ในนามของความจงรักภักดี 'คนรักเจ้ามีอยู่จริง' คนเกินเจ้าก็มีอยู่จริง? - Decode
Reading Time: 4 minutes

เมื่อสถาบันถูกแช่แข็งและยกไว้บนหิ้ง มาตรา 112 ไม่ได้เป็นเพียงกฎหมายที่ถูกกล่าวว่านำไปใช้เพื่อปิดปากคนเห็นต่าง กลั่นแกล้งทางการเมือง ภายใต้ความจงรักภักดี ที่มี “คนรักเจ้า” ใช้กฎหมายนี้เพื่อปกป้องสถาบัน แต่ยังมี “คนเกินเจ้า” สวมเสื้อของความจงรักภักดีใช้ ม.112 และสถาบันกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเองด้วยเช่นกัน

ข้อถกเถียงในสภา ในชั้นศาล และในคุกที่ยาวนาน
ฟังเสียงข้างในหัวอกคนรักเจ้า ที่คนหนึ่งเพราะศรัทธาจึงไม่ควรแตะต้อง และอีกคนมองว่าภายใต้ความละเอียดอ่อนนี้มีช่องโหว่จึงต้องแก้ไข ในวันที่สังคมไทยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และมาตรา 112 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ความใกล้ชิดเพียงจอทีวี

“ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน… ”

เสียงเพลงจากลำโพงและลำคอในการชุมนุมเครือข่ายปกป้องสถาบัน ภาพของกลุ่มคนสูงวัย ทั้งเสื้อ ป้าย ผ้าพันคอ ต่างมีคำว่าจงรักภักดีประดับอยู่

ก้อง แนวร่วมจากกลุ่ม ศปปส.(ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) ก็เป็นหนึ่งในประชาชนที่มาร่วมให้กำลังใจ สว. ที่อ้างว่าโดนโจมตี-คุกคามทางโซเชียลมีเดีย เนื่องจากโหวตไม่เห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประชาชนที่ต้องการปกป้องสถาบันกังขาถึงนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจะไปล้มล้างสถาบัน

“ความรักที่เรามีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มันมากพอที่จะทำให้เรากล้าเปิดหน้าสู้เพื่อท่าน มันมากพอที่เราจะถวายชีวิตให้” ก้อง กล่าวถึงการมาร่วมชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่ม ศปปส.

ก้องเป็นชายวัยกลางคน ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นอนุรักษนิยม แต่เรียกตัวเองว่า คนที่รักสถาบัน เติบโตมากับการเห็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงงานในถิ่นทุรกันดาร นั่นเป็นความจริงที่ปรากฎต่อสายตาก้องมาทั้งชีวิต ความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทันเห็นในหลวงทรงงาน มีแต่ความลวงที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้ก้องในวัยเกือบเกษียณตัดสินใจมาเป็นแนวร่วมของ ศปปส.

ก้องเองเป็นหนึ่งในคนไทยที่ใกล้ชิดกับสถาบันจากการเห็นพระราชกรณียกิจในทีวี ได้เข้าร่วมเทศกาลที่สำนักพระราชวังจัด และเมื่อโตขึ้นก็ได้มีโอกาสมาร่วมเข้าเฝ้าริมฝั่งถนนเส้นพระบรมมหาราชวัง

เขาเล่าว่าเนื่องจากบ้านอยู่แถวฝั่งธนฯ ในวัยเด็กการได้มานั่งดูหนังกลางแปลง 200 กว่าจอรอบสนามหลวง ที่สำนักพระราชวังจัดขึ้นก่อนวันพระราชสมภพ ก็เป็นความทรงจำอันล้ำค่าที่สถาบันมอบให้กับเขาเมื่อเยาว์วัย

โดยเฉพาะความผูกพันต่อสถาบันที่ก้องจำได้แม่นในวัยเด็ก คือทุก ๆ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ตนจะนั่งรอที่หน้าจอทีวีตลอด เพราะการได้เห็นพระองค์ท่านเปรียบเหมือนได้รับพร เป็นความใกล้ชิดที่ห่างเพียงจอแก้วที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีต่อพสกนิกรคนไทยทุกคน

แม้ว่าประชาชนที่เคารพรักในสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีมุมมองในการแทนพระองค์แตกต่างกัน ทั้งเทพ เทวดา พระโพธิสัตว์ ฯลฯ แต่สำหรับก้อง พระเจ้าอยู่หัวและราชวงศ์ มีสถานะเป็นปูชนียบุคคล ที่น่าเคารพและมีอยู่จริง

“เราไม่ติดว่าใครจะมองท่านอย่างไร แต่สำหรับเรา ท่านคือปูชนียบุคคล เพราะว่าท่านไม่เหมือนเทพ เทวดา ที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ปูชนียกษัตริย์อย่างท่าน คือความดีที่สัมผัสได้ เป็นความดีที่มีอยู่จริง” เสียงของก้องสั่นเครือ เมื่อหันไปทางซ้ายและเห็นรูปรัชกาลที่ 10

ความเป็นไทยของก้องประกอบไปด้วย กษัตริย์ กตัญญู และศาสนา ก้องเสริมว่า ทั้งกษัตริย์และศาสนาต่างเป็นที่พึ่งทางใจของคนไทยมานาน และความกตัญญูนั้นทำให้ทั้ง 2 สิ่งดำรงอยู่ได้มาตลอด นั่นทำให้ในวันนี้ที่ความกตัญญูถูกตั้งคำถามในเชิงโครงสร้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ที่โดนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและถูกตั้งคำถาม ในฐานะผู้ก่อร่างสร้างประเทศ ผู้คุ้มครอง และที่พึ่งทางใจ ถูกกล่าวหาในความรู้สึกของก้องด้วยเช่นกัน

เขาเชื่อว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนฝั่งที่เรียกร้องให้มีการลดพระราชอำนาจ พรรคก้าวไกลมีส่วนเกี่ยวข้องในการแอบแฝงวาระซ่อนเร้น อีกทั้งยังมีการสนับสนุนแหล่งทุนจากประเทศมหาอำนาจ ที่มุ่งหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์หายไป

สำหรับก้องแล้ว หากนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมีชื่อว่า พิธา จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนฝั่งฝ่ายของพรรคการเมืองขั้วเดิมหรือขั้วใหม่ แต่เป็นการมาถึงของความล่มสลายของชาติไทย ที่คำว่ากษัตริย์อาจถูกทำให้หายไปจากพจนานุกรมตลอดกาล

112 ในนามของความจงรักภักดี

“มาตรา 112 ไม่เคยละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีแต่คนไม่กี่คนไปละเมิดกฎหมายจึงทำให้ต้องรับโทษ เป็นเรื่องปกติไม่ว่าที่ไหน ถ้าใครทำผิดก็ต้องรับผิดชอบ” ก้อง กล่าว

ด้านก้องมองว่าการฟ้องร้องมาตรา 112 เป็นสิ่งที่พึงกระทำในกรอบของกฎหมาย เขากล่าวว่าไม่ว่ายุคสมัยไหนหรือในหลายประเทศก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขเหมือนกัน เป็นกฎหมายที่ต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมไม่ต่างจากมาตราอื่น ๆ แต่ที่จะพิเศษกว่ามาตราอื่น คือมีสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของชาติเป็นผู้ถูกอ้างอิงและถูกกล่าวหาว่าร้าย

การมีอยู่และการฟ้องกฎหมายของมาตรานี้สำหรับเขาก็เป็นไปเพื่อปกป้องประมุขซึ่งต้องมีการคุ้มครองที่รัดกุมและมากกว่าคนทั่วไป

กลุ่ม ศปปส. มีการยื่นฟ้องร้องกฎหมายมาตรา 112 ต่อผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายต่อหลายครั้ง ในวันที่มีการพิจารณาคดีในชั้นศาล ก้องจะเป็นคนไปร่วมด้วยเสมอ ก้องไม่เคยเข้าร่วมในฐานะพยานโจทก์ด้วยเหตุผลว่าการฟ้องร้องครั้งหนึ่งใช้เวลานาน และช่วงเวลาของตนไม่สะดวกมากนัก คนที่เป็นโจทก์พยานในคดี 112 ที่กลุ่มศปปส. ฟ้องมักจะเป็นแนวหน้าของกลุ่ม 3-5 คน แต่ก้องก็ไปร่วมให้กำลังใจสมาชิกในกลุ่มในการเอาผิดคนที่ว่าร้ายสถาบันหลายครั้ง

“สำหรับเราแล้ว เรามองว่าการฟ้องกฎหมายมาตรานี้คือการทำไปตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเราที่ออกมาชุมนุมก็ทำตามในกรอบของกฎหมาย ทำไมพวกคุณทำตามกันไม่ได้แต่เราทำได้ แล้วทำไมถึงไม่กล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ทำให้ลงไปเมื่อถูกตัดสินโทษ”

แม้การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจะเป็นการลดโทษและเพิ่มมาตราการพิจารณาโทษให้รัดกุมยิ่งขึ้น แต่สำหรับก้องแล้ว การแก้ไขจะเป็นบันไดไปสู่การยกเลิกและนำมาสู่การล่มสลายของสถาบันในที่สุด ไม่ว่ายังไงก็ไม่ยอมให้เกิดการแก้ไขเด็ดขาด

สถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2563-2566 มีผู้ดำเนินคดีมาตรา 112 ไป 253 รายจาก 273 คดี และในจำนวนนี้มีประชาชนเป็นผู้ไปฟ้องร้องกล่าวโทษ 131 คดี ชี้ให้เห็นว่าคดี 112 เกือบครึ่งก็เกิดจากการที่ประชาชนด้วยกันเป็นผู้ฟ้องร้อง

สำหรับก้องเองไม่ได้มองว่ากฎหมายมาตรา 112 ถูกใช้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เขายังให้ความเห็นว่าจริง ๆ แล้วกฎหมายนี้ควรจะครอบคลุมถึงพระมหากษัตริย์องค์ย้อนหลังไป 5 พระองค์เสียด้วยซ้ำ

“การแก้ไขหรือแตะต้องมาตรา 112 ไม่ต่างจากการดึงฟ้าลงมาต่ำ ทำไมถึงต้องดึงท่านลงมาพัวพันกับการเมือง และสิ่งที่ก้าวไกลกำลังทำในวันนี้คือเพิ่มการทำหินแตก คือประชาชนกำลังแตกแยกกันเอง” ก้องกล่าว

ปัจจุบันก้องได้ร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม ศปปส.ได้นับปีเศษ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ก้องเริ่มเข้าร่วมการชุมนุมเป็นครั้งแรกเพื่อเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเวลานั้นเขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเพื่อนฝูงชักชวนไปไล่นักการเมืองชั่วด้วยกันที่ถนนราชดำเนิน

เขาคือกลุ่มคนที่เติบโตมากับชุดความคิดนักการเมืองเลว พยายามเข้ามาเอาผลประโยชน์ สิ่งหนึ่งที่ขัดขวางนักการเมืองเลวเหล่านี้ได้คือพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์

“ครั้งนั้นสุจินดาบอกว่าจะเข้ามาสร้างความสงบให้ประเทศ แต่แท้จริงตนต้องการจะเป็นใหญ่ ไม่ยอมลงจากอำนาจแม้บ้านเมืองจะดีขึ้นแล้วก็ตาม มันทำให้เราเห็นว่าเมื่อใครก็ตามเข้ามาในชื่อนักการเมืองจะต้องเลว จะต้องเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งตลอด”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก้องก็เข้าร่วมการชุมนุมที่มีการอ้างว่าคู่ตรงข้ามต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเหตุการณ์พันธมิตรเสื้อเหลืองในปี 2553 และการชุมนุมของ กปปส. ในปี 2557

“เราไม่อยากนิยามว่าเรามาชุมนุมทางการเมือง เพราะทุกครั้งเราออกมาด้วยเหตุผลเดียว คือเราต้องการประกาศว่าเราไม่เอาพวกที่ต้องการจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” ก้องกล่าว

ในขณะเดียวกัน ก้องก็เห็นการรัฐประหารของ คสช. แตกต่างกับ รสช. ในขณะที่พลเอกสุจินดานั้นต้องการรวบอำนาจและผลประโยชน์เข้าสู่ตัวเองและพวกพ้อง แต่การเข้ามาของพลเอกประยุทธ์นั้น คือการทำให้บ้านเมืองสงบสุขและรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ

แม้จะเป็นคณะรัฐประหารเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างคือความเป็นคนดีที่ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

การเลือกตั้งในปี 2566 หลังพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งทั้งหมด 151 ที่นั่งในสภา และตามหลักประชาธิปไตยนั้น พรรคที่ได้อันดับ 1 ก็พึงจะได้รับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่สำหรับก้องไม่คิดเช่นนั้น ก้องและสมาชิกคนอื่นของกลุ่มศปปส.เอง ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้คนอย่างพิธา เป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหารประเทศ

ฉะนั้นแล้วการไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์จึงขัดแย้งกับหลักคิดให้คนดีปกครองบ้านเมืองของก้อง ในปีกฝั่งคนที่ต้องการปกป้องสถาบัน พรรคก้าวไกลจึงเป็นปฏิปักษ์และไม่สามารถเป็นผู้แทนของราษฏรทุกคนได้

นี่จึงเป็นกฎหมายที่ไม่ธรรมดาสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการปกป้องสถาบัน น้ำตาของความเจ็บปวดที่สถาบันถูกก้าวล่วง จึงต้องแลกมาด้วยน้ำตาหน้าชั้นศาลของจำเลยที่ถูกตัดสินโทษด้วยคดี 112 ไม่ว่าจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือกี่สิบปีในการรับโทษก็ตาม

สุญญากาศสถาบัน ช่องทำกินของคนเกินเจ้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกระเพื่อมในการเคลื่อนไหวปี 63 ไม่ได้ทำให้แนวคิดของปีกซ้ายลุกฮือเพียงอย่างเดียว แต่ในแรงกระเพื่อมนี้ก็ได้ส่งไปยังกลุ่มอนุรักษนิยมหลายคน ว่าการกล่าวอ้างถึงความจงรักภักดี อาจเป็นช่องโหว่ที่คนรักเจ้าหลายส่วนใช้เพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง

กลุ่มคนที่ยังสนับสนุนในการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้เห็นพ้องกับการใช้มาตรา 112 ไปเสียทั้งหมด ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก แม้จะเป็นผู้เคยร่วมงานกับราชวงศ์หลายต่อหลายครั้ง ก็ยืนยันว่ามีคนกลุ่มหนึ่งหรือกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ใส่เสื้อของความจงรักภักดี โดยอาศัยความอ่อนไหวเรื่องสถาบัน จนเกิดช่องว่างให้คนเหล่านี้แอบอ้างและใช้ทำมาหากิน

ทิชา กล่าวว่า ในแวดวงที่ตนทำงานหลายครั้งหลายหน มักจะเจอคนที่รู้กันว่าสายจงรักภักดี ซึ่งผู้จัดงานจะดูแลให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แม้ไม่ใช่เจ้าแต่เสมือนเจ้าไปแล้ว หรือจะเรียกว่าคนเกินเจ้าก็ได้ ในขณะที่เบื้องหลังเป็นธุรกิจสีเทาแทบทั้งสิ้น

การประกาศความจงรักภักดีของคนกลุ่มนี้ แทบจะทำให้สังคมมองดำเป็นขาว และมองข้ามความผิดที่พวกเขาทำไว้เกือบหมด ซึ่งกว่าหน้ากากคนเกินเจ้าจะหลุดจะลอกก็ใช้เวลานานและส่งความเสียหายสู่สถาบันอย่างปฏิเสธไม่ได้ไปเสียแล้ว

“พอคุณสวมเสื้อจงรักภักดีแล้ว ไม่ว่าคุณจะทำอะไรผิดมา หรือคุณจะทำอะไรที่มันสีเทาแค่ไหน
สังคมจะมองทันทีว่านี่คือคนดีของฉัน คนดีที่ภักดีต่อสถาบัน

ยิ่งประเด็นสถาบันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
มีความเคร่งครัดมากแต่ตรวจสอบน้อย
ช่องโหว่นี้เองจึงเป็นแรงจูงใจให้คนเหล่านั้น
พึงพอใจกับความเป็นคนเกินเจ้าจนหลงลืมผลกระทบต่อสถาบัน”

โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ความเทาของกลุ่มคนจงรักภักดีเปลี่ยนสีจากเทากลายเป็นดำ การอ้างอิงถึงสถาบันกษัตริย์ในระยะหลัง จึงไม่ใช่การปกป้อง แต่เป็นการทำให้สถาบันเสื่อมถอยลงกว่าอดีต

ทิชายังยืนยันถึงการทำงานกับเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังนี้มีเยาวชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้เธอยิ่งตั้งคำถามว่าการพุ่งเป้าไปที่เยาวชนคือการไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วใช่ไหม ว่านี่คือการปกป้องสถาบันหรือยิ่งลากสถาบันเข้ามาสู่พื้นที่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่มีวิถีชีวิต การรับสื่อที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง

“ณ วันนี้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ในสังคมยังไม่เคยหยุดทำงาน สุดท้ายของสายพานผู้แพ้จะถูกส่งเข้าคุกบ้าง สถานบำบัดบ้าง โรงพยาบาลจิตเวชบ้าง นั่นคือปัญหาเก่าที่ยังไม่เจอทางออก แต่วันนี้สังคมกำลังเพิ่มเงื่อนไขใหม่ เพื่อส่งพวกเขาเข้ามาเพิ่ม”

ทิชาอยากฝากให้ทุกคนใช้ความละเอียดอ่อนกับความเชื่อมโยงดังกล่าว เพราะถ้าตัดสินใจผิด เท่ากับเสียโอกาสของสังคมหรือของประเทศ ที่ไม่รู้จะใช้เวลาในการกอบกู้สักกี่ช่วงชีวิตของผู้คน

ขณะเดียวกัน การที่ฝั่งอนุรักษนิยมจะไม่ยอมให้เกิดการแตะต้องหรือพูดถึงมาตรา 112 อาจมีความเสียหายอยู่ 2 ประการ คือ

หนึ่ง ก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และได้เป็นช่องโหว่ให้คนจงรักภักดีปลอม ๆ ใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ได้ง่ายและไร้ซึ่งการตั้งคำถามได้มากขึ้น

สอง การผลักให้วาระ 112 กลายเป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนไปจากอดีตแบบ 360 องศา แม้ว่าจะใช้กฎหมายหรือความรุนแรงในการปิดปากอย่างไรก็ไม่ง่าย ไม่ราบรื่นอีกต่อไป เมื่อการแก้ไข 112 ถูกทำให้เป็นเรื่องใต้ดิน ปัญหาเหล่านี้จะทวีคูณความรุนแรงขึ้นและนำมาสู่การต่อต้านที่หนักหน่วงกว่าเดิม

“ยิ่งการเลือกนายกฯ ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เราจะเห็นหลายพรรคการเมืองหยิบยกประเด็น 112 ขึ้นมาพูด แต่ดูเหมือนสมาชิกรัฐสภาหลายคนจะเห็นแค่ด้านเดียวของเหรียญและไม่เคยคิดจะพลิกเหรียญอีกด้าน แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะยังไม่ใช่การอภิปรายตามกรอบนิติบัญญัติหรือแก้กฎหมาย อย่างไรก็ตามมันสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่ารัฐสภานั่นแหละคือพื้นที่ที่เหมาะสม สง่างาม ที่สุดที่จะแลกเปลี่ยนเรื่องนี้แล้ว”

ในสายตาของคนเจนเบบี้บูมเมอร์หรือคนแก่อนุรักษนิยมที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะแตกต่างระดับ 360 องศา เราต้องยอมรับก่อนว่าไม่มีใครต้านทานสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ คนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตมาแทนที่เรา ต้องถูกคำนวณคุณค่า ความหมายและพลังแห่งโอกาสอย่างสมเหตุสมผล

“โปรดอย่าลืมว่าประเทศนี้ไม่ใช่ของเรากลุ่มเดียว ที่คิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน ศรัทธาเหมือนกัน ทุกความแตกต่างต้องมีพื้นที่ปลอดภัยเสมอ เคยมีคนไล่ให้เราย้ายประเทศ ซึ่งเราตอบว่าเราไม่มีแผนที่ย้ายประเทศและเราไม่มีทางเด็ดขาดที่เราจะหันหลังกลับไปไล่คนนั้นให้ย้ายประเทศ ดีที่สุดคือ เราและเขาทุกคนต้องอยู่ร่วมกันและปลอดภัยไปด้วยกัน” ทิชา กล่าว

สายลมการเปลี่ยนผ่านแห่งรัชสมัย

การตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์พัดโหมแรงขึ้น หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จากการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เป็นอีกจุดหนึ่งที่การเปลี่ยนผ่านของรัชสมัยถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้น เมื่อรัชกาลที่ 9 เป็นภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ที่จับต้องได้มาตลอด 70 ปี

ทิชา มองว่าด้วยไทม์ไลน์ของเวลา ของเหตุการณ์ ของอายุและทุก ๆ เหตุผล สถาบันในช่วงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ถูกทำให้ต้องปรับตัวในบริบทที่แตกต่างกัน ขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกแทบจะไม่ปรับตัวและแช่แข็งทุกอย่างกับภาพอดีต ทำให้ภาพซ้อนของการแสวงประโยชน์ในชื่อจงรักภักดีกลับมีพัฒนาการ ตามด้วยภาพซ้อนของเจนซี เจนอัลฟ่า ห้อมล้อมชีวิตผู้คนด้วยสื่อที่ไม่เหมือนเดิม

“สถาบันเราถูกยึดโยงกับภาพลักษณ์มาโดยตลอด พอมาถึงรัชสมัยนี้ ข่าวสารมันมีทั้งจริงและเท็จเต็มไปหมด รวมถึงสื่อเองก็แพร่หลายไม่เหมือนก่อน คำถามคือทิศทางต่อไปที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตัดสินใจ ว่าจะปรับตัวอย่างไร”

ในอีกมิติหนึ่ง การแก้ไขมาตรา 112 นี้เองจะช่วยให้สถาบันยังคงอยู่ต่อไปได้ จากการคลายความเคลือบแคลงใจต่อประชาชน หากสำนักพระราชวังหรือราชวงศ์เอง มีสิทธิ์อำนาจในการฟ้องร้องได้เพียงกลุ่มเดียว ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ใครสามารถฟ้องก็ได้ แต่ไม่รับฟ้องไม่ได้

“การแก้ไขมาตรา 112 คือวาระแห่งชาติของสมาชิกรัฐสภา โดยโฟกัสอย่างรอบด้านของเหรียญนี้ จะช่วยให้สถาบันสง่างามท่ามกลางประชาชนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่นการแจ้งความ กล่าวโทษ/ละเมิดองค์ประมุขและราชวงศ์ อาจระบุว่าสำนักพระราชวัง/ผู้แทนพระองค์ หรือใครเป็นผู้ฟ้องก็ให้กำหนดให้ชัดเจน เป็นต้น”

ทิชาย้ำอย่างห่วงใยว่าจงใช้ความเป็นมนุษยนิยมมากกว่าความเป็นอำนาจนิยม เพราะความเป็นมนุษยนิยมจะเยียวยาทุกอย่าง

กลับกัน ด้านก้องกล่าวว่าสิ่งที่รัชกาลที่ 10 กำลังเผชิญนั้น คือยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทันเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทในการช่วยเหลือพสกนิกร ซึ่งจุดนี้เองก็เป็นจุดตัดในช่วงเวลาหนึ่ง ที่ทำให้คนรักเจ้า-คนล้มเจ้า ถูกแบ่งด้วยเส้นอายุ

ก้องเป็นคนรับข่าวสารอย่างหลากหลาย แน่นอนว่าข้อมูลที่ก้องมองว่าเป็นเท็จเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ก้องก็อ่านเช่นกัน เขากล่าวว่าในช่วงเวลาที่ต้องรับสารเหล่านี้ ความจริงจะอยู่เหนือเหตุผล

ความจริงในที่นี้คือภาพพระราชกรณียกิจที่ปรากฎ ซึ่งเราสามารถดูได้จากข่าวในพระราชสำนักทุกวัน แต่เหตุผลคือการที่เราเอาไปตัดสินสิ่งใดว่าถูก ผิด เพราะฉะนั้นแล้วความจริงจึงมีน้ำหนักมากกว่าเหตุผล

“สิ่งที่เราเห็นคือมันไม่ใช่ ข้อมูลหรือรูปภาพที่ส่งมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเท่าทันอีกฝ่าย แต่สำหรับเราท่านเพียบพร้อมในหน้าที่และจริยวัตรแล้ว”

รวมถึงบทบาทของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 นั่นแตกต่างกัน ก้องกล่าวว่า รัชกาลที่ 10 ท่านสานต่อสิ่งที่รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแก่ปวงชนเอาไว้ ทั้งพระราชดำรัสและโครงการทั้ง 4,000 โครงการ

“ท่านได้สานต่อสิ่งเดิมนั้นก็ดีอยู่แล้ว กี่โครงการที่ช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย ถึงอย่างนั้นพระราชกรณียกิจที่เกิดขึ้นในสมัยท่านก็มากมาย อย่างในช่วงโควิดจะมีพระราชาแห่งไหนบนโลกที่ช่วยประชาชนอีก มีแค่ประเทศไทยใต้ร่มพระบารมีเท่านั้น”

สายลมของยุคสมัยที่กำลังปะทะเข้ากับสายลมการเปลี่ยนผ่านแห่งรัชสมัย กลางพายุหมุนนั้นยังคงวิ่งวนไม่ต่างจากข้อถกเถียงของสังคมว่าด้วยสถาบันเช่นกัน

เจ้าก็คน

แม้กรอบของกษัตริย์เองจะถูกผูกกับสมมติเทพ แต่ในช่วงหลังสถาบันเองก็มีความพยายามที่จะใกล้ชิดกับประชาชนอีกครั้ง ดังกรณี ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ เป็นระยะเวลาหนึ่งที่มีการจัดให้เข้าเฝ้าบริเวณพระบรมมหาราชวัง และประชาชนสามารถใกล้ชิดกับราชวงศ์ได้มากกว่าในจอ

ทิชาเป็นคนที่ได้เคยร่วมงานกับสถาบันอยู่หลายครั้งในบางช่วงของชีวิต โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ หลายครั้งที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยมด้วยพระองค์เองอย่างไม่เป็นทางการ หลายครั้งชวนไปทำกิจกรรมตามที่ต่าง ๆ และซึ่งรวมถึงการนำเยาวชนของบ้านกาญจนาภิเษกเข้าร่วมด้วย เช่น ให้เยาวชนเข้าไปเล่นดนตรีเปิดหมวกในงานเพื่อนพึ่งพา ณ วังสวนกุหลาบ และยังแวะมาทักทายถามไถ่ก่อนปิดงานเกือบทุกคืนที่ว่างจากพระราชกรณียกิจ

ในมุมมองของทิชา เราจะต้องไม่ลืมมิติความเป็นมนุษย์ของเจ้า

“ความเป็นเจ้าที่สุข ทุกข์ เศร้า สำเร็จ ล้มเหลว มีบาดแผล อยากอยู่อย่างมีความหมายที่จับต้องได้
แต่การยกยอ การสรรเสริญ รวมถึงการสร้างปาฎิหารย์ใด ๆ
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทุกขณะ อาจเป็นการเร่งให้สถาบันอยู่ยากเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีผู้ห้อมล้อมที่รู้จักโลกอย่างที่เป็นจริง”

แม้หลายครั้งที่สถาบันจะถูกแอบอ้างโดยคนจงรักภักดีในการหากินและใช้มาตรา 112 กลั่นแกล้งผู้อื่น และยังมีอีกหลายคดีที่มีการกล่าวอ้างว่าสถาบันได้สั่งการลงมา ทว่า ภายใต้การรักษาอำนาจและความศักด์สิทธิ์ มีมนุษย์ธรรมดาซ่อนอยู่ในนั้น คือเรื่องจริง

“อย่าปฏิเสธเลยว่าราชวงศ์ไทยถูกยกยอสถาปนาและหากินมาโดยตลอด โดยพวกที่ใส่เสื้อจงรักภักดีปลอม และวันนี้บางคนติดคุก บางคนหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ บางคนเสียชีวิตในคุก บางคนยังลอยนวลเนียน ๆ
แต่วันหนึ่งที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป สิ่งที่เร่งให้สถาบันเสื่อมถอยก็คือกลุ่มคนที่พยายามรักษาอำนาจเดิมไว้ แต่กฎหมายและกลไกต่าง ๆ จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่เพิ่มคู่ขัดแย้ง” ทิชา กล่าว

มิติที่หลายฝ่ายยังมองไม่เห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ คือการที่สถาบันเองถูกยกขึ้นสูงมานาน และมีผู้มีจุดประสงค์แอบแฝงพยายามกอบโกยผลประโยชน์จากจุดนั้น แท้จริงสถาบันไม่ได้ถูกแช่แข็งเพียงอย่างเดียว แต่กำลังถูกพยายามทำให้แช่แข็งสถานะของสถาบันเอาไว้ด้วยเช่นกัน และนั่นอาจหมายถึงการแก้ไขมาตรา 112 เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป กฎหมายเหล่านี้ก็ไม่อาจจะแข็งตัวไว้ได้และอาจปรับตามความสมควรแก่ช่วงเวลา

“เจ้าเองก็เป็นคน เป็นมนุษย์ เหมือนเรา ๆ นี่แหละ” ทิชา กล่าวทิ้งท้าย

หลังจากนี้การตั้งคำถามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป แม้ว่าคนจำนวนไม่น้อยจะยังไม่ยอมให้การพูดถึงสถาบันกษัตริย์รวมถึงมาตรา 112 ถูกนำไปพูดถึงในที่สาธารณะ แต่นั่นอาจไม่ใช่ข้อดีที่จะทำให้สถาบันอันเป็นที่รักไม่ถูกดึงลงมาต่ำ ในขณะเดียวกันชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมเองอาจกำลังทำให้สถาบันกลายเป็นสุญญากาศแล้วฉกฉวยผลประโยชน์แอบอ้างดั่งที่เคยเป็นมา และนั่นคือเหตุเสื่อมถอยที่เราเห็นจากกลุ่มคนจงรักภักดีที่วันนี้สีเทาที่ว่า ปรากฎเป็นสีดำแล้ว

ท่ามกลางสังคมที่ถูกแบ่งเป็น คนรักเจ้า-คนล้มเจ้า สลิ่ม-สามกีบ ภายใต้มาตรา 112 คือการสำรวจมายาคติ ชุดความคิด และผลประโยชน์ที่ซ่อนอยู่

คนรักเจ้ามีอยู่จริง คนเกินเจ้าก็มีอยู่จริงเช่นกัน

และแม้เจ้าก็เป็นคนซึ่งมีความรู้สึกเหมือน ๆ เรา แต่ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งคือมาตรา 112 ก็ได้พรากความเป็นมนุษย์จากประชาชนหลายคนเหมือนกัน

อ้างอิง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-66 l ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน