‘ฝุ่นแดง’ หลายหมื่นตัน สังกะสีและผ้าใบก็ 'ปิด' ไม่มิด - Decode
Reading Time: 3 minutes

พะเนินกองฝุ่นแดงในบิ๊กแบ็กหลักหมื่นตัน ใต้โกดังโรงงานทุนจีนสมุทรสาคร

กลางแดดร้อนระอุของจังหวัดสมุทรสาคร แม้ภายใน 2 โรงงานทุนจีนจะเงียบจากการสั่งปิดปรับปรุงโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ทว่า การปิดปรับปรุงครั้งนี้ยังเต็มไปด้วยข้อสังเกตหลายประการ รวมถึงการปรับปรุงโรงงานที่ดูจะเพิ่งแล้วเสร็จไม่กี่วันก่อนเข้าตรวจค้นครั้งนี้

29 เมษายน 2567 ทีมสุดซอย อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจค้น 2 โรงงานรีไซเคิลในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ 

1. บริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และ 

2. บริษัท จินฮุ้ย นอนเฟอรัส เมทัล จำกัด ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 

ซึ่งขยายผลจากคดีลักลอบนำเข้าฝุ่นแดง 10,262 ตัน ของบริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด ในตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดอายัดไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568

การเข้าตรวจค้นทั้ง 2 ครั้งถูกพบความเชื่อมโยงจากหลักฐานที่เจ้าหน้าที่เก็บมาสืบค้นในฐานะผู้ต้องสงสัย ‘เครือข่ายลักลอบนำเข้าฝุ่นแดง’ จากการตั้งข้อสงสัยของเจ้าหน้าที่ในข้อหาการลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรมอันตรายไปจนถึงผลกระทบของการสกัดเอาของมีค่าแต่ทิ้งมลพิษไว้กับชุมชนรอบข้าง

โยงเครือข่ายทุนจีน โรงงาน ‘จีน’ ได้ แต่ ‘ไทย’ ไม่คุ้มเสีย

“ฝุ่นแดง” หรือ “ฝุ่นจากเตาหลอมเหล็ก” มีลักษณะเป็นผงสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง มีองค์ประกอบหลักเป็นโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็กออกไซด์ สังกะสีออกไซด์ ตะกั่ว แคดเมียม และโครเมียม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และถูกจัดเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นของเสียเคมีวัตถุตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

อย่างไรก็ตาม ฝุ่นแดงซึ่งเป็นกากจากการหลอมเหล็กยังมีราคาสูง เพราะภายในฝุ่นแดงเหล่านี้ยังสามารถพบสังกะสีหรือซิงก์ออกไซด์จำนวนมาก

จากคำบอกเล่าของดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พบว่า ราคาของฝุ่นแดงนั้นจะอยู่ที่ 700-800 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อสกัดสารซิงก์เหล่านี้ออกมาได้ จะมีราคาอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

“แต่โรงงานเหล่านี้จะได้ส่วนต่างมากขึ้นเมื่อลดต้นทุนที่โรงงานต้องมีตามกฎหมาย โรงงานเหล่านี้จึงไม่มีการควบคุมมาตรฐานโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และต้นทุนด้านอื่น ๆ จึงเป็นผลให้ธุรกิจประเภทนี้มีผลกำไร และเป็นที่สนใจของกลุ่มทุนเหล่านี้” ดาวัลย์ กล่าว

ดาวัลย์ผายมือไปทางด้านหลัง ซึ่งปรากฏเครื่องหลอมเป็นรูปฟันปลา ดาวัลย์เล่าว่าเครื่องจักรเหล่านี้เป็นเครื่องจักรเก่าของจีน ซึ่งเมื่อครั้งจีนประกาศลด PM2.5 ทำให้โรงงานเหล่านี้ต้องออกจากประเทศจีนและเลือกมาเปิดโรงงานใหม่ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้เครื่องจักรเก่าที่ตกรุ่นและตีตกไม่ให้ประกอบการแล้วในประเทศจีน สังเกตได้จากสีสนิมที่กัดกินไปทั่วเครื่องหลอมขนาดใหญ่

เพื่อกำไรสูงสุด กลุ่มทุนจีนในธุรกิจประเภทนี้เลือกที่จะไม่ลงทุนพัฒนาเครื่องจักรเหล่านี้ให้ทันสมัย และปกป้องสิ่งแวดล้อมเพิ่มเลย

“เป้าหมายของธุรกิจเหล่านี้คือการที่พวกเขาต้องการทำกำไรสูงสุด โดยใช้เครื่องจักรเก่า จ้างแรงงานข้ามชาติ ไร้ซึ่งมาตรการทางสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึงเขาไม่สนใจเลยว่าพื้นที่รอบข้างจะเป็นอย่างไร เขาเข้ามากอบโกยเม็ดเงินไว้และทิ้งมลพิษให้กับพื้นที่ สิ่งที่เราต้องทำต่อหลังจากเอาผิดขบวนการข้ามชาติฝุ่นแดงเหล่านี้ คือการยกเลิกการใช้เตาหลอมประเภทนี้ให้หมด เพราะมันเก่ามากแล้ว และไม่สามารถที่จะต่อเติมให้ควบคุมมลพิษได้เลย รวมถึงเราต้องพิจารณาเรื่องธุรกิจฝุ่นแดงพวกนี้ว่ามันคุ้มค่ากับสังคมไทยแล้วจริงหรือ” ดาวัลย์ กล่าว

ปัญหาเรื่องฝุ่นแดงยังเชื่อมโยงไปถึงเตาหลอมเหล็กประเภท IF ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังมีแผนประกาศให้ยกเลิกใช้ทั่วประเทศ

ประการที่ 1 คือเตาหลอมประเภทนี้เป็นเตาหลอมที่ไม่นิยมแล้วในทั่วโลก เนื่องจากไม่สามารถสกัดความบริสุทธิ์ของเหล็กได้เท่าที่ควร

ประการที่ 2 คือฝุ่นแดงเหล่านี้มีมูลค่ามากในฐานะกากของการผลิตเหล็ก ทำให้เกิดคำถามว่าฝุ่นแดงเหล่านี้ถูกนำไปผสมในการสร้างเหล็กเพื่อลดต้นทุนด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฝุ่นแดงยังคงเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายที่จำเป็นต้องตั้งคำถามว่า คุ้มแล้วจริงหรือกับธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทนี้

พิรุธ! โรงงานหัวจงฯ พบมัดจำ 111 ล้านถึงซิน เคอ หยวน

การลงพื้นที่ตรวจค้นโรงงานแห่งนี้ เป็นผลจากที่ผ่านมาได้มีการสั่งปิดโรงงานแห่งนี้ ตามมาตรา 39 เนื่องจากพบว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสีย โดยภายในโรงงานพบว่ามีการปรับปรุงท่อน้ำเสียบริเวณคูน้ำรอบโรงงาน โดยการฝังดินกลบทับและนำต้นไม้มาปลูกบริเวณโดยรอบ

จากการสืบค้น มีการพบว่าทางโรงงานมีการเตรียมตัวและได้โยกย้ายข้อมูล โดยพบว่ามีการยกเซิร์ฟเวอร์บางตัว และเอกสารบางชุด ออกไปจากโรงงาน โดยจากการทำงานของเจ้าหน้าที่พบว่ามีข้อความที่ส่งมาที่พนักงานชาวไทย ซึ่งเป็นคนออกมารับหน้าในการตรวจค้นครั้งนี้ หลังการสืบค้นจึงมีการตรวจค้นต่อที่บ้านของพนักงานคนนั้นและพบเอกสารที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบข้อมูลไฟล์เอกสารในคอมพิวเตอร์จากเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่ามีความเชื่อมโยงกับ ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กกล้าที่ยังเป็นกรณีถึงเหล็กตกมาตรฐานจากตึกสตง. ถล่ม โดยข้อมูลที่ตรวจสอบในคอมพิวเตอร์ ระบุว่า ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้กับ โรงงานผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ดังกล่าว เพื่อเป็นค่าฝุ่นแดง ประมาณ 111 ล้านบาท รวมทั้งมีการส่งฝุ่นแดงให้กันมาแล้ว เมื่อช่วงวันที่ 31 มีนาคม 2568

ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า

“ข้อมูลที่สืบค้นได้จากคอมพิวเตอร์ฝ่ายบัญชีของบริษัท หัวจงฯ พบว่า มีรายการชำระค่าฝุ่นแดง ให้ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งมีความผิดปกติ เนื่องจากยอดชำระเกินไปจากมูลค่าจริงถึง 111,862,833.30 บาท จากการสอบถามเจ้าหน้าที่คนไทยของโรงงานพบว่าเป็นค่ามัดจำของฝุ่นแดงที่รับซื้อจากซิน เคอ หยวน ในขณะที่ฝุ่นแดงมีราคาขายในตลาดเพียง 700-800 ดอลลาร์สหรัฐ แต่นี่ขนาดค่ามัดจำยังจ่ายไปตั้ง 100 กว่าล้าน เท่ากับว่าคุณซื้อขายกันในปริมาณที่มันเยอะมาก ๆ ในขณะที่การกล่าวอ้างว่ามาจากการผลิตเหล็กในประเทศหรือซื้อขายในประเทศมันเป็นไปไม่ได้เลย ที่โรงงานเหล่านี้จะผลิตเหล็กจนได้ฝุ่นแดงมากขนาดนี้” 

“นอกจากนี้ในการตรวจค้นยังพบว่าในกล้องวงจรปิดยังพบการหายไปของบันทึกการทำงานหลังโรงงานถูกสั่งปิดปรับปรุงก่อนการลงตรวจในครั้งนี้เพียงวันเดียว คำถามคือมันหายไปไหน จู่ ๆ โรงงานก็เงียบเหงาไปเลย มีใครบอกหรือเปล่า”

อีกทั้งยังพบคนงานกำลังก่อสร้างโกดังหลังใหม่ ซึ่งฐิติภัสร์ตั้งข้อสังเกตว่าได้ขออนุญาตในการสร้างอาคารเพิ่มเติมในพื้นที่โรงงานแล้วหรือยัง และการสร้างโกดังเพิ่มในขณะที่โรงงานถูกสั่งปิดปรับปรุงและโยงขบวนการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงนั้นยิ่งส่อพิรุธและพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มทุนข้ามชาตินี้ไม่เกรงกลัวกฎหมายไทยเลย

เปิดหลักฐานหลอมฝุ่นแดง ‘โรงงานจินฮุ้ยฯ’ และคำถามที่ยังคงอยู่

สภาพโรงงานจินฮุ้ยฯ ในตำบลนาโคก หลังถูกสั่งปิดปรับปรุง แทบไม่ต่างจากโรงงานหัวจง ในตำบลคลองมะเดื่อ ภายในโรงงานไม่พบแรงงานทำงาน และพบการปรับปรุงโรงงานที่เหมือนพึ่งเสร็จ ทั้งสังกะสีใหม่กั้นโกดังที่เก็บถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมาก ป้ายประกาศเตือนอันตรายในโรงงาน ไม่พบเจ้าของคนจีน รวมถึงกองพะเนินฝุ่นแดง ทั้งที่เป็นผงอัดก้อนและกองผงอยู่จำนวนมหาศาลในโกดังต่าง ๆ ของโรงงาน

หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นได้มีพนักงานของโรงงานซึ่งเป็นชาวไทยจำนวน 3 คน ออกมารับหน้า หลังจากการตรวจค้นสักระยะ พนักงานคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่าย CSR ของโรงงานเชิญวิศวกรซึ่งเป็นชาวไทยมาพบกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะเกิดความคลุมเครือ ว่าแท้จริงแล้ววิศวกรคนนี้เป็นเพียง “วิศวกรที่ปรึกษาของโรงงาน” หรือ “วิศวกรจิตอาสาที่แนะนำคำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมกับโรงงาน” กันแน่

โดยโรงงานจินฮุ้ยฯ ได้เปิดทำการตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ตามกระทั่งการลงตรวจค้นครั้งนี้ พบว่ามาตรการการผลิตหลอมฝุ่นแดงหลายประการผิดมาตรฐาน อีกทั้งยังไม่ได้คำตอบว่าวิศวกรคนไหนกันแน่เป็นผู้ควบคุมการดำเนินการของโรงงาน แม้จะมีความกระอักกระอ่วนในการตอบคำถามของเจ้าหน้าที่หลายครั้ง แต่คราบสนิมและกลิ่นที่ยังโชยออกมาภายในโรงงาน คือหลักฐานชิ้นสำคัญว่าโรงงานยังขาดตกบกพร่องในมาตรฐานอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ความปลอดภัยภายในโรงงานและการป้องกันสารพิษออกสู่นอกโรงงาน ไปจนถึงคำถามที่ว่าวิศวกรที่เป็นผู้ตรวจความปลอดภัย อาจเป็นชาวจีน ที่ทำให้ผลตรวจการตรวจสอบความปลอดภัยไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

ช่วงเวลา 15.00 น. ของวันมีการรับฟังประชาพิจารณ์ซึ่งจัดขึ้นโดยโรงงาน มีการกล่าวว่าเกิดขึ้นเพราะอยากรับฟังเสียงของประชาชนและจะนำไปปรับปรุง แต่การประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ไม่ได้มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่จะเป็นเหตุผลในการที่อุตสาหกรรมจังหวัดจะนำไปประกอบการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตกับโรงงาน

จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านพูนศักดิ์ ของตำบลนาโคก กล่าวว่าปัญหาของโรงงานเหล่านี้สร้างฝุ่นขนาดเล็กออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้ของปีที่ลมและกระแสน้ำจะพัดสู่ทะเล ทำให้ในอดีตที่โรงงานยังเปิดประกอบการอยู่ซึ่งมักจะทำในช่วงเวลากลางคืนจะส่งเสียงเครื่องจักรและกลิ่นเหม็นออกมาคละคลุ้ง จนกระทั่งเช้ามืดจะเกิดเป็นหมอกพิษจากการหลอมฝุ่นแดง และควบแน่นจนเกิดเป็นตะกอนดำปกคลุมเหนือพื้นที่นาเกลือของชาวบ้าน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน

ท่ามกลางวงประชาพิจารณ์ครั้งนี้ คือคำถามของชาวบ้านต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคำตอบที่ไม่แน่ชัดของโรงงาน ทั้งมาตรฐาน วิศวกรตรวจสอบ และมลพิษสิ่งแวดล้อมที่ทำลายชีวิตชาวบ้าน

เพราะเหตุใด? ถึงยังต้องการคำตอบจากชาวบ้านว่าอยากให้ปิดโรงงานนี้หรือไม่ ในเมื่อปัญหาปรากฏชัดเจนจนกลายเป็นเกลือดำ จากนาเกลือของชาวนาโคกนานนับปีแล้ว

’สมุทรสาครโมเดล’ ที่ยังเป็นแมวไล่จับหนู ความหวังยังมีไหมในพ.ร.บ.กากฯ

จากการปราบโรงงานเถื่อนอย่างจริงจังของกระทรวงอุตสาหกรรมและการทำงานต่อเนื่องยาวนานเรื่องปัญหามลพิษจากกากอุตสาหกรรมของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เกิดเป็น ‘สมุทรสาครโมเดล’ ซึ่งมีเป้าหมายในการปราบปรามโรงงานเถื่อน การตรวจสอบโรงงานดำเนินการผิดกฎหมาย และการเข้าช่วยเหลือสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ

การเข้าตรวจค้นและเชื่อมโยงถึงความเป็นขบวนการของเครือข่ายอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมครั้งนี้คือหนึ่งในปฏิบัติการปราบสุดซอย ที่แม้จะยังดูเป็นลักษณะ ‘แมวไล่จับหนู’ จึงเกิดเป็นคำถามต่อฐิติภัสร์ ในฐานะหัวหน้าชุดทำงานกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าเมื่อไหร่ที่สังคมไทยจะเกิดการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขตามมาทีหลังเช่นนี้

“เราต้องยอมรับว่าก่อนที่ชุดทำงานชุดนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐมนตรีเอกณัฏ มีธุรกิจหลายโรงงาน หลายภาคส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุนข้ามชาติ ประกอบกิจการโดยไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมแม้แต่น้อย ในวันนี้ที่เราจับมือกับมูลนิธิบูรณะนิเวศทำโดยเริ่มจากการปราบปรามโรงงานเถื่อนในจังหวัดสมุทรสาครจึงเป็นไปในลักษณะที่ตามปิด ตามแก้ไข ในแต่ละโรงงาน ซึ่งแน่นอนเราไม่สามารถทำแบบนี้ไปได้ตลอดเพราะท้ายที่สุดมันจะไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นทาง

แต่ในขั้นถัดไปคือการสร้างกฎหมายหรือ พ.ร.บ. กากฯ ซึ่งถ้าหากเข้าสภาก็เชื่อว่า ไม่น่าจะมีสมาชิกสภาท่านไหนคัดค้าน เพราะนี่คือการป้องกันผลประโยชน์ของชาติ เราสามารถยับยั้ง ควบคุม และทำให้กลุ่มธุรกิจที่จะเข้ามาประกอบการต้องคำนึงถึงผลกระทบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น เราก็เชื่อว่าพ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นการป้องกันอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมด้านกากอุตสาหกรรมได้อย่างรอบด้าน และหน่วยงานรัฐจะป้องกันปัญหาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ” ฐิติภัสร์ กล่าว

หลายจังหวัดทั่วประเทศตอนนี้ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออก จากระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี รวมถึงสมุทรสาคร กำลังถูกเปิดแผลจากกากอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน

“เครือข่ายเหล่านี้ทำกันเป็นขบวนการในกลุ่มธุรกิจศูนย์เหรียญที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่เข็ดหลาบ แม้จะอยู่ระหว่างถูกลงโทษระงับการประกอบกิจการไปแล้ว ที่สำคัญยังไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันอาจจะเกิดขึ้นจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองด้วย และการสืบค้นครั้งนี้ยังไม่ใช่จบเพียงเท่านี้ จนกว่าเราจะเปิดโปงถึงขบวนการทั้งหมด ขอให้พี่น้องประชาชนวางใจได้” ฐิติภัสร์ กล่าว

การปราบแบบสุดซอยเหล่านี้ ยังปรากฏให้เห็นถึงแผนการและตัวละครที่ไม่ใช่แค่คนนอก แต่ยังหมายถึงคนในอย่างเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนร่วมในการให้อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์แคดเมียม ตึกสตง.ถล่ม รวมถึงปัญหาที่พี่น้องหลายจังหวัดต้องพบเจอมาตลอดหลายสิบปีอย่างหนองพะวา แวกซ์กาเบ็จ และอื่น ๆ  คือการป้องกันอย่างรอบด้านถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น เพราะหลายเหตุการณ์ก็ปรากฏให้เห็นแล้วว่าเมื่อผลกระทบเกิดขึ้น เราไม่อาจฟื้นคืนสิ่งที่สูญเสียไปให้กลับมาเป็นอย่างเดิมได้เลย