- ค่าสอบ Gat/Pat 140 บาทต่อวิชา
- ค่าสอบ 9 วิชาสามัญ 100 บาทต่อวิชา
- ค่าสอบ กสพท. 800 บาท
- ค่าอันดับแรก 150 บาท
- อันดับต่อไปอันดับละ 50 บาท
- อันดับที่ 6 ขึ้นไปอันดับละ 100 บาท
- 10 อันดับ 900 บาท
เคยคิดเหมือนกันไหมว่า ทำไมต้องสอบเยอะและจ่ายเยอะขนาดนี้
ก็อาจจะ…คิดเหมือนกันหรือไม่คิดเหมือนกัน การสอบเยอะก็ตามมาด้วยค่าสอบที่เยอะขึ้นตาม ตัวเงินอาจดูน้อยสำหรับบางคน แต่ก็มากเกินกว่าที่อีกคนจะหาได้ เมื่อเทียบกับค่าครองชีพของประเทศไทย เหมือน “สอบได้แต่ไม่ได้สอบ”(เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าสอบ) คนรุ่นนี้ที่โตมากับวงเก็ตสึโนวาที่มักตั้งชื่อเพลงที่มีความขัดแย้งกันเองก็คงพอจะนึกออก เพราะถ้าคำนวณง่าย ๆ ถ้าใครอยากจะเข้าคณะแพทย์
เขาต้องจ่ายเงินค่า Gat/Pat 3 วิชา 420 บาท
จ่ายค่าสอบ 9 วิชาสามัญ 7 วิชา 700 บาท
และจ่ายค่าสอบ กสพท. 800 บาท
รวมกันแล้วก็จะอยู่ที่ 1,920 บาท
De/code ได้ไปคุยกับ รัญ นักเรียนจาก Facebook Page นักเรียนเลว รัญกำลังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ในมุมมองของคนที่ทำระบบ TCAS ถึงสาเหตุความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย ที่ทำให้ผู้คนมากมายต้องถูกผลักออกจากระบบการศึกษา
ค่าสอบ 900 บาท…แพงไปไหม สะท้อนมุมมองคนออกแบบระบบ TCAS
“สำหรับผม เป็นคนชนชั้นกลางก็คิดว่าเยอะไป เพราะว่ามันไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องจ่าย มันควรเป็นสิทธิ์ของเราที่จะเข้าถึงการศึกษา แล้วหากลองคิดถึงคนที่เขารายได้ต่ำ แทบจะตัดสิทธิ์ในการศึกษา เพราะฉะนั้นเงิน 900 บาท ผมคิดว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร” รัญ กล่าว
หลังจากเราได้พูดคุยในมุมของนักเรียน ความสงสัยต่างๆ จึงไปตกที่ ดร.ชาลี ว่า 900 บาท ในมุมมองของคนที่ออกแบบระบบ TCAS นั้นเขาคิดเห็นอย่างไร
“เป็นคำถามที่ตอบยาก 900 บาท ต้องเทียบกับเซอร์วิสที่เราได้กลับมา แล้วมันสอดคล้องกับสิ่งที่เราได้รับหรือเปล่า อาจจะเล่าที่มาให้ฟังว่า 900 บาทมาจากไหน ในปี 64 มีการรวมรอบ 3 กับรอบ 4 เข้าด้วยกัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด มันทำให้ต้องเร่งกระบวนการสมัครให้ทันเปิดเทอม ก็เลยทำให้รวมรอบเข้าด้วยกัน หลังจากรวมรอบเข้ากัน เปลี่ยนจากการเลือก 6 อันดับ กับ 4 อันดับ รวมเป็น 10 อันดับ คิดราคาใหม่ที่ 900 บาท”
มุมมองเงินค่าสอบของหลายคนอาจมองได้ต่างกัน แต่สิ่งที่ไม่ได้ต่างกัน คือค่าสอบที่ยังคงอยู่ ทั้ งๆ ที่มันเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนควรจะได้ตามอย่างที่รัญบอก นอกจากค่าอันดับที่ต้องจ่าย ก็ยังมีทั้งค่าสอบอีกแต่ละวิชา 100-140 บาท แล้วยังมีทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหารต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องใช้ และปัญหาที่เพิ่มเข้ามา คือการสุ่มสถานที่สอบ ที่เวลาเราเลือกที่สอบเราจะไม่รู้เลยว่า เราจะได้สอบที่ไหน ใกล้หรือไกล อาจจะต้องมีนโยบายช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทางหรือไม่
ดร.ชาลีได้เล่าว่า หากคุณไม่เลือกสนามสอบที่ยอดนิยมมาก 5 อันดับ โอกาสที่จะตกทุกรอบทุกครั้งก็มีเช่นกัน แต่เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ระบบจะทำการเลือกสนามสอบที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ข้ามจังหวัด เช่น อันดับ 1 เราเลือกไว้ที่ปทุมธานี ระบบก็จะเลือกสนามสอบแรกที่ใกล้ที่สุดกับที่เราเลือกไว้ โอกาสที่จะโดนไปสอบไกล ๆ แทบจะไม่มีมีเลย ดร.ชาลีกล่าวว่า
“เพราะฉะนั้นควรเลือกสนามสอบที่คิดว่าตัวเองไปได้ ภายใน 5 อันดับ เพื่อที่จะไม่เป็นภาระในการเดินทาง”
แล้วค่าอันดับต้นทุนคืออะไร ทำไมถึงเก็บเงินในปริมาณที่หลายคนมองว่าแพง จนเราได้รู้ถึงต้นทุนของค่าจัดอันดับว่ามันมาจากไหน โดยในระบบ TCAS จะมีการจัดอันดับ ซึ่งความผิดพลาดต้องไม่มีเลย ทำให้ต้องเกิดการทำบล็อกเชนเพื่อเก็บข้อมูล โดยดร.ชาลียังได้พูดถึงการที่ทาง ทปอ.ได้จ้างบริษัทซอฟต์แวร์ประมาณ 6-7 บริษัท ด้วยความซ้ำซ้อนของระบบ ทำให้ราคาที่ต้องจ่ายก็สูงขึ้นตามไปด้วย
กรีดเลือดเนื้อเพื่ออนาคต
“900 บาทเลือก 10 อันดับกับอนาคตตัวเองอีก 20-30 ปี คนมันก็ต้องยอมทุ่ม”
อย่างที่ทุกคนได้เห็นสิ่งที่รัญกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออดีต การเข้าไปเรียนและจบในระดับมหาวิทยาลัย ถือเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนฐานะของคนคนหนึ่งได้ ทำให้หลายครอบครัวมักผลักดันลูกให้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดี แม้จะต้องหาเงินยากแค่ไหน ก็ต้องทำให้ได้
แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มาตรา 54 กล่าวไว้ว่า “รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สังคมหรือตลาดแรงงานในปัจจุบัน ก็ไม่ค่อยมีงานสำหรับคนจบการศึกษาภาคบังคับมากเท่าไหร่ เพื่อแลกกับเงินที่แทบจะไม่พอสำหรับค่าครองชีพ ในความจริงเรื่องค่าสอบในรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีในส่วนนี้ เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันตลาดแรงงานก็ต้องการคนที่มีการศึกษาที่ดี แต่กลับไม่มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ซึ่งจริง ๆ แล้วค่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยควรจะเป็นรัฐสวัสดิการ
ระหว่าง Entrance กับ TCAS ระบบไหนสร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่ากัน
“ส่วนตัวให้ Entrance ถ้าอ้างอิงจาก Entrance ในสมัยก่อน ตั้งแต่ช่วงปี 2504 ถึงปี 2542 คือมหาวิทยาลัยออกข้อสอบเอง แบบไปสอบที่ไหนก็ได้ ข้อสอบไม่เหมือนกันเลยสักที่ แล้วคนรวยเขาก็จะสอบได้มากที่กว่า เขามีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่พร้อม สำหรับคนอยากจะศึกษาต่อ แต่ว่าไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่ดีขนาดนั้น เขาอาจจะสอบได้สองที่ หรือที่เดียวด้วยซ้ำ หรืออาจจะไม่สามารถสอบเลย” รัญกล่าว
โดย TCAS ในปัจจุบันนั้นยึดหลักอยู่ 3 ประการ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำคือ
– หนึ่งคนจะสามารถครอบครองสิทธิ์ได้เพียง 1 สิทธิ์เท่านั้น
– นักเรียนมัธยมปลาย ต้องเรียนในห้องเรียนจนจบหลักสูตร
– ลดการวิ่งรอบสอบ ใช้การสอบส่วนกลางเป็นหลัก
ดร.ชาลี บอกล่าว่า TCAS นั้นมีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด เขาได้ยกตัวอย่างระบบก่อนที่จะมี TCAS ที่นักเรียน 1 คนมีสิทธิ์สามารถวิ่งรอบสอบได้หลายสถาบัน ทำให้คนรวยได้เปรียบมากกว่าคนจน ซึ่งมันเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก เพราะในแต่ละการสอบก็มีค่าสมัคร แล้วก็ต้องเสียค่าเดินทางอีก เพราะต้องเดินทางไปสอบที่มหาวิทยาลัยนั้น ทปอ.เลยได้จัดเป็นข้อสอบกลาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และในปี 67 จะมีการควบรวมวิชาบางอัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนต่อวิชา
เด็กอยู่ตรงไหนของสมการในระบบ
“ผู้มีอำนาจเขาไม่ฟังคนใช้ระบบ คนที่ใช้ระบบเขาจะบอกได้ว่าตรงนี้ไม่ดีนะ แต่ว่าคนที่เขามีอำนาจ เขาจะคิดว่า ฉันคิดมาแล้วมันต้องออกมาดี เสียงมันก็ก้องอยู่แค่ในห้องของตัวเขาเอง” รัญ กล่าว
เหตุการณ์ในตอนที่ผู้มีอำนาจไม่ฟังเด็ก เช่น #เลื่อนสอบ ก็สะท้อนให้เห็นว่า เด็กต้องพยายามในสิ่งที่พวกเขาควรได้รับมากแค่ไหน เช่น เวลาสอบที่อยู่ในช่วงเดียวกับการสอบปลายภาค เป็นต้น แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ฟัง แล้วคิดแค่เหตุผลของตัวเอง โดยผู้ใหญ่เหล่านั้นมองภาพรวม แต่ไม่ได้มองถึงความเครียดที่เด็กเหล่านั้นได้รับ
ต้นตอของความเหลื่อมล้ำมาจากค่าผ่านทาง “มหาวิทยาลัย”
ไม่ว่าในปัจจุบันหรืออดีต ปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังคงอยู่ รัญได้กล่าวถึงการที่โรงเรียนหรือบุคลากรที่มีคุณภาพส่วนใหญ่ ก็มักจะอยู่แต่ในกรุงเทพฯ สิ่งที่ควรจะแก้ปัญหา คือการกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพออกไปยังที่ต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้รัญยังได้กล่าวถึงการมีอยู่ของความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงโรงเรียนกวดวิชา หากการศึกษามีคุณภาพเท่ากัน โรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้นก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะถึงจะไปเรียนอย่างไร ก็เหมือนแค่ได้ไปทวนความรู้อีกทีเท่านั้น ไม่ได้ไปเพิ่มความรู้เหมือนในปัจจุบัน แล้วสุดท้ายรัญก็ได้กล่าวว่า
“การศึกษาต้องไม่มีค่าใช้จ่าย มันต้องเป็นการจัดการจากภาครัฐที่มาจากภาษีประชาชน ต้องไม่คิดค่าสอบเพราะนี้คืออนาคตของเด็ก อนาคตของชาติ แล้วถ้าคุณผลักเขาให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคอุดมศึกษา มันจะผลิตแรงงานที่มีความรู้ ความเข้าใจ รองรับตลาดแรงงานได้อย่างไร”
ปัญหาของระบบ TCAS มีอยู่ไม่ว่าจะตอนเริ่มต้นหรือในปัจจุบัน ในทวิตเตอร์ก็ได้มีการติด #ในเกือบทุกปี ด้วยความสงสัยว่า ทปอ.นั้นได้นำมาปรับใช้หรือเปล่า หรือปิดหูปิดตาที่จะรับฟัง
ดร.ชาลีกล่าวว่า “อย่างปีที่ผ่านมา ผู้ปกครองเสนอว่า ทำไมเราไม่มีการประมวลผลมากกว่า 1 ครั้ง เพราะแม้ว่าเราจะประมวลผลไปรอบแรกแล้ว จะมีคนติดอันดับที่ตัวเองไม่ชอบก็มีการสละสิทธิ์ ทำให้เกิดที่ว่างทันที ถ้าเราเอาที่ว่างเหล่านั้นที่คนสละสิทธิ์ ก็เลยเกิดการประมวลผลครั้งที่ 2 ให้ทุกคนแสดงความจำนง เราก็นำข้อเสนอแนะข้อนี้มาพัฒนาระบบ ทุกครั้งที่เราพัฒนาระบบใหม่ ก็จะมีคนบอก TCAS เปลี่ยนอีกแล้ว เราก็พยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แน่นอนว่าบางครั้งเราไม่อาจมองเห็นภาพทั้งหมดล่วงหน้า แต่เราพยายามจะไม่อยู่นิ่ง แล้วก็จะพัฒนาระบบ TCAS ให้ดีขึ้นไปทุกปี”
สวัสดิการทางการศึกษาที่เป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้
สวัสดิการทางการศึกษาที่ภาครัฐควรจะเป็นผู้ให้ แต่ทำไมดูแล้วกลับเป็นเหมือนผู้รับมากกว่า ในปัจจุบันแนวทางในการช่วยค่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่มี แล้วในอนาคตระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย รัฐจะเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับได้หรือเปล่า
“คนที่สามารถจ่ายค่าสอบได้ ก็น่าจะจ่ายต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับทางรัฐบาลมากนัก ส่วนคนที่มีปัญหา ติดขัดในเรื่องค่าใช้จ่าย มันก็น่าจะดีถ้ามันจะมีสักกองทุนให้สำหรับคนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เข้ามาขอ แล้วก็รับเงินสนับสนุนไป แต่ในลักษณะของการจ่ายให้ทุกคนทุกบาท ยังไม่แน่ใจว่า ภาระงบประมาณจะสูงขนาดไหน”
รัญได้ทิ้งท้ายกับเราว่า “เราคิดว่ารัฐยังสามารถสนับสนุนเด็กได้มากกว่านี้ แล้วเขาควรจะรับฟังเด็กให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ทำอะไรตามใจตัวเอง อยากจะฝากไปถึงคนที่มีอำนาจ อย่างน้อยก็ฝากเห็นใจเด็ก มันไม่ใช่เด็กทุกคนที่เขาจะพร้อม แล้วการศึกษาคุณไม่มีสิทธิ์ตัดสินว่าเขามีเงินหรือไม่มีเงิน การศึกษาควรคัดคนที่ความรู้ไม่ใช่เงิน”