ดินแดนแห่งการซ้อมทรมาน วิสามัญ และอุ้มหาย - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ผมเป็นคนชายแดนใต้ที่ตรงนั้นเล่าลือกันว่าเป็นดินแดนแห่งการซ้อมทรมาน วิสามัญ และอุ้มหายผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา มีคนถูกจับกุมเข้าเกณฑ์เสี่ยงต่อการทำร้ายทรมานกว่า 7,000 คน แต่นั่นเป็นเพียงในสามจังหวัดชายแดนใต้ แล้วทั้งประเทศจะมากกว่านี้อีกกี่เท่า ก็ไม่มีใครทราบ” 

คำปราศรัยของสุฮัยมี ลือแบซา ตัวแทนเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ บริเวณหน้ารัฐสภา ในช่วงเช้าของวันที่ 9 กันยายน 64 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มเครือข่ายญาติของผู้ถูกทรมาน – อุ้มหาย ภาคประชาสังคม และนักกิจกรรมประชาธิปไตย ร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ก่อนเข้ายื่นหนังสือผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ทรมาน – อุ้มหาย ถูกพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมสภาสมัยสามัญ 

ความตื่นตัวในการผลักดัน พ.ร.บ. ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาการทรมาน – อุ้มหาย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์คลุมถุงดำผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิตที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ ล่าสุด ยิ่งตอกย้ำว่ากฎหมายและระบบอำนาจของรัฐไทยยังมีช่องโหว่รอยรั่วให้การซ้อมทรมานยังคงอยู่ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีคนเจ็บ คนตาย เช่นที่สุฮัยมีบอก เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่ถูกพูดถึงให้ได้ยินเท่าไรนัก เวลานี้จึงเป็นโอกาสที่สังคมไทยจะได้ทบทวนและพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะไม่ควรมีใครสมควรถูกซ้อมทรมาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

De/code พูดคุยกับสองนักสิทธิมนุษยชนถึงการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนแรกคืออัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจซึ่งทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง อีกคนคือพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม


ถุงดำดับชีวิต ภาพยืนยันความรุนแรงโดยรัฐ

“ตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” คือประโยคที่เราต่างถูกกล่อมเกลามาตั้งแต่เด็ก แต่ยิ่งโตยิ่งเห็นความจริงก็ยิ่งรู้สึกว่านั่นเป็นเรื่องโกหก วิดีโอที่ตำรวจคลุมถุงดำผู้ต้องหาหลุดออกมาให้เห็น ยิ่งตอกย้ำให้หมดความเชื่อมั่นต่อองค์กรที่ควรจะเชื่อมั่นมากขึ้น 

สำหรับพรเพ็ญแล้ว เธอยืนยันว่าก่อนหน้านี้ตนและคนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องการซ้อมทรมานทำได้เพียงฟังผู้เสียหายว่าเขาถูกกระทำแบบไหน อย่างไร แต่ไม่เคยเห็นภาพหรือวิดีโอจริง ๆ กรณีคลุมถุงดำที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ จึงช่วยเผยเปิดว่าสิ่งที่เคยฟังนั้นเป็นเรื่องจริง  

“จากภาพเราไม่เห็นว่าก่อนหน้านั้นผู้เสียหายถูกกระทำอะไรบ้าง แต่ต่อมาเราพบว่ามันเป็นการล่อซื้อยาเสพติด ซึ่งว่ากันตามตรงช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมก็ตั้งต้นมาตั้งแต่การปราบปรามยาเสพติดนี่แหละ เพราะเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจกระทำหลายประการที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และขาดการตรวจสอบ อย่างตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สามารถจับกุมและควบคุมบุคคลใดไว้ที่เซฟเฮาส์เป็นเวลาสามวัน ทั้งยังสามารถล่อซื้อ กำหนดสายลับในการดำเนินคดียาเสพติด ขณะที่เมื่อคดีเข้าสู่ศาล ศาลก็มักโน้มเอียงเชื่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า เพราะผู้ต้องหาคดียาเสพติดมักถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดีก่อนแล้ว วิธีคิดเช่นนี้ค่อนข้างมีปัญหาไม่น้อย” 

“อีกประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีนี้คือถ้าผู้ถูกสอบสวนถูกทำให้ตายจริง ๆ ต้องมีกระบวนการที่มีกลไกตรวจสอบ มีอัยการ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แพทย์ ทำการชันสูตรพลิกศพ เพื่อให้การไต่สวนการตายเป็นไปอย่างโปร่งใส คำถามคือขณะที่ผู้เสียหายกำลังจะสิ้นใจตายที่สถานีตำรวจ ตำรวจได้ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ที่จะช่วยชีวิตเขา ณ ตรงนั้นถ้าเขาสิ้นชีวิตแล้ว ต้องชันสูตรที่นั่นเลย แต่ตำรวจรีบนำส่งพยาบาล แล้วหาสาเหตุการตายอื่นมาอ้างถึง แนวโน้มของเรื่องนี้จึงต้องจับตาดูว่าเราจะนำคนผิดมาลงโทษได้หรือไม่”


ทรมานซ้ำ ๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้

เหตุการณ์คล้าย ๆ กับที่นครสวรรค์ อาจเกิดขึ้นที่ใดด้วยก็ได้ในสังคมไทย เพราะระบบที่เอื้อให้การซ้อมทรมานเป็นความผิดที่เป็นความลับส่งผลให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐก้าวข้ามเส้นสิทธิมนุษยชนได้ง่ายขึ้น

กระนั้นก็ดีพื้นที่ ๆ เรื่องน่าอดสูเช่นนี้เกิดถี่และต่อเนื่องคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่ถูกขีดกรอบด้วยกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มายาวนานกว่า 17 ปี

รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 เปิดเผยว่าระหว่างปี 2547 – 2558 มีผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานทั้งสิ้น 54 ราย และทั้งหมดเป็นผู้มีเชื้อชาติมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม โดยพวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ต้องหาเกี่ยวกับคดีความมั่นคง

ขณะที่อัญชนาเล่าว่า “รูปแบบการทรมานที่ใช้ในสามจังหวัดฯ หลัก ๆ มีสองด้าน คือทางด้านร่างกาย และจิตใจ สำหรับร่างกาย นั้นมีตั้งแต่ทุบตี ตบหน้า แช่ในถังน้ำแข็ง เอาคีมมาถอนฟัน บังคับให้เปลือยกาย รบกวนการนอน อย่างที่เราเองก็คิดไม่ถึงว่ามันจะเกิดขึ้นจริง แต่คำให้การของผู้เสียหายก็แสดงให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นกับเขาจริง ๆ ส่วนด้านจิตใจก็จะมีตั้งแต่การดึงอัณฑะ การล่วงละเมิดทางเพศ นำผู้หญิงเข้ามาในห้องขณะที่ผู้เสียหายเปลือยกาย และอื่น ๆ”

“ในสามจังหวัดก็มีวิธีการคลุมถุงดำ ซึ่งเรียกกันว่าการทำให้ขาดอากาศหายใจ มีทั้งแบบเปียกและแห้ง แบบเปียกคือใช้ถุงพลาสติกคลุมที่ศีรษะ แล้วเอาน้ำราดที่ถุงพลาสติกเพื่อให้ถุงพลาสติกปิดปากปิดจมูก หายใจลำบาก วิธีการที่สองคือ water boarding โดยให้ผู้เสียหายนอนและเอาผ้ามาปิดที่หน้า เอาน้ำราด ให้รู้สึกเหมือนจมน้ำ ซึ่งวิธีนี้ก็จะทำให้หลอดลมมาปิดที่กล่องเสียงทำให้ไม่สามารถหายใจได้ นอกจากนี้ยังมีการกดลงไปในบ่อ ถังน้ำ การโยนไปในคูน้ำ กระนั้นวิธีการเหี้ยมโหดเหล่านี้ก็เป็นคำให้การที่บันทึกได้จากผู้ซึ่งเคยถูกควบคุมตัว เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงแค่ไหน เพราะเข้าถึงหลักฐานได้ยากมาก ที่ทำได้คือสัมผัสถึงบาดแผลทางด้านจิตใจซึ่งยังคงฝังอยู่ภายในอันร้าวลึกของผู้เสียหายเอง”


บาดแผลที่ยากจะลืมเลือน

เมื่อการซ้อมทรมานเกิดขึ้นกับใครสักคน ไม่เฉพาะแต่เพียงเขาคนนั้นที่ต้องรับเคราะห์กรรมจากความเจ็บปวด คนในครอบครัว ญาติมิตร ล้วนมีบาดแผลในใจกันทั้งสิ้น

ในสามจังหวัดฯ เองก็เป็นเช่นนั้น อัญชณาเล่าว่า “ชายบางคนที่ถูกซ้อมทรมาน เมื่อพ้นโทษออกมา ก็ไม่อาจใช้ชีวิตปกติได้ บ้างอาจหลบหนีออกจากบ้านเพราะกลัวจะถูกควบคุมตัวซ้ำอีก ตรงนี้ส่งผลให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบทางด้านร่างกายนั้นมีตั้งแต่หูไม่ได้ยิน เดินไม่สะดวก ขาอ่อนแรง ส่วนด้านจิตใจก็มีตั้งแต่ซึมเศร้า วิตกกังวลเกินเหตุ และที่ร้ายแรงก็คืออาการ PTSD (Post traumatic stress disorder) ซึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ เช่นเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะตกใจกลัว บางคนทนเสียงดังไม่ได้ต้องไปหลบตัวในสวนยางพารา  เวลาผ่านด่านจะสั่นกลัว หายใจแรง รวมทั้งการเดินทางไปทำงานก็มีอุปสรรค บางกรณีจะเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ มีชื่อขึ้นมาว่าเคยเป็นผู้ต้องหา ก็อาจถูกระงับการเดินทาง หรือต้องรายงานตัวให้เจ้าหน้าที่ทราบอยู่ตลอด” 

“นอกจากนี้ยังนำมาซึ่งปัญหาในครอบครัว ผู้เสียหายบางคนดุลูก ใช้ความรุนแรงทำร้ายภรรยา ภรรยาและลูกก็ต้องทนอยู่กับอารมณ์ที่ไม่แน่นอน ขึ้นลงตลอดเวลา และวิตกกังวลสูงมาก คนเหล่านี้จะขี้หงุดหงิด โมโหง่าย บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ผลคือครอบครัวเสี่ยงที่จะแตกร้าวมาก”

นับว่าเป็นบาดแผลที่ไม่ใช่แค่เจ็บปวด แต่อาจเปลี่ยนชีวิตคน ๆ หนึ่ง หรือครอบครัวหนึ่งจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย


ความผิดปกติที่ไม่ถูกพูดถึง

อย่างไรก็ดีแม้การซ้อมทรมานจะเกิดมาอย่างต่อเนื่องในดินแดนสามจังหวัดฯ แต่ก็ยังถูกพูดถึงน้อยนักเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่อื่น ๆ

อัญชนา อธิบายว่า “ในเบื้องต้นอาจต้องแยกกลุ่มของมุมมองออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือมุมมองของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง นั้นมีการพูดถึงเรื่องซ้อมทรมานกันเยอะพอควร เพราะพวกเราอยู่กับปัญหา เป็นผู้ประสบปัญหาเอง โดยการส่งเสียงจะใช้โซเชียลมีเดียหรือเวทีเสวนาเป็นหลัก”

“ขณะที่อีกกลุ่มคือคนนอกพื้นที่ ถามว่าทำไมพวกเขาจึงไม่พูดถึงการซ้อมทรมานในสามจังหวัดฯ เท่าไรนัก อย่างแรกคิดว่าเพราะผู้ที่ถูกควบคุมตัวนั้นถูกตีตราจากรัฐบาลหรือกองทัพมาโดยตลอดเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เป็นผู้โหดร้าย ผู้ใช้ความรุนแรง จึงทำให้คนข้างนอกเชื่อแบบที่รัฐอยากให้เชื่อ บวกกับกระแสความรู้สึกเรื่องอิสลามโมโฟเบีย ทำให้คนจึงไม่รู้สึกร่วมในความเจ็บปวดของการประสบปัญหา” 

“อีกทั้งกฎหมายพิเศษก็มีส่วนทำให้คนเข้าไม่ถึงกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ระบบตรวจสอบภายในที่มีการซ้อมทรมาน ทำให้พยานหลักฐานที่จะนำไปดำเนินต่อไม่มี เมื่อไร้หลักฐาน ก็ยากจะบอกให้คนเชื่อ ยกเว้นกรณีที่เสียชีวิตในค่ายทหารอย่างกรณีของคุณสุไลมาน แนซา อับดุลเลาะ อีซอมูซอ หรืออิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งมีร่องรอยบาดแผลที่น่าเชื่อระหว่างการควบคุมตัว มันทำให้คนรับรู้บ้าง แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรับรู้ของสังคมภายนอกว่าการทรมานคนผิด คนไม่ดี ไม่ว่าจะจับด้วยกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอาญา เป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แม้ว่าในความจริงแล้วคนที่ถูกจับกุมอาจไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม” 

ด้านพรเพ็ญ เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกพูดถึงเพราะเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพของสื่อมวลชนในพื้นที่นี้มีน้อยมาก การถูกประกาศให้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมายาวนานทำให้ทหารสามารถกำหนดมาตรการในการควบคุมข้อมูลข่าวสาร ไม่ให้สื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เต็มที่ โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 ค่อนข้างถูกควบคุมเพิ่มมากขึ้น” 

“อีกเหตุผลคือความรู้สึกว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ของมุสลิม และคนบางส่วนก็หวาดกลัวอิสลาม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามการปราบปรามการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ที่ปกคลุมบริบทการรับรู้ของคนไทยด้วย เพราะคนไทยเสพข่าวตะวันตกเยอะ เมื่อเกิดระเบิดที่ปัตตานี คนจึงทึกทักเลยว่ามุสลิมทำระเบิดแน่นอน เมื่อมีการยิงกันแล้วผู้เสียหายเป็นไทยพุทธ ก็จะปักใจเชื่อว่าต้องเป็นมุสลิมที่ยิง ภาพข่าว ภาพจำของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงไม่ถูกเสพ ไม่ได้ถูกนึกถึงหรือพูดถึงน้อย”

“ขณะที่เราซึ่งลงไปทำหน้าที่เก็บข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริง ก็จะถูกมองว่าทำลายภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ ๆ เสียสละ รายงานของเราจึงไม่ค่อยมีคนอ่านเท่าไหร่ มิหนำซ้ำเมื่อไปรายงานที่สหประชาชาติ แล้วเขาแนะนำไทยให้ทำนู้น ทำนี้ ข้อเสนอแนะพวกนี้กลับทำให้เราถูกมองไม่ดีจากคนในประเทศ บางคนบอกว่าเราไปขายชาติ ไปฟ้อง UN รับเงินต่างชาติ โดยพื้นฐานคนไทยจึงไม่ให้ความเชื่อถือต่อองค์กรสิทธิมนุษยชน อาจเพราะรัฐควบคุมพื้นที่ในการนำเสนอข่าว สื่อกระแสหลักก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นข่าวของกองทัพเองทั้งนั้น เราจึงไม่มีโอกาสที่จะไปพูดคุยกับใครมากนัก ก่อนหน้านี้ใครจะเชื่อว่าทหารจะใช้ถุงดำคลุมผู้ต้องหาที่ใส่โสร่ง การบังคับไม่ให้นอนสี่วันกระทั่งล้มลง คนไม่เชื่อและไม่ตั้งคำถามด้วยซ้ำ”


กฎหมายพิเศษและระบบบกพร่อง

ว่าแต่ปัจจัยใดกันที่เอื้อให้การซ้อมทรมานดำรงอยู่ยาวนานเกือบสองทศวรรษในพื้นที่หนึ่ง ๆ ได้

อัญชนาระบุว่า “ปัจจัยแรกสุดคือกฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจควบคุมตัวได้เจ็ดวัน และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ควบคุมตัวได้นานถึงสามสิบวัน ปัจจัยต่อมาคือสถานที่ ๆ ถูกควบคุมตัวนั้นเป็นหน่วยงานทั้งของทหารและตำรวจ ซึ่งมีพลเรือนเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ สุดท้ายคือกระบวนการซักถามซึ่งใช้รูปแบบที่เกินกว่ากฎหมายอาญากำหนด อาทิ ขังเดี่ยวและถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่บางคนถูกควบคุม 1 ครั้ง บางคนถูกควบคุมตัวมากกว่า 4 ครั้ง มีการสอบสวนตอนไหนไม่สามารถรู้ชัด และญาติก็ไม่สามารถเยี่ยมได้อย่างปกติ จึงไม่สามารถบอกญาติได้ว่าถูกกระทำอะไร หรือบางกรณีร้องเรียนไปก็อาจถูกกระทำมากกว่าเดิม เหล่านี้เอื้อให้การซ้อมทรมานวนลูปไม่จบไม่สิ้น”

ส่วนพรเพ็ญระบุว่า “ต้นสายปลายเหตุเกิดจากความบกพร่องของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมไทย ความไม่เป็นธรรมเริ่มจากที่ฝ่ายบริหารประกาศใช้กฎอัยการศึก จริง ๆ แล้วมันก็พึงทำได้ในบริบทรอบชายแดน แต่มาประกาศใช้ทั่วสามจังหวัดฯ โดยยังคงใช้บทที่เกี่ยวกับการกักตัว เจ้าหน้าที่สามารถจับผู้ต้องสงสัยไปเพื่อรีดข้อมูลทำสำนวนในคดีอาญาเกี่ยวกับความรุนแรงตามข้อกล่าวหา อาทิ ระเบิด เป็นสมาชิกองค์กรลับ สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคารพกฎหมายใหม่ ๆ อย่างกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน” 

“เจ้าหน้าที่ทหารระดับนโยบายเขาไปใช้กฎหมายพิเศษในการดำเนินคดีอาญาซึ่งมันไม่ถูกต้องเลยตั้งแต่แรก เพราะการจะดำเนินคดีอาญากับใครต้องมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล เช่น ต้องมีทนายความ ต้องมีการตั้งข้อหา และแจ้งให้ทราบสิทธิ์ แต่ที่ผ่านมาเป็นการรีดเอาข้อมูล เหมือนอยู่ในเซฟเฮาส์ แต่เป็นเซฟเฮาส์ในค่ายทหารอีกที การตรวจสอบจึงทำไม่ได้เลย”

จริง ๆ ระบบทหารไม่มีส่วนมาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรงอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยนี่แหละ เหมือนเป็นเผด็จการทหารสมัยนาซี

“เเละกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องใช้การรับสารภาพหรือหลักฐาน มันต้องเป็นเจ้าหน้าที่พลเรือนที่เป็นตำรวจ แต่ในสามจังหวัดกลับกลายเป็นนโยบายของทหารเองเลยที่ต้องมาปราบปรามการก่อความไม่สงบ โดยไม่เชื่อมั่นฝ่ายใดเชื่อมั่นในตัวเองสูงสุด เขาก็เลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยไม่ได้เอาหลักการทางอาญามาด้วยแต่ใช้หลักการทางทหารมากกว่า”

ซึ่งต่อประเด็นการใช้ศาลทหาร พรเพ็ญขยายความเพิ่มเติมว่า “เมื่อมีความผิดที่เกิดจากทหาร ทหารก็ไปใช้ศาลทหารในการตัดสินคดีความ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องกันเอง และยากมากที่พลเรือนจะไปฟ้องร้องทหารในศาลทหารได้  โดยเฉพาะคดีการซ้อมทรมาน นับว่าริเริ่มคดีได้ยากมาก เพราะระบบศาลทหารกำหนดให้ต้องเป็นอัยการทหารเท่านั้นในการริเริ่ม ตำรวจก็เริ่มได้แต่ตำรวจก็มักจะไม่เริ่มต้องแต่การรับบันทึกแจ้งความ ตลอดเวลาที่ผ่านมาในสามจังหวัดจึงมีทหารที่ถูกดำเนินคดีเท่าที่ทราบมีแค่คนเดียวคือกรณีทหารเมาทำลายชาวบ้านที่ยะลา ตรงนี้เราจึงเห็นว่าเมื่อเขาทำร้ายทรมานเรา ก็ควรขึ้นศาลพลเรือนในกระบวนการที่เราสามารถฟ้องร้องต่อสู้ได้อย่างเท่าเทียม”

“กระบวนที่ค่อนข้างผิดปกติเท่าที่เคยเห็นคือถ้าถูกจับ เขาจะเอาโทรศัพท์ไปแล้วจับคนอีกสิบคนจากเบอร์โทรออกล่าสุด และอีกสิบเบอร์ล่าสุดที่โทรเข้า พี่เคยเห็นผัง เขาก็เอารูปไปติดผนัง  ตอนนั้นการข่าวอาจคงบกพร่อง บวกกับกระแสอิสลามโมโฟเบียที่หลั่งไหลมาจากสหรัฐฯด้วย เจ้าหน้าที่ก็ทำด้วยหัวจิตหัวใจว่าจะหยุดสงครามก่อการร้ายให้ได้ในเร็ววัน มันก็กลายเป็นความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม เป็นความบกพร่องของระบบทหาร แล้วเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีน้อย ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ลงมาในพื้นที่นี้กว่าหกเจ็ดหมื่นนาย ไม่มีใครทำผิดอะไรเลยเหรอ มีคนเสียชีวิตไปเจ็ดพันคน ถูกจับอีกมาก มีเด็กกำพร้า มีหญิงหม้าย ก็น่าตั้งคำถาม”


ภาพเสมือนกัวตานาโม

พรเพ็ญ ชี้ชวนว่าเมื่อพูดถึงสามจังหวัดก็อาจย้อนดูกรณีกัวตานาโมได้ เพราะมีความคล้ายคลึงกัน ที่นั่นทหารอเมริกันตั้งตนเป็นศาล พิพากษาผู้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 ในขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากนโยบายของสหรัฐอเมริกาหลังเหตุการณ์นั้น ที่ชัดเจนคือการแก้กฎหมายให้มีข้อหาการก่อการร้ายตั้งแต่ ค.ศ.2003 เมื่อแก้เสร็จ มุสลิมใต้ทุกคนก็แทบจะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายตามนิยามของกฎหมายใหม่ ตรงนี้เองที่คล้าย ๆ กับสหรัฐอเมริกานำคนจากหลาย ๆ ประเทศส่งไปที่กัวตานาโม แล้วใช้กฎหมายพิเศษตรงนั้น  คล้ายกับการใช้กฎอัยการศึกในสามจังหวัด เหมือนเป็นพื้นที่นอกกระบวนการยุติธรรมปกติ

ถ้าจะต่างกันบ้างคือที่กัวตานาโมมีภาพหลุดออกมาให้เห็น แต่ในสามจังหวัดฯ นี้ไม่มีเลย”


พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน ทางออกของความหวัง

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ในวันที่ 8 กันยายนที่จะถึง นับเป็นข่าวดีที่สร้างความหวังแก่นักสิทธิมนุษยชนและญาติผู้เสียหายจากกรณีซ้อมทรมานไม่น้อย เพราะถ้าพ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะช่วยทำให้การซ้อมทรมานเป็นความผิดที่ชัดเจนและต้องรับโทษด้วยกระบวนการที่โปร่งใสขึ้น

สำหรับพรเพ็ญเองนับว่าดังกล่าวเป็นข่าวดีที่รอคอย กระนั้นเธอชี้แนะว่าที่ดีทีสุดคือ พ.ร.บ. ข้างต้นเป็นกฎหมายที่ต้องอนุวัตตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย เบื้องต้นคือต้องทำให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษหนักขึ้น และสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้จริง ๆ ด้วยการสืบสอบสวนที่เป็นอิสระ หมายรวมถึงการนำผู้บังคับบัญชามารับผิดด้วย ต้องสามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องไม่ใช่การสืบสวนด้วยหน่วยงานเดียวกัน เช่นให้อัยการหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามามีส่วนร่วมในการไต่สวน ขณะที่การพิจารณาก็จะถูกโยกไปอยู่ในศาลทุจริตซึ่งเป็นระบบไต่สวน และมีมาตรการที่ไม่ต้องให้เข้าสู่ศาลทหาร ให้พิจารณาเฉพาะในศาลพลเรือนเท่านั้น 

“พ.ร.บ.ดังกล่าวครอบคลุมการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในบริบทอื่นด้วย เช่นการฝึกทหารเกณฑ์ การละเมิดทางเพศ การบังคับให้ถอดเสื้อผ้า และอีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องอายุความ ปัจจุบันการซ่อนศพสำเร็จ กำหนดอายุความไว้ที่ 20 ปี แต่ในต่างประเทศเขาไม่นับอายุความ เพราะไม่แน่ชัดว่าผู้เสียหายยังอยู่ไหม เลยอาจต้องยืดหยุ่นเรื่องเวลาเพื่อรอให้ผู้มีอำนาจซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีนั้น ๆ หมดอำนาจหรือออกจากอำนาจไปก่อน จึงจะสามารถดำเนินคดีได้อย่างโปร่งใส”

“นอกจากนี้ยังระบุถึงเรื่องการเยียวยาผู้เสียหาย และญาติผู้เสียหายไว้ด้วยหลายด้าน เช่น การกลับคืนสู่สภาพเดิม การให้เงินเงินชดเชย ค่าเทอมบุตร ตรงนี้แม้ไม่สามารถทวงคืนสิ่งที่เขาต้องสูญเสียไปได้ทั้งหมด แต่ก็พอช่วยพยุงให้ปัจจุบันและอนาคตที่เป็นอยู่ไม่แย่จนเกินไป”

ด้านอัญชนา ให้ความเห็นว่าเฉพาะจังหวัดชายแดนใต้นอกเหนือจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้วอาจต้องพิจารณาเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก. ฉุกเฉินด้วย ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็ต้องแก้บางมาตราให้เจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำการซ้อมทรมานต้องรับผิดให้ได้ พร้อมกันนั้นก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดแก่ตำรวจทหารในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพราะโดยปกติเพียงแค่คุมตัวไม่มีหมายจับก็ละเมิดสิทธิแล้ว

อีกอย่างคือต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนในสังคมด้วยว่าผู้ที่ถูกควบคุมทั้งหมดไม่ว่าจะในสามจังหวัด ในพื้นที่อื่น นั้นบริสุทธิ์ทั้งสิ้น จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นการยอมรับได้กับการทรมานก็จะกลายเป็นเรื่องไม่ชอบธรรมแก่ผู้เสียหายด้วย

กฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าทำผิดเรื่องใด ต้องรับโทษอย่างไร ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยตัดสินให้กับคนอื่น” 

“และผู้เสียหายเองอาจต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงให้คนในสังคมได้รับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบธรรมอย่างไร เพราะถ้าเขาไม่พูด แต่ NGO พูด อาจดูไม่มีน้ำหนัก อาจถูกโจมตีได้ว่า NGO รับเงินมา รัฐบาลก็ด้อยค่า NGO อยู่แล้วว่ารับเงินมาทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ทั้งที่เราเป็นแค่คนที่ช่วยตรวจสอบ ให้รัฐทำในกรอบ”


แม้การซ้อมทรมานจะเกิดถี่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทว่านั้นคงไม่ใช่ปัญหาเชิงพื้นที่เท่านั้น หากแต่โครงสร้างทางอำนาจที่บิดเบี้ยวและกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง ตั้งแต่ความอ่อนแอของข้อกฎหมายในการนำผู้กระทำทรมานมาลงโทษ การให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างขาดการตรวจสอบ การปิดกั้นเสรีภาพสื่อ รวมถึงการใช้ศาลทหารพิจารณาความผิดที่ทหารกระทำต่อพลเรือน เหล่านี้ล้วนเป็นทางหนีทีไล่ให้ผู้ซ้อมทรมานลอยนวลและหวนกลับมากระทำซ้ำ ๆ อย่างไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนใด ๆ พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน – อุ้มหาย ที่รอกันอยู่ขณะนี้เป็นหนึ่งทางออกของปัญหา กระนั้นก็ดีการรื้อโครงสร้างทางอำนาจที่ยากต่อการตรวจสอบ ฟ้องร้อง อาจเป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กันด้วย