อาสาอุบัติใหม่ เพื่อนบ้านในสงครามโควิด - Decode
Reading Time: 3 minutes

ท่ามกลางโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด19 ที่เปรียบเสมือนอาวุธสงครามอันร้ายกาจและเป็นภัยต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้นเมื่อผสมโรงเข้ากับมาตรการที่ออกมาไม่ว่าจะ #Stayhome หรือ #SocialDistancing งานนี้เรียกได้ว่าเป็นอาวุธสงครามที่กวาดล้างแทบจะทุกวงการจริงๆ ตั้งแต่ ธุรกิจ การศึกษา คมนาคม หรือแม้แต่การทำงานด้านอาสาก็ไม่เว้น ส่งผลให้คำว่า ‘การรวมตัว’ กันทำงานด้านอาสานั้นคงอยู่รูปแบบเดิมไม่ได้แล้ว

01:  ซ้อนท้าย ‘อาสาพาไปส่ง‘ ความจนในซอยเปลี่ยว

“สำหรับเราต่อให้มีโควิดเข้ามา การทำงานด้านอาสาก็ไม่ได้มีข้อจำกัด แต่อยู่ที่ว่าอาจมีบางกติกาที่เข้ามากำหนดบทบาทและการเคลื่อนไหวบ้างแค่นั้นเอง” คือ คำพูดของ โซเฟีย – สิริพร สุขชูศรี ผู้จัดการโครงการสวนครูองุ่น มูลนิธิกระจกเงา หากพูดถึงคำว่า ‘อาสา’ ก็คงหนีไม่พ้นภาพของการรวมตัวกันของใครหลายคนที่อยากจะทำประโยชน์อะไรบางอย่าง แต่สำหรับโซเฟียเธอบอกว่าขอแค่มี Space บวกกับ Mindset ที่อยากจะทำงานด้านอาสา ก็สามารถเป็นอาสาได้ เพียง 2-3 ประโยคจากโซเฟีย ทำให้เราจับใจความและแกะสมการได้ว่า…
Space + Mindset = อาสา นั่นเอง

“คุณทำอะไรได้บ้าง คุณทำอะไรได้ดี แล้วคุณอยากจะทำอะไร ก็สามารถสร้างงานอาสาได้ อย่างเช่น คุณมีบ้านอยากทำหน้ากาก ก็สามารถทำหน้ากากส่งมาบริจาคได้ หรือคุณมี Follower ในโซเชียลมีเดียเยอะมาก คุณก็สามารถเป็นกระบอกเสียงได้ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นอาสาเหมือนกัน”

หลังจากพูดคุยกับโซเฟียมาได้ครึ่งทาง ดูเหมือนเธอกำลังพยายามบอกเราว่า โรคโควิด-19 ที่เข้ามาทำให้ Land Mark ที่เป็นสัญลักษญ์ของการร่วมตัวกันทำงานอาสานั้นหายไป สวนครูองุ่นที่เคยทำหน้าที่เป็น Landmark หลักในการขับเคลื่อนชุมชนสัมพันธ์ ด้วยการเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบไป ด้วยกติกาลูกเล่นใหม่อย่างมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และ “การเว้นระยะห่างทางสัมคม” ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร้าย

ส่งผลให้การร่วมตัวกันนั้นเป็นเรื่องที่ยากและต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น การต่อแถวรับของบริจาคอาจทำให้ Landmark ด้านอาสา กลายเป็น Landmark ที่เสี่ยงต่อการติดโรคได้ ด้วยเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามานี้ ผุดเป็นไอเดียใหม่ ภายใต้ชื่อว่า ‘อาสาพาไปส่ง’ โดยการนำของบริจาคไปส่งถึงมือ ถึงหน้าบ้าน ให้กับกลุ่มคนเปราะบางในชุมชน เพื่อให้ตอบโจทย์กับลูกเล่นที่เพิ่มเข้ามา โดยได้ทำการปักหมุดทดลองโมเดลใหม่ในชุมชนทองหล่อเป็นโลเคชันแรก

 หากพูดถึงย่านทองหล่อ คงจินตนาการไม่พ้นภาพของตึกสูงที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร หรือย่านเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยสถานที่อันหรูหราเต็มไปหมด แต่ทว่าคำว่าเหรียญมีสองด้านคงจะมีน้ำหนักมากขึ้นด้วยความจริงที่ย่านที่เปรียบดั่งสวรรค์ชั้นเจ็ดแห่งนี้ ได้ซ่อนคนจนเมืองไว้ตามตรอกซอกซอยมากถึง 14 ชุมชน และ

ด้วยความซับซ้อนของพื้นที่ อาสาพาไปส่ง จึงได้แบ่งออกเป็นโมเดลย่อยอีก 2 โมเดล

โมเดลที่หนึ่ง “ดาวกระจาย”

“คนที่รู้จักชุมชนมากที่สุด ก็คือคนในพื้นที่ แต่นอกเหนือจากคนในพื้นที่คนที่ คนที่รู้จักทุกตรอกซอกซอยมากที่สุดก็คือ วินมอเตอร์ไซค์” บทบาทอาสาสมัครในการส่งของโมเดลดาวกระจายนี้ เห็นทีคงต้องยกให้ พี่ๆ ขาซิ่งแก๊งวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างในพื้นที่ สวมบทบาททำหน้าที่ในการส่งของไปตามเส้นทางชุมชน เขตวัฒนา ที่ทีมงานจากมูลนิธิกระจกเงา สวนครูองุ่นได้กำหนดไว้ ทุกๆ วันพุธ วันศุกร์ และวันอาทิตย์ ซึ่งของที่นำส่งแต่ละถุงได้บรรจุอาหารแห้ง หน้ากากผ้า เจลล้างมือ และอาหารปรุงสุก ที่แยกเป็นของชาวพุทธ และชาวมุสลิม เนื่องจาก 70 เปอร์เซ็นต์

“โมเดลดาวกระจายจะตอบโจทย์คนหาเช้ากินค่ำนะ อย่าง รปภ. เขาไปไหนไม่ได้เลย ต้องอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา หรือ แม่บ้านที่มีเวลาพักแค่ไม่กี่นาที เวลาที่มีคนมาแจกพวกเขาก็อาจจะไม่ได้เลย ”

การเอาของไปส่งถือมือคนแบบนี้ ช่วยลดขั้นตอนในการมีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแถวเพื่อรักษาระยะห่าง นอกจากนี้ที่สำคัญยังลดความคาดหวังของคนที่มาต่อแถวว่า วันนี้ข้าวกล่องสุดท้ายจะมาถึงเขาหรือเปล่านะ และด้วยความหวังที่ การให้จะไม่สูญเปล่าถ้าคนที่ได้ของเป็นคนที่จำเป็นและต้องการมันจริงๆ

โซเฟียเล่าว่าโมเดลที่เธอพยายามทำอยู่นั้นก็เพื่อมุ่งหวังให้คนในชุมชนรู้จักช่วยเหลือกันเอง โดยสามารถปรับเอารูปแบบการทำงานจากโมเดลนี้ ไปใช้ต่อได้ “สมมติว่าเดือนหน้าเราย้ายจากเขตวัฒนา ไปทำที่เอกมัย อาสาสมัครของเราก็จะเปลี่ยนไปเป็นวินมอเตอร์ไซด์ในพื้นที่เอกมัยแทน”

โมเดลที่สอง คือ เส้นทางชุมชน

เป็นโมเดลที่ให้เหล่าอาสาเดินสายแจกของไปตามเส้นทางชุมชนที่ได้ผู้นำชุมชนทำหน้าที่คล้าย GPS ในการนำทางลงพื้นที่แจกของบริจาค โดยโมเดลอาสาพาไปส่ง แบบเส้นทางชุมชนนี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”

“เราทำกิจกรรมกับชุมชน (กลุ่มคนจนเมือง) อยู่แล้ว เราเลยมีความผูกพันและคิดว่าคนกลุ่มนี้ต้องได้รับผลกระทบมากแน่ๆ เลยทำให้เราตัดสินใจลงชุมชน แต่เราจะทำยังไงที่มันแตกต่าง เราจะไม่ไปลงไปแจก ไปบริจาคแบบให้คนมายืนๆ รับๆ ถ่ายรูปแล้วก็จบ โดยที่ไม่ได้เกิดความสัมพันธ์กับชุมชนเลย”

แต่การจะแจกของโดยการนับจำนวนบ้านตามบ้านเลขที่นั้นอาจทำให้การแจกอย่างทั่วถึงนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีบ้านอีกหลายสิบหลังในชุมชนที่ไม่มีบ้านเลขที่ แต่มีผู้ที่อาศัยอยู่จริง หรือบางหลังที่มีคนอยู่เยอะเกินกว่าที่ถุงยังชีพเพียง 1 ถุงจะเพียงพอต่อการเยียวยาชีวิตในช่วงวิกฤติแบบนี้ 

โซเฟียจึงชวนผู้นำและกรรมการชุมชนร่วมเรียนรู้โมเดลเส้นทางชุมชนไปด้วยกัน เกิดเป็นการแบ่งสายสำรวจพื้นที่หนึ่งวัน ก่อนที่จะทำการเดินสายแจก เพื่อให้ทุกคนไม่ตกหล่นจากการเข้ามาช่วยเหลือของขบวนอาสานี้

“บ้าน 1 หลังมีคนอยู่ 12 คน ถ้าเราแจกของตามบ้านเลขที่ หมายความว่า 12 คนนั้นก็จะได้ของแค่ ถุงเดียว หรือบ้านที่ไม่มีบ้านเลขที่ก็จะไม่ได้ แต่เขาก็อาศัยอยู่ในชุมชนนะ เราเลยหยิบจุดนี้มาเป็นโจทย์ให้ผู้นำชุมชนไปคิดว่าเราจะแจกของให้เพียงพอและทั่วถึงทุกคนได้อย่างไร เราเลยต้องลงไปเก็บข้อมูล เพื่อสร้างโมเดลให้ชุมชนสามารถช่วยชุมชนได้ ถ้าต่อไปมีคนเข้ามาช่วยเหลืออีก (ที่ไม่ใช่กระจกเงา) ก็สามารถเอาโมเดลของเราไปใช้ได้” ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ให้ผู้นำชุมชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

02: Work from home แล้ว เราก็ “Volunteer from home” ด้วย

“เราก็ทำงานอยู่ที่บ้าน แล้วก็รู้เรื่องสิทธิในระบบสุขภาพพอสมควร คิดว่าเราก็น่าจะเข้าไปช่วยได้” หนึ่งประโยคที่ไม่สั้นไม่ยาวนี้ถูกเรียบเรียงออกมาผ่านน้ำเสียง ที่แฝงความเชื่อมั่นในการเป็นอาสาสมัครของ พี่ปุ่ม สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้เป็นเจ้าของไอเดีย ‘อาสารับสาย’ และเป็นหนึ่งในอาสาสมัครชุดแรก

การออกมาตรการรณรงค์ให้คน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้คนทำงานจากที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ตัวของพี่ปุ่มเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอบอกว่า การทำงานอยู่บ้านเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดอาสารูปแบบใหม่ แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมดของจุดกำเนิดไอเดียอาสารับสายในครั้งนี้

พี่ปุ่มเล่าว่าเดิมที สาย1422 เป็นเบอร์ของกรมควบคุมโรค แต่หลังจากมีการระบาดของโควิด19 สายนี้ก็ได้กลายมาเป็นช่องทางหนึ่งในการให้บริการไขข้อสงสัยและรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับโควิด19 และเมื่อโรคแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผู้คนโทรเข้าไปได้เปลี่ยนจากหลักสิบเป็นหลักพัน เลยทำเอาเจ้าหน้าที่ขาประจำที่มีอยู่เพียงแค่ 5 ท่าน รับสายกันแทบไม่หวาดไม่ไหว!

“พี่เองโทรไป ก็รอนานมาก โทรไม่ติดก็มี ทิ้งเบอร์ไว้แต่ก็ไม่มีใครโทรกลับมา ซึ่งพี่ก็เข้าใจนะว่าในภาวะแบบนี้คนใช้บริการก็มาก ฉะนั้นอาจเป็นไปได้ยากมากที่เขาจะโทรกลับมา พี่เลยเขียนจดหมายไปหาปลัดกระทรวง (ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ว่า อยากหาคนไปช่วยเรื่องรับสาย 1422 อยากจะเปิดรับอาสาสมัคร”

เมื่อเห็นพ้องต้องกันในการเปิดรับอาสาสมัคร พื้นที่ของงานอาสาในรูปแบบของอาสารับสายจึงเกิดขึ้น พี่ปุ่มวาดภาพในจินตนาการของเราให้ชัดขึ้นด้วยการเล่าถึงกระบวนการทำงานหลังจากที่รับอาสาสมัครเข้ามา เธอเล่าว่าการเป็นอาสารับสายนั้นมีเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นตัวช่วยหลัก

จากปกติที่รับสายผ่านระบบสายโทรศัพท์ธรรมดา ก็เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการรับสายทางระบบอินเตอร์เน็ต ผ่านตัวกลางขั้น คือแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า GS Wave ที่เหล่านักรบอาสาต้องทำการลงทะเบียนกับทางกรมควบคุมโรคเสียก่อน ที่จะเริ่มปฏิบัติการรับสายจากที่บ้านใครบ้านมัน

“การให้เข้ามาช่วยรับสายรับร้องเรียนของกรมควบคุมโรคที่สามารถทำจากที่บ้านได้ ก็ช่วยเพิ่มโอกาสการมีอาสาสมัครได้มากขึ้น เราคงไปเรียกร้องให้เขามีบริการที่ดีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่ามันวิกฤติ เราต้องเข้ามาช่วยกัน ถูกมั้ย?” แต่อีก Point สำคัญที่แฝงแอบมากับรถไฟอาสาขบวนนี้คงอยู่ที่เราได้เห็นภาพการทำงานระหว่างภาครัฐ (กรมควบคุมโรค) กับภาคประชาชน (อาสาสมัคร) ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกหนึ่งสเตปนั้นเอง!

03: แม้พื้นที่ในสวนหายไป แต่มีพื้นที่ออนไลน์เข้ามาแทน

“ปกติหกโมงครึ่งทุกคนก็จะนัดกันที่ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพินี เพื่อให้ไกด์อาสาและผู้พิการได้ออกกำลังกายและวิ่ง พอโควิดเข้ามาถูกอย่างก็ต้องพับเก็บไปก่อน” กวาง – อริยา เล็กบาง หนึ่งในไกด์อาสาพาผู้พิการวิ่ง จากกลุ่มวิ่งไปด้วยกัน เอ่ยขึ้นระหว่างบทสนทนาในขณะที่เราพยายามจับใจความว่ารูปแบบงานอาสานั้นเปลี่ยนไปอย่างไรในยุคโควิด

“ กลุ่มวิ่งด้วยกันเริ่มจากการที่ว่า พอเราทำงานกับคนตาบอด เราเห็นคนตาบอดหลายคนอ้วนลงพุง ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดเขานะ คิดดูว่าลำพังแค่เขาเดินยังอันตราย จะให้เขามาออกกำลังกายมันเป็นเรื่องยากมาก จะทำยังไงที่จะออกแบบกิจกรรมให้คนตาบอดออกกำลังกายได้ เราก็นึกถึงการวิ่ง การวิ่งเป็นกีฬาที่ง่ายที่สุด มีรองเท้าคู่เดียวก็วิ่งได้แล้ว ใช้ต้นทุนไม่เยอะ ”

กวางเราให้เราฟังคร่าวๆ ถึงที่มาที่ไปจนเกิดเป็นโครงการวิ่งไปด้วยกัน Run2gether ที่อยากจะสร้างพื้นที่ให้เพื่อนผู้พิการทุกรูปแบบให้มารวมตัวกันออกกำลังกาย โดยได้ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 4 ปี แต่ทว่าความสม่ำเสมอในการนัดเจอกันทุกเสาร์แรกของเดือน ท่ามกลางสถานที่คุ้นเคยอย่างสวนสาธารณะนั้นต้องชะงักแบบเรียกได้ว่า เบรกแทบไม่ทัน! เมื่อสวนสาธารณะกลายเป็นสถานที่เสี่ยงของการแพร่ระบาด และทำให้โดนสั่งปิดไปช่วงหนึ่ง

เมื่อกิจกรรมอาสาแบบเดิมทำไม่ได้ การหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ อย่าง zoom และ Facebook Live เป็นสื่อกลางในการทำกิจกรรมคงจะเป็นสิ่งที่เข้าท่าที่สุด แต่ยังคงคอนเซปเดิมเอาไว้ที่ การสร้างพื้นที่ให้เพื่อนผู้พิการมาออกกำลังกายกันทุกอาทิตย์ ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า ‘Train วันละนิด with วิ่งด้วยกัน’

“ข้อดีคือ ทำได้ทุกวัน โดยที่ทุกคนไม่ต้องออกเดินทาง จริงๆ มันก็มีประโยชน์อยู่นะ แต่ว่าแรกๆ มันอาจจะขรุขระหน่อย เพราะว่าบางคนเขาก็จะเข้า (zoom) ไม่ได้ แต่สุดท้ายเราก็หาวิธี ถือว่าลำบากแต่ปรับตัวได้ (หัวเราะ) ”

กว่าหลายอาทิตย์ที่กิจกรรม Train วันละนิด with วิ่งด้วยกันจะลงตัว ความน่าสนใจไม่จบอยู่แค่ที่การปรับตัวโดยเปลี่ยนจากการวิ่งมาเป็นการเวท แต่กิจกรรมนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการเข้ามาร่วมกันออกกำลังกายออนไลน์ของเพื่อนผู้พิการหลากหลายรูปแบบ ทั้งผู้นำท่าที่สามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้พิการทางสายตา หรือจะเป็นอาสาภาษามือก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กันในการสื่อสารกับเพื่อนผู้พิการทางหู การมีอาสาเข้ามาช่วยในการสื่อสารเพื่อให้ผู้พิการ สามารถทำตามได้นั้นสะท้อนถึงการออกแบบกิจกรรมที่ตอบโจทย์และเป็นกิจกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของเพื่อนผู้พิการจริงๆ

แต่ดูเหมือนว่าข้อดีและข้อเสียคงเป็นพรหมลิขิตที่ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ เมื่อรูปแบบเปลี่ยนไปสิ่งที่หายไปคือ พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้สึก กวางได้ขยายความถึงสิ่งที่หายไปผ่านประโยคและน้ำเสียงแห่งความเสียดายว่า “ด้วยความที่คนตาบอดเขาไม่มีพื้นที่ ไม่มีโอกาสได้ออกมาทำอะไร แต่พอมีกิจกรรมนี้ ทำให้มีความสัมพันธ์ มีมิตรภาพเกิดขึ้น อย่างเรามีปัญหาในการได้ยิน เวลาวิ่งก็จะไม่ค่อยได้ยินเสียง เพื่อนที่ตาบอดก็จะบอกเราว่าตรงนี้มีเสียงน้ำพุ และเราเองก็จะบอกเพื่อนว่าตรงนั้นเราเห็นภาพอะไร มันก็จะแบบว่าเราเป็นหูเป็นตาให้กัน”

คำว่า ‘เป็นหูเป็นตา’ ของกวางคงเป็นคำพูดที่ถูกถอดออกจากการกระทำอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่เราเคยได้ยิน คำพูดปนรอยยิ้มของกวางที่ทำให้เราเข้าใจว่า สำหรับเธอแล้ว การอาสาเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน”

ตัวอย่างอาสาที่ได้ถอดแบบออกมาไม่ว่าจะ อาสาพาไปส่ง อาสารับสาย หรืออาสาพาเพื่อผู้พิการออกกำลังกาย คงทำให้เราเห็นภาพของคำว่า ‘อาสา’ ที่แท้จริงแล้วเป็นมากกว่าแค่การแจกข้าว การทำความสะอาดสถานที่ หรืออาสาภาพจำแบบเก่าที่เราเคยเข้าใจ

แต่ทว่าอาสาแต่ละรูปแบบนั้นแฝงเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์มากมายที่อยากจะออกมาขับเคลื่อนและผลักดันสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน และแม้ว่าอาจจะมีเงื่อนไข หรือลูกเล่นที่ใหม่เข้ามาบ้าง แต่ดูเหมือนว่าเงื่อนไขที่เกิดจากโควิด19 จะทำให้เกิดแม่พิมพ์อาสาที่สามารถปั้นการทำงานด้านอาสารูปแบบใหม่ๆ ออกมา ได้อยากหลากหลายเลยทีเดียว (อมยิ้ม)