วันวานที่วังกวางไร้ผู้คน รอวันพิชิตภูกระดึง(อีกครั้ง) - Decode
Reading Time: 3 minutes

ประกาศ! ปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติภูกระดึงทุกแหล่งและปิดการพักค้างแรมทุกจุดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง

โควิด-19 ผ่านมาแล้วผ่านไป ระลอกแล้วระลอกเล่า ห้างร้าน โรงเรียน บริษัท สวนสาธารณะใกล้ไกล หรือสถานที่ใด ๆ ล้วนต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง วันนี้ De/code จะพาทุกท่านเดินเท้า ปีนป่ายเขาระยะทางร่วมกว่า 9 กิโลเมตร ไปยัง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดให้บริการในช่วงเวลาที่ระยะห่างเป็นสิ่งจำเป็น และที่สำคัญ เราได้ชวน 3 ผู้พิชิตภูกระดึงเป็นงานหลักบวกกับ 1 ผู้พิชิตภูกระดึงเป็นประจำด้วยใจรักมาร่วมพูดคุยกับผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย

สุ้มเสียงจากคนไกล

“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิดมานะพี่ว่าไม่มีครั้งไหนรุนแรงเท่าครั้งนี้แล้วครับ ต้มยำกุ้งก็ไม่เป็นอะไร แต่รอบนี้บางคนเตรียมของขึ้นไปก็ยังขายไม่หมดเลย ทั้งพวกน้ำแล้วก็ของแห้ง อย่างในส่วนของพี่อยู่วังกวางที่นักท่องเที่ยวไปพักแรม มีผู้ประกอบการอยู่ประมาณ 31 ราย ยังไม่รวมตามยอดหน้าผาอีกหลายรายอีก” นายสุธรรม ธรรมชาติ (พี่ธรรม) ประธานผู้ประกอบการร้านค้าบนภูกระดึง และเจ้าของร้านปักษ์ใต้ อธิบาย

โดยปรกติภูกระดึงเปิดให้บริการในช่วงเดือนตุลาคม-สิ้นเดือนพฤษภาคม และปิดฟื้นฟูในช่วงฤดูฝนของทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภูกระดึงปิดทำการก่อนระยะเวลาที่กำหนดครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 และกลับมาเปิดให้บริการได้อีกทีเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะพบกับเหตุการณ์ที่สมุทรสาครจากเมืองไกลเข้าอย่างจังทำให้นักท่องเที่ยวลดลงจากหลักพันเหลือเพียงหลักร้อย

อย่างไรก็ตามภูกระดึงยังคงเปิดเรื่อยมาจนถึงปีใหม่ แต่แล้ววันที่ 6 มกราคม 2564 ผู้ประกอบการตัดสินใจปิดให้บริการด้วยตนเองเนื่องจากความเข้มข้นของสถานการณ์ภายนอกอีก 1 เดือนเต็ม กว่าจะได้โอกาสเปิดอีกครั้งคือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นช่วง low season ไปแล้ว การเปิดปิดไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้เกิดการติดขัดในการทำงานของเหล่าผู้เกี่ยวข้องไม่น้อย

“ถามว่ากระทบไหมมันก็กระทบครับ กระทบเยอะเหมือนกัน แต่ของเรามันดีหน่อยตรงที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรด้วย ยังพอไหวอยู่ ไม่เหมือนคนในเมืองเนอะ” พี่ธรรมกล่าวเสริม

ซึ่งนอกเหนือไปจากผู้ประกอบการร้านค้าแล้วอีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะเป็นเหมือนท่อน้ำเลี้ยงให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน ผู้ประกอบการร้านค้า รวมไปถึงนักท่องเที่ยวได้มีกิน มีใช้อย่างสะดวกสบายนั่นก็คือ ลูกหาบ แห่งอุทยานแห่งชาติภูกระดึงนั่นเอง

“ช่วงนี้เป็นช่วงโควิดแต่โชคดียังมีงานจากโครงการปรับปรุงร้านค้า เราก็เอารายได้จากตรงนี้มาแทนครับ พอถึงปลายเดือนพฤษภาคมก็เป็นช่วงที่เราปิดปรกติพอดี ก็กลับไปทำไร่ ทำนาเหมือนเดิม” พี่โอเล่ รองประธานลูกหาบภูกระดึงว่า ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมให้เราฟังว่าภูกระดึงสงวนสิทธิ์การประกอบอาชีพลูกหาบให้กับคนในพื้นที่โดยเฉพาะเพื่อเป็นการสร้างงานให้กับชาวบ้าน และแม้ทั้งสองจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายังมีงานรองรับในวันที่ภูกระดึงปิดทำการ แต่รายได้หลักที่เคยได้รับก็หดหายไปอย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

ท่องเที่ยววิถีใหม่ ฉบับ 1,316 เมตร

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้มีแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (new normal) ตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกแรกในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2563 ซึ่งหากพูดถึงในส่วนของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) อุทยานแห่งชาติแห่งแรกที่มีการนำเอามาใช้และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ รวมไปถึงภูกระดึงคือ อุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งนอกจากแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติแล้ว ภูกระดึงยังยึดตามหลักปฏิบัติของกระทรวงสาธารณะสุข ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ รวมไปการติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่าง ๆ เพื่อรักษาความสะอาด นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ 

แต่ด้วยความเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การจะพิชิตยอดภูกระดึงดั่งใจหวังต้องเดินเท้าเพื่อขึ้นเขาสูงชันเป็นระยะทางไกล คำถามยอดฮิตจากนักท่องเที่ยวจึงมีอยู่ว่า เอ๊ะ ถ้าใส่หน้ากากตลอดเวลาจะเดินทางไหวหรือเปล่า 

“ผมขอบอกเลยว่าลองแล้วครับ ไม่ได้ครับ” 

นายสำเร็จ ภูแสนศรี (พี่สำเร็จ) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงพูดติดตลกก่อนจะอธิบายให้เราฟังว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ทางภูกระดึงจึงทำการแก้ไขด้วย 2 ข้อปฏิบัติให้นักท่องเที่ยวได้ปรับใช้ขณะเดินทางขึ้นเขาคือ 1. หากเจอกลุ่มคนที่ไม่ได้มากับเรา ต้องเว้นระยะห่างเสมอ 2. หากเป็นพื้นที่แคบหรือต้องเดินสวนกับผู้อื่น ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง

เราต้องเข้าใจก่อนว่าพอพูดว่าอุทยานปิดเนี่ยคือปิดในภาคส่วนของการท่องเที่ยว แต่เจ้าหน้าที่ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา เราก็คาดหวังให้มันเป็นปรกติแต่ว่าถ้ามันยังเป็นไม่ได้ การท่องเที่ยวก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น” พี่สำเร็จว่า

ในเบื้องต้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะต้องคงมาตรการตามที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด ไม่ว่าจะเป็นตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หรือเรียกง่าย ๆ ว่ายึดหลัก DMHTTA อย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่จะทำการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ ไม่จะเป็นการรักษาความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อ จัดเตรียมถังขยะไว้เพื่อทิ้งหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยที่อาจจะเป็นขยะติดเชื้อได้

เพราะความจริงในวันนี้คือการจำกัดจำนวนคนเที่ยวเป็นสิ่งจำเป็น บรรยากาศบนยอดเขาไม่สามารถคึกคักได้เหมือนก่อนจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สมดุลปรกติ ซึ่งคำว่าปรกติในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าโรคระบาดจะหายไป แต่เป็นมนุษย์จะปรับตัวเพื่ออยู่กับความปรกติรูปแบบใหม่นี้อย่างไรเพียงเท่านั้น

De/code ได้เชิญ แม็ค – พลวัต กรานเขียว ผู้ก่อตั้งกลุ่มคนรักภูกระดึง ที่มีสมาชิกกว่า 38,000 คน ในเฟซบุ๊ก มาร่วมเปิดอกคุยกับเราเกี่ยวกับความผูกพันที่มีต่อภูกระดึงกว่า 11 ปี วันนี้มีความรู้สึกอย่างไรต่อสถานที่ท่องเที่ยวในดวงใจในวันที่ต้องห่างหายนานกว่าที่เคยเป็น

แม็คเล่าให้เราฟังว่าเสน่ห์ของภูกระดึงในสายตาของแม็คคือ การเดินขึ้นไปจนถึงยอดเขา อันเป็นที่เลื่องลือว่าโหดจนเกิดวลี ระยะทางพิสูจน์ม้า ภูกระดึงพิสูจน์รักแท้ ที่ถูกส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งในกรณีนี้แม็คพาเราย้อนกลับไปในช่วงมัธยมต้น อันเป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันที่มีมาจนถึงทุกปัจจุบัน

“ผมขึ้นภูกระดึงครั้งแรกตอนม.1 ผมถามตัวเองตลอดทางว่า กูมาทำไม กูมาทำอะไรที่นี่ พอถึงยอดเขาก็เกิดอาการคิดถึงบ้านขึ้นมา จนกระทั่งได้ไปเที่ยวตามเส้นทางธรรมชาติแล้วถึงรู้ว่า เออ มันดีมากนะ มันว้าวขนาดนี้ เราได้ซึมซับธรรมชาติที่ภูกระดึงมีให้ ที่เราอาจจะมองข้ามไปตอนเดินขึ้นมา” แม็คว่า

“อีกอย่างคือผมรู้สึกผูกพันกับพ่อค้าแม่ค้าหลายคนที่สนิทกัน ปกติเวลาผมไปก็จะมีร้านประจำไว้กินกาแฟ ไว้กินอาหารเช้า ไว้กินอาหารเย็น ซึ่งมันมีวิวัฒนาการของอาหารมาจากยุคก่อนที่ผมเคยไป เมื่อก่อนไม่มีอาหารตามสั่งนะ จะเป็นข้าวแกงที่เขาทำกันไว้แล้ว แต่มันจะมีตัวเลือกเสริมที่ว่าถ้ากินร้านนี้จะมีน้ำฟรีนะ มีชาฟรีนะ ถ้าเราเคยไปภูกระดึงเราจะรู้ว่าน้ำแพงมาก ซึ่งร้านนี้ผมจะสนิทมาก ผูกพันเป็นพิเศษเลย” แม็คอธิบายด้วยน้ำเสียงที่เพียงฟังก็สัมผัสได้ว่าความผูกพันเหล่านั้นเหนียวแน่นชนิดที่แม้ระยะทางจะหฤโหดแค่ไหนก็ไม่ใช่อุปสรรค

ก่อนจะเสริมต่ออีกว่า “ในส่วนของธรรมชาติที่ผมไปมาแต่ละปี บรรยากาศไม่เหมือนกันสักรอบ บางปีมีกระดุมเงิน-กระดุมทองตามผา บางปีก็ไม่มีเลยเพราะมีแต่หม้อข้าวหม้อแกงลิง บางปีจะไปดูต้นสนต้นเดิมแต่ปรากฏขึ้นไปต้นสนโดนฟ้าผ่าตายไปแล้วก็มี (ขำ)”

ในวันที่ห่างหายจากภูกระดึง…มากกว่าที่เคยเป็น

“รู้สึกคิดถึงครับ” แม็คตอบอย่างไม่ลังเล “คือมันไม่ใช่ช่วงเวลาปรกติเนอะ ถ้าเราเทียบกับต้มยำกุ้งก็ถือว่าเศรษฐกิจมันแย่จริงแต่ว่ามันยังเดินทางได้ มันยังไปพักผ่อนหย่อนใจได้ แต่พอมาเป็นโควิดเราไปเราก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อ ชาวบ้านที่ไปขายของตรงนั้นก็เสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งมันเหนือการควบคุมของเราทั้งหมดเลย ส่วนตัวผมว่ามันกระทบทุกภาคส่วน มันอาจจะดีตรงที่ได้ธรรมชาติกลับคืนมา แต่ส่วนที่น่าเห็นใจที่สุดก็หนีไม่พ้นชาวบ้านและเหล่าบรรดาร้านค้าอยู่ดีครับ”

แม็คเล่าให้เราฟังอีกว่ารอบล่าสุดที่ไปพิชิตภูกระดึง (ต้นปี 2564) พบว่ามีร้านค้าปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นั่งร้านตามซำต่าง ๆ ที่แต่เดิมเคยเปิดกว่า 10 ร้านลดเหลือเพียงแค่ 3-4 ร้านเท่านั้น ในขณะเดียวกันของต่าง ๆ ที่พ่อค้าแม่ขายเตรียมไว้กลับไม่ได้ถูกขายออกไป ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ของแห้ง รวมไปถึงของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบอย่างปฏิทินที่ต้องสั่งทำปีต่อปีอีกด้วย

สมมติว่าพรุ่งนี้ภูกระดึงเปิดจะทำอย่างไร
“ถ้าภูกระดึงกลับมาเปิด ผมก็จะทำการบ้านแล้วเตรียมเจอกันเดือนธันวาคมแน่นอนครับ” แม็คกล่าวอย่างมั่นใจ

เราถามต่อไปว่าทำไมต้องเดือนธันวาคม แม็คตอบเราว่าช่วงธันวาคมเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างอากาศร้อนและอากาศหนาว ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะเจาะในการเก็บประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการไปเดินน้ำตก เหยียบหน้าผา หรือดูเมเปิลแดง (ที่จะแดงหรือไม่แดงก็ไม่แน่ใจ ต้องไปลุ้นเอา)ในสภาพอากาศที่กำลังดี ไม่ร้อนหรือหนาวมากเกินไปแม็คยังอธิบายเพิ่มอีกว่าบางคนก็ชอบไปช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่ตัวเองขอลาเพราะนั่นเป็นช่วงที่ทากชุมที่สุดของปี

ก่อนจะลากันไป ฝากจดหมายเปิดผนึกจากคนรักภูกระดึงถึงภูกระดึง ที่ไม่ใช่เพียงสถานที่แต่รวมไปถึงผู้คน

“ขอบคุณพี่ ๆ หลาย ๆ คนรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลสอดส่องคนบนภูกระดึงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนเรื่องไฟป่า หรืออำนวยความสะดวกตลอดเวลาที่ขึ้นไปครับ ในส่วนพ่อค้าแม่ค้านะครับ ผมสัญญาว่าถ้าหมดโควิดจะรีบกลับไปเร็ว ๆ เพื่ออุดหนุนให้เป็นกำลังใจต่อไปครับ”

ในวันนี้ภาคการท่องเที่ยวยังคงเงียบเหงา และเราต่างนับถอยหลังสู่วันเปิดประเทศ แม้จะไม่มีใครทราบได้ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะกินเวลาไปอีกนานเพียงใด แต่ใครหลายคนยังคงเฝ้าคอยวันที่จะได้กลับไปชื่นชมประเทศไทยอีกครั้ง

ภูกระดึงยังมีสเน่ห์ สวยงาม และยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนในวันที่สถานการณ์ดีขึ้น