักใหญ่ในชีวิตของแฮม  ความต้องการของเขาเพียงแค่มีวันหยุดแล้วได้เที่ยว แต่นั่นก็หาได้เป็นเรื่องเลวร้าย เพราะเขาบอกว่าเขาเป็นคนชอบทำงาน ชอบการลงชุมชน การเห็นถึงปัญหาในพื้นที่และแสวงหาหนทางแก้ไขเป็นสิ่งที่เขาอยากทำ แม้งานที่เขารับผิดชอบก็หนักหนาจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนก็ตาม

“เศรษฐกิจไม่ดี แต่ส่งให้แม่สามพันต่อเดือน
เราอาจไม่พอกินด้วยซ้ำไป ถ้ามันมีบำนาญ 3,000 บาทเราจะเห็นภาพผู้สูงอายุที่มั่นคง และแบ่งเบาภาระให้ลูกหลาน”

แฮมสะท้อนประสบการณ์ที่เข้าไปคลุกคลีกับหลายชุมชนในกรุงเทพฯ ว่าหลักใหญ่ของปัญหาคือ การที่เหล่าแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย คนก่อสร้าง หรืออาชีพรับจ้างต่าง ๆ นั้นไม่มีความมั่นคงทางรายได้ เป็นคนแบกเมืองที่ไม่สามารถแบกคุณภาพชีวิตของตนให้มั่นคง นานวันเข้าก็กลายเป็นผู้สูงอายุที่ยังต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำที่ได้ภาษีคืนมาแค่ 600 บาท

“นักการเมืองพูดได้ว่า 600 ยังไงก็พอ เพราะเขาไม่เคยมาใช้ 600 บาทเหมือนชาวบ้าน” แฮมประกาศอย่างดุดัน พลางเล่าให้ฟังถึงคุณยายแถวบ้านท่านหนึ่ง อายุราว 67 ปี ที่ต้องเลี้ยงหลาน โดยที่พ่อแม่ไม่ได้ส่งเงินกลับมาเลย นั่นหมายความว่าหนึ่งเดือน เด็กคนนั้นจะได้เงินไปโรงเรียน วันละ 20 บาท และยายต้องเก็บของเก่าขายเพื่อหาเงินประทังชีวิต

ด้วยตัวเลขคนชราราว 12 ล้านคน ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทว่าคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุยังหยุดนิ่งไม่ไหวติง แช่แข็งความจนไว้ด้วยเบี้ยยังชีพคนชรา 600 บาท จนไม้ใกล้ฝั่งเหล่านี้มีทีท่าจะจมไปพร้อมกับลูกหลานที่ติดพันมากกว่าลอยถึงฝั่งฝัน

“ผู้สูงอายุไม่เคยขี้เกียจ แค่เขาไม่มีโอกาส”

ความรู้สึกคับแค้นใจของ วิมล หญิงวัย 54 ปี พื้นเพเธอเกิดและเติบโตที่จังหวัดนครนายก แต่ออกมาหาประทังชีวิตกับพ่อโดยใช้แม่น้ำ ล่องเรือโยงและเรือต่อเร่ร่อนขายปลาและขนมถังแตก จนมาจอดเรือและปักหลักตั้งกระต๊อบน้อยอยู่ใต้สะพานใหม่ช่วงราว ๆ อายุ 16-17 ปีพอดี

อาชีพหลักของผู้เป็นพ่อคือ ล้อมอวนหาปลาในคลองและนำไปขาย ส่วนผู้เป็นลูกเหยียบคันเร่งซาเล้งหาของเก่าขาย จนเมื่อปี 2536 กทม.มีนโยบายไล่รื้อชุมชนใต้สะพานกว่า 65 ชุมชน ซึ่งรวมถึงชุมชนของวิมลด้วย

สถานการณ์ที่กลับตัวไม่ได้เพราะไม่มีที่ดินที่ต่างจังหวัดแล้ว จะไปต่อก็อับจนหนทางในการหาที่อยู่อาศัย จึงเกิดกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเจรจากับภาครัฐ จนเธอได้มาอยู่ที่ชุมชนพูนทรัพย์ ชุมชนหนึ่ง ในเขตสายไหม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเขตที่ กทม. และการเคหะฯ เตรียมไว้เพื่อรองรับการไล่รื้อที่ดิน

“ที่ดินแปลงนี้เช่าเดือนละ 50 บาท บ้านก็กู้เงินปลูกเอง

ภายใต้หลังคากว่า 200 ครัวเรือนในชุมชนพูนทรัพย์ มีผู้สูงอายุอยู่ราว ๆ 60 -70 คน บ้างก็รับจ้างทั่วไป บ้างหาของเก่าขาย บ้างไม่มีอาชีพ จำนวนหนึ่งก็เป็นผู้ป่วยติดเตียง จากเดิมที่หาเลี้ยงตนเองด้วยความยากเย็นอยู่แล้ว คลื่นโรคระบาดก็ซัดจนการงานหายเกลี้ยง

“หลังจากโควิดนายจ้างก็ไม่จ้างงานแล้ว เดือนนี้เพิ่งจะได้สี่วัน ได้มาสองพันบาท” นอกจากเก็บของเก่าขาย ปัจจุบันวิมลยังรับจ้างทั่วไป เช่น ทำสวนผัก หรือ ดึงยางเส้นเพื่อนำไปทำสายรัดของ ซึ่งยังพอทำให้เธอมีรายได้เพิ่มขึ้นอาทิตย์สองถึงสามร้อยกว่าบาท แต่ค่าใช้จ่ายก็ยังคงมหาศาล

เธอแจกแจงว่าข้าวสารตอนนี้โลละ 22 บาทแล้ว (ย้ำเราว่าเป็นข้าวขาวแข็ง ๆ) ข้าวถังหนึ่งก็ 300 บาทแต่ก็ซื้อได้เพียงครึ่งถัง ต้มโครงไก่น้ำปลาเมนูประจำบ้าน โครงไก่ก็แตะโลละ 30 บาท ไข่ก็ไม่เคยซื้อเป็นแผง ซื้อใบละ 6 บาท กินข้าวก็ต้องมีกะปิน้ำปลาก็โดนอีก 150 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟค่าบ้านแต่ละเดือน ซ้ำยังมีข้าวหมากับแมวจรอีกหลักพัน “กินขนมซักมื้อยังยากเลย” เธอบ่น

“ลูกพี่ไม่ยอมมีลูก เนื่องจากถ้าเขามีลูก
นั่นหมายถึงภาระที่จะต้องเลี้ยง”

วิมลอธิบายว่าสถานะความจนถูกส่งต่อมายังรุ่นลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยฐานะทำให้ลูกไม่สามารถเรียนสูงได้ เมื่อจบไม่สูงนั่นหมายถึงอาชีพการงานที่ไม่มีรายได้ที่ดีนัก เลี้ยงตนเองก็ยาก แล้วจะให้ไปเลี้ยงลูกยิ่งแล้วใหญ่ หากจะมีก็ต้องคิดถึงค่าไปโรงเรียน ค่าขนมลูกสารพัด ซึ่งทำให้ ต้องไปตะเวนลงทุนหรือหารายได้ให้มากขึ้น

“ลูกเขยไปออกรถสองแถว จะขับรถสองแถวให้ตัวเองมีรายได้ แต่พอโควิดมาก็ขับไม่ได้ ภาระที่เกิดขึ้นคือเงินที่ต้องผ่อนรถ ซึ่งก็เป็นเงินที่ลูกสาวไปทำงานมาจากบริษัท ทุกวันนี้วิ่งสองแถววันนึงได้ไม่เกินห้าร้อยบาท หักค่าวิน หักค่าน้ำมัน วันละร้อยยังไม่ถึงเลย พี่ก็สงสารลูกสาว แต่ก็ไม่รู้จะช่วยลูกยังไง เพราะเราก็ไม่มีเงินเดือน” 

เธอสะท้อนว่าปัญหาของสังคมผู้สูงอายุหาได้หมายถึงเพียงคนชรา แต่หมายรวมถึงลูกสาว ลูกชาย แรงงานคนหนุ่มสาวที่ต่างก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงอย่างไม่อาจเลี่ยง

แก่-เจ็บ-จน-ขี้เกียจ
มายาคติชราภาพโดยรัฐไทย 

“ถ้าผู้สูงอายุไปหางาน ไม่มีทางได้ เพราะไม่มีใครรับ” 

ในอีกหมวกหนึ่ง วิมล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องบำนาญสูงอายุร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค เธออธิบายว่า การรับจ้างใช้แรงงานของผู้สูงอายุหาได้เกิดขึ้นโดยง่าย อาจด้วยข้อจำกัดในชีวิต หรือจะหาของขายในชุมชนก็ขายได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เพราะไม่มีต้นทุนมากพอ กระทั่งนโยบายรับผู้สูงอายุเข้าทำงานของบริษัทเอกชนก็เข้าไม่ถึงคนในชุมชน 

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือ “สุขภาพของผู้สูงอายุ” เพราะส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว และส่วนใหญ่ไม่ได้ตรวจสุขภาพหรือได้รับการรักษา 

“ไม่ใช่เพราะเขาไม่รักษาสุขภาพนะ 
แต่การไปทำมาหากินจะต้องเป็นอันดับหนึ่ง”

ถ้าผู้สูงอายุหยุดไม่ไปทำงานหรือหาของเก่าขาย นั่นหมายถึงเขาจะไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เธอเล่าว่ามีผู้สูงอายุหลายรายมากเริ่มแสดงอาการป่วยแต่ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเข้ารับการรักษา โรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นโรคที่พบบ่อยมากและมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในอนาคต

“มีผู้ป่วยยิ่งลำบากมาก ๆ เลย เราจะมีแต่รายจ่ายไม่มีรายรับ ไม่ได้ทำงานเพราะต้องดูแลคนป่วยตลอด ค่ารถพาไปฟอกไตก็วันละ 120 อาทิตย์ละ 3 ครั้ง ก็ต้องใช้เงินผู้สูงอายุเคล้ากับเงินที่ลูกส่งให้ ก็ไม่รู้จะไปรอดไหม”

ปากคำของแม่ชัญญานุช อายุ 61 ปี
ผู้สูงอายุในชุมชนสหกรณ์กระทุ่มเดี่ยว

ขาเป็นโปลิโอตั้งแต่หนึ่งขวบ เป็นตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มียารักษา ไปหาหมอมาตลอด ไปตรวจเลือด วัดความดัน โรคคนแก่ แต่มีบัตรทอง ไปที่คลินิกของกล้วยน้ำไทยค่าเดินทางก็ 100 ต่อเดือน แต่การค้าขายมันเงียบ คนใช้จ่ายน้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายเราก็เยอะ ค่าบ้าน ค่ากิน ค่าลูกไปโรงเรียน แต่พออายุ 60 ร่างกายก็ไม่ไหว หูตาไม่ไหว ก็ต้องหยุดบ้าง พอไปได้ก็ไปต่อ”

ปากคำของพ่ออำนาจ อายุ 60 ปี
พ่อค้ารถผักสูงอายุในชุมชนสหกรณ์กระทุ่มเดี่ยว

“รัฐบาลเคยพูดว่าผู้สูงอายุจะขี้เกียจ ถ้าได้บำนาญสูงอายุ
ทุกวันนี้ไม่มีใครงอมืองอตีนเหมือนรัฐบาลพูดสักคนเดียว
เงินสามพันช่วยให้ใช้ชีวิตรอดเท่านั้น ยังไงก็ต้องทำงาน”

วิมลแย้มว่าผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสามารถที่หลากหลาย ลุงคนนี้เล่นลิเกเป็น ตาคนนี้มีแรงถอนหญ้า น้าคนนี้เล่านิทานสนุก ยายคนนี้ทำขนมอร่อย ฉะนั้นการสร้างงานสร้างอาชีพสำหรับผู้สูงอายุควร ยึดมั่นตามบริบทของพื้นที่ พร้อมไปกับการติดกระดุมเม็ดแรก คือ การยกระดับบำนาญสูงอายุ

วิมลประกาศกร้าวว่าภาครัฐควรจัดบำนาญผู้สูงอายุ 3000 บาทได้แล้ว เพราะนั่นคือการลดภาระของผู้สูงอายุ เป็นการประกันรายได้เพื่อทำให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพที่ดีขึ้น มีอาหารกินที่ดีและเพียงพอ มีเงินเก็บและสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยที่จะไม่ส่งต่อความจนไปให้ลูกหลานคนหนุ่มสาว

ขนาบข้างไปพร้อมกับการจัดให้มีเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า เพราะนอกจากผู้เป็นลูกอาจไม่ต้องส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ เมื่อเขาอยากมีบุตร รัฐก็จะสนับสนุน เด็กอาจมีโอกาสได้เรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น มีโอกาสในการทำงานที่กว้างขวาง และชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงทุกคนในประเทศไทยจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการจ้างงาน มีแรงงาน และมีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ

มากไปกว่าบำนาญ 3,000 บาท แฮมเสนอถึงการกระจายงานกลับไปสู่ท้องถิ่น เขาเล่าว่ามีเพื่อนหลายคนที่ต้องมาดิ้นรนในเมืองหลวง นานครั้งกว่าจะได้กลับบ้าน และต้องมาต่อสู้กับค่าใช้จ่ายมหาศาล  หากพื้นที่งานมันกระจายไปมากกว่ากรุงเทพฯ และไปอยู่ตามท้องที่ต่าง ๆ คนเหล่านี้ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง รวมถึงการได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด

“ตอนประกาศเลือกตั้งแล้วคนเฮไปใช้สิทธิ์กันเยอะ เพราะเขาหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง” วิมลย้ำหนักแน่น หนึ่งหมื่นกว่ารายชื่อคือตัวเลขของผู้ส่งเสียงร้องว่าอยากได้สวัสดิการบำนาญสูงอายุ มากไปกว่านั้นคือพวกเขาอยากได้นายกที่เข้าใจผู้สูงอายุ เข้าถึงคนทุกวัยทุกกลุ่ม นายกเข้าใจว่าประเทศเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มากกว่านายกที่เอาแต่ปัดตกนโยบายสวัสดิการ

“ภาษีที่ผู้สูงอายุเสียตั้งแต่วันที่เขาเป็นเด็กนั้นมหาศาล
แค่คืนเงินภาษีเขากลับมาเดือนละ 3,000 ให้เขาอยู่รอดได้
ถ้าผู้สูงอายุยังมีแรงก็ไปทำงานได้ ไม่ส่งต่อความจนให้ลูก
เด็กก็มีโกาสได้ทำงานที่ดีขึ้น ไม่ต้องห่วงภาระข้างหลัง”