ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในการเมืองไทย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยการข่มขู่คุกคาม ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังรวมทั้งข่าวลวง/ข้อมูลเท็จเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมือง
อีกทั้งในช่วงการเลือกตั้งมักพบการโจมตีนักการเมืองหญิงทั้งใช้คำพูดแสดงความเกลียดชัง โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยใช้ประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ และความหลากหลายทางเพศสภาพ
หรือเพราะเป็นหญิงในโลกการเมือง จึงต้องเจ็บปวด?
ทำไมผู้หญิงยังคงเผชิญความท้าทายในด้านต่าง ๆ ทั้งจากบรรทัดฐานของสังคมและการรับรู้ของสังคมที่ยังเห็นพื้นที่การเมืองเป็นพื้นที่ของผู้ชาย หรือเพราะสังคมไทยยังไม่ยอมรับบทบาทที่เท่าเทียมของผู้หญิงในการเป็นผู้นำทางการเมือง
บทบาทของสื่อและความรุนแรงบนโลกออนไลน์ ที่ยังไม่หายไปจากนักการเมืองหญิง
เมื่อความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่เพียงส่งผลเสียต่อพรรคการเมืองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพของการเลือกตั้งและความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในภาพรวม
ความไม่จริงเป็นสิ่งไม่ตาย ทำร้ายนักการเมืองหญิงทุกยุคสมัย
ความรุนแรงต่อนักการเมืองหญิงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกออนไลน์ผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนมีพื้นที่สื่อสารของตัวเองและน่าจะถูกนำมาใช้เป็นกระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ยังไม่เกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน โลกออนไลน์กลับเป็นพื้นที่ที่ข่าวลวงมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองหญิงบ่อยครั้ง
กุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker กองบรรณาธิการโคแฟค กล่าวว่าข้อมูลเท็จถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง โดยนักการเมืองหญิงจะถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จในเชิงเหยียดเพศ (gendered disinformation) มากกว่าผู้ชาย
โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเชิงชู้สาว การตัดต่อภาพวาบหวิว การล้อเลียนเสียดสีเรื่องความสามารถทางภาษา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการปลอมแปลงตัวตน เช่น บัญชีโซเชียลมีเดียปลอมเพื่อสร้างความเสียหายต่อนักการเมืองหญิง
กุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker กองบรรณาธิการโคแฟค
จากการทำงานของกุลธิดา ข่าวลวงเหล่านี้ถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบไปด้วย
1. Misinformation เป็นข้อมูลที่ผิดแต่ผู้เผยแพร่คิดว่าจริง ไม่มีเจตนาร้าย
2. Disinformation รู้ว่าข่าวนี่ผิด ไม่เป็นความจริง แต่ยังแชร์ ต้องการให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลในข่าว
3. Malinformation ข้อมูลจริง แต่เอามาปล่อยเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล เช่น คลิปหลุด คลิปส่วนบุคคล
กุลธิดา ยกตัวอย่างหลายข่าวที่นักการเมืองหญิงตกเป็นจำเลยในข่าวลวง หลายข่าวเป็นข่าวดังและถูกผลิตซ้ำโดยสื่อจนกลายเป็นภาพจำต่อนักการเมืองหญิงคนนั้น ๆ เช่น
กรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย เคยถูกกล่าวหาในประเด็นชู้สาวกับวาทกรรม “ว.5 โรงแรมโฟร์ซีซันส์”และมีการแชร์ข้อมูลว่าเธอพูดผิด เช่น อ่านคำว่าคอนกรีตว่า “คอ-นก-รีต” หรืออ่านชื่ออำเภอขนอมว่า “ขน-อม” เป็นต้น โดยที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เคยพูดหรืออ่านคำเหล่านี้ผิดเมื่อใด
กรณี รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน ถูกระบุเท็จว่าเป็นผู้หญิงที่สวมชุดบิกินีสีส้ม และมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เชื่อว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ยืนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ห้ามสูบบุหรี่ของอาคารรัฐสภา
หรือกรณีของจิตภัสร์ กฤดากร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกอ้างเท็จว่าเป็นบุคคลในภาพที่ถีบป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกอ้างเท็จว่าเป็นผู้หญิงในภาพวาบหวิวและการถูกสวมรอยสร้างบัญชีเฟซบุ๊กไปทำโพลเปรียบเทียบความสวยระหว่าง “ปารีณา ไกรคุปต์” กับ “พรรณิการ์ วานิช” ซึ่งขณะนั้นพรรณิการ์เป็น สส. พรรคอนาคตใหม่
“จากตัวอย่างที่ยกมา เราจะเห็นได้ว่าความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศจากการปล่อยข่าวลวงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่นักการเมืองสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง ในขณะเดียวกันเราพบว่าข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนมาก ซึ่งมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่บุคลิก ลักษณะ หน้าตา พฤติกรรม มากกว่าความผิดพลาดในเชิงการทำงาน” กุลธิดา กล่าว
Nenden Sekar Arum จาก SAFEnet ประเทศอินโดนีเซีย ฉายภาพสถานการณ์ความรุนแรงต่อนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงในอินโดนีเซีย โดยระบุว่านักการเมืองหญิงยังคงถูกข่มขู่คุกคามบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ
“การข่มขู่คุกคามเหล่านี้มีผลทั้งต่อจิตใจและสุขภาวะของผู้หญิง และยังอาจส่งผลต่อการแข่งขันทางการเมือง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในเวทีการเมือง…อินโดนีเซียยังขาดกลไกในการรับแจ้งเมื่อมีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเกิดขึ้น ขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” เน็นเด็น กล่าว
Nenden กล่าวถึงโลกออนไลน์ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของโลกออนไลน์ทำให้การสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงปัญหาที่นักการเมืองหญิงมักจะถูกโจมตีด้วยเหตุแห่งเพศมากกว่า อย่างไรก็ตาม โอกาสนี้ก็ได้กลายเป็นพื้นที่ให้กับอีกฝ่ายทางการเมือง หรือกลุ่มคนที่ต้องการจะโจมตีนักการเมืองหญิงมีพื้นที่เพิ่มขึ้น และข่าวลวงแพร่กระจายออกไปได้ไวและกว้างขวางขึ้น เช่นกัน
Nenden Sekar Arum จาก SAFEnet ประเทศอินโดนีเซีย
“โลกออนไลน์ยังคงผลิตซ้ำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ มันไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นแค่ใคร แค่ประเทศไหน เพราะนักการเมืองหญิงในอินโดนีเซียเองก็ยังต้องเผชิญอยู่ ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารไปไวและไกลมากขึ้น เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้ข่าวลวงเหล่านี้ไปทำร้ายผู้หญิงที่เป็นผู้นำหรือมีบทบาททางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในหลาย ๆ ครั้ง สื่อกระแสหลักเองก็เป็นคนยุยงปลุกปั่นให้เกิดข่าวลวงนี้ด้วยเช่นกัน” Nenden กล่าว
ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ยังคงเกิดขึ้นต่อผู้หญิง และทวีคูณหนักขึ้นเมื่อเป็นผู้นำและคนที่มีบทบาททางการเมือง
ในข่าวลวงที่ถูกเผยแพร่ออกไป แต่ความเจ็บปวดที่มนุษย์คนหนึ่งต้องรับไว้กลับซึมลึกและมีอยู่จริง
ข่าวลวงมีอยู่จริง บาดแผลยังฝังลึก
ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคประชาชนเล่าว่าเธอถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จและการคุกคามบนโลกออนไลน์มาตั้งแต่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 จนกระทั่งมาเป็น ส.ส.
ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน
ซึ่งมีทั้งการถูกอ้างเท็จว่าเป็นบุคคลที่สวมเสื้อสีส้มไปถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือการตัดต่อบทสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์แล้วนำไปอ้างเท็จว่าเธอมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับนักการทูตอเมริกันที่ประจำสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทย
เธอเชื่อว่าการเผยแพร่ข่าวปลอมในลักษณะนี้ไม่ใช่เพียงการแชร์กันไปด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด แต่เป็นการเผยแพร่โดยเจตนาและทำงานกันอย่างเป็นระบบ
โดยชลธิชาได้มองว่า มีการวางแผนอย่างเผยแพร่ข้อมูลข่าวเท็จอย่างเป็นระบบ ทั้งจากสื่อมวลชนกระแสหลัก สื่อออนไลน์ รวมถึงประชาชนที่เข้ามาแสดงความคิดและเผยแพร่ออกไปทั้งที่เข้าใจผิด อคติทางการเมือง รวมไปถึง IO
การคุกคามทางออนไลน์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อเธออย่างรุนแรงโดยเฉพาะในทางจิตใจ ทำให้เธอกังวลถึงความปลอดภัยต่อชีวิตด้วย เพราะมีการเขียนข้อความข่มขู่ว่าจะข่มขืน มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ลงเบอร์โทรศัพท์ไว้และมีคนโทรเข้ามาข่มขู่คุกคาม หรือเมื่อออกไปเดินบนท้องถนนก็มีคนพยายามจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย ทำให้เข้าใจความสำคัญของปัญหาการคุกคามทางออนไลน์
ชลธิชา กล่าวว่า “มันทำให้เราใช้ชีวิตได้ยาก หรือจริง ๆ แทบจะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เราไปกินข้าว ไปแบบส่วนตัว ก็มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเราเข้าใจว่าไม่ได้มองภาพการเมืองเหมือนกับเรา เข้ามาข่มขู่ทำร้าย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหนักขึ้นเมื่อผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองหรือเป็นผู้นำ ยิ่งเป็นนักการเมือง เป็นคนสาธารณะ ยิ่งดูเหมือนว่าพวกเขาจะทำอะไรกับคนที่ไม่เห็นด้วยก็ได้”
ชลธิชายอมรับว่า ก่อนหน้านั้นไม่เคยตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงต่อผู้หญิงในโลกออนไลน์มาก่อนจนกระทั่งได้เจอกับตนเอง ถึงขั้นต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ 4-5 เดือนเพื่อความปลอดภัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจ และได้พบจิตแพทย์ จึงได้เข้าใจว่าการปล่อยให้เกิดการคุกคามบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ข่าวปลอมทำลายกันนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจระยะยาว
“มันมากกว่าที่เราคิด ไม่ใช่แค่ discredit (ทำลายความน่าเชื่อถือ) เราทางการเมืองเท่านั้น แต่มีผลทางกายภาพและเรื่องของสุขภาพจิต เคยอยู่ในภาวะที่ป่วยเป็น PTSD (โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ) อยู่ช่วงหนึ่ง เพราะรับข้อความหรือเจอการคุกคามทางกายภาพเป็นประจำ จนมีภาวะป่วยด้วยเรื่องสุขภาพจิต เชื่อไหมว่าความน่าเศร้าเกิดขึ้นเมื่อเราพบว่าในช่วงนั้นขบวนการเคลื่อนไหวหรือแม้แต่พื้นที่ของการทำงานทางการเมือง ไม่ได้มีใครตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้” ชลธิชา กล่าว
นอกจากความรุนแรงโดยตรง (Directly Violence) ที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิง สิ่งที่ผู้หญิงในโลกการเมืองยังต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence)
ทั้งเสื้อผ้า ท่าทาง และบุคลิกภาพ มักเป็นสิ่งที่ถูกใช้ในการทำร้ายผู้หญิงในโลกการเมือง แต่มากไปกว่านั้น ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างและความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรมภายใต้สังคมไทยที่ยังมีกรอบคิดของชายเป็นใหญ่อยู่มาก
สิ่งที่นักการเมืองหญิงหลายคนต้องเจอ คือการที่ไม่ได้ถูกปฏิบัติ หรือถูกมองในฐานะนักการเมือง แต่มักจะถูกมองเป็นเงาของใครสักคน ซึ่งอาจหมายถึง พ่อ อา ลุง หรือสามี ในเส้นทางการเมือง
ศรีโสภา โกฏคำลือ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
ศรีโสภา โกฏคำลือ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยเล่าว่า การที่ตนเป็นผู้หญิง มีอายุน้อย และเป็นทายาทนักการเมือง ทำให้มีคนที่มองว่าชีวิตสุขสบาย แต่ก็ไม่ได้มองว่าคนเหล่านั้นคิดผิดและมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เขาจะสงสัย แต่ใครที่ได้เห็นตนทำงานก็จะรับรู้ว่าการที่มาอยู่ตรงนี้ได้ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะมีพ่อเป็นนักการเมือง แต่ยังเป็นเพราะสิ่งที่พยายามผลักดันให้เราทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ในขณะที่ ขวัญข้าว คงเดชา นักวิจัย สถาบันพระปกเกล้ากล่าวว่า ความแตกต่างทางเพศในโลกการเมือง ยังเชื่อมโยงกับสถานะในการเข้ามามีบทบาทในโลกการเมือง โดยเฉพาะข้อค้นพบที่ได้จากการทำวิจัยกับเครือข่าย สส. หญิงในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปี 2567 โดยมีกลุ่มเข้าร่วมวิจัย 20 คน สิ่งที่น่าสนใจในวิจัยชุดนี้ คือมีทั้ง ส.ส.ที่เห็นด้วยว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจริง และ ส.ส.ที่เห็นว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นหากเราป้องกัน อย่างไรก็ตาม นักการเมืองหญิงในชุดวิจัยฉบับนี้มีจุดที่เห็นตรงกันว่า ความเป็นผู้หญิงในโลกการเมืองสร้างความแตกต่างอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อน หรือจุดแข็งก็ตาม
ขวัญข้าว คงเดชา นักวิจัย สถาบันพระปกเกล้า
แม้จะเป็นตัวเลขไม่มากนัก แต่เมื่อถามว่าเคยประสบความรุนแรงทางเพศขณะที่เป็นนักการเมืองหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งบอกว่าเคยแต่อีกครึ่งบอกว่าไม่เคย โดยในกลุ่มที่บอกว่าเคย มี 4 คน บอกว่าเคยเจอเฉพาะความรุนแรงทางจิตใจ และอีก 6 คน ให้ข้อมูลว่าเจอทั้งความรุนแรงทางกายภาพและทางจิตใจ ขณะที่เมื่อถามว่าความเป็นเพศสภาพมีผลต่อเส้นทางชีวิตของการเป็นนักการเมืองหรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง 11 คน ตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง ส่วนอีก 9 คนตอบว่าเกี่ยวข้อง
“ไม่ได้จะบอกว่านักการเมืองหรือ สส. หญิงจะไม่สนใจเรื่องนี้ เขามีความสนใจ ทุกคนมีความตื่นตัว หลายคนอาจจะบอกว่า ignorance (เมินเฉย) หรือเปล่า? จริง ๆ ไม่ใช่ ทุกคนมี perception (การรับรู้) หรือ gender lens (มุมมองเรื่องเพศ) ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยสถานะทางสังคม การเลี้ยงดู การได้รับการศึกษาที่แตกต่างกัน
ดังนั้น หากเราสามารถสร้าง gender sensibility (ความละเอียดอ่อนในประเด็นเรื่องเพศ) ที่ไม่ถึงกับต้องเป็น universal (สากล) ก็ได้ แต่เป็นที่ยอมรับในสังคมในบริบทของไทย และให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จะสามารถเพิ่มการตระหนักรู้ได้ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ว่าสิ่งที่เจอไม่ใช่แค่เกมการเมือง แต่เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง” ขวัญข้าว กล่าว
ความเท่าเทียมทางเพศ ต้องไปพร้อมกับความเท่าทันสื่อ
จากข่าวข้างต้นที่ชลธิชาต้องอยู่ในสถานะของจำเลยในข่าวลวง ชลธิชาเล่าเสริมว่า ในทุกวันนี้ข่าวเหล่านี้ยังคงมีอยู่ แต่ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์หลายครั้งเหล่านั้น เธอไม่เคยได้การติดต่อจากสำนักข่าวที่ลงข่าวนั้นของเธอเพื่อที่จะตรวจสอบว่าเป็นความจริงเท็จแค่ไหน
ในยุคที่การสื่อสารอยู่ในมือทุกคน ในเหตุการณ์ที่ชลธิชาต้องประสบชี้ให้เห็นว่า สื่อ ยังเป็นแม่เหล็กที่กำหนดว่าสังคมควรได้รับรู้เรื่องอะไร แต่ในขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปมาสักระยะ ทำให้ข่าวไม่ได้ถูกเน้นในเรื่องของความจริง แต่กลับถูกเน้นในเรื่องของความน่าสนใจ
ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหาร เนชั่น TV ยอมรับว่า การทำงานของสื่อในอดีตมีการแบ่งแยกกันระหว่างสื่อหลักที่มีกรอบจรรยาบรรณและมีสมาคมวิชาชีพกับสื่อออนไลน์หรือสื่อทางเลือก แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและความอยู่รอดของสื่อหลักซึ่งมีต้นทุนสูงมาก ทำให้ทั้งสื่อหลักและสื่อทางเลือกเคลื่อนมาอยู่ใกล้กัน
ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหาร เนชั่น TV
กล่าวคือ ยิ่งไม่มีจรรยาบรรณมากเท่าไรก็จะยิ่งมีเรตติ้งมากเท่านั้น เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายของสื่อ การควบคุมไม่ให้ละเมิดทำได้ยากเพราะละเมิดแล้วได้เรตติ้ง เพราะเรื่องเหล่านี้สามารถหาดูได้ในสื่อออนไลน์ หากสื่อหลักไม่แข่งด้วยก็ไม่มีใครมาดู ดังนั้นหากจะแก้ไขก็ต้องทำพร้อมกัน
“ตอนนี้สื่อออนไลน์ไม่ถูกควบคุมโดย กสทช. คือไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานใดไปควบคุมได้ ในขณะที่สื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ถูกควบคุม แต่บางคนเขาพร้อมยอมจ่าย ปรับทีละ 5 หมื่นก็ปรับได้เพราะเรตติ้งเขาได้เยอะกว่า” ปกรณ์ กล่าว
ในขณะเดียวกัน การฟ้องร้องกล่าวโทษต่อผู้กระทำความผิดในกรณีเช่นนี้บนโลกออนไลน์ก็เป็นไปอย่างล่าช้า ญดา โภคาชัยพัฒน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า การที่ผู้เสียหายจากเหตุความรุนแรงทางเพศจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็จะคิดว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่
ญดา โภคาชัยพัฒน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์
เพราะการกระทำเกิดขึ้นทางออนไลน์ซึ่งหาตัวผู้กระทำได้ยาก เนื่องจากทุกคนมีโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เสมือนมีปากกาพร้อมจะเขียนบนโลกออนไลน์ได้เสมอ ส่วนคนจะกรองข้อความหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“อีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้ถูกกระทำไม่อยากไปหาเจ้าหน้าที่คือกระบวนการที่ต้องเล่าซ้ำ ๆ ในสิ่งที่ถูกกระทำตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการและศาล ซึ่งในมุมของเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นขั้นตอนที่ทำเพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นและได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง แต่ในมุมของผู้ถูกกระทำก็อาจคิดไปได้ว่าเจ้าหน้าที่มองว่าผู้ถูกกระทำนั้นได้ทำอะไรผิดหรือไม่ และไม่มีกระบวนการเยียวยาหรือคุ้มครองผู้ถูกกระทำระหว่างอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น เมื่อถูกเผยแพร่คลิปวิดีโอ ภาพหรือข้อความ และถูกแชร์ต่อกันอย่างสนุกสนาน ผู้เสียหายไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้นำเนื้อหานั้นออกจากระบบได้”
“เขาจะต้องวิ่งไปทางตำรวจ แล้วกว่าคำพิพากษาจะออกมากินเวลานานมาก อาจเป็นปีหรืออาจจะฝังอยู่ ถ้าเกิดค้นหาชื่อคนคนนี้ขึ้นมา ข่าวทุกข่าวเหมือนย้อนประวัติศาสตร์เป็นบันทึกข้อความว่าเขาผ่านอะไรมา” อัยการญดา กล่าว
ในขณะที่สื่อที่ส่งเสริมและยืนระยะในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศอย่าง Mirror Thailand มองว่าประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าขนาดนั้น และการทำงานด้านนี้ยังต้องทำงานทางความคิดกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ณฐรัจน์ นิ่มรัตนสิงห์ Brand Manager จาก Mirror Thailand ยกตัวอย่างการตั้งประเด็นคำถามในการสัมภาษณ์นักการเมือง หากเป็นผู้ชายจะมุ่งถามในเรื่องการทำงาน ในขณะที่ผู้หญิงจะมีคำถามเรื่องชีวิตส่วนตัว (lifestyle) ขึ้นมาเพื่อให้ดูผ่อนคลาย ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภาไทยจะสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ก็ต้องดูกันต่อไป ไม่ใช่ว่ามาถึงจุดนี้จะดีใจกันแล้ว เท่าเทียมแล้ว หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วคือจบแล้ว แต่ยังต้องทำงานกันอีกมาก
ณฐรัจน์ นิ่มรัตนสิงห์ Brand Manager จาก Mirror Thailand
“ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ทาง Mirror จะพยายามไม่ทำ นั่นคือการพยายามพาดหัวให้สั้นลง การพยายามย่อยทุกอย่าง เพราะเรารู้ว่าในยุคที่ social media มีผลกระทบมาก ๆ ในโลกออนไลน์ สื่ออยู่ได้ด้วยยอดแชร์ต่าง ๆ นานา ทำให้จริยธรรมในการทำงานของสื่อน้อยลง ถ้าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างล่อแหลม หรือมีความสุ่มเสี่ยงอ่อนไหวมาก ๆ เราจะไม่ค่อยตัดทอนอะไรออกไป เราจะพยายามให้มันครบถ้วน เพราะเราไม่เชื่อว่าการพาดหัวที่สั้นมันสื่อสารมีประสิทธิภาพที่สุด มันอาจมีประสิทธิภาพที่สุดกับ social media แต่ไม่ใช่กับผู้รับสาร” ณฐรัจน์ กล่าว
หลังจากคนสื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และได้เห็นข้อจำกัดของคนสื่อในห้วงเวลาที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป การทำงานสื่อเพื่อลดอคติด้วยเหตุแห่งเพศ และบ่อยครั้งที่เกิดขึ้นจากสื่อเองนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมที่ทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริง ๆ
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอุปนายกมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco) จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะกระจายคู่มือนี้ไปยังสื่อต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสมาคม รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในระบบงานทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรของตนเองได้
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอุปนายกมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
จีรพงษ์ยกตัวอย่างกรณีนักข่าวผู้หญิง เกิดเรื่องแล้วไปร้องเรียนทั้งบรรณาธิการและบรรณาธิการบริหารซึ่งเป็นผู้ชายแล้วไม่สามารถช่วยเหลือได้เพราะไม่เข้าใจ ดังนั้นทำอย่างไรที่องค์กรสื่อหรือทุก ๆ องค์กร จะมีระบบดูแลพนักงานที่เผชิญปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในระบบ HR และในกรณีที่เป็นนักการเมือง ก็ต้องถามไปถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนกรณีนักการเมืองหญิงถูกล่วงละเมิดหรือไม่ สส. ก็ต้องไปย้อนถามในสภาทำเนียบรัฐบาล หรือกระทรวงต่าง ๆ มีหรือไม่
เช่นเดียวกับที่ปกรณ์ยกตัวอย่างของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และลดความรุนแรงที่เกิดกับนักการเมืองหญิง ปกรณ์ยกตัวอย่างการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่าง ๆ ในสภา ปัจจุบันจะเป็นการกำหนดโควตาโดยอิงจำนวน สส. ของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งพรรคจะส่งใครมาก็ไม่สามารถไปขัดแย้งได้ แต่ กมธ. บางชุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหวสามารถกำหนดบุคคลที่จะมาเป็นได้โดยอิงกับผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่ต้องยึดติดกับโควตาทางการเมือง เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว หรือการอนุญาตให้ประเทศไทยมีกาสิโนถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบมาก
นอกจากนี้ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่มีสถาบันวิจัยกฎหมาย และมีตัวอย่างเรื่องกฎหมายการสร้างห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งนักการเมืองมักเข้าใจว่าความเท่าเทียมหมายถึงการสร้างห้องน้ำชายและหญิงในจำนานเท่า ๆ กัน แต่ผลการศึกษาชี้ว่าในความเป็นจริงผู้หญิงใช้เวลาเข้าห้องน้ำนานกว่าผู้ชาย ดังนั้นการสร้างห้องน้ำชายและหญิงเท่ากันส่งผลให้ผู้หญิงต้องรอนานกว่ากรณีมีผู้ใช้ห้องน้ำจำนวนมาก นำมาสู่การออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้สร้างห้องน้ำหญิงมากกว่าชาย
“เรามองว่าความเท่าเทียมเหล่านี้เองก็เริ่มได้จากสภาเช่นกัน ความเท่าเทียมทางเพศมันยังซ้อนทับกับความเท่าเทียมในรูปแบบอื่น ๆ และมันนำมาสู่การกำหนดนโยบาย การจัดการของภาครัฐ ที่จะทำให้ความเท่าเทียมทางเพศที่ว่าเกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิง ผู้หญิง และประชาชนทุก ๆ คนไม่ให้ตกไปในความเหลื่อมล้ำของความเท่าเทียมที่ว่า” ปกรณ์ กล่าว
การสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะกับนักการเมืองหญิงในบทบาทของสื่อ ณฐรัจน์เปรียบเทียบว่า เหมือนกับการเดินทางไกล ที่วันนี้เราเองก็เป็นสื่อหนึ่งที่พยายามสื่อสารเรื่องนี้ ท้ายที่สุดสิ่งที่จะทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นจริงและความรุนแรงทุกรูปแบบไม่เกิดขึ้นต่อนักการเมืองหญิงอย่างที่เรามาคุยกัน คือการต้องพูดเรื่องนี้ต่อไป ให้ความมันกลายเป็นความทั่วไป และการผลิตซ้ำความรุนแรงเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดในสังคม
แม้ในโลกที่ทุกคนสามารถสื่อสารได้อยู่ในมือ เพียงแค่สัมผัสเดียว ความรู้สึกนึกคิดของเราจะบันทึกเป็น Digital Footprint ไปอีกยาวนาน เช่นเดียวกัน ความรุนแรงที่เราอาจเป็นหนึ่งในคนที่ผลิตซ้ำอาจทำให้ความเจ็บปวดฝังลึกกับใครสักคน โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุแห่งเพศเกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิง
บทบาทของสื่อ ที่ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ความรุนแรงยังเกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิง เช่นเดียวกัน ในวงเสวนาวันนี้ ผู้เข้าร่วมวงเสวนายังคงเชื่อว่า สื่อเองก็สามารถที่จะมีบทบาทในการยุติความรุนแรงบนโลกออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิงด้วยเช่นกัน
“เราในฐานะสื่อมองว่า มันก็คือการทำต่อไปเรื่อย ๆ การสร้างความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องระยะยาว มันไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่เมื่อเราพูดมันไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นเรื่องทั่วไป เมื่อไหร่ที่มีคนมาผลิตซ้ำความรุนแรงนี้อีก มันจะกลายเป็นความผิดปกติที่สังคมจะช่วยปกป้องว่านี่ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง หรือใครสมควรจะโดนกระทำแบบนี้
ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเหมือนมาราธอน เรายังต้องวิ่งอีกไกลและมีปัจจัยอีกมากที่อาจมารบกวนเป้าหมาย แต่เราต้องยืนระยะกับมันให้ได้ ทั้งในแง่ประเด็นและการอยู่รอดในภูมิทัศน์สื่อนี้ รวมถึงความร่วมมือกับภาครัฐและประชาชน เพื่อให้สังคมที่เราเท่าเทียมกันจริง ๆ” ณฐรัจน์ กล่าว
รับชมย้อนหลัง “สื่อกับผู้หญิงในโลกการเมือง : บทบาทของสื่อและความรุนแรงออนไลน์ต่อนักการเมืองหญิง“