ถ้าเรียนฟรีมันง่าย #ล้างหนี้ ทำไมถึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย - Decode
Reading Time: 3 minutes

#ล้างหนี้ กยศ. ไม่ใช่แค่กระแสแต่สร้างข้อถกเถียงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย ทั้งผู้ที่เห็นด้วย และเห็นต่างต่อข้อเสนอนี้ ไม่ฉพาะลูกหนี้ กยศ. ซึ่งมีจำนวนมากถึง 3.5 ล้านราย แต่รวมถึงความเห็นที่หลากหลายต่อการล้างหนี้ โดยกลุ่มคนที่สนับสนุนมองว่า การล้างหนี้ กยศ. เรียนฟรีตลอดชีพ เป็นข้อเสนอเพื่อคน 99% ในขณะที่กลุ่มคนไม่เห็นด้วยกลับมองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องใช้หนี้คืน เพราะการล้างหนี้ให้เฉพาะบางกลุ่มถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องยุติธรรม

De/code พูดคุยกับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งชวนตัวแทนของผู้กู้ กยศ. ยามารุดดิน ทรงศิริ นิสิต​ ป.โท คณะรัฐศาสตร์ ​จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นิยามตัวเองกับเราว่า เขาคือหนึ่งใน ‘เหยื่อ’ ของความไม่เท่าเทียมกัน และความเหลื่อมล้ำของการศึกษา

ใต้พรมการศึกษา ‘อย่าว่าแต่เรียนฟรีหรือล้างหนี้’ เปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืน

อ.ษัษฐรัมย์ เริ่มจากเปิดปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาโดยตลอด “มันมีคนตายจากเรื่องนี้ทุกวัน บ่อยครั้งที่พยายามนำเสนอเรื่องนี้กับผู้มีอำนาจ ทุกคนมักจะบอกให้ใจเย็น ๆ ให้รอไปก่อน ซึ่งหลังจากที่เราศึกษาเรื่องนี้กันมา เราพบว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่เรากลับรอไปเรื่อย ๆ ให้ชนชั้นนำเข้าใจเรื่องนี้สักวัน ถ้าคิดแบบนี้ เราจะไม่มีโอกาสแก้ไขปัญหานี้กันได้เลย”

ไม่ว่าจะมองด้วยหลักการทางวิชาการ หลักการทางการเมือง หรือมองจากทรัพยากร อย่าว่าแต่เรียนฟรีหรือล้างหนี้ เราสามารถเปลี่ยนอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ในชั่วข้ามคืนด้วยซ้ำ

โชคดีถ้าพ่อแม่ที่มีเงิน ไม่มีโชคก็ต้องกู้เรียน

ยามารุดดิน มองตัวเองเป็นเหยื่อจากระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ คือความเป็นความตาย แทบจะกำหนดชีวิต อนาคตของคนหนึ่งคนได้ หลายคนที่เรียนมาด้วยกันสมัยมัธยม ถ้าไม่ได้โชคดีมีเงินเรียนต่อแบบยามารุดดิน ก็ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป ชีวิตของเพื่อน ๆ เหล่านั้นแทบจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตัวของเขา ราวกับว่าชีวิตนี้ วัดกันแค่เรื่องของโชคดีตอนเกิดเท่านั้น ใครโชคดีก็ได้เกิดกับพ่อแม่ที่มีเงิน ไม่มีโชคก็ต้องกู้เรียน โชคร้ายกว่านั้น คือไม่เข้าถึงแม้แต่โอกาสที่จะได้กู้เงินเพื่อเรียนหนังสือ

หากเรามองเรื่องนี้หนี้ กยศ.ดี ๆ มันคือนโยบายที่รัฐบาลช่วงนั้นผลิตออกมาเพราะไม่เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิทธิตั้งแต่แรก เขาให้สิทธิในการเป็นหนี้ ไม่ใช่ให้สิทธิในการศึกษากับเรา เด็กรุ่นยามารุดดินจึงเป็นเหยื่อของรัฐที่ไม่เชื่อตั้งแต่แรกว่าคนทุกคนควรได้สิทธิเรียนหนังสือ ได้สิทธิรับการศึกษาอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วันนี้มุมมองเรื่องสิทธิทางการศึกษาเปลี่ยนไปแล้ว นโยบายที่เกี่ยวข้องก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ประชาชนจะต้องไม่เป็นเหยื่อของรัฐบาลที่มีนโยบายขาดวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาอีกต่อไป

สู้กับมายาคติ ‘ ประเทศเราไม่มีเงิน’

อ.ษัษฐรัมย์​ อธิบายให้เราเห็นว่า จริง ๆ แล้วมายาคติอย่างประเทศเราไม่มีเงิน วาทกรรมอย่างประเทศจะล่มจมด้วยการเอาเงินมาให้คนเรียนหนังสือ มันเหมือนผีซะมากกว่า ไม่มีใครเคยเห็น แต่ทุกคนกลัว เหมือนผีค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าค่าแรงปรับเพิ่ม ข้าวแกงต้องจานละร้อยแน่ ๆ แต่เราก็ได้เห็นกันแล้วว่าค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นมาข้ามคืน ผ่านมาสิบปีปัจจัยที่ทำให้ข้าวแกงแพงขึ้น ก็ยังไม่ใช่ค่าแรงเป็นสำคัญ

ถ้าพูดถึงตัวเลขกลม ๆ เอาแค่มหาวิทยาลัยฟรี มีเงินเดือนก่อน แพ็คเกจตัวนี้จะอยู่ที่สองแสนล้านบาท เทียบแล้วประมาณ 7% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จริง ๆ เรามีเงิน ถ้าเราไปดู พ.ร.บ. งบประมาณเราจะตกใจมากที่เห็นงบประมาณในหมวด “ลดความเหลื่อมล้ำ” อยู่ที่เจ็ดแสนล้านบาท มันไปอยู่ไหน ? มันกระจายไปตามกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ไปเป็นค่าทำถุงผ้าเสริมอาชีพ กลาโหมก็มี พัฒนาสังคมและมนุษย์ก็มี แรงงานก็มี ท้องถิ่นก็มี ส่วนกลางก็มี ตั้งเจ็ดแสนล้านบาท

ไม่ใช่เราไม่มีเงิน ไม่จริงเลย จัดสรรไว้ให้แล้วด้วยซ้ำ

เรียนฟรีมีเงินเดือน ไม่ใช่เรื่องหาเงินเพิ่ม แต่เป็นเรื่องจัดการเงิน

ยามารุดดินยืนยันว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างตาข่ายสังคมรองรับทุกคนได้นั้น คือการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริง ๆ มันเลี่ยงไม่ได้เลยในการขึ้นอัตราค่าแรง ปฏิรูประบบภาษี และสิ่งสำคัญที่สุด คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

เราได้ยินในเบื้องต้นไปแล้วว่าเรามี “งบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ เต็มไปหมด สิ่งที่เราต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือการปฏิรูประบบราชการ และการที่คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ตั้งคำถาม กับการใช้งบประมาณในท้องถิ่นของเขาว่าเกิดประโยชน์ว่าคุ้มเงินแล้วจริง ๆ หรือไม่

ในการทำสวัสดิการอย่างเรียนฟรีมีเงินเดือน เผลอ ๆ เราไม่ต้องคุยกันเรื่องหาเงินเพิ่ม แค่ต้องคุยเรื่องจัดการเงินที่ถูกกันไว้เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่แล้วด้วยซ้ำ

‘เอาเงินจากไหนมาทำ’ ห่วงประเทศล้มละลาย หรือกลัวสูญเสียอภิสิทธิ์

ครั้งหนึ่ง อ.ษัษฐรัมย์ ​เคยอ่านเจอใน pantip ถึงกระทู้ของผู้หญิงคนหนึ่งที่โพสต์ว่า ทำไมคนจนถึงกินพิซซ่า ? ไม่ว่าคำตอบในกระทู้นั้นคืออะไร “แต่มันน่าตั้งคำถามมากกว่าคนที่อุตส่าห์มาตั้งกระทู้ถามแบบนี้ เขาคิดอะไรอยู่ แน่นอน เขามีคำอธิบายประมาณว่าถ้าเป็นแบบนี้แล้วเมื่อไหร่คุณจะรวยล่ะ ทำไมไม่เก็บเงินที่ใช้กินพิซซ่าไปเป็นค่าเรียนให้ลูกหรือเอาไปลงทุนแทน การกินพิซซ่ามันเป็นความฟุ่มเฟือยเกินไปสำหรับคนจนนะ”

แต่พอถามลึกเข้าไปจริง ๆ แล้ว ผู้หญิงคนนั้นเป็นห่วงครอบครัวที่นั่งกินพิซซ่าจริง ๆ รึเปล่า หรือเขารู้สึกว่า ขนาดเขายังกินไม่ได้ ทำไมไม่เป็นเขาที่ได้กิน เขาอาจรู้สึกว่าพิซซ่ามันคือพื้นที่สำหรับคนแบบเขา ชนชั้นกลางเท่านั้นที่สามารถกินได้ ถ้าวันหนึ่งคนจนหรือชนชั้นล่างเริ่มเข้ามาในพื้นที่นี้ เขากำลังรู้สึกว่าได้สูญเสียอะไรบางอย่างไปรึเปล่า เพราะฉะนั้นเช่นเดียวกัน อ.ษัษฐรัมย์ ​ไม่แน่ใจว่าคนที่ตั้งคำถามว่าเรียนฟรีมีเงินเดือนเอาเงินจากไหนมาทำ เขาห่วงว่าประเทศนี้มันจะล้มละลาย หรือจริง ๆ กำลังกังวลกับพื้นที่ ความอภิสิทธิ์อะไรบางอย่างที่เขาจะสูญเสียไปกันแน่

อ.ษัษฐรัมย์​ ให้ข้อมูลกับเราเพิ่มเติมว่า ประเทศไทย ยิ่งถ้าเทียบกับประเทศใน SEA ด้วยกัน มันมีชุดความคิดที่ผิดเพี้ยนบางอย่างอยู่ ชุดความคิดที่ว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าวัดด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ เอาตัวเลขมากางกันจริง ๆ กว่า 70% ของคนที่บอกว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง จริงไม่ใช่ แต่บางทีการรับรู้ที่เราเข้าใจไปว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง มันทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากจะเก็บพื้นที่ เก็บความอภิสิทธิ์ชนเอาไว้แต่เพียงกลุ่มเดียว ทั้งที่จริง ๆ มันไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครเลยด้วยซ้ำ

แฟนตาซีของคน 99% ฝันถึงโลกที่เสมอภาค

เด็กชายษัษฐรัมย์ เป็นตัวอย่างของพี่คนโตที่ตั้งใจเรียน รับผิดชอบต่อที่บ้าน ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย พยายามขอทุน เริ่มทำงานก็ส่งน้องเรียนต่อ แต่แม้เด็กชายษัษฐรัมย์​​จะพยายามขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเขาไม่ใช่ 1% ต่อให้เขาจะขยัน รักดีขนาดไหน เด็กชายษัษฐรัมย์คงไม่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศแล้วกลับมาทำงานในบริษัทของพ่อแม่ และต่อให้เด็กชายยามารุดดินจะใฝ่ดีจะตั้งใจเรียนแค่ไหน เขาก็ต้องเริ่มต้นวัยทำงานด้วยการมีหนี้ กยศ.แบกไปด้วยแล้วสามแสนบาท​ตั้งแต่วันแรกอยู่ดี

ถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้มองแบบอคติ ไม่ได้มองแบบแฟนตาซีลึกล้ำมากจนเกินไป เราจะเห็นชัดเจนตรงหน้าว่าโลกนี้มันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคน 99 % อย่างพวกเรา โลกที่มันเสมอภาค โลกที่คนมีจุดเริ่มต้นเท่า ๆ กันแน่นอนว่ามันเป็นโลกที่ดีกว่า โลกที่ปลอดภัยกับทุกคนมากขึ้น 

ในแง่ของความเป็นมนุษย์ มันคงจะดีที่เราจะได้อยู่ในสังคมที่ทุกคนสามารถวิ่งตามความฝันของตัวเองได้ ไม่ใช่สังคมที่คนถูกถีบถูกห้ามจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม

คำว่าความตั้งใจมันเป็นวาทกรรมคำใหญ่มากที่ถูกสร้างขึ้นจากชนชั้นนำ ถ้าตั้งใจ ชีวิตจะดี เมื่อเด็กชายษัษฐรัมย์โตขึ้นมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาสามารถชี้ให้ดูได้เลยว่านักศึกษาคนไหนบ้างที่มีความพยายาม แต่ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้จะคอยกีดขวางไม่ให้เค้าไปไหนได้ไกล ไม่ว่าเค้าจะพยายาม จะตั้งใจกับชีวิตมากแค่ไหนก็ตาม

นี่คือความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวเราทุกคน เราสามารถร่วมยินดี ร่วมเจ็บปวดกับผู้อื่นได้ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องของเรา ในวันที่ พรบ.สมรสเท่าเทียมคลอดออกมา ถึงแม้เราเป็น straight เราก็สามารถร่วมเฉลิมฉลองไปกับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ ต่อให้เราสามารถเลี้ยงพ่อแม่ได้ การมีบำนาญ 3,000 บาท มันก็คงเป็นเรื่องดีที่ผู้สูงอายุคนอื่นนอกจากพ่อแม่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราไม่ได้เสียประโยชน์อะไรเลยที่เราไม่ได้กู้ กยศ. เราไม่ได้เสียประโยชน์อะไรจากการที่ใครหลายคนนอกจากเราเขาจะทุกข์น้อยลง

อ.ษัษฐรัมย์​ ยกตัวอย่างของตึก 10 ชั้น เราขึ้นไปได้ถึงชั้น 7 ลิฟต์เพิ่งซ่อมเสร็จ เราจะไปห้ามคนไม่ให้ใช้ลิฟต์ชั้น 1-6 ให้ต้องมาเดินขึ้นบันไดเหมือนเรามั้ย เราจะไปโกรธช่างซ่อมลิฟต์มั้ย โดยสามัญสำนึกแล้วคงไม่เป็นแบบนั้น

นี่เป็นการตั้งคำถามที่ถูกแล้วจริง ๆ หรือ ? ยามารุดดินชวนเราย้อนคิด จริงอยู่การศึกษาเป็นเรื่องที่ใครขยันขวนขวายก็จะทำได้ดีกว่า แต่มันก็เป็นเรื่องของเงินด้วย เรากำลังพูดถึงเรื่องระหว่างคนสองคนที่คนหนึ่งได้นั่งอยู่ในห้องเรียนหนังสือ กับอีกคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าไปเหยียบประตูโรงเรียน เราไม่ได้กำลังคุยกันเรื่องความขี้เกียจหรือขยัน 

“เราไม่ได้กำลังทำให้ใครได้เปรียบใคร แต่เรากำลังพยายามให้ทุก ๆ คนมีจุดเริ่มต้นที่เท่า ๆ กัน”

เรียนฟรีมันง่ายกว่า

อ.ษัษฐรัมย์ อธิบายว่าแน่นอนเมื่อพูดเรื่องการเรียนฟรีมันง่ายกว่าอยู่แล้ว พรรคการเมืองส่วนมากก็ซื้อไอเดียนี้ ใช้คำว่าทุกพรรคได้เลย แต่การล้างหนี้กลับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทั้ง ๆ ที่มันคือเงินที่จ่ายออกไปแล้ว ไม่ได้ให้จ่ายเพิ่ม ส่วนมากเงินกู้ กยศ.ส่วนมากคือหนี้เสีย คือเงินที่จะไม่ได้คืน เราจะต้องเสียค่าทนายปีหนึ่งเป็นหลักพันล้านเพื่อให้คนเอาเงินมาคืน

แต่ก็น่าสนใจว่าทำไมการล้างหนี้ที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรเพิ่มกลับเป็นเรื่องยากมากกว่าจะทำให้ทุกคนเรียนฟรีซะอีก อย่างในอเมริกาก็มีแคมเปญเรื่องนี้จริงจังมาก และมีคำถามแบบนี้เหมือนกัน รุนแรงกว่าไทยด้วยซ้ำ อาจเพราะในสังคมไทยการศึกษามันถูกนิยามว่าเป็นเครื่องมือในการขยับขึ้นของชนชั้น ในขณะที่อเมริกาการศึกษาคือการยืนยันสถานะทางสังคมของชนชั้นกลางมากกว่า

ถ้าเราคิดว่าการล้างหนี้มันไม่ยุติธรรม เราก็ต้องไปดูว่าต้นตอของคนส่วนมากที่เป็นหนี้ก็คือคนที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้ว มันมีการเปรียบเทียบเรื่องนี้ไว้ว่าหากมีสัตว์ประหลาดมาไล่กินคนในหมู่บ้านทุกปี มีคนถูกไปกินเรื่อย ๆ วันหนึ่งทางการจะมากำจัดสัตว์ประหลาดตัวนี้ ครอบครัวของคนที่เคยถูกสัตว์ประหลาดตัวนี้กินไปจะออกมาพูดมั้ยว่าถ้าฆ่าสัตว์ประหลาดตัวนี้มันจะไม่เป็นธรรมกับพวกเขา เพราะลูกหลานของพวกเขาถูกกินไปหมดแล้ว ถ้าเราใช้วิธีคิดแบบครอบครัวนี้ เราจะไม่สามารถฆ่าสัตว์ประหลาดตัวนี้ได้เลย และจะมีคนถูกกินไปเรื่อย ๆ

ถ้าเรามองเห็นภาพร่วมกันว่าข้อเสนอนี้ การเรียนฟรีมีเงินเดือน การล้างหนี้ กยศ. จะนำไปสู่สังคมที่เสมอภาค ที่ทุกคนจะได้เริ่มตรงจุด start เท่า ๆ กัน มันย่อมเป็นไปได้ เอาเข้าจริงแล้วสังคมไทยมีการล้างหนี้ให้คนรวยบ่อยมากด้วยซ้ำ มูลค่าก็สูงมาก อย่างการพักหนี้สัมปทาน พักหนี้ทีวีดิจิทัล เขาคุยกันหลักหมื่นล้าน ในขณะที่มูลค่าสำหรับการยกเลิกหนี้ให้คนจนมันไม่ได้มากมายขนาดนั้นเลย เหมือนอาชญากรรมของคนจนที่มักจะถูกตีความให้ดูใหญ่โตมากกว่าของคนรวย

อย่าลืมว่าเงินก้อนนี้ เป็นก้อนที่เราจ่ายออกไปแล้วด้วยซ้ำ ไม่ใช่เงินที่ต้องเสียเพิ่มอีกแต่อย่างใด

สำหรับยามารุดดินนั้น การที่พรรคการเมืองรับนโยบายเรียนฟรีแต่ไม่รับแนวคิดล้างหนี้ กยศ. มันสะท้อนให้เห็นถึงฐานคิดในการมองเรื่องการเรียนฟรีเลย ถ้าเขามองว่าการเรียนฟรีคือสิทธิ เขาต้องคิดจัดหาให้ประชาชน มันคือการบริการที่รัฐต้องจัดให้ ไม่ใช่การแสวงหาผลกำไรหรือมานั่งบวกลบหาจุดคุ้มทุนอะไร ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่มันเคยเกิดขึ้นการจากเรียนอย่างการกู้ยืมเงิน กยศ. มันก็ต้องหายไปด้วย มันจะไม่เป็นเเหตุเป็นผลมาก ๆ ถ้าคนรุ่นหนึ่งเรียนฟรี แต่คนอีกรุ่นเป็นหนี้ ทั้ง ๆ ที่เรามีโอกาสทำให้มันฟรีสำหรับทุกคนได้

ทุกนโยบายย่อมมีคนที่ได้ประโยชน์มากน้อย หรือเสียประโยชน์ไม่เท่ากัน แต่เรื่องของการยกเลิกหนี้ กยศ.มันไม่มีใครเลยที่ต้องเสียผลประโยชน์อะไรเพิ่มเติม

เปรียบเหมือนเอาลูกไปขายเป็นทาส

อ.ษัษฐรัมย์ เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้เหมือนการเอาลูกไปขายเป็นทาส พ่อจะต้องหาเงินหมื่นนึงมาไถ่ตัวลูก สมมติว่าพ่อคนนี้หามาได้ 9900 แล้ว จู่ ๆ รัฐบาลสั่งประกาศเลิกทาส คำถามคือพ่อจะต้องรู้สึกเดือดร้อนกับการเลิกทาสหรือไม่ เขาจะให้ทุกคนคงความเป็นทาสไว้จนกว่าคนอื่นต้องจ่ายเงินเท่า ๆ กับเขาเพื่ออะไร เขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำแบบนั้น หากเขาคือคนที่เข้าใจถึงความรู้สึกนี้มากที่สุดแล้ว ย่อมไม่อยากให้ใครต้องมาเจ็บปวดเหมือนเขาอีก นี่คือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่มีในมนุษย์

เรื่องนี้เหมือนกับตอน 30 บาท ถ้าเราเคยขายบ้านขายนาเพื่อรักษาพ่อที่เป็นมะเร็ง เราจะอยากให้มีใครมาเจอแบบเดียวกับเรามั้ย ก็ไม่

แค่อยากให้ทุกคนมีจุดเริ่มต้นเท่ากัน

ยามารุดดิน ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ยังมีอาชีพ วิชาชีพอีกมากมายที่ต้องเข้ามาในระบบการศึกษาจึงจะไปถึงฝันได้ และไม่ใช่ว่ามันไม่มีต้นทุน อย่างที่กล่าวไป เราเพียงแค่อยากให้ทุกคนมีจุดเริ่มต้นเท่า ๆ กัน ใครจะไปต่อยอด ไปสู่เส้นชัยหลังจากนั้นยังไง ก็เป็นทางเลือกของแต่ละคน

อ.ษัษฐรัมย์ ชี้ให้เห็นว่าในระบบทุนนิยมนั้น มันต้องมีผู้ชนะบ้างอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นระบบนี้คงล่มสลายไปนานแล้ว แต่ความสำเร็จแบบนี้มันเป็นพีระมิด ถ้าเราเกิดมาเป็นคนที่อยู่ตรงฐาน จากสถิติของธนาคารโลก ใน 7 คน มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่จะขยับฐานะมาเป็น 25 % ข้างบนหรือชนชั้นกลาง ถามว่ามันมีมั้ย สักคนในหมู่บ้านเราแน่นอนว่ามันต้องมี แต่มันผิดปรกติแน่นอน

ถ้าในประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดี โอกาสอาจมากถึง 1 ใน 4 และมันไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างอาชีพ มันยังเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต มันคือสิทธิในการพัฒนาตัวเอง ที่เราจะได้มีโอกาสพบปะคนในสังคมที่หลากหลาย มีโอกาสขบคิดเรื่องบางอย่างนอกเหนือจากขอบข่ายงานของตัวเอง ทำไมลูกคนรวยสามารถค้นหาความหมายของชีวิต ในขณะที่ลูกคนธรรมดาเวลาจะเรียนอะไรต้องถูกตั้งคำถามว่าจบมาแล้วจะทำงานอะไร นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ถูกทำให้เป็นปรกติ พออยู่ในสังคมที่ของพวกนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องปรกติ สังคมจะกลับมากล่อมประสาทเราด้วยคำที่ว่า ทุกคนสำเร็จได้ ถ้าพยายาม ถ้าตั้งใจ โดยไม่ต้องเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นเลยไม่ต้องมีสวัสดิการด้านนี้ก็ได้

เรียกร้องคุณภาพชีวิตแบบสแกนดิเนเวีย คนจนในประเทศไม่คู่ควรหรือ

อ.ษัษฐรัมย์ เพิ่งอ่านหนังสือชื่อ เผด็จการความคู่ควร (The Tyranny of Merit) จบไป หนังสือเล่มนี้เกริ่นได้น่าสนใจมากโดยยกตัวอย่างของธุรกิจหนึ่งในอเมริกาที่ช่วยปลอม portfolio ให้กับคนที่อยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ เรื่องนี้ทำให้ชนชั้นกลางโกรธมากที่มาซื้อทางลัดแบบนี้ แต่ผู้เขียนตั้งประเด็นคำถามได้น่าสนใจมากว่า ที่ผ่านมา พวกชนชั้นกลางพวกนี้ไม่ได้กำลังซื้อทางลัดเหมือนกันเหรอ ต่างกันแค่จ่ายแพงกว่าเท่านั้น

เหมือนในหนังฉลาดเกมส์โกงที่คนรวยโกงอย่างถูกต้อง โกงแบบได้รับการยอมรับ ขณะที่คนจนทำแบบเดียวกันจะถูกมองว่าเป็นการก่ออาชญากรรม นี่คือวิธีการคิดกับคำว่าคู่ควร ใครคู่ควรที่จะมีชีวิตที่ดี คู่ควรที่จะได้รับการศึกษาที่ดี เพราะคุณไม่ได้ไปเที่ยวเล่น คุณเสียสละชีวิตวัยรุ่นไปเรียนพิเศษ เช่นเดียวกัน คุณจ่ายภาษีเยอะ คุณก็ควรที่จะได้ชีวิตที่ดี ถ้าคุณจ่ายน้อย ก็ควรมีชีวิตที่แย่ เหมือนช่วงม็อบพันธมิตรในไทย ที่เราเรียกว่าเป็นม็อบชนชั้นกลางไล่ทักษิณ

วาทกรรมอย่างหนึ่งที่มีมาตลอดคือคำพูดที่ว่าคนจนในประเทศไม่คู่ควร เพราะไม่ได้ทำงานหนักมาเสียภาษีเท่าชนชั้นกลาง นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันหยั่งรากลึกมาโดยตลอด ความคิดแบบนี้เราเรียกมันว่าเศรษฐสามานย์ การคิดหยิบจับมองอะไรเป็นตัวเลขไปทั้งหมด ใครจ่ายเท่าไหร่ควรได้เท่านั้น แต่ถ้าเรามองกลับไปจริงแล้วมูลค่าในสังคมนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานหนักของเจ้าสัวเพียงลำพัง แต่มันเกิดจากผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนงานนอกระบบทั้งนั้น ชนชั้นกลางจึงมักจะปฏิเสธแนวคิดแบบสวัสดิการ และมักจะไปสมาทานแนวคิดแบบการลดหย่อนภาษี เพราะมันคือสวัสดิการที่เขาจับต้องได้ ไปซื้อประกัน ไปซื้อกองทุน เค้าเองก็ไม่ได้อยากเสียภาษีเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับสวัสดิการด้วยซ้ำ 

ยามารุดดิน เน้นย้ำว่านี่คือจุดวัดว่าพรรคการเมืองมองว่าการศึกษาเป็นสิทธิของทุกคนจริงหรือไม่ ต้องไม่ใช่แค่เรียนฟรีมีเงินเดือน แต่ต้องไปถึงล้างหนี้ กยศ.ด้วย นี่คือบทพิสูจน์ว่าแต่ละพรรคการเมืองเข้าใจเรื่องนี้จริง ๆ หรือไม่ กำลังคิดแค่เป็นนโยบายหาเสียง หรือเห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง

สำหรับ อ.ษัษฐรัมย์ การที่คนไม่มีเงินเลยไม่ได้เรียนหนังสือถือเป็นบาดแผลใหญ่ในชีวิตของแต่ละคน บางทีแค่ค่าข้าวในระดับมัธยมที่สวัสดิการไม่ครอบคลุมมันก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ เป็นจุดตัดที่ใครคนหนึ่งจะได้เรียนหนังสือหรือไม่ด้วยซ้ำ เราไมไ่ด้กำลังพูดถึงเงินก้อนใหญ่ใช้สบายกินอยู่ง่าย ๆ แต่เราพูดถึงแค่เงินเดือนละ 3,000 เท่านั้น นี่ไม่ใช่คำถามสำหรับยุคสมัยนี้แล้วว่าคนเราควรจะได้เรียนหนังสือฟรีมั้ย แต่คำถามสำคัญคือพรรคไหน ที่จะช่วยทำให้นโยบายนี้เป็นจริงได้ในที่สุด

ประเทศนี้กำลังเปลี่ยนไป ฐานความคิดที่เกี่ยวกับความเสมอภาคมันเติบโตไปไกลมาก ในอดีต เราพูดถึงเงินบำนาญ 1,800 บาท มีแต่คนบอกมากไป ยากไป แต่ในวันนี้เมื่อภาคประชาชนช่วยกันขับเคลื่อน มีพรรคการเมืองพูดเรื่องบำนาญ 3,000 อย่างกว้างขวางแล้ว และสามารถช่วงชิงนโยบายนี้เป็นของตัวเองได้ในที่สุด นโยบายเรียนฟรีมีเงินเดือน ล้างหนี้ กยศ. ไม่ได้โฟกัสเพียงแค่เด็กวัยเรียน 5 ล้านคนที่กู้ กยศ. แต่เรากำลังพูดถึงครอบครัวของเค้าด้วย เงินแสนสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ มันคือทั้งชีวิต และถ้าพรรคการเมืองไหนสามารถปลดความกังวลข้อนี้ได้ มันจะเป็นคะแนนความนิยมที่สำคัญมาก

เรากำลังพูดคุยถึงคะแนนเสียงนับสิบล้าน เรากำลังถามหาความจริงใจจากทุกฝ่าย เพราะนับจากจุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ ประเทศไทยของเราจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป


Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565