ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ผู้คนเดินเข้าออกร้านกาแฟกันไม่ขาดสาย บ้างก็เพื่อปลุกร่างกายให้ตื่นด้วยคาเฟอีน บ้างก็เพื่อถ่ายรูปเก๋ ๆ อัปเดตชีวิตให้คนรอบตัวอิจฉา บ้างก็หาพื้นที่สบาย ๆ ติวหนังสือ เรียนออนไลน์ หรือปั่นงานรับใช้ทุนนิยมไปอีกวัน
เราไม่รู้ว่าคุณเป็นคอกาแฟหรือไม่ หรือได้เข้าร้านกาแฟด้วยเหตุผลอะไร แต่ท่ามกลางความนิยมของร้านกาแฟที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นนี้ กลับมีสิ่งปรกติที่ไม่ปรกติซ่อนตัวอยู่หลังกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น
De/code จึงติดต่อไปหา ดอย (นามสมมติ) ตัวแทนจากสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ เพื่อจับเข่าคุยเกี่ยวกับปัญหาในแวดวงคนชงกาแฟผ่านโทรศัพท์ เพราะใครเล่าจะถ่ายทอดประสบการณ์แบบเจาะลึกได้ดียิ่งกว่าคนที่ประสบพบเจอกับมันด้วยตนเอง
อลักเอลื่อในอกบาริสต้า
“ผมรักอาชีพนี้มาก ผมอยากทำอาชีพนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงวัยเกษียณ โดยที่อาชีพนี้สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผมได้ เป็นอาชีพมั่นคงในฝันของผมได้ และมันไม่ใช่แค่อาชีพนี้ด้วย เพราะทุกอาชีพควรจะเป็นแบบนี้ได้ โดยที่ความมั่นคงไม่ควรถูกผูกติดแค่กับข้าราชการ
“ปลายทางของบาริสต้าไม่ได้อยากเป็นผู้ประกอบการ ผมอยากชงกาแฟ ผมอยากเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ผมอยากทำหน้าที่ตรงนี้ แล้วทำไมอาชีพที่ผมรักขนาดนี้มันจะเลี้ยงดูผมไม่ได้วะ”
ดอย เล่าความคับข้องใจของตนเองในฐานะแรงงานสายดริป ณ เมืองแห่งกาแฟคนหนึ่งให้เราฟัง
“ถ้าถามว่าสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ เกิดขึ้นมาได้ยังไง ผมสามารถตอบแบบพระเอก ๆ อย่าง ผมอยากให้ความเป็นคนเท่าเทียมกัน ผมสนับสนุนสหภาพแรงงาน เพราะแรงงานควรได้รับอำนาจต่อรองต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้ว สหภาพแรงงานของผมมันเกิดจากผม และเพื่อนที่เป็นแรงงานบาริสต้าเชียงใหม่เองเนี่ยแหละ
“เราเห็นความไม่สมเหตุสมผลของนายจ้าง เราเห็นเรื่องปรกติที่ไม่ปรกติบ่อยเข้าและบ่อยเข้า ดังนั้นคำตอบตรง ๆ เลยนะ ต่อมเสือกมันก็ทำงาน ด้วยความสงสัยที่ว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานคุณก็ให้กันไม่ได้เลยเหรอ เพราะผู้มีอารยชนที่มีอารยธรรรมเขาไม่ทำกันอย่างนี้ เขาไม่กดขี่คน กดขี่กันและกันอย่างนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของสหภาพแรงงาน โดยแรงงาน เพื่อแรงงานของเรา”
ไม่ใช่เป้าหมายระยะสั้น แต่คือพันธกิจของคนตื่นรู้
“ผมเข้าสู่ตลาดแรงงานมาได้ประมาณ 8-9 ปี ไม่เคยรับรู้เลยว่าเรามีสิทธิอะไร แล้วพอวันนึงเราได้สิทธินั้น มันเหมือนเราได้อัพเลเวลแล้วได้เข้าใกล้กับคำว่า คุณภาพชีวิตที่ดี ขึ้นไปอีกขั้น (แต่จริง ๆ ก็ยังต่างกันราวกับฟ้ากับเหว เพราะสวัสดิการประเทศไทยต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก – ดอยกระซิบ)
“พอเปลี่ยนแว่นจากมุมมองของแรงงานที่ไม่เคยรับรู้เลยว่ามีสิทธิอะไรบ้าง มาเป็นแว่นที่ตระหนักรู้แล้วว่า เชี่ย แรงงานเรามีสิทธิ์ตรงนี้นี่หว่า เรามีสวัสดิการที่นายจ้างต้องจัดหาให้เรา ซึ่งไม่ใช่ชอยส์นะ มันเป็นข้อบังคับ ปัญหาเรื่องทุน เรื่องงบ เรื่องความเสี่ยง คือปัญหาของนายจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่ข้ออ้างของการไม่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานต่อแรงงาน”
“และตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นพันธกิจของคนที่ตระหนักรู้ เพราะว่าคุณเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างที่หลายคนอาจไม่มี ผมมีเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษย์ชน ทำงานเกี่ยวกับแรงงาน ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย พอเราซึมซับสิ่งเหล่านี้มา แปลว่าเราเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างที่ทำให้เราตื่นรู้ พันธกิจของเราจึงเป็นการแพร่กระจายความเชื่อนี้ไปสู่คนอื่น ๆ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถ้าคุณเชื่อว่าคุณเป็นมนุษย์ และบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกับคุณเป็นมนุษย์ คุณจะปฏิบัติต่อเขาอย่างเท่าเทียมกัน”
เบื้องหลังกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น
ต่อมา ดอยจึงพาเราไปร่วมแกะรอยปัญหาเปรอะเปื้อน ที่ทิ้งคราบความไม่ปรกติแต่มีอยู่จนกลายเป็นปรกติในแวดวงของคนทำกาแฟ ที่อาจทำให้แรงงานสายอื่นสำลักไปพร้อมกัน โดยประเด็นแรกที่หนีไม่พ้นเมื่อพูดถึงปัญหาแรงงานในโลกทุนนิยมสามานย์ก็คือ ค่าแรง เพราะถึงใครจะพยายามร้อยเรียงถ้อยคำให้สวยหรูเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะแรงงานแขนงไหนก็ทำงานเพื่อให้ได้ค่าแรงกันทั้งนั้น
“แรงงานพร้อมจะเรียกค่าแรงในอัตราที่สูงอยู่เสมอ ในขณะที่นายจ้างก็พร้อมจะจ่ายค่าแรงในอัตราที่ต่ำที่สุดเสมอเช่นกัน” ดอย กล่าว
พร้อมอธิบายต่อว่า หากพิจารณาในบริบทของงานบาริสต้า อ้างอิงจากกลุ่มเฟซบุ๊คกลางในหางานบาริสต้าของเชียงใหม่จะพบว่า การประกาศรับสมัครตำแหน่งพนักงานชงกาแฟในเรท 9,000 บาท/เดือน ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะก็ดีแล้วไม่ใช่เหรอ หากจะคิดค่าแรงพื้นฐาน ด้วยการนำ 325 บาท คูณเข้ากับจำนวนวันทำงานจริงแบบหักเสาร์อาทิตย์ออกไป เหลือ 26 วัน รวมเป็น 8,450 บาท ซึ่งแปลว่าฉันให้เธอตั้ง 9,000 บาทเลยนะ เยอะกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีก!
“เราต้องกลับมาทบทวนกันอีกรอบว่า ค่าแรงที่ว่าว่าเป็นธรรม นี่มันเป็นธรรมจริงไหม แล้วใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัววัดว่าเป็นธรรมกับทุกฝ่ายวะ”
“คำว่าค่าแรงขั้นต่ำกำลังหลอกเราว่า แรงงานหนึ่งคน ทำงานเพียงพอต่อการใช้จ่ายแค่หนึ่งคน ผมสามารถทำงานและพัฒนาชีวิตตัวเองได้ ตราบใดที่ผมทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเองคนเดียว แต่ในความเป็นจริง คุณพี่จะไม่มีครอบครัว ญาติพี่น้อง ต้องดูแลแล้วแบกรับเลยเหรอ”
ดอย กล่าว ก่อนเสริมว่าโครงสร้างพื้นฐานของค่าแรงในประเทศไทยควรจะเลยคำว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ไปได้แล้ว โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นวิกฤตเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นนี้
และปัญหาถัดมา ที่เรียกได้ว่าฮอตฮิตทุกสายอาชีพไปแล้วก็คือ ขอบเขตงานครอบจักรวาล ที่กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในสังคมไทย ในคราบ ‘หากมี (Multi-Skill) จะพิจารณาเป็นพิเศษ’ ซึ่งแรงงานบาริสต้าเองก็ประสบกับปัญหานี้ไม่ต่างกัน
“พอแรงงานไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบ job description นายจ้างก็จะยัดห่าอะไรก็ตามที่คิดว่าจะจ้างคนหนึ่งคนให้คุ้ม”
“เป็นบาริสต้าต้องมีสกิลแคชเชียร์ เก็บเงิน คิดเมนู ควบคุมวัตถุดิบ เช็คสต๊อก ทำความสะอาด ล้างห้องน้ำ ดูแลสวน ขูดหิน ขูดปูน โบกรงโบกรถ เผลอ ๆ มีตัดต่อวิดีโอ ทำเพจ ตอบแชทลูกค้า อีกหน่อยมีซ่อมฝ้าเพดาน สายฟงสายไฟต้องเข้าแล้วนะ”
และเมื่อใดก็ตามที่มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาในสังคม ก็มักจะมีกระแสตอบกลับในเชิงที่ว่า หากไม่พอใจก็ให้ปล่อยไป เพราะยังมีปลามากมายในมหาสมุทรที่เต็มใจจะเข้ารับตำแหน่งนี้อยู่ แต่ดอยก็ยังขอยืนหยัดในแนวคิดของตนที่ยึดมั่นในความเป็นธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนต่อไป
“ผมไม่มีทางปล่อยผ่าน เราต้องทำให้เห็นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งปรกติ เพื่อไม่ให้คนก๊อปปี้กันทั่วบ้านทั่วเมืองไปมากกว่านี้”
แรงปะทะจากแรงงาน ต่อแรงงาน เพื่อนายทุน
“ตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพแรงงานฯ มา ผมเจอแรงงานที่กดขี่แรงงานด้วยกัน และพร้อมจะเห็นใจนายจ้างอยู่เสมอเยอะมาก ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า แรงงานไทยหัวใจนายทุน”
ดอย เล่าให้เราฟัง ก่อนเสริมว่า เสียงสะท้อนของสังคมเมื่อใดก็ตามที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อแรงงานเช่นนี้เป็นสิ่ง ย้อนแย้งที่เข้าใจได้ เพราะระบบการศึกษาไทยที่ปลูกฝัง พร่ำสอน และหล่อหลอมมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมาเป็นพลเมืองหนึ่งในสังคมกลับไม่เคยมองคนให้เห็นเป็นคน หากแต่ผลิตคนให้ตกเป็นทาสของทุนนิยมเสมอมา
“ทุนนิยมมันฉลาด ทุนนิยมมันสร้างชนชั้นในแรงงาน เพราะเมื่อใดก็ตามที่คน 99% รวมกันติด ทุนนิยมนั่นแหละจะสลาย”
ซึ่งนอกจากแรงปะทะจากแรงงานด้วยกันเองแล้ว ยังมีแรงปะทะจากผู้ที่ขึ้นชื่อว่ามีหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับแรงงาน แต่พร้อมจะโอบอุ้มและเลือกข้างผู้ประกอบการอยู่เสมออย่าง กระทรวงแรงงาน อีก
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกต้องเห็นใจนายจ้าง สรุปมึงเป็นกระทรวงอะไรครับ” ดอย ตั้งคำถาม พร้อมเสริมว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา หน้าที่ของรัฐคือให้การสนับสนุน และไม่ปิดกั้นการรวมตัวของแรงงาน ทั้งยังต้องคุ้มครองแรงงานในกรณีที่นายจ้างยกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่เข้าร่วมสหภาพอีกด้วย
“ผมเลือกที่จะต่อต้าน และถ้าคุณไม่พอใจที่ผมทำแบบนี้คุณก็ไล่ผมออกสิ แล้วก็จ่ายเงินค่าชดเชยผมมาตามกฎหมายแรงงานขั้นพื้นฐานสิ โควทมีมพี่ก้องจากลัดดาแลนด์เลยนะ ‘กูไม่ออก ออกไปแล้วกูจะเอาอะไรแดก’”
เพื่อผลประโยชน์แก่คน 99%
ด้วยเหตุนี้ สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ จึงถูกก่อตั้งขึ้นด้วยหมุดหมายในการสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของแรงงาน เพราะแม้จะมีสิ่งที่เรียกว่า คณะกรรมการไตรภาคี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แล้ว ทว่าดอยยังมองเห็นช่องโหว่ขนาดยักษ์ ที่ทำให้บุคคลที่เป็นแรงงานอย่างแท้จริงไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบค่าแรงที่พวกเขาต้องได้รับอย่างที่ควรจะเป็นอยู่ดี
“แรงงานที่เข้าไปเป็นเสียงแรงงานในไตรภาคี เป็นแรงงานที่ไม่เคยได้สัมผัสค่าแรงในอัตราค่าแรงขั้นต่ำเลยด้วยซ้ำ” ดอย ว่า
“ผมไม่ได้โทษคนที่เป็นตัวแทนฝ่ายแรงงานนะ คุณมีปัญหาของคุณ แต่คุณไม่มีทางรู้ปัญหาแบบที่คนได้ค่าแรงขั้นต่ำต้องเจอ คุณไม่สามารถตอบสนองปัญหานั้นได้มากกว่าคนที่ประสบปัญหานั้นด้วยตนเอง ไม่ว่าเจตนารมย์คุณจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่พอคุณไม่มีแรงผลักดันภายในที่จะกระตุ้นว่า คุณต้องสู้นะ เพราะถ้าคุณได้รับผลกระทบ คุณจะสู้หัวชนฝาเลย ยังไงแม่งก็ต้องขึ้นมากกว่านี้ ถ้าคงไว้อย่างที่เป็นอยู่ กูแม่งอยู่ไม่ไหวว่ะ แล้วมันจะเป็นการต่อสู้เพื่อชีวิตของคุณเองด้วย”
อีกมุมมองที่สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ชู นั่นก็คือมุมมองที่อยากเห็นนายจ้าง และลูกจ้างสามารถจับมือกันเพื่อทำให้องค์กรสามารถพัฒนาไปได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ฝุ่นหายตลบ และน้ำที่ถูกกวนให้ขุ่นตกตะกอนกลายเป็นน้ำใส ๆ เราจะเห็นว่าคนที่เป็นศัตรูที่แท้จริงของทุกคนก็ยังเป็น ทุนใหญ่ อยู่วันยันค่ำ
โดยทุนผูกขาดในชีวิตประจำวันที่เราทุกคนต่างต้องเจอก็คงหนีไม้พ้น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ แต่มันไม่ได้หมดเพียงเท่านั้นเสียทีเดียว เพราะยังมีธุรกิจอีกมากมายที่ตกอยู่ในกำมือของนายทุนผูกขาด และวัตถุดิบในการทำกาแฟก็เป็นหนึ่งในนั้น
ในส่วนนี้ดอยยกตัวอย่างให้เราฟังว่า หากนายจ้างมาพูดกับตนว่าจะขึ้นค่าแรงให้สมน้ำสมเนื้อ เพื่อแลกกับการยืมกำลังคนฝั่งแรงงาน ในการกดดันราคาวัตถุดิบที่สำคัญในการชงกาแฟไม่แพ้เมล็ดกาแฟสำหรับคั่วบด นั่นก็คือ นม ได้หรือไม่ ตนก็จะตอบไปทันทีว่า:
“ได้ดิ ก็ส่งผลประโยชน์ทั้งคู่ ไม่มีเหตุผลให้ผมต้องปฏิเสธเลย แน่นอนว่านายจ้างจะรวยช้าลง แต่กิจการคุณจะยั่งยืนมากขึ้น
“เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แรงงานลูกจ้าง และนายจ้างสามารถมาถกเถียงโดยต้องไม่ส่งผลต่อการทำงาน องค์กรเราต้องอยู่ได้ ร้านไปได้ นายจ้างได้รายได้ในการเปิดกิจการต่อ แรงงานได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม เป็นสถานการณ์ win – win ทั้งสองฝ่าย
“มันคือการคัดง้างผลประโยชน์อยู่แล้ว นายจ้างกับลูกจ้างไม่มีทางที่จะเป็นพวกเดียวกัน เราอยู่กันคนละสถานะ แต่ยังไงก็ตามมันสามารถอยู่ร่วมกันได้ สังคมเราไม่ได้ต้องการความเหมือนกัน สังคมเราต้องการความแตกต่าง แต่ในความแตกต่างมันไม่จำเป็นต้องพึ่งความแตกแยก”
ใครบอกว่าอุดมการณ์กินไม่ได้
ผู้มีส่วนได้เสียอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ผู้บริโภค ซึ่งคุณเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น และมันเป็นเรื่องปรกติที่คุณอาจมองไม่เห็นภาพตัวเองในสมการเหล่านี้ เพราะทุนนิยมทำให้คนคิดเสมอว่า เราจะซื้อสินค้าอะไรให้คุ้มค่าที่สุด ในขณะที่สังคมนิยมจะทำให้คุณคิดเสมอว่า สิ่งที่คุณได้มากกว่ากาแฟคืออะไร
“ผู้บริโภค คุณจะได้มากกว่าแค่เครื่องดื่ม คุณจะได้รับการใส่ใจ เพราะว่าผมมีเวลาในการพัฒนาชีวิตตัวเองถ้าผมได้รับการตอบสนองด้านค่าแรงและสวัสดิการที่ดี คุณมั่นใจได้เลยว่ากาแฟที่คุณได้ไป มันจะไม่ใช่กาแฟสั่ว ๆ แต่มันจะเป็นกาแฟที่คุณได้ไปอย่างเหมาะสม และคุ้มค่า
“ในเรื่องของเศรษฐกิจคุณได้กาแฟแก้วนึงที่คุณจ่าย แต่ในเรื่องของความเป็นคน และผลพลอยได้ที่คุณได้มากกว่าเครื่องดื่ม ครั้งแรกเรามาเจอกันด้วยกาแฟ แล้วการมาเจอกันครั้งต่อ ๆ ไป กาแฟจะเป็นเหตุผลรอง”
ก่อนจะจากกันไป ดอยเล่าให้เราฟังว่า ร้านที่ตนกำลังทำงานอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของร้านที่พยายามโอบอุ้มความเป็นคนของทุกฝ่าย ด้วยบรรยากาศที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ แต่ยังเป็นพื้นที่ให้คนที่สามารถมานั่งเรียน ทำงาน พบปะสังสรรค์ ถกเถียงปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตั้งแต่ประเด็นเล็กไปจนใหญ่ หรือจะแค่ซื้อเครื่องดื่ม to go แล้วเดินออกจากร้านไป แต่บาริสต้าอย่างดอยก็พร้อมจะให้บริการอยู่เสมอ
ชุมชนที่อุดมไปด้วยชีวิตชีวาแห่งนี้คือสิ่งที่สะท้อนว่าความฝัน และความหวังที่สหภาพแรงงานบาริสต้ากำลังเรียกร้องไม่ใช่เพียงเรื่องในอุดมคติ เพราะมันได้เกิดขึ้นจริงไปแล้วเรียบร้อย และคงจะดียิ่งกว่าเก่าหากพื้นที่เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ในวันที่ทุกคนต่างถูกทรีตอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม