“เมื่อก่อนคนอีสานไม่นิยมเดินทางย้ายถิ่นหรอกหลานเอ้ย” หญิงหัวขาวท่าทางใจดีพูดขึ้น
นอกเสียจากกุศโลบายที่บอกว่าเพราะว่ามีดงพญาไฟกั้นไว้ และหากผู้คนพากันผ่านดงพญาไฟ คนเหล่านั้นก็อาจจะล้มตายโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว บ้างก็ตกเหว บ้างก็เป็นไข้ป่า บ้างก็ถูกโจรป่าปลิดชีวิต จนภายหลังต้องเปลี่ยนเป็นดงพญาเย็นเพื่อเอาเคล็ด
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าฟังไม่แพ้กัน ก็คงเพราะแผ่นดินอีสานนั้นอุดมไปด้วยอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ว่ากันว่านาข้าวแปลงหนึ่งใช่ว่าจะมีแค่ข้าว แต่หากย่ำเท้าลงไปควานหาดู ก็จะพบปู ปลา สัตว์น้ำอื่น ๆ กระทั่งพีชผัก นานาพันธุ์
ใบสอน หญิงชราเจ้าของหัวสีนักปราชญ์เล่าเสียงดังปานเด็กเล็กยามได้ของเล่นใหม่
อาหารที่ใบสอนโปรดปรานที่สุดดูท่าจะเป็นปลากระโห้ไม่ก็ปลาเนื้ออ่อนต่าง ๆ เธอยิ้มปานกลับไปเป็นเด็กสาวในอ้อมอกพ่ออีกครั้ง ก่อนจะเล่าต่อว่า เธอสนิทกับพ่อมาก มักจะติดตามพ่อไปทอดแหหาปลาในแม่น้ำแทบทุกเสาร์อาทิตย์ แม้จะเป็นเด็กสาวตัวจิ๋ว แต่เธอก็ยึดตำแหน่งนายท้ายเรืออยู่เสมอ
ก่อนพลบค่ำ ปลามากมายจะขึ้นมากระโดดเล่นอยู่บนผิวน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลากระโห้ ปลาซิว ปลานาง ปลาค้าว และอีกสารพัดปลา แต่ช่วงเวลาที่ปลากระโดดเล่น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ใบสอนและพ่อจะหว่านแหสำหรับมื้อค่ำนั้น
ปลากว่า 1 หาบติดพันขึ้นมากับแหยาวกว่า 11 ศอก (1 หาบประมาณ 20 กิโลกรัม) กลายมาเป็นมื้อค่ำสำหรับใบสอน พ่อ และชาวบ้านกว่าอีก 8 ลำเรือที่ติดสอยห้อยตามกันมาหาปลา
อีกที่หนึ่งที่สมบูรณ์ไม่แพ้แหล่งน้ำ คือแหล่งดินและผืนป่า ซึ่งมันสมบูรณ์เสียจนปลูกอะไรก็ได้ ก็เพราะว่ามี ‘มืออาชีพ’ มาช่วยพรวนดินนั่นเอง มืออาชีพเหล่านี้เซียนเสียจนไม่ต้องใช้มือแตะดิน
ใบสอนอธิบายว่า มืออาชีพพวกนี้รูปร่างหน้าตาเบ่งแล้วย่าน (น่ากลัว) เป็นตาขี่เดียด (น่าเกลียด) ตัวทั้งใหญ่ทั้งยาว สีผิวคล้ำ บางตัวใหญ่เกือบเท่านิ้วก้อย พวกนี้มักอาสัยอยู่ริมโพน (เนินดิน) ไม่ก็ผืนดินที่ว่างเปล่า แม้หน้าตาจะดูเป็นตาย่าน แต่พวกมันรักต้นไม้เสียเหลือเกิน
ซึ่งสำหรับใบสอน ไอ้ไส้เดือนหน้าตาขี้ริ้วขี้เหล่นี่แหละที่อยู่เบื้องใต้แผ่นดินอีสานอันอุดมสมบูรณ์ และสิ่งที่เป็นพยานของความสมบูรณ์ก็คือ โพน หรือเนินเดินที่สูงกว่าที่นา ที่คนอีสานทุกบ้านนิยมใช้ ปลูกพืชผักสวนครัว กระทั่งพืชผลยืนต้นต่าง ๆ อาทิ ต้นบักขาม ตันบักขามแป ต้นบักสีดา ต้นบักม่วงป่า ต้นบักม่วงกะสอ ต้นบักม่วงปุ้ม และต้นบักยม
ส่วนผืนป่าแดนอีสานก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ที่ใบสอนชอบที่สุดในผืนป่าคือ ดอกไม้ป่า ที่นอกจากจะหอมเสียจนคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินหาของป่าแล้ว กลิ่นหอมของมันก็ยังทำให้ใบสอนหวนกลับไปนึกถึงอีพ่ออีแม่อยู่ทุกครั้งไป
ใบสอนเกิดและเติบโตที่ยโสธร และช่วงเวลาหน้าหนาวของยโสธร ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เหล่าดอกไม้แสนงามเหล่านั้นจะเบ่งบาน โดยเฉพาะดอกกะย้อมและดอกฮัง ดอกไม้จากต้นไม้ใหญ่อายุร่วมร้อยปีจากผืนป่าบ้านใบสอน ที่จะส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งป่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งในงานบุญของอีสาน คือ เทศน์มหาชาติพระเวสสันดร 13 กัณฑ์
นอกจากป่าที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ วัดก็เป็นอีกที่หนึ่งที่หลากหลายไม่แพ้กัน ใบสอนเล่าว่า ในวัดที่เธอรู้จัก มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่ออกดอกนามว่า ดอกจำปา ดอกจะเรียบร้อยไปตามกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ราวกับเทพนิยาย ดอกจำปาเหล่านั้นจะถูกนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยสำหรับนักกีฬาจากจังหวัดอื่น ที่เดินทางมาพักนำในสถานที่ที่ใบสอนดูแล และพวงมาลัยของใบสอนนั้น จะมี ดอกรัก ประดับไว้ด้วยเสมอ
หากได้เห็นภาพถ่ายของใบสอน หลายคนก็คงเห็นตรงกันว่า ตอนสาว ๆ ใบสอนก็คงสวยไม่แพ้ใครที่ไหน พร้อมทั้งคารมที่พ่วงติดไปกับดอกรักในพวงมาลัย
หนุ่ม ๆ ก็คงหนีไม่แพ้เสน่ห์ของนางสาวใบสอนเป็นแน่ และด้วย ‘ความรัก’ นี่เอง ที่ทำให้ใบสอนต้องย้ายถิ่นไปจากอีสาน
ใบสอนเติบโตมาด้วยความฝันที่จะเป็นครู ด้วยความช่างรู้ช่างเห็นและฉลาดเป็นกรด ใบสอนก็ได้เป็นครูสมใจ อาชีพครูในอีสานสมัยนั้นยากลำบากกว่าที่เห็น โรงเรียนประชาบาลของใบสอนมีครูอยู่เพียงสองคน คือ ครูใหญ่และครูน้อย ซึ่งครูน้อยก็คือใบสอน
แม่พิมพ์ของชาติทั้งสองต้องทำหน้าที่ดูแลเด็กกว่าร้อยคน ใบสอนรับหน้าที่เดินทางไปส่งเอกสารข้อสอบให้กับส่วนกลาง และกิจการของข้าราชการอีกหลายอย่าง อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับแขกบ้านแขกเรือน ที่มาเยี่ยมโรงเรียน หรือกิจการของตำบลที่เธออาศัยอยู่
ด้วยภาระหน้าที่นั้นเอง ทำให้เธอได้พบกับ หนุ่มไทยเชื้อสายจีน จากเมืองหลวง และกลายเป็นผู้ครอบครองหัวใจของใบสอนมานับแต่นั้น และเป็นความรักที่พาเธอเดินทางออกจากดินแดนอีสานอันเป็นที่รักของเธอ
เรื่องราวของใบสอน หิมพานนท์ หญิงสี่แผ่นดิน ผู้เกิดในยุคอีสานร้อยปีก่อน จวบจนช่วงชีวิตในห้วงเวลาสงครามอินโดจีน หอบผ้าหอบผ่อนจากแม่หญิงริมแม่น้ำชี สู่การเป็นซ้อใบสอนริมฝั่งแม่น้ำโขง เรื่องราวของเธอถูกบันทึกไว้ในหนังสือ ใบสอนว่าซั่น : บอกเล่าอดีตที่มีชีวิตสู่อิสรภาพทางปัญญา ที่เขียนโดย มนตรา เลี่ยวเส็ง
แม้ความรักที่พาเธอออกจากดินแดนอีสาน และใบสอนอาจไม่ได้เป็นภาพแทนของวัยรุ่นอีสานจำนวนมาก แต่อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ความเจริญจากศูนย์กลาง ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เธอต้องออกจากบ้านเช่นเดียวกัน ใบสอนไม่ได้เล่าว่าแผ่นดินอีสานแห้งแล้งไม่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่เมื่อไหร่
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การหากินหาใช้กับผืนนาก็ไม่เพียงพออีกแล้ว ประจวบเหมาะกับที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-โคราชขึ้น เพื่อเชื่อมระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน เมื่อยาวเข้าสู่ช่วงวัยสาว รางรถไฟก็ขยายตัวมาถึงอำเภอวารินทร์ชำราบ จ.อุบลราชธานี แม้จะต้องข้ามแม่น้ำมูลมาเพื่อขึ้นสถานีรถไฟวารินทน์ชำราบ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งคนหนุ่มสาวอีสานที่โหยหาชีวิตที่ไปไกลกว่าผืนนา
แม้ใบสอนจะไม่ได้หอบผ้าผ่อน และลูกชายมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อหน้าที่การงานที่ดีกว่า หากแต่เพราะความรัก เธอก็ยังไม่วายที่จะถูกข้อครหาดูหมิ่นจากคนทั่วยโสธร อาชีพครูที่เธอรักและขวนขวายจนได้มันมา ก็ต้องเสียไป คนรักไทยจีนของเธอก็ไม่ใช่คนอีสาน ขืนตามไปก็คงมีแต่ถูกทิ้ง หรือผู้เป็นแม่ก็แทบจะขาดใจตาย เมื่อลูกสาวสุดที่รักต้องจากบ้านเกิด และต้องแต่งงานกับคนจีน
ใบสอนเล่าว่า คนสมัยก่อนมองว่าการได้เดินทางลงไปกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการสูง และเป็นความโชคดีในชีวิตครั้งหนึ่ง ทว่าหากเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะแต่งงานกับคนต่างถิ่น จะถือว่าเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างยิ่ง เพราะนั่นทำให้เขาผู้นั้นไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า และเป็นตราบาปในชีวิต การแต่งงานในลักษณะนี้จึงถูกประณามจากสังคม โดยเฉพาะการแต่งงานกับคนต่างชาติต่างภาษานั่นเอง
กระทั่งตัวใบสอนเองที่น้ำตาตกทุกครั้งเมื่อเล่าถึงความรักบนทางเลือกครั้งนี้
ใบสอนเองก็ไม่คาดคิดว่าทางเลือกนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตมากมายขนาดนี้ แม้ใบสอนจะใช้เวลา 3 วันในการเตรียมสัมภาระ แต่เทียบไม่ได้เลยกับระยะเวลาสำหรับการเตรียมใจในการเดินทางครั้งนี้
นอกจากบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ พืชผัก สัตว์เลี้ยง หรือทรัพยากรในดินแดนอีสาน เสียงร้องไห้จากแม่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใบสอนจำต้องทิ้งไว้ที่ยโสธร ในหนังสือระบุไว้ว่า เมื่อราว 60 ปีก่อน (ปีพ.ศ. 2321-2453) คนอีสานมีการย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในประเทศ ทว่าเป็นการย้ายไปมาระหว่างจังหวัดในดินแดนอีสานเสียมากกว่า น้อยคนนักที่จะย้ายเข้าสู่ภาคกลาง
การต้องเผชิญข้อครหาข้างต้น โดยเฉพาะยายใบสอน ที่รักดินแดนเกิดตัวเองมากจนสามารถเล่าชีวิตของเธอจนเขียนเป็นหนังสือได้ 300 กว่าหน้า ถ้าไม่ใช่ความรักแล้ว ก็คงไม่มีเหตุผลอื่นได้ที่ทำให้เธอต้องละจากวิชาชีพครูที่กำลังไปได้ดี และร่ำลาดินแดนอีสานอันเป็นบ้านเกิดและถิ่นที่รักของเธอ
“วันนี้ข้าพเจ้าได้จำหน่ายเด็กชายเสมอ ภาระเวช กับ เด็กหญิงหนูรักษ์ วิเศษแก้ว ออกจากบัญชีโรงเรียน โดยเหตุอพยพไปจากที่อื่น” จดหมายของใบสอนที่ยื่นกับโรงเรียน
ในหนังสือไม่ได้ระบุหรือมีหลักฐานเป็นจดหมายว่าลูกของเธอชื่ออะไร ถูกจำหน่ายออกจากโรงเรียนอย่างไร แต่ผู้เขียนเชื่อว่า จดหมายฉบับสุดท้ายของใบสอนคงเต็มไปด้วยความยินดีและหยดน้ำตา
จากป่าไม้ที่กลายเป็นป่าคอนกรีตในกรุงเทพฯ ยายใบสอน ในอายุอานามร้อย กว่าปีก็ยังคงเดินปลูกดอกไม้และร้อยมาลัย แม้จะมีเพียงดอกเล็ก ๆ ตามรอยแตกของถนน แต่ป่าไม้อีสานก็ยังคงหอมหวนอยู่ในสำนึกลูกอีสานของยายใบสอนอยู่เสมอ
หนังสือ : ใบสอนว่าซั่น
ผู้เขียน: มนตรา เลี่ยวเส็ง
สำนักพิมพ์ : ธนภาค พริ้นติ้ง
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี