Humankind: A Hopeful History ที่ผ่านมามนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยความคิดสุดโต่ง ความคิดที่ว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี”

Humankind: A Hopeful History หรือชื่อภาษาไทยสุดแสนไพเราะว่า ที่ผ่านมามนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ เขียนโดย RUTGER  BREGMAN แปลเป็นภาษาไทยโดย ไอริสา  ชั้นศิริ หนังสือที่ตั้งต้นด้วยคำถามใหญ่ว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนเป็นคนดีจริงหรือไม่? คล้ายกับหนังสือโลกสวยแนวพัฒนาตัวเองแต่ไม่ใช่ เพราะ RUTGER อธิบายปรากฏการณ์ความโหดร้ายของมวลมนุษยชาติที่ผ่านมาด้วยหลักวิทยาศาสตร์ และหลักฐานที่เขารวบรวมมา สำหรับเขาแล้วนั้นมนุษย์เพิ่งจะดูเลวร้ายเมื่อ…

“10,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง ในช่วงเวลาที่ของส่วนรวมส่วนใหญ่ถูกกลืนกินโดยตลาดและรัฐอย่างต่อเนื่อง มันเริ่มจากหัวหน้าเผ่าและกษัตริย์คือพวกแรก ๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน”

RUTGER กล่าวว่าก่อนหน้าที่มนุษย์จะริเริ่มมาทำฟาร์ม และปกครองกันเองผ่านการตั้งอาณาจักร มนุษย์เคยเป็นเผ่าพันธุ์ที่จิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกันกว่านี้  และวันนี้พวกเราก็ยังคงมี DNA ความจิตใจดีที่ได้รับการถ่ายทอดมาอยู่ เพียงแต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่า โดยธรรมชาติมนุษย์นั้นชั่วร้าย เพราะการมองคนว่าชั่วร้ายนั้น เป็นเรื่องง่ายกว่าดั่งที่ RUTGER  กล่าวไว้ว่า

“ความเชื่อในธรรมชาติบาปหนาของมนุษย์ ยังเป็นคำอธิบายที่เป็นระบบสำหรับการมีอยู่ของความชั่วร้ายด้วย เมื่อเผชิญหน้ากับความเกลียดชังหรือความเห็นแก่ตัว คุณบอกกับตัวเองได้ว่า “อ่อมันคือธรรมชาติของมนุษย์” แต่ถ้าคุณเชื่อว่าโดยแก่นแล้วคนเราเป็นคนดี คุณก็ต้องสงสัยว่าแล้วทำไมถึงมีความชั่วร้ายอยู่ล่ะ”

หนังสือเล่มนี้ได้พาเราไปไขข้อข้องใจอคติความชั่วร้ายของมนุษย์ ผ่านการยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต โดยผู้เขียนขอหยิบ 2 เหตุการณ์จากในหนังสือมารีวิว ผ่านคำถาม 2 ข้อ ที่อยากให้ผู้อ่านได้ตอบมันก่อนได้อ่านเรื่องราว

  1. หากคุณตื่นขึ้นมาเห็นเพื่อนบ้านของคุณ กำลังถูกคนร้ายแทงด้วยมีดคุณจะทำอย่างไร?
  2. หากคุณต้องติดเกาะกับเพื่อนที่ทำงาน 5 คน เป็นเวลา 4 เดือน คุณคิดว่าธาตุแท้นิสัยของเพื่อนคุณ จะออกมาเลวร้ายหรือเห็นแก่ตัวมากน้อยแค่ไหน

เก็บคำตอบของคุณไว้ในใจ แล้วค่อย ๆ อ่านเฉลยเรื่องจริง ที่ผมกำลังจะเล่าต่อจากนี้

ความตายของแคทธารีน ซูซาน เจโนวีส

13 มีนาคม 1964 แคทธารีน ซูซาน เจโนวีส หรือที่ทุกคนเรียกเธอว่า คิตตี้ เธออาศัยอยู่เมืองนิวยอร์ก คืนนั้นเวลา 3.15 น. เธอกำลังเดินทางกลับอะพาร์ตเมนต์เพื่อไปหาแฟนสาวของเธอ ในระหว่างที่เธอจอดรถและมุ่งหน้าไปยัง
อะพาร์ตเมนต์ เธอกลับถูกแทงด้วยมีดจากคนร้าย

เวลา 3.19 น. เสียงกรีดร้องของคิตตี้ ดังพอที่จะทำให้เพื่อนบ้านตื่น มีสองสามห้องเปิดไฟ แต่ไม่มีใครออกมา ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยแม้สักคน ชายหญิงคู่หนึ่งลากเก้าอี้มา และหรี่ไฟสลัวลงเพื่อจะได้มองเห็นภาพความสยองชัดขึ้น 

ข้อมูลข้างต้นคือข่าวที่ปรากฏออกไปสู่สายตาชาวโลก และถูกโจษจันว่าสังคมอเมริกันกลายเป็นสังคมที่ป่วยไร้ศีลธรรม 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับคิตตี้ คือความจริงอันเลวร้ายของความเป็นมนุษย์” นิวยอร์กไทม์สเคยลงข่าวไว้เช่นนั้น

แต่แล้ว RUTGER ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็ได้เริ่มต้นอ่านงานวิจัยเหตุการณ์แวดล้อม ในคืนที่คิตตี้เสียชีวิตและพบเรื่องราวที่แตกต่างออกไป

โดย RUTGER ได้หยิบยกการทดลองของบิบบ์ ลาตาเน (Bibb Latane) และ จอร์น ดาร์ลีย์ (John Darley) โดยให้ผู้ถูกทดสอบเป็นนักศึกษาที่ไม่รู้เรื่องอะไร พวกเขาขอให้นั่งอยู่ตามลำพังในห้องปิด จากนั้นผู้วิจัยจะเปิดเทปบันทึกเสียงด้วยข้อความที่ว่า “ฉันต้องการความช่วยเหลือ..ใครก็ได้ช่วยที..แค็ก ๆๆๆ (เสียงสำลัก)..ฉันจะตายแล้ว”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อผู้รับการทดสอบคิดว่าตัวเองได้ยินเสียงร้องขอให้ช่วยอยู่เพียงคนเดียว พวกเขาจะรีบพุ่งตัวออกไปที่ทางเดิน ทุกคนวิ่งออกไปเพื่อช่วยไม่เว้นเลยสักคน แต่ในบรรดาคนอีกกลุ่มที่ถูกทำให้เชื่อว่ามีนักศึกษาคนอื่นอีกห้าคนนั่งอยู่ห้องข้าง ๆ จะมีแค่ 62 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่วิ่งออกไป

ข้อสรุปจากการทดลองนี้ สอดคล้องกับผู้พักอาศัยคนหนึ่งในอะพาร์ตเมนต์ที่คิตตี้ถูกฆ่าตาย เขากล่าวกับนักข่าวในเวลาต่อมาว่า เมื่อสามีจะโทรแจ้งตำรวจ เธอกลับรั้งเขาไว้และบอกว่า

“คงจะมีคนโทรไปสามสิบสายแล้ว ไม่ต้องโทรไปหรอก”

หนังสืออธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า บางครั้งคนเราคิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน  เพราะมันเข้าท่ากว่าที่จะปล่อยให้คนอื่นจัดการ เพราะบางทีเรากลัวว่าจะทำอะไรผิดไป และในกรณีของคิตตี้ ถ้าคนที่เห็นเหตุการณ์สื่อสารกันได้ (ไม่ได้ถูกกั้นโดยผนังห้อง) มีความเป็นไปได้สูงว่ายิ่งคนมุงดูเยอะเท่าไหร่ ยิ่งนำไปสู่การช่วยเหลือที่มากขึ้นไม่ใช่น้อยลง

และที่สำคัญที่สุดของเหตุการณ์นี้คือ เมื่อมีการปะติดปะต่อเรื่องราวการเสียชีวิตของคิตตี้ใหม่ ข้อมูลบ่งบอกว่าความจริงแล้วเธอไม่ได้ตายอย่างโดดเดี่ยวอย่างที่เป็นข่าวดัง

โซเฟียร์ ฟาร์ราร์ ผู้อยู่ในอะพาร์ตเมนต์ดังกล่าว เมื่อเธอเห็นว่าคิตตี้กำลังนอนเลือดอาบ เธอก็ไม่ลังเลแม้แต่วินาทีเดียว 

“ฉันต้องวิ่งไปช่วย มันดูเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยธรรมชาติ” เธอกล่าว 

คิตตี้ไม่ได้นอนตายอย่างโดดเดี่ยวกลางเมืองใหญ่ แต่เธอตายในอ้อมกอดของเพื่อนบ้านต่างหาก

ตัวการสำคัญที่ทำให้เรื่องราวความดีของโซเฟียร์ไม่เคยถูกบันทึกไว้ก็คือข่าว เมื่อเคยมีหนังสือพิมพ์มาขอสัมภาษณ์เหตุการณ์ที่เธอทำในคืนนั้น แต่เนื้อหาข่าวกลับออกไปว่า 

“ในคืนดังกล่าวเธอไม่อยากเข้าไปยุ่ง”

RUTGER กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ “ข่าวคือยาเสพติด ก่อให้เกิดความรับรู้แบบผิด ๆ” เพราะข่าวมักจะนำเสนอแต่เรื่องไม่ปกติ เพื่อขายเรื่องราวสะเทือนอารมณ์  แต่เขาก็กล่าวว่าการเขียนข่าวหลายรูปแบบก็ช่วยให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น ทางที่ดีเราจึงควรติดตามข่าวประเภทวิเคราะห์เจาะลึก มีที่มาน่าเชื่อถือมากกว่าที่จะมานั่งติดตามข่าวทั่วไปรายวัน และไม่ใช่แค่ข่าวเท่านั้น แม้แต่นิยาย(เรื่องแต่ง) ก็สามารถเป็นบ่อเกิดของความเข้าใจผิดต่อคนทั้งโลกได้เช่นกัน?

วัยเยาว์อันสูญสิ้นของจริง

กาลครั้งหนึ่งบนเกาะร้างห่างไกลที่เครื่องบินตก ผู้รอดชีวิตมีเพียงเด็กชายชาวอังกฤษ 5 คนที่ต้องเอาตัวรอดบนเกาะแห่งนั้น ในวันแรกเหล่าเด็กชายสร้างระบบที่คล้ายประชาธิปไตยขึ้นมา แต่หลังจากนั้นไม่นาน เหล่าเด็กชายก็ตกอยู่ในความหวาดหวั่นตื่นกลัวสัตว์ร้ายที่พวกเขาเชื่อว่าซ่อนตัวอยู่บนเกาะ 

ซึ่งในความเป็นจริงสัตว์ร้ายเพียงตัวเดียวที่มีอยู่บนเกาะ ก็คือพวกเขาเอง พวกเขาเริ่มหาสีมาทาหน้า ถอดเสื้อผ้า และเกิดแรงกระตุ้นอันรุนแรงที่จะกัดกันขึ้นมา ในตอนท้ายของเรื่องกาลครั้งหนึ่งนี้ มีนายทหารเรือมาพบพวกเขา เด็กสามคนตายบนเกาะ ผู้นำของกลุ่มเด็กชายที่ครั้งหนึ่งเคยสุภาพและทำตัวดีร้องไห้ออกมา

“ราล์ฟหลั่งน้ำตาให้กับวัยเยาว์อันสิ้นสูญ” และให้กับ “ความดำมืดในหัวใจคน…”

เรื่องราวข้างต้นถูกแต่งขึ้นมาโดยคุณครูชาวอังกฤษนามว่า วิลเลียม โกลดิง มีชื่อหนังสือว่า วัยเยาว์อันสิ้นสูญ (Lord of the Flies) เป็นหนึ่งในวรรณกรรมขึ้นหิ้งของศตวรรษที่ยี่สิบ ขายได้หลายสิบล้านเล่มทั่วโลก ผลงานชิ้นนี้ส่งผลให้โกลดิง ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และทุกวันนี้วัยเยาว์อันสิ้นสูญ ก็เป็นมากกว่าเรื่องแต่งสำหรับผู้คน แต่มันคือเรื่องราวที่เสนอภาพมนุษย์แบบสัจนิยม โดยใช้เด็กที่เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์

RUTGER เองเคยอินกับวรรณกรรมวัยเยาว์อันสิ้นสูญเมื่อครั้งวัยรุ่น แต่เมื่อเขาเติบโตและอ่านมันอีกครั้ง เขาเริ่มขุดลึกไปในชีวิตของผู้เขียน เขากลับพบว่าโกลดิงเป็นคนที่ไม่มีความสุขในชีวิต เขาติดเหล้ามีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า เป็นพ่อที่ทุบตีลูก ๆ เขาสารภาพว่าเพราะเขามีธรรมชาติเป็นแบบนี้ จึงทำให้เขาเขียนวัยเยาว์อันสิ้นสูญขึ้นมา

แต่ในหนังสือ HumanKind A HOPEFUL HISTORY ได้พาเราไปรู้จักกับเกาะอะตา ในปี 1965 ปีที่มีเด็กชาย 6 คนติดอยู่บนเกาะจริง  มาโน โทเทา คือหนึ่งในเด็กหนุ่มคนนั้น เขาได้เล่าเรื่องราวการติดเกาะของพวกเขาไว้ในหนังสือเล่มนี้

มิถุนายน 1965 เด็กนักเรียนประจำที่เซนต์ แอนดรูวส์ ในเมืองนูกูอะโลฟา ประเทศตองงา กำลังเบื่อหน่ายจนขาดสติจากการเรียน พวกเขาโหยหาการผจญภัยไม่ใช่การบ้าน และชีวิตในทะเลที่ไม่ใช่โรงเรียน

พวกเขาวางแผนหลบหนี โดยมีเป้าหมายไปไกลถึงนิวซีแลนด์ โดยได้ยืมเรือมาจากชาวประมงคนหนึ่ง พวกเขาเตรียมเสบียงทั้งหมดด้วยกล้วยสองกระสอบ มะพร้าวอีกนิดหน่อย และเตาแก๊สเล็ก ๆ โดยที่ไม่มีใครนึกถึงแผนที่หรือเข็มทิศ พวกเขาเริ่มออกเดินทางในวันท้องฟ้าแจ่มใส

แต่คืนหนึ่งกลุ่มเด็กชายได้ทำพลาดพวกเขาเผลอหลับกันหมด และตื่นมาพบกับยอดคลื่นรอบตัว และหางเรือก็หักลงมา พวกเขาต้องลอยลำอยู่แปดวัน โดยที่ไม่มีอาหารและน้ำดื่ม กลุ่มเด็กชายพยายามจับปลาและดื่มน้ำฝน จนกระทั่งพวกเขาเห็นเกาะเล็ก ๆ ที่ขอบฟ้าเกาะอะตา และต้องใช้ชีวิตอยู่บนเกาะนั้นถึง 4 เดือน

โดย ปีเตอร์ วอร์เนอร์ กัปตันเรือผู้ที่ไปช่วยเหลือเด็กทั้ง 6 คน ได้จดบันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ในชีวประวัติของเขาว่า 

พวกเด็ก ๆ ได้สร้างชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นมา มีการเพาะปลูก ทำที่กักน้ำฝน มีโรงยิมพร้อมที่ยกน้ำหนัก สนามแบดมินตัน และกองไฟที่ถูกจุดเอาไว้แบบถาวร พวกเขาแบ่งหน้าที่กันอย่างเคร่งครัด มีบางครั้งที่เกิดการทะเลาะกัน แต่พวกเขาจะแก้ไขปัญหาโดยการบังคับให้แต่ละฝ่ายแยกย้ายไปอยู่คนละฟากของเกาะ หรือแม้กระทั่งมีคนขาหัก แต่พวกเขาก็สามารถดูแลกันและกันได้ จนกระทั่งวันที่ 11 กันยายน 1966 ที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือออกมา

“วัยเยาว์อันสิ้นสูญของจริงคือเรื่องราวของมิตรภาพและความซื่อสัตย์”

 RUTGER กล่าวว่าเรื่องราวเช่นนี้ควรถูกนำไปสร้างเป็นบทละคร ภาพยนตร์ แต่มันกลับเป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ในขณะที่เรื่องแต่งของวิลเลียม โกลดิง กลับยังมีคนอ่านกันอย่างแพร่หลาย  RUTGER ได้อ้างคำพูดของนักวิทยาศาสตร์สื่อ จอร์จ เกิร์บเนอร์ ที่ได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า

“คนที่เล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมคือคนที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์อย่างแท้จริง”

เรื่องราวของ แคทธารีน ซูซาน เจโนวีส และวัยเยาว์อันสูญสิ้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวที่หนังสือ HumanKind A HOPEFUL HISTORY หยิบยกขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์ที่แตกต่างออกไปจากที่เรารับรู้

และหากเราสังเกตให้ดีก็จะพบว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังนั้น ต้นเหตุของอคติล้วนเกิดขึ้นจากการสื่อสาร ทั้งเรื่องจริงจากข่าวฆาตกรรมแคทธารีน ซูซาน เจโนวีส ที่นักข่าวเลือกไม่นำเสนอให้ครบทุกแง่มุม อันนำไปสู่ความเข้าใจผิดต่อเหตุการณ์ในคืนนั้น รวมทั้งเรื่องแต่งอย่างนิยายวัยเยาว์อันสูญสิ้น ของวิลเลียม โกลดิง ที่แต่งขึ้นมาจากมุมมองและจินตนาการทางด้านลบของผู้เขียน แต่กลับทรงอิทธิพลและครอบงำความคิดของคนทั่วโลกได้

ไม่เพียงเท่านี้ ภายในหนังสือ Humankind: A Hopeful History ยังมีเรื่องราวพลิกมุมมองที่เรามีต่อประวัติศาสตร์อีกหลายเหตุการณ์ เช่น

กำเนิดโฮโมปั๊ปปี้ เรื่องราวที่บอกว่ามนุษย์เหนือกว่าเผ่าพันธุ์อื่น เพราะความเป็นมิตรหาใช่สติปัญญา

เหตุการณ์เมื่อเหล่าทหารออกมาจากสนามเพลาะฉลองคริสต์มาสในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อมนุษย์ไม่ได้ถูกกำหนดมาให้ทำสงครามกัน

เหตุการณ์ทหารผู้ไม่ยอมยิงในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนปืน แต่เป็นการฆ่ากันในแบบที่ไม่เห็นหน้า

และหลังเหตุการณ์ที่เอาชวิตซ์ กับการทดลองที่ลวงโลกของฟิลิป  ซิมบาร์โด และสแตนลีย์ มิลแกรม เมื่อจริง ๆ แล้วมนุษย์เราไม่ได้ไร้ความคิดที่จะทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว แต่ที่พวกเขาทำชั่วหรือทำตาม เพราะเชื่อว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ดีอยู่

“คนเราชั่วช้าเพราะถูกหลอกปลูกฝังล้างสมองและบงการ”

คงจะเป็นคำสรุปที่ไม่โลกสวยจนเกินไป ที่ผมได้รับจากหนังสือเล่มนี้ และเมื่อลองย้อนกลับมาดูเรื่องใกล้ตัวในสังคมไทย หลาย ๆ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น 6 ตุลา 2519 , การสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 รวมถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ คฝ. ต่อการชุมนุมในปี 2563 – 2564

พวกเขาผู้ใช้ความรุนแรงต่างกลายเป็นคนไร้จิตใจเมื่อถูกปลูกฝังแนวคิดว่าความรุนแรง คือความดีงามในรูปแบบที่ชื่อว่ารักชาติ ทั้งที่จริงแล้วเราควรจะรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก่อนจะไปรักชาติที่ไร้หัวใจ  

หมายเหตุ: ภาพถ่ายประกอบบทรีวิว เป็นการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ผู้คนตามท้องถนน ด้วยคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนดีหรือคนเลว”

หนังสือ: Humankind: A Hopeful History
ผู้เขียน:  Rutger Bregman
ผู้แปล: ไอริสา ชั้นศิริ
สำนักพิมพ์: Be(ing)

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี