ไม้ขีดไฟก้านเดียวของ ชุน แท-อิล - Decode
Reading Time: 4 minutes

ลมหนาวในบ่ายวันที่ 13 พฤศจิกายน 2513 หน้าตลาดสันติภาพ กรุงโซล ท่ามกลางความมืดมิดของสิทธิแรงงาน สิทธิเสรีภาพ จากระบอบโครงสร้างทุนและรัฐเผด็จการ มีไม้ขีดไฟก้านหนึ่ง จุดประกายความคิดสังคมเกาหลีและจากโลกนี้ไปพร้อมเปลวไฟลุกท่วมร่าง

บ่ายวันนั้น ไม้ขีดไฟก้านหนึ่งพาให้สังคมเกาหลีใต้มองเห็น ‘สิ่งที่ทุกคนเลี่ยงจะมองไม่เห็นมันไม่ได้ เพราะคุณเห็นมันทุกเวลา’ นั่นคือ ความเป็น “คนจนเหลือเฟือ” ไม่ได้ถูกขูดรีดโดยใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการกดทับจากระบบโครงสร้าง ที่ประกอบขึ้นโดย “คนที่มีจนเหลือเฟือ” เพียงส่วนน้อยแต่กดทับคนส่วนมากเอาไว้

การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของหลายชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลกปรากฏจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือเมื่อเรารวมตัวกันมากพอ เสียงที่ถูกทำให้เลือนหายของประชาชนรากหญ้า จะกลายเป็นเสียงส่วนมากและชนะเสียงส่วนน้อยของผู้มีอำนาจที่เคยกุมชีวิตของพวกเขาไว้

น้ำมัน 1 กระป๋องและไม้ขีดไฟก้านเดียวในการเรียกร้องของชุน แท-อิล ก็เช่นกัน การต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดเท่าที่มนุษย์พึงจะได้อย่าง ‘ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า’ ด้วยอาวุธชิ้นเดียวที่มีของพวกเขา อาวุธเพียงอย่างเดียวของคนรากหญ้าที่มีชื่อว่า ‘ชีวิต’

การเดิมพันด้วยชีวิตของไม้ขีดไฟก้านเดียวที่คนที่มีจนเหลือเฟือคิดว่าลมพัดก็ดับ แต่กลับเป็นไฟลามทุ่งที่จุดประกายความฝัน ความหวัง และสวัสดิการที่ต้องไม่อยู่แค่ในกระดาษของกฎหมายแรงงาน กับประโยคที่เปลี่ยนแปลงสังคมเกาหลีและโลกว่า

“พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร”

พวกเราเกิดและตาย ณ ชั้นล่างสุดของสังคม

 ณ ชั้นล่างสุดของสังคม

บ่ายวันหนึ่งของฤดูร้อนปี 2505 แสงแดดอันแผดเผาทำให้รู้สึกราวกับมันจะเผาไหม้ทุกสิ่งบนพื้นพิภพให้เป็นจุณ เด็กชายวัย 14 ที่หิวโซลากขาทั้งสองข้างมุ่งหน้าไปยังสะพานยองโด ระหว่างที่ยืนหลบแสงแดดอันแผดเผาที่ใต้ร่มชายคาตรงหน้าต่างร้านค้าหนึ่งในตลาดคุกเจ ด้วยความคับแค้นเด็กชายถามตัวเองในใจว่า

“ทำไมทุกผู้คนที่ยืนแวดล้อมผมช่างดูมีความสุขเสียจริง แต่ทำไมผมจึงรู้สึกหิวได้ตลอดเวลา ทำไมผมจึงดูช่างน่าสมเพช ดูไร้ซึ่งความสุขเสียเหลือเกิน เดินในรองเท้าคู่เก่าที่ขาดจนรูพรุนและสวมใส่เสื้อผ้าที่เก่าคร่ำคร่าราวกับผ้าขี้ริ้ว”

ส่วนหนึ่งจากบันทึกชีวิตประจำวัน โดย แท-อิล

แท-อิล เป็นหนึ่งในประชาชนชาวเกาหลีรากหญ้าในยุคสร้างประเทศเกาหลีหลังประกาศเอกราชจากญี่ปุ่น เขาเกิดในปี 2491 ทำให้วัยเด็กของเขาไม่ง่ายนัก นอกจากที่บ้านจะยากจน เขายังเป็นพี่ชายคนโต ที่จำเป็นต้องแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่

หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินกลุ่มคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ต้องทำงานหนักตั้งแต่ยังเด็ก หลายคนเริ่มจากเด็กส่งของ กรรมกรแบกหาม เด็กขัดรองเท้า

แต่สำหรับแท-อิลในวัย 14 ปี ต้องทำงานถึง 5 งาน / วัน (ขัดรองเท้า / ยกของ / ขายหนังสือพิมพ์ / หมากฝรั่ง / ลากรถ) เพื่อให้ได้เงินมากพอซื้อข้าวมาให้ครอบครัว และไม่ใช่กลุ่มคนที่โชคดีที่ตอนท้ายของฉากชีวิตกลายเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จตามเรื่องเล่าที่เราเคยได้ยิน

แม้ แท-อิล จะเกิดและเติบโตที่แทกู จังหวัดคยองซัง หนึ่งในเมืองดั้งเดิมและเป็นเมืองเศรษฐกิจของเกาหลีในยุค 40s-60s แต่เขานิยามกำพืดตัวเองไว้ในบันทึกของตัวเองว่า เขาเป็นคนที่อยู่ ‘ชั้นล่างสุดของสังคม’ เพราะบ้านที่แท้จริงของคนอย่างเขาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เมืองใด ก็มีสถานะของชนชั้นล่างตีตราอยู่เสมอ

สิ่งที่เป็นแรงขับสำคัญให้แท-อิล เห็นคุณค่าของมนุษย์ โดยเฉพาะในฐานะมนุษย์แรงงานคือช่วงชีวิตวัยเด็กของเขา การเป็นคนชนชั้นล่างของสังคม ทำให้เห็นการเลือกปฏิบัติอย่างสุดแสนจะเจ็บปวด ตัวอย่างหนึ่งในนั้นคือ ‘บุหรี่ของมินจุง’

มินจุง(민중) ภาษาเกาหลีแปลว่า คนรากหญ้าหรือประชาชนคนทั่วไป ในยุคการก่อสร้างประเทศใหม่หลังประกาศเอกราช เกาหลีเป็นอีกประเทศที่ยาสูบเป็นค่านิยมและอาชีพอีกช่องทางของประชาชน เกิดการสูบบุหรี่อย่างแพร่หลาย ไปจนถึงเกิดการปลูกไร่ยาสูบ โรงงานคัดยาเส้นขนาดเล็กถึงใหญ่ทั่วบ้านทั่วเมือง

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถซื้อบุหรี่เหล่านี้ได้

ถึงคนจะติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่บุหรี่ถือเป็นของฟุ่มเฟือยอย่างมาก บุหรี่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำจึงเป็นบุหรี่มือสองหรือบุหรี่สูบแล้ว เนื่องจากว่าบุหรี่เต็มซองมีราคาแพง มินจุงจำนวนมากเลือกที่จะสูบบุหรี่จากก้นที่ทิ้งแล้ว หรือรวบรวมและนำไปให้ร้านค้ารวบรวมยาเส้นที่เหลือนำมามวนใหม่ ทางร้านค้าเองก็รับซื้อเพื่อนำไปขายต่อด้วยเช่นกัน

บุหรี่ของมินจุง ซึ่งเป็นทั้งยาใจและยาเส้นคนจนในเกาหลีสมัยนั้น ยังเป็นแหล่งรายได้อีกด้วย

คนที่เห็นเช่นนั้น คือแม่ของแท-อิล ชื่อ ‘ยี่ โซ-ซุน’

“ระหว่างที่ฉันคิดมากเรื่องรายได้ให้กับครอบครัว ฉันแบกรับภาระทั้งหมดไว้ที่บ่าของตัวเองโดยที่ไม่สามารถบอกใครได้เลย ทันใดนั้น คนที่ไม่สูบบุหรี่มาทั้งชีวิตก็เผลอคิดไปว่ายาเส้นน่าจะช่วยทำให้ฉันผ่อนคลายลงไปบ้าง ฉันเริ่มตระเวนเก็บก้นบุหรี่ที่สูบแล้วแถวที่ทำงานและนำไปให้ร้านค้าคัดยาเส้นที่เหลือ และมันก็เป็นเช่นนั้น ฉันปลดเปลื้องภาระเล็กน้อยเมื่อได้เห็นควันที่ลอยออกไป” ยี่ โซ-ซุน แม่ของชุน แท-อิลพูดถึงครั้งแรกที่ได้สูบบุหรี่ของมินจุง

ชีวิตของ แท-อิล และครอบครัวอยู่บนทางเลือกเสมอ แต่เป็นทางเลือกที่ว่า ’แย่‘ หรือ ’แย่ที่สุด‘ ในวันที่ความเป็นคนจนบอกให้พวกเขาปฏิบัติตัวอย่างหนูในวงล้อที่มีหน้าที่เป็นฟันเฟืองให้กับนายจ้าง พวกเขาจำเป็นต้องเลือกทางที่ ’แย่‘ ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

ชีวิตที่มีไว้แค่หาเงินมาจ่ายค่าข้าวมื้อต่อมื้อ สิ่งที่ดูจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่าง การศึกษา ไปจนถึงความรัก กลับกลายเป็นของฟุ่มเฟือยที่หากตัดสินใจเดินไปต่อจะเกิดทางเลือกที่ ’แย่ที่สุด‘

“การเรียนกลายเป็นความสุขของผมไปเสียแล้ว และวันนี้มันกำลังถูกพรากไปจากผม ผมควรจะทำอย่างไรน่ะหรือ? ไม่มีทางเลือกอื่น ผมทำได้แต่เสียใจ เสียใจอย่างสุดซึ้ง ที่ความสุขและโอกาสของคนจนอย่างผมถูกพรากไปจนสิ้น”

“ผมถูกใจชอบพอเธอทีเดียว แต่เมื่อผมนึกถึงแม่และน้อง ๆ ที่ยังไม่มีแม้แต่ข้าวจะกินให้อิ่ม ผมคิดว่าในช่วงชีวิตของผม ความรักเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ผมควรจะต้องกลับไปในที่ที่ผมควรจะอยู่ ให้ความรักให้อย่างเผื่อแผ่กับแรงงานอีกจำนวนมากที่รอคอยเสียงของผม ชีวิตผมควรจะใช้เพื่อเหตุผลแบบนั้น”

แท-อิล กับบันทึกถึงความฟุ่มเฟือยในชีวิตของเขา เมื่อความจนเปลี่ยนคำนิยามความจำเป็นในชีวิตให้เหลือเพียง ‘การอยู่รอด’

นับตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2526 แต่ชีวิตหลายล้านชีวิตยังถูกจำกัดให้ไม่ฟุ่มเฟือยดังเรื่องราวของแท-อิลไม่เปลี่ยนแปลง

และแล้ว แท-อิลในวัย 18 ปีก็เริ่มตั้งคำถามถึงความฟุ่มเฟือยนี้อีกครั้ง ใครกันที่เป็นคนกำหนดว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะลืมตาอ้าปากได้

แท้จริงแล้ว เหล่ามินจุงใช้ชีวิตอย่างอู้ฟู้ฟุ่มเฟือยจึงจน หรือเพราะพวกเขาถูกขูดรีดจึงทำให้มรดกเดียวที่จะส่งต่อให้ลูกหลานได้ มีแค่ความจนกันแน่

พวกเราคือคนโง่

ระหว่างที่แท-อิล เติบโตมา เขาตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อไปหาเงินในวัยที่ยังไม่พ้นวุฒิภาวะอยู่ราว ๆ 2-3 ครั้ง แต่ทุกครั้งเขาก็ต้องระส่ำระสายกลับมาบ้านเนื่องจากวัยที่ยังเด็กนัก จนแล้วจนรอดเมื่อเขาโตขึ้น เขาเริ่มมีความหวัง หวังที่จะได้มีการงานประจำทำและได้เงินเดือน โดยมีฝันสูงสุดคือการปลดแอกสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว

แท-อิล ในวัย 18 ปี เริ่มต้นชีวิตการงานที่ตลาดสันติภาพ ณ กรุงโซล ตลาดสันติภาพเป็นตลาดของบริษัทบริหารสันติภาพ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยรัฐ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย ทำความสะอาดตึก และเจรจากับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตในประเทศเกาหลี ไลน์การผลิตในประเทศอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ‘ผลิตอะไรออกมาก็ขายได้หมด’ ทำให้แรงงานจำนวนมากก้าวเท้าเข้ามาในตลาดแห่งนี้ และหวังว่ามันจะเป็น ‘สรวงสวรรค์ของการไต่เต้าคุณภาพชีวิตที่ดี’

แต่เมื่อแท-อิล ทำงานได้ไม่นานก็พบว่า ตลาดสันติภาพไม่ใกล้เคียงกับสวรรค์แม้แต่นิดเดียว เพราะที่นี่คือ ‘โรงงานนรก’

แท-อิล เริ่มต้นก้าวเข้าโรงงานแห่งนี้ด้วยตำแหน่ง ‘เด็กผู้ช่วยงาน’ ตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชนที่ไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษา ไม่มีใบคุณวุฒิ โดยเขาเล่าไว้ว่าเด็กผู้ช่วยงานคือตำแหน่งที่ทำงานทุกอย่างแต่ได้ค่าแรงห่างจากพนักงานประจำมาก ในขณะที่ค่าเช่าห้องตกอยู่ที่ 120 วอน แต่เงินเดือนของเขาอยู่ที่ 1,500 วอน อย่าว่าแต่จะกินข้าวให้ครบ 3 มื้อ แค่หาค่าเช่าห้องให้ครบเดือนยังไม่พอเลย

แม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นมาก แต่นั่นเป็นตัวเลขในภาพรวมของประเทศ แรงงานจำนวนมากทำงานไม่ต่ำกว่าวัน 14-15 ชั่วโมง ในช่วงต้นฤดูกาลขายของ การได้กลับบ้าน 3 วัน / ครั้ง ถือเป็นเรื่องปกติ แท-อิลได้แต่ปิดปากเงียบและมองเห็นเรื่องเหล่านี้ในทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน แม้จะเหนื่อยแค่ไหนแต่เขาคิดแค่เพียงว่าเขาต้องไต่เต้าขึ้นไปเพื่อน้องและแม่

“ทันทีที่ผมคิดถึงหน้าแม่และน้อง ๆ ความเหนื่อยของผมจะหายไปสิ้น แม้ว่ามันจะวนกลับมาทันทีที่นั่งหน้าเครื่องจักรเย็บ” แท-อิล กล่าว

ในตลาดสันติภาพประกอบไปด้วยโรงงานกว่า 800 โรงงาน พนักงานอีกกว่า 20,000 คน โดยส่วนมากจะเป็นโรงงานผ้า โดยส่วนมากแรงงานจะเป็นผู้หญิง โดยมีตำแหน่ง ช่างตัด, ช่างเย็บ, ผู้ช่วยช่างเย็บและเด็กช่วยงาน โดยเงินเดือนจะไล่ตามลำดับลงมา

จนวันหนึ่งที่เขาได้เลื่อนขั้นเป็นช่างตัด ด้วยความขยันหมั่นเพียรและทักษะที่เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม การได้เลื่อนตำแหน่งครั้งนี้ทำให้เงินเดือนของแท-อิลจะถูกนับเป็นจำนวนชิ้นงานแทนเงินเดือน สิ่งที่เขาเข้ามาในตำแหน่งนี้แล้วพบเจอเป็นอย่างแรก คือการที่ช่างตัดมีรายได้และสบายมากกว่าคนอื่น เป็นเพราะแรงงานเหล่านี้ถูกหว่านล้อมให้เป็น ‘กรรมกรขุนนาง’

“หลังจากผมได้เลื่อนขั้น ผมถูกหว่านล้อมให้เร่งการผลิตจากช่างประเภทอื่น ๆ ที่อยู่ข้างล่างผมอีกที การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้การเจ้าของโรงงาน เขาแทบไม่ต้องลงมืออะไรเองด้วยซ้ำ เพราะรายได้ของช่างตัดจะขึ้นอยู่กับจำนวนผ้าที่ผลิตให้ได้ เช่นนั้นแล้ว พวกช่างตัดก็ไปกดขี่แรงงานต่ออีกทอดหนึ่งและกินส่วนแบ่งที่นายจ้างแบ่งพวกเขามาน้อยนิด สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดคือเหล่ากรรมกรหมูอ้วนที่กดขี่แรงงานด้วยกันเอง เร่งการผลิตเพื่อให้ได้เงินที่พวกเขาพึงพอใจ ส่วนเจ้าของโรงงานได้ผลประกอบการมหาศาล แต่พวกเราเหล่าแรงงานกลับล้มป่วยและตายไปเรื่อย ๆ ”

แท-อิล เล่าถึงกรรมกรขุนนางในประเทศเกาหลียุคสร้างชาติ

หลังจากตัดสินใจว่าจะขอใช้ชีวิตในฐานะลูกหลานมินจุง ไม่ใช่ลูกหลานของขุนนางจำแลง เขาเริ่มสำรวจและทำแบบสอบถามถึงสภาพการเป็นอยู่ของแรงงานในตลาดสันติภาพ ทำให้ได้ข้อค้นพบว่าจากแรงงาน 126 คน แรงงานทุกคน ของแบบสอบถาม ทรมานจากระบบย่อยอาหารและกรดในกระเพาะ ปวดเส้นประสาท วัณโรค และเป็นนิวมอเนีย (โรคปอดบวม) ซึ่งเกิดจากการทำงานนาน กินข้าวเพียงน้อยนิด และต้องสูดดมสารเคมีจากการผลิตผ้าในพื้นที่คับแคบ ไม่มีการระบายอากาศ

ในขณะเดียวกัน มีคำกล่าวในยุคนั้นว่าผู้หญิงคนใดที่ทำงานในตลาดสันติภาพเกิน 3 ปี จะไม่สามารถแต่งงานได้ ในภายนอกดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวเพื่อลดทอนหญิงสาวที่ทำงานเป็นกรรมกรโรงงาน ว่าเป็นคนชนชั้นล่าง ไม่น่าคบหาด้วย แต่นั่นก็เป็นค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลดทอนผู้หญิงโรงงานเพียงส่วนหนึ่ง

เพราะความจริงแล้ว จากผลสำรวจของแท-อิล พบว่าคนงานที่ทำงานในตลาดสันติภาพเกิน 5 ปี จะป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเป็นจำนวนมาก และทำให้การแต่งงานกับหญิงสาวที่ทำงานในตลาดสันติภาพเกิน 5 ปีนั้น เหมือนกลาย ๆ ว่าได้แต่งงานกับคนตายไปแล้ว เพราะไม่นานหลังจากแต่งไป พวกเธอก็มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน อีกทั้งต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่แพงแสนแพงในยุคนั้น

ท้ายที่สุด แท-อิล เริ่มเดินสายไปเจรจากับเจ้าของโรงงานหลายแห่งในตลาดสันติภาพ เพื่อเพิ่มสวัสดิการและปรับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้ ทว่า เขาได้รับการตะเพิดกลับมาทุกครั้งและจนในที่สุด เขาถูกไล่ออกจากโรงงานที่ทำอยู่และไม่สามารถหางานใดที่ตลาดสันติภาพได้อีกเลย

ช่วงชีวิตของแท-อิลที่ดูมืดหม่น ระหว่างที่เขาสับสนและไร้งาน ไร้เงิน เขาตัดสินใจไปซื้อหนังสือกฎหมายแรงงานมาหนึ่งเล่มและศึกษามันอย่างจริงจัง ในมุมหนึ่งเขาเหมือนได้กลับไปหาความสุขของเขาคือการศึกษา แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาได้ค้นพบข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติกับแรงงานในตลาดสันติภาพนั้นผิดกฎหมายแรงงานแทบทั้งสิ้น นั่นเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชัดเจนว่าที่ผ่านมาเขาถูกปฏิบัติราวกับคนโง่ ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูกขูดรีด เช่นเดียวกับแรงงานนับหมื่นในตลาดสันติภาพที่ยินยอมกับการขูดรีดเพื่อเงินที่พวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่าถูกขโมยไป

จนเมื่อตั้งหลักปณิธานได้ เขาได้จัดตั้งขบวนการต่อสู้แรงงาน โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมคนโง่”

“จนถึงก่อนหน้านี้เราถูกปฏิบัติราวกับเป็นเครื่องจักร ไม่เคยปริปากประท้วงนายจ้างที่ขูดรีดพวกเราไม่แต่ครั้งเดียว นั่นทำให้การประชุมของพวกเราเป็นเหมือนการประชุมของคนโง่ และการตื่นรู้ถึงสิทธิของพวกเราที่จะทำให้พวกเราไม่โง่เขลาอีกต่อไป

“มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับนายจ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้น เรามาหาคำตอบว่าทำไมที่ผ่านมาเราจึงโง่เขลา ก่อนตายพวกเรามาหาคำตอบนั้นด้วยกันดีกว่านะ”

แท-อิล พูดในการประชุมสมาคมคนโง่ครั้งแรก

การลุกขึ้นสู้ของแท-อิลในฐานะสมาคมคนโง่ ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิแรงงาน แต่ยังหมายถึงสิทธิสตรี สิทธิเด็ก แนวคิดเรื่องเฟมินิสต์ เขาพยายามทำให้กลุ่มแรงงานเห็นว่าภายใต้ระบบโครงสร้างที่กดขี่พวกเขาอยู่ ไม่ว่าใครก็ล้วนถูกขูดรีดด้วยกันทั้งนั้น ทั้งแรงงานที่ต้องทำงานติดต่อกันหลายวัน ผู้หญิงที่ถูกกดทับด้วยค่านิยมผู้หญิงที่ดี รวมไปถึงความใฝ่ฝันที่เด็ก ๆ จะเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ

ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่แท-อิลต่อสู้ในช่วงเวลานั้น คือการปิดหูปิดตาจากทุนและรัฐ มินจุงจำนวนมากถูกปรามาสว่าเป็น แรงงานไร้ทักษะ ซึ่งเป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษที่แพร่หลายไปทั่วโลก ว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ต่างจากฟันเฟือง แค่เปลี่ยนแล้วหาใหม่ ถูกทำให้แรงงานกลายเป็นทรัพยากรที่ไร้ค่าเมื่อหาผลประโยชน์ไม่ได้แล้ว

คำว่าแรงงานไร้ทักษะ มักถูกใช้เพื่อจำแนกแรงงานที่ไม่ได้จบการศึกษาเฉพาะทาง ไม่ถือใบรับรองวิชาชีพ และทำงานที่ถูกมองว่าใครก็ทำได้ เช่น การทำความสะอาด งานก่อสร้าง หรือแรงงานในโรงงานผลิตสินค้าซ้ำ ๆ แต่หากเรามองลึกลงไปในความเป็นจริง คำว่าไร้ทักษะอาจไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของแรงงานเหล่านี้เลย

แนวคิดแรงงานไร้ทักษะ สะท้อนอำนาจของรัฐและตลาด ที่กำหนดว่าอะไรคือ “ทักษะ” อะไรคือ “ความรู้” ใครมีค่าแรงมาก ใครถูกมองว่าทดแทนกันได้ง่าย และใครไม่มีสิทธิต่อรอง เพราะใครก็ทำแทนได้การเหมารวมแรงงานจำนวนมากว่าไร้ทักษะ เป็นการลดทอนคุณค่าความสามารถของมนุษย์อย่างตั้งใจ

เช่นเดียวกับแรงงานเย็บผ้าในตลาดสันติภาพ แรงงานเหล่านี้ถูกมองว่า ‘ราคาถูก’ กว่าเครื่องจักร โดยไม่ได้สนว่าแรงงานเหล่านี้จะเจ็บหรือตายอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง ชุน แท-อิล กล่าวไว้ด้วยว่า แรงงานในตลาดสันติภาพต้องมีความปราณีตเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้เสื้อผ้าสวยงามขึ้นมา 1 ชิ้น แต่เป็นเพราะข้ออ้างในการไร้ซึ่งใบประกาศการศึกษา แรงงานที่ถูกบังคับให้เป็นคนประเภท โง่-จน-เจ็บ จำเป็นต้องอยู่ในสถานะเหล่านั้นเพื่อนายจ้างจะได้ขูดรีดและหาผลประโยชน์ต่อไปเรื่อย ๆ

การต่อสู้ของสมาคมคนโง่ คือการป่าวประกาศต่อพี่น้องแรงงาน อำนาจต่อรองของนายจ้าง และระบบโครงสร้างของรัฐว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีใครไร้ทักษะและไม่มีใครโง่ แต่เป็นผู้มีอำนาจต่างหากที่จัดประเภทให้พวกเขาไร้คุณค่าเพื่อกดขี่เสียเอง

พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร

“ผมเกลียดยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่ผู้คนกลายเป็นสินค้า ยุคสมัยแห่งการเย้ยหยันความเป็นปัจเจกและแรงบันดาลใจ ยุคสมัยที่กิ่งก้านแห่งความหวังถูกแทะเล็มออก ผมเกลียดมนุษยชาติที่ให้ค่าการมีอยู่ของตัวเองเป็นเพียงสินค้า”

ประโยคจากปี 2512 ยิ่งปรากฏชัดเจนในปี 2568

การต่อสู้ของสมาคมคนโง่อ่อนแรงและเหน็ดเหนื่อย เมื่อผู้อำนาจรัฐที่มีส่วนน้อยมีอำนาจมากล้นจนทำให้แรงงานจำนวนมากไม่อาจต่อกรสู้ได้เลย

แท-อิลท้อแท้และสิ้นหวัง เขาไร้ซึ่งอำนาจ ไร้ซึ่งเงิน และได้กลับมาต่อสู้อีกครั้งในชื่อสมาคมมิตรภาพซัมดอง ในครั้งนี้เขาเปลี่ยนวิธีการต่อสู้โดยการเรี่ยไรเงินในการทำ ธุรกิจตัวอย่าง เพื่อที่จะพิสูจน์ให้ดูว่านายจ้างไม่จำเป็นต้องขูดรีดแรงงานอย่างแสนสาหัสก็สามารถมีผลประกอบการที่ดีได้ หรือกระทั่งมีรายได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อผลิตภัณฑ์สามารถผลิตได้มากกว่าเดิมจากแรงงานที่อยากเข้ามาทำในโรงงานแห่งนี้ อีกทั้งอาจจะเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างจากแรงงานที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ความเป็นจริงไม่เป็นแบบนั้น ไม่มีกลุ่มทุนไหนสนับสนุนแท-อิลเลย อีกทั้งตลอดเวลาที่เขายื่นหนังสือให้กับหน่วยงานรัฐหรือกระทั่งประธานาธิบดีของเกาหลีเอง สุดท้ายจดหมายเหล่านั้นถูกตีกลับ และเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนให้กับชุน แท-อิล คือการที่เขาได้รับรู้ว่า ผู้ตรวจการแรงงานเองรับรู้ปัญหานี้มาโดยตลอด จนถึงเมื่อครั้งยื่นข้อเสนอของสมาคมมิตรภาพซัมดองเข้าสภา ก็ปัดตกและบอกเพียงว่ายื่นไม่ทันญัตติอื่น

ท้ายที่สุด พวกเขาตัดสินใจปีนข้ามลวดหนามและกำแพงแห่งการปฏิบัติชอบด้วยการกดขี่แรงงานของนายจ้างและภาครัฐ โดยการโปรยผลสำรวจของสภาพแรงงานในตลาดสันติภาพ และปาฏิหารย์ก็เกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายหลายเจ้านำเรื่องราวของพวกเขาไปนำเสนอ ความเป็นจริงของแรงงานถูกทำให้ประชาชนเห็น ว่าเสื้อผ้าที่พวกเขาใส่แลกมาด้วยโรคมะเร็งและเส้นประสาทกดทับของแรงงานจำนวนมาก

ข่าวการลุกฮือครั้งนี้เป็นทั้งผลบวกให้กับพี่น้องแรงงานเกาหลี ว่าเสียงของพวกเขาได้ยินแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่ง หลายโรงงานปิดโรงงานไม่ให้คนในออก คนนอกเข้า อีกทั้งยังข่มขู่แรงงานจำนวนมากว่าถ้าหากเข้าร่วมจะโดนทำร้ายและไม่สามารถหางานในโรงงานอื่นได้อีกเลย

ในขณะเดียวกัน สังคมเกาหลีใต้กำลังลุกขึ้นสู้กับคณะรัฐประหารของนายพลชุน ดู ฮวาน ที่ในขณะนั้นเข้ายึดอำนาจอีกทั้งประเทศกำลังอยู่ในช่วงแบ่งแยกแผ่นดิน การประท้วงทุกรูปแบบถูกห้าม ห้ามออกจากบ้านหลังเวลาเคอร์ฟิว ไม่ว่าใครจะออกมาต่อต้านเรื่องอะไรในขณะนั้นจะถูกเหมารวมเป็น คอมมิวนิสต์ ที่ถ้าถูกนักสืบ (สายสืบของคณะรัฐประหาร) จับได้ จะส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลกลางและถูกลงโทษ

การต่อสู้ที่กำลังผลิบาน ถูกถอนรากถอนโคนไปอีกครั้ง มินจุงทุกหย่อมหญ้าต่างเผชิญกับการกดขี่จากผู้มีอำนาจทุกระดับ ตั้งแต่นายจ้างไปจนถึงคณะรัฐประหาร

แท-อิล ตัดสินใจอีกครั้ง เพื่อที่จะออกไปต่อสู้ เพื่อจุดประกายให้กับไม้ขีดไฟทั่วประเทศเป็นครั้งสุดท้าย

“แม่ไม่ต้องห่วงนะครับ ผมจะออกไปต่อสู้ครั้งสุดท้ายแล้ว อย่าได้ห่วงผมเลย” แท-อิล กล่าวกับผู้เป็นแม่ในคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2513

เช้าวันรุ่งขึ้น 13 พฤศจิกายน 2513 การประท้วงจากกลุ่มแรงงานหน้าตลาดสันติภาพตึงเครียดมากขึ้น ตำรวจร่วมมือกับหน่วยรักษาความปลอดภัยของตลาดสันติภาพ เขานึกถึงคำพูดเมื่อคืนก่อนที่พูดกับแม่ว่า ‘สถานการณ์จะเปลี่ยนไปเมื่อผมเสียสละตัวเอง’ ทันใดนั้นกลุ่มแรงงานเริ่มปะทะกับเจ้าหน้าที่แรงขึ้นและแท-อิลบอกให้เพื่อน ๆ ของเขากระจายตัวกันไปก่อนและให้รอที่ร้านขายบุหรี่และจะรีบตามมา

เขาปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ทันใดนั้น แท-อิลหยิบน้ำมันหนึ่งกระป๋องที่ซื้อมาราดเข้าตัวเอง และบอกกับเพื่อนในสมาคมฯ ชื่อ เกนัม ว่า ‘ดูเหมือนว่าเราคนใดคนหนึ่งต้องตาย’ และให้เพื่อนของเขาจุดไม้ขีดไฟและเข้ามารอในระยะใกล้ ๆ 

การเสียสละของแท-อิล พุ่งพวยขึ้นเป็นไฟปกคลุมไปทั่วร่างของเขา ก่อนจะเข้าไปหาหน่วยรักษาความปลอดภัย ตำรวจ และจุดที่คนอยู่กันเยอะในตรอกแถวตลาดสันติภาพ ตลอด 3 นาทีที่ไฟคลอกแท-อิล เขาคำรามถึงสิ่งที่เขาพร่ำบอกมาตลอด เพื่อหวังว่ากลุ่มทุนและรัฐจะได้ยินพวกเขาบ้าง

“ทำตามกฎหมายแรงงาน”

“พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร”

“ขอให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดพักผ่อน”

“อย่ากดขี่แรงงาน”

“พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร”

นับแต่วินาทีนั้น สังคมเกาหลีใต้ก็ได้ตระหนักทันทีว่า อุดมการณ์มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งยอมเสียสละด้วยไฟที่ปกคลุมทั่วร่าง และคำว่า ‘พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร’ คือประจักษ์พยานว่าพวกเราคือมนุษย์ ไม่ใช่อะไหล่ที่พังและหาใหม่ที่ไหนก็ได้

ท้ายที่สุดแล้วการต่อสู้ของแรงงานและขบวนการประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ยังต้องต่อสู้และมีคนจ้องจะทำลายมันทิ้งอยู่หลายครั้ง จนเกิดเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู หรือกระทั่งคำพูดสุดท้ายของชุน แท-อิล ที่เอ่ยกับมารดาในขณะที่ร่างอยู่ที่โรงพยาบาลว่า ‘ผมหิว’ ไม่ต่างจากฉากแรกในหนังสือ

เราจะเห็นได้ว่าระหว่างทางที่สังคมถูกบีบบังคับให้ตกอยู่ภายใต้ที่ไม่ชอบธรรม ท่ามกลางความกลัวนั้น จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่นคือระบอบเผด็จการและทุนนิยมสามานย์ ที่พยายามสร้างและคงไว้ซึ่งบรรยากาศของความกลัวนั้นไว้ในสังคม นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายสังคมทั่วโลก ไม่ว่าจะเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

กว่าที่สังคมเกาหลีใต้จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมทางสังคม มีไม้ขีดไฟหลายก้านทุกจุด และเป่าให้ดับด้วยอำนาจรัฐ

แต่สายพานแห่งความหวังของชุน แท-อิล และวีรชนเหล่านั้น ถูกส่งมาจากปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น ทุกสิทธิแรงงานที่ได้มาล้วนมาจากการเรียกร้องของกรรมกร เช่นเดียวกับประชาธิปไตยของประชาชนเกาหลีใต้เช่นกัน ที่หลังการเสียสละของแท-อิลในวันนั้น ก็ผ่านมาอีกหลายสิบปี ที่มินจุงรวมตัวกันเรียกร้องและพยายามรักษามันไว้ไม่ให้ใครมาแย่งมันไป

เช่นเดียวกับหนังสือที่ผ่านการต่อสู้มาไม่ต่างกับเนื้อหาในเล่ม หนังสือเล่มนี้ถูกแบนเมื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในเกาหลีใต้ ปี 2526 กระทรวงวัฒนธรรมสั่งห้ามจัดจำหน่าย งานเปิดตัวหนังสือถูกยกเลิก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบางคนถูกกักตัวในบริเวณบ้าน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อย่าง ‘โช-ยัง แร’ ต้องปกปิดชื่อตัวเองเพื่อหลบหลีกการคุกคามจากรัฐบาลเผด็จการ

หรือการเผยแพร่เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษโดย ‘ชุน ซุน-อก’ น้องสาวของ ชุน แท-อิล หลังจากที่เธอได้รับโอกาสในการไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากพี่ชายและได้เรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เธอเลือกที่สานต่อปณิธานของพี่ชายผ่านการปลุกระดมสิทธิแรงงานในต่างประเทศ และยังช่วยเหลือแรงงานหญิงในประเทศตลอดมา

ไปจนถึงการหยิบยกหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดย ‘จรรยา ยิ้มประเสริฐ’ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และ ‘สหภาพคนทำงาน’ ซึ่งเป็นคนปรับแก้และจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาใหม่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้การต่อสู้ของแรงงาน ในฐานะที่แรงงานคือกระดูกสันหลังที่ขับเคลื่อนประเทศชาติและเราทุกคนล้วนคือแรงงาน

ความตายของชุน แท-อิล เป็นดังไม้ขีดไฟก้านเดียว (A Single Spark) ที่จุดประกายสังคมเกาหลีใต้และทั่วโลก เรื่องราวการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของแท-อิล มีจุดเริ่มต้นที่ต้องยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เท่านั้น นั่นคือ ‘พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร และจงปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานซะ’

ไม้ขีดไฟก้านเดียวที่ชุน แท-อิล จุดขึ้นกลางลมหนาวหน้าตลาดสันติภาพ ไม่ได้ดับลงพร้อมกับร่างของเขา หากแต่กลายเป็นเปลวไฟที่ส่องทางให้ขบวนการแรงงานเกาหลีใต้เดินหน้าต่อสู้กับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม

กระทั่งกว่าสามทศวรรษต่อมา ประเทศเกาหลีใต้สามารถหลุดพ้นจากเผด็จการทหาร ก่อร่างสร้างประชาธิปไตย และวางรากฐานสิทธิแรงงานที่มั่นคงจนเป็นต้นแบบในเอเชียตะวันออกได้สำเร็จ แรงงานมีสหภาพที่แท้จริง มีค่าจ้างขั้นต่ำที่สะท้อนต้นทุนชีวิต และสามารถหยัดยืนต่อรองกับทุนได้ในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่เพียงทรัพยากร

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นการต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึกของประเทศเกาหลีใต้หรือกระทั่งการรวมตัวของพนักงานสหภาพซัมซุง เหตุการณ์ทั้งคู่เกิดเมื่อปี 2567 ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาไม่เพียงแต่เข้มแข็งในอุดมการณ์ แต่พวกเขาจดจำได้ว่ากว่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขาจะก่อร่างสร้างตัวได้ ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยกันกล่าวขาน และปรับตัวเพื่อส่งต่อการเรียนรู้แต่ละยุคสมัย เพื่อให้ไม้ขีดไฟหลายก้านที่เคยจุดต่อกันมาไม่สูญเปล่า

ในขณะที่ประเทศไทยเองก็เคยมีเปลวไฟลุกโชนขึ้นไม่น้อย ทั้งการประท้วงในยุคหลัง 14 ตุลา การนัดหยุดงานของกรรมกรโรงงานในเขตนิคมต่าง ๆ หรือแม้แต่เสียงที่พยายามจะเปล่งออกมาจากแรงงานข้ามชาติไร้สถานะที่แบกอุตสาหกรรมไทย แต่ครั้งแล้วครั้งเล่ากลับจบลงด้วยความเงียบงัน หรือถูกกลืนหายไปในระบบเศรษฐกิจที่มองแรงงานเป็นเพียงฟันเฟืองตัวหนึ่ง

หากไม้ขีดไฟของชุน แท-อิลเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เราอาจต้องย้อนกลับมามองประเทศไทยในวันนี้ที่กำลังเผชิญความซับซ้อนทางสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทั้งแรงงานข้ามชาติ โรงงานปิดตัว พิษเศรษฐกิจ และทุนจีนศูนย์เหรียญ เราคงต้องถามสังคมอีกครั้งด้วยคำถามที่จริงจังว่า

ใครกันแน่ที่กำลังพยายามดับเปลวไฟของพวกเราในฐานะประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนี้

ใครบ้างที่พยายามแบ่งแยกสำนึกทางชนชั้นของพวกเราว่าเราไม่ได้เป็นแรงงานเหมือนกัน

และอย่าให้สังคมรอ ใคร อีกหลายคนต้องเสียสละเป็นไม้ขีดไฟก้านนั้น ถึงจะทำให้เราเชื่อเหมือนกันว่าเราไม่เคยเป็นคนส่วนน้อย แต่เราคือคนจำนวนมากที่ผู้มีอำนาจส่วนน้อยเหล่านั้นต้องฟังเรา

Playread : ชุน แท-อิล : ประกายแสงของการลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิแรงงาน (A Single Spark)
เขียน : โช ยัง-แร
แปลไทย : จรรยา ยิ้มประเสริฐ (ครั้งแรก 2552), สหภาพคนทำงาน (ปรับปรุงแก้ไข 2567)
มูลนิธิชุน แท-อิล สนับสนุนการจัดพิมพ์ภาษาไทย

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี